การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ในปี 2560 ประเทศไทยได้เริ่มพัฒนาอย่างจริงจังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีแนวนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาลที่ชัดเจนในการส่งเสริมการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักการพัฒนาทั้งในเชิงเศรษกิจและสังคม นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ยังชี้ประเด็นสำคัญในการส่งเสริมไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรม การลงทุน การนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ

ขีดความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศไทยในมุมมองโลก

"ประเทศไทยมีขีดความสามารถด้านดิจิทัลในระดับกลางเมื่อเปรียบเทียบกับโลก และเป็นอันดับสามของกลุ่มอาเซียน"

เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถด้านดิจิทัลในระดับโลกพบว่า ประเทศไทยยังอยู่ในระดับกลาง โดยจัดอยู่ในอันที่ 41 จาก 63 ประเทศ ในดัชนี World Digital Competitiveness Ranking 2017 (DRI) โดย IMD และอันดับที่ 62 จาก 139 ประเทศ Networked Readiness Index 2016 (NRI) โดย World Economic Forum และเป็นตำแหน่งที่ 3 ของอาเซียนในทั้ง 2 ดัชนี โดยในภาพรวม จุดแข็ง คือ การมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่สูง มีตลาดส่งออกสินค้าดิจิทัลที่แข็งแรง และมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคเงินที่แข็งแกร่ง จุดที่ดีแต่ยังต้องพัฒนาต่อ คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจ และการปรับปรุงกฎหมาย/ กฎระเบียบด้านดิจิทัล ส่วนจุดอ่อนที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนคือ ทักษะดิจิทัลของประชาชน และแรงงานด้านดิจิทัลที่ต่ำมาก การขาดนวัตกรรมดิจิทัล หรือการวิจัย และพัฒนาสินค้า และบริการที่นำเข้าสู่ตลาดได้จริง ความเสี่ยงของการลงทุนสูง และปัญหาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ขีดความสามารถด้านดิจิทัลของธุรกิจไทย

"ภาคธุรกิจมีความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ยังต้องเร่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการ และรูปแบบธุรกิจ หรือพัฒนาไปสู่นวัตกรรมสินค้าและบริการ"

ในเชิงธุรกิจ ภาคธุรกิจบางส่วนเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเริ่มปรับตัวเข้ากับการทำธุรกิจผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต เช่น การค้าขายออนไลน์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังจะเห็นได้ว่า มูลค่า e-Commerce ไทยในปี 2559 มีมูลค่าถึง 2.52 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่า B2B 1.38 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 54.74 ของตลาด) มูลค่า B2C 0.73 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 28.89 ของตลาด) และมูลค่า B2G 0.41 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 16.37 ของตลาด) อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจไทยโดยทั่วไป ที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ธุรกิจ E-commerce นั้น มีอัตราการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐานยังไม่ดีนัก โดยในปี 2559 มีสัดส่วนของสถานประกอบการทั่วประเทศที่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ ร้อยละ 26.9, 24.2 และ 8.6 ตามลำดับ โดยสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน 200 คนขึ้นไปมีอัตราการใช้เทคโนโลยีที่สูงมากเกือบจะร้อยละ 100 ลดหลั่นลงมาถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่น้อยมากในกลุ่มสถานประกอบการที่มีพนักงาน 1-10 คน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่รายงานว่า แม้ว่าประเทศไทยในปี 2557 จะมี SME มากถึงกว่า 2.7 ล้านรายคิดเป็นร้อยละ 99.7 ของวิสาหกิจทั้งประเทศ มีการจ้างงาน 10.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80.3 ของทั้งประเทศ แต่สร้างมูลค่า 5.2 ล้านล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 39.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และโดยเฉลี่ยผลิตภาพแรงงานของ SME ยังห่างจากวิสาหกิจขนาดใหญ่ถึง 4 เท่า โดย SME ไทยยังคงเป็นตลาดแบบเก่า ไม่มีการพัฒนาในเชิงนวัตกรรมมากนักจึงไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และบริการได้

อย่างไรก็ตามในมุมองจากต่างประเทศ ดัชนีด้านดิจิทัลของโลกมองว่า หากเปรียบเทียบทั้งโลก ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการปรับตัวใช้เทคโนโลยีพอควร (ระดับกลาง) โดยที่ Networked Readiness Index โดย WEF จัดอันดับความสามารถในการรับเทคโนโลยีของธุรกิจไทย ไว้ในอันดับที่ 53 จาก 139 ประเทศ และความสามารถเชิงนวัตกรรมในอันดับที่ 54 และ Digital Competitiveness Ranking จัดอันดับการใช้ Big Data ของไทย และความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ไว้อันดับที่ 33 และ 33 จาก 63 ประเทศ

ส่วนการประเมินความสามารถของธุรกิจที่เน้นนวัตกรรมเป็นหลักและสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจได้ (Innovative Firms) นั้นประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลประกอบ แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าบริษัทของไทยเองที่มีลักษณะเป็นบริษัทข้ามชาติ (เช่น เครือ ปตท. เครือปูนซีเมนต์ไทย หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์) จะเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมต่างๆ ตามมาด้วยบริษัทใหญ่ด้านโทรคมนาคมของไทย (True, AIS, DTAC) ที่เริ่มหันมาเป็น Startup accelerator/ incubator และกลุ่มธนาคารที่ต้องเริ่มใช้นวัตกรรมดิจิทัลในด้านการเงินปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดตามกระแส Fintech นอกจากนี้ ในส่วนของวิสาหกิจเริ่มต้นที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจในลักษณะใช้นวัตกรรมสูง เติบโตอย่างรวดเร็วและอัตราความเสี่ยงสูง มีรายงานว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีวิสาหกิจเริ่มต้นได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนไปแล้วมากกว่า 90 ราย อย่างไรก็ตามวิสาหกิจเริ่มต้นของไทยที่ประสบความสำเร็จเติบโตไปสู่กลุ่มที่มีมูลค่าการลงทุนสูงจากนักลงทุนประเภท Venture Capital และ Angel investor (Series A และ B) นั้นยังคงมีน้อยอยู่มาก

ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย

"อุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยมีความเข้มแข็งในด้านตลาดส่งออก แต่อุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมยังคงมีข้อจำกัดในด้านเงินลงทุน และด้านการวิจัยและพัฒนาไปสู่นวัตกรรมสินค้าและบริการ "

อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามพลวัตรของเทคโนโลยี โดยนิยาม และขอบเขตได้วิวัฒนาการและขยายมาจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เดิม และสำหรับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในครั้งนี้ จะนิยามอุตสาหกรรมค่อนข้างกว้าง หมายถึง “อุตสาหกรรมการผลิต และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลหรือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล” แบ่งออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ กลุ่มฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware & Smart Device), กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software), กลุ่มอุตสาหกรรมด้านการสื่อสาร (Communications), กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) และ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยนั้น การลงทุนในด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสาร ทั้งในระบบไร้สายจากภาคเอกชน และระบบสายจากภาครัฐในพื้นที่ห่างไกลนี้จะส่งผลบวกต่อเนื่องโดยธรรมชาติไปสู่ตลาดอุปกรณ์โครงข่าย core network ตลาดอุปกรณ์ Smart Device ตลาด Mobile Commerce ตลาด Data Center ตลาด Software Application และ Software-enable service ไปจนถึงตลาด Digital content โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยนั้นค่อนข้างเปิดกว้างมีทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ให้บริการ ที่เป็นผู้ประกอบการจากต่างประเทศรายใหญ่ และผู้ประกอบการไทยหลายขนาด โดยตลาดดิจิทัลที่โตขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการทั้งระบบได้ประโยชน์ แต่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลที่เกิด และโตในไทยเองที่ส่วนใหญ่เป็น SME จะสามารถเก็บเกี่ยวโอกาสทางธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับศักยภาพในการแข่งขันของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันที่อยู่บนฐานของนวัตกรรม

จุดเด่นของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยที่ผ่านมาอีกข้อคือมีความเข้มแข็งในตลาดส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดฮาร์ดแวร์ปัจจุบันที่ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีนเป็นหลัก โดยในปี 2560 ประเทศไทยส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นมูลค่า 5.12 แสนล้านบาท (ร้อยละ 7.70 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ) และแผงวงจรไฟฟ้าเป็นมูลค่า 2.33 แสนล้านบาท (ร้อยละ 3.50 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ) เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศในเป็นอันดับที่ 2 และ 6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกสินค้าด้านดิจิทัลในตลาดฮาร์ดแวร์มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และจำเป็นต้องปรับตัวโดยเร่งด่วนสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ สำหรับตลาดอื่นๆ สินค้าและบริการดิจิทัลที่มีศักยภาพของไทยได้แก่ ซอฟต์แวร์ในกลุ่ม ERP และ POS บริการในกลุ่ม Software Integration และ Digital Content ในกลุ่ม Game และ Animation โทรคมนาคมและการสื่อสาร ในกลุ่มอุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องรับโทรทัศน์ กล่องแปลงสัญญาณ และบริการโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยจะมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการเติบโต เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กขาดแคลนเงินทุนในการขยายธุรกิจ และไม่สามารถขอกู้ยืมเงินได้ง่ายนัก ด้วยธุรกิจดิจิทัลส่วนใหญ่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่ธนาคารจะยอมรับได้ ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมยังขาดการลงทุนในด้านนวัตกรรมที่นำไปสู่สินค้า และบริการที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีการเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยและกำลังคนดิจิทัล

"ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูง แต่ทักษะด้านดิจิทัลของประชาชนยังคงต่ำแบบย้อนแย้ง และยังไม่เกิดการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน ส่วนกำลังคนด้านดิจิทัลนั้นขาดแคลนเป็นอย่างมากในเชิงคุณภาพ "

ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ (mobile subscribers) ในปี 2558 มากถึงร้อยละ 125.8 ของ ประชากร 65.9 ล้านคน และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ร้อยละ 75.3 โดยมีจำนวนผู้ใช้ Social media ในต้นปี 2559 อยู่ที่ 41 ล้าน โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ Facebook 40 ล้านราย และ Line 38 ล้านราย คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แบบใช้สายนั้น มีผู้สมัครใช้งานบรอดแบนด์ในปี 2560 ประมาณ 7.9 ล้านราย หรือเป็นร้อยละ 37.23 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยนั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต หรือ Social media เหล่านี้ ยังไม่ได้แปลไปสู่ทักษะด้านเทคโนโลยีของคนไทยแต่ประการใด และยังห่างไกลกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ โดยที่ IMD จัดอันดับทักษะความสามารถด้านดิจิทัลของคนไทย (Digital/ technological skills) ไว้ในอันดับที่ 50 จาก 63 ประเทศทั่วโลก โดยความท้าทายหลักในประเด็นนี้คือการปรับเปลี่ยนประชาชนส่วนใหญ่จากการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี (Consumers) เพียงอย่างเดียว ไปเป็นผู้สร้างมูลค่าหรือคุณค่า (Producers) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล คือ กำลังคนดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัจจัยฉุดรั้งการพัฒนา และเป็นปัญหาที่รุนแรงของอุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกตลาด คือ การขาดกำลังคนที่มีคุณภาพ โดยถึงแม้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติจะรายงานว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้ทำงานด้าน ICT ถึง 3.74 แสนคน แต่เป็นตัวเลขที่รวมช่างเทคนิค พนักงานขาย และอื่น ๆ โดยมีเพียงร้อยละ 45.6 ที่สำเร็จการศึกษาด้าน ICT นอกจากนี้ ถ้านับเฉพาะบุคลากรทักษะสูงด้านซอฟต์แวร์ที่ประเทศไทยมีข้อมูลครบถ้วน ประเทศไทยในปี 2559 มีบุคลากรที่เป็นฐานการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ประมาณ 5.6 หมื่นคนเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลทุกตลาด สะท้อนในทำนองเดียวกันว่า ไม่สามารถหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้าทำงานได้ แม้จะให้เงินค่าตอบแทนสูงก็ตาม ซึ่งปัญหานี้หากไม่เร่งแก้ไขจะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย และจะมีจำนวนคนวัยแรงงาน รวมถึงเด็กที่สนใจเรียนด้านดิจิทัลมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ ด้วย ส่งผลระยะยาว คือ ความล้มเหลวของการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

สภาพแวดล้อมและปัจจัยเกื้อหนุนที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจดิจิทัล

"ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีในการรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ยังคงต้องปรับปรุงในด้านกฎหมาย กฎระเบียบกติกา เพื่อลดอุปสรรคและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล"

ในเรื่องสภาพแวดล้อม ปัจจัยเกื้อหนุนที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจดิจิทัลสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศไทยนั้นมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการลงทุนและการเงิน โดยมีตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเริ่มมีจำนวนของนักลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ที่มาลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นจำนวนมาก โดย Techsauce รายงานว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนนักลงทุนในรูปแบบบริษัทจัดการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และบริษัทที่ใช้เงินตนเองในการลงทุน (Corporate Venture Capital) มากกว่า 79 ราย และนักลงทุนอิสระ (Angel investor) อีกมากกว่า 44 ราย และนอกจากนี้ ยังมีมูลค่าตามราคาตลาด บริการการเงิน และโครงสร้างอัตราภาษีที่ดีสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล แม้ตลาดจะยังคงมีความเสี่ยงในการลงทุนค่อนข้างสูงก็ตาม

สำหรับจุดอ่อนนั้น ประเทศไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องของการปรับปรุงการกฎหมาย กฎระเบียบ กติกา รวมถึงมาตรฐานด้านดิจิทัลที่พร้อมสำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันกฎหมายไทย กฎระเบียบไทยปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่สำหรับเทคโนโลยี หรือโมเดลธุรกิจที่คิดนอกกรอบกฎหมายเดิม ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ (Drone, Driverless car, Blockchain) หรือการทำธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้นแบบ Sharing Economy (Taxi, Hotel) และยังขาดกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการ หรือแนวปฏิบัติในบางเรื่องที่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูล เป็นต้น

ผลการสำรวจสถานภาพและมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ (Software) และตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ประจำปี 2559 และคาดการณ์ 2560-2561

ภายใต้ภารกิจการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี 2560 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลดำเนินการสำรวจสถานภาพและมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ (Software) และตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ประจำปี 2559 คาดการณ์ 2560-2561 เพื่อแสดงข้อมูลเชิงปริมาณ อาทิ มูลค่าตลาด มูลค่าการผลิต มูลค่าการนำเข้า – ส่งออก โดยนำเสนอทั้งในมุมที่เป็นสินค้าและบริการ รวมไปจนถึงมุมมองทางการตลาด เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำไปใช้วางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร ส่งผลให้เกิดการเติบโตและเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ในประเทศไทย

โดยปัจจุบัน ซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทอย่างสูงต่อองค์กรธุรกิจในการปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรยุคดิจิทัลในทุกๆสาขา เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การเงิน การค้า การตลาด บันเทิง สุขภาพ การศึกษา ฯลฯ ที่องค์กรล้วนแล้วแต่จะต้องใช้ซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มช่องทางการบริการ ไปจนถึงการสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการต่างๆ ดังนั้น จึงถือได้ว่า ซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสองสาขาหลักที่สามารถนำมาประยุกต์และต่อยอดในธุรกิจด้านต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัดและยังถือเป็นการผนวกรวมแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ

ผลการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ประจำปี 2559 คาดการณ์ปี 2560-2561

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
มูลค่าและอัตราการเติบโตการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ในภาพรวมปี 2559

ในปี 2559 ตลาดการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีมูลค่ารวม 50,129 ล้านบาท โดยมีมูลค่าลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 4.63 มูลค่าการนำเข้าเพื่อบริโภค 31,158 ล้านบาทโดยมีมูลค่าลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 5.42 ซึ่งในมูลค่าการผลิตดังกล่าวแบ่งเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูป มูลค่า 12,730 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.51 และบริการซอฟต์แวร์ 37,399 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.84 โดยภาคการเงินยังคงเป็นสาขาที่มีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการมากที่สุด รองลงมาคือ หน่วยงานราชการและภาคการท่องเที่ยว สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้มูลค่าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์หดตัวลง คือรูปแบบการดำเนินธุรกิจซอฟต์แวร์ในปัจจุบันที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสาคัญ กล่าวคือมีการเปลี่ยนไปสู่ Software-enable Service (บริการที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ได้รับค่าบริการเป็นรายได้) ทั้งนี้เป็นผลมาจาก Cloud Technology และโมเดลการเก็บค่าบริการซอฟต์แวร์แบบ SaaS (Software as a Service) โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้การผลิตซอฟต์แวร์ในภาพรวมย้ายไปสู่ซอฟต์แวร์ในรูปแบบ Software-enable Service

ด้านการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในปี 2559 พบว่าผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีมูลค่ารวม 3,714 ล้านบาท ผลการสำรวจ ยังพบว่า ในปี 2559 ประเทศไทย มีมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นำเข้า 31,158 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ราวร้อยละ 5.73 (มูลค่าปี 2558 อยู่ที่ 32,944 ล้านบาท) ส่วนมูลค่าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาในองค์กร (In-house) อยู่ที่ 15,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อนร้อยละ 6.25 (มูลค่าปีก่อน 14,903 ล้านบาท) และมีจำนวนบุคลากรที่เป็นฐานการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ 56,083 คน โดยคาดการณ์ว่าปี 2560 และ 2561 ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยจะมีการหดตัวลงราว 4-5% ต่อปี หรือมีมูลค่าการผลิตในประเทศราว 48,124 และ 47,623 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ผู้ประกอบการกำลังปฏิรูปการทาธุรกิจ (Business Transformation) ครั้งใหญ่ ด้วยแรงกดดันจากรูปแบบหรือโมเดลในการดำเนินธุรกิจซอฟต์แวร์กาลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการพยายามหาวิธีในการสร้างรายได้รูปแบบใหม่ที่ยั่งยืน โดยมุ่งสู่ Software-enabled Service หรือ Software as a Service ที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง แต่กระบวนการนี้อาจจะต้องใช้เวลา 1-3 ปี

ด้านการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Embedded Software)

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ในปี 2559 มีมูลค่า 5,277 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 12.62 จากปี 2558 ทั้งนี้เป็นเพราะงานจากการรับจ้างพัฒนาและผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Outsourcing services provider) ในปีนี้ลดลง ซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจแต่ละปีความต้องการของลูกค้าต่างกัน กล่าวคือ ในบางปีมีลูกค้าประเภทที่จ้างพัฒนาและผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวจำนวนมาก ในขณะที่บางปีผู้ประกอบการด้านสมองกลฝังตัวมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของตนเอง ทาให้มีด้านการออกแบบและพัฒนาระบบที่ใช้ซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว ในรูปแบบการสร้างมีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง และการพัฒนาซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว เพื่อใช้กับสินค้าของบริษัทโดยมีฐานะเป็นหน่วยผลิตภายใน (In-house production) มากขึ้น ส่วนการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวมีมูลค่า 2,478 ล้านบาท

ผลการสำรวจมูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทย ปี 2559 คาดการณ์ปี 2560-2561

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ปี 2559 คาดการณ์ปี 2560-2561

มูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทยปี 2559 มีมูลค่ารวมประมาณ 21,980 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสาขาแอนิเมชัน มูลค่า 3,966 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 1.6 สาขาคาแรคเตอร์ มูลค่า 1,687 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น จากปี 2558 ร้อยละ 7.2 และสาขาเกมมีมูลค่า 16,327 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น จากปี 2558 ร้อยละ 14.8 ส่วนในด้านแนวโน้มการเติบโตนั้นคาดการณ์ประเมินจากความเห็นของผู้ประกอบการและปริมาณงานที่กำลังทำอยู่ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการผลิตปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มต่างๆ ในตลาดที่คาดการณ์ว่าจะมีผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม คาดว่า สาขาตลาดแอนิเมชันจะเติบโตร้อยละ 1.8 และในปี 2561 จะเติบโตประมาณร้อยละ 10.0 และสาขาคาแรคเตอร์จะเติบโตร้อยละ 9.5 ในปี 2560 และเติบโตร้อยละ 8.1 ในปี 2561 ในขณะที่สาขาเกม จะเติบโตร้อยละ 12.3 ในปี 2560 และเติบโตประมาณร้อยละ 12.0 ในปี 2561 โดยการ

ด้านการผลิตและส่งออกดิจิทัลคอนเทนต์ ในด้านการผลิตและส่งออกงานแอนิเมชั่น คาแรคเตอร์ และเกม มีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 1,235.3 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 6.2 โดยในอุตสาหกรรมแอนิเมชัน ในภาพรวมมีมูลค่าส่งออก 787.1 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2558 ร้อยละ 7.6 โดยพิจารณาจากผู้รับจ้างผลิต ยังคงมีการผลิตเพื่อส่งออกหลายเรื่อง หลายซีรีย์ให้แก่ผู้ว่าจ้างประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ ในภาพรวมมีมูลค่าส่งออกเพียง 13.7 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน ที่มีมูลค่า 12.1 ล้านบาท เนื่องจากคาแรคเตอร์ที่ครอบคลุมตลาดโลกนั้นจะเป็นคาแรคเตอร์ของค่ายใหญ่ในต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น คาแรคเตอร์ของบริษัทดีสนีย์ คาแรคเตอร์แอนิเมชันจากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น การส่งออกคาแรคเตอร์ของไทยจึงมีน้อยมาก ส่วนอุตสาหกรรมเกม ผู้ผลิตงานโดยมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง และผู้จัดจำหน่าย นำเข้า และตัวแทนจำหน่าย มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกเป็น 434.4 ล้านบาท มากกว่าปี 2558 ที่มีมูลค่าการส่งออกที่ 419.7 ล้านบาท เนื่องจากผู้ผลิตมีช่องทางและโอกาสในการขายหรือรับจ้างผลิตเกมไปต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในประเทศแถบเอเชีย อเมริกา และยุโรป โดยทีตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ (แอนิเมชัน คาแรคเตอร์ และเกม) ของไทย ยังคงพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าลิขสิทธิ์ หรือรับจ้างผลิต ส่วนตลาดของผู้ผลิตงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเองนั้น อุตสาหกรรมเดียวที่เติบโตขึ้นคืออุตสาหกรรมเกม แต่ทั้งนี้ก็ยังคงมีมูลค่าน้อยกว่าการนำเข้าเกมอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ผลิตไทยมีงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเองนั้นจะสามารถเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในระยะยาวได้ดีกว่า เนื่องจากการรับจ้างผลิตจะต้องเผชิญกับปัญหาการถูกกดราคาจากต่างประเทศ ส่วนการนำเข้าลิขสิทธิ์นั้นก็เท่ากับเป็นการจ่ายเงินออกไปนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญหลักในการพัฒนางานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเองนั้นมาจากเรื่องขาดการสนับสนุนเรื่องแหล่งเงินทุน และซอฟต์แวร์ที่มีราคาแพง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร และนโยบายภาครัฐบางประการไม่เอื้อต่อการแข่งขันอีกด้วย

โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้ทำการสำรวจมูลค่าของทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตามภารกิจการส่งเสริมของสำนักงานฯ ได้นิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลหลักไว้ 5 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware & Smart Device), อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ (Software), อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content), อุตสาหกรรมดิจิทัลเซอร์วิส (Digital Service) และอุตสาหกรรมด้านการสื่อสาร (Communications) ซึ่ง 3 อุตสาหกรรมที่เหลือในปีถัดไปสำนักงานฯ จะดำเนินการสำรวจและศึกษาเพื่อให้ได้มาถึงข้อมูลทั้ง 5 อุตสาหกรรมโดยครบถ้วน โดยข้อมูลที่ได้สามารถนำเสนอเป็นตัวชี้วัดของประเทศในการวางแผนเชิงนโยบายของภาครัฐเพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดของภาคเอกชนในอนาคต