แนวคิด การจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ

ในปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติล้วนมีผลกระทบต่อประชาชนในโลกทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดของโลกล้วนได้รับผลกระทบ ดังเช่นที่ปัญหาโลกร้อนได้ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้ด้วยตนเอง การกระทำใด ๆ ไม่ว่าส่วนใดในโลกจะมีผลกระทบต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ ดังนั้นประชาชนทุกคนจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกหรือสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ประชาชนในทุกภูมิภาคของโลกพึงร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1. ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิดไม่ว่าอาหาร เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ไฟฟ้า เป็นต้น จะต้องลดปริมาณการใช้ลงให้เหลือเท่าที่จำเป็นต้องใช้

2. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า ทรัพยากรธรรมชาติจะต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การกินอาหารไม่ควรให้เหลือทิ้ง ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจนกว่าจะหมดสภาพ การดูแลซ่อมแซมเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น

3. ลดและเลิกการใช้สารเคมี การใช้สารพิษในชีวิตประจำวันและในการประกอบอาชีพจะต้องใช้ให้น้อยลงหรือเลิกใช้ โดยหันมาใช้สารธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแทน

4. การใช้ทรัพยากรให้หลากหลาย เป็นการใช้ทรัพยากรชนิดใดชนิดหนึ่งในหลายวัตถุประสงค์ เช่น การใช้แหล่งน้ำทั้งในการทำประปา นันทนาการ และศึกษาวิจัย หรือใช้บ้านให้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ประกอบอาชีพ

5. การให้ความช่วยเหลือกัน ประเทศที่ร่ำรวยหรือพัฒนาแล้ว ควรให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน ให้สามารถดำรงชีวิตโดยไม่ขาดแคลนหรือให้ความช่วยเหลือในการบูรณะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6. การปลูกป่า ทุกประเทศควรมีนโยบายปลูกป่าและการปลูกต้นไม้ในชุมชนหรือบ้านเรือน และให้ถือเป็นการปฏิบัติของประเทศที่สำคัญ รวมทั้งการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ไม้พื้นเมืองเพื่อการใช้สอยในชุมชน

7. การสร้างและพัฒนาแหล่งน้ำ ทุกประเทศจะต้องดำเนินการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก และสำหรับใช้สอยของประชาชนทั้งในเมืองและในชนบทรวมทั้งการป้องกันและปรับปรุงแหล่งน้ำและคุณภาพน้ำให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการใช้

อย่างมีระบบในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสนองความต้องการของมนุษย์ให้เกิดความสุขของตนเองและคนรอบข้าง  กิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมและประเพณี  เป็นต้น  ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะต้องไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติใช้ในอนาคตต่อไป

ความหมายของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในงานอาชีพ

            สิ่งแวดล้อม (Environmental) หมายถึง  สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งสิ่งที่มีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต เห็นได้ด้วยตาเปล่า และไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งแวดล้อมจะประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์นั่นเอง

            ทรัพยากรธรรมชาติ  (Natural  Resources) หมายถึง  สิ่งต่างๆ (สิ่งแวดล้อม) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  และมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า แร่ธาตุ พลังงาน และกำลังแรงงานมนุษย์  เป็นต้น

การจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental  Management)  หมายถึง  ขบวนการดำเนินการ

อย่างมีระบบในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสนองความต้องการของมนุษย์ โดยไม่มีผลกระทบ

ต่อสิ่งแวดล้อม และยังทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติใช้ในอนาคตต่อไป

            การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (Natural  Resources  Management)  หมายถึง  วิธีการดำเนินการ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติดำรงอยู่ มีเพิ่มขึ้น และไม่ถูกทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การรักษา หรือการแก้ไขก็ตาม

            งานอาชีพ (Occupation)  หมายถึง  งานที่ทำเป็นประจำ ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำมาเลี้ยงตนเอง ครอบครัว และเพื่อซื้อจ่ายปัจจัยที่จำเป็นหรือต้องการ งานอาชีพมักจะต้องออกไปทำนอกบ้าน แต่บางอาชีพที่เป็นอาชีพอิสระสามารถทำงานอยู่กับบ้าน หรืออาจออกไปตามสถานที่ต่างๆตามความจำเป็น ต้องใช้ความคิด ความรอบคอบ และสติปัญญา ในการวางแผน จัดการและแก้ไขปัญหา งานอาชีพจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี

             ดังนั้นอาจสรุปความหมายของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในงานอาชีพได้ว่า  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในงานอาชีพ  หมายถึง กระบวนการจัดการ แผนงาน หรือกิจกรรมในการจัดสรร และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

เพื่อสนองความต้องการในระดับต่างๆ ของมนุษย์  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา

คือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงานประกอบอาชีพต่างๆ ของมนุษย์  โดยยึดหลักการอนุรักษ์ ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด ประหยัด และก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

แนวความคิดและหลักการในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            จากสภาพการณ์และสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก คือ ความร่อยหรอของทรัพยากรและความเสื่อมโทรมในคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ทำให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างมีเป้าหมายที่สำคัญสูงสุดในการดำเนินการ คือ ทำอย่างไรจึงจะให้สังคมโลกของเราเป็นสังคมที่ยั่งยืน

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีแนวความคิดหลักในการดำเนินงาน ดังนี้คือ

1. หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation Approach) หลักการอีกประการหนึ่งที่ขอเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน คือการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนบนพื้นโลกต่างล้วนได้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาใดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีสาเหตุโดยตรงหรือโดยอ้อมจากมนุษย์ก็ตาม มนุษย์ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพราะโลกของเรามีเพียงหนึ่งเดียว (One World) ผลกระทบที่เกิดขึ้นบนพื้นโลกจะแก้ปัญหาแบบต่างคนต่างทำอีกไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจทำเพื่อจรรโลงโลกของเราซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียวนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป หลักการนี้ได้สอดคล้องกับแนวคิดของ Bruce  Mitchell  กล่าวว่า  สิ่งที่เป็นหัวใจของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การใช้กระบวนการพัฒนาคนและศักยภาพของคนและชุมชนเพื่อการพัฒนา รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ โดยในส่วนเป้าหมายของการจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น  ได้เสนอหลักการที่สำคัญต่อการวางแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ 7 ประการ ได้แก่

1.1   หลักการปฏิบัติทางระบบนิเวศ (Ecosystem Approach) มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศจำเป็นต้องพิจารณาอย่างเชื่อมโยง มีความเข้าใจในความสัมพันธ์และผลของการกระทำที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1.2   หลักการปฏิบัติอย่างยั่งยืน (Sustainable Action) ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดจำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมในการใช้และจัดการที่ชาญฉลาด สร้างความสมดุลกับความต้องการทางเศรษฐกิจ

1.3   หลักวิธีการแบบมีส่วนร่วม (Participative Approach) เปิดโอกาสให้สาธารณชนได้ทราบถึงการตัดสินใจโดยผ่านกระบวนการที่เปิดเผย มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและโครงการต่างๆ

1.4   หลักการเน้นปัญหาของประชาชนในพื้นที่ (People-oriented Problem) ให้ความสำคัญกับปัญหาที่แท้จริง จัดทำแผนอย่างผสมผสาน และจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารโครงการ

1.5   หลักการจัดการอย่างเหมาะสม (Adaptive Management) ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง มีการประสานงานและรับเอาแนวความคิดใหม่ๆ ติดตามประเมินผล ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

1.6   หลักความเสมอภาค (Equal Emphasis)  ให้ความสำคัญกับปัจจัยทุกๆ ด้าน

1.7   หลักแห่งการมองการณ์ในอนาคต (Future Orientation)  การวางแผนต้องมีเป้าหมายระยะยาว มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีข้อตกลงเห็นชอบร่วมกันจากทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม

2. หลักการจัดการแบบบูรณาการ (Integrated Management Approach)

หลักการประการสุดท้ายสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน คือการใช้วิธีการจัดการแบบบูรณาการ (Integrated Management Approach) ที่เสนอแนะหลักการดังกล่าวเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ก็เพราะเห็นแล้วว่านักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งไม่อาจจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ลุล่วงได้  ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ มากมายทั้งที่อยู่ในส่วนของสาเหตุ หรือในส่วนของผลกระทบดังที่ได้กล่าวบ้างแล้วในตอนต้น การให้นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องมาประชุม เพื่อระดมความคิดย่อมได้แนวทางในการจัดการปัญหา สิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าการแก้ปัญหาด้วยนักวิชาการเพียงคนเดียวหรือเพียงไม่กี่คน

ทั้งนี้ การจัดการทรัพยากรธรรมชาตินอกจากจะใช้หลักการการจัดการแบบบูรณาการแล้วจะต้องมองทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวมด้วย (Holistic Approach) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากปัญหาทรัพยากรมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเกี่ยวโยงกับหลายมิติ ทุกสิ่งทุกอย่างต่างเกี่ยวพันและส่งผลกระทบซึ่งกันและกันทั้งสิ้น อาจจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีหรือไม่ก็ตาม และอาจจะเกิดผลกระทบที่มนุษย์เองอาจคาดไม่ถึงก็ได้