รามีบทบาทและหน้าที่เป็นอะไร

เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มยูคาริโอท มีบทบาทสำคัญยิ่งในระบบนิเวศในฐานะผู้ย่อยสลายอินทรีย์สาร ไม่มีคลอโรฟิลล์ สังเคราะห์แสงไม่ได้ จึงจัดเป็นพวกเฮเทอโรโทรฟ โดยส่วนใหญ่ดำรงชีวิตแบบผู้ย่อยสลาย บางชนิดเป็นพาราสิต และบางชนิดอาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เชื้อราส่วนใหญ่สืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ ซึ่งช่วยให้สามารถเพิ่มปริมาณได้มากในเวลาอันรวดเร็ว เชื้อราที่เป็นไมคอไรซาอาศัยอยู่กับพืชบริเวณรากของพืชที่เป็นเจ้าบ้าน ไมคอไรซาบางชนิดเข้าไปอยู่ภายในเนื้อเยื่อของส่วนราก ไมคอไรซาช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิดจากดิน จึงช่วยให้พืชเจ้าบ้านเติบโตได้เร็วและแข็งแรง เชื้อราที่อยู่ร่วมกับสาหร่ายในลักษณะของไลเคนส์จะเจริญเติบโตช้า ๆ ไลเคนส์ที่พบทั่วไปมีลักษณะเป็นแผ่นแบน หรือเป็นเส้นสายห้อยลงมาจากต้นไม้ในป่าที่มีความชื้นสูง ไลเคนส์หลายชนิดเจริญบนผิวของต้นไม้และบนก้อนหิน

เชื้อราแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ราชนิดเซลล์เดียว และราสายซึ่งเป็นราชนิดหลายเซลล์ ราชนิดเซลล์เดียว เรียกว่า yeast เมื่อพูดถึงยีสต์ก็มักจะเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไป ส่วนราสายนั้นมีชื่อเรียกว่า mold ซึ่งมีทั้งชนิดที่ก่อให้เกิดโรค และชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดโรค ความสามารถในการก่อโรคของเชื้อรา พบได้ทั้งในมนุษย์ โรคของสัตว์ และโรคของพืช การศึกษาเรื่องราวของเชื้อราจึงกระทำได้อย่างกว้างขวางมาก ทั้งนี้ขึ้นกับแง่มุมที่สนใจและแนวทางที่จะนำความรู้มาประยุกต์ใช้เนื่องจากเชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสังเคราะห์อาหารเองได้จำเป็นต้องอาศัยอาหารจากผู้อื่น เชื้อราบางชนิดอาศัยอินทรียสารจากซากพืช บางชนิดเจริญเติบโตและก่อโรคในสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่เชื้อราก่อโรคในมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นทั้งสองแบบ ทั้งก่อให้เกิดโรคและเจริญได้โดยอาศัยอินทรียสารจากธรรมชาติ ความต้องการอาหารของเชื้อราแต่ละชนิดแตกต่างกันไป น้ำตาลกลูโคสเป็นแหล่งของคาร์บอนที่เชื้อราชอบ สำหรับแหล่งของไนโตรเจนมักเป็นสารประกอบแอมโมเนีย ราบางจำพวกต้องการธาตุไนโตรเจนจากกรดอะมิโน เคอราติน และพบว่าราส่วนใหญ่ไม่ต้องการวิตามินในการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญของราทั่วไปคืออุณหภูมิห้องหรือประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส เชื้อราก่อโรคส่วนใหญ่มักจะเจริญได้ดีในช่วงอุณหภูมิห้องจนถึง 37 องศาเซลเซียส ราบางชนิดเจริญได้ดีในที่อุณหภูมิสูง 40-50 องศาเซลเซียส ที่สำคัญคือเชื้อราชนิด aspergillus

สำหรับยีสต์ (yeast) จัดเป็นราชนิดเซลล์เดียว มีรูปร่างได้หลายแบบ ส่วนใหญ่เป็นรูปกลม รี หรือเซลล์รูปยาวหัวท้ายตัดป้าน เจริญแพร่พันธุ์โดยการแตกหน่อเซลล์ลูกจะหลุดออกไปจากเซลล์แม่และเจริญมีการแตกหน่อต่อไปอีก ยีสต์บางชนิด เช่นcandida นอกจากจะพบเซลล์ที่แตกหน่อตามปกติแล้ว ในบางสภาวะยังพบการสร้างสายราเทียมหรือสายราแท้ได้ด้วย ในขณะที่ยีสต์บางชนิด เช่น cryptococcus ที่มักพบเป็นสาเหตุของเชื้อราขึ้นสมองในคนไข้โรคเอดส์จะสร้างสายราเฉพาะในช่วงชีวิตที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเท่านั้น ประการสุดท้ายพบว่ายีสต์บางชนิด เช่น histoplasma ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคสำคัญในคนไข้โรคเอดส์เช่นกัน จะมีลักษณะพิเศษ คือในธรรมชาติจะเป็นราสายแต่เมื่อเข้ามาก่อโรคในเซลล์มนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันราชนิดนี้จะเปลี่ยนรูปเจริญเป็นยีสต์ทันที นับเป็นเรื่องที่แปลกพอสมควรในกลุ่มราสาย (mould) ซึ่งจัดเป็นราชนิดหลายเซลล์ ประกอบด้วยสายราซึ่งมีการเจริญที่ปลายสายและมีการแตกแขนง สายรามีทั้งแบบไม่มีผนังกั้นและแบบมีผนังกั้น การสืบพันธุ์ของราแบ่งออกเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ แบบไม่อาศัยเพศ และแบบอาศัยเพศ วงจรชีวิตของเชื้อราสาย นอกจากการเจริญตามปกติของแนวทางการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศแล้ว ยังพบมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศอีกด้วยโดยทั่วไปมักพบการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศในราสายพันธุ์เดียวกัน สำหรับแบบที่เกิดจากสายราต่างสายพันธุ์มาผสมกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือสายราต่างเพศ พบว่ามีการพัฒนารูปร่างบางส่วนของสายราไปเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ ประกอบด้วยเซลล์สืบพันธุ์ เซลล์สืบพันธุ์ต่างเพศอาจมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ สปอร์ของเชื้อราจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยจำแนกเชื้อราในระดับไฟลัมและสปีชีย์

โครงสร้างของเชื้อรา

โครงสร้างของเชื้อราแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดและสภาพแวดล้อม มีทั้งโครงสร้างแบบเซลล์เดี่ยว โครงสร้างแบบเป็นเส้นสาย บางชนิดมีรูปร่างสองแบบ กล่าวคือแบบเซลล์เดี่ยวและแบบเส้นใย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น เชื้อราบางชนิด เช่น ราเมือก มีรูปร่างในระยะหาอาหารที่คล้ายอมีบาหรือพลาสโมเดียม กินอาหารโดยการโอบล้อมอาหารแล้วกินเข้าไปทั้งก้อน กลุ่มราขนมปังและอีกบางชนิดสร้างเส้นใยที่มีลักษณะคล้ายรากพืชเรียกว่าไรซอยด์ เกิดขึ้นในบริเวณที่เส้นใยสัมผัสกับอาหาร โดยส่วนของไรซอยด์จะงอกเข้าไปในวัตถุอาหาร เพื่อใช้ช่วยในการยึดเกาะและดูดซึมอาหาร เชื้อราที่เป็นพาราสิตบางชนิดสร้างโครงสร้างพิเศษ เพื่อดันเยื่อเมมเบรนของเซลล์เจ้าบ้านให้ยื่นเข้าไปในเซลล์เพื่อดูดซึมอาหารจากเซลล์ของเจ้าบ้าน ไรโซมอร์ฟประกอบด้วยเส้นใยจำนวนมาก ทำหน้าที่ช่วยลำเลียงอาหารและแร่ธาตุให้กับเส้นใยในดอกเห็ด เส้นใยของเชื้อราบางชนิด เมื่อพบกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิหรือความชื้นต่ำหรือสูงเกินไป จะเข้าสู่ระยะพักตัว โดยเส้นใยบริเวณนั้นจะแตกแขนงสั้น ๆ และสานกันจนกลายเป็นกลุ่มก้อนที่มีรูปร่างและลักษณะจำเพาะของแต่ละสปีชีส์ เรียกแต่ละก้อนว่า สเคลอโรเตียม

การสืบพันธุ์ของเชื้อรา

เชื้อรามีการสืบพันธุ์ทั้งแบบไม่อาศัยเพศและแบบอาศัยเพศ เชื้อราสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการสร้างสปอร์ ซึ่งมีหลายรูปแบบขึ้นกับชนิดของเชื้อและสภาพแวดล้อม สปอร์ที่สร้างขึ้นมาจากเส้นใยโดยตรง พบในเชื้อราชั้นสูงหลายชนิด โดยจะเกิดเยื่อกั้นส่วนปลายของเส้นใย ทำให้เส้นใยส่วนนั้นหลุดได้เป็นท่อนๆ คลาไมโดสปอร์พบในเชื้อราทั่วไปเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยจะเกิดขึ้นจากเซลล์ปกติในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของเส้นใย และจะมีผนังที่หนาจึงช่วยให้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี สปอร์ที่สร้างในโครงสร้างพิเศษและพบในฟังไจชั้นต่ำ เช่น ราดำขนมปัง เกิดภายในถุงสปอแรนเจียม เชื้อราชั้นต่ำบางไฟลัมและฟังไจเทียมสร้างสปอร์ที่มีหางโบก ซึ่งจะช่วยให้เคลื่อนที่ในน้ำได้ โคนิเดียมเป็นสปอร์ที่เกิดขึ้นแบบไม่อาศัยเพศในเชื้อราชั้นสูง โดยจะสร้างบนเส้นใยปกติ หรือบนเส้นใยพิเศษที่เรียกโคนิดิโอฟอร์ ราบางชนิดมีโครงสร้างพิเศษที่ทำหน้าที่สร้างสปอร์โดยเฉพาะ มีรูปร่างหลายแบบ และมีชื่อเฉพาะสำหรับรูปร่างแต่ละแบบ

นอกจากจะมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศแล้ว เชื้อรายังมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศด้วย การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเกิดขึ้นยากกว่าการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และต้องการปัจจัยจำเพาะสูง เช่น อาจต้องการสารอาหาร แร่ธาตุ หรือวิตามินบางอย่างเป็นพิเศษ นอกเหนือจากชนิดที่ต้องการในระยะเจริญของเส้นใย ความเป็นกรดด่างของอาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสม อาจต้องอยู่ในช่วงจำกัดกว่าเดิม เชื้อราบางชนิด แต่ละโคโลนีสามารถสร้างสปอร์แบบอาศัยเพศได้เอง แต่บางชนิดอาจต้องจับคู่กับเส้นใยหรือสปอร์ของโคโลนีอื่นก่อน จึงจะสามารถเกิดการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้ สปอร์ที่เกิดแบบอาศัยเพศของ pseudofungi พวก oomycetes เรียกว่าโอโอสปอร์ (oospore) สปอร์ที่เกิดแบบอาศัยเพศของ true fungi พวก zygomycetes เรียกว่าไซโกสปอร์ (zygospore) สปอร์ที่เกิดแบบอาศัยเพศของ true fungi พวก ascomycetes เรียกว่าแอสโคสปอร์ (ascospore) และสปอร์ที่เกิดแบบอาศัยเพศของ true fungi พวก basidiomycetes เรียกว่าเบสิดิโอสปอร์ (basidiospore)

ลักษณะของโรคติดเชื้อราชนิดต่างๆ

  1. เชื้อราที่ศีรษะ ส่วนใหญ่เชื้อราที่หนังศีรษะนี้ มักจะพบในเด็กเท่านั้น เป็นเด็กวัยเรียนหนังสือชั้นประถม ในผู้ใหญ่จะพบน้อยมาก ลักษณะเชื้อรานี้คล้ายกับลักษณะของฝีชันนะตุ เป็นหนองแฉะ ๆ บางครั้งเป็นสะเก็ดแห้งกรัง มีขอบเขตเป็นวงค่อนข้างชัดเจน มีอาการคันหรือเจ็บได้บ้าง ติดต่อลุกลามไปยังเด็กคนอื่นได้
  2. เชื้อราที่ลำตัว แขน ขา ส่วนใหญ่คนไทยจะเรียกว่า โรคกลาก หรือ ขี้กลาก ลักษณะผื่นเป็นวงกลมคล้ายวงแหวน ผื่นวงแหวนสีแดงมีขอบเขตชัดเจนมาก อาจมีขุยสะเก็ดลอกที่บริเวณขอบของวงแหวน เมื่อทิ้งไว้ผื่นวงแหวนสีแดงนี้ จะลุกลามขยายวงออกกว้างขึ้นได้ มีอาการคัน ถ้าเหงื่อออกจะยิ่งคันมากขึ้น
  3. เชื้อราที่ขาหนีบ เกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบโดยตรง จะมีผื่นสีแดงจัด ขอบเขตค่อนข้างชัดเจนมาก มีสะเก็ดหรือขุยลอกเล็ก มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศในเมืองไทยร้อนและมีความชื้นสูง เพราะฉะนั้นจึงพบปัญหาเชื้อราที่ขาหนีบมากเป็นพิเศษ
  4. เชื้อราที่เล็บ ลักษณะของเล็บที่เป็นเชื้อราคือ เล็บเปลี่ยนสี เช่น มีสีคล้ำ ดำขึ้น น้ำตาล เขียวคล้ำ เป็นต้น เล็บหนาขึ้น ใต้ฐานเล็บหนาขึ้น เล็บเปลี่ยนรูปร่างไป เช่น บิดเบี้ยวไม่ได้รูปทรงเดิม มีรอยหยักเป็นลูกคลื่น เล็บโค้งงอ เล็บกร่อน เล็บผุ พื้นผิวเล็บไม่เรียบ
  5. เชื้อราที่ใบหน้า ลักษณะจะมีผื่นสีแดง รูปวงกลม วงแหวนมีขอบเขตชัดเจน มีขุยสะเก็ดลอก ที่บริเวณใบหน้า อาการคันจะไม่มากนัก
  6. เชื้อราที่มือและเท้า ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่มือหรือเท้าข้างใดข้างหนึ่ง อาจมีลักษณะแบบแห้ง ๆ ผื่นแดงเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดแห้ง ขุยลอก บางรายอาจมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสแตกออก เป็นแบบแฉะ ๆ เชื้อรานี้มักจะเป็นตามซอกนิ้วมือ ซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้า ที่อับชื้น ทำให้เท้ามีกลิ่นเหม็นได้

เชื้อราในกลุ่มสูดัลเลสชีเรีย

ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักจุลชีววิทยาเชื้อราที่ชื่อ Negroni และ Fischer ในปี 1943 เชื้อราชนิดนี้มีเพียงสายพันธุ์เดียว คือ Pseudallescheria boydii (อ่านว่า สู-ดัล-เลส-ชี-เรีย-บอย-ดี-ไอ) เชื้อราสูดัลเลสชีเรีย จัดเป็นราสายที่พบได้ทั่วโลก เคยมีรายงานการศึกษาเพาะเชื้อราชนิดนี้ขึ้นจากดิน สิ่งปฎิกูลเน่าเสีย รวมทั้งพบในแหล่งน้ำสกปรก และในฟาร์มเลี้ยงสัตว์บางแห่ง ในทางการแพทย์จัดว่าเป็นเชื้อราที่ฉกฉวยโอกาสที่สำคัญสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้หลายรูปแบบ ลักษณะการก่อโรคของเชื้อนี้พบได้ไม่บ่อย ถือว่าเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราสูดัลเลสชีเรียพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยอยู่ในภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด, ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ยังพบว่าก่อให้เกิดการติดเชื้อราชนิดเป็นก้อนที่เรียกว่า mycetoma ซึ่งจะมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนเชื้อราสีขาว ไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงและรักษาได้ไม่ยาก การติดเชื้อเกือบทั้งหมดเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อที่อยู่ในดินหรือในน้ำภายหลังเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการติดเชื้อกระจายในอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายได้ จากรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อราชนิดนี้ในอวัยต่างๆ ดังนี้ ติดเชื้อที่ผิวหนัง 3 ราย โพรงไซนัสอักเสบหรือหนองในโพiงไซนัส 9 ราย เยื่อบุตาอักเสบ 3 ราย ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ 1 ราย ติดเชื้อภายในลูกตา 4 ราย เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ 6 ราย ฝีในสมอง 6 ราย ลิ้นหัวใจอักเสบ 2 ราย ปอดอักเสบและผีในปอด 5 ราย มีรายงานผู้ป่วยที่เชื้อกระจายไปทั่วกระแสเลือดทั่วโลก 3 ราย เสียชีวิตทั้งหมด การติดเชื้อในสมองพบในผู้ป่วยจมน้ำ 2 ราย ลักษณะทางกล้องจุลทรรศน์ เชื้อราชนิดนี้เติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส มองเห็นลักษณะเหมือนนุ่นหรือฝ้าย ระยะแรกเห็นเป็นสีขาว ต่อมาจะกลายเป็นสีเทาหรือเทาดำ พบรูปแบบอาศัยเพศที่ย้อมติดสีชัดเจน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 ถึง 250 ไมครอน สปอร์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 ไมครอน เมื่อนำมาตรวจโดยการย้อมเนื้อเยื่อที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อ จะพบลักษณะของ septate hyphae ในชื้นเนื้อทางจุลชีววิทยา ในการตรวจเชื้อราชนิดนี้ต้องแยกจากเชื้อราที่มีลักษณะใกล้เคียงกันสองชนิด คือ Scedosporium apiospermum และ Graphium eumorphum
6.ยาต้านเชื้อราที่ใช้รักษาได้ผลมี 8 ชนิด ได้แก่ miconazole, itraconazole, voriconazole, posaconazole, ravuconazole, UR-9825, caspofungin และ sordarins แต่ยาที่ได้ผลดีที่สุดจากรายงานการศึกษาวิจัยทั้งหมดที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้คือ voriconazole ที่มีชื่อทางการค้าว่า Vfend เวชภัณฑ์ลิขสิทธิ์ของบริษัทไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์