นำรูปภาพจากอินเทอร์เน็ต

ในการเขียนตำรับตำรา หนังสือต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเขียนบันทึกบน BLOG นั้น เราอาจจะต้องใช้ "ภาพ" ประกอบคำอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เนื้อความมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ผู้เขียนดาวน์โหลดภาพจากระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือสแกนมาจากหนังสืออื่น มาใช้ประกอบการเขียนผลงานได้หรือไม่ ?

ประเด็นนี้ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ "เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์" ว่า

"... กรณีนี้ต้องพิจารณาและระมัดระวังว่า ภาพที่ผู้เขียนจะนำมานั้นเป็นภาพที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ หลักการในพิจารณา คือ หากภาพนั้น เป็นภาพที่มีการถ่ายโดยไม่ได้สร้างสรรค์ใด ๆ ภาพนั้นก็ไม่มีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพโต๊ะ, ภาพเก้าอี้ อาคาร เป็นต้น แต่หากภาพนั้นมีการใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ เช่น ผู้ถ่ายได้ใช้ความพยายามอดทนเฝ้ารอเพื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก หรือมีการจัดแสง ปรับแต่งภาพเป็นพิเศษ ภาพที่สร้างสรรค์เช่นนี้จะเป็นภาพที่มีลิขสิทธิ์

ดังนั้น หากภาพใดมีลิขสิทธิ์ การเอาภาพเขามาประกอบการเขียนผลงาน จำต้องดำเนินการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน ส่วนภาพนั้นไม่มีลิขสิทธิ์ ย่อมสามารถนำมาใช้ประกอบการเขียนได้ โดยไม่จำต้องขออนุญาต

นอกจากนั้น หากภาพใดมีลิขสิทธิ์ แม้ผู้เขียนจะนำภาพนั้นจากระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือนำมาจากที่ใดก็ตาม แล้วนำมาตกแต่งดัดแปลงจนไม่เหมือนของเดิม ในกรณีนี้ ยังคงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเข้าข่ายดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ ..."

ภาพที่อยู่ในระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือแหล่งต่าง ๆ มีความยากลำบากที่เราจะทราบว่า ภาพใดผ่านการสร้างสรรค์มา

วิธีการที่ปลอดภัยที่สุด คือ ลงมือถ่ายภาพเองเลย ... ถ่ายเอง ก็เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จะตกแต่งดัดแปลงสักแค่ไหน ก็ภาพเราเองครับ

นำรูปภาพจากอินเทอร์เน็ต

ภาพนี้ถ่ายเอง ลิขสิทธิ์ก็ตกอยู่ผมเอง ครับ ...

(จากบันทึก ชมภาพดอกไม้เมืองหนาว "งานโครงการหลวง 2551" จังหวัดเชียงใหม่ )

อีกประการหนึ่ง ... การถ่ายภาพเอง ต้องระมัดระวังการถ่ายภาพโดยเจ้าของเขาไม่ยินยอมด้วย เช่น เขาติดป้าย "ห้ามถ่ายภาพ" เอาไว้ แต่เราดันไปถ่าย แบบนี้อาจจะถูกฟ้องร้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์เขาได้นะครับ เพราะร้านค้าบางร้าน กว่าจะจัดมุมร้านให้ได้ดี อาจจะต้องผ่านกระบวนการค้นคว้าวิจัยและสำรวจความต้องการมาหลายครั้ง หากต้องการภาพนั้นจริง ๆ ควรขออนุญาตจากเจ้าของเขาก่อนครับ และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ควรเขียนขอบคุณไว้ใต้ภาพดังกล่าวด้วย

กรณีศึกษา : การละเมิดลิขสิทธ์ "ภาพถ่าย"

  • กระทู้ : ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพ ... ผมเอาความผิดของตัวเอง มาให้ดูเป็น case study ครับ ... คุณดินสอสีส้ม (พี่หม่อม ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี ผู้แนะนำมา)

ลองนำความรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ในกรณีนี้ไปใช้พิจารณาการเขียนผลงานของตัวเองดูนะครับ อันนี้ ควรรวมถึงการเขียนบันทึกบน BLOG ด้วยครับ

.....................................................................................................................................

ความรู้เพิ่มเติม จาก คุณ Top

เพิ่มเติมนิดหน่อย จากประสบการณ์ของผู้เคยฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์

ข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพที่มีลิขสิทธิ์

-------------------------------------------

ภาพที่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ (สัญลักษณ์ทางลิขสิทธิ์)

1.ในภาพนั้นระบุเป็นเครื่องหมาย (C)

2.ในภาพนั้นระบุชื่อเจ้าของผลงาน หรือเว็บไซต์ที่มาของภาพนั้น

3.ในภาพนั้นถูกประทับด้วยลายน้ำ (ในบางครั้งอาจเป็นโลโก้เจ้าของผลงานขึ้นไว้จาง ๆ)

!! แต่ในบางกรณี ภาพที่มีลิขสิทธิ์อาจไม่ระบุสัญลักษณ์ทางลิขสิทธิ์ข้างต้นใด ๆ ไว้เลย ทำให้ผู้เขียนบางรายนำภาพเอาไปเผยแพร่ต่อสาธารณะก็ถูกฟ้องร้องจากเจ้าของ ลิขสิทธิ์ได้เหมือนกัน

พฤติกรรมใดบ้างที่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

-------------------------------------------------

การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของผลงานที่มีลิขสิทธิ์เหล่านั้นไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาติจากเจ้าของผลงาน ไม่ว่าจะ

- นำไปเผยแพร่โดยเป็นผลงานต้นฉบับ

- นำไปเผยแพร่โดยได้ดัดแปลงผลงานนั้น

ตัวอย่างพฤติกรรมที่ละเมิดลิขสิทธิ์

--------------------------------------------------

(พฤติกรรมที่กระทำโดยไม่ได้รับอนุญาติจากเจ้าของลิขสิทธิ์)

1. นำภาพที่มีลิขสิทธิ์เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

2. ตัดต่อวิดีโอโดยปรากฎผลงานที่มีลิขสิทธิ์นั้นอยู่ด้วย

3. นำภาพจากแผ่นซีดี ฯลฯ ที่คุ้มครองโดยลิขสิทธิ์ อัปโหลดเป็นวีดีโอ หรือตัดต่อออกมาเป็นรูปภาพ (เช่น นำภาพยนตร์ในซีดี ฯลฯ มาโพสต์ในอินเทอร์เน็ต)

4. นำภาพที่ถ่ายจากกล้องวิดีโอส่วนตัวที่ถ่ายทำการแสดงคอนเสิร์ตมาโพสต์เผยแพร่ ในโลกอินเทอร์เน็ต (บางคอร์นเสิร์ตที่ไม่อนุญาติให้ทำการบันทึกภาพใด ๆ หากผู้ใช้นั้นได้บันทึกภาพและนำไปเผยแพร่จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์)

5. การนำผลงานหรือสัญลักษณ์ที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้ซ้ำในเชิงการค้า

ผลงานในบ้างที่ไม่ถูกคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์

-----------------------------------------------------

1.ผลงานที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตอย่างง่าย เช่น สี่เหลี่ยม ฯลฯ

2.ผลงานที่มีแต่ตัวอักษรเรียบ ๆ เช่น ตัว M สีแดงในพื้นหลังสีดำ

ฯลฯ

..................................................................................................................................... 

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

ภายในสมุดบันทึก ชื่อ "เทคโนโลยีการศึกษา..เท่าหางอึ่ง"

  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การวิเคราะห์นวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ ทั้งเรื่อง
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การแปลหนังสือต่างประเทศเป็นภาษาไทย และการแปลหนังสือภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การแปลสำนวน สุภาษิต จากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การนำภาพเขียนที่เขียนในขณะเป็นลูกจ้างบริษัทมาประกอบการเขียนตำราของผู้วาดภาพ 
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การนำบทความจากนิตยสารมาเป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์ข้อบกพร่อง 
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : ข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีการดาวน์โหลดฟรี เราจะสามารถนำข้อมูลมาแปลและจัดเรียงใหม่ได้หรือไม่ ?
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การนำรูปหน้าเว็บเพจมาประกอบการเขียนตำรา
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การนำหนังสือหรือบทความของบุคคลอื่น เข้าสู่ระบบเว็บไซต์ของคณะในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษา
  • กฏหมายลิขสิทธิ์ : การนำวิทยานิพนธ์ของตนเองมาเป็นส่วนหนึ่งของตำรา
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การนำข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐมาใช้ประกอบการเขียนตำรา
  • กฎหมายลิขสิทธิ์ : การนำบทความของตนเองที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มารวมเป็นหนังสือ

บันทึกของบล็อกเกอร์ท่านอื่น

  • บล็อก : แนะนำการนำไฟล์เพลงมาใช้ในบล็อก โดย น้อง เก๋น้อย  

....................................................................................................................................... 

แหล่งอ้างอิง

นำรูปภาพจากอินเทอร์เน็ต

มานิตย์ จุมปา.  เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537.  http://www.thnic.co.th/docs/copyright-law.pdf (20 ธันวาคม 2551).