การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

Home / ทั่วไป / ความแตกต่างการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ และเหมาะกับบุคลิกภาพ

การแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

เรามักจะได้ยินกันมาบ่อยมากกับคำพูดที่ว่าแต่งกายให้ถูกกาลเทศกับแต่งกายให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพของตัวเองหน่อย ซึ่งมันก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าคำสองคำนี้แท้จริงแล้วมันมีความหมายไปในทิศทางเดียวกันจริง หรือ ไม่ การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะอาจไม่ได้หมายความว่าต้องเหมาะกับบุคลิกภาพของเราก็ได้เหมือนกัน ดังนั้นคำสองคำนี้มันจึงมีความแตกต่างในตัวเองซ่อนอยู่แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีทั้งหมดหากเราสามารถทำมันได้

ความแตกต่างระหว่างการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะกับการแต่งกายให้เหมาะกับบุคลิกภาพ

การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ

เป็นการแต่งกายให้เหมาะสมกับงาน สถานที่ และโอกาสต่างๆ ที่ต้องเดินทางไปอาจแต่งตัวให้ดูเหมาะสมกับความนิยมกับผู้อื่น อาทิ สถานที่ราชการก็ควรเลือกใส่เสื้อผ้าสีสุภาพ การเข้ารูปแบบสุภาพ รองเท้าแบบหุ้มส้น กระเป๋าสีเรียบเข้ากับเสื้อผ้า ไม่ควรสวมเสื้อปล่อยชายออกมานอกกระโปรง หรือ กางเกง ติดกระดุมให้ครบทุกเม็ด เป็นต้น งานแต่งงาน งานเลี้ยงต้อนรับ งานรื่นเริงต่างๆ ก็ต้องใส่ให้เหมาะสมกับธีมงานนั้นๆ คือถ้าหากงานดังกล่าวมีธีมอยู่แล้วการเลือกใส่ไม่ตรงกับธีมถือเป็นการผิดกาลเทศะอย่างมาก เช่น งานแต่งงานริมทะเลให้มีการใส่เสื้อผ้าแบบสบายๆ ริมทะเลแต่ดันไปใส่สูทผูกเนกไทแม้จะเป็นทางการแต่เมื่อมันไม่เข้ากับธีมงานก็เลยกลายเป็นไม่ถูกกาลเทศะไป เป็นต้น แต่ถ้าหากทางเจ้าภาพไม่ได้มีธีมงานอะไรแต่จากสถานที่จัดงานเป็นโรงแรมก็ควรเลือกใส่แบบสุภาพจำพวกสูท กางเกงขายาว เสื้อเชิ้ต ก็จะถูกกาลเทศะ อย่างจำพวกงานบุญงานบวชทั้งหลายหญิงสาวก็ไม่ควรสวมกระโปรง หรือ กางเกงสั้นจนเกินงาม เสื้อโชว์เนื้อหนัง หรือ อย่างงานศพก็ควรเลือกใส่สีดำกับสีขาวให้เหมาะสมพร้อมเป็นการไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตด้วย

สิ่งสำคัญในการแต่งกายให้เหมาะกับบุคลิกภาพ

การแต่งกายให้เหมาะกับบุคลิกภาพก็มีส่วนในความสอดคล้องกับการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะเช่นกันเพียงแต่ว่าการเลือกเสื้อผ้ามาใส่นั้นดูแล้วต้องเหมาะกับตัวผู้ใส่เองมากกว่า อย่างเป็นคนรูปร่างใหญ่ มีหน้าท้อง การใส่เสื้อผ้ารัดรูปมันก็ดูไม่เหมาะกับบุคลิกภาพ ผู้หญิงต้นขาใหญ่แต่ใส่กระโปรง กางเกงสั้นๆ ยังไงก็ไม่เหมาะ พื้นฐานของการแต่งกายให้เหมาะกับบุคลิกภาพจริงๆ ควรเลือกใส่เสื้อผ้าขนาดกำลังพอดีไม่คับ หรือ หลวมเกินไป สีสันไม่ฉูดฉาด เหมาะกับผิวของผู้ใส่ เพราะการแต่งกายให้เหมาะกับบุคลิกภาพจะช่วยส่งให้ผู้สวมใส่นั้นดูดีมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าพร้อมกันนี้ยังช่วยทำให้รู้สึกมั่นใจในการไปงานหรือ ไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยเหมือนกัน

TOP

การแต่งกาย...กาลเทศะที่ต้องคำนึง ไม่ใช่แฟชั่น

เผยแพร่: 2 เม.ย. 2560 19:39   โดย: ภณิดา มิลเลอร์

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนมาก ที่เริ่มต้นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะตัดพ้อใครที่ยากจะเข้าใจเหลือเกินเธอเอ๋ย แต่หมายถึงร่างกายของมนุษย์ที่ประกอบไปด้วยเซลล์ เนื้อเยื่อบุผิว อวัยวะ และระบบต่างๆ ที่ทำงานประสานสัมพันธ์ร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ นักวิทยาศาสตร์จัดมนุษย์เป็นสัตว์เขตร้อนเป็นพิเศษ (Tropical Animal) และไม่มีส่วนประกอบที่จะรับมือกับอากาศหนาวได้แม้กระทั่งอากาศเย็นเพียงเล็กน้อย แต่มนุษย์สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดี (Acclimate) จากการศึกษาพบว่าร่างกายมนุษย์ใช้เวลาหลายสัปดาห์ที่จะปรับตัวให้เคยชินกับอากาศหนาวซึ่งขึ้นอยู่กับวัย เพศ และเผ่าพันธุ์ ใช้เวลา 10-14 วันในการปรับตัวเคยชินกับอากาศร้อน เรื่องการปรับตัวให้เข้ากับอากาศนั้น เป็นเรื่องล้อกันเล่นทั่วไป เช่นนักข่าวอเมริกันคนหนึ่ง เขียนลงในเฟซบุ๊กว่าเขาขำคนไทยที่แสดงอาการหนาวซะเหลือเกิน เมื่ออุณหภูมิลดลง 23 องศาเซลเซียส

ในทวีปอเมริกาเหนือ มีการล้อกันเล่นระหว่างชาวภาคเหนือกับภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตก เพราะภูมิอากาศแตกต่างกัน แต่ร่างกายใช้เวลาปรับตัวให้เคยชินกับสภาพอากาศเหมือนกัน เมื่ออุณหภูมิลดลงในฤดูใบไม้ร่วง 16 องศาเซลเซียส brrrrr.. หนาวเหลือเกินเพราะร่างกายยังเคยชินกับอากาศร้อนในฤดูร้อนอยู่ และระดับอุณหภูมิเดียวกันในฤดูใบไม้ผลิก็โวยวายกันว่าร้อน เพราะร่างกายยังเคยชินกับอากาศหนาวในฤดูหนาว สุภาษิตสวีเดนกล่าวไว้ว่า “There is no bad weather, there are only bad clothes” (Det finns inget dåligt väder, bara dåliga kläder) ไม่มีหรอกอากาศเลวร้าย มีแต่เครื่องแต่งกายที่ไม่ดี หมายถึงไม่ถูกกาลเทศะ อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีการพัฒนาพฤติกรรมและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลากหลายไปตามบริบทของสภาพแวดล้อมและกาลเวลา

ในช่วงยุคหินเก่า (Paleolithic/Old Stone Age) ประมาณ 2.6 ล้านปีล่วงมาแล้ว มนุษย์คิดประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากหินที่เป็นเหมือนฆ้อน เพื่อวัตถุประสงค์หลัก 1. อาหาร 2. ที่พักอาศัย 3. เครื่องนุ่งห่ม นักโบราณคดีได้ค้นพบรูปแกะสลักโบราณขนาดเล็ก รูปผู้หญิงน่ารักสวมกระโปรงสั้น (Mini skirt) มีอายุประมาณ 4,700-5,400 ปีก่อนคริสตกาล อยู่ในยุคหินใหม่ (Neolithic) เป็นช่วงอิทธิพลของวัฒนธรรมวินคา Vinca Culture เป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด นักโบราณคดีค้นพบที่บริเวณทวีปยุโรปตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ มีเรื่องให้ชวนสงสัยร่ำลือกันว่ามีมนุษย์ต่างดาว Aliens มาเยือนโลกของเรา แล้วสอนอารยธรรมแก่ชาวโลก คือที่มาของวัฒนธรรม Vinca ตื่นเต้นไหมล่ะพวกเรา กระโปรงสั้นอาจออกแบบโดย ET ก่อน go home!

ยุคกลางตอนกลาง (The High Middle Ages/High Medieval ค.ศ. 1000-1350) เป็นยุคที่เฟื่องฟูมากในทวีปยุโรป เป็นสมัยแห่งความก้าวหน้าทางด้านการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และศิลปะ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 มีความเปลี่ยนแปลงในเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเรียกว่า “แฟชั่น” เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อิทธิพลของแฟชั่นแผ่ขยายออกไปดังไฟลามทุ่ง เรื่องความสวยยอมกันไม่ได้นะเธอ...ตั้งแต่นั้นแฟชั่นกระโปรงยาวเป็นที่นิยมทุกยุคสมัย จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 โคโค่ ชาแนล Coco Chanel หรือกาเบรียล บอนเนอร์ ชาเนล (Gabrielle Bonheur Chanel) นักออกแบบเครื่องแต่งกายชาวฝรั่งเศส ได้ปฏิวัติโลกแฟชั่นจากคอร์เซตอันรัดรึงเหมือนข้าวต้มมัด บ้างก็เหมือนแหนม กับประโปรงยาวสุ่มไก่ฟูฟ่อง เป็นกระโปรงยาวคลุมเข่า ซึ่งเป็นแบบกระโปรงที่เลิศที่สุด โคโค่ ชาแนลบอกว่าหัวเข่าของผู้หญิงน่าเกลียดต้องซ่อนไว้ใต้กระโปรง และที่เรียกเสียงฮือฮาอื้ออึงเมื่อนำกางเกงของผู้ชายมาสร้างเป็นแฟชั่นตามการออกแบบของเธอ

ในคริสต์ทศวรรษ 1970 สังคมกล่าวโทษผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะอ้อล้อ เมา และแต่งกายยั่วยวน ส่งเสริมให้เกิดการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศจึงถูกมองเป็นเรื่องปกติจากสังคม กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิและความเสมอภาคของสตรี (Feminists) ในประเทศสหรัฐฯ ได้สร้างคำใหม่เพื่อวิพากษ์สังคมว่า “Rape Culture” วัฒนธรรมการข่มขืน เพราะพวกเธอนั่นล่ะที่ส่งเสริมให้เกิดการข่มขืน ในปัจจุบันวัฒนธรรมการข่มขืนและการโยนความผิดให้ฝ่ายผู้เสียหายยังคงมีอยู่ การแต่งกายเซ็กซี่ถือเป็นการเชื้อเชิญให้ถูกกระทำ ผู้หญิงหลายคนจึงมีจิตใต้สำนึกที่ทำให้เชื่อว่าถ้าทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เช่นการแต่งกายเรียบร้อย พวกเธอจะไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่น่าเศร้าใจเหลือเกิน เพราะมันไม่เป็นความจริง

สังคมคือการอยู่กันเป็นกลุ่มของมนุษย์ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในกลุ่ม จึงมีการกำหนดพฤติกรรมและแนวทางปฏิบัติของกลุ่มเพื่อประโยชน์ของสังคม ให้มีระเบียบวินัยและบรรทัดฐาน เป็นกฎกติกาของสังคม ซึ่งได้แก่ จารีตประเพณี วัฒนธรรม ภาษา จรรยาบรรณ กฎหมาย เป็นต้น การแต่งกายของมนุษย์ก็มีกฎสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย (Dress Dode) แบบเป็นทางการ แบบไม่เป็นทางการ งานศพ งานแต่งงาน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่เวลา สถานที่ ฤดูกาล และความเหมาะสม ซึ่งก็คือ “กาลเทศะ” มีการอ้างกันว่าเป็นสิทธิของพวกเขาที่จะเลือกสวมใส่อะไร ไม่ควรมีกฎข้อบังคับ วัยรุ่นหนุ่มสาวส่วนมากมักมีความคิดเช่นนี้

เมื่อวานนี้ (27/3/17) ข่าวจากในเฟซบุ๊กที่มีผู้กดเครื่องหมาย ‘Angry’ กันพรึบพรับ ถล่มยับเยิน ความว่าเจ้าหน้าที่หน้าเกทของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ (United Airlines) ไม่อนุญาตให้สาวๆ วัยรุ่นขึ้นเครื่อง เพราะพวกเธอสวมเลกกิ้ง เจ้าหน้าที่ขอให้เปลี่ยนกางเกงหรือสวมอะไรทับซะ (เกรงใจลุงๆ และป๋าๆ บนเครื่องกันบ้าง) แฟชั่นก็มีกฎกติกา เลกกิ้งเป็นกางเกงทำจากผ้ายืด ใช้สำหรับการกีฬาหรือสวมเป็นกางเกงชั้นในในฤดูหนาว ซึ่งเรื่องเลกกิ้งนี้มีผู้ต่อต้านกันมากมาย ไม่เฉพาะสายการบิน พวกเขารณรงค์กันว่า “Leggings are not pants” เลกกิ้งไม่ใช่กางเกง

แฟชั่นเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายถึงวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคบนโลก แสดงให้เห็นรูปลักษณะนิสัยใจคอของกลุ่มในสังคมนั้น แฟชั่นก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจ เป็นการแสดงบุคลิกภาพของผู้สวมใส่ เป็นรูปลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏต่อสังคม ซึ่งรูปลักษณ์นี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา เพื่อผู้พบเห็นเกิดความพึงพอใจ เคารพ เชื่อมั่นหรือแม้กระทั่งเห็นอกเห็นใจ เช่น เรื่องสีของเครื่องแต่งกาย ถ้าสวมชุดสีชมพูไปขึ้นศาล จะทำให้ดูเป็นผู้หญิงอ่อนต่อโลก ไม่มีพิษภัย ถ้าจะต้องไปพบมารดาของสามีในอนาคต ให้สวมชุดสีน้ำเงินเข้ม แสดงให้เห็นความเป็นผู้ใหญ่ของคุณที่จะดูแลบุตรชายของท่านได้อย่างดี วันสัมภาษณ์งานอย่าสวมเสื้อผ้าสีเหลือง หรือสีแดง เพราะสีเหลืองเป็นสีของเด็ก ส่วนสีแดงดูกร้าวไปหน่อย

ถึงกระนั้นก็ตาม อย่าด่วนตัดสินใครจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือรูปลักษณ์ที่ปรากฏให้เห็น ควรเคารพความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันบนโลกใบนี้ คำนึงถึงใจเขาใจเรา เรื่องแฟชั่นต้องประมาณตน ยึดกาลเทศะเป็นที่ตั้ง “อย่าตามสมัยจนมาก อย่าทำให้แฟชั่นเป็นเจ้าของตัวคุณ แต่ตัวคุณต้องตัดสินใจเองว่าคุณจะเป็นอะไร อะไรที่คุณต้องการบอกตัวตนของคุณอาศัยจากการแต่งกายและรูปแบบการใช้ชีวิต” ~ จานนี เวอร์ซาเช (Gianni Versace 1946 -1997) “Don't be into trends. Don't make fashion own you, but you decide what you are, what you want to express by the way you dress and the way to live.” ~Gianni Versace

ข้อมูล

https://en.wikipedia.org/wiki/Vin%C4%8Da_culture
http://www.slavorum.org/serbian-vinca-figurines-evidence-of-ancient-extraterrestrial-contact/ https://en.wikiquote.org/wiki/Swedish_proverbs
http://www.womansday.com/style/a58415/united-airlines-leggings/?src=socialflowFB