อาการอัมพาตครึ่งซีก เกิดจากอะไร

มีโรค โรคหนึ่งที่มีสาเหตุการเกิด เกิดจากความบกพร่องของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดอาการที่เรียกว่าอัมพาตครึ่งซีก โรคนี้คนไทยมักเรียกกันว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

ความหมาย

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Cerebrovascular disease (CVD) หรือ Cerebrovascular accident (CVA) หรือ Stroke
หมายถึง ความผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง โดยอาการที่แสดงจากการที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิด

สาเหตุการเกิดโรค

โรคหลอดเลือดสมองนี้ เกิดได้จากการที่เส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง การเกิดอุบัติเหตุ อุบัติเหตุทางรถยนต์และจักรยานยนต์ การถูกกระแทกอย่างรุนแรงที่ศีรษะ ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิต และเกิดจากการที่เส้นเลือดในสมองตีบ อุด ตัน จากก้อนไขมัน หรือคอเรสเตอรอลที่เราทานเข้าไปแล้วไปสะสมอยู่ที่หลอดเลือด

สาเหตุการเกิด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. Ischemic Storke หรือ โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดจากการตีบ หรืออุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการมีไขมันอุดตันในหลอดเลือด

ปัจจัยเสี่ยง

  • – หลอดเลือดแข็ง มักพบในวัยผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือผู้สูบบุหรี่
  • – โรคหัวใจที่มีลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง
  • – หลอดเลือดสมองอักเสบ
  • – โรคบางชนิด

2. Hemorrahagic Storke หรือ โรคหลอดเลือดสมองแตก หมายถึงการมีเลือดออกในสมองหรือโพรงกะโหลกศีรษะเนื่องจากมีการแตกของหลอดเลือดสมอง เกิดจากการได้รับบาดเจ็บถูกกระแทกอย่างแรงที่ศีรษะ หรือมีความดันโลหิตสูง ลักษณะของอาการจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด

ปัจจัยเสี่ยง
ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ บุคคลต่างๆ ที่มีโรคหรือภาวะต่างๆ ดังนี้

  • 1. โรคความดันโลหิตสูง
  • 2. โรคเบาหวาน
  • 3. การสูบบุหรี่
  • 4. มีภาวะไขมันในเลือดสูง
  • 5. โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • 6. ขาดการออกกำลังกาย
  • 7. วัยสูงอายุ
  • 8. มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า เป็นโรคนี้

 

อาการ

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

อาการอาจเกิดขึ้นหลายแบบ ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่เกิดโรค อาการมักเกิดอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใดหรือเป็นๆ หายๆ หรือค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาอันสั้น อาการที่พบได้บ่อยได้แก่

  • 1. แขน ขา อ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • 2. ชาครึ่งซีก
  • 3. เวียนศรีษะ ร่วมกับเดินเซ
  • 4. ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน
  • 5. พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง
  • 6. ปวดศรีษะ อาเจียน
  • 7. ซึม ไม่รู้สึกตัว

** เมื่อมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาทันที***

แต่ถ้าอธิบายอย่างลึกซึ้ง ละเอียด ทางการแพทย์ สามารถอธิบายที่มาของอาการต่างๆที่เกิดขึ้นได้ว่า ที่มาของอาการเกิดขึ้นจากการเสียหายตำแหน่งที่ได้รับพยาธิสภาพ

(พยาธิสภาพ หมายถึง ตำแหน่งที่เสียหายทำให้เกิดอาการต่างๆของโรค)
ตำแหน่งของพยาธิสภาพของโรคหลอดเลือดสมอง และอาการแสดง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

  • 1. พยาธิสภาพของหลอดเลือดสมองที่เลี้ยงสมองส่วนหน้า (Anterior circulation) ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดพยาธิสภาพที่ anterior circulation ซึ่งประกอบด้วย internal carotid, anterior cerebral artery (ACA) และ middle cerebral artery (MCA) ซึ่ง MCA เกิดได้บ่อยสุด โดยผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงและสูญเสียการรับความรู้สึกของร่างกายซีกตรงข้ามกับข้างที่สมองได้รับบาดเจ็บ โดยส่วนแขนจะมีอาการมากกว่าขา มีพยาธิสภาพที่สมองซีกเด่น (Dominant hemisphere) จะทำให้เกิดปัญหาการสื่อสาร (aphasia) ได้ พยาธิสภาพที่ ACA จะทำให้ส่วนขามีอาการมากกว่าแขน และถ้าสมองส่วน frontal lobe เสียหายมาก อาจทำให้เกิดความผิดปกติด้านความจำและพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วย ถ้าเกิดพยาธิสภาพที่ internal carotid ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ให้แขนงเป็นหลอดเลือด ACA และ MCA อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • 2. พยาธิสภาพของหลอดเลือดสมองที่เลี้ยงสมองส่วนหลัง (posterior circulation) มักเกิดความผิดปกติของก้านสมอง อาจทำให้มีความผิดปกติทางด้านการมองเห็น การพูดไม่ชัด ความผิดปกติทางด้านการกลืน

 

ความผิดปกติที่พบได้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

1. ความผิดปกติของการควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor deficit) ประกอบด้วย

  • – การอัมพาตหรืออ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก (Hemiplegia หรือ Hemiparesis)
  • – ความตึงตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ (Abnormal muscle tone)
  • – การเคลื่อนไหวผิดปกติ (Abnormal patterns of movement)
  • – รีเฟล็กซ์ผิดปกติ (Abnormal reflexes)
  • – ความผิดปกติของการควบคุมท่าทางและทรงตัว ไม่สามารถทรงท่านั่ง และยืนได้
  • – การเคลื่อนไหวไม่ประสานสัมพันธ์กัน (Incoordination)

2. ความผิดปกติของการรับความรู้สึก (Sensory deficits) จะมีอาการเจ็บๆ ชาๆ ไม่รับรู้ความร้อน เย็น ไม่รับรู้ความรู้สึกบริเวณร่างกายที่เกิดอัมพาตครึ่งซีก เช่น ใบหน้าครึ่งซีก แขน ฝ่ามือ เป็นต้น
3. ความผิดปกติของการมองเห็น (Visual dysfunction) ผู้ป่วยอาจเห็นภาพซ้อน
4. ไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการได้ (Communication disorder)
5. ความผิดปกติด้านการรับรู้ (Perceptual dysfunction)
6. ความผิดปกติด้านสติปัญญา (Cognitive dysfunction
7. ความผิดปกติด้านการควบคุมการขับถ่าย
8. การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ
9. ปัญหาทางด้านเพศสัมพันธ์

รวมถึงปัญหาแทรกซ้อนที่ควรระวัง คือ ในช่วงที่กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกไม่มีแรง ควรทำให้แขนขาผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกัน ปัญหาข้อติด และในช่วงหลังเกิดCVAควรระวังปัญหา ไหล่หลุด กระดูกผิดรูป ภาวะบวมจากน้ำเหลืองคั่ง เป็นต้น

 

การฟื้นตัวของโรค

ระยะการฟื้นตัวของโรค แบ่งกว้างๆเป็น 3 ระยะคือ

  • 1. ระยะกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบปวกเปียก (Flaccid stage) คือ ระยะแรกหลังเกิด CVA ผู้ป่วยจะไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนข้าข้างที่เป็นอัมพาตได้เลย กล้ามเนื้อไม่มีความตึงตัวมีลักษณะอ่อนปวกเปียก (Flaccidity) reflex ต่างๆที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะ stretch reflexes หรือ deep tendon reflexes จะหายไป โดยทั่วไประยะนี้เกิดขึ้นช่วงสั้นๆประมาณตั้งแต่หลังเกิด CVA ไปจนถึง 48 ชม
  • 2. ระยะกล้ามเนื้อมีการหดเกร็ง (Spastic stage) คือระยะที่ reflexต่างๆที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเริ่มกลับคืนมา และไวกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวสูงขึ้นแบบหดเกร็ง (spasticity) ผู้ป่วยอาจมีการเคลื่อนไหวแขนขาได้บ้างแบบหยาบๆ ในรูปแบบ mass pattern มีอาการแขน ขา นิ้วมืองอเกร็ง
  • 3. ระยะท้ายของการฟื้นตัว เป็นระยะที่การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวแบบ mass pattern ลดน้อยลง ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวแยกส่วนแต่ละข้อต่อได้ดีขึ้น แต่อาจมีปัญหากับการเคลื่อนไหวที่ละเอียด และใช้ความคล่องแคล่วสูง เช่น การใช้มืออาจจะยังทำได้ไม่คล่อง

การฟื้นตัวทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวมักจะเริ่มจากกล้ามเนื้อส่วนต้นไปสู่ส่วนปลาย เช่น กล้ามเนื้อหัวไหล่จะฟื้นตัวก่อนกล้ามเนื้อปลายแขนและมือ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของผู้ป่วยอาจหยุดเพียงระยะใดระยะหนึ่งก็ได้ เช่น หยุดอยู่ในระยะ flaccid หรือ spastic เท่านั้น การฟื้นตัวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นรวดเร็วภายใน 3 เดือนแรก