โครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

เข้าสู่ปีที่ 2 ของโครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่สํานักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาครูแกนนําและนักจัดการเรียนรู้ด้วยแนวทาง Active Learning เพื่อเตรียมทักษะผู้เรียนให้มีความพร้อมต่อการรับมือกับโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ปีนี้ สํานักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. มีการจัดงาน ‘วันเปิดบ้านห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ โดยมี 8 เขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบ และอีก 13 โรงเรียนมาเปิดห้องเรียนตัวอย่างให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเสมือนห้องเรียนจริง ณ โรงแรมทีเคพาเลซแอนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบัน โครงการนี้มีครูและนักจัดการเรียนรู้กว่า 400 คน จากทั่วประเทศเข้าร่วม โดยมีศึกษานิเทศและนักวิจัยในโครงการเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูโรงเรียนต่าง ๆ จนสามารถขับเคลื่อนให้เกิดห้องเรียน Active Learning มากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่ใช้ได้จริงในโรงเรียน อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ คือการเกิดขึ้นของโรงเรียนต้นแบบและมีบุคลากรที่สามารถส่งต่อการจัดการการเรียนรู้ไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ.

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะประธานจัดงานวันเปิดบ้านห้องเรียนต้นแบบ กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันสำคัญสำหรับคนในแวดวงการศึกษา ซึ่งตนเองได้ติดตามโครงการนี้มาตลอด และทุกครั้งที่พูดถึงกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learnig กสศ. ก็คือภาคีสำคัญที่ช่วยให้ สพฐ. สามารถมองเห็นเด็ก ๆ ทุกกลุ่มให้รับโอกาสอย่างเสมอภาคกัน

“เมื่อเราบอกว่า อยากเรียนต้องได้เรียน การเรียนรู้แบบ Active Learnig เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้ทำการสืบค้น สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้มีสมรรถนะที่สามารถเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในโลกใบนี้ได้ สพฐ. เอง ก็อยากรู้ว่าพื้นที่ไหนทำเรื่องนี้ได้อย่างเข้มแข็งและสามารถเป็นศูนย์กลางต้นแบบในพื้นที่นั้น ๆ การจัดงานครั้งนี้จึงช่วยทำให้ สพฐ. และตัวแทนจากเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ได้รู้ถึงศักยภาพ รวมถึงมองเห็นกระบวนการทำงานที่ผ่านมาของผู้บริหารระดับโรงเรียน ศึกษานิเทศ เขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบ ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญให้ สพฐ. สามารถทำงานเชิงรุกต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ทำงานอย่างใกล้ชิด กับ สพฐ. ภายใต้พันธกิจเดียวกัน โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ กสศ. มุ่งเน้นเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา การทำให้สถานศึกษาสามารถสนับสนุนผู้เรียนที่มีความต้องการและความสามารถหลากหลายประสบความสำเร็จได้ รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถของเยาวชน

“กสศ. สนับสนุนโครงการนี้เพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความสำคัญมาก และทราบดีว่าครูและผู้บริหารยุคนี้ต้องเจอกับความท้าทายอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันความท้าทายหลายอย่างก็เป็นโอกาสให้แสดงฝีมือและความสามารถในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กที่ได้เรียนแบบ Active Learnig วันนี้ จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ความท้าทายในอนาคตสำหรับเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในขณะนี้ หากให้ยกตัวอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ ตลาดแรงงานในอนาคต มีการคาดการณ์ว่า งานในตลาดแรงงานที่เคยมีในวันนี้จะหายไปถึงร้อยละ 60 หมายความว่า จากวันนี้เมื่อไปถึงวันที่เขาเรียนจบ งานที่เคยเห็นในวันนี้จะหายไป แต่จะเกิดสิ่งใหม่มาแทนที่ในตลาดงาน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาเวลานี้ก็คือ การเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีในตำราหรือไม่มีในหลักสูตร เพราะสิ่งที่เคยมีในวันนี้จะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะยังมีอยู่ในอนาคต แต่สิ่งที่เราเตรียมได้คือ ทักษะความสามารถ ความรู้ และทัศนะคติ ที่ติดตัวเพื่อไปเอาชนะอุปสรรคในอนาคต

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

“Active Learnig จึงสำคัญมาก เพราะประเทศไทยอาจไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติที่มากพอ แต่เรามีทรัพยากรมนุษย์ การจะไปสู่ความยั่งยืนได้ ต้องไปสู่ความสำเร็จภายใต้ความหลากหลาย ในยุคนี้ทุกคนไม่ต้องเก่งเหมือนกัน ไม่ต้องเรียนเรื่องเดียวกันเพื่อไปสู่ภาคอุตสาหกรรมแบบเดิม ๆ อีกแล้ว แต่ Active Learnig จะพาไปสู่การมีทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมบริการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนได้ เมื่อมีนวัตกรรมแบบนี้ เราจะสามารถตั้งราคาสูงแค่ไหนก็ได้ หรือไม่ว่าใครก็ต้องมาทดลองใช้ รับบริการ หรือซื้อกลับไป สิ่งเหล่านี้คืออนาคต แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการเรียนการสอนแบบ Active Learnig  ที่กระตุ้นให้เกิดการคิด การเรียนรู้จากตัวผู้เรียนเอง กสศ. จึงต้องขอบคุณ สพฐ. ที่ทำให้มีโอกาสเริ่มต้นการทำโครงการนี้กับเครือข่ายและโรงเรียนต่าง ๆ อีกสิ่งที่อยากพูดคือ ความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ Active Learnig สามารถช่วยได้ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าปัจจุบันยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้น อาจเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือบุคลากร แต่ความสำเร็จของ Active Learnig จะไปถึงน้อง ๆ กลุ่มเป้าหมายจากครัวเรือนยากจนด้อยโอกาสได้มากขึ้น และพวกเขาก็สามารถเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เป็นนวัตกรของชาติ ไม่ว่าสายวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ จึงอยากสนับสนุนในสิ่งเหล่านี้ และขอยืนยันว่า พวกเราเป็นทีมเดียวกัน และพร้อมทำงานร่วมกัน”

ภายในงาน ยังได้มีพิธีมอบโล่ให้แก่ 8 เขตพื้นที่การศึกษา ที่สามารถทำให้มีโรงเรียนต้นแบบเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1, ศึกษาธิการจังหวัดยโสธร, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1, สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงราย เขต 1, สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาพิจิตร เขต 2, สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาพะเยา เขต 2, สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 และสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 2

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนตัวอย่างห้องเรียน Active Learning ได้รับเกียรติบัตรทั้งสิ้น 13 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมน้อมเกล้า, โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์),โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก, โรงเรียนภูผาม่าน, โรงเรียนบ้านน้ำพาง, โรงเรียนบ้านคุ้ม, โรงเรียนอนุบาลตรัง, โรงเรียนเวียงเชียงรุ้งวิทยา, โรงเรียนวัดวังเรือน, โรงเรียนบ้านดู่, โรงเรียนบ้านตาเปาว์, โรงเรียนบ้านโคราช และวิทยาลัยเทคนิคลำพูน

สำหรับห้องเรียนต้นแบบ Active Learning ในโครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีทั้งสิ้น 8 หลักสูตรให้ครูสามารถเลือกนำไปปฏิบัติการในห้องเรียน โดยจะมีโค้ชจากโครงการคอยเป็นที่ปรึกษา เพื่อสนับสนุนให้การออกแบบการเรียนรู้สามารถบรรลุผลตามหลักสูตรได้

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว ได้แก่ หลักสูตรโครงการนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก, หลักสูตรการจัดการเรียนรู้อิงสมรรถนะผู้เรียน, หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิดโดยใช้บ้านแทนห้องเรียน, หลักสูตรการออกแบบบอร์ดเกมสำหรับห้องเรียน Active Learning, หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาสมองส่วนหน้า, หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาหลักการจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อการเสริมสร้างอุปนิสัยผู้เรียน, หลักสูตรทักษะการตั้งคำถามเพื่อเสริมสร้างการคิดเชิงเหตุผล และหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาการคิดในห้องเรียน

กสศ. ดร.ไกรยส ภัทราวาท สพฐ. ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า Active Learnig วันเปิดบ้านห้องเรียนต้นแบบ Active Learning