สรุปการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ.  2475


          ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ต่อมาเรียกตนเองว่า  "คณะราษฎร"  ได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
          คณะราษฎรเกิดจากการรวมกลุ่มของข้าราชการและนักเรียนไทย 7 คนในฝรั่งเศสและยุโรปที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม  ภายใต้การนำของนายปรีดี  พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)  เมื่อนักเรียนเหล่านี้กลับมาเมืองไทยก็ได้ขยายกลุ่มสมาชิกภายในประเทศและขอให้พันเอก  พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ  โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นแกนนำฝ่ายพลเรือน  หลวงพิบูลสงครามเป็นแกนนำฝ่ายทหารบก

1.  สาเหตุของการปฏิวัติ  เกิดจากปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจ  ในด้านปัจจัยทางการเมือง  การปฏิรูปบ้านเมืองและปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5  ทำให้เกิดชนชั้นกลางที่เรียนรู้รูปแบบการเมืองการปกครองของชาติตะวันตก  ทำให้เห็นว่าการปกครองโดยคน ๆ เดียวหรือสถาบันเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทั้งหมด  นอกจากนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากไม่พอใจที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ผูกขาดอำนาจการปกครองและการบริหารราชการ  กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการให้มีการปกครองระบอบรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ  บางกลุ่มต้องการให้มีการปกครองระบอบสาธารณรัฐ
          ในด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจ  ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการดุลข้าราชการออกจำนวนมากเพื่อตัดลดงบประมาณ  ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการและประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ  ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรใช้โจมตีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

          2.  เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  ในวันที่ 24 มิถุนายน  คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานคร  และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  เช่น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี  เป็นตัวประกัน
          ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม  พันเอก  พระยาพหลพลพยุหเสนา  หัวหน้าคุณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง  ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี  ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล  อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
          ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมารับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร  เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ  รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว
          ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475  คณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ฯ  และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม  พุทธศักราช 2475  ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย  เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า  "ชั่วคราว"  ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ  นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย  ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม  พระราชวังดุสิต

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก : 
ศิริพร ดาบเพชร  คมคาย มากบัว และประจักษ์ แป๊ะสกุล.ประวัติศาสตร์ไทย ม.4-ม.6. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีผลต่อวิถีชีวิตของคนไทยในด้านต่าง ๆ หลายประการ ดังนี้

    1) ด้านการเมืองการปกครอง 

        ในสมัย พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงระบอบใน พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย เกิดองค์กรการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่บางสมัยถูกปกครองโดยเผด็จการที่ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มีการควบคุมสิทธิทางการเมืองของประชาชน

    2) ด้านเศรษฐกิจ 
        ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยหลายอย่าง เช่น เกิดโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก คนในชนบทอพยพมาทำงานโรงงานมากขึ้น เกิดปัญหาความยากจนและช่องว่างทางเศรษฐกิจระกว่างภาคเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม
ในทศวรรษ 2530 รัฐบาลมุ่งพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากล้มละลาย คนตกงานจำนวนมาก รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย

    3) ด้านสังคมและวัฒนธรรม 
สามารถแบ่งได้เป็นช่วง ๆ ดังนี้
        

      3.1) สมัยการสร้างชาติ 
        ตรงกับสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยแรก (พ.ศ. 2481 - 2487) ได้สร้างกระแสชาตินิยมและความเป็นไทยด้วยการออกรัฐนิยมหลายฉบับ เช่น เปลี่ยนชื่อประเทศ ชื่อสัญชาติ ชื่อคนสยาม เป็นประเทศไทย สัญชาติไทย คนไทย มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์และยศข้าราชการพลเรือน ทั้งหญิงและชายต้องสวมรองเท้า สวมหมวก ห้ามรับประทานหมากพลู ต้องใช้คำสรรพนามแทนตนเองว่า "ฉัน" และเรียกคนที่พูดด้วยว่า "ท่าน" เป็นต้น แต่ภายหลังวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกไป

      3.2) สมัยการฟื้นฟูพระราชประเพณี
        ตรงกับสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501 - 2506) ในสมัยนี้มีการฟื้นฟูความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และฟื้นฟูพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย มาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา จัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างยิ่งใหญ่ จัดงานพระราชพิธีวันฉัตรมงคล และมีพิธีต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ พิธีที่ทำคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สนับสนุนการเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างจังหวัดในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ มีการสร้างพระตำหนักในภูมิภาคต่าง ๆ ส่งเสริมโครงการหลวง โครงการพระราชดำริต่าง ๆ ออกข่าวพระราชสำนักผ่านโทรทัศน์และวิทยุเป็นประจำทุกวัน จะเห็นว่าการฟื้นฟูพระราชพิธี การสร้างธรรมเนียมต่าง ๆ เกี่ยวกับราชสำนักในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

      3.3) สมัยการฟื้นฟูวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว 
        ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ปัจจุบันคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์กรนี้ได้เข้าไปส่งเสริม ฟื้นฟู และสร้างขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นในที่ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างได้รับการฟื้นฟูสืบทอด และประเพณีบางอย่างได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เช่น การจัดงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นต้น

      3.4) สมัยการพัฒนาทางเศรษฐกิจถึงปัจจุบัน 
        สมัยนี้ได้มีการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2504 ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การพัฒนาทางการศึกษา ทำให้อัตราผู้รู้หนังสือมากขึ้น จำนวนผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและจำนวนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น คนไทยนิยมไปเรียนต่อต่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกแพร่ขยายเข้ามาในสังคมไทยมากขึ้นในด้านครอบครัว ครอบครัวมีขนาดเล็ก โดยมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว สังคมแบบเครือญาติหรือสังคมชนบทของไทยเปลี่ยนไป วางแผนครอบครัวและความเจริญทางการแพทย์ ทำให้ประชากรวัยสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ขณะที่ประชากรวัยเด็กลดลงความสัมพันธ์แบบเครือญาติลดลง ผู้หญิงไทยออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น และเกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาเด็กเร่ร่อน ปัญหาสิ่งเสพติด ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น

วิวัฒนาการทางอำนาจของทหารไทย พ.ศ. 2475 – ปัจจุบัน

        วิวัฒนาการทางอำนาจของทหารหลัง พ.ศ. 2475 สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังต่อไปนี้

ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2475 – 2500
        กลุ่มนายทหารบกและทหารเรือที่ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้นเป็นนายทหารระดับกลางและพลเรือนอีกจำนวนหนึ่ง ภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันตรีหลวงพิบูลสงคราม และหลวงประดิษฐมนูธรรม และได้เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ซึ่งได้แถลงว่าต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบรัฐธรรมนูญ โดยเน้นเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของประชาชน และสิ่งที่คณะราษฎรประกาศนั้นหาได้เกิดขึ้นจริงครบดังที่ได้แถลงไว้ไม่
        การยึดอำนาจในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหาร เนื่องจากเมื่อเคยเข้ายึดอำนาจมาครั้งหนึ่งแล้วจะมายึดอำนาจอีกไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่บทบาททางการเมืองของทหารในช่วงแรกนี้มีลักษณะที่สนับสนุนระบบรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรสร้างขึ้นมาและเสริมสร้างอำนาจของทหารภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนด ดังนั้น ทหารของคณะราษฎรมีบทบาทต่อต้านกลุ่มอนุรักษ์นิยมดังเห็นได้จากการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2476 เพื่อยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกที่คณะราษฎรได้เชิญมาเป็นผู้นำรัฐบาล เพื่อเป็นตัวเชื่อมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ การยึดอำนาจครั้งนี้มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการแตกแยกในหมู่คณะราษฎร โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างพันเอกพระยาทรงสุรเดชได้หันไปร่วมมือกับกลุ่มของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรมเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจต่อสภาผู้แทนราษฎรได้มีการกล่าวหาว่าเค้าโครงนี้มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์การแตกแยกในคณะราษฎรรุนแรงมากขึ้นเพื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาซึ่งคัดค้านโครงการของหลวงประดิษฐมนูธรรมประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราพันตรีหลวงพิบูลสงครามและกลุ่มหนุ่มในคณะราษฎรเห็นว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีจุดมุ่งหมายทำลายคณะราษฎรจึงได้ชักจูงให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจจากรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรและใช้รัฐธรรมนูญทุกมาตราเป็นปกติ การยึดอำนาจนี้เป็นครั้งแรกภายในหนึ่งปีหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีใหม่โดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2532 :634)

    รัฐประหาร 21 มิถุนายน 2476 (สุขุม นวลสกุล :81)
        การรัฐประหารครั้งแรก สาเหตุที่สำคัญได้แก่ ประเด็นความขัดแย้งในการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ “สมุดปกเหลือง” ที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอต่อรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและบุคคลสำคัญในคณะราษฎร เช่น พันเอกพระยาทรงสุรเดช ได้คัดค้านไม่เห็นด้วยเพราะ “นโยบายแช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้นจะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ” ความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรง 
        ยิ่งขึ้นจนกระทั่งรัฐบาลพระยามโนฯ เห็นว่า “ความแตกต่างในสภาซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติกับคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดั่งนี้ เป็นที่น่าอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยกระทำให้ราชการชักช้า เกิดความแตกแยกกันในรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนแก่ใจประชาชนทั่วไป” จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา (ซึ่งเท่ากับทั้งฉบับเพราะไม่ได้ระบุว่ามาตราใดบ้าง) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 หลังจากนั้นรัฐบาลชุดใหม่ของพระยามโนฯ ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 และได้บีบบังคับให้นายปรีดี พนมยงค์เดินทางไปอยู่ต่างประเทศ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้นำทหารบก ทหารเรือ ยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งจากรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเอง รัฐประหารครั้งนี้นับว่าเป็นการริดรอนอำนาจกันเอง (purge) ภายในคณะราษฎร จักเห็นได้ว่ากลุ่มของพันเอกพระยาทรงสุรเดช อาทิเช่น พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลในเวลาต่อมา
        การต่อต้านคณะราษฎรยังคงมีต่อไปอีกโดย “กบฏบวรเดช” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชซึ่งเป็นอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รวบรวมทหารต่างจังหวัดเข้าโค่นล้มรัฐบาลโดยอ้างว่า คณะราษฎรไม่ได้ปฏิบัติตามที่ได้แถลงไว้ คือ ไม่ได้สถาปนาระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงขึ้น กองทัพของพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชพ่ายแพ้ต่อกองทัพของรัฐบาลภายใต้การนำของหลวงพิบูลสงครามในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 การพ่ายแพ้ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเพลี่ยงพล้ำของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและไม่สามารถท้าทายอำนาจของคณะราษฎรได้อีกเลย ทำให้คณะราษฎรมีฐานะมั่นคงขึ้นและบทบาททางการเมืองของพันโทหลวงพิบูลสงครามโดดเด่นขึ้นยากที่จะมีคนอื่นทาบได้
        บทบาทของทหารในช่วงนี้ คือ พยายามปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตัวเองสร้างขึ้นมา และผู้นำทหารได้พยายามขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญเปิดทางให้ ไม่ได้มีบทบาทยึดอำนาจแล้วยุบเลิกรัฐธรรมนูญและปกครองประเทศด้วยอำนาจเด็ดขาดอย่างผู้นำทหารในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
        พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งได้ขอลาออกใน พ.ศ. 2481 ในช่วงนี้ทหารได้มีบทบาททางการเมืองสูงสุด ลัทธิชาตินิยม ทหารนิยมได้ขยายตัว รวมทั้งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศสจนเป็นผลให้มีการรบพุ่งเกิดขึ้น ญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจนกระทั่งไทยได้ดินแดนบางส่วนคืน
        อย่างไรก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในสงคราม ฐานะของจอมพล ป.พิบูลสงครามเริ่มคลอนแคลนเช่นกัน และขบวนการเสรีไทยเข้มแข็งมากขึ้นจนกระทั่งมีอิทธิพลมากขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นผลให้รัฐบาลต้องลาออกเมื่อแพ้ร่างพระราชบัญญัตินครบาลเพชรบูรณ์และพุทธมณฑล กลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ได้สนับสนุนให้ นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

        กล่าวโดยสรุปความสำเร็จของทหารและจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในการครองอำนาจทางการเมืองในช่วงแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475-2489 เกิดจากปัจจัยหลายประการ

    ประการที่หนึ่ง

        ความพยายามของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ใช้กำลังเข้าโค่นล้มคณะราษฎรในกรณีของกบฏบวรเดชเปิดโอกาสให้ฝ่ายทหารมีอำนาจทางการเมืองสูงขึ้นเนื่องจากอ้างได้ว่า ฝ่ายที่ต่อต้านใช้กำลังจำ 
        ต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจทางทหารจึงจะต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านได้

    ประการที่สอง 

        ไม่มีพลังทางการเมืองใดที่เข้มแข็งที่ท้าทายอำนาจของทหารได้แม้แต่กลุ่มพลเรือนของคณะราษฎรก็ไม่ได้เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งมากนัก ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงอำนาจนั้น พลังทางสังคมมีแต่เพียงเจ้านายและข้าราชการเท่านั้น การยึดอำนาจของคณะราษฎรเป็นเรื่องของข้าราชการยึดอำนาจจากเจ้านายและข้าราชการด้วยกันเอง คณะราษฎรไม่ได้สร้างองค์การที่มีพื้นฐานจากมวลชน ไม่ได้พัฒนาตนเองให้เป็นพรรคการเมืองอย่างแท้จริงจึงต้องพึ่งทหารเป็นสำคัญ ผู้นำทหารจึงได้เปรียบกว่าผู้นำพลเรือน เนื่องจากทหารเป็นสถาบันที่มีเกียรติภูมิอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงไม่เป็นความยากลำบากเท่าใดนักที่ผู้นำทหารอย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม สามารถสร้างตนเองให้มีบารมีได้อย่างรวดเร็ว

    ประการที่สาม 

        ทหารสามารถแสวงหาอุดมการณ์และสัญลักษณ์ทางการเมืองมาทดแทนของเก่าได้ คือ ใช้อุดมการณ์ รัฐธรรมนูญ ชาตินิยม และทหารนิยมเพื่อสร้างความนิยมให้แก่คณะราษฎรและการปกครองของทหาร ในช่วงแรก รัฐธรรมนูญได้รับการเชิดชูแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ตามอุดมการณ์นี้ได้มีการเน้นเรื่องของความเท่าเทียมกัน สิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ต่อมาทางทหารได้นำเอาอุดมการณ์ชาตินิยมและทหารนิยมมาใช้ มีการสร้างเพลงและละครปลุกใจให้คนมีความรักชาติ หลวงวิจิตรวาทการเป็นบุคคลสำคัญในเรื่องนี้ การสร้างยุวชนทหาร การขยายกองทัพบกและกองทัพเรือในช่วงนี้สนับสนุนบทบาททางการเมืองของทหารและลัทธิทหารนิยมเป็นอย่างดี

        บทบาททางการเมืองของทหารไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึง พ.ศ. 2500 มีลักษณที่แตกต่างไปจากก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คือ มีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในระหว่างผู้นำทหารด้วยกันเองบ่อยครั้ง มีกลุ่มทหารรุ่นใหม่ขึ้นมาท้าทายอำนาจของทหารรุ่นเก่าซึ่งเป็นกลุ่มคณะราษฎรเดิม การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจเป็นเรื่องของกลุ่มผู้นำแคบๆ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย การต่อสู้เป็นเรื่องของผลประโยชน์อย่างชัดเจนไม่ใช่เป็นเรื่องของอุดมการณ์แต่อย่างใด รัฐประหารและกบฏเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงนี้

        กลุ่มทางการเมืองที่มีบทบาททางการเมืองกลุ่มแรก คือ กลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์เป็นกลุ่มมีความเข้มแข็งและมีความชอบธรรมมากกว่ากลุ่มอื่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงใหม่ๆ เนื่องจากนายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นมาตลอดและเป็นหนึ่งในผู้นำคณะราษฎร นายปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นผู้นำที่มีอิทธิพล บารมี และความชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียวในช่วงนี้ จึงเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลและการบริหารงานของรัฐบาลทุกชุดจนถึงการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ผู้ที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนใหญ่ คือ กลุ่มนักการเมืองพลเรือนที่เคยร่วมมือกันมาก่อนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น นายดิเรก ชัยนาม นายเตียง ศิริขันธ์ นายเดือน บุนนาคนายจำลอง ดาวเรือง นายทองเปลว ชลภูมิ นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายวิลาศ โอสถานนท์ นาประจวบ บุนนาคและนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นอกจากนี้ ยังมีนายทหารเรือในคณะราษฎรที่ออกมาเล่นการเมืองเต็มตัวรวมเป็นพวกด้วย คือ พลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และพลเรือตรีหลวงสังวรยุทธกิจ กลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามรวมตัวเป็นพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ มีพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นหัวหน้าและพรรคสหชีพมีนักการเมือง เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์และนายทองเปลว ชลภูมิเป็นตัวตั้งตัวตี แต่

        เป็นการรวมกลุ่มอย่างแคบๆ ในหมู่นักการเมืองเท่านั้นไม่ได้มีการขยายฐานออกไปในหมู่ประชาชนหรือกลุ่มประโยชน์อื่นๆ การรวมกลุ่มจึงไม่มีความเข็มแข็งแต่อย่างใด

        กรณีเหตุการณ์สวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489ซึ่งมีการกล่าวว่านายปรีดี พนมยงค์มีส่วนรู้เห็นด้วย ทำให้นายปรีดี พนมยงค์และพวกต้องหมดความชอบธรรมไปอย่างรวดเร็ว การรัฐประหารของคณะทหารเมื่อ พ.ศ. 2490 ล้มรัฐบาลของพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์สนับสนุนอยู่ เป็นการโค่นล้มบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองขอนายปรีดี พนมยงค์ มีผลให้กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ได้สลายตัวไป (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2532 :634-637)

    รัฐประหาร 2490
        นับเป็นความพยายามของทหารบกที่ต้องการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหมดอำนาจลงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และระบบรัฐสภาเฟื่องฟูถึงขีดสุด รัฐบาลเข้าออกตามวิถีทางรัฐสภา ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ได้วางหลักการแยกข้าราชการประจำกับการเมืองทำให้ทหารต้องถอดเครื่องแบบถึงจะเข้ามาแข่งขันทางการเมืองได้ รัฐประหารครั้งนี้เป็นการกระทำของฝ่ายทหารบกแต่ฝ่ายเดียวซึ่งผิดกับการปฏิวัติ 2575 อันเกิดจากการร่วมมือทั้งสามฝ่ายของพลเรือน ทหารบก ทหารเรือ จึงทำให้ฝ่ายทหารบกครองอำนาจตั้งแต่นั้นมา เมื่อรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารได้มอบหมายให้นายควง อภัยวงศ์หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 20 มกราคม 2491แต่ต่อมาคณะรัฐประหารกลับบีบบังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งลาออก 7 เมษายน 2491 และให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

    กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491
        เป็นการต่อต้านที่เกิดจากทหารบกด้วยกัน โดยนายทหารบกกลุ่มหนึ่งในกรมเสนาธิการทหารอาทิเช่น พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต พลตรีเนตร เขมะโยธิน พันเอกกิตติ ทัตตานนท์ พันโทโพยม จุฬานนท์ ฯลฯมีความไม่พอใจสภาพปั่นป่วนกองทัพบกในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งทางทหารเป็นไปเพื่อตอบแทนผู้เข้าร่วมรัฐประหาร นายทหารเหล่านี้จึงคบคิดกันโค่นล้มคณะรัฐประหาร แต่ยังไม่ทันลงมือก็ถูกจับเสียก่อน (สุขุม นวลสกุล :82-83)

        นายปรีดี พนมยงค์ พยายามกลับเข้ามามีอำนาจอีกโดยได้รับความร่วมมือจากทหารเรือบางส่วนทำการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 แต่ล้มเหลว การกบฏครั้งนี้รู้จักกันในนามของ กบฏวังหลวง(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2532 :637)

กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492
        ฝ่ายกบฏได้ยึดสถานีวิทยุกระจายเสียง ประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยให้นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และมีพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ, นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม,มหาดไทยตามลำดับ หลังจากเกิดกบฏ รัฐบาลของคณะรัฐประหารได้ทำการปราบปรามสำเร็จและต่อมาได้กวาดล้างนักการเมืองกลุ่มสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ เฉียบขาดชนิดถอนรากถอนโคน เป็นเหตุให้กลุ่มการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ไม่อาจมีบทบาททางการเมืองได้อีกต่อไป นักการเมืองที่เสียชีวิตได้แก่ นายทองเปลว 

        ชลภูมิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดร นายจำลอง ดาวเรือง ถูกยิงตายเมื่อ 3 มีนาคม2492 ขณะอยู่บนรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งกำลังนำผุ้ต้องหาทั้ง 4 ไปฝากขังที่สถานีตำรวจบางเขนเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีคนร้ายมาแย่งชิงผู้ต้องหา นายทวี ตเวทิกุล ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตายเมื่อ 1 เมษายน 2492ขณะที่กำลังหลบหนีที่จังหวัดสมุทรสงคราม นายเตียง ศิริขันธ์ นายชาญ บุนนาค และผู้ติดตามอีก 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลวงไปฆ่าเมื่อ 12 ธันวาคม 2495 แล้วนำไปเผาทำลายหลักฐานที่ทำการจังหวัดกาญจนบุรี

    กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494
        นับแต่คณะรัฐประหารได้บังคับให้รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีลาออกในปี 2491 หลังจากได้รับเลือกตั้งเพียงสามเดือน คณะรัฐประหารซึ่งเป็นกลุ่มของทหารบกมีทีท่าว่าจะเข้าผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว สร้างความไม่พอใจในหมู่ทหารเรือที่รู้สึกว่าถูกลดอำนาจการเมืองที่เคยมีมาแต่เดิมนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง กบฏแมนฮัตตันจึงเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของฝ่ายทหารเรือในการคานอำนาจทหารบก กลุ่มทหารเรือนำโดย พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตรองผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน และทหารประจำการ นาวาเอกอานนท์ปุณฑริกาภา นาวาตรี มนัส จารุภา นาวาตรี ประกาย พุทชารี นาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ กลุ่มปฏิบัติการได้ลงมือจี้จับตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไปได้ในขณะที่ไปเป็นประธานรับมอบเรือขุดแมนฮัตตันที่ท่าราชวรดิษฐ์ ฝ่ายรัฐบาลได้กำลังประสานงานทั้งตำรวจ กองทัพบก และกองทัพอากาศ สามารถปราบปรามฝ่ายกบฏอย่างราบคาบ ผลของการกบฏครั้งนี้นับได้ว่าทำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในกองทัพเรือนายทหารเรือถูกสั่งปลดประจำการประมาณ 70 นาย โดยเฉพาะในเขตพระนครธนบุรีอันเป็นศูนย์กลางของการบริหารกองทัพเรือไม่มีอิทธิพลอยู่เลย รัฐบาลเข้าควบคุมกองทัพเรือไว้ในอำนาจอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องหวาดระแวงกองทัพเรืออีกต่อไป ฝ่ายทหารเรือจึงหมดอำนาจทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา

    รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494
        แม้ว่าคณะรัฐประหารสามารถปราบปรามฝ่ายต่อต้านได้ราบคาบถึงสามครั้ง แต่ต้องพบกับปัญหาการบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2492 ซึ่งยึดหลักการแยกข้าราชการประจำกับการเมืองทางด้านรัฐสภาเนื่องจากรัฐบาลของคณะรัฐประหารไม่มีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง ปัญหาความยุ่งยากในการควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งตั้งแต่สมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่นับแต่การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ การตั้งกระทู้ถามและการเปิดอภิปรายทั่วไป โจมตีรัฐบาลว่าทำการปราบปรามกบฏแมนฮัตตันรุนแรงเกินกว่าเหตุ ด้วยเหตุดังกล่าวคณะรัฐประหารจึงทำรัฐประหารตัวเองหรือรัฐประหารเงียบอีกครั้งหนึ่งในปี 2494 เพียงแต่ออกแถลงการณ์ทางวิทยุเท่านั้น โดยได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 ซึ่งคณะราษฎรเคยใช้ในการผูกขาดอำนาจมาแล้วมาใช้แทนที่ คณะรัฐประหารจึงสามารถกุมอำนาจปกครองประเทศโดยสิ้นเชิงนับแต่นั้นมา

        สมัยของคณะรัฐประหาร 2490 มาสิ้นสุดลงโดยการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ16 กันยายน 2500 (สุขุม นวลสกุล :83-84)

    ส่วนกลุ่มทหารที่ทำรัฐประหารสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มกว้างๆ

        - กลุ่มที่หนึ่ง คือ กลุ่มของจอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นผู้นำคณะรัฐประหารหลังจากลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2487 กลุ่มของจอมพลป.พิบูลสงคราม ส่วนใหญ่ คือ นายทหารที่เคยมีบทบาททางการเมืองมาแล้วตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองหรือเป็นผู้ใกล้ชิดกับจอมพล ป.พิบูลสงครามมาก่อน เช่น พลเอกมังกร พรหมโยธี พลตรีประยูร ภมรมนตรีพลเอกเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล และจอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศฤทธาคนี พลอากาศโทมุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฏ์ นอกจากนี้ ยังมีนายทหารรุ่นหลังที่ร่วมในการรัฐประหาร นักการเมืองพลเรือนบางคนร่วมด้วย เช่น พลโทบัญญัติ เทพหัสดินฯ พลเรือโทหลวงสุนาวินวิวัฒน์นายวรการบัญชา นายเลียง ไชยกาล เป็นต้น
        - กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัณ กลุ่มนี้ได้รวบรวมนายทหารจำนวนหนึ่งที่ร่วมทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 นายทหารเหล่านี้ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาก่อน กลุ่มนี้มีที่สำคัญ คือ พันตรีประมาณ อดิเรกสาร (ยศขณะนั้น) พันตรีศิริ ศิริโยธิน (ยศขณะนั้น) ร้อยเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) และพันเอกเผ่า ศรียานนท์ (ยศขณะนั้น) กลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัณนี้มีความเป็นญาติเกี่ยวดองกันเป็นส่วนใหญ่ และหลังจากรัฐประหารแล้วจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกจนปลดเกษียณใน พ.ศ. 2497 ดังนั้น จอมพลผิน ชุณหะวัณ น่าจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากและมีนายทหารบกรวมอยู่ในกลุ่มมาก แต่ในความเป็นจริง จอมพลผิน ชุณหะวัณ ถูกอิทธิพลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บดบังในระยะหลังกลุ่มของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลผิน ชุณหะวัณ ร่วมมือกันสนับสนุนจอมพล ป.พิบูลสงครามในการทำรัฐประการตัวเองเมื่อปลาย พ.ศ. 2494 เพื่อล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 หลังจาก พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา จอมพล ป.พิบูลสงครามในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและยังได้รับการยอมรับจากกลุ่มรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ทุกกลุ่มให้เป็นผู้นำจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวให้กับสมาชิกกลุ่มทั้งของตน กลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัณ และกลุ่มของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเป็นครั้งแรกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นลงที่นายทหารประจำการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังจากที่อยู่หลังฉากมาตลอดนายทหารที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงในกองทัพจึงได้รับจัดสรรให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ
        - กลุ่มทหารกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุดเนื่องจากได้นายทหารหนุ่มๆ ที่คุมกำลังเป็นพวกไว้เป็นจำนวนมากและเป็นนายทหารที่ไม่เคยยุ่งกับการเมืองมาก่อน เป็นทหารอาชีพโดยแท้ ทหารหนุ่มๆ ที่รวมอยู่ในกลุ่มนี้มี เช่น พันตรีถนอม กิตติขจร ร้อยเอกประภาส จารุเสถียร ร้อยเอกกฤษณ์ สีวะรา ร้อยเอกประจวบ สุนทรางกูร ร้อยเอกประเสริฐ รุจิวงศ์ นายทหารกลุ่มนี้ได้ไต่เต้าขึ้นดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพบกอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ได้นำเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 มาใช้ใหม่เมื่อ พ.ศ. 2495 นายทหารกลุ่มนี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง
        ส่วนกลุ่มทหารอื่นๆ นั้นไม่ได้มีบทบาทมากนัก ผู้ร่วมรัฐประหารที่สำคัญ เช่น พลโทสวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ พลโทหลวงกาจสงครามมีบทบาททางการเมืองอยู่ได้ไม่นานและปลีกตัวออกจากวงการเมืองในที่สุดสำหรับกลุ่มทหารเรือภายใต้การนำของพลเรือเอกสินธุ กมลนาวินผู้บัญชาการทหารเรือ ได้วางตัว 
        เป็นกลางมาตลอดเวลาและทุ่มเทแต่การเสริมสร้างกำลังทางเรือจนเป็นที่ยอมรับว่า กำลังทหารเรือได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกองกำลังนาวิกโยธินและกองบินทหารเรือจนสามารถเป็นพลังที่แม้แต่กองทัพยังขยาดแต่เมื่อมีนายทหารเรือจำนวนหนึ่งจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะที่ทำพิธีรับมอบเรือขุดสันดอน แมนฮัดตันทีท่าราชวรดิษฐ์ นายทหารเรือหลายคนรวมทั้งพลเรือเอกสินธุ กมลนาวินถูกปลด และได้มีการยุบเลิกหน่วยทหารเรือหลายหน่วย รวมทั้งกองบินทหารเรือและนาวิกโยธินจนกระทั่งกองทัพเรือไม่มีความเข้มแข็งอีกต่อไป จะได้เห็นว่า การเมืองในช่วงนี้ได้ผลิตกลุ่มผู้นำทหารชุดใหม่ขึ้นมาซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝนแต่เพียงในประเทศเท่านั้น ทัศนคติและแนวความคิดค่อนข้างแคบไม่ว่าจะเป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร หรือจอมพลประภาส จารุเสถียร ไม่มีความผูกพันกับระบบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ทรัพยากรทางการเมืองของกลุ่มนี้ คือ กำลังทหารซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการกำหนดอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองในขณะนั้น พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นยังห่างไกลกองทัพในแง่ของความเข้มแข็งจึงยังไม่สามารถต้านทางฝ่ายทหารได้(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2532 :637-639)

ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2500 – 2519    
        

        การกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการทำรัฐประหารในปี 2594นั้น แม้ว่าจะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร จอมพล ป. มิได้อยู่ฐานะ “ท่านผู้นำ” มีอำนาจสั่งการเด็ดขาดเหมือนเมื่อก่อน กล่าวคือในสมัยแรกนั้นจอมพล ป. ขึ้นสู่อำนาจด้วยความสามารถทางทหารเริ่มแต่การเป็นผู้บังคับการกรมผสมปราบกบฎบวรเดช เป็นต้น และเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้คุมอำนาจไว้อย่างมั่นคง โดยเป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จอมพล ป. เป็นทหารนอกประจำการไม่มีตำแหน่งใดๆ เลย จะมีก็แต่ความนิยมนับถือเป็นการส่วนตัวในฐานะที่เป็น “สัญลักษณ์” (symblo) ในหมู่ทหารเท่านั้น หากพิจารณาโครงสร้างของคณะรัฐประหารตามลักษณะการเข้ามารวมตัวของกลุ่มต่างๆ ก็จะมองเห็นสถานภาพของจอมพล ป. ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

    1) กลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แก่ บุคคลที่เคยร่วมงานกับจอมพล ป. มาในอดีต อาทิเช่น พลตรีปลด ปลดปรปักษ์พิบูลภานุวัตน์ พลตรีเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ พลโทมังกร พรหมโยธี พันเอกน้อม เกตุนุติ

    2) กลุ่มนายทหารนอกประจำการ แต่ได้กลับเข้ารับราชการภายหลังรัฐประหาร ได้แก่ พลโทผิน ชุณหะวัณ พันเอกกาจ กาจสงคราม พันเอกก้าน จำนงภูมิเวท พันเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นต้น

    3) กลุ่มนายทหารประจำการซึ่งเป็นกำลังหลักในการทำรัฐประหาร ได้แก่ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พันโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พันโทถนอม กิตติขจร พันโทประภาส จารุเสถียร พันโทละม้าย อุทยานานนท์ เป็นต้น

        การก้าวขึ้นสู่อำนาจครั้งที่สองของจอมพล ป. จึงอยู่ในลักษณะมาด้วยมือเปล่า ไม่มีอำนาจในตัวเองที่จะต่อรองตามความต้องการ นอกจากนี้การวางตัวของจอมพล ป. ก็อยู่ในฐานะลำบากด้วยการระมัดระวังมิให้กลุ่มต่างๆ ในคณะรัฐประหารเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ต้องคอยเป็นตัวกลางรักษาดุลย์อำนาจมิ
        ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งภายในคณะรัฐประหารมีอำนาจมากเกินไป ดังเช่น การแต่งตั้งให้พันเอกเผ่า ศรียานนท์ นายทหารคนสนิทไปคุมกำลังตำรวจโดยเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ มียศเป็นพลตำรวจตรี ในขณะเดียวกันก็มอบให้พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 คุมกำลังทหารในพระนคร และเลื่อนยศเป็นพลตรี เช่นเดียวกัน เมื่อโครงสร้างภายในคณะรัฐประหารแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ เช่นนี้ จึงทำให้ไม่มีใครสามารถรวบรวมอำนาจแต่ผู้เดียว อำนาจได้กระจายออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คุมกำลังฝ่ายต่างๆ ทั้งทหารและตำรวจ ประกอบกับคณะรัฐประหารขาดจุดมุ่งหมายที่แน่นอนสำหรับเป็นแนวทางปกครองประเทศ (อย่างน้อยคณะราษฎรก็มีหลักหกประการ) ก็ยิ่งทำให้การดำเนินงานของคณะรัฐประหารเอนเอียงไปมาตามความต้องการของบุคคลต่างๆ ที่มีอำนาจในคณะรัฐประหารอยู่เนืองๆ ฐานะอันไม่มั่นคงของจอมพล ป. ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดเมื่อเกิดกบฏ แมนฮัตตัน แม้พวกกบฏได้จับจอมพล ป. ไปเป็นตัวประกัน โดยหวังว่าจะทำให้รัฐบาลยอมจำนนได้ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีนายวรการบัญชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมเปิดเจรจากับฝ่ายกบฏ กลับยื่นคำขาดให้ยอมแพ้และในที่สุดได้ตัดสินใจใช้เครี่องบินทิ้งระเบิดเรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งจอมพล ป. ถูกกับตัวอยู่ คณะรัฐประหารยอมสละจอมพล ป. ได้เพื่อความอยู่รอดของคณะรัฐประหาร

        รัฐประหาร 2500 จึงเป็นการแย่งชิงอำนาจกันเองภายในคณะรัฐประหาร ประจวบเหมาะกับได้มีการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้โอกาสยึดอำนาจจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

20 ตุลาคม 2501
        เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองได้โดยการรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน2500 แล้วก็มอบหมายให้นายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดการให้มีการเลือกตั้งเมื่อ 15ธันวาคม 2500 ภายหลังการเลือกตั้ง พลโทถนอม กิตติขจร ได้ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สนับสนุนให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามความไม่สันทัดในเวทีการเมืองแบบสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่สามารถบริหารราชการไปด้วยความราบรื่นตามที่กลุ่มของตนปรารถนา ในที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในนาม “คณะปฏิวัติ” ได้ทำการคล้ายกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาด้วยการปฏิวัติเมื่อ 20 ตุลาคม 2501 ล้มรัฐธรรมนูญสภาผู้แทนราษฎรนำการปกครองแบบให้ความเป็นเอกแก่ฝ่ายบริหาร (Strong executive) ด้วยการประกาศใช้ธรรมนูญฯ 2502 มีสภามาจากการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้ง
        ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่8 ธันวาคม 2506 พลเอกถนอม กิตติขจร เป็นทายาทรับช่วงการปกครองเป็นนายกรัฐมนตรี (สุขุม นวลสกุล :85-87)
        การยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปิดฉากใหม่ของการปกครองของทหารในระบบการเมืองไทยการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 – 2506 และของจอมพลถนอม กิตติขจรที่สอบทอดอำนาจต่อมาถึง พ.ศ. 2512 มีลักษณะหลายประการที่แตกต่างออกไปจากรัฐบาลทหารในอดีตหลายประการ

    ประการที่หนึ่ง 

        จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้สร้างระบบเผด็จการทหารที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปกครองประเทศในฐานะเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติด้วยอำนาจเด็ดขาดตั้งแต่ พ.ศ. 2501 – 2502 เป็นการปกครองที่ใช้อำนาจปฏิวัติอย่างเดียวโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ปกครองโดยมีธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ยังมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 17 ที่จะดำเนินการอย่างใดก็ได้เพื่อแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ


    ประการที่สอง 

        ได้ยกเลิกระบบรัฐสภาที่ใช้มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและใช้ระบบการแบ่งแยกอำนาจในรูปแบบกึ่งรัฐสภาแทน คือ ฝ่ายบริหารเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ฝ่ายบริหารเข้าบริหารประเทศโดยไม่ต้องขอความไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร

    ประการที่สาม

        การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนถูกยกเลิกโดยสิ้นเชิงไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคการเมือง สภาฝ่ายนิติบัญญัติเป็นสภาแต่งตั้งทั้งหมดและใช้ชื่อว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ทั้งร่างรัฐธรรมนูญและพิจารณาร่างกฎหมาย สมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ทหารและพลเรือนปัจจัยที่ส่งเสริมการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีอยู่หลายประการ

    ประการที่หนึ่ง

        บุคลิกภาพของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เองที่มีภาวะผู้นำสูง มีความเด็ดขาดเป็นที่ยำเกรงแก่คนทั่วไป บุคคลิกภาพของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เช่นนี้ ยากที่จะหาผู้ใดเปรียบได้

    ประการที่สอง

        จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สามารถคุมกองทัพได้อย่างเด็ดขาดโดยที่ตนเองได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด นอกเหนือจากเป็นบัญชาการทหารบก ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีครั้งสุดท้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กำหนดให้มีตำแหน่งนี้ขึ้นอีกเป็นการถาวรและให้ตั้งกอบบัญชาการทหารสูงสุดขึ้น ทำให้กอบทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศขึ้นกับกองบัญชาการทหารสูงสุดนี้แทนที่จะขึ้นโดยตรงต่อรัฐมนตรีกลาโหมอย่างที่เคยเป็นมาก่อน

    ประการที่สาม

        จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สร้างความชอบธรรมต่อระบบของตนในสองลักษณะ คือส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้ฟื้นฟูกิจกรรมหลายประการที่ช่วยเสริมสร้างพระบารมี เช่น การเดินสวนสนามปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค อีกลักษณะหนึ่งของความชอบธรรมคือ การแก้ปัญหาของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดโครงสร้างของระบบราชการเสียใหม่ เพื่อเน้นงานด้านพัฒนา เช่น จัดตั้งกระทรวงพัฒนาแห่งชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นครั้งแรก จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมพัฒนาชุมชน และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถือว่า เรื่องของการปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเรื่องต้องมาก่อนการพัฒนาทางการเมืองหรือการพัฒนาประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังได้แก้ไขปัญหา เช่น การแก้ปัญหากลุ่มอันธพาลการลอบวางเพลิง และการปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีทั้งการจำขังโดยไม่มีการไต่สวน และการประหารชีวิตผู้ที่กระทำผิดดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกการสูบฝิ่น การมีโสเภณีทั้งหมดที่เป็นความพยายามสร้างความชอบธรรมในอีกรูปหนึ่งทดแทนความชอบธรรมที่มาจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

        หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม ในระยะนี้เริ่มมีปัญหาเพราะเงื่อนไขทางการเมืองหลายประการได้เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญคือ บุคลิกภาพของจอมพลถนอม กิตติขจรแตกต่างไปจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจรเป็นคนนุ่มนวล ท่าทางอ่อนโยน ไม่มีลักษณะเด็ดขาดห้าวหาญแบบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงไม่เหมาะกับการปกครองเผด็จการ ประการต่อมา อำนาจทางการเมืองและการทหารกระจายไปอยู่กับผู้นำต่างๆ ไม่ได้อยู่รวมกันในบุคคลคนเดียวอย่างในสมัยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ประการสุดท้าย ความรู้สึกในหมู่ประชาชนชิงชังระบบเผด็จการทหารมีมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อการคดโกงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถูกเปิดเผย หลังจากได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับถาวรการเลือกตั้ง และเสรีภาพทางการเมือง จนในที่สุดรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจรได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรใน พ.ศ. 2511 การเลือกตั้งได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งโดยการสนับสนุนจากรัฐสภาและทหาร(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2532 :640-641)

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 (สุขุม นวลสกุล :87)
        การปกครองประเทศไทย “คณะปฏิวัติ” มานานนับสิบปี ทำให้ฝ่ายทหารเคยชินกับการบริหารงานโดยปราศจากการคัดค้าน ฉะนั้นถึงแม้ว่า “คณะปฏิวัติ” จะได้หาทางสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศโดยการจัดให้มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 จอมพลถนอมกิตติขจร นายกรัฐมนตรีก็ได้ตัดสินใจทำรัฐประหารตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 คือเพียงแต่ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ทางวิทยุ โทรทัศน์ เท่านั้น

        การเมืองในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของบทบาททางการเมืองของทหาร ทางทหารจำต้องปรับบทบาททางการเมืองเสียใหม่ ลักษณะสำคัญของระบบการเมืองในช่วงนี้ คือ กลุ่มพลังนอกระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพลังนักศึกษามีความเข้มแข็งมากขึ้นจนสามารถรวบรวมมวลชนล้มรัฐบาลทหารได้

        ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2511-2516 มีลักษณะที่น่าสนใจ คือ ผู้นำทหารโดยพื้นฐานแล้วยังไม่มีความเต็มใจในการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับประชาชนเท่าใดนัก แต่ยังต้องการกลับไปมีอำนาจเด็ดขาดอย่างที่เคยมีมาก่อน ในช่วง พ.ศ. 2512-2514 ที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นการผ่านปรนเพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดทางการเมืองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่ออำนาจได้กระจายออกไปอยู่ในหมู่ผู้นำทหารหลายคน การจะดึงอำนาจกลับมาเป็นระบอบเผด็จการอีกเป็นของไม่ง่ายนักจึงต้องยอมอยู่ในระบบกึ่งรัฐสภาไปพลางก่อน

        ผู้นำทหารที่มีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจในขณะนั้น คือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียรพลเอกกฤษณ์ สีวะรา พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ และพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ทุกคนเป็นลูกน้องของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มาก่อน แต่ละคนมีกลุ่มนายทหาร พ่อค้า และนักการเมืองจำนวนหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มเหล่านี้มีอยู่ตลอดเวลา

        การรวมกลุ่มของผู้นำทหารเป็นไปอย่างแคบๆ และมีความพยายามที่จะให้อำนาจสืบทอดในหมู่ของญาติพี่น้องและพรรคพวกของตนเท่านั้น กลุ่มของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร เชื่อมโยงกันโดยการแต่งงานระหว่างพันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร กับบุตรสาวของจอมพลประภาส จารุเสถียร พันเอกณรงค์ กิตติขจรได้แสดงบทบาททางการเมืองอย่างเข็มแข็งจนเป็นที่เข้าใจว่า จะเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองจากบิดาของตน จึงได้มีการรวมกลุ่มของตนมากขึ้นและมีนักธุรกิจเป็นจำนวนไม่น้อยเข้ามาร่วม ดังนั้น บทบาททางการเมืองและวิธีสร้างอำนาจทางการเมืองของผู้นำทหารไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนหน้านี้เลย คือ ยังคงเห็นว่าการคุมกำลังทหารกับการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอำนาจทางการเมืองส่วนการสร้างความเชื่อมโยงกับประชาชนนั้นไม่มีการคำนึงถึงเลยและคิดว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น ความเชื่อเช่นนี้แสดงว่า ทหารปรับตัวช้ากว่าเงื่อนไขและสภาพทางการเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่า ลักษณะเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้น เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจรยึดอำนาจตัวเองและประกาศจัดตั้งคณะปฏิวัติขึ้นปกครองประเทศ

        ความพยายามที่จะผูกขาดอำนาจเห็นได้จากการต่ออายุราชการทั้งจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ใน พ.ศ. 2514 ซึ่งยังความไม่พอใจในหมู่นิสิตนักศึกษาและบรรดานายทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งทำให้การเป็นผู้บัญชาการทหารบกต้องช้าออกไป สภาพเช่นนี้ทำให้ขบวนการนักศึกษาซึ่งคอยสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองเติบโตได้อย่างรวดเร็วและสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนได้สำเร็จ

        พ.ศ. 2516-2519 บทบาทของทหาร ตั้งแต่เหตุการณ์ “14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 -เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519” ได้ให้บทเรียนหลายประการแก่ฝ่ายทหารที่สำคัญ คือนับเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนสามารถล้มรัฐบาลทหารได้ นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมากของนักศึกษาและประชาชน

        การตื่นตัวของบรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชนเช่นนี้เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวทางด้านการศึกษา

        เหตุการณ์นี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ระบบการปกครองที่อำนาจผูกขาดอยู่ในคนกลุ่มเดียวกันเพียงไม่กี่คนไม่สามารถเผชิญกับการท้าทายของสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีกลุ่มพลังรวมตัวเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น มีกลุ่มพลังรวมตัวเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น สังคมไทยในระยะนั้นเริ่มมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากมีการรวมกลุ่มทางสังคมและเศรษฐกิจ กลุ่มเหล่านี้มีความตื่นตัวทางการเมืองและต้องการมีบทบาททางการเมืองสภาพเช่นนี้มีผลให้การต่อต้านระบอบเผด็จการขยายตัวได้รวดเร็ว

        บรรดาปัญญาชนขาดความเชื่อมั่นในกองทัพ เห็นว่าผู้นำทหารทุกคนไม่แตกต่างไปจากผู้นำทั้งสามนี้เท่าใดนักคือ ปกครองประเทศโดยไม่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและแสวงหาอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ กองทัพบกจึงถูกประชาชนและผู้นำนิสิต นักศึกษาโจมตีอย่างรุนแรงไม่ว่าเป็นเรื่องบทบาททางการเมืองในอดีต และการปราบปรามการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีการแบ่งแยกให้ชัดเจนว่า ผู้ใดเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้ใดเป็นชาวบ้านธรรมดาการปราบปรามโดยไม่เลือกหน้าเช่นนี้มีผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เดือดร้อนไปด้วย

        ดังนั้น กองทัพจำต้องปรับปรุงบทบาททางการเมืองใหม่และต้องสร้างภาพพจน์ใหม่ ทหารได้ลดบทบาททางการเมืองโดยตรงลง กลายเป็นกลุ่มกดดัน ยอมรับในบทบาทในด้านการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น

ทหารเองต้องการเน้นเรื่องพัฒนาด้วยเพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่
        เมื่อรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการมาตั้งแต่เหตุการณ์ “14 ตุลาคมพ.ศ. 2516” ยุติลงเนื่องจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ใน พ.ศ. 2517 และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมได้เพียง 1 ปี ต้องยุบสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมแต่อยู่ในอำนาจเพียง 4 เดือนเท่านั้นและก็ถูกล้มไปเมื่อคณะทหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
        เหตุการณ์ในช่วง 2 ปีก่อนการยึดอำนาจเต็มไปด้วยความวุ่นวายและขัดแย้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย มีการประท้วงนัดหยุดงาน มีการสังหารผู้เกี่ยวข้องทางการเมือง สภาพความวุ่นวายเช่นนี้แสดงถึงความแตกต่างในวงการทหารด้วย ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งขบวนการฝ่ายขวาซึ่งเป็นที่รู้กันว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นผู้ให้การสนับสนุน เช่น กลุ่มนวพลและกลุ่มกระทิงแดง ก่อกวนและต่อต้านขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรง การกระทำนี้เป็นเรื่องของทหารกลุ่มหนึ่งและทหารกลุ่มอื่นอาจไม่มีส่วนด้วยหรือการจัดรายการวิทยุทางสถานีวิทยุยานเกราะโจมตีขบวนการนักศึกษา ปลุกระดมให้ต่อต้านศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นการกระทำของทหารอีกกลุ่มหนึ่ง ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้นมีส่วนทำให้ฝ่ายทหารมีโอกาสดีขึ้นในการยึดอำนาจ
        โดยคณะทหารมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเกษียณอายุได้ไม่ถึง 1อาทิตย์และเสนาธิการทหาร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นผู้นำเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2532 :642-645)

ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2519 – ปัจจุบัน

        เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แสดงให้เห็นว่า ทหารได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่สำคัญ ผู้ทำการทำรัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่ทหารบก แสดงถึงกองทัพบกขาดผู้นำและมีการแตกแยกภายใน สภาพนี้เป็นผลของการที่กองทัพบกตกอยู่ภายใต้ผู้นำคนเดียว คือ จอมพลประภาส จารุเสถียรนานเกินไปตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2516 ไม่มีการสร้างผู้นำขึ้นมาทดแทน ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังทำให้กองทัพบกต้องแสวงหาทางใหม่เพื่อกำหนดบทบาทของตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และยังต้องคำนึงถึงการกอบกู้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิที่สูญเสียไป ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบให้เกิดการรวมกลุ่มของบรรดานายทหารเพื่อหาแสงทางการแก้ปัญหาข้างต้น

    กลุ่มที่หนึ่ง ที่จะกล่าวถึง คือ กลุ่มยังเติร์กหรือกลุ่มทหารหนุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจและบทบาทอย่างสำคัญก่อนหน้า พ.ศ. 2522 การรวมกลุ่มของนายทหารเหล่านี้เกิดขึ้นจากความไม่พอใจในการแบ่งพรรคพวกและทำประโยชน์ส่วนตัวในกองทัพ ทำให้กองทัพเสียชื่อเสียง และหย่อนสมรรถภาพเป็นกองทัพส่วนตัว เหตุการณ์วุ่นวายในช่วง พ.ศ. 2516-2519 ผลักดันให้นายทหารระดับกลางที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันรวมตัวกันอย่างจริงจัง ผู้นำสำคัญในกลุ่มนี้ คือ พันเอกมนูญ รูปขจร พันเอกชูพงษ์ มัทวพันธ์ พันเอกปรีดี รามสูตร พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร และพันเอกจำลอง ศรีเมืองทั้งหมดเป็นนายทหาร 
        จ.ป.ร. รุ่น 7 กลุ่มนี้ได้ขยายตัวโดยรวมนายทหารรุ่นเด็กที่คุมกำลังระดับกองพันเข้ามาด้วย รวมแล้วมี 12 คน แนวความคิดของพวกนี้ต้องการให้ได้คนที่เป็นผู้นำกองทัพแบบใหม่ที่มือสะอาด ต้องการสร้างกองทัพขึ้นมาใหม่ การเมืองต้องมีการปรับปรุงด้วย พวกนี้ไม่ชอบนายทุน ไม่ต้องการเห็นความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ไม่ต้องการเห็นการกอบโกยผลประโยชน์ของนักการเมือง กลุ่มนี้ไม่ได้พัฒนาอุดมการณ์ของตนอย่างเป็นระบบ แนวความคิดในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มนี้คือ การมีผู้นำที่เสียสละมือสะอาด รับผิดชอบและเอาจริงเอาจัง อันเป็นแนวความคิดที่ยอมรับกันโดยทั่วไปของบรรดานายทหารรุ่นหนุ่มกลุ่มนี้ได้สนับสนุนให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เข้ายึดอำนาจจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2520 และต่อมาได้สนับสนุนให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ กลุ่มนี้ได้หมดอำนาจไปหลังจากล้มเหลวในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524

    กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ กลุ่มนี้มีการรวมตัวอย่างหลวมและต้องรวมตัวกันเพราะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศบุคคลสำคัญ คือ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ พลเอกยศ เทพหัสดินฯ และได้สร้างแนวร่วมกับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ความคิดของกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มทหารเก่าที่ไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน กลุ่มนี้อาศัยบารมีเก่าที่สะสมไว้และนับวันจะลดน้อยลงทุกทีจึงไม่ค่อยมีความเข็มแข็งนัก กลุ่มนี้ไม่มีกำลังทหารบกอยู่ในมือ จึงมีอิทธิพลลดน้อยลงไปอีก

    กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มของทหารประชาธิปไตย กลุ่มนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับกลุ่มยังเติร์ก คือ กลุ่มของทหารนักคิดหรือนายทหารฝ่ายเสนาธิการที่สนใจในเรื่องของการพัฒนาทางการเมืองของประเทศ ความมั่นคงของชาติ และการขยายตัวของการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

    กลุ่มที่สี่ ที่จะกล่าวถึง คือ กลุ่ม จ.ป.ร. รุ่น 5 กลุ่มนี้รวมตัวกันเพื่อค้านอิทธิพลของกลุ่มยังเติร์กผู้นำของกลุ่มที่สำคัญมี พันเอกสุจินดา คราประยูร และพันเอกอิสรพงศ์ หนุนภักดี กลุ่มนี้มีลักษณะรวมกันเฉพาะรุ่นของตนเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลนายทหารรุ่นเดียวกัน แต่ได้กลายเป็นกลุ่มทางการเมือง เป็น“ทหารนอกแถว” คือไม่ยอมเคารพเชื่อฟังนายทหารที่เป็นผู้ใหญ่กว่า (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2532 :647-648)


สรุปการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงปัจจุบัน