การบริหารเงิน ทุนหมุนเวียน การเงิน

เงินทุนหมุนเวียน เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการ ผู้ประกอบการควรศึกษาว่าเงินทุนหมุนเวียนคืออะไรและควรบริหารอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น

  • เงินทุนหมุนเวียนคือ เงินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจก่อนได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ หรือลูกหนี้การค้า ซึ่งมีความสำคัญกับธุรกิจ SME อย่างมาก เพราะเงินทุนหมุนเวียนเป็นเงินที่ใช้ทำให้กิจการดำเนินไปได้โดยไม่สะดุด 
  • วิธีบริหารเงินทุนหมุนเวียนมี 5 วิธี ได้แก่ ขายสินค้าที่มีอยู่ในสต็อกเป็นเงินสดให้ได้ เลือกกลุ่มลูกค้าในการให้เครดิต สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้การค้าชำระเงินเร็วขึ้น ขอเครดิตการค้าจากคู่ค้าทางธุรกิจและขอสินเชื่อแฟคตอริ่งเพื่อรักษาสภาพคล่อง

ในการดำเนินธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียนมีความสำคัญมากค่ะ เพราะเกี่ยวข้องกับความคล่องตัวของกิจการ ยิ่งมีเงินทุนหมุนเวียนดี โอกาสในการเติบโตของธุรกิจก็จะมากตามไปด้วย แต่ถ้าเงินทุนหมุนเวียนไม่ดีขึ้นมาเมื่อไหร่ การจะเติบโตหรือขยายกิจการก็อาจติดๆ ขัดๆ ได้ เพราะไม่มีทุนในการเพิ่มกำลังการผลิตนั่นเอง ในส่วนนี้ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะเริ่มคิดแล้วว่า จะมีวิธีไหนบ้างที่จะจัดการกับเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสินเชื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้บ้าง เพียร์ พาวเวอร์ มีคำแนะนำตามนี้เลยค่ะ

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คงพอจะเข้าใจว่าเงินทุนหมุนเวียนคืออะไรใช่มั้ยคะ ในบทความนี้เพียร์ พาวเวอร์จะพูดถึงเงินทุนหมุนเวียนในทางการทำบัญชีหรือการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งหมายถึง เงินทุนที่ต้องสำรองไว้ใช้สำหรับดำเนินกิจการก่อนได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ รวมถึงการชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าค่ะ ลูกหนี้การค้าคือใคร เขาคือลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเรา รับของไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายเงิน ผู้ประกอบการน่าจะคุ้นเคยกับการขอเครดิต หรือถ้าเป็นภาษาโบราณหน่อยจะเป็นการขอเชื่อไว้ก่อนแล้วจะจ่ายทีหลังนั่นเอง

ในการทำธุรกิจหลายประเภทเราหลีกเลี่ยงไม่ให้มีลูกหนี้การค้าไม่ได้ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงมีเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทดี ผู้ประกอบการต้องบริหารสัดส่วนของลูกหนี้การค้าให้ดีค่ะ เพราะระหว่างที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้นั้นหมายถึงเงินในธุรกิจของเราเองที่ต้องเสียไปในกระบวนการผลิตนั่นเอง

เงินทุนหมุนเวียนมีข้อดีอย่างไร

ถ้าผู้ประกอบการสามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างดี จะช่วยให้ธุรกิจมีเงินเพียงพอในการซื้อสินค้าเพื่อนำมาขายและมีเงินในการชำระคืนเจ้าหนี้การค้าหรือสถาบันการเงินอื่นๆ ได้ตรงตามเวลา รวมถึงรักษาสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจอีกด้วยค่ะ

เงินทุนหมุนเวียนควรบริหารอย่างไรเพื่อลดโอกาสเกิดปัญหา

เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาธุรกิจติดขัด ผู้ประกอบการควรบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้ดี ทั้งด้านการขายสินค้า และการบริหารลูกหนี้การค้าให้รายรับที่เข้ามามีความสมดุลกับต้นทุนในการบริหารธุรกิจนั่นเอง ซึ่งทำได้หลายวิธีเลยค่ะ

ขายสินค้าที่มีอยู่ในสต็อกเป็นเงินสดให้ได้

การขายสินค้าที่อยู่ในสต็อกเป็นเงินสด จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้ไว้ใช้ในการดำเนินการธุรกิจต่อไปค่ะ แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้ สินค้าก็จะค้างสต็อกซึ่งเสี่ยงต่อการเสียเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ดังนั้นผู้ประกอบการควรวางแผนการตลาดเพื่อให้สินค้าของเราเกิดการซื้อขายด้วยเงินสดมากที่สุดนะคะ

เลือกกลุ่มลูกค้าในการให้เครดิต

การให้เครดิตกับลูกหนี้การค้ามีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ได้ค่ะ แต่สำหรับคู่ค้าที่ทำธุรกิจด้วยกันมานานแล้ว การขอเครดิตก่อนแล้วจ่ายทีหลังเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ก็ต้องการบริหารสภาพคล่องทางการเงินทั้งนั้น การให้เครดิตกับคู่ค้าจึงเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อขายด้วยกันต่อเนื่องอีกทางหนึ่ง แต่ในอีกด้านผู้ประกอบการควรเลือกให้ดีว่าธุรกิจของเราสามารถให้เครดิตกับคู่ค้าได้มากน้อยอย่างไร ที่จะไม่ทำให้กิจการของเราขาดเงินทุนหมุนเวียนจนติดขัดเสียเอง การเลือกจะให้เครดิตกับลูกค้ารายไหนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนมากแล้วผู้ประกอบการมักเลือกให้เครดิตกับลูกค้าที่มีประวัติการซื้อขายด้วยกันมาตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี และไม่มีประวัติการผิดนักชำระหนี้ค่ะ  

สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้การค้าชำระเงินเร็วขึ้น

การจ่ายช้าหรือไม่จ่ายของคู่ค้าก็ส่งผลต่อธุรกิจของเราได้เช่นกันค่ะ ดังนั้นสำหรับธุรกิจที่มีลูกหนี้การค้า ผู้ประกอบการจึงต้องพยายามให้คู่ค้าชำระเงินให้ตรงเวลา ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์เคยเห็นก็มีอยู่หลายวิธี เช่นการทำข้อเสนอหรือเงื่อนไขพิเศษบางอย่าง ให้ส่วนลดกับลูกหนี้ 1 – 2% ถ้าชำระหนี้เร็วขึ้น เป็นต้น

การบริหารเงิน ทุนหมุนเวียน การเงิน

ขอเครดิตการค้าจากคู่ค้าทางธุรกิจ

นอกจากจะเป็นผู้ให้เครดิตแล้วผู้ประกอบการยังเป็นลูกหนี้การค้าเองได้ด้วยค่ะ ด้วยหลักการเดียวกัน คือขอสินค้ามาผลิตก่อนแล้วจ่ายทีหลัง เป็นข้อดีแง่การบริหารเงินทุนหมุนเวียน เพราะยังไม่ต้องเอาเงินในธุรกิจของตัวเองไปใช้ ทำให้มีเวลาในการบริหารกระแสเงินสด เมื่อผู้ประกอบการเป็นลูกหนี้การค้าเสียเอง ก็ต้องมีวินัยในการจ่ายหนี้เพื่อรักษาเครดิตด้วยนะคะ

ขอสินเชื่อแฟคตอริ่งเพื่อรักษาสภาพคล่อง

สินเชื่อแฟคตอริ่ง คือการซื้อขายบัญชีลูกหนี้ทางการค้าค่ะ สถาบันการเงินจะซื้อลูกหนี้ทางการค้าและจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการก่อนประมาณ 60 – 90% ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ที่มีเครดิตเทอม 30 – 180 วัน และเมื่อสถาบันการเงินเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าได้ จึงจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือจากการหักค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมคืนให้เรา หากผู้ประกอบการมีออเดอร์สินค้าจำนวนมากแต่ขาดเงินทุนในการผลิต สินเชื่อแฟคตอริ่งจะช่วยให้เรามีเงินดำเนินกิจการต่อไปได้ค่ะ ซึ่งผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจยื่นขอสินเชื่อนะคะ เพราะว่าสินเชื่อแฟคตอริ่งจะคิดค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่อาจกระทบต่อรายได้ของกิจการเราค่ะเพียร์ พาวเวอร์ เองก็มีบริการรับซื้อลูกหนี้การค้า(Invoice Factoring) เหมือนกันนะคะผู้ประกอบการที่มีลูกหนี้การค้าและต้องการสภาพคล่องที่มากขึ้น ลองปรึกษาเพียร์ พาวเวอร์ได้เลยค่ะ

เงินทุนหมุนเวียนมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมากนะคะ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรบริหารเงินให้เพียงพอต่อการชำระค่าสินค้าและหนี้สินต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น ถ้าผู้ประกอบการ จดทะเบียนบริษัทมากกว่า 1 ปีขึ้นไปและกำลังมองหาสินเชื่อหรือบริการรับซื้อลูกหนี้การค้า เพียร์ พาวเวอร์เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่พร้อมให้คำปรึกษานะคะ

ที่มา : https://www.peerpower.co.th/blog/sme/%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b8%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99-working-capital/