รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขล่าสุด

ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 472 ต่อ 33 งดออกเสียง 187 โดยมี ส.ว. ผู้เป็นน้องชายของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร่วมโหวตสนับสนุนการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบด้วย

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รายงานผลการลงคะแนน ดังนี้

  • เห็นชอบ 472 เป็นคะแนนของ ส.ส. 323 เสียง และ ส.ว. 149 เสียง
  • ไม่เห็นชอบ 33 เป็นคะแนนของ ส.ส. 23 เสียง และ ส.ว. 10 เสียง
  • งดออกเสียง 187 เป็นคะแนนของ ส.ส. 121 เสียง และ ส.ว. 66 เสียง

ในการลงมติในวาระที่ 3 กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย พร้อมกำหนด 3 เงื่อนไขในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ ดังนี้

  • ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 365 คน จากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 730 คน (ปัจจุบันมี ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 480 คน และ ส.ว. 250 คน) >> ผลคือมีผู้โหวตรับร่าง 472 เสียง ถือว่าผ่าน
  • ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. พรรคที่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา 20% ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐสภาได้คิดออกมาแล้วเป็น 49 คน จากทั้งหมด 242 คน >> ผลคือมี ส.ส. ที่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลโหวตรับร่าง 142 เสียง ถือว่าผ่าน
  • ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. ที่มีอยู่ หรือ 84 คน >> ผลคือมี ส.ว. โหวตรับร่าง 149 เสียง ถือว่าผ่าน

นั่นทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งนายชวนแจ้งว่าจากนี้ต้องพักร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ 15 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นร่างแรกที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบจากทั้งหมด 20 ร่างที่นักการเมืองและภาคประชาชนเคยสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ก่อนถูกตีตกไปต่างกรรมต่างวาระในช่วง 2 ปีมานี้

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

การประชุมรัฐสภานัดนี้ เกิดขึ้นหลังมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อมีคำสั่งปลด 2 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี นั่นคือ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค พ้นเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค พ้นเก้าอี้ รมช.แรงงาน

แต่ถึงกระนั้น ร.อ. ธรรมนัส ผู้มีส่วนสำคัญในการเดินสายขายแนวคิดกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้ประกาศว่าพร้อมลงคะแนนตามมติพรรค แต่ถึงเวลาประชุม ไม่ปรากฏว่าเขาได้ร่วมลงมติแต่อย่างใด

วานนี้ (9 ก.ย.) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า พปชร. ได้สั่งลูกพรรคให้โหวตสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในทิศทางเดียวกัน

สาระสำคัญของร่างแก้ไข รธน.

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฏฐ์ หัวหน้า ปชป. เจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่วมขานมติเห็นชอบกับร่างของเขา

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และ 91 มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และคณะ เป็นเจ้าของร่าง มีเป้าหมายหลักเพียงประเด็นเดียว นั่นคือ การรื้อระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วหวนกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540

ระบบเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน (เดิม 350 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (เดิม 150 คน)
  • ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. 2 ประเภท (เดิม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ตัดสินใจเลือก ส.ส., พรรค และนายกฯ ในบัญชีที่พรรคนำเสนอ)
  • การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค (เดิม เข้าสูตรคำนวณหา ส.ส. พึงมีได้)

ปัจจุบันรัฐบาลผสม 18 พรรค ครองที่นั่งในสภาล่าง 268 เสียง ขณะที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน บวก 1 เสียงจากนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส. พรรคเศรษฐกิจใหม่ มีเสียงรวมกัน 212 เสียง อย่างไรก็ตามมี ส.ส. บางส่วนสนับสนุนขั้วตรงข้ามกับพรรคการเมืองของตนในการลงมติสำคัญ ๆ ซึ่งถูกสื่อมวลชนขนานนามว่า "ส.ส. งูเห่า" หรือ "ส.ส. ฝากเลี้ยง"

สำหรับพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งมี ส.ส. อยู่ 134 เสียง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี 119 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มี 48 เสียง

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 12 เสียง เปิดให้สมาชิกฟรีโหวต แต่ทั้งหมดได้โหวตรับร่าง เช่นเดียวกับพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ที่มีอยู่ 4 เสียง

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า ภท. และลูกพรรคของเขาในสภา

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งเหลือ 59 เสียงในสภา หลังศาลสั่ง 2 ส.ส. พัทลุงหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอพิจารณาคดีเสียบบัตรแทนกัน มีมติให้งดออกเสียงตั้งแต่วาระที่ 1 ถึง 3

ส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มี 53 เสียง แม้สนับสนุนการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีคำนวณคะแนนตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงประกาศงดออกเสียง

แต่สำหรับ 23 เสียงในสภาล่างที่ร่วมโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ หนีไม่พ้นบรรดาพรรคเสียงเดียวที่เคยออกมาแถลงข่าวก่อนหน้านี้ว่า การกลับไปใช้ระบบอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 จะทำให้เกิด "เผด็จการรัฐสภา" จึงไม่แปลกหากนักการเมืองเหล่านี้จะพร้อมใจกันโหวตคว่ำร่าง ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย (ได้คะแนนเกินเกณฑ์ ส.ส. พึงมีได้ 1 คน) และอีก 8 "พรรคจิ๋ว" อันหมายถึงพรรคที่ได้ ส.ส. จากการปัดเศษทศนิยมตามสูตรคิดคำนวณหายอด ส.ส. พึงมีภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่ พรรคเพื่อชาติไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคไทรักธรรม และพรรคไทยศรีวิไลย์ อย่างไรก็ตามมีพรรคจิ๋วอีก 2 พรรคคือ พรรคประชาภิวัฒน์ และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้โหวตเห็นชอบ

นอกจากนี้ยังมีพรรคเสรีรวมไทย (สร.) 10 เสียง และพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 5 เสียง ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับอานิสงส์จากสูตรคำนวณแบบไม่ให้มีคะแนนเสียงตกน้ำ จนหิ้ว ส.ส. บัญชีรายชื่อเข้าสภาได้สำเร็จ ร่วมโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ด้าน ส.ว. 250 คน ก็ปล่อยให้ฟรีโหวต ซึ่งปรากฏว่ามีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แม้ ส.ว. สายใกล้ชิดกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะออกมาส่งสัญญาณว่าพร้อมโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะเคยผ่านร่างในวาระ 1 และ 2 มาแล้ว แต่ก็มีสมาชิกบางส่วนกังวลว่าอาจทำให้ "ระบอบทักษิณ" หวนกลับมา นอกจากนี้ยังมี ส.ว. สายทหารที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 12 ของ พล.อ. ประยุทธ์ออกมาระบุว่าจะลงมติไม่รับร่างด้วย

สำหรับ ส.ว. ที่ร่วมลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ อาทิ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของนายกฯ, พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของรองนายกฯ ประวิตร, พล.อ. ประจิน จั่นตอง อดีตรองหัวหน้า คสช., พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ เพื่อนร่วมรุ่นของนายกฯ, พล.อ. กนิษฐ์ ชาญปรีชา มือประสานงานของ 2 ป., พล.อ. นพดล อินทปัญญา เพื่อนสนิทของ พล.อ. ประวิตร, พล.อ. ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข, พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.อ. อักษรา เกิดผล ฯลฯ

ส่วนผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ไม่ปรากฏว่ามีการลงมติใด ๆ

ขณะที่ 10 เสียงของ ส.ว. ผู้ร่วมโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย พล.อ. ธวัชชัย สมุทรสาคร, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นพ. พลเดช ปิ่นประทีป, พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร, พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม, นายเสรี สุวรรณภานนท์, พล.อ. อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เพื่อนร่วมรุ่นนายกฯ, นายออน กาจกระโทก, นายอำพล จินดาวัฒนะ และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ประเด็นหลักที่ทำให้ ส.ว. และ ส.ส. บางส่วนต้องตัดสินใจไม่รับร่าง หรืองดออกเสียง เป็นเพราะเกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความพยายามเพิ่มเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในชั้น กมธ. ที่เกินกว่าร่างที่รัฐสภามีมติรับหลักการในวาระที่ 1 และอาจมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลังจากนี้ หากลงมติเห็นชอบไป อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาหลังจากนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอประธานสภาให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก่อนที่นายกฯ จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ย้อนเส้นทางแก้รัฐธรรมนูญ 2560

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 ยกใหญ่

ยกแรก รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ทว่าถูกเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาตีตกไป 5 ฉบับ ตั้งแต่พิจารณาวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เมื่อ 18 พ.ย. 2563 ในจำนวนนี้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "5 ยกเลิก 5 แก้ไข" เสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) หรือที่รู้จักในชื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนรวมอยู่ด้วย

ส่วน 2 ฉบับที่รัฐสภามีมติรับหลักการคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเจ้าของร่าง และอีกฉบับมี ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นเจ้าของร่าง จากนั้นเมื่อเข้าสู่ชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้ยึดร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลัก และผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา เมื่อ 25 ก.พ. 2564 แต่แล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็ถูกโหวตคว่ำกลางสภาในระหว่างพิจารณาในวาระที่ 3 ซึ่งเป็นการขอความเห็นชอบทั้งฉบับ ทำให้ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องสิ้นสุดลง ทั้งนี้คนในสภาบางส่วนให้เหตุผลว่าต้องการยุติข้อถกเถียงต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ทำประชามติก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ย้อนดูไฮไลท์การประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกแรก

คำบรรยายภาพ,

ผลการลงมติในวาระที่ 1 เมื่อ 18 พ.ย. 2563

ยกสอง รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมล็อตใหม่อีก 13 ฉบับ ซึ่งเป็นการเสนอแก้ไขรายประเด็น ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับ แต่ถึงกระนั้นมีเพียงร่างเดียวที่มีหัวหน้า ปชป. เป็นเจ้าของร่าง ที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 เมื่อ 24 มิ.ย. 2564 และวาระที่ 2 เมื่อ 25 ส.ค. 2564 ก่อนกลับเข้ารัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระที่ 3 ในวันที่ 9 ก.ย. 2564