ข่าวมลพิษทางอากาศจากโรงงาน 2565

(13 ม.ค. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร/รองผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย รองปลัด อบต.นาโคก เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 5 และตำรวจ ปทส. เข้าตรวจสอบโรงงานคัดแยกและหลอมโลหะ ในพื้นที่ ม.6 ต.นาโคก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในละแวกใกล้เคียงว่า ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง กลิ่น และควัน ของการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า โรงงานดังกล่าวประกอบกิจการคัดแยกขยะอุตสาหกรรม และนำเอาทองแดง ตะกั่ว ทองเหลือง โลหะมีค่ามาหลอมเป็นก้อนเพื่อส่งขาย โดยมีชาย ชาวจีน อายุ 27 เป็นเจ้าของ ขณะเข้าตรวจสอบมีแรงงานเพื่อนบ้านประมาณ 80 คน กำลังทำงานอยู่ โดยคนงานหญิงต่างสาละวนกับการคัดแยกกองขยะอุตสาหกรรมบนโต๊ะ เพื่อหาแผงวงจรอิเล็กทรอนิกซึ่งมีทองแดงและตะกั่ว ส่วนคนงานชายช่วยกันนำขยะอุตสาหกรรม ที่คัดแยกแล้วมาล้างบนเครื่องร่อนก่อนจะไปเข้าสู่กระบวนการหลอมตามขั้นตอน

นอกจากนี้การตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียพบว่า น้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียบางส่วนมีการระบายออกภายนอกบริเวณโรงงาน โดยมีลำรางขนาดเล็กจากโรงงานเชื่อมต่อไปยังคลองสาธารณะ ซึ่งอยู่ติดกับแปลงทำนาเกลือของชาวบ้านในพื้นที่

ในส่วนของเตาหลอมโลหะโรงงานได้ใช้ระบบไฟฟ้าในการทำความร้อน แต่ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศอยู่ในสภาพที่ชำรุด และมีการปล่อยให้ผงฝุ่นจากการหลอมร่วงลงไปกองที่พื้นที่ โดยไม่มีภาชนะหรือถุงรองรับ ขณะที่ภายนอกอาคารโรงงานพบถุงบิ๊กแบ๊กที่บรรจุขยะอุตสาหกรรมกองอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใส่ถุงบิ๊กแบ๊กกองอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นกัน

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมระบุ เจ้าของโรงงานมีความผิดในหลายข้อกล่าวหา อาทิ  ไม่มีใบนำเข้า-แจ้งออก กากอุตสาหกรรม เก็บกองกากอุตสาหกรรมในที่โล่งแจ้ง ไม่แสดงเอกสารใบกำจัดกากอุตสาหกรรม ปล่อยน้ำทิ้งและขยะออกสู่คลองสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และเนื่องจากไม่มีใบนำเข้ากากอุตสาหกรรมมาแสดงให้กับเจ้าหน้าที่ จึงเข้าข่ายความผิดนำเข้ากากอุตสาหกรรมมารีไซเคิล อีกด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจะทำหนังสือสั่งปิดโรงงานเพื่อให้ปรับปรุงระบบบำบัดต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมกับดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้มีข้อมูลว่าโรงงานแห่งนี้เคยถูกจับกุมดำเนินคดีมาแล้วเมื่อปลายปี 2563

ข่าวในประเทศ

1. "สุริยะ" ลั่นพร้อมรับมือ PM2.5 สั่งกรมโรงงานฯ ตรวจโรงงานเชิงรุก ไม่ปรับปรุงสั่งปิดทันที (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มอบนโยบายดำเนินการต่อเนื่องตาม 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการเร่งด่วน เข้มงวด กรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน ให้ออกคำสั่งปรับปรุงแก้ไขทันที 2. มาตรการระยะกลาง พัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล (Pollution Online Monitoring System: POMS) และ 3. มาตรการระยะยาว ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบายสู่การดำเนินการอย่างบูรณาการ และให้เน้นตรวจเชิงรุกด้านฝุ่นละอองโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 896 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 260 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) จำนวน 636 โรงงาน หากพบการกระทำผิด จะให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือหยุดประกอบกิจการทันที

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานใน กรอ. ดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้ดำเนินการตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากการประกอบกิจการโรงงาน นอกจากนี้เมื่อกลางปี กรอ. ได้ออกกฎหมายให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ (CEMS) เพื่อติดตามข้อมูลการระบายมลพิษอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และให้โรงงานส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกลแสดงผลบนเว็บไซต์ของ กรอ. https://poms.diw.go.th และ แอปพลิเคชัน POMS (Pollution Online Monitoring System) ประชาชนสามารถติดตามการระบายมลพิษอากาศของโรงงานได้ตลอดเวลา โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบ Android และ iOS พร้อมกำชับผู้ประกอบการวางแผนการผลิต และควบคุมดูแลการประกอบกิจการ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ต้องดูแลรักษาระบบบำบัดมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา

2. สมอ.สั่งเข้ม 'ภาชนะพลาสติกใส่อาหาร'เป็นสินค้าควบคุม (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565)

สมอ. ดีเดย์ 3 ม.ค. 66 คุมเข้ม “ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหาร” เป็นสินค้าควบคุม ต้องได้ มอก. เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จับตาทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าทุกรายต้องยื่นขอ มอก. ก่อนวันมีผลบังคับใช้ หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว อีกภารกิจที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยการควบคุมสินค้าที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 136 รายการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะควบคุมเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่  1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ที่ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ที่ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหารที่ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์ 4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  และ 5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว โดยสินค้าทั้ง 5 รายการดังกล่าวแบ่งตามชนิดของพลาสติกที่ใช้ทำเฉพาะชั้นที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 3 ม.ค. 2566 นี้ เนื่องจากภาชนะที่สัมผัสอาหารโดยตรงมีความเสี่ยงที่จะมีสารเคมีปนเปื้อน  หรือสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนลงสู่อาหารได้ เช่น  สารตั้งต้นที่ใช้ทำพลาสติก  โลหะหนักที่อยู่ในสารเติมแต่ง หรือสีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก เป็นต้น

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าทั้ง 5 รายการดังกล่าว เป็นสินค้ามาตรฐานทั่วไปที่ผู้ประกอบการสมัครใจในการยื่นขอการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน มอก.655 และ มอก.2493 ซึ่งมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. รวมจำนวน 13 ราย แต่หลังจากวันที่ 3 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการทุกรายทั้งผู้ทำและผู้นำเข้า จะต้องยื่นขอใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย กรณีทำโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีแสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดมีไว้เพื่อจำหน่าย จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และขอฝากถึงประชาชนผู้บริโภค ก่อนซื้อภาชนะหรือเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ขอให้สังเกตเครื่องหมายมาตรฐาน ก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย “เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อกำหนดในมาตรฐานและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สมอ. ได้จัดการสัมมนา เรื่องการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการขอรับใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร มอก.655 เล่ม 1 – 3 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ มอก.2493 เล่ม 1 – 2 ขึ้น ในวันพุธที่ 30 พ.ย. 2565 ณ ห้อง Mayfair A-B โรงแรม เดอะ เบอร์เคลียร์ ประตูน้ำ”นายบรรจง กล่าว

3. ประชุม COP 27 ไทยร้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบนโยบายสำหรับคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6-18 พ.ย.นี้

โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. คณะผู้บริหาร ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเพื่อพิจารณาการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ว่า กรอบท่าทีเจรจาในการประชุม COP 27 ระหว่างปี 2565-2566 ไทยจะสนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก พร้อมคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับอย่างยั่งยืน ยืนยันว่าการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง คำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี ที่สำคัญประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ และประเทศไทยตั้งใจจะร่วมกับภาคีอื่น ดำเนินงานตามความตกลงปารีส ดังนั้น ขอให้คณะผู้แทนไทยใช้กรอบท่าทีเจรจาฯดังกล่าว เป็นหลักในการเจรจา และติดตามประเด็นการเจรจาในระหว่างการประชุมอย่างเคร่งครัด พร้อมรายงานความก้าวหน้าผลการประชุมผ่านระบบการรายงานที่จัดเตรียมไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการสรุปผลการประชุม COP 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข่าวต่างประเทศ

4. ซาอุดีอาระเบีย ลดพึ่งพาน้ำมัน เบนเข็มรุกตลาด “อีวี” (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, ประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565)

การผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศของ “ซาอุดีอาระเบีย” เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันในเชิงเศรษฐกิจมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายราย เพื่อวางรากฐานก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สำคัญระดับโลก

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (พีไอเอฟ) ของซาอุดีอาระเบีย ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของไต้หวันอย่าง “ฟ็อกซ์คอนน์” (Foxconn) ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตรถยนต์อีวีแบรนด์แรกของซาอุดีอาระเบียในชื่อ Ceer โดยฟ็อกซ์คอนน์จะมีบทบาทในการพัฒนาสถาปัตยกรรมไฟฟ้าภายในรถยนต์ของ Ceer ไม่ว่าจะเป็นระบบความบันเทิงภายในรถยนต์ ระบบการเชื่อมต่อ รวมถึงระบบขับขี่อัตโนมัติ ขณะที่ส่วนประกอบของรถยนต์จะใช้เทคโนโลยีจากผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำอย่าง “บีเอ็มดับเบิลยู” ทั้งนี้ Ceer จะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ซีดานและเอสยูวี โดยคาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ในปี 2025 และจัดจำหน่ายในซาอุดีอาระเบียรวมถึงกลุ่มประเทศในตะวันออกและแอฟริกาเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ที่เข้ามาตีตลาดอย่าง “เทสลา” และ “บีวายดี” จากจีน นอกจากนี้ Ceer ยังตั้งเป้าระดมทุนผ่านการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างตำแหน่งงานภายในประเทศได้ถึง 30,000 ตำแหน่ง และมีส่วนช่วยสร้างจีดีพีให้กับซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นอีกกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2034

แถลงการณ์ของกองทุนพีไอเอฟระบุว่า “ซาอุดีอาระเบียไม่เพียงแต่จะสร้างแบรนด์รถยนต์ใหม่ แต่เรากำลังจุดประกายอุตสาหกรรมใหม่” ทั้งนี้ เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเป็นประธานกองทุนพีไอเอฟ และเป็นผู้นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียให้ลดการพึ่งพาน้ำมัน