ข้อ ใด ไม่ใช่ ลักษณะ ทาง ด้าน อารมณ์ และ สภาพ จิตใจ ของ วัยรุ่น

สุขภาพจิตในวัยรุ่น

มนุษย์มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตได้ตั้งแต่เกิด และเมื่อยิ่งโตขึ้น ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งเพิ่มและซับซ้อนขึ้น ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยก้ำกึ่งระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนๆ หนึ่งจะพัฒนาทักษะความสามารถ พร้อมกับค้นหาตัวตนและพื้นที่ในสังคมให้กับตัวเอง รวมถึง การเรียนรู้ผ่านการลองผิด-ลองถูกและลองเปลี่ยน ทั้งความคิด การกระทำ และรสนิยม เพื่อ “ตั้งหลัก” ให้กับตัวเอง  หากวัยรุ่นไม่สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หรือปรับตัว  ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ อาจทำให้พวกเขารู้สึก “เสียหลัก” สูญเสียความมั่นใจในตนเอง กลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข เครียด วิตกกังวล และหากปล่อยภาวะด้านลบนี้ไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม ก็อาจทวีความรุนแรงจนนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิต อาทิ โรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือถึงขั้นจบชีวิตตัวเอง

ปัญหาสุขภาพจิต

สุขภาพจิต คือ สภาวะทางจิตใจและอารมณ์ของคนที่เผชิญความท้าทายในการทำความเข้าใจ ปรับตัว แก้ไขปัญหาในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อย่างมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงทางจิตใจ และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์[1]​ ซึ่งอาจเทียบได้กับคำจำกัดความของ “ทักษะชีวิต” (Life Skills) ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ไว้ว่าเป็น ความสามารถของบุคคลที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ รอบตัวในสภาพสังคมปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต
ในทางกลับกัน ปัญหาสุขภาพจิต ก็คือ สภาวะที่บุคคลมีความยากลำบากทางจิตใจ ความคิดที่ยุ่งยาก ซับซ้อนและ/หรือไม่สามารถรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจและพฤติกรรม

“อาการ” หรือ “โรค” [2]

อาการของปัญหาสุขภาพจิต
ทางร่างกาย อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ ปวดท้อง เมื่อยตัว มีปัญหาในการนอน แขนขาชา ใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก เหนื่อยอ่อนเพลียไม่มีแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือเพิ่มด้วยความรวดเร็ว
ทางจิตใจ เครียด กังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง สับสนฟุ้งซ่าน เซ็ง กลัว ระแวง หงุดหงิดหรือครึกครื้น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย  รู้สึกไร้คุณค่าในตนเอง หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง คิดฆ่าตัวตาย
ทางพฤติกรรม ซึม เฉยเมย เหม่อลอย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง กระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่ง ก้าวร้าว ร้องไห้ พูดหรือยิ้มคนเดียว ไม่ทานอาหารหรือทานมากเกินไป ไม่สนใจตนเองและสิ่งแวดล้อม เดินเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมาย พูดไม่หยุด ติดเหล้า ติดยา พยายามจะฆ่าตัวตาย
ที่มา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยปกติแล้ว ลักษณะของอารมณ์เหล่านี้สามารถเป็นความรู้สึกธรรมดาๆ ที่มีกันในชีวิต มากน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ หากสถานการณ์ได้คลี่คลายลง หรือได้รับความเข้าอกเข้าใจจากผู้อื่น  อารมณ์นั้นๆ ก็จะหายได้  แต่หากเรามีอาการเหล่านี้ เป็นเวลานาน (เช่น เกิน 2 สัปดาห์สำหรับโรคซึมเศร้า) โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น มีความเหวี่ยงของอารมณ์สูงขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ตามมา เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือ มีคำพูดในเชิง “อยากจมอยู่บนเตียง ไม่ลุกขึ้นมา” จนกระทบต่อความสามารถในการแก้ไขปัญหาและการจัดการชีวิต นั่นคือไม่สามารถทำงานหรือมีแรงที่จะมีชีวิตอยู่  หากเป็นภาวะนี้ จะเข้าข่ายของ “โรค” สื่อถึงความผิดปกติในทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ ให้สามารถทำให้คนที่ทุกข์ทรมานกลับมาใช้ชีวิตปกติได้

สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น

องค์การอนามัยโลกพบว่าหนึ่งในสี่ของคนทั่วโลกเคยประสบกับความผิดปกติทางจิต ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ในปัจจุบัน คนไทยเป็นโรคทางจิตเวชสูงถึง 2.6 ล้านคน[3] โดยมีเด็กและเยาวชนไทยเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตอันดับที่ 3 ตามหลังกลุ่มวัยทำงานและวัยสูงอายุ  อย่างไรก็ดี เด็กและวัยรุ่นก็เป็นกลุ่มที่เราจะต้องให้ความสำคัญให้ตั้งหลักได้  เพราะนอกจากพวกเขาจะต้องจัดการอารมณ์ความรู้สึกเมื่อเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแล้ว  วัยรุ่นยังเป็นจะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของสังคมที่มาแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมอีกด้วย

ผลการสำรวจออนไลน์ของโครงการยูรีพอร์ต ประเทศไทย[4] ที่ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 2,692 ราย พบว่า วัยรุ่น 50% รู้สึกหดหู่ เศร้า สิ้นหวัง ท้อแท้  70% รู้สึกเบื่อหรือทำอะไรไมสนุก ไม่เพลิดเพลิน   และ 1 ใน 4 เคยคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย  ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2560 ที่ระบุว่า อัตราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าของวัยรุ่นไทย (อายุ 10-19 ปี) สูงถึง 18% คิดเป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านคน   โดยปัญหาอันดับต้นๆ ที่ทำให้วัยรุ่นแบกรับความเครียด กดดัน วิตกกังวล จนถึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น เกี่ยวข้องกับปัญหาการเรียน ปัญหาครอบครัวและความรัก ปัญหาจิตเภท[5]  ซึ่งปัญหาทั้งหมดมีผลกระทบต่อตัวตนและคุณค่าที่วัยรุ่นให้ตัวเองทั้งสิ้น และกระตุ้นความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตาย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวัน 

การฆ่าตัวตาย

อัตราการฆ่าตัวตายระหว่างปี 2559 – 2560 ในไทยนั้นมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้าร้อยละ 50 คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์กว่า 400 ล้านบาท[6]  โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 5.33 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2561[7]
การจบชีวิตตัวเองดูจะเป็นเป้าหมายปลายทางของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่เราไม่อยากให้เกิด เป็นเรื่องที่อาจไม่สามรถเข้าใจได้ง่าย และหลายๆ ครั้งความพยายามที่จะช่วยเหลือของคนใกล้ชิดก็​กลายเป็นการซ้ำเติมคนที่ห่วงใยได้ง่ายๆ ทั้งนี้ เราไม่ควรลืมว่าความคิดที่อยากและความพยายามจะฆ่าตัวตายเป็นอาการของโรค เป็นการตอบสนองของร่างกายที่ต้องการจะหนีจากความทรมานใจ ณ เวลานั้น และบางครั้งผู้ป่วยก็รู้ตัวแต่ไม่สามารถควบคุมได้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต

ปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีความซับซ้อน เพราะเกิดจากหลายปัจจัยทับซ้อนกัน จึงยากจะระบุสาเหตุเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่นเดียวกับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตที่มักจะไม่สามารถแก้ได้ที่จุดใดจุดหนึ่ง

จาก Biopsychosocial Model of Mental Health[8] เราสามารถแยกปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต (ทั้งด้านบวกและลบ) เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ปัจจัยทางชีววิทยา (Biological) ปัจจัยทางสังคม (Social) และปัจจัยจิตใจ (Psychological)

ที่มา Biopsychosocial Model, George Engel (1977)

ปัญหาสุขภาพจิต จากสารสื่อประสาทในสมอง โรคจิตเภท รวมถึงความพิการ เป็นสิ่งที่สามารถถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาตั้งแต่เกิด  เด็กคนไหนมีพ่อแม่ที่เป็นโรคเครียด มีโอกาสที่จะเป็นโรคเครียดสูงกว่าเด็กคนอื่น แต่ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีต้นทุนมาอย่างไร มนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคมที่พึ่งพาผู้อื่นในด้านอารมณ์และด้านพฤติกรรม สภาพสังคมที่เด็กและเยาวชนเติบโตมาจึงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตและการพัฒนาทักษะที่ทำให้จิตใจเข้มแข็ง  ตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน คนรัก และสังคมภายนอกที่หล่อหลอมเราไว้  โดยจะมีรายละเอียดและข้อมูลที่น่าสนใจด้านล่าง  และสุดท้าย คือผลกระทบจากประสบการณ์สะเทือนใจรุนแรง อย่างการถูกกระทำความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน หรือการจากไปของคนใกล้ชิด หากรับมือและก้าวผ่านไม่ได้ก็ทำให้ก่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน

ครอบครัว

การเลี้ยงดูของครอบครัว[9] 

สภาพครอบครัวเป็นสังคมที่หล่อหลอมเด็กอย่างเลือกไม่ได้ ซึ่งการเลี้ยงดูของครอบครัวนั้นส่งผลโดยตรงต่อลักษณะนิสัย ตัวตน และทักษะการเข้าสังคมและการจัดการอารมณ์ของเด็ก โดยเด็กจะค่อยๆ สะสมสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว
 

รูปแบบการอบรมเลี้ยงดู ผู้ปกครองควบคุม ผู้ปกครองตามใจ
เลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (Authoriative)  ✔
ควบคุม (Authoritarian)  ✔
ตามใจ (Permissive)  ❌
Baumrind, D. (1971). Current patterns of parental authority.[10]

นักจิตวิทยา Diana Baumrind ได้ศึกษารูปแบบวิธีเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และพบว่าการเลี้ยงลูกแบบควบคุม  (Authoritarian) มักส่งผลให้เด็กเกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งผู้ปกครองเหล่านี้มักเข้มงวด ไม่ให้อิสระ ใช้คำสั่งกับลูก และคาดหวังในตัวลูกสูงมาก โดยไม่ให้โอกาสในพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็น มักจะวางแผนชีวิตให้ลูกพร้อมกับจัดแจงให้ทุกอย่างเป็นไปตามนั้น และหลายครั้งก็ลงมือทำและแก้ปัญหาแทนลูก เพราะไม่อยากให้เกิดความผิดพลาด

เมื่อพ่อแม่ไม่ไว้ใจให้เด็กได้ลองผิดลองถูกกับชีวิตที่ควรจะเป็นไปตามพัฒนาการของวัย หรือปล่อยจนเด็กไม่มีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ จะส่งผลให้เกิดความกดดัน ตึงเครียด รู้สึกแปลกแยกจากครอบครัว ไม่รู้จักตัวเอง ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดีพอหรือไม่พอใจกับสิ่งที่มี  ไม่กล้าตัดสินใจ และแม้กระทั้งไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาไม่ได้ ทำให้เด็กหลายคนเริ่มต้นชีวิตโดยไม่มีความสุขและขาดการเรียนรู้จากการไม่ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง

ขณะที่การเลี้ยงดูแบบตามใจ (Permissive) ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้จากการที่ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กทำตามใจตัวเองมากเกินไป ด้วยความหวังดีที่อยากให้ลูกรู้สึกว่าถูกรักและเป็นคนสำคัญ เวลามีปัญหาก็มักจะให้ท้ายลูก ทำให้ลูกของพ่อแม่กลุ่มนี้ไม่มีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ เมื่อพบกับความท้าทายในการยอมรับความจริง และเรียนรู้จากความผิดของตัวเอง

ความสัมพันธ์ในครอบครัว

ครอบครัวไม่อบอุ่น ก็กระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นได้เช่นกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบ้านที่ขาดการสื่อสารที่ดี และมีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ เช่น ปัญหาการเงิน (เด็กที่ครอบครัวมีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำ มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นถึง 2.5 เท่า[11]) ความเจ็บป่วย ความบกพร่องในหน้าที่ของคนในครอบครัว การขาดความเอาใจใส่ในครอบครัว สิ่งเสพติด ฯลฯ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งและใช้ความรุนแรง ทั้งด้านคำพูดและการกระทำ​ ซึ่งเด็กก็มักจะเป็นผู้ที่ถูกกระทำอยู่บ่อยครั้ง 
เด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ทั้งกับผู้อื่นและตนเอง อีกทั้ง เด็กกลุ่มนี้มักมีความเครียด กังวล ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง มีปัญหาความไว้ใจ ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ หวาดระแวง มีปัญหาการเรียน ทะเลาะวิวาท สารเสพติด และมักมีความคิดฆ่าตัวตาย

 ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตตั้งแต่เด็กจนโต ถ้าหากไม่มีการยอมรับ พูดคุยกัน ทำความเข้าใจ และช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์  ยิ่งเวลาผ่านไป เด็กจะยิ่งออกห่างจากครอบครัวไปอยู่นอกบ้าน เสี่ยงต่อการเข้าถึงปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ติดเกม ยาเสพติด กลุ่มแกงค์ ท้องไม่พร้อม อาจขาดโอกาสหรือติดสินใจใช้ชีวิตแบบผิดๆ  ส่วนความสัมพันธ์ของครอบครัวก็อาจจะขาดลง

เพื่อน

‘เพื่อน’ มีความหมายที่ลึกซึ้งสำหรับวัยรุ่น เป็นสิ่งสะท้อนตัวตนของตัวเอง เป็นผู้ที่มีอิทธิพล ทั้งด้านการกระทำ รสนิยม ความคิด จนในหลายๆ ครั้ง เพื่อนก็ดูเหมือนว่าจะมีความสำคัญมากกว่าพ่อแม่ในช่วงวัยนี้ เพราะมักจะเป็นคนแรกๆ ที่วัยรุ่นจะเลือกพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ช่วยกันก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่างๆ และใช้เวลาอยู่ด้วยในช่วงวัยนี้

หากมีกลุ่มเพื่อนที่ดีและเข้ากับตัวเองจะทำให้วัยรุ่นมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เมื่อเผชิญปัญหาก็รู้สึกอุ่นใจและสามารถพูดคุยปรึกษากับเพื่อนได้  ในทางกลับกัน ก็มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเพื่อน  ยิ่งในยุคที่เด็กและวัยรุ่นโตมากับ smart devices ที่มีแอพเกมและโซเชียลมีเดียแก้เหงา และโดยเฉพาะในยุคที่การเลี้ยงคนหนึ่งคนให้เติบใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง  ประเทศไทยจึงเริ่มนิยมการมีลูกคนเดียวกันมากขึ้น (อัตราการเกิด ปี 2562 อยู่ที่ 1.54 คน[12])  เด็กจำนวนมากจึงไม่มีทักษะทางสังคม เช่น การแบ่งปันกับคนอื่น ทักษะการฟัง การทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่าง เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับเพื่อนมักจะไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกผิดแปลก มักรู้สึกว่าตัวเองเหนือหรือต่ำกว่าคนอื่น มักไม่เท่าทันโลก อาจมีพฤติกรรมความรุนแรง ยาเสพติด

นอกจากนี้ ยังมีการกลั่นแกล้ง รังแก (Bully) กันในเด็ก[13] เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยอนุบาล[14]  เกิดจากการที่การขาด self-esteem ที่ผู้ใหญ่ โรงเรียน สังคมให้ค่ากับการเรียนดีเป็นหลัก ทำให้คนที่ถนัดด้านอื่นไม่มีพื้นที่ และต้องการสร้างตัวตน สร้างอำนาจ (empower) ให้กับตัวเองแบบผิดๆ ด้วยการเลือกคนที่สามารถแกล้งได้หรือคนที่คิดว่าต่ำกว่า  ยิ่งแกล้งแรง คนแกล้งยิ่งรู้สึกยิ่งใหญ่ จนเป็นวงจรและลำดับสถานะสังคมในโรงเรียนที่เห็นได้แทบทุกห้องเรียน  หากไม่มีการแก้ไข เด็กที่ถูกแกล้งก็จะค่อยๆ ลดคุณค่าในตัวเองลง เกิดภาวะซึมเศร้า และอาจร้ายแรงจนฆ่าตัวตาย  ซึ่งข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก ในเรื่องการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน หรือการ bully และพบปัญหาเด็กถูกรังแกในสถานศึกษามากถึงปีละ 600,000 คน ทั้งนี้ ยังไม่รวมการกลั่นแกล้งบนอินเตอร์เน็ต (cyber-bully)

แฟน คนรัก

แฟนเป็นอีกรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ชีวิตรักของวัยรุ่นสมัยใหม่ง่ายแต่ฉาบฉวย เร็วขึ้น หากเด็กไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ที่ดี (healthy relationship) รวมถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ และอาจมีต้นทุนในทักษะการสื่อสารที่ไม่ดีนักทำให้วัยรุ่นผิดหวัง เสียใจได้ง่าย เมื่อบวกกับแรงกดดันจากภายนอก เช่น บ้านที่ไม่อบอุ่น หรือค่านิยมผิดๆ ในหมู่วัยรุ่น เช่น การมีแฟนหรือการมีแฟนจำนวนเยอะๆ คือการเติมเต็มคุณค่าให้ตัวเอง จะยิ่งทำให้วัยรุ่นมีความสัมพันธ์โดยขาดความเข้าใจ เช่น ผูกความสุขไว้กับการมีแฟน  และมีจำนวนหนึ่งที่ใช้การฆ่าตัวตายผูกมัดไม่ให้อีกฝ่ายเลิกรา

หากไม่มีเครื่องมือในการมองและมีความสัมพันธ์ที่ดี และระบบสังคมรองรับและให้การสนับสนุน หากวัยรุ่นพลาดล้ม (Safety net) ที่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงด้านความเครียด ซึมเศร้า พฤติกรรมเกเร และเสี่ยงท้องไม่พร้อม หรือติดโรคติดต่อทางเพศ

จากการสำรวจความสุขและทัศนคติวัยรุ่นต่อวันวาเลนไทน์ ปี 2561 พบว่า 41% ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียน อายุ 11-19 ปี จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2,100 คน เคยมีแฟนมาแล้ว โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ ผูกความสุขของตนเองไว้กับการมีแฟน เพราะคิดว่ามีแฟนแล้วจะไม่เหงา รู้สึกเติมเต็ม และเมื่อรู้สึกไม่สบายใจหรือทะเลาะกับแฟน จะอยู่เงียบๆ คนเดียว แก้ไขปัญหาที่ตนเอง หรือพูดระบายกับเพื่อน

สังคมออนไลน์

เด็กรุ่นใหม่เกิดมาในยุคที่ smart devices และอินเตอร์เน็ตเข้าถึงแทบทุกคนทุกพื้นที่ สื่อสังคมออนไลน์จึงเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของวัยรุ่นไม่ต่างจากสังคมแวดล้อมกายภาพ  พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย (social media) ของวัยรุ่นคือการมีเพื่อน การหาพื้นที่ และการยอมรับให้กับตัวเองตามปกติ เพียงแต่การเข้าสังคมนี้เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตเท่านั้น อย่างไรก็ดี การใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจส่งผลเสีย เช่น ทักษะการเผชิญหน้าในโลกความจริงน้อยลง ขาดความเข้าใจในตัวเอง มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลงเพราะถูกขโมยเวลาและยังส่งผลให้ระดับสติปัญญาของเด็กวัยรุ่นลดลง เช่น ลดความสามารถของความจำและสมาธิ การวางแผนการตัดสินใจ เป็นต้น[15]

เมื่อดูผลสำรวจของสถาบันสุขภาพจิตละวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า เด็กไทยติดโซเชียลมีเดียมากกว่า 2.7 ล้านคน  นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่ใช้เวลาเล่นสื่อออนไลน์ เกมออนไลน์ และพูดคุยผ่าน LINE และ Facebook สูงที่สุดในโลก  คิดเป็นเวลาเฉลี่ยในโลกออนไลน์ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และมีจำนวนแอคเคาท์เยอะติดอันดับโลก[16]

การเรียน

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นคือ ระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันสูง และมีค่านิยมว่าเด็กที่ดีคือเด็กที่เรียนเก่ง หรือต้องสามารถสอบเข้าในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหรือสายการเรียนที่สังคมให้ค่าได้ เด็กจึงอยู่ในสภาวะกดดัน ด้วยความรู้สึกว่าต้องเก่งเสมอและแข่งขันกับเพื่อนอยู่ตลอดเวลา จนไม่อาจสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ อีกทั้ง ก็ยังไม่เหลือช่องว่างให้เล่น หรือสนุกกับการเรียน และมีนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่เรียนดีแต่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือเรียนไปทำไม

นอกจากนี้ ยิ่งชั้นปีที่สูง ยิ่งพบภาวะซึมเศร้ามาก เพราะการเรียนท้าทายมากขึ้นทุกชั้นปี หากไม่มีพื้นฐานที่ดีก็จะยิ่งเครียดเพราะเรียนไม่ไหว ไม่ทันเพื่อน จากผลศึกษาพบว่าในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีนิสิตพยายามฆ่าตัวตายร้อยละ 6.4 ของนิสิตทั้งหมด[17]

ค่าใช้จ่ายในการเรียนนั้นก็เป็นอีกส่วนที่เพิ่มความกดดันที่วัยรุ่นแบกรับจากความคาดหวังผลตอบแทนของพ่อแม่  ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาตรี ของสถาบันการศึกษาของรัฐบาลตลอดจะมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ที่ 1.6 ล้านบาท สถาบันการศึกษาเอกชน 4.0 ล้านบาท  และสถาบันการศึกษานานาชาติ จะมีค่าใช้จ่ายที่ 20.1 ล้านบาท [18] โดยทั้งหมดนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายกวดวิชา เรียนเสริมต่างๆ

เข้าทำงาน

ในช่วงที่พวกเขาเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่วัยทำงาน เรามักจะเห็นปัญหาสุขภาพจิตที่ทับถมมานานระเบิดในช่วงนี้ (ตั้งแต่การเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ทำให้ไม่มั่นใจ สมาธิสั้น การแข่งขันกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน การยึดติดความสุขและคุณค่าไว้กับแฟน การหาพื้นที่ให้กับตัวเองทั้งสังคมทางกายภาพและออนไลน์ และการเรียนที่เน้นเกรดดีแต่ไม่มีเป้าหมายไม่มีความสุข) ทำให้วัยรุ่นในวัยที่ความรับผิดชอบมาอยู่ที่ตัวเองเกือบทั้งหมด ทั้งการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต การเงิน ผลงาน สายอาชีพ การหาหลักให้ตัวตนของตัวเอง บทบาทที่เปลี่ยนไปกับสังคมในวัยเด็ก และการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่
จากการสำรวจสุขภาพใจ [19]คนวัยทำงานจำนวนมากระบุว่าตัวเองถูก ‘ความเครียดขโมยความสุข’ โดยสัดส่วนคนกรุงเทพมีความสุขน้อยกว่าภาพรวมประเทศ และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติเกือบ 2 เท่าตัว ซึ่งเรื่องที่คนวัยทำงานเครียดได้แก่ การเงิน (เงินไม่พอ ค่าครองชีพสูง) เศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว และการเสพข่าวมากเกินไปและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 ผลของความเครียดก่อให้เกิดปัญหาการนอน (นอนไม่หลับหรือนอนมาก) หงุดหงิด ว้าวุ่นใจ เบื่อเซ็ง สมาธิน้อยลง รวมถึงมีความรู้สึกไม่อยากพบผู้คน ซึ่งเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตทั้งหมด

การเยียวยา-รักษา

ปัจจุบัน สังคมให้ความสนใจกับปัญหาสุขภาพจิต ทำให้เรามีข้อมูลและสามารถทำแบบทดสอบสำหรับประเมินตนเองในเบื้องต้นง่ายๆ บนอินเตอร์เน็ต  อย่างไรก็ตาม การคัดกรองนี้ก็สามารถเป็นดาบสองคมที่ทำให้ผู้ที่ไม่ได้ป่วยจริงๆ คิดว่าตนเองเป็นโรคและเข้ารับการรักษา ในทางกลับกัน หากผู้ป่วยที่ไม่ยอมรับตนเองก็สามารถใช้แบบผลทดสอบเป็นการต่อเวลาไม่เข้ารักษาที่เหมาะสมได้

หลายคนอาจจะนึกถึงจิตแพทย์ (Psychologist) เมื่อต้องการความช่วยเหลือ แต่ในความเป็นจริง ยังมีบริการที่ช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตได้หลากหลายรูปแบบ คือ นักจิตวิทยา (Psychologist) ที่ปรึกษา (Professional Counselor) นักบำบัด (Therapist) ขึ้นอยู่กับอาการและความพอใจ ซึ่งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพสามารถเลือกเข้าไปรับคำปรึกษาและรักษาได้

จากผลการสำรวจ พบว่า 87% ของผู้ตอบรับการสำรวจ U Report[20] ที่ระบุว่ามีปัญหาสุขภาพจิตกล่าวว่า ตนเองไม่เคยได้รับบริการสุขภาพจิตจากหน่วยงานใด  แน่นอนสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากตัวผู้ป่วยที่ไม่กล้าไปพบแพทย์เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นบ้า  แต่อีกส่วนหนึ่งคือบุคลากรสุขภาพจิตนั้นยังขาดแคลนอยู่มาก ปัจจุบัน จิตแพทย์ทั่วประเทศมีจำนวนเพียง 675 คน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่น่าจะเป็นประมาณ 2 เท่า คือ 1,319 คน (ตามอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ 2 คนต่อประชากร 1 แสนคน)  รวมทั้ง จำนวนพยาบาลจิตเวช ที่มีเพียง 3,422 คน ต่ำกว่าเกณฑ์หลายเท่าตัว โดยเฉพาะพยาบาลจิตเวชสำหรับเด็กและวัยรุ่น (คิดจากค่าเฉลี่ยพยาบาลจิตเวช 7.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน) ซึ่งปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตกำลังเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและการกระจายตัวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเวชมีโอกาสเข้าถึงบริการได้มากกว่าเดิม

แนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ

1. มูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รัก โรงเรียนพ่อแม่ลูก
จากความเชื่อที่ว่า ปัญหาสังคมมีต้นตอมาจากปัญหาครอบครัว ซึ่งเกิดจากพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก จนกลายเป็นความขัดแย้ง ทำให้เด็กเก็บกด กดดัน และเครียด ผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจไม่รู้ตัวว่าวิธีการสื่อสารในปัจจุบันนั่นอาจนำไปสู่การเก็บกดทางอารมณ์ และไม่เข้าใจตนเอง
มูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รักและโรงเรียนพ่อแม่ลูกจึงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ และทัศนคติเชิงบวกในสถาบันครอบครัวด้วยเทคนิค ‘สุนทรียสนทนา’ เพื่อให้เข้าใจตัวเอง จัดการกับอารมณ์ของตนเองได้มากขึ้น พร้อมทั้งเยียวยาความสัมพันธ์ สร้างแรงบันดาลใจ ความหวัง และมุมมองใหม่ร่วมกันในครอบครัว เมื่อกลับไป เด็กจะได้อยู่กับสิ่งแวดล้อม ที่พร้อมจะเข้าใจและสนันสนุบเขา โดยที่เด็กสามารถเข้าใจตนเองและสามารถจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถมีความสุขกับชีวิตและมีทักษะชีวิตที่ดี

2. ทักษะชีวิต รหัสครูศตวรรษที่ 21
จากคำจำกัดความของ “ทักษะชีวิต” (Life Skills)[21] ที่มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น  2) การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  3) การจัดการกับอารมณ์และความเครียด  4) การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น  สพฐ. จึงร่วมมือกับ มูลนิธิ Right to Play และ Unicef จัดทำคู่มือชุด ทักษะชีวิต รหัสครูศตวรรษที่ 21 ตามแผนงานทักษะชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการปี 2551 เพื่อเผยแพร่ให้ครูทั่วประเทศ พร้อมกับแนวทางที่เห็นได้ชัดและใช้ได้จริง เพื่อนำการเรียนรู้ทักษะชีวิตไปใช้ในชั้นเรียน โดยมีครูต้นแบบทั้งหมด 42 คนแสดงการสอนด้วยวิธี R-C-A คือ

R (Reflect): ตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนสะท้อนความรู้สึกหรือมุมมองของตน
C (Connect): ตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนได้คิดเชื่อมโยง และ
A (Apply): ตั้งคำถามเพื่อการปรับใช้ โดยผ่านการเรียนการสอนแบบ active lerning คือให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ได้ครูผู้สอนสามารถดูวิดีโอสาธิตการสอนผ่านทาง QR code ที่อยู่ในคู่มือได้

 3. Wall of Sharing, OOCA

อิ๊ก ทพญ. กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ อดีตทันตแพทย์ที่ผ่านประสบการณ์ปัญหาสุขภาพจิต และเข้าใจถึงปัญหาในการเข้าถึงบริการการช่วยเหลือที่ไม่สะดวก จึงผันตัวมาทำ Ooca แอพพลิเคชั่นที่เปิดช่องทางให้ผู็ที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถพูดคุยกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่าน เทคโนโลยี และ VDO Call

จากประสบการณ์ทำงาน Ooca เห็นว่ามีโอกาสในการทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนที่กำลังเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตที่มีจำนวนกว่า 7 ล้านคน และอาจไม่กล้าคุยกับครอบครัวเพราะกลัวจะเป็นหนักกว่าเก่า แล้วจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็มีไม่พอ ต้องติดต่อ รอคิวนาน ทำให้ไม่สะดวก ยุ่งยาก หรือซ้ำเติมความอาย จึงขยายช่องทางใหม่สำหรับนักศึกษาได้เข้าถึงบริการเหล่านี้ในราคาย่อมเยาลง เกิดเป็นกำแพงพักใจ Wall of Sharing

 ปัจจุบัน ผู้ปรึกษาสามารถนัดและพบแพทย์ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้านและมีความเป็นส่วนตัวสูงขึ้น ทำให้ประหยัดต้นทุนไปได้ถึง 76%

4. การเฝ้าระวังคอนเทนต์ทำร้ายตัวเอง บน IG และ Facebook
จากข่าวของ The Standard แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นโลกอีกใบหนึ่งที่เราสามารถสังเกตถึงปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด รวมทั้งสัญญาณการทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตาย  หากเราค้นหา #suicide แฮชแท็กเดียวบนอินสตาแกรมก็จะพบรูปภาพกว่า 8 ล้านรูปจากทั่วโลกไว้ให้เลือกดู และการไลฟ์สดที่เผยแพร่คอนเทนต์ความรุนแรงของไทยที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

เฟซบุ๊กจึงได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับช่วยระงับเหตุการฆ่าตัวตายที่ใช้บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กมาแล้วกว่า 10 ปี และถูกพัฒนาร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตมากกว่า 50 แห่งทั่วโลก ด้วยการให้ข้อมูลจากกลุ่มบุคคลที่เคยผ่านประสบการณ์การคิดฆ่าตัวตายมาก่อน

ปัจจุบัน เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมได้เพิ่มมาตรการในการตรวจจับและเฝ้าระวังไม่อนุญาตให้มีการปล่อยคอนเทนต์ไลฟ์สดคอนเทนต์ที่มีความรุนแรงและการฆ่าตัวตาย โดยรับแจ้งข้อมูลจากผู้ใช้รายอื่นที่กดรีพอร์ตเข้ามา และมอนิเตอร์ไลฟ์สดที่ได้รับความนิยมแม้จะไม่มีใครแจ้งเข้ามา รวมทั้งการลบคอนเทนต์ความรุนแรงทุกรูปแบบเมื่อได้รับแจ้งตลอด 24 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ภาคชุมชนของเฟซบุ๊ก (Community Operations Team) กว่า 15,000 คนทั่วโลก รวมถึง Machine Learning เช่น การตั้งคำถามง่ายๆ ว่าให้ช่วยอะไรไหม ก่อนเข้าสู่เนื้อหาความรุนแรงที่ผู้ใช้ค้นหา พร้อมแนะนำวิธีช่วยเหลือเช่น ติดต่อเพื่อน พูดคุยกับสายด่วน หรืออ่านความรู้ในการช่วยเหลือตนเอง
 

ช่องว่างและโอกาสในการแก้ไขปัญหา

การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้จิตใจเยาวชนและวัยรุ่นแข็งแรง ตระหนักรู้คุณค่าของตนเอง เข้าใจและปรับเปลี่ยนความคิด มีความยืดหยุ่นได้ตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมยังขาดแคลนอยู่มาก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

  1. สมาธิสั้น หรือ “ไฮเปอร์เทียม” ก็เป็นอีกปัญหาที่ส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของเด็กและวัยรุ่นจำนวนมาก ในปัจจุบัน มีเด็กกว่า 4.2 แสนคน คิดเป็น 5.4% ของประชากรเด็กไทยทั้งหมด (พบได้ 2-3 คนในทุกห้องเรียน 40-50 คน) [22]  ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการเลี้ยงลูกสมัยใหม่ ที่ผู้ปกครองยื่น smart phone หรือ tablet ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพื่อทำให้เด็กนิ่งได้ง่ายๆ โดยไม่เข้าใจว่าภาพที่เร็วและไวในโทรศัพท์นั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของสมอง เด็กจึงคุมสมาธิไม่ได้ ลดทักษะการอ่าน-เขียน-พูด อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น
  2. องค์การอนามัยโลก (WHO) ลงมติรับรองพฤติกรรมติดเกมเป็นอาการป่วย (Gaming Disorder) ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาการช่วยเหลือและดึงความสนใจของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพให้หันมามองความเสี่ยงของอาการผิดปกติ โดยได้อธิบายอาการติดเกม ว่าเป็นรูปแบบพฤติกรรมที่ขาดการควบคุม ให้ความสำคัญกับเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น เลือกเล่นเกมก่อนความสนใจหรือกิจวัตรประจำวัน และยังคงเล่นต่อเนื่องหรือมากขึ้นแม้จะมีผลเสียรุนแรงตามมา เช่น ความบกพร่องด้านบุคลิกภาพ ครอบครัว สังคม การศึกษา การทำงาน รวมถึงประสิทธิภาพที่สำคัญด้านอื่นๆ และต้องปรากฎเป็นหลักฐานชัดอย่างน้อย 12 เดือน
  3. หากเด็กไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ที่ดี (healthy relationship) รวมถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ เมื่อบวกกับแรงกดดันจากภายนอก เช่น บ้านที่ไม่อบอุ่น หรือค่านิยมผิดๆ ในหมู่วัยรุ่น เช่น การมีแฟนหรือการมีแฟนจำนวนเยอะๆ คือการเติมเต็มคุณค่าให้ตัวเอง จะยิ่งทำให้วัยรุ่นมีความสัมพันธ์โดยขาดความเข้าใจ เช่น ผูกความสุขไว้กับการมีแฟน หากไม่มีเครื่องมือในการมองและมีความสัมพันธ์ัที่ดี และระบบสังคมรองรับและให้การสนับสนุน หากวัยรุ่นพลาดล้ม (Safety net) ที่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงด้านความเครียด ซึมเศร้า พฤติกรรมเกเร และเสี่ยงท้องไม่พร้อม หรือติดโรคติดต่อทางเพศ
  4. แม้สถิติโรคซึมเศร้าจะแสดงให้เห็นว่าหญิงไทยป่วยมากกว่าชายไทยถึง 1.7 เท่า แต่ในความเป็นจริง 80.4% ของอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยเป็นเพศชาย สาเหตุที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือผู้ชายจำนวนมากถูกเลี้ยงดูและคาดหวังให้อดทน เข้มแข็ง ทำให้มีผู้ชายจำนวนมากมีปัญหาในการยอมรับตนเองในภาวะอ่อนไหว แสดงอาการเศร้าหรือร้องไห้ไม่เป็น และไม่ขอความช่วยเหลือ ส่งผลให้มีผู้ชายที่มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นกลุ่มแฝงที่ต้องให้ความสำคัญ[23]
  5. การวิจัยแนะนำอย่างยิ่งว่าควรมีระบบการคัดกรองภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นทั่วไปอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งในวัยรุ่นกลุ่มอายุ 11-21 ปี ด้วยแบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพที่ดี แต่เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติที่ยังไม่ได้นำมาใช้จริงในสถาบันการศึกษาอย่างแพร่หลาย ด้วยปัจจัยทางนโยบายและกำลังบุคคลากร[24] ซึ่งครูในฐานะผู้ใหญ่ที่อยู่กับเยาวชนมากกลุ่มหนึ่ง ก็สามารถช่วยสอดส่องคัดกรองเบื้องต้นและส่งต่อไปรักษาบำบัดได้ แต่ครูนั้นขาดความรู้ในเรื่องสุขภาพจิตของเด็ก และอาจตีความว่าเป็นเด็กไม่ดี ขี้เกียจ จนมองข้ามสัญญาณต่างๆ หรืออาจพูดจาซ้ำเติมได้
  6. พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 นั้น ไม่ให้เด็กและวัยรุ่นเข้าพบแพทย์ด้วยตนเอง จะต้องไปรับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ทำให้เด็กที่ไม่อยากบอกพ่อแม่ไม่ได้รับบริการทางการแพทย์เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองโดยตรง แต่ก็มีแพทย์จำนวนมากที่มองว่าการรักษาไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียว การให้ผู้ปกครองรับรู้และมีส่วนร่วมในการรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ผลสูงกว่า
  7. ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุน แต่คนใกล้ชิดผู้ป่วยก็ต้องการการช่วยเหลือเช่นกัน  ในฐานะคนใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีส่วนสำคัญและต้องคอยดูแลให้เขาหายดีขึ้น  แต่ผู้ป่วยทางอารมณ์นั้นอยู่ในช่วงอ่อนไหว เปราะบาง ซึ่งการช่วยเหลือก็ไม่มีสูตรตายตัว ทำให้บางครั้ง การที่คนใกล้ชิดหรือผู้ดูแลตั้งใจช่วยเขามากๆ ก็อาจไปทำให้บาดแผลของผู้ป่วยลึกลงได้ด้วยความรู้สึกกดดัน เป็นภาระ และบางกรณีผู้ดูแลก็อาจกลายเป็นผู้ป่วยเสียเอง ดังนั้น หากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลมีเครื่องมือ และคอมมูนิตี้ของผู้ดูแลด้วยกันเอง คอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือก็จะช่วยเยียวยาทั้งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดได้ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม

  • มองมุมกลับ…โรคซึมเศร้าจะเปลี่ยนเราเป็นคนที่ดีขึ้นได้อย่างไร?, School of Changemakers
  • เมื่อน้องเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ … ทำยังไงดี?, School of Changemakers
  • Digital Diet เล่นอินเทอร์เน็ตแบบพอดี เพื่อสุขภาพจิตแบบ Fit&firm, School of Changemakers
  • 6 Ways To Tell The Difference Between Sadness And Depression by R THORPE, Bustle

อ้างอิง

[1] รวบรวมจาก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล และ รายงานการวิจัยการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต
[2] ตีแผ่ปัญหาโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น เผยมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีเด็กคิดฆ่าตัวตาย 6% สาเหตุหลักเครียดการเรียน หมอจิตเวชยันรักษาได้เหมือนโรคหวัด, กรมสุขภาพจิต
[3] วนบุษป์ ยุพเกษตร. เปิดสถิติจริงของ’โรคใหม่’ ใน ‘โลกใหม่’. Creative Thailand. 10, 9(2562): 18-22.
[4] สะท้อนสุขภาพจิตเด็ก-เยาวชน สร้างสังคมใส่ใจคนรอบตัว, สสส. [ข้อมูลวันที่ 24 กันยายน 2561]
[5] ห่วงวัยรุ่นเยาวชนไทยมีภาวะซึมเศร้า แนะคนรอบข้างรับฟังอย่างเข้าใจ, ข่าวกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต (เผยแพร่วันที่ 10 มิถุนายน 2562)
[6] กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมสุขภาพจิต. รายงานประจำปีกรมสุขภาพจิต ปี 2560.
[7] ห่วงวัยรุ่นเยาวชนไทยมีภาวะซึมเศร้า แนะคนรอบข้างรับฟังอย่างเข้าใจ, ข่าวกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต (เผยแพร่วันที่ 10 มิถุนายน 2562)
[8] Biopsychosocial Model, George Engel (1977)
[9] 4 Associations Between Depression in Parents and Parenting, Child Health, and Child Psychological Functioning, 2009 by the National Academy of Sciences.
[10] Baumrind, D. (1971). Current patterns of parental authority. Developmental Psychology, 4(1, Pt.2), 1-103.
http://dx.doi.org/10.1037/h0030372
[11] วนบุษป์ ยุพเกษตร. เปิดสถิติจริงของ’โรคใหม่’ ใน ‘โลกใหม่’. Creative Thailand. 10, 9(2562): 18-22.
[12] ประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2562, สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล (เผยแพร่ เดือนกรกฎาคม 2562)
[13] เราไม่ควรอดทนกับการ BULLY อีกต่อไป ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์, The Potential (เผยแพร่วันที่ 12 ตุลาคม 2561)
[14] เป็นวัยรุ่นก็เครียดได้ ใครว่ามีแต่เรื่องสนุก?
[15] สื่อสังคมออนไลน์กับสมองของเด็กวัยรุ่น, วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับ กันยายน-ธันวาคม 2561
[16] วัยรุ่นวุ่นเน็ต อยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์?
[17]  ตีแผ่ปัญหาโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น เผยมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีเด็กคิดฆ่าตัวตาย6% สาเหตุหลักเครียดการเรียน หมอจิตเวชยันรักษาได้เหมือนโรคหวัด, กรมสุขภาพจิต
[18] ส่งลูกเรียนต้องเตรียมเงินเท่าไหร่? ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ “อนุบาล” ถึง “ปริญญาตรี”, ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ (เผยแพร่วันที่ 26 มกราคม 2561)
[19]  กรมสุขภาพจิต เผยคนวัยทำงานในกทม.45% ถูก ความเครียดขโมยความสุข, กรมสุขภาพจิต
[20] สะท้อนสุขภาพจิตเด็ก-เยาวชน สร้างสังคมใส่ใจคนรอบตัว, สสส. [ข้อมูลวันที่ 24 กันยายน 2561]
[21] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย and Right to Play Thailand Foundation. ทักษะชีวิต รหัสครูศตวรรษที่ 21 การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะชีวตแห่งศตวรรษที่ 21, มกราคม 2550.
[22] สธ.ห่วงเด็กไทยป่วย’ไฮเปอร์’ เหตุพ่อแม่ปล่อยเล่นมือถือ, เดลินิวส์ออนไลน์ https://www.dailynews.co.th/regional/576632
[23] เผยสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ปี 2562 เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน มากสุดอันดับ 32 ของโลก, BLT 10 ก.ย. 2562
[24] คู่มือปฏิบัติการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า, สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์