ประวัติ แพทย์แผนไทยสมัยพุทธกาล

ประวัติการแพทย์แผนไทย

การศึกษาเพื่อให้เห็นภาพการแพทย์ของคนไทยในสมัยโบราณนั้น อาจศึกษาได้จาก หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีเหลือตกทอด มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์ของราชสำนัก หลักฐานเหล่านี้ สะท้อนภาพรวมของการแพทย์ ในแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี

สมัยอยุธยา

ช่วงก่อนสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนต้น คือ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๑๗๙๒ ถึงราวพ.ศ. ๑๙๙๘ ไม่มีจารึก ตำรา หรือเอกสารโบราณ เหลือตกทอดมาให้ได้ศึกษาเรียนรู้การแพทย์แผนไทย ในสมัยนั้น อย่างไรก็ดี มีหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เห็นภาพ ในบางแง่มุมของการแพทย์ในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนต้น คือ ทำเนียบศักดินา ใน "กฎหมายตราสามดวง" ที่ตราขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีการระบุศักดินาของข้าราชการพลเรือน ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นกรมต่างๆ หลายกรม เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค โรงพระโอสถ แต่ละกรมมีเจ้ากรม และตำแหน่งข้าราชการระดับอื่นๆ ที่มีศักดินาลดหลั่นกันไป ดังปรากฏอยู่ในข้อความนี้

"…ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ นา ๒๐๐๐ พระศรีมโหสถ ราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหน้า นา ๑๖๐๐ เจ้ากรมหมอนวด ซ้าย ขวา หลวงราชรักษา หลวงราโช นาคล ๑๖๐๐ ออกพระสิทธิสาร เจ้ากรมหมอยาซ้าย นา ๑๔๐๐…"

ทั้งนี้ ตำแหน่ง "ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ" ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโรงพระโอสถ เป็นผู้ที่ถือศักดินาสูงสุดในบรรดาข้าราชการฝ่ายหมอหลวง แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญ ของแพทย์ปรุงยา ซึ่งทำหน้าที่ทั้งเสาะหา รวบรวม และดูแลรักษาเครื่องยาสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งการปรุงยาหลวง และประสานงานกับหมอในกรมอื่นๆ นอกจากนี้กรมหมอนวดก็เป็นกรมที่มีความสำคัญด้วย เนื่องจาก "การนวด" เป็นการบำบัดโรคพื้นฐานในสมัยนั้น ในเรื่องนี้ เดอ ลาลูแบร์ (de la Loube`re) ราชทูตชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า

"...ในกรุงสยามนั้น ถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืด โดยให้ผู้ชำนาญการในทางนี้ ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ และใช้เท้าเหยียบๆ..."

ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์ของบรรพบุรุษไทย คือ "ตำราพระโอสถพระนารายณ์" ตำรานี้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างเกือบสมบูรณ์ จะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ในการคัดลอกชื่อสมุนไพร หรือคำราชาศัพท์บางคำผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่า ตำรานี้ น่าจะรวบรวมขึ้นในราวรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ หรืออย่างช้าก็ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยสรุปหลักวิชาการแพทย์แผนไทยในยุคนั้นไว้อย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความยิ่ง ภาษาที่ใช้ก็ไพเราะ สละสลวย ใช้การอุปมาอุปไมยอันทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ดังข้อความที่คัดมาดังนี้

"….อยํ กาโย อันว่ากายเราท่านทั้งหลายนี้ เหตุธาตุทั้ง ๔ เป็นที่ตั้งแห่งกาย แลอายุ ถ้าธาตุทั้ง ๔ มิได้บริบูรณ์เมื่อใด สมุฏฐานก็จะแปรไปให้กำเนิดแก่โรคเมื่อนั้น เวชโช อันว่าแพทย์ผู้พยาบาลไข้สืบไปเมื่อน่า จงพิจารณาให้แจ้งไปในปฐมธาตุทั้งหลาย อันจะแปรปรวนพิการกำเริบตามฤดูเดือนวันเวลาอายุที่อยู่ที่เกิดก่อน จึงจะรู้กำเนิดไข้ แล้วให้รู้สรรพคุณยา เเลรศยา ทั้ง ๙ ประการก่อน จึงประกอบยา วางยา ถ้าวางยาชอบโรคๆ นั้นกลัวยาดุจกาเห็นธนู ถ้ามิดังนั้น ดุจดังหมู่เนื้อเห็นพระยาไกรสรสีหราช ก็จะปลาศหนีไปโดยเร็ว ถ้าดูโรคมิถูกวางยาผิด ดังอสรพิศม์อันบุคคลเอาไม้ไปรันลงที่ขนดหาง โรคคือโทโส จะกำเริบขึ้นกลมทั่วสรรพางค์กาย มรณํ อันว่าความตาย ภวิสสติ ก็จะมี ทุวํ แท้จริง ถ้าไข้ในคิมหันต์ โลหิตมีกำลัง วสันต์ วาโยมีกำลัง เหมันต์ เสมหะมีกำลัง กล่าวไว้ดังนี้พอประมาณ วิตถารแจ้งอยู่ในฤดู ๖ คัมภีร์มหาโชติรัตแลโรคนิทานนั้นแล้ว"

จากตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้เอง ทำให้เรารู้ว่า มีคัมภีร์อย่างน้อย ๒ เล่ม คือ คัมภีร์มหาโชติรัต (ตำราเกี่ยวกับโรคสตรี) และคัมภีร์โรคนิทาน (ตำราเกี่ยวกับเรื่องราวของโรค) มีใช้กันอยู่แล้วอย่างน้อยก็ในสมัยอยุธยาตอนปลาย และคัมภีร์ทั้ง ๒ เล่มนี้ ยังคงเป็นตำราการแพทย์แผนไทยโบราณ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ใช้ศึกษากันในปัจจุบัน

ประวัติ แพทย์แผนไทยสมัยพุทธกาล

ทำเนียบศักดินาของกรมหมอนวดใน "กฎหมายตราสามดวง"


ตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ ว่าด้วย ความผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ และยาแก้ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วย ตำรับยาที่มีชื่อเรียก และส่วนที่ ๓ ว่าด้วยตำรับยาน้ำมันและยาขี้ผึ้ง มีตำรับยาบันทึกไว้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๘๑ ตำรับ บางตำรับ ระบุชื่อแพทย์ผู้ประกอบยา ตลอดจนวันเดือนปีที่ปรุงยาถวาย ซึ่งทั้งหมด เป็นยาที่ปรุงถวายในช่วงปีที่ ๓ ถึงปีที่ ๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๐๒ - ๒๒๐๔) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ มีการระบุชื่อแพทย์ที่ประกอบยาถวาย ๙ คน ในจำนวนนี้เป็นหมอชาวต่างชาติ ๔ คน คือ หมอจีน ๑ คน (ขุนประสิทธิโอสถจีน) หมอแขก ๑ คน (ออกประสิทธิสารพราหมณ์เทศ) และหมอฝรั่ง ๒ คน (พระแพทย์โอสถฝรั่ง และเมสีหมอฝรั่ง) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมทางการแพทย์ของต่างประเทศ ที่เข้ามามีบทบาท และผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย มีการใช้เครื่องยาเทศ ในยาเกือบทุกตำรับ ที่บันทึกไว้ในตำรา พระโอสถพระนารายณ์ เช่น โกฐต่างๆ เทียนต่างๆ โหราต่างๆ ชะมดเชียง โกฐสอเทศ น้ำดอกไม้เทศ ยิงสม (โสม) อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่รู้จักเลือกใช้เครื่องยาดีของต่างประเทศ ประยุกต์เข้ากับของพื้นบ้านที่มีอยู่แล้ว ในท้องถิ่น เช่น ยาขนานที่ ๔๓ ชื่อ "ยาทิพกาศ" เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ตกเลือดตกหนอง ตำราบันทึกยาขนานนี้ไว้ดังนี้

"….ยาทิพกาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๘ ส่วน ใบกัญชา ๑๖ ส่วน สุราเป็นกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสายกินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแลฯ…."

ยาทิพกาศขนานนี้เข้าเครื่องยา ๙ สิ่ง เป็นของพื้นบ้านไทย ๕ สิ่ง ได้แก่ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน ฝิ่น และใบกัญชา เข้าตัวยาเทศ ๔ สิ่ง ได้แก่ ยาดำ เทียนดำ การบูร และพิมเสน ตัวยาเทศทั้ง ๔ สิ่งนี้เป็นของต่างชาติ ที่แพทย์ไทยโบราณนำมาผสมผสานในตำรับยาไทย ยาดำ (aloe) ได้มาจากทวีปแอฟริกา เทียนดำ (black cumin) มาจากอินเดีย และเปอร์เซีย การบูร (camphor) มาจากญี่ปุ่นและแถบชายฝั่งตะวันออกของจีน และพิมเสน (Borneo camphor) ได้มาจากรัฐตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย

ประวัติ แพทย์แผนไทยสมัยพุทธกาล

เครื่องยาของ "ยาทิพกาศ" ซึ่งเป็นยาช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ตกเลือดตกหนอง


เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เอกสารและหลักฐานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งตำราสรรพวิชา ถูกทำลาย หรือไม่ก็สูญหายไปมาก ผู้ทรงความรู้จำนวนมากหากไม่ล้มหายตายจากไป ก็หนีภัยสงคราม หรือถูกจับเป็นเชลยศึก แม้ภายหลังการกอบกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕) หรือกระทั่งในช่วงต้นของการสถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยขึ้นมาใหม่ ให้รุ่งเรืองเทียบเท่าครั้งกรุงศรีอยุธยาได้

สมัยรัตนโกสินทร์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมตำราต่างๆ ครั้งใหญ่ จากหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ และหมอที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ ทั่วพระราชอาณาจักร โดยให้ พระพงษ์อำมรินทรราชนิกูล พระราชโอรส ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นนายกองผู้รวบรวม

ประวัติ แพทย์แผนไทยสมัยพุทธกาล

ตำรายาที่จารึกไว้บนแผ่นหินอ่อน ประดับที่ผนังด้านนอกบนกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ


ตำราแพทย์และตำรายาพระโอสถ ที่รวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ และมีการตรวจชำระอย่างดีแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบางส่วนให้จารึกลงบนหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวราว ๓๐ เซนติเมตร ประดิษฐานไว้ที่วัดราชโอรสาราม ใน พ.ศ. ๒๓๖๔ สองปีหลังจากอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ ที่กรุงเทพฯ จารึกตำรายาบนหินอ่อน ซึ่งประดับบนกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และที่ศาลารายหลังเล็กที่ปลูกติดกับกำแพงแก้ว หน้าพระอุโบสถ ยังคงปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้

๑. หมวดเวชศาสตร์

เป็นจารึกเกี่ยวกับโรคต่างๆ ว่าด้วยสมุฏฐานของการเกิดโรค พร้อมระบุตำรับยาต่างๆ ที่ใช้แก้โรคนั้นๆ ซึ่งมีจารึกไว้ถึง ๑,๑๒๘ ขนาน

ประวัติ แพทย์แผนไทยสมัยพุทธกาล

แผ่นศิลาที่จารึกตำรายา ณ วัดราชโอรสาราม


๒. หมวดเภสัชศาสตร์

เป็นจารึกว่าด้วย สรรพคุณของเครื่องยาสมุนไพรแต่ละชนิด ทั้งที่เป็นของไทยและของเทศ ส่วนที่ใช้ประโยชน์ และวิธีการใช้ประโยชน์ มีจารึกไว้ ๑๑๓ ชนิด

ประวัติ แพทย์แผนไทยสมัยพุทธกาล

แผ่นศิลาที่จารึกตำรายา ณ วัดราชโอรสาราม


๓. หมวดหัตถศาสตร์ (การนวด)

เป็นจารึกแผนภาพของโครงสร้างร่างกายมนุษย์ แสดงที่ตั้งของเส้นที่ใช้นวด ๑๔ ภาพ และจารึกเกี่ยวกับการนวดแก้ขัดยอก แก้ปวดเมื่อย และแก้โรคต่างๆ อีก รวม ๖๐ ภาพ

ประวัติ แพทย์แผนไทยสมัยพุทธกาล

การย่อยขนาดตัวยาสมุนไพร โดยใช้ครกตำและหินบดยาของโรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลศิริราช)


๔. หมวดอนามัย (ฤๅษีดัดตน)

เป็นวิธีการบริหารร่างกายหรือดัดตนสำหรับแก้ปวดเมื่อย จารึกเป็นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ มี ๘๐ ท่า แต่ละท่ามีคำอธิบายประกอบ

ปัจจุบัน จารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเหล่านี้ มีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นตำรา ซึ่งยังคงใช้เป็นตำราต้นแบบ ในการศึกษาวิชาการแพทย์แผนไทย ในปัจจุบัน

ประวัติ แพทย์แผนไทยสมัยพุทธกาล

พระยาประเสริฐศาสตร์   ธำรง (หมอหนู)


ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ มีพระราชประสงค์ ที่จะพัฒนาการแพทย์แบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้ก้าวหน้าทันสมัย และมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๑๓ สองปีหลังขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระตำราแพทย์แผนไทยให้ตรงกับของดั้งเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ กระจัดกระจาย และคัดลอกกันมาจนผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิมมาก และจดเป็นหลักฐานไว้ในหอพระสมุดหลวง ตำราที่ชำระแล้วนี้เรียกว่า ตำราเวชศาสตร์ ฉบับหลวง ในสมัยนั้น หมอฝรั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมิชชันนารี ได้เข้ามาตั้งโรงพยาบาลแผนตะวันตกกันมาก และได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวซึ่งทรงโปรดการแพทย์แบบดั้งเดิม ได้มีพระราชหัตถเลขาแสดงความห่วงใยไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ความตอนหนึ่งว่า

"...ขอเตือนว่าหมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทสูญหรือหาไม่ หมอไทควรจะไม่ให้มีต่อไปภายหน้า หรือควรมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเองสมัคกินยาไท แลยังวางใจหรืออุ่นใจในหมอไทมาก ถ้าหมอไทจะรักษาแบบฝรั่งหมด ดูจะเยือกเย็นเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระเหนสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันอายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่จน เหนหมอไทหมดดอก คนภายหน้าจะพอใจอย่างฝรั่งกันทั่วไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เป็นแต่ลองเตือนดูตามหัวเก่าๆ ทีหนึ่งเท่านั้น..."

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การแพทย์แผนไทยเจริญก้าวหน้ามาก ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบัน เรียกกันทั่วไปว่า โรงพยาบาลศิริราช) ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อเป็นสถานพยาบาลและบำบัดโรค ทั้งแบบแผนเดิม และแบบแผนตะวันตก จัดตั้งโรงเรียนแพทยากรขึ้น และจัดพิมพ์ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งมีเนื้อหาของแพทย์แผนเดิมและแพทย์แผนตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ เพื่อใช้ในโรงเรียน แต่จัดพิมพ์ได้เพียง ๓ เล่มเท่านั้นก็ล้มเลิกไป ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนแพทยากรขึ้นเป็น โรงเรียนราชแพทยาลัย และยังคงให้เปิดสอนการแพทย์ทั้ง ๒ แบบ คือ แผนเดิม และแผนตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ กรมพยาบาลได้จัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์ เป็นเล่มๆ ต่อจากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ที่ยกเลิกไป โดยการรวบรวมตำราทั้งแผนโบราณ ที่ตรวจสอบแล้ว เช่น คัมภีร์ปฐมจินดา คัมภีร์ธาตุอภิญญา คัมภีร์ธาตุบรรจบ ตำราแพทย์ฝรั่งที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน และในปีเดียวกันนี้ มีการผลิตยาตำราหลวงเป็นครั้งแรก  จำนวน ๘ ขนาน