ข้อมูล (Data) คืออะไร พร้อมยกตัวอย่างข้อมูลที่พบในชีวิตประจำวันมา 3 ข้อมูล

การประมวลผลข้อมูล

เมื่อ :

วันพฤหัสบดี, 10 กันยายน 2563

การประมวลผลข้อมูล 1

ความหมายของข้อมูล

          ข้อมูล (data) หมายถึง ข้อเท็จจริง (fact) ที่อยู่ในรูปแบบตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์พิเศษ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ซึ่งสามารถบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องและมีความหมายอยู่ในตัว เช่น ชื่อนักเรียน อายุ เพศ จำนวนประชากร ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น ข้อมูลจะมีอยู่จำนวนมาก และจะถูกนำไปประมวลผลเพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ได้มากมาย

ข้อมูล (Data) คืออะไร พร้อมยกตัวอย่างข้อมูลที่พบในชีวิตประจำวันมา 3 ข้อมูล

ภาพ ข้อมูลและการประมวลผล
ที่มา https://pixabay.com ,PublicDomainPictures

ประเภทของข้อมูล

           สามารถแบ่งประเภทข้อมูลได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการ ลักษณะของข้อมูลที่นำไปใช้และเกณฑ์ที่นำมาพิจารณา

  1. การแบ่งข้อมูลตามลักษณะของข้อมูลเป็นการแบ่งข้อมูลขั้นพื้นฐานโดยพิจารณาจากการรับข้อมูลของประสาทสัมผัส (Sense) ของร่างกาย ได้แก่ ข้อมูลภาพที่ได้รับจากการมองเห็นด้วยดวงตา ข้อมูลเสียงที่ได้รับจากการฟังด้วยหู ข้อมูลกลิ่นที่ได้รับจากการสูดดมด้วยจมูก ข้อมูลรสชาติที่ได้รับจากการรับรสชาติด้วยลิ้น และข้อมูลสัมผัสที่ได้รับจากความรู้สึกด้วยผิวหนัง

  2. การแบ่งข้อมูลตามแหล่งข้อมูลที่ได้รับโดยพิจารณาจากลักษณะของที่มาหรือการได้รับข้อมูล

          - ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) คือ ข้อมูลที่ได้จากจุดกำเนิดของข้อมูลนั้นๆ เป็นการเก็บรวบรวมหรือบันทึกจากแหล่งข้อมูลโดยตรงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสอบถาม การสัมภาษณ์ การสำรวจ การจดบันทึก ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งข้อมูลปฐมภูมิจัดเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ตัวอย่างข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ ข้อมูลการมาโรงเรียนสายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งได้จากการจดบันทึกในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา

          - ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) คือ การนำข้อมูลที่ผู้อื่นได้เก็บรวบรวมหรือบันทึกไว้แล้วมาใช้งาน ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเก็บรวบรวมหรือบันทึกด้วยตนเอง จัดเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีต มักผ่านการประมวลผลแล้ว บางครั้งจึงไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และข้อมูลที่ได้มีความคลาดเคลื่อน ไม่ทันสมัย ตัวอย่างข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่ สถิติการมาโรงเรียนสายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2551

  1. การแบ่งข้อมูลตามการจัดเก็บในสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะคล้ายการแบ่งข้อมูลตามลักษณะของข้อมูล แต่มีการแยกลักษณะข้อมูลตามชนิดและนามสกุลของข้อมูลนั้น ๆ ซึ่งจะตั้งตามประเภทของข้อมูลและโปรแกรมที่ใช้สร้างข้อมูล ได้แก่

           - ข้อมูลตัวอักษร (Text Data) เช่น ตัวหนังสือ ตัวเลข และสัญลักษณ์ ข้อมูลประเภทนี้มักมีนามสกุลต่อท้ายไฟล์เป็น .txt และ .doc

          - ข้อมูลภาพ (Image Data) เช่น ภาพกราฟิกต่างๆ และภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล ข้อมูลประเภทนี้มักมีนามสกุลต่อท้ายไฟล์เป็น .bmp .gif และ .jpg

          - ข้อมูลเสียง (Sound Data) เช่น เสียงพูด เสียงดนตรี และเสียงเพลง ข้อมูลประเภทนี้มักมีนามสกุลต่อท้ายชื่อไฟล์เป็น .wav .mp3 

          - ข้อมูลภาพเคลื่อนไหว (Video Data) เช่นภาพเคลื่อนไหว ภาพมิวสิควีดิโอ ภาพยนตร์ คลิปวีดีโอ ข้อมูลประเภทนี้มักมีนามสกุลต่อท้ายชื่อไฟล์เป็น .avi .mov

  1. การแบ่งข้อมูลตามระบบคอมพิวเตอร์มีลักษณะคล้ายและใกล้เคียงกับการแบ่งข้อมูลตามการจัดเก็บในสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก แต่มุ่งเน้นพิจารณาการแบ่งประเภทตามการนำข้อมูลไปใช้งานในระบบคอมพิวเตอร์ ได้แก่

          - ข้อมูลเชิงจำนวน (Numeric Data) มีลักษณะเป็นตัวเลขที่สามารถนำมาคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ได้ เช่น จำนวนเงินในกระเป๋า จำนวนค่าโดยสารรถประจำทาง และจำนวนนักเรียนในห้องเรียน

         - ข้อมูลอักขระ (Character Data) มีลักษณะเป็นตัวอักษร ตัวหนังสือ และสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถนำเสนอข้อมูลและเรียงลำดับได้แต่ไม่สามารถนำมาคำนวณได้ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บ้าน และชื่อของนักเรียน

         - ข้อมูลกราฟิก (Graphical Data) เป็นข้อมูลที่เกิดจากจุดพิกัดทางคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดรูปภาพหรือแผนที่ เช่น เครื่องหมายการค้า แบบก่อสร้างอาคาร และกราฟ

         - ข้อมูลภาพลักษณ์ (Image Data) เป็นข้อมูลแสดงความเข้มและสีของรูปภาพที่เกิดจากการสแกนของสแกนเนอร์เป็นหลัก ซึ่งสามารถนำเสนอข้อมูล ย่อหรือขยาย และตัดต่อได้ แต่ไม่สามารถนำมาคำนวณหรือดำเนินการอย่างอื่นได้

แหล่งที่มา

พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.

พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.

IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/

Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.

ครูปรานอม  หยวกทอง. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://sites.google.com/site/kroonom/khwam-hmay-khxng-thekhnoloyi

Return to contents


การประมวลผลข้อมูล 2

ลักษณะของข้อมูลที่ดี

ข้อมูลที่ดีจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญๆ ดังนี้คือ

  1. ความถูกต้องแม่นยำ (accuracy)ข้อมูลที่ดีควรจะมีความถูกต้องแม่นยำสูง หรือถ้ามีความคลาดเคลื่อน (errors) ปนอยู่บ้าง ก็ควรที่จะสามารถควบคุมขนาดของความคลาดเคลื่อนที่ปนมาให้มีความคลาดเคลื่อน น้อยที่สุด 

  2. ความทันเวลา (timeliness)เป็นข้อมูลที่ทันสมัย (up to date) และทันต่อความต้องการของ ผู้ใช้ ถ้าผลิตข้อมูลออกมาช้า ก็ไม่มีคุณค่าถึงแม้จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำก็ตาม

  3. ความสมบูรณ์ครบถ้วน (completeness)ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาต้องเป็นข้อมูลที่ให้ข้อเท็จจริง (facts) หรือข่าวสาร (information) ที่ครบถ้วนทุกด้านทุกประการ มิใช่ขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปทำให้นำไปใช้การไม่ได้

  4. ความกะทัดรัด (conciseness)ข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่จะกระจัดกระจาย ควรจัดข้อมูลให้อยู่ใน รูปแบบที่กะทัดรัด สะดวกต่อการใช้และค้นหา ผู้ใช้มีความเข้าใจได้ทันที

  5. ความตรงกับความต้องการของผู้ใช้ (relevance)ข้อมูลที่จัดทำขึ้นมาควรเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้ข้อมูลต้องการใช้ และจำเป็นต้องรู้ / ทราบ หรือเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนกำหนดนโยบายหรือตัดสินปัญหาในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นมาอย่างมากมาย แต่ไม่มีใครต้องการใช้หรือไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล

  6. ความต่อเนื่อง (continuity)การเก็บรวบรวมข้อมูล ควรอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องในลักษณะของอนุกรมเวลา (time-series) เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในด้านการวิเคราะห์วิจัยหรือหาแนวโน้มในอนาคต

วิธีการประมวลผลข้อมูล 

          การประมวลผลข้อมูล (Data Processing) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหรือจัดระเบียบข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ข้อมูลโดยทั่วไปเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นระเบียบจากขบวนการนับหรือการวัด ไม่สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจหรือใช้ประโยชน์ได้ การประมวลผลจึงเป็นวิธีการนำข้อมูล (Data) กลายสภาพเป็นสารสนเทศ (Information) ที่มีประสิทธิภาพและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ซึ่งวิธีการประมวลผลข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศ มีหลายวิธี ดังนี้

  1. การคำนวณ (Calculation)หมายถึง การนำข้อมูลที่เป็นตัวเลขมาทำการ บวก ลบ คูณ หารยกกำลัง เช่น การคำนวณภาษี การคำนวณค่าแรง เป็นต้น

  2. การจัดเรียงข้อมูล (Sorting)เป็นการเรียงข้อมูลจากน้อยไปหามาก หรือมากไปหาน้อย เพื่อทำให้ดูง่ายขึ้น ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้เร็วขึ้น เช่น การเรียงคะแนนดิบของนักเรียนจากมากไปหาน้อย การเก็บบัตรดัชนีสำหรับหนังสือต่างๆ โดยการเรียงตามตัวอักษร จาก ก ข ค ถึง ฮ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเรียงลำดับข้อมูลสองประเภทใหญ่ๆด้วยกันคือ การเรียงข้อมูลที่เป็นตัวเลข (Numeric) และการเรียงข้อมูลที่เป็นตัวอักษร (Alphabetic) สำหรับการจัดเรียงข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์นั้นถ้าข้อมูลเป็นตัวอักษรจะจัดเรียงตามลำดับของรหัสแทนข้อมูล

  3. การจัดกลุ่ม (Classifying)หมายถึง การจัดข้อมูลโดยการแยกออกเป็นกลุ่มหรือประเภทต่างๆ เช่น การนำข้อมูลเกี่ยวกับประวัตินักศึกษา มาแยกตามคณะต่างๆเช่น แยกเป็นนักศึกษาที่สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาที่สังกัดคณะครุศาสตร์ เป็นต้น การทำเช่นนี้ทำให้การค้นหาข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น และยังสะดวกสำหรับทำรายงานต่างๆ

  4. การดึงข้อมูล (Retrieving)หมายถึง การค้นหาและการนำข้อมูลที่ต้องการมาจากแหล่งเก็บเพื่อนำไปใช้งาน เช่น ต้องการทราบค่าคะแนนเฉลี่ยๆ สะสมของนักศึกษา ที่มีเลขประจำตัว 33555023 ซึ่งสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ถ้าข้อมูลเรียงโดยแยกตามคณะวิชาและในแต่ละคณะวิชาเรียงตามหมายเลขประจำตัว การดึงข้อมูลจะเริ่มต้นค้นหาแฟ้มของคณะวิชา และค้นหาข้อมูลเริ่มจากกลุ่มแรก โดยดูเลขประจำตัวจนกระทั่งพบหมายเลขประจำตัว 33555023 ก็จะดึงเอาค่าคะแนนเฉลี่ยสะสมของนักศึกษาผู้นี้นำไปใช้ตามที่ต้องการ

  5. การรวมข้อมูล (Merging)หมายถึง การนำข้อมูลตั้งแต่สองชุดขึ้นไปมารวมกันให้เป็นชุดเดียวเช่น การนำประวัติส่วนตัวของนักศึกษา และประวัติการศึกษามารวมเป็นชุดเดียวกัน เป็นประวัตินักศึกษา เป็นต้น การรวมข้อมูลจัดได้ว่าเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันมากในระบบการจัดการฐานข้อมูลในปัจจุบันนี้

  1. การสรุปผล (Summarizing)หมายถึง การสรุปส่วนต่างๆ ของข้อมูลโดยย่อเอาเฉพาะส่วนที่เป็นใจความสำคัญ เพื่อเน้นจุดสำคัญและแนวโน้ม เช่น การนำข้อมูลมาแจงนับและทำเป็นตารางการหายอดนักศึกษาของแต่ละวิชา ข้อมูลเหล่านี้ใช้สำหรับพิมพ์เป็นรายงานสรุปส่งขึ้นไปให้ผู้บริหารระดับสูง เพื่อใช้ในการบริหาร

  2. การทำรายงาน (Reporting) หมายถึง การนำข้อมูลมาจัดพิมพ์รายงานรูปแบบต่างๆ เช่น รายงานการวิเคราะห์อาชีพของผู้ปกครองของนักศึกษา รายงานการเรียนของนักศึกษา เป็นต้น

  3. การบันทึก (Recording)หมายถึง การจดบันทึกข้อมูลเอาไว้โดยทำการคัดลอกข้อมูลจากต้นฉบับแล้วเก็บเป็นแฟ้ม (Filing) เช่น การบันทึกประวัติส่วนตัวนักศึกษาแต่ละคน เป็นต้น

  4. การปรับปรุงรักษาข้อมูล (Updating)หมายถึง การเพิ่ม (Add) หรือการเอาออก (Delete) และการเปลี่ยนค่า (Change) ข้อมูลที่อยู่ในแฟ้มให้ทันสมัยอยู่เสมอ

ขั้นตอนการประมวลผลข้อมูล

  1. การรวบรวมเอกสารข้อมูลหมายถึง เอกสารข้อมูลที่ได้ถูกบันทึกโดยแหล่งใช้ข้อมูลนั้น เช่น บัตรลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา ใบรายชื่อประวัติหมู่เรียน เป็นต้น เอกสารข้อมูลนับเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง หากเอกสารผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วน รายงานที่ได้จากการประมวลผลย่อมผิดพลาดไปด้วย ฉะนั้น งานในขั้นนี้ก็คือจะต้องสร้างวิธีการควบคุม ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้การจัดเอกสารให้เป็นกลุ่ม มีใบนำส่งที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเอกสารจากจุดต่างๆ ถ้าไม่ครบถ้วน หรือมีข้อผิดพลาดก็จะสามารถทราบจุดที่ติดต่อสอบถามได้ง่ายสำหรับการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์อาจจะหมายถึงการรวบรวมแฟ้มข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันไว้ในแหล่งข้อมูลที่สามารถเรียกใช้ ดังเช่นในระบบฐานข้อมูลที่ประกอบด้วยแฟ้มข้อมูลจำนวนมากนั่นเอง

  2. การเตรียมข้อมูลหมายถึง การจัดเตรียมข้อมูลที่รวบรวมมาแล้วให้อยู่ในรูปที่สะดวกต่อการประมวลผล ซึ่งได้แก่ งานต่างๆ ดังต่อไปนี้

         - งานบรรณาธิกรเบื้องต้น (Preliminary Editing) คือ การนำข้อมูลที่รวบรวมได้ของแต่ละหน่วยงานมาตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วน และทำการปรับปรุงแก้ไขในกรณีที่เอกสารมีข้อผิดพลาดต้องแก้ไขใหม่ ถ้าเป็นข้อมูลที่สำคัญ เช่นตัวเลขทางการเงินที่จะยอมให้คลาดเคลื่อนไม่ได้ควรส่งไปยังแหล่งที่ให้เอกสารข้อมูลทำการแก้ไขปรับปรุง การบรรณาธิกรเบื้องต้นนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะถ้าข้อมูลผิดพลาดย่อมทำให้ผลสรุป หรือรายงานที่ได้ผิดพลาดไปด้วย

        - การลงรหัส (Coding) หมายถึง การใช้รหัสแทนข้อมูล เช่น จากข้อมูลเกี่ยวกับภูมิลำเนาของนักศึกษาอาจจำแนกได้เป็นเขตๆ

  1. การประมวลผลในส่วนของการประมวลผลแฟ้มข้อมูล หมายถึง การสร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลระหว่างแฟ้มข้อมูลการออกแบบโปรแกรมเพื่อการประมวลผลแฟ้มข้อมูลต่างๆ เมื่อผ่านการรวบรวมและเตรียมข้อมูลแล้วเราสามารถใช้วิธีการประมวลผลวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น การคำนวณ การเรียงลำดับ เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นข้อสนเทศ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปรายงาน ตาราง หรือกราฟ 

วิธีการประมวลผลข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์ มี 2 วิธี

  1. การประมวลผลแบบเชื่อมตรง (online processing)หมายถึง การทำงานในขณะที่ข้อมูลเดินทางไปบนสายสัญญาณเชื่อมต่อจากเครื่องปลายทาง (terminal) ไปยังฐานข้อมูลของเครื่องหลักที่ใช้ในการประมวลผล การประมวลผลแบบเชื่อมตรงจึงเป็นการประมวลผลโดยทันทีทันใด เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน การซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า การฝากถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม อาจกล่าวได้ว่าการประมวลผลแบบเชื่อมตรงจึงเป็นวิธีการที่ใช้กันมากในปัจจุบัน

  2. การประมวลผลแบบกลุ่ม (batch processing)หมายถึง การประมวลผลในเรื่องที่สนใจเป็นครั้งๆ เช่น เมื่อต้องการทราบผลสำรวจความนิยมของประชาชนต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกว่า โพล (poll) ก็มีการสำรวจข้อมูลโดยเก็บรวบรวมข้อมูล เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ก็นำมาป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วนำข้อมูลนั้นมาประมวลผลตามโปรแกรมที่ได้กำหนดไว้ เพื่อรายงานผล หรือสรุปผลหาคำตอบ กรณีการประมวลผลแบบกลุ่มจึงกระทำในลักษณะเป็นครั้งๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ โดยจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลไว้ก่อน 

          ซึ่งในการประมวลผลทั้งสองแบบนี้เป็นวิธีการที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยดำเนินการกับข้อมูลจำนวนมากเพื่อแยกแยะ คำนวณ หรือดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในโปรแกรม การทำงานของคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลจึงต้องมีซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอยสั่งการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในรูปแบบที่ต้องการ

แหล่งที่มา

พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.

พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.

IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/

Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.

ครูปรานอม  หยวกทอง. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://sites.google.com/site/kroonom/khwam-hmay-khxng-thekhnoloyi

Return to contents


การประมวลผลข้อมูล 3

คุณสมบัติของข้อมูล         

          การจัดเก็บข้อมูลจำเป็นต้องมีความพยายามและตั้งใจดำเนินการ หรือกล่าวได้ว่าการได้มาซึ่งข้อมูลที่จะนำมาใช้ประโยชน์ องค์การจำเป็นต้องลงทุน ทั้งในด้านตัวข้อมูล เครื่องจักร และอุปกรณ์ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรขึ้นมารองรับระบบ เพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการระบบข้อมูลจึงต้องคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ และพยายามมองปัญหาแบบที่เป็นจริง สามารถดำเนินการได้ ให้ประสิทธิผลคุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นการดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่ดี ข้อมูลจะต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน ดังนี้

          ความถูกต้อง หากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือไม่ได้จะทำให้เกิดผลเสียอย่างมาก ผู้ใช้จะไม่กล้าอ้างอิงหรือนำเอาไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเหตุให้การตัดสินใจของผู้บริหารขาดความแม่นยำ และอาจมีโอกาสผิดพลาดได้ โครงสร้างข้อมูลที่ออกแบบต้องคำนึงถึงกรรมวิธีการดำเนินงานเพื่อให้ได้ความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด โดยปกติความผิดพลาดของสารสนเทศส่วนใหญ่ มาจากข้อมูลที่ไม่มีความถูกต้องซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากคนหรือเครื่องจักร การออกแบบระบบจึงต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้

           ความรวดเร็วและเป็นปัจจุบัน การได้มาของข้อมูลจำเป็นต้องให้ทันต่อความต้องการของผู้ใช้ มีการตอบสนองต่อผู้ใช้ได้เร็ว ตีความหมายสารสนเทศได้ทันต่อเหตุการณ์หรือความต้องการ มีการออกแบบระบบการเรียกค้น และรายงานตามความต้องการของผู้ใช้

          ความสมบูรณ์ ความสมบูรณ์ของสารสนเทศขึ้นกับการรวบรวมข้อมูลและวิธีการ ทางปฏิบัติด้วย ในการดำเนินการจัดทำสารสนเทศต้องสำรวจและสอบถามความต้องการใช้ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งที่เหมาะสม

          ความชัดเจนและกะทัดรัด การจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากจะต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลมากจึงจำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างข้อมูลให้กะทัดรัดสื่อความหมายได้ มีการใช้รหัสหรือย่นย่อข้อมูลให้เหมาะสมเพื่อที่จะจัดเก็บเข้าไว้ในระบบคอมพิวเตอร์

          ความสอดคล้อง ความต้องการเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นจึงต้องมีการสำรวจเพื่อหาความต้องการของหน่วยงานและองค์การ ดูสภาพการใช้ข้อมูล ความลึกหรือความกว้างของขอบเขตของข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการ

การทำข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ          

          การทำข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมและตรวจสอบข้อมูล การดำเนินการประมวลผลข้อมูลให้กลายเป็นสารสนเทศ และการดูแลรักษาสารสนเทศเพื่อการใช้งานควรประกอบด้วย

การเก็บรวบรวมข้อมูล

          เป็นเรื่องของการเก็บรวมรวมข้อมูลซึ่งมีจำนวนมาก และต้องเก็บให้ได้อย่างทันเวลา เช่น ข้อมูลการลงทะเบียนเรียนของนักเรียน ข้อมูลประวัติบุคลากร ปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยในการจัดเก็บอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ การอ่านข้อมูลจากรหัสแท่ง การตรวจใบลงทะเบียนที่มีการฝนดินสอดำในตำแหน่งต่าง ๆ เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเช่นกัน

การดำเนินการประมวลผลข้อมมูลให้กลายเป็นสารสนเทศ

          อาจประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้

           การจัดแบ่งกลุ่มข้อมูล ข้อมูลที่จัดเก็บจะต้องมีการแบ่งแยกกลุ่ม เพื่อเตรียมไว้สำหรับการใช้งาน การแบ่งแยกกลุ่มมีวิธีการที่ชัดเจน เช่น ข้อมูลในโรงเรียนมีการแบ่งเป็นแฟ้มประวัตินักเรียน และแฟ้มลงทะเบียน สมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองมีการแบ่งหมวดสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกในการค้นหา

          การจัดเรียงข้อมูล เมื่อจัดแบ่งกลุ่มเป็นแฟ้มแล้ว ควรมีการจัดเรียงข้อมูลตามลำดับ ตัวเลข หรือตัวอักษร หรือเพื่อให้เรียกใช้งานได้ง่ายประหยัดเวลา ตัวอย่างการจัดเรียงข้อมูล เช่น การจัดเรียงบัตรข้อมูลผู้แต่งหนังสือในตู้บัตรรายการของห้องสมุดตามลำดับตัวอักษร การจัดเรียงชื่อคนในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ ทำให้ค้นหาได้ง่าย

          การสรุปผล บางครั้งข้อมูลที่จัดเก็บมีเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการสรุปผลหรือสร้างรายงานย่อ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ข้อมูลที่สรุปได้นี้อาจสื่อความหมายได้ดีกว่า เช่น สถิติจำนวนนักเรียนแยกตามชั้นเรียนแต่ละชั้น

          การคำนวณ ข้อมูลที่เก็บมีเป็นจำนวนมาก ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อมูลตัวเลขที่สามารถนำไปคำนวณเพื่อหาผลลัพธ์บางอย่างได้ ดังนั้นการสร้างสารสนเทศจากข้อมูลจึงอาศัยการคำนวณข้อมูลที่เก็บไว้ด้วย

          แนวทางการดำเนินการให้ได้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการจะเริ่มจากการวิเคราะห์ความต้องการ การวิเคราะห์นี้จะได้จากการสอบถามความต้องการ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าควรจะจัดโครงสร้างข้อมูลนั้นไว้ในระบบหรือไม่ ถ้าจัดเก็บจะประกอบด้วยข้อมูลอะไร มีรายละเอียดอะไร ตอบสนองการใช้งานได้อย่างไร คำถามที่ใช้ในการสำรวจอาจประกอบด้วย

          1. ข้อมูลอะไรบ้างที่มีใช้อยู่ในขณะนี้ เช่น แบบฟอร์ม รายงานหรือเอกสาร ฯลฯ ดูโครงสร้างเอกสาร หรือข่าวสาร ตลอดจนการไหลเวียนของเอกสาร

          2. ข้อมูลอะไรที่จะจัดทำขึ้นได้ในขณะนี้ ซึ่งได้แก่ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว หรือสามารถจัดเก็บได้

          3. ข้อมูลอะไรที่ควรจะมีใช้เพิ่ม เพื่อให้ได้ระบบ และเป็นคำตอบที่จะตอบสนองผู้ใช้ในระดับต่าง ๆ ได้

          4. ข้อมูลอะไรที่หน่วยงานหรือส่วนต่าง ๆ ขององค์การต้องการ โดยดูจากคำถามที่หน่วยงานต่าง ๆ ถามมา

          5. ข้อมูลมีความถี่ของการใช้และมีปริมาณเท่าไร ควรมีการตรวจสอบ

          6. รูปแบบของการประมวลผล ควรมีการประมวลผลอะไร ให้ได้ผลลัพธ์อย่างไร

          7. ใครรับผิดชอบข้อมูล ข้อมูลบางตัวจำเป็นต้องมีผู้ดูแล

แหล่งที่มา

ครูปรานอม  หยวกทอง. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://sites.google.com/site/kroonom/khwam-hmay-khxng-thekhnoloyi

Return to contents


การประมวลผลข้อมูล 4

บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน

         เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันมีความก้าวหน้าและทันสมัยเป็นอย่างมาก อีกทั้งรูปแบบการสื่อสารในปัจจุบันผ่านสื่อต่างๆมีการพัฒนาให้เป็นการสื่อสารแบบสองทิศทาง ส่งผลให้การกระจายข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ทั้งที่มาจากในประเทศและผลกระทบที่มาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ผลของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน อาทิเช่น

         – การเปลี่ยนเป็นสังคมสารสนเทศ  ปัจจุบันสังคมโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคม สารสนเทศ โดยคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารเข้ามามีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต การทำงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รวมถึงก่อให้เกิดสังคมออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ไลน์ (Line) และ ยูทูป(YouTube) เป็นต้น

         – การทำงานที่ไร้เงื่อนไขของเวลาและสถานที่  เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพทาง การทำงานแบบทุกสถานที่และทุกเวลา โดยการโต้ตอบผ่านระบบเครือข่าย ทำให้ขยายขอบเขตการทำงานไปทุกหนทุกแห่งและดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

         – ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงทั่วโลก  เทคโนโลยีสารสนเทศส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนจากระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนเอื้ออำนวยให้การดำเนินการมีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ระบบเศรษฐกิจของโลกจึงผูกพันกับทุกประเทศและเชื่อมโยงกันแนบแน่นขึ้น

        – เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานใหม่ๆ เช่น ระบบระบุพิกัดบนพื้นโลก (Global Positioning System, GPS) ซึ่งสามารถกำหนดพิกัดของสถานที่ต่าง ๆ การสำรวจ การเดินทาง และใช้เป็นระบบติดตามรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการสืบค้นข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมทางอินเทอร์เน็ต เช่น โปรแกรม Google Earth

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ

        เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology มีที่มาจากการคำว่า “เทคโนโลยี (Technology)” กับคำว่า “สารสนเทศ (Information)” โดยหากพิจารณาความหมายของแต่ละคำจะพบว่า เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง สิ่งที่ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อช่วยในการผลิตสินค้าหรือบริการ หรือเพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้แก่ เทคนิค ทักษะ วิธีการ กระบวนการ ความรู้ ซึ่งอาจหมายรวมถึงชุดคำสั่งที่ติดมากับเครื่องจักร

         สารสนเทศ (Information) หมายถึง ข้อมูลต่างๆ ที่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงหรือมีการประมวลหรือวิเคราะห์ผลสรุปด้วยวิธีการต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบที่มีความสัมพันธ์กัน มีความหมาย มีคุณค่าเพิ่มขึ้นและมีวัตถุประสงค์ในการใช้งาน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

         เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) หมายถึง การนำเอาเทคนิค ทักษะ วิธีการ กระบวนการ หรือ ความรู้ มาใช้ในการประมวลหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น

วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ

        เทคโนโลยีที่นิยมใช้ในการจัดการสารสนเทศมากที่สุด คือ เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีวิวัฒนาการในแต่ละยุคดังนี้

          ยุคที่ 1 การประมวลผลข้อมูล (Data Processing Era) คือ ยุคนี้เป็นยุคเริ่มต้นของการใช้คอมพิวเตอร์ โดยเป็นการนำเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยในการคำนวณและการประมวลผลข้อมูลของงานประจำ

          ยุคที่ 2 ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information System) คือ ยุคที่มีการพัฒนาการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยข้อมูลจะผ่านการประมวลผลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และสามารถนำข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลนั้นมาช่วยในการตัดสินใจดำเนินการด้านต่างๆ

          ยุคที่ 3 การจัดการทรัพยากรสารสนเทศ (Information Resource Management) การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะเน้นถึงการใช้สารสนเทศที่จะช่วยในการตัดสินใจนำหน่วยงานไปสู่ความสำเร็จ

          ยุคที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศหรือยุคไอที (Information Technology Era) คือ ยุคที่เน้นทางด้านเทคโนโลยี มีการขยายขอบเขตการประมวลผลข้อมูลไปสู่การสร้างและการผลิตสารสนเทศ และเน้นความคิดของการให้บริการสารสนเทศแก่ผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นวัตถุประสงค์สำคัญ

แหล่งที่มา

พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.

พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.

IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/

Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.

Return to contents


การประมวลผลข้อมูล 5

องค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ

         ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ การดำเนินธุรกิจ และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ในระบบสารสนเทศนั้นประกอบด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ บุคลากร ขั้นตอนการทำงาน ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และข้อมูล

  • บุคลากร เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจวิธีการในการดำเนินการ และจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศทั้งหมด บุคลากรจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งหากแบ่งกลุ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มหลักๆได้แก่
    • กลุ่มผู้บริหารระดับสูง บทบาทของผู้บริหารระดับสูงในระบบสารสนเทศมีหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตการเข้าถึงข้อมูลของบุคลากรในหน่วยงาน ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลต่างๆในระบบสารสนเทศของแต่ละหน้าที่งานมีความแตกต่างกัน
    • กลุ่มผู้ดูแลระบบ บุคลากรในกลุ่มผู้ดูแลระบบสามารถแยกเป็นกลุ่มย่อยๆได้ดังนี้
      • ผู้ดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์(Supporter) หมายถึงผู้ดูแลและคอยตรวจสอบสภาพเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้มีสภาพความพร้อมที่จะทำงานได้ตลอดเวลา  กลุ่มนี้จะเรียนรู้เทคนิคการรักษา  ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์  ตลอดจนการต่อเชื่อมต่อและการใช้งานโปรแกรมต่างๆ
      • ผู้เขียนโปรเเกรมคอมพิวเตอร์(Programmer) หมายถึงผู้เขียนโปรแกรมตามผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์เป็นผู้กำหนด เพื่อให้ได้โปรแกรมที่ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานในองค์กร  
      • ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์(System Analysis) เป็นผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาว่าองค์กรควรจะใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะใดจึงจะเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด
      • ผู้บริหารระบบคอมพิวเตอร์(System Manager) เป็นผู้มีหน้าที่บริหารทรัพยากรทุกชนิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร
    • กลุ่มผู้ใช้ระบบ หมายถึงผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป สามารถทำงานตามหน้าที่ในหน่วยงานนั้น ๆ เช่น  การพิมพ์งาน   การป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์   การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์   เป็นต้น  ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ  ของคอมพิวเตอร์ก็ได้
  • ขั้นตอนการทำงาน หมายถึง ระเบียบวิธีการปฏิบัติงานในการจัดเก็บรักษาข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่จะทำให้เป็นสารสนเทศได้ เช่น การกำหนดให้มีการป้อนข้อมูลทุกวัน การปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องอยู่เสมอ ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนของผู้ใช้หรือ ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง เมื่อได้พัฒนาระบบงานแล้วจำเป็นต้องปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน และในขณะที่ใช้งานก็จำเป็นต้องคำนึงถึงลำดับขั้นตอนการปฏิบัติของคนและความสัมพันธ์กับอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน เช่น ขั้นตอนการบันทึกข้อมูล ขั้นตอนการประมวลผล ขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเครื่องชำรุดหรือข้อมูลสูญหาย และขั้นตอนการทำสำเนาข้อมูลสำรองเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการซักซ้อม มีการเตรียมการ และการทำเอกสารคู่มือการใช้งานที่ชัดเจน
  • ฮาร์ดแวร์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วยคีย์บอร์ด เมาส์ จอภาพ หน่วยระบบ และอุปกรณ์อื่นๆ เครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์จะถูกควบคุมโดยซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการสารสนเทศ
  • ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมในระบบคอมพิวเตอร์ คือ ชุดคำสั่งที่เรียงเป็นลำดับขั้นตอน มีหน้าที่สั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามวัตถุประสงค์ และประมวลผลเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ ในปัจจุบันซอฟต์แวร์มีลักษณะการใช้งานที่ง่ายขึ้น โดยมีรูปแบบการติดต่อที่สื่อความหมายให้เข้าใจง่าย โดยติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้งานผ่านกราฟฟิก (Graphical User Interface : GUI)  ซอฟต์แวร์สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ
  • ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) คือ ซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการกับระบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบ  เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดว์ ระบบปฏิบัติการดอส ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์
  • ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) คือ ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานด้านต่างๆ ตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น     ซอฟต์แวร์กราฟิก     ซอฟต์แวร์ประมวลคำ    ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน      ซอฟต์แวร์นำเสนอข้อมูล
    • ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริง หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคคล วัตถุหรือสถานที่ ข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะใช้เป็นเครื่องช่วยในการวางแผนงานการบริหารจัดการ ดังนั้นข้อมูลจะต้องมีความถูกต้อง มีความเที่ยงตรง สามารถเชื่อถือได้ มีความเป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้ และมีความสมบูรณ์ชัดเจน ทั้งนี้ข้อมูลสามารถอยู่ในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ข้อความ ตัวเลข รูปภาพ หรือ เสียง เป็นต้น

เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน

        ในการผลิตสารสนเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีสาระสำคัญ และใช้ในการประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้งานได้นั้น ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการรวบรวมข้อมูล การประมวลผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน การสื่อสารข้อมูล ฯลฯ ทั้งนี้รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดระบบการให้บริการ การใช้ และการดูแลข้อมูล โดยทั้งนี้หากแบ่งประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศตามลักษณะของเทคโนโลยี สามารถจัดเป็นกลุ่มหลักๆได้ 3 กลุ่ม คือ

  • เทคโนโลยีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
  • เทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • เทคโนโลยีเครือข่าย

แหล่งที่มา

พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.

พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.

IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/

Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.

Return to contents


การประมวลผลข้อมูล 6

เทคโนโลยีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

        เทคโนโลยีด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ คือ กลุ่มของอุปกรณ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆของการผลิตสารสนเทศ เริ่มตั้งแต่การนำเข้าข้อมูล การเก็บข้อมูล การประมวลผล และการแสดงผล

        เทคโนโลยีด้านการนำเข้าข้อมูล (Input Technology) ข้อมูลในระบบสารสนเทศ คือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยข้อมูลสามารถอยู่ในรูปตัวเลข ตัวอักษร รูปภาพ หรือเสียง หากเปรียบเทียบระบบสารสนเทศกับการผลิตสินค้า

          ดังนั้นอุปกรณ์ในการนำเข้าข้อมูลที่มีประสิทธิภาพจะช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้าข้อมูล และช่วยให้การรวบรวมข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของเทคโนโลยีทางด้านอุปกรณ์ในการนำเข้าข้อมูล ได้แก่

  • คีย์บอร์ด (Keyboard) เป็นอุปกรณ์นำข้อมูลเข้าที่นิยมใช้กันมากที่สุดและพบเห็นในการใช้งานทั่วไป โดยรับข้อมูลป้อนเข้าที่เป็นตัวอักษร อักขระพิเศษ ตัวเลข รวมถึงชุดคำสั่งต่าง ๆ

  • เมาส์ ( Mouse ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ชี้ตำแหน่งการทำงานรวมถึงสั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงานบางคำสั่งที่มีการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ โดยใช้มือเป็นตัวบังคับทิศทางและใช้นิ้วสำหรับการกดเลือกคำสั่งงาน

  • จอยสติ๊ก ( Joystick ) เป็นอุปกรณ์ที่พบเห็นได้กับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเกมส์คอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการใช้เมาส์เพื่อบังคับทิศทางนั้นอาจไม่รองรับกับรูปแบบของบางเกมได้ จึงนำเอาจอยสติ๊กมาใช้แทน

  • แผ่นรองสัมผัสหรือทัชแพด ( Touch pad ) เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบาง ๆ ติดตั้งไว้อยู่ในคอมพิวเตอร์แบบพกพา เพื่อใช้ทำงานแทนเมาส์ เมื่อกดสัมผัสหรือใช้นิ้วลากผ่านบริเวณดังกล่าวก็สามารถทำงานแทนกันได้ โดยมากจะติดตั้งไว้บริเวณด้านล่างของแป้นพิมพ์

  • จอสัมผัสหรือทัชสกรีน ( Touch screen ) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้นิ้วมือแตะบังคับหรือสั่งการไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เมาส์หรือแป้นพิมพ์ มักพบเห็นได้ตามตู้ให้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ตู้ ATM บางธนาคาร เครื่องออกบัตรโดยสาร รถไฟฟ้า เป็นต้น

  • พวงมาลัยพังคับทิศทาง (Wheel) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับการเล่นเกมเหมือนกับจอยสติ๊ก

  • ดิจิไทเซอร์ ( Digitizer ) หรืออุปกรณ์อ่านพิกัด มักใช้ร่วมกับอุปกรณ์ประเภทปากกาหรือในงานความละเอียดสูงจะใช้กับหัวอ่านที่เป็นกากบาทเส้นบาง ( crosshair ) เพื่อให้ชี้ตำแหน่งโดยละเอียด ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระดานรองรับการเขียนข้อความ วาดภาพหรือออกแบบงานที่เกี่ยวกับกราฟิกเป็นหลัก ทำให้มีความคล่องตัวและสะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น

  • สไตลัส ( Stylus ) เป็นอุปกรณ์ประเภทปากกาป้อนข้อมูลชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เช่น พีดีเอ แท็บเล็ตพีซี หรืออาจพบเห็นในสมาร์ทโฟนบางรุ่น

  • ไมโครโฟน ( Microphone ) เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลประเภทเสียงพูด ( Voice ) เข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ไมโครโฟนยังสามารถใช้ร่วมกับระบบจดจำเสียงพูดหรือ voice recognition เพื่อทำงานบางอย่างได้

  • กล้องถ่ายวิดีโอดิจิตอล ( Digital Video camera ) เรียกย่อ ๆ ว่ากล้องประเภท DV ซึ่งเป็นกล้องวิดีโอแบบดิจิตอลนั่นเอง กล้องประเภทนี้สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวและบันทึกเก็บหรือโอนถ่ายลงคอมพิวเตอร์ได้เช่นเดียวกัน

  • กล้องถ่ายรูปดิจิตอล ( Digital camera ) เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลประเภทภาพถ่ายดิจิตอล

  • เว็บแคม ( Web cam ) เป็นกล้องถ่ายวิดีโออีกประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน

  • สแกนเนอร์ ( Scanner ) เป็นอุปกรณ์อ่านข้อมูลประเภทภาพถ่าย

  • โอเอ็มอาร์ ( OMR – Optical Mark Reader ) เป็นเครื่องที่นำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจข้อสอบหรือคะแนนของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก เช่น การสอบเอ็นทรานซ์ การสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ การสอบเข้ารับราชการของสำนักงาน ก.พ. โดยจะอ่านเครื่องหมาย ( Mark ) ที่ผู้เข้าสอบได้ระบายไว้ในกระดาษคำตอบ ซึ่งโดยปกติจะต้องใช้ดินสอที่มีความเข้มมากพอที่จะให้เครื่องอ่านได้

  • เครื่องอ่านบาร์โค้ด ( Bar code reader ) คือ เครื่องที่ใช้อ่านรหัสบาร์โค้ด ( bar code ) ที่ใช้แทนรหัสสินค้าโดยมีลักษณะเป็นรูปภาพแท่งสีดำและขาวต่อเนื่องกัน ในปัจจุบันมีการพัฒนา QR Code ซึ่งย่อมากจาก Quick Response Code หมายถึงโค้ดที่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว  สามารถเก็บข้อมูล ได้ทั้งตัวอักษร ตัวเลข และ Binary  เช่น ชื่อเว็บไซต์, เบอร์โทรศัพท์, ข้อความ, E-mail ฯลฯ และมีการแปลงข้อมูล (Encode) และถอดรหัส (Decode) ด้วยการใช้รูปแบบ 2D

  • เอ็มไอซีอาร์ ( MICR – Magnetic-Ink Character Recognition ) เรียกย่อ ๆ ว่าเครื่อง เอ็มไอซีอาร์ ( MICR – Magnetic-Ink Character Recognition ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านตัวอักษรด้วยแสงของเอกสารสำคัญ เช่น เช็คธนาคาร ซึ่งมีการพิมพ์หมายเลขเช็คด้วยผงหมึกสารแม่เหล็ก ( Magnetic ink ) เป็นแบบอักษรเฉพาะ มีลักษณะเป็นลายเส้นเหลี่ยม (ดังรูป) พบเห็นได้ในการประมวลผลเช็คสำหรับธุรกิจด้านธนาคาร

  • ไบโอเมตริกส์ ( Biometric ) เป็นลักษณะของการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวบุคคลเฉพาะอย่าง เช่น ลายนิ้วมือ รูปแบบของม่านตา (Ratina ) ฝ่ามือ หรือแม้กระทั่งเสียงพูด ซึ่งนำมาใช้กับงานป้องกันและรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานที่ต้องการความปลอดภัยในระดับสูง เนื่องจากระบบการตรวจสอบประเภทนี้จะปลอมแปลงได้ยาก เครื่องที่ใช้อ่านข้อมูลพวกนี้จะมีอยู่หลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะการตรวจสอบ เช่น เครื่องอ่านลายนิ้วมือ เครื่องตรวจม่านตา เครื่องวิเคราะห์เสียงพูด เป็นต้น

แหล่งที่มา

พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.

พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.

IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/

Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.

Return to contents


การประมวลผลข้อมูล 7

       เทคโนโลยีอุปกรณ์ด้านการจัดเก็บข้อมูล (Storage Technology) คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการนำข้อมูลเข้าไปเก็บไว้ในสื่อจัดเก็บข้อมูล อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ อุปกรณ์ที่อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่แยกจากคอมพิวเตอร์

       อุปกรณ์เก็บข้อมูลที่อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ : เมื่อข้อมูลผ่านอุปกรณ์ในการรวบรวมเพื่อเข้าสู่ระบบประมวลผลแล้วนั้น ข้อมูลที่ได้มาจะถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์เพื่อรอการประมวลผล ตัวอย่างเช่น

  • Flash Drive คือ อุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถลบและเขียนใหม่ได้ มีขนาดกะทัดรัด

  • External Hard disk คือ อุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูลที่มีเนื้อที่ในการจัดเก็บที่มากกว่า Flash Drive และมีขนาดใหญ่กว่า

  • Cloud หรือ Cloud Storage หากแปลตรงตัวคือ แหล่งเก็บข้อมูลบนก้อนเมฆ ซึ่งก็คือการเก็บข้อมูลไว้กับผู้ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้ให้บริการจะมีเซิร์ฟเวอร์ (Server) ขนาดใหญ่เพื่อทำการสำรองพื้นที่ให้ลูกค้าใช้เพื่อเก็บข้อมูล ลูกค้าเพียงแค่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตและมีบัญชีผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการ ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Cloud Storage ทั้งในรูปแบบที่คิดค่าบริการและไม่คิดค่าบริการ เช่น Google Drive, One Drive, Dropbox, SkyDrive เป็นต้น โดยทำการเปรียบเทียบพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายได้ ข้อดีข้อเสียของ cloud storage

ข้อดี

  • สะดวกต่อการใช้งาน เพราะสามารถเชื่อมต่อได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่มีระบบอินเทอร์เน็ต

  • ไม่เสี่ยงต่อการที่ข้อมูลสูญหายเนื่องจากความเสียหายของอุปกรณ์

  • ไม่เสียค่าใช้จ่ายหากต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บตามที่ผู้ให้บริการเปิดให้ใช้ฟรี

ข้อเสีย

  • ต้องพึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการ

  • เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูล

          เทคโนโลยีด้านการประมวลผลข้อมูล (Data Processing Technology) การประมวลผล คือการเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ โดยกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการมีวิธีการต่างๆ ในการประมวลผลซึ่งได้แก่ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ การคัดเลือก การจัดหมู่-จัดกลุ่ม การสรุปรวม การเรียงลำดับ และการค้นหา เป็นต้น ในระบบคอมพิวเตอร์อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่หลักในการประมวลผลข้อมูลได้แก่ ซีพียู (Central Processing Unit หรือ CPU) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นในการทำงานของคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นหัวใจของคอมพิวเตอร์เลยก็ได้ ซีพียู เป็นตัวควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงที่ต่อร่วมกับคอมพิวเตอร์

          เทคโนโลยีด้านการประมวลผลข้อมูลมีการพัฒนาไปมาก โดยในปัจจุบันการประมวลผลข้อมูลสามารถทำได้ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเรียกว่า Cloud Computing เป็นการที่เราใช้ซอฟต์แวร์, ระบบ, และทรัพยากรของเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยสามารถเลือกกำลังการประมวลผล เลือกจำนวนทรัพยากร ได้ตามความต้องการในการใช้งาน และให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลบน Cloud จากที่ไหนก็ได้

ประเภทของบริการ คลาวด์คอมพิวติ้ง  (Cloud Service Models) แบ่งได้เป็นรูปแบบหลักๆ 3 แบบได้แก่

        1. Software as a Service (SaaS) เป็นการที่ใช้หรือเช่าใช้บริการซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่น ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยประมวลผลบนระบบของผู้ให้บริการ ทำให้ไม่ต้องลงทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เอง โดยซอฟต์แวร์สามารถถูกเรียกใช้งานจากที่ไหน และเมื่อไหร่ก็ได้ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งบริการ Software as a Service ที่เป็นที่รู้จักและใช้งานอย่างแพร่หลายก็คือ GMail นั่นเอง นอกจากนั้นก็เช่น Google Docs หรือ Google Apps ที่เป็นรูปแบบของการใช้งานซอฟต์แวร์ผ่านเว็บบราวเซอร์ สามารถใช้งานเอกสาร คำนวณ และสร้าง Presentation โดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์บนเครื่องเลย แถมใช้งานบนเครื่องไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ แชร์งานร่วมกันกับผู้อื่นก็สะดวก ซึ่งการประมวลผลจะทำบน Server ของ Google ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่มีที่มีกำลังประมวลผลสูงหรือพื้นที่เก็บข้อมูลมากๆในการทำงาน

        2. Platform as a Service (PaaS) คือการให้บริการสำหรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่น โดยผู้ให้บริการจะให้บริการพื้นฐานทั้ง Hardware, Software, และชุดคำสั่งในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น โดยผู้ใช้บริการสามารถนำไปพัฒนาต่อเพื่อให้ตรงตามความต้องการ ทำให้ลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการพัฒนาซอฟท์แวร์อย่างมาก ตัวอย่าง เช่น Google App Engine, Microsoft Azure

        3. Infrastructure as a Service (IaaS) เป็นบริการให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์อย่าง หน่วยประมวลผล ระบบจัดเก็บข้อมูล ระบบเครือข่าย ในรูปแบบระบบเสมือน (Virtualization) ข้อดีคือองค์กรไม่ต้องลงทุนสิ่งเหล่านี้เอง, ยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบไอทีขององค์กรในทุกรูปแบบ, สามารถขยายได้ง่าย ตามความต้องการขององค์กร ลดความยุ่งยากในการดูแลเพราะหน้าที่ในการดูแลจะอยู่ที่ผู้ให้บริการ

           ตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรที่ใช้งาน Cloud Computing เช่น สายการบินไทยสไมล์ และนกแอร์ ได้นำเอา Cloud Computing เข้ามาใช้ช่วยในการลดต้นทุน ช่วยประหยัดเวลา ลดความยุ่งยากทั้งในเรื่องของเงินทุน และระยะเวลาในการลงทุนอุปกรณ์เอง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะการซื้ออุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การอัพเดตซอฟต์แวร์ และการอัพเกรดระบบ ต่างมาพร้อมกับต้นทุนและต้องการการบำรุงรักษาในระยะยาว ในขณะที่องค์กรเอง ก็ต้องการความยืดหยุ่น และไม่ยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์, ระบบเครือข่าย รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และปรับตัวเข้ากับอนาคตได้เร็วกว่าคู่แข่ง

แหล่งที่มา

พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.

พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.

IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/

Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.

Return to contents


การประมวลผลข้อมูล 8

        เทคโนโลยีด้านการแสดงผล (Display Technology) การแสดงผลผ่านอุปกรณ์ต่างในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแสดงผลมีความสมจริงสามารถแสดงเป็นตัวหนังสือ เป็นรูปภาพ พิมพ์ออกมาที่กระดาษ แสดงเป็นเสียง วีดิทัศน์ เป็นต้น ตัวอย่างอุปกรณ์ด้านการแสดงผล

  • จอภาพ (Monitor) ใช้แสดงข้อมูลหรือผลลัพธ์ให้ผู้ใช้เห็นได้ทันที มีรูปร่างคล้ายจอภาพของโทรทัศน์ บนจอภาพประกอบด้วยจุดจำนวนมาก เรียกจุดเหล่านั้นว่า พิกเซล (Pixel) ถ้ามีพิกเซลจำนวนมากก็จะทำให้ผู้ใช้มองเห็นภาพบนจอได้ชัดเจนมากขึ้น
  • อุปกรณ์ฉายภาพ (Projector) เป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการเรียนการสอนหรือการประชุม เนื่องจากสามารถนำเสนอข้อมูลให้แก่ผู้ชมจำนวนมากเห็นพร้อม ๆ กัน อุปกรณ์ฉายภาพในปัจจุบันจะมีอยู่หลายแบบ ทั้งที่สามารถต่อสัญญาณจากคอมพิวเตอร์หรือมือถือโดยตรง หรือใช้อุปกรณ์พิเศษในการวางลงบนเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (OverHead Projector)
  • ลำโพง (Speaker) แสดงข้อมูลที่อยู่ในรูปเสียง
  • เครื่องพิมพ์ (Printer) การแสดงผลที่สามารถจับต้อง และเคลื่อนย้ายได้ตามต้องการ มักจะออกมาในรูปของกระดาษ ประเภทเครื่องพิมพ์ ได้แก่
    • Inkjet Printer ใช้หลักการพิมพ์โดยการพ่นหมึกเล็กๆไปที่กระดาษ
    • Laser Printer ทำงานคล้ายเครื่องถ่ายเอกสาร คือใช้แสงเลเซอร์สร้างประจุไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลให้โทนเนอร์ (Toner) สร้างภาพที่ต้องการและพิมพ์ภาพนั้นลงบนกระดาษ เครื่องพิมพ์เลเซอร์แต่ละรุ่นจะแตกต่างกันในด้านความเร็วและความละเอียดของงานพิมพ์
    • 3D Printer อาศัยหลักการแบ่งข้อมูลเป็น 2 มิติหลายๆชั้น หรือที่เรียกว่า slicing จากนั้นจึงทำการพิมพ์แต่ละชั้นจนได้แบบจำลอง 3 มิติ หมึกที่ใช้ของ 3D Printer มีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการของวัสดุในแต่ละชิ้นงาน เช่น การใช้หมึกที่เป็นเรซิ่นในการขึ้นรูปโมเดล การใช้หมึกที่เป็นปูนในการสร้างบ้านโดยอาศัยเครื่องพิมพ์สามมิติ การใช้น้ำตาลเป็นหมึกเพื่อขึ้นรูปขนม หรือแม้กระทั่งการใช้สเตมเซลล์เป็นหมึกเพื่อพิมพ์อวัยวะ เป็นต้น

เทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์

        โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีการพัฒนาความก้าวหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เฉพาะด้านมากขึ้น ในด้านของซอฟแวร์ระบบ ระบบปฏิบัติการ (Operating System หรือ OS) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ ยูนิกซ์ (Unix) แมคโอเอส (Mac OS) และ วินโดว์ (Window) แนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านซอฟแวร์ระบบเน้นที่การพัฒนาด้านความรวดเร็ว การเชื่อมต่อ และความปลอดภัย ผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่ายในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆเข้าไว้ด้วยกันส่งผลให้ความปลอดภัยของข้อมูลต่างๆก็ลดน้อยลงไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าหลายบริษัทที่พัฒนาซอฟแวร์ระบบจะเน้นไปที่ระบบของความปลอดภัยมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบปฏิบัติการ Windows 10 ที่เน้นความปลอดภัยในการป้องกันไวรัส มัลแวร์ และสปายแวร์ที่พบในอีเมลล์ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ระบบคลาวด์ และเว็บไซต์

        สำหรับแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) ในปัจจุบัน มีการพัฒนาซอฟแวร์ประยุกต์ที่รองรับความต้องการเฉพาะด้านมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ซอฟแวร์ประยุกต์

เทคโนโลยีเครือข่าย

         เทคโนโลยีการเชื่อมต่อของสรรพสิ่ง (Internet of Thing หรือ IoT) แนวคิด Internet of Things ถูกคิดค้นขึ้นโดย Kevin Ashton ในปี 1999 ซึ่งเริ่มต้นจากโครงการ “Auto-ID Center” ในมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology จากเทคโนโลยี RFID ย่อมาจากคำว่า Radio Frequency Identification เป็นระบบที่นำเอาคลื่นวิทยุมาใช้ในการสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สองชนิด ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบไร้สาย ต่อมาในยุคหลังปี 2000 เทคโนโลยีต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เริ่มมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นจำนวนมาก และสามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอาศัยตัว Sensor ในการสื่อสารถึงกัน โดย Kevin ได้ให้นิยามไว้ว่า “Internet-like” ต่อมามีคำว่า “Things” เข้ามาแทนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

        ความหมายของ IoT หมายถึง การที่สิ่งต่างๆ ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

         IoT มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า M2M ย่อมาจาก Machine to Machine คือเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่ออุปกรณ์กับเครื่องมือต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เทคโนโลยี IoT มีความจำเป็นต้องทำงานร่วมกับอุปกรณ์ประเภท RFID และ Sensors ซึ่งเปรียบเสมือนการเติมสมองให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ขาดไม่คือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อให้อุปกรณ์สามารถรับส่งข้อมูลถึงกันได้ เทคโนโลยี IoT มีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะหากระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไม่ดีพอ ก็อาจทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาขโมยข้อมูลหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของเราได้ ดังนั้นการพัฒนา IoT จึงจำเป็นต้องพัฒนามาตรการและระบบรักษาความปลอดภัยไอทีควบคู่กันไปด้วย

ตัวอย่างของการใช้ระบบ IoT ในปัจจุบัน

  • บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) คือ การนำเทคโนโลยีและระบบอินเทอร์เน็ตมาเชื่อมต่อเพื่อควบคุมอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้าน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายภายในบ้าน เช่น ควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ผ่านอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ต โดยมีการใช้แอพลิเคชั่นควบคู่กับระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ RFID
  • อุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ได้ เช่น การเชื่อมต่อโทรศัพท์กับนาฬิกา หรือ สายรัดข้อมือ

แหล่งที่มา

พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.

พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.

IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.it24hrs.com/

Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.

Return to contents


การประมวลผลข้อมูล 9

ผลกระทบของเทคโนโลยีทางลบ

          การขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขีดความสามารถในการใช้งาน เพิ่มขึ้นขณะเดียวกันก็มีราคาถูกลง มีการประยุกต์ใช้งานอย่างกว้างขวาง จนกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในอดีต สหรัฐฯ เป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตทางด้านการเกษตรเป็นสินค้าหลัก ต่อมา เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเป็นประเทศอุตสาหกรรม ปริมาณสัดส่วนของสินค้า ด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในปัจจุบันโครงสร้างการผลิตของสหรัฐฯ เน้นไปที่ธุรกิจการให้บริการ และการใช้สารสนเทศกันมาก ทำให้สัดส่วนการผลิตสินค้า เกษตรลดลงไม่ถึง 5% ของสินค้าทั้งหมด ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมก็มีมูลค่าน้อยกว่า อุตสาหกรรมบริการ ซึ่งใช้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก หากมองภาพการใช้คอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารทั่วไปของโลก ปัจจุบันมูลค่า ของสินค้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศที่พัฒนา แล้ว 10 ประเทศมีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์มากถึงกว่า 90% ของปริมาณการใช้ คอมพิวเตอร์ทั่วโลก ประเทศที่พัฒนาแล้ว 10 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และแอฟริกาใต้ ถ้าพิจารณาบริษัทผู้ผลิตสินค้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศพบว่า ประเทศผู้ผลิต เพื่อส่งออกขายมีเพียงไม่กี่ประเทศ ประเทศเหล่านี้ส่วนมากมีเทคโนโลยีของตนเองมี การค้นคิด วิจัยและพัฒนาสินค้าให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา จากความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสาร ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ มี ขนาดเล็กลง แต่มีความสามารถเพิ่มขึ้น และมีราคาถูกลงจนผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อมา ใช้ได้ จนแทบกล่าวได้ว่าบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามามีส่วนในทุกบ้าน เพราะเครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ และระบบ สื่อสารอยู่ด้วยเสมอ

           ปัจจุบันคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารได้สร้างประโยชน์ อย่างใหญ่หลวงต่อวงการทางธุรกิจ ทำให้ทุกธุรกิจมีการลงทุน ขยายขอบเขตการให้บริการ โดยใช้ระบบสารสนเทศกันมากขึ้น กลไกเหล่านี้ทำให้โอกาสการขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศ กว้างขวางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทำให้สังคมโลกเป็นสังคม แบบไร้พรมแดน การใช้งานเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น อินเทอร์เน็ตมีอัตราการขยายตัว สูงมาก จนกล่าวได้ว่าเป็นอัตราการขยายตัวแบบทวีคูณ จนเชื่อแน่ว่าภายในระยะเวลาอีก ไม่นาน ผู้คนบนโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้หมด

ผลกระทบในทางบวก

        ผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสังคมในทางบวกหรือทางที่ดีมีดังนี้

  1. ช่วยส่งเสริมความสะดวกสบายของมนุษย์ เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น ช่วยส่งเสริมให้มี ประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้มนุษย์มีเวลาว่างเพื่อใช้ ในทางที่เกิดประโยชน์มากขึ้น มีเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ให้ติดต่อกันได้สะดวก มีระบบคมนาคมขนส่งที่ รวดเร็วสามารถใช้โทรศัพท์ในขณะเดินทางไปมายังที่ต่าง ๆ มีอุปกรณ์ช่วยอำนวยความ สะดวกที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น ลิฟต์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องช่วย ให้เกิดการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ มีรายการให้เลือกชมได้มากมาย มีการ แพร่กระจายสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทำให้ผู้ชมสามารถรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ จาก ทั่วทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็วเหมือนอยู่ในเหตุการณ์

  2. ช่วยทำให้การผลิตในอุตสาหกรรมดีขึ้น การผลิตสินค้าในปัจจุบันต้องการผลิตสินค้าจำนวนมาก มีคุณภาพมีมาตรฐาน ซึ่ง ในปัจจุบันใช้เครื่องจักรทำงานอย่างอัตโนมัติ สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง สินค้าที่ได้มีคุณภาพและปริมาณพอเพียงกับความต้องการของผู้บริโภค ปัจจุบันมีความ พยายามที่จะสร้างหุ่นยนต์ให้เข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์

  3. ช่วยส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสาร เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ช่วยให้งานค้น คว้าวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยต่าง ๆ มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น คอมพิวเตอร์ช่วยงานคำนวณ ที่ซับซ้อน ซึ่งแต่ก่อนยากที่จะทำได้ เช่น งานสำรวจทางด้านอวกาศ งานพัฒนาคิดค้ผลิตภัณฑ์และสารเคมีต่างๆ ทำให้ได้สูตรยา รักษาโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ปัจจุบันงาน ค้นคว้าวิจัยทุกแขนงจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยในการคำนวณต่างๆ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ในการจำลองรูป แบบของสิ่งที่มองไม่เห็นตัว ใช้ในการค้นหา ข้อมูลที่มีจำนวนมากและแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก สามารถค้นหารายงานวิจัยที่มีผู้เคยทำ ไว้แล้วและที่เก็บไว้ในห้องสมุดต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว งานวิจัยต่าง ๆ มีความก้าวหน้า ยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่อย่างมาก

  4. ช่วยส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้กิจการด้านการ แพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ล้วนแล้ว แต่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการดำเนินการ ช่วยในการดำเนินการ ช่วยในการแปลผล มีเครื่อง ตรวจหัวใจที่ทันสมัย เครื่องเอกซเรย์ภาคตัดขวางที่ สามารถตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่าง ละเอียด

  5. ช่วยส่งเสริมสติปัญญาของมนุษย์ คอมพิวเตอร์มีจุดเด่นที่สามารถทำงานได้รวดเร็ว มีความแม่นยำ สามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้มาก การแก้ปัญหาที่ ซับซ้อนบางอย่างกระทำได้ดี และรวดเร็ว งานบางอย่างถ้า ให้มนุษย์ทำอาจต้องเสียเวลา ในการคิดคำนวณตลอดชีวิต แต่คอมพิวเตอร์สามารถทำงาน เสร็จภายในเวลาไม่กี่ วินาที

  6. เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง เทคโนโลยีจำเป็นต่ออุตสาหกรรม กิจการค้า ธุรกิจต่าง ๆ กิจการทางด้านธนาคาร ช่วยส่งเสริมงานทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้กระแส เงินหมุนเวียนได้อย่างกว้างขวาง

  7. ช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ช่วยย่นย่อโลกให้เล็กลง โลกมีสภาพไร้พรมแดน มีการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันมากขึ้น เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ทำให้ลดปัญหาใน เรื่องความขัดแย้ง สังคมไร้พรมแดนทำให้มี ความเป็นอยู่แบบรวมกลุ่มประเทศมากขึ้น

  8. ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อกระจายข่าวสาร

แหล่งที่มา

พงษ์ศักดิ์ ผกามาศ. (2553). ระบบไอซีทีและการจัดการยุคใหม่. กรุงเทพฯ: วิตตี้กรุ๊ป.

พลพธู ปียวรรณ และสุภาพร เชิงเอี่ยม. (2555). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. สมุทรปราการ: ออฟเซ็ทพลัส.

IT24Hrs. Cloud Computing. [เว็บบล็อก]. สืบค้นเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ 2562. จากhttps://www.it24hrs.com/

Rainer, K. & Watson, H. (2012). Management Information Systems. NJ: Wiley.

Return to contents

รูปแบบการนำเสนอ แบ่งตามผลผลิต สสวท.

สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล

ลิขสิทธิ์

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา

เทคโนโลยี

ดูเพิ่มเติม

ข้อมูล Data คืออะไร พร้อมยกตัวอย่าง

ข้อมูล (Data) เป็นข้อมูลดิบหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการเก็บบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยที่ข้อมูลสามารถอยู่ในรูปแบบของตัวอักษร ตัวเลข หรือจะเป็นสัญลักษณ์อะไรก็ได้ ข้อมูลที่เกิดขึ้นจะต้องเกิดแค่กระบวนการบันทึกเท่านั้นโดยยังไม่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์หรือแปลงสภาพ ตัวอย่างเช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19, ราคาน้ำมันในแต่ละวัน ...

ดาต้า มีอะไรบ้าง

ข้อมูลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในระบบคอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งที่ต้องป้อนเข้าไปในคอมพิวเตอร์ พร้อมกับโปรแกรมที่นักคอมพิวเตอร์เขียนขึ้นเพื่อผลิตผลลัพธ์ที่ต้องการออกมา ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้กับคอมพิวเตอร์ได้ มี 5 ประเภท คือ ข้อมูลตัวเลข (Numeric Data) ข้อมูลตัวอักษร (Text Data) ข้อมูลเสียง (Audio Data) ข้อมูลภาพ ( ...

Data and Information คืออะไร

ข้อมูล (data): ผลที่ได้จากกระบวนการจัดเป็นข้อมูล นอกจากนี้สารสนเทศ (information) ที่ไม่ได้ผ่านการประมวลถือว่าเป็นข้อมูล ภายในตาราง excel เก็บข้อมูลไม่ใช่สารสนเทศ อีกตัวอย่างตัวเลขของการขายของบริษัทที่อยู่ในแผ่นตารางคือข้อมูล ถ้ามีการจัดประเภทข้อมูลอาจทำให้ได้ผลที่เป็นประโยชน์ออกมา

Data มีความสําคัญอย่างไร

ประโยชน์ของข้อมูลและความสำคัญของการใช้ข้อมูล.
1. ช่วยให้องค์กรเข้าใจสถานการณ์และประสิทธิภาพการทำงาน ... .
2. ช่วยให้องค์กรตัดสินใจได้ดีขึ้นและตรงกับความเป็นจริง ... .
3. ช่วยให้องค์กรรับมือและแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น ... .
4. ช่วยพัฒนากระบวนการทำงานให้ดีขึ้น ... .
5. เข้าใจลูกค้ามากขึ้น สร้างประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจ.