สภาพทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรธนบุรีมีลักษณะเป็นอย่างไร

ธนบุรี เป็นเมืองด่านใกล้ปากอ่าวสยาม ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ. 1976 ตรงกับสมัยเจ้าสามพระยาว่าทรงตั้งตำแหน่ง “นายพระขนอนทณบุรี” ขึ้นเพื่อเก็บภาษีและดูแลการผ่านเข้าออกของเรือสินค้าแถบนี้

ต่อมาในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ ราว 100 ปีหลังจากนั้น การค้าทางทะเลเจริญรุ่งเรืองมาก ชาวตะวันตกเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบครองเมืองท่าแถบนี้กันมากขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานีการค้า และแสวงหาวัตถุดิบราคาถูก

ธนบุรีในฐานะเป็นทั้งเมืองท่า เมืองหน้าด่าน และเป็นแหล่งผลิตผลไม้ชั้นดีให้อยุธยามาแต่เดิม จึงถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมือง “ทณบุรีศรีมหาสมุทร” และต่อมามีการสร้างป้อมรบอย่างใหญ่โตขึ้นทั้งสองฟากแม่น้ำในสมัยพระนารายณ์ พื้นที่ตรงนี้จึงมีความสำคัญสืบเนื่องมาตลอด จนถึงคราวสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีในแผ่นดินพระเจ้าตากสิน

พม่าเองก็รู้ว่าเมืองธนบุรีมีความสำคัญ เมื่อได้ชัยชนะและถอนทัพกลับจากอยุธยา จึงวางกองกำลังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้นหนึ่งแห่ง และที่เมืองธนบุรีอีกหนึ่งแห่ง

หลังจากนั้นไม่นานพระเจ้าตากสินกรีธาทัพเรือกว่าร้อยลำขึ้นมาจากเมืองจันทบูร เข้าปากน้ำสมุทรปาการ ขึ้นตีค่ายพม่าที่เมืองธนบุรีแตกในคืนเดียว และยกเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นจนยึดได้ในอีกสองวันถัดมา

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ณ เวลานั้นพระเจ้าตากสินทรงเลือกที่จะรวบรวมชาวสยามที่ตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่ธนบุรี แทนการฟื้นอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีอีกครั้ง

เมืองธนบุรีกับบางกอก ก่อนสมัยพระเจ้าตากสินคือที่เดียวกัน แต่ชาวบ้านและชาวต่างชาติน่าจะรู้จักชื่อบางกอกมากกว่า เพราะพบชื่อธนบุรีในเอกสารฝรั่งน้อยมาก และเท่าที่ผ่านตาไม่ปรากฏชื่อนี้เลยในแผนที่สมัยนั้น

มีแผนที่ผลงานฝรั่งอยู่หลายชิ้น ซึ่งบอกเส้นทางจากปากอ่าวสยามตามลำน้ำเจ้าพระยาขึ้นไปถึงกรุงเก่าโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อบ้านเมืองริมน้ำไว้ค่อนข้างชัดเจน และหลายชื่อในแผนที่เหล่านั้นยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

บางกอกถูกระบุว่าเป็นเมืองที่มีป้อมปืนหรือป้อมรบ และเป็นเมืองแรกที่ต้องแล่นเรือผ่านเมื่อเข้ามาจากปากอ่าว ถัดขึ้นไปเป็นตลาดแก้วตลาดขวัญ ในเขตเมืองนนท์ ถัดไปเป็นบ้านปากเกร็ด สามโคก เมืองปทุม บ้านราชคราม เรื่อยจนไปถึงอยุธยา

ดูจากแผนที่จะเห็นว่าตรงบางกอกหรือธนบุรี มีความสำคัญขึ้นมาเพราะตรงจุดที่ตั้งเมืองนั้นเหมาะใช้เป็นด่านตรวจอย่างมาก แม้จะอยู่ห่างทะเลสักหน่อย แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่สามารถคุมเส้นทางน้ำซึ่งจะติดต่อกับอยุธยาไว้ทั้งสองด้านดังนี้

เส้นทางแรกด้านปากอ่าวไทยหรือปากน้ำเจ้าพระยานั้น เป็นเส้นทางเดินเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่ใช้เข้าออกทะเลหลวง เพื่อไปค้าขายข้ามประเทศ ทั้งยังเป็นเส้นทางที่ติดต่อกันระหว่างหัวเมืองทางใต้กับราชสำนักสยามตั้งแต่ประจวบฯ ชุมพร ลงไปถึงสงขวา นครศรีธรรมราช ปัตตานี เส้นทางในโคลงกำสรวลสมุทรที่เดินทางจากอยุธยาไปนครศรีธรรมราชใช้เส้นทางเดียวกันนี้

นอกจากนั้นยังเป็นประตูออกสู่เมืองชายทะเลตะวันออกด้านเมืองระยองและจันทบูร พระเจ้าตากสินใช้เส้นทางนี้ตอนยกทัพเรือเข้ายึดอยุธยาคืนจากพม่า และที่ใกล้ปากอ่าวฟากตะวันออกมีคลองสำโรงเชื่อมกับแม่น้ำบางปะกง ซึ่งชาวบ้านใช้ไปมาหาสู่กันด้วยเรือพื้นบ้าน และเชื่อมกับเส้นทางเดินบกไปยังระยองและจันทบูรได้ สุนทรภู่ตอนไปเมืองแกลงใช้เส้นทางนี้

เส้นทางสำคัญที่ต้องผ่านเมืองบางกอกอีกฟากหนึ่งคือ ด้านคลองบางหลวง ซึ่งเชื่อมโยงเครือข่ายเส้นทางน้ำทางซีกตะวันตกของเจ้าพระยาไว้ทั้งหมด รวมทั้งเป็นเส้นทางหลักที่ใช้ติดต่อกับเมืองปากอ่าวด้านมหาชัย ท่าจีน แม่กลอง ไปจนถึงเพชรบุรี

พื้นที่ฟากนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ริมคลองอย่างหนาแน่น ชาวสยามใช้เป็นเส้นทางติดต่อค้าขายกันเองมานาน และยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับทางเดินบกข้ามไปยังเมืองตะนาวศรี มะริด และทวายในฝั่งอันดามันซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทยอีกด้วย

สภาพทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรธนบุรีมีลักษณะเป็นอย่างไร
แผนที่กรุงเทพฯ ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ยังเหลือแนวคลองด้านตะวันตกของกรุงธนบุรีให้เห็นอย่างชัดเจน

การที่ราชสำนักอยุธยาจะติดต่อกับหัวเมืองฟากตะวันตกด้วยเรือพระที่นั่งตามเส้นทางนี้ ถือว่าใกล้กว่าด้านปากน้ำเจ้าพระยามาก และค่อนข้างปลอดภัยไม่ต้องออกทะเล เพราะโดยวิสัยชาวสยามนั้น ชำนาญในการต่อเรือและใช้เรือในแม่น้ำลำคลองมากกว่า ส่วนการเดินเรือสำเภาออกทะเลหลวงนั้น อาศัยชาวจีน แขก ญวน หรือฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่

พระเจ้าเสือตอนเสด็จประพาสหัวเมืองด้านนี้ จนเกิดตำนานพันท้ายนรสิงห์ที่คลองโคกคามขึ้นนั้น พระองค์ได้เสด็จตามเส้นทางนี้ และคราวรัชกาลที่ 1 ทรงยกทัพไปตีเมืองทวายก็ทรงลำเลียงพลไปตามลำน้ำเส้นนี้เช่นกัน

จึงเป็นไปได้ว่าก่อนมีคลองลัด ซึ่งต่อมากลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันออกของวังธนบุรีนั้น แถวปากคลองด่านย่านบางหลวงและตลาดพลูน่าจะเป็นทั้งชุมทางการค้า และเป็นย่านชุมชนชาวสวนที่เก่าแก่กว่า

ดังนั้นการเติบโตขึ้นของธนบุรีตั้งแต่สมัยอยุธยาจึงน่าจะสัมพันธ์กับการขุดคลองลัดบางกอกเป็นสำคัญ

ยุคธนบุรี พวกฝรั่งที่ชอบทำแผนที่คงหนีกลับบ้านเมืองตัวเองหมด จึงไม่มีแผนที่ธนบุรีให้ดูเลย มาเริ่มมีแผนที่อีกครั้งตอนต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระบรมมหาราชวังย้ายมาอยู่ฟากตะวันออกเรียบร้อยแล้ว เมืองธนบุรีจึงติดอยู่ในแผนที่เล็กนิดเดียว

หน้าตาของกรุงธนบุรีเลือนลางมาตลอด เพราะร่องรอยที่เหลือให้ศึกษานั้นน้อยมาก ภาพที่พอจินตนาการออกมาได้จึงเป็นการเทียบเคียงจากบันทึกต่างๆ เท่านั้น และไม่คิดมาก่อนว่าจะมีแผนที่ซึ่งช่วยให้เห็นรูปร่างของวังพระเจ้าตากสินชัดเจนขึ้นกว่านี้

บังเอิญและโชคดีเหลือเกินที่คุณนิรมล เมธีสุวกุล พิธีกรหน้าหวานขวัญใจเด็กๆ ประจำรายการทุ่งแสงตะวันได้รับอนุญาตจากนักวิชาการในย่างกุ้งชื่อ Prof. Muang Muang Tin ให้ถ่ายภาพแผนที่พม่าชิ้นหนึ่งไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว และได้กรุณาส่งมาให้บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

แผนที่นี้คือ ตัวเมืองธนบุรี ซึ่งพม่าดอดเข้ามาเขียนเอาไว้เมื่อไรไม่ทราบ เป็นแผนที่ซึ่งเขียนลงบนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ราว 3 x 6 ฟุต เขียนด้วยสีฝุ่น มีสีสันสวยงาม บอกผังเมือง และจุดสำคัญต่างๆ ไว้ชัดเจนพอสมควร

เนื่องจากตัวหนังสือในแผนที่ทั้งหมดเป็นภาษาพม่า จึงต้องไปรบกวนขอความรู้จาก ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปราดเปรื่องเรื่องพม่า ช่วยอธิบายขยายความ

สภาพทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรธนบุรีมีลักษณะเป็นอย่างไร
จุดสำคัญในแผนที่กรุงธนบุรี ๑. เขตพระราชฐานชั้นใน หรือวังหลวง ๒. บ้านพระยาจักรี ๓. วังลูกเจ้าเมืองบางกอก ๔. ท่าขึ้นวัง ๕. ประตูถือน้ำพิพัฒน์สัตยา, น้ำสาบาน ๖. ท่าข้าวเปลือก ๗. ป้อมปืน ๘. โรงช้างสำคัญ ๙. บ้านหัวหน้าชาวจีน (พระยาราชาเศรษฐี) ๑๐. บริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติ (มีป้อมค่ายทหาร)

ภาพของกรุงธนบุรีชัดเจนมากขึ้น และช่วยให้รู้สึกถึงความเป็นพระราชวังอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ซึ่งควรจะมีความวิจิตรโอฬารและสมพระเกียรติ มากกว่าตัวพระราชวังเดิมที่ปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้หลายเท่าตัว

แผนที่แสดงไว้ชัดเจนว่าเขตตัวเมืองครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองฟากเจ้าพระยา (คำพม่าเรียกแม่น้ำเจ้าพระยาว่ามหานที) ด้านตะวันตกซึ่งเป็นวังหลวงสายลับพม่าคงให้ความสำคัญมากกว่า และให้รายละเอียดมากกว่าเมืองฝั่งตะวันออก การเทียบมาตราส่วนแบบแผนที่สมัยใหม่ใช้ไม่ได้กับแผนที่นี้

ริมเจ้าพระยาตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยลงไปถึงปากคลองบางหลวง (สองคลองนี้พม่าไม่ใส่ชื่อ) คือเขตเมืองฟากตะวันตกจะเห็นว่ามีกำแพงล้อมเมืองอยู่ทั้งสี่ด้าน มีประตูเข้าเมืองทั้งหมด 21 ประตู น่าคิดว่าแนวกำแพงนี้เป็นกำแพงรอบกรุงอีกชั้นหนึ่ง หรือเป็นแนวกำแพงเดียวกับที่พระเจ้าตากโปรดให้สร้างขึ้นริมคลองทั้งสามด้าน

ตรงมุมด้านใต้ตรงปากคลองบางหลวงซึ่งมีรูปปืนใหญ่คือ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ เป็นป้อมอันเดียวกับที่เห็นธงราชนาวีไทยปลิวไสวอยู่ขณะนี้ และเป็นป้อมที่ปรับปรุงจากรากฐานเดิมที่สร้างแต่คราวอยุธยา

พื้นที่ในกำแพงเมืองจะเห็นว่ามีทางเชื่อมถึงกันหมด โดยมีคลองเชื่อมจากตัวแม่น้ำตัดขวางออกคลองคูเมืองเพียงเส้นเดียว ซึ่งน่าจะเป็นคลองบางหว้าใหญ่ข้างวัดระฆัง ส่วนคลองมอญและคลองนครบาลไม่ปรากฏในแผนที่นี้ และในแผนที่จะเห็นว่าแนวคลองและแนวกำแพงวังได้แบ่งพื้นที่เป็นสม 3 ส่วนโดยประมาณ คือ

กรอบสี่เหลี่ยมด้านขวาสุดติดกับป้อมปืนคือ เขตพระราชวัง ซึ่งในพงศาวดารระบุว่าถือตามแนวกำแพงเมืองเดิม โดยรวมเอาวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดไว้ในเขตวังหลวงด้วย หากยึดข้อมูลนี้กำแพงวังน่าจะกว้างถึงคลองเหนือวัดอรุณฯ เป็นอย่างน้อย

ภายในกำแพงวังจะเห็นแนวกำแพงอีกชั้นหนึ่ง ผู้เขียนเน้นให้ดูใหญ่และมิดชิดแน่นหนาเป็นพิเศษ ท่านอาจารย์สุเนตรบอกว่า ตรงนี้น่าจะเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินหรือเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งทั้งพระตำหนักและแนวกำแพงวังตามที่ปรากฏในแผนที่นี้ไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้วในปัจจุบัน

สภาพทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรธนบุรีมีลักษณะเป็นอย่างไร
แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับนี้ทำในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าตัวเมืองธนบุรีถูกลดความสำคัญลงเหลือเล็กนิดเดียว

ท่าน้ำริมเจ้าพระยา ตรงประตูซึ่งเชื่อมถึงตำหนักในได้นั้น พม่าระบุไว้ว่าเป็น “ท่าขึ้นวัง” ส่วนประตูเข้าวังที่อยู่ถัดมาทางซ้ายมีชื่อว่า “ประตูถือน้ำพระพิพัฒน์” จึงเป็นไปได้ที่รูปอาคารหลังใหญ่ริมกำแพงวังด้านเหนือจะเป็นท้องพระโรงซึ่งพระเจ้าตากสินเสด็จออกว่าราชการ แต่จะเป็นท้องพระโรงหลังเดียวกับที่เห็นอยู่ในวังเดิมตอนนีหรือไม่ คงบอกไม่ได้

ในพื้นที่สี่เหลี่ยมถัดมาซึ่งอยู่ตรงกลางพระนครนั้น มีรูปอาคารเด่นสะดุดตาอยู่หลังหนึ่งแวดล้อมด้วยรูปเรือนเล็กๆ เป็นจำนวนมาก พม่าบรรยายไว้ว่าเป็น “บ้านพระยาจักรี” ซึ่งน่าจะหมายถึงที่ประทับเดิมของรัชกาลที่ 1

น่าสังเกตว่าในพงศาวดาร และในบันทึกเก่าๆ เช่น ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนริทรเทวีนั้น กล่าวถึงบ้านขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยพระเจ้าตากสิน ว่าอยู่ในเขตกำแพงฟากตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ และมีอย่างน้อยสองทานซึ่งพำนักอยู่ที่เดิมทั้งสองแผ่นดินคือ

เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ หรือพระยาสุริยอภัยในแผ่นดินพระเจ้าตากสินนั้น มีบ้านอยู่ตรงชุมชนบ้านปูน (แถวศิริราช) มาแต่เดิม ต่อมาในรัชกาลที่ 1 จึงสถาปนาเป็นพระราชวังหลัง ส่วนอีกท่านคือ เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ซึ่งเป็นเจ้ากรมวังครั้งกรุงธนบุรี บ้านของท่านอยู่ใกล้ปากคลองมอญ บริเวณเดียวกับบ้านพระยาจักรี แต่ไม่ทราบว่าในแผนที่คือหลังไหน

เมื่อรัชกาลที่ 1 ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ในพระราชพงศาวดารปรากฏคำว่า “พระราชนิเวศน์” หรืออีกชื่อว่า “บ้านหลวงที่วังเดิม” ซึ่งน่าจะหมายถึงตรงบ้านพระยาจักรี ส่วนวังพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเปลี่ยนมาเรียกว่า “วังเก่าเจ้าตาก”

พื้นที่กรอบซ้ายสุดอยู่ติดคลองบางกอกน้อย เห็นรูปแล้วเดาได้ทันทีว่าบริเวณนี้ต้องเป็นโรงช้างต้นแน่ รู้สึกว่าผู้เขียนแผนที่เองก็ให้ความสำคัญกับโรงช้างมาก ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงช้างทรงของพระเจ้ากรุงธนบุรีว่ามีทั้งหมด 4 เชือก จึงเป็นเรื่องบังเอิญมากที่รูปช้างในแผนที่นี้ก็มีอยู่ 4 เชือกเช่นเดียวกัน (อีกเชือกหนึ่งอยู่ฟากตะวันออก)

ส่วนอาคารอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นอะไรบ้าง แต่หลังใหญ่ที่อยู่ติดโรงช้างน่าจะเป็นตำหนักของเจ้านายคนสำคัญ บริเวณปากคลองตรงมุมขวาควรจะเป็นวัดบางว้าใหญ่หรือวัดระฆัง เพราะพม่าเขียนว่า “ท่าขึ้นวัด” ถัดมาทางซ้ายมือน่าจะเป็นฉางเกลือและชุมชนบ้านปูน เขตบ้านเดิมของพระยาสุริยอภัย

ตรงคลองคูเมืองด้านตะวันตกซึ่งติดมาให้เห็นเพียงบางส่วนนั้น มีเครื่องหมายชี้ไปทางคลองบางกอกน้อยบอกว่า ทางไปสุสานและอู่เก็บเรือ ทำให้พอเห็นเค้าว่าอู่เก็บเรือหลวงนั้นอยู่คลองบางกอกน้อยมาแต่เดิม ส่วนสุสานที่ระบุไว้น่าจะเป็นสุสานแขกริมคลองฝั่งใต้ซึ่งทางรถไฟได้ผ่านทับไปหมดแล้ว

สภาพทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรธนบุรีมีลักษณะเป็นอย่างไร
แผนที่ลำน้ำเจ้าพระยาจากอยุธยาถึงปากน้ำจะปรากฏชื่อของเมืองบางกอกอยู่ตรงจุดแยกที่จะออกปากน้ำด้านสมุทรปราการ และด้านท่าจีนได้ จึงกลายเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญ

ข้ามฟากมาด้านตะวันออก เขตกำแพงชั้นในพม่าระบุว่าเป็น “วังลูกเจ้าเมืองบางกอก” ซึ่งน่าจะหมายถึงพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ในแผ่นดินพะรเจ้าตากสิน ก่อนหน้านี้เคยสงสัยกันว่าชื่อ “วังนอก” ในบันทึกเก่านั้นหมายถึงที่ใดแน่ จึงเป็นไปได้ที่จะเรียกวังพระเจ้าลูกเธอฟากตะวันออกว่าวังนอก

ตรงมุมซ้ายในกำแพงเมืองมีรูปเรือนอยู่หลังหนึ่งพม่าเขียนไว้ว่าเป็น “บ้านหัวหน้าชาวจีน” ในที่นี้น่าจะหมายถึงบ้านพระยาราชาเศรษฐี ผู้ดูแลชาวจีนซึ่งอยู่กันอย่างหนาแน่นตามริมน้ำฟากตะวันออก เรือนแพที่เห็นเรียงเป็นแถวในแม่น้ำคือชุมชนชาวจีน

ต่อมารัชกาลที่ 1 ได้สถาปนาวังหลวงขึ้นใหม่ในบริเวณนี้ ชาวจีนจึงย้ายไปอยู่ด้านใต้คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง และกลายเป็นย่านไชน่าทาวน์มาจนปัจจุบัน

น่าแปลกที่ด้านเหนือกำแพงพระนครฟากตะวันออก ไม่ปรากฏบ้านของเจ้าพระยาสุรสีห์อยู่ในแผ่นที่ ทั้งที่ในสมัยกรุงธนบุรีท่านผู้นี้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ และมีความสำคัญไม่น้อยกว่าพระยาจักรี และไม่น่าเชื่อว่าพม่าจะไม่รู้จัก

ถัดคลองเมืองขึ้นไปทางทิศเหนือ ตลอดริมเจ้าพระยาฟากตะวันออกคือชุมชนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ มีชาวเขมร ลาว ญวน เป็นต้น เลยจากนั้นไปเป็นชุมชนมอญซึ่งอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่ทั้งสองฟากน้ำ

ข้ามกลับมาดูฝั่งตะวันตกอีกครั้ง คลองแรกที่อยู่เหนือคลองบางกอกน้อยขึ้นไปนั้นพม่าไม่บอกชื่อ แต่น่าจะหมายถึงคลองแม่น้ำอ้อมซึ่งอยู่เลยเมืองนนทบุรีขึ้นไปเล็กน้อย และตรงมุมที่มีรูปป้อมค่ายอยู่นั้นคือพื้นที่วัดเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน

จากนี้ไปในแผนที่จะรวบรัดตัดตอนอย่างมาก เพราะคลองถัดไปพม่าระบุชื่อคลองสีกุก และถ้าเป็นอันเดียวกับคลองสีกุกที่บางไทร เท่ากับว่ามุมซ้ายสุดของแผนที่คือ เมืองเก่าอยุธยา

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงการมองหาตัวตนของธนบุรีที่ปรากฏอยู่ในแผนที่โดยคร่าวๆ เท่านั้น หากต้องการข้อมูลแบบวิเคราะห์เจาะลึก และถูกต้องมากกว่านี้ โปรดติดตามจากหนังสือเรื่อง “กรุงธนบุรีในหลักฐานพม่า” ของ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ซึ่งจะออกจำหน่ายเร็วๆ นี้

ส่วนแผนที่ธนบุรีฉบับจริงซึ่งอยู่เมืองพม่านั้น คุณนิรมลบอกว่า “ป่านนี้ไม่รู้ท่านศาสตราจารย์ชาวย่างกุ้งแกยกให้ใครไปแล้วหรือยัง” ถ้าสูญหายไปก็นับเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะนี่คือแผนที่กรุงธนบุรีเพียงฉบับเดียว ที่เขียนขึ้นในช่วงที่สถานที่ต่างๆ ในพระนครยังอยู่ครบสมบูรณ์ ช่วยให้เห็นภาพธนบุรีได้ชัดเจนที่สุด และที่สำคัญแผนที่ฉบับนี้เขียนโดยพม่าไม่ใช่ฝรั่ง

สภาพทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรธนบุรีมีลักษณะเป็นอย่างไร

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!!