ตัวอย่าง การปฏิบัติที่เป็นเลิศ

วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Best practice กำลังเป็นที่นิยมในวงการการศึกษาของประเทศไทย องค์กรทางการศึกษากำหนดให้มีการประกวด Best practice ในด้านต่าง ๆ เช่น การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, การส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ทั้งในระดับกลุ่มโรงเรียน, เขตพื้นที่การศึกษา, ภาค และประเทศ หลากหลายโรงเรียนส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในสังกัดจัดทำ Best practice ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า Best practice คืออะไร และมีวิธีการทำอย่างไร ผู้เขียนใคร่นำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและอาจเป็นแนวทางในการจัดทำ Best practice ต่อไป

ที่มาของ Best practice

               Best practice มีจุดเริ่มต้นจากการแพทย์ที่เป็นวิธีการปฏิบัติงานที่ดีนำสู่ผลสำเร็จ มีการแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัตินั้นกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอก และที่สุดคือ การนำ Best practice ไปใช้จนเป็นมาตรฐานของหน่วยงาน ดังเช่น โปรแกรมการเชิญชวนผู้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากของกลุ่มแพทย์เฮนรี่ฟอร์ด โดยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้านร่วมกับการรักษาที่ศูนย์การรักษา โดยดำเนินกิจกรรมในลักษณะของการวิจัย

               สำหรับประเทศไทย Best practice เริ่มเข้ามายังวงการการศึกษาใน พ.ศ. 2546 พร้อม ๆ กับโครงการ “โรงเรียนในฝัน” ที่มุ่งให้เกิดการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบให้ทันสมัย เพื่อให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ คิดเป็น มีทักษะชีวิต มีความเป็นไทย และมั่นใจในตนเอง โดยจัดให้มีการประกวด Best practice ทั้งในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียน อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกระแสการ “สร้าง” Best practice ในวงการการศึกษาไทยกระทั่งทุกวันนี้

สามารถค้นหา Best practice ได้อย่างไร

               การพิจารณาว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็น Best practice นั้น “ใช่” หรือ “ไม่” นั้น มีวิธีการช่วยค้นหา ดังนี้

               1. การวิเคราะห์บริบท ความคาดหวังของสถานศึกษา ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย

               2. ให้วงจรคุณภาพ (PDCA) ครบทั้งวงจร

               3. เป็นนวัตกรรมหรือไม่

               4. ตอบคำถามต่อไปนี้

                   1) นวัตกรรมนั้น คืออะไร (What)

                   2) นวัตกรรมนั้นผลิตหรือใช้อย่างไร (How)

                   3) นวัตกรรมนั้นทำเพื่ออะไร (Why)

               5. วิเคราะห์ปัจจัยที่สำเร็จและบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการใช้นวัตกรรม

               เมื่อค้นหานวัตกรรมที่จะเป็น Best practice ได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการพิจารณานวัตกรรมนั้นว่าเป็น Best practice จริงหรือไม่ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

               1. มีความสอดคล้องกับความคาดหวังของโรงเรียน ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย

               2. มีวงจรคุณภาพชัดเจน

               3. สามารถบอกเล่าได้หรือไม่ว่า “ทำอะไร” “ทำอย่างไร” และ “ทำไมจึงทำ”

               4. ผลที่เกิดขึ้นสอดคล้องหรือสะท้อนวัตถุประสงค์

               5. ต้องเป็นส่งที่ “ปฏิบัติได้จริงและเห็นผลแล้ว” ไม่ใช่แนวคิดหรือทฤษฎี

การเขียน Best practice

               หลังจากที่เลือกนวัตกรรมที่เป็น Best practice ได้แล้ว “อุปสรรค” ต่อมา คือ จะเขียนนวัตกรรมให้เป็น Best practice ได้อย่างไร ผู้เขียนขอนำเสนอองค์ประกอบของรายงาน Best practice ดังนี้

               1. ความสำคัญ Best practice ควรระบุเหตุผล ความจำเป็น ปัญหาหรือความต้องการ แนวคิด หลักการสำคัญในการออกแบบนวัตกรรมให้ชัดเจน จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและมีหลักฐานอ้างอิงสมบูรณ์ถูกต้องตามหลักวิชาการ

               2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน ต้องมีความชัดเจน สมบูรณ์ เป็นรูปธรรมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา

               3. ขั้นตอนการดำเนินงาน เป็นขั้นตอนสำคัญที่อาจ “ชี้เป็นชี้ตาย” ในความเป็น Best practice ได้ หลักสำคัญของการเขียนขั้นตอนการดำเนินงานคือ “การสื่อสาร” ถึงขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่ต้นกระทั่งสำเร็จเป็นผลงาน ขั้นตอนต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีทฤษฎีรองรับ และที่สำคัญหากนำเสนอเป็น “Flow chat” ได้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือจาก “ผู้ประเมิน”

               4. ผลการดำเนินงานหรือประโยชน์ ต้องระบุความสำเร็จของการดำเนินงานที่เกิดจากการนำนวัตกรรมไปใช้ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนหรือไม่ ตรงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงานหรือไม่ หากมีหลักฐานสนับสนุนจะสามารถ “ทำคะแนน” ได้มาก

               5. ปัจจัยความสำเร็จ สิ่งที่ช่วยให้นวัตกรรมนี้ประสบความสำเร็จคืออะไรบ้าง หากเขียนเป็นด้าน ๆ เช่น ด้านผู้บริหาร ด้านครู ด้านกระบวนการ ด้านนักเรียน และด้านชุมชน จะเป็นการแสดงความสามารถในการวิเคราะห์และเข้าใจในนวัตกรรมของตนเอง การมีหลักฐานประกอบอย่างชัดเจนเป็นสิ่งที่สนับสนุนนวัตกรรมได้อย่างดียิ่ง

               6. บทเรียนที่ได้รับ ควรสรุปเป็นหลักการ ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และข้อควรระมัดระวังในการนำนวัตกรรมไปใช้ แนวทางการพัฒนานวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น และการส่งผลต่อวงการการศึกษา

               7. การเผยแพร่ การได้รับการยอมรับ และรางวัลที่ได้รับ นวัตกรรมส่วนมากที่นำเสนอให้เป็น Best practice มักจะมีจุดอ่อนในข้อนี้ ดังนั้นการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อเป็น Best practice หากมีรางวัลจากการประกวดแข่งขันในระดับต่าง ๆ หรือได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอในการประชุมหรือสัมมนาต่าง ๆ หรือการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในวงการการศึกษา จะเป็นการแสดงความสำเร็จและ “ความกว้าง” ของนวัตกรรมได้

บทส่งท้าย

                   บทความ “ทำอย่างไรจึงเป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practice)” ผู้เขียนต้องการนำเสนอแนวความคิดในการกระตุ้นให้เพื่อนครูทบทวนผลงานของตนเองเพื่อคัดเลือกเป็น Best practice ของตนเอง และสร้างความกระจ่างว่า Best practice ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเพียงการบอกเล่าสิ่งที่ตนเองได้ปฏิบัติแล้วและเกิดผลสำเร็จต่อ “หน้าที่และความรับผิดชอบ” ของความเป็นครู และนำมาปฏิบัติและพัฒนาต่อเนื่องตามวงจรคุณภาพ

               การจัดทำเอกสารควรมีความ “คม” ในหลักการ ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมหรือเป็นหลักในการปฏิบัติ “ชัด” ในที่มาของนวัตกรรม วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการดำเนินการ บทเรียนที่ได้รับ และการได้รับรางวัลหรือการยอมรับ “ลึก” ในผลการดำเนินงาน ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

               ท้ายที่สุด Best practice เกิดจากการผลิต/พัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้หรือวิธีการปฏิบัติที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกระทั่งเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ และไม่ใช่การ “ลาก” ผลงานที่ปรากฏเข้าสู่ทฤษฎีหรือแนวคิดที่สวยหรูเพื่อให้เกิดเป็นโมเดล (model)

บรรณานุกรม

คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงาน. แนวปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมระดับประเทศ Best of the Best Practice. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. 2554.

เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42, สำนักงาน. เกณฑ์การให้คะแนนการคัดเลือกนวัตกรรม/วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ที่สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปีการศึกษา 2556 (รอบสอง). นครสวรรค์: สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42. 2556.