หลักการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรคำนึงถึงอะไร

หากเราเปรียบเทียบการใช้ชีวิตเหมือนกับการเดินทางบนรถไฟแห่งโลกาวิวัฒน์ การเดินทางของเราได้ก้าวข้ามมาสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีตัวแปรสำคัญอย่างเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในชั่วพริบตา มันส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนเราหลากหลายแง่มุม ทั้งในแง่ของความต้องการ, ปัจจัยการดำรงชีวิต ไปจนถึงวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ



ทุกวันนี้ เพียงแค่เราต้องการกินกาแฟร้านโปรดก็สามารถสั่งผ่านแอพลิเคชั่นที่ให้บริการได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องออกไปที่ร้านรอเข้าคิวอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันอย่างเช่นลำโพง ยังมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาช่วยสร้างฟีเจอร์อัจริยะที่สามารถสั่งการผ่านเสียงและเชื่อมต่อการใช้งานเข้ากับสมาร์ทโฟนของเราได้อีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า การคิดค้นนวัตกรรมสินค้าและบริการเหล่านี้ทำให้การใช้ชีวิตของคนเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง




การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์

เมื่อเราพูดถึงความหมายทั่วไปของการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มันคือกระบวนการการคิดเพื่อแก้ปัญหา, ออกแบบ และพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน โดยที่สามารถตอบสนองการใช้งานของคนหมู่มากและรองรับกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม

ถ้าเราลองมองย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นักออกแบบผู้ทรงอิทธิพลชาวเยอรมันอย่าง ดีเทอร์ แรมซ์ (Dieter Rams) ผู้ก่อตั้ง Braun บริษัทออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงระดับตำนาน ได้ให้นิยามประวัติศาสตร์ของการออกแบบที่ดีไว้ 10 ประการว่า



" งานออกแบบที่ดีนั้น

ควรมีนวัตกรรมสร้างสรรค์, ทำให้ผลิตภัณฑ์มีประโยชน์ใช้สอย, มีความสวยงาม, สามารถเข้าใจได้ง่าย, ไม่ยุ่งยากซับซ้อน, ซื่อสัตย์, ใช้งานได้อย่างยาวนาน, มีความถี่ถ้วนในทุกรายละเอียด, เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผ่านการออกแบบที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ "



นิยามเหล่านี้ยังคงเป็นเสมือนปรัชญาการออกแบบให้กับเหล่านักออกแบบผลิตภัณฑ์มากมายตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงทรงอิทธิพลเพียงพอต่อความต้องการและการปรับตัวในอนาคตได้หรือไม่ ? เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน




แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร ?

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มิติของการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปอย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการและวัฒนธรรมการบริโภคของมนุษย์แต่ละยุคสมัย ในปี 2018 โอลิเวอร์ กราเบส (Oliver Grabes) Design Director คนปัจจุบันของบริษัท Braun ได้มองแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ในอนาคตไว้ว่า สำหรับเขาแล้ว แนวความคิดของ Rams ยังคงเป็นปรัชญาเหนือกาลเวลาที่เขายึดมั่นมาจนถึงปัจจุบัน มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะนำเอาคุณค่าเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร



Grabes เสริมว่า


" อนาคตของการออกแบบผลิตภัณฑ์จะต้องคำนึงถึงการเชื่อมต่อเข้ากับความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการใช้ชีวิตของคนเราได้อย่างไร้รอยต่อ การออกแบบในอนาคต คือการมองเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์ ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไปกว่าความต้องการของมนุษย์ และทำให้มันดียิ่งขึ้น "




อีกแง่มุมหนึ่งของการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันที่ไม่ได้ถูกสร้างให้อยู่ในรูปแบบของวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่ทว่าเป็นรูปแบบของการบริการหรือผลิตภัณฑ์ในเชิงดิจิตอล ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Abstract ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาแอพลิเคชั่นสัญชาติอเมริกันที่ออกแบบโปรแกรมช่วยส่งเสริมการสื่อสารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กร โดย ฮีเทอร์ ฟิลิปส์ (Heather Phillips) Design Director ของบริษัท Abstract มีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตไว้ว่า



" หลักความคิดทางการออกแบบเพื่อการแก้ไขปัญหา (Design Thinking) จะถูกนำมาใช้ต่อยอดกระบวนการคิดเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้กับธุรกิจในทศวรรษ 2020 และมันคือการสร้างความท้าทายให้กับอนาคตของวงการออกแบบมากขึ้น "




จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า มิติของการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์มีหลากหลายปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องคำนึงถึงสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ได้จุดประกายให้นักออกแบบและผู้ประกอบการนำไปคิดและหาคำตอบไปด้วยกันว่า จะสามารถสร้างความยั่งยืนบนอนาคตของความไม่แน่นอนได้อย่างไร เราจึงอยากเปิดประเด็นเพื่อแชร์มุมมองทัศนคติเกี่ยวกับแนวทางในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในยุคดิจิตอลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจการออกแบบในอนาคต



 

4 แนวทางในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในยุคดิจิตอล
  1. การกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยีอย่างสมดุล

  2. ส่วนผสมของนักออกแบบและนักธุรกิจคือการสร้างโอกาสใหม่

  3. มองเห็นนวัตกรรมผ่านกระบวนการคิดอย่างนักออกแบบ

  4. ออกแบบเพื่อรองรับประสบการณ์ใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ

 


หลักการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรคำนึงถึงอะไร


Immersive engagement with technology

“ การออกแบบจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยีอย่างสมดุล ”


ในปัจจุบันจะสังเกตุได้ว่า ดิจิตอลเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนรูปแบบในดำเนินธุรกิจมากขึ้น การออกแบบเพื่อรองรับการเชื่อมต่อเข้ากับเทคโนโลยีความเหมือนจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป จากสถิติของ Global Digital Report ในปี 2019 จำนวนผู้ใช้งานคนไทยบนอินเตอร์เน็ตมีจำนวนมากถึง 82% ของสัดส่วนประชากรทั้งหมด ซึ่งคนเหล่านี้ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์กว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน อาจฟังดูน่ากลัว แต่มันได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความท้าทายให้กับนักออกแบบที่ผลักดันให้พวกเขาจำเป็นที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญรอบด้านและทำงานข้ามสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น


ในแง่ของการปรับตัว ถ้าหากนักออกแบบและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีการรักษาสมดุลของคุณค่างานออกแบบผสมผสานเข้ากับทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยี เช่น การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆด้านเทคโนโลยีการผลิต, การเชื่อมต่อปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้งาน หรือแม้กระทั่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน (AR และ VR) เพื่อช่วยในการสื่อสารและนำเสนอ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการออกแบบและส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับต่อความต้องการและการใช้งานในอนาคต





หลักการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรคำนึงถึงอะไร



Becoming a business designer

“ เมื่อส่วนผสมของนักออกแบบและนักธุรกิจคือการสร้างโอกาสใหม่ ”


ในยุคนี้จะมีดีด้านการออกแบบเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีหัวด้านการทำธุรกิจควบคู่ด้วย ด้วยภาวะการแข่งขันในระบบอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม, สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดี, ผลิตด้วยต้นทุนจำกัด และยังสามารถปล่อยออกสู่ตลาดในระยะเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของการออกแบบในปัจจุบันไปเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้ส่งผลทำให้นักออกแบบผลิตภัณฑ์จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อหาน่านน้ำใหม่ในการเติบโตบนธุรกิจสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าด้านการเรียนรู้ทักษะทางธุรกิจมากกว่าการสนใจว่าผลิตภัณฑ์ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะแท้จริงแล้ว เป้าหมายสำคัญของการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็คือเป้าหมายเดียวกันกับการทำธุรกิจ ซึ่งคือ ความพึงพอใจและการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค รวมไปถึงการสร้างผลกำไรและการเติบโต



ในอนาคต ความสามารถของผู้นำที่มีตรรกะความคิดวิเคราะห์อย่างนักธุรกิจผสมผสานกับการมีมุมมองแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แบบนักออกแบบ กำลังจะกลายเป็นข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจที่ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางความคิดได้ สิ่งนี้จะช่วยทำให้เกิดการออกแบบกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน, คุ้มค่าแก่การลงทุน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงและพัฒนาการเติบโตในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย





หลักการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรคำนึงถึงอะไร


The value of design mindset

“ การมองเห็นนวัตกรรมผ่านกระบวนการคิดอย่างนักออกแบบ ”


ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราจะสังเกตเห็นว่า กระบวนการคิดที่เกิดขึ้นจากการเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งโดยยึดหลักผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและออกแบบนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ หรือ วิธีคิดอย่างนักออกแบบที่เราเรียกว่า Design thinking ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของกระบวนการพัฒนาธุรกิจสมัยใหม่อย่างแพร่หลาย

จากรายงานทางสถิติของ The Design Management Institute ในปี 2016 ได้เผยอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดขององค์กรที่ประยุกต์ใช้ Design thinking ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น Apple, Coca-Cola, Nike, IBM และ Starbuck เป็นต้น โดยองค์กรเหล่านี้มีอัตราการเติบโตสูงถึง 211% ในรอบ 10 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาในการนำกระบวนความคิดนี้ไปต่อยอด เนื่องจากสภาวะขององค์กรและปัจจัยต่างๆที่ไม่เอื้ออำนวย



จริงๆแล้วหลักความคิดนี้ สำหรับนักออกแบบมันไม่ได้เป็นสิ่งใหม่เลย มันอยู่ใกล้ตัวพวกเขามากเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่ามันอาจไม่ได้ถูกมองอย่างเข้าใจและนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของการทำธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่งมันจะเกิดประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อผู้นำไปใช้เข้าใจหลักการของกระบวนการคิดนี้อย่างถ่องแท้และนำไปใช้งานอย่างถูกวิธี มันจึงจะช่วยสร้างกลยุทธ์ในการออกแบบนวัตกรรมให้กับสินค้าและบริการ





หลักการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรคำนึงถึงอะไร


Empathising customer experience

“ ออกแบบเพื่อรองรับประสบการณ์ใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ”


ปฏิเสธิไม่ได้เลยว่าผู้บริโภคในยุคปัจจุบันฉลาดเลือกและเอาใจยากมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของพวกเขามีแนวโน้มที่จะแปรผันตรงกับความรวดเร็วและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องรู้เท่าทันและคาดการณ์ในสิ่งที่พวกเขาต้องการโดยหมั่นสังเกตและศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของพวกเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ ในอนาคตผู้คนเหล่านี้จะใส่ใจกับการบริโภคคอนเทนต์และคุณภาพของประสบการณ์ (Quality of Experience) ที่ได้รับจากการใช้งานสินค้าและบริการ และมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์พิเศษหรือการตอบสนองความต้องต้องการส่วนบุคคล (Personalisation) มากยิ่งขึ้นด้วย ทำให้การศึกษาและเข้าใจข้อมูลของผู้บริโภคเชิงลึก (Customer Insight) กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการวิจัยเพื่อการออกแบบที่จะช่วยให้เราทราบว่า ลูกค้าของเราต้องการอะไร, ให้คุณค่าในสิ่งไหน และควรจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยการออกแบบอย่างไร



สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักออกแบบเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งและไม่ได้คำนึงถึงมิติของการออกแบบสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใส่ใจการออกแบบประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และการบริการของเราในทุกมิติ (Holistic view) อีกด้วย ตั้งแต่ ลูกค้าจะหาซื้อสินค้าของเราได้อย่างไร, การตัดสินใจเลือกซื้อ, ระหว่างใช้งาน, ไปจนถึงบริการหลังการขายต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถตอบโจทย์และเติมเต็มประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภคอย่างเต็มรูปแบบ




จากที่ได้กล่าวมา ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อคิดและมุมมองที่สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่ออนาคตของการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเพียงการจุดประกายเพื่อเริ่มต้นเท่านั้น เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ และพัฒนาความคิดความสามารถไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร การรักษาสมดุลของคุณค่าของงานออกแบบนับเป็นสิ่งสำคัญที่เหล่านักออกแบบจำเป็นต้องคำนึงถึงในการปรับตัว



สุดท้ายนี้ สิ่งที่จะช่วยให้เราอยู่รอดต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือ การที่เราไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ลงมือทำมัน และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์อนาคตของของงานออกแบบที่ดีต่อไป




 

หลักการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรคำนึงถึงอะไร

 




อ้างอิง


Babich, N. (2018). A comprehensive guide to product design. Retrieved March 9, 2020 from https://www.smashingmagazine.com/2018/01/comprehensive-guide-product-design/

Bussracumpakorn, C. (2020, February 24). Design Service Society 2020: Design service transformation. Seminar presented at KX Building, Bangkok, Thailand.

Schroeder, A. (2019). What is the future of product design in the 2020s. Retrieved March 9, 2020 from https://www.abstract.com/blog/product-design-in-2020s/

The Design Management Institute, (2015). Design Value Index Results and Commentary. Retrieved March 9, 2020 from https://www.dmi.org/page/2015DVIandOTW

We Are Social, (2019). Global Digital Report 2019. Retrieved March 9, 2020 from https://wearesocial.com/global-digital-report-2019

Wired, (2018). Future of Design. Retrieved March 9, 2020 from https://www.wired.com/wiredinsider/2018/08/the-future-of-design/