การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

กาพย์พระไชยสุริยา

กาพย์พระไชยสุริยาเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่น้อง ๆ ทุกคนจะได้ศึกษากัน แต่รู้ไหมคะว่าคำกาพย์ที่แต่งโดยสุนทรภู่นี้เป็นกาพย์แบบไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เหตุใดถึงมาอยู่ในแบบเรียนวิชาภาษาไทยได้ วันนี้เราจะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของกาพย์พระไชยสุริยา รวมถึงเรื่องลักษณะคำประพันธ์และสรุปเนื้อเรื่องโดยย่อ ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ

ความเป็นมาของกาพย์พระไชยสุริยา

การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

กาพย์พระไชยสุริยา เป็นวรรณคดีคำกาพย์ที่สุนทรภู่แต่ง มีความยาว 1 เล่มสมุดไทย นักวรรณคดีและนักวิชาการสันนิษฐานว่าสุนทรภู่แต่งขึ้นขณะบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาระหว่าง พ.ศ. 2382-2385 หรืออาจแต่งในตอนที่จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีในปี พ.ศ. 2368 แม้ปีที่แต่งจะไม่ชัดเจนแต่เป็นที่แน่ชัดว่าสุนทรภู่แต่งขึ้นเพื่อให้กาพย์พระไชยสุริยาเป็นแบบสอนอ่านและเขียนมาตราตัวสะกดคำต่าง ๆ สำหรับเด็กในยุคนั้น และยังคงใช้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะคำประพันธ์

การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

สุนทรภู่แต่งกาพย์พระไชยสุริยาโดยใช้คำประพันธ์ประเภทกาพย์ มีทั้งหมด 3 กาพย์คือ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 แต่ละกาพย์มีลักษณะที่ต่างกันทำให้การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน

กาพย์ยานี 11

การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

ลักษณะบังคับของกาพย์ยานี 11

คำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ 3 ของวรรคที่ 2

คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 3

คำสุดท้ายของวรรคที่ 4 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 2 ในบทต่อไป

กาพย์ฉบัง 16

การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

ลักษณะบังคับของกาพย์ฉบัง 16

คำสุดท้ายของวรรคที่ 1 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรค 2

คำสุดท้ายของวรรคที่ 3 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 1 ของบทต่อไป

กาพย์สุรางคนางค์ 28 

การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

ลักษณะบังคับของกาพย์สุรางคนางค์ 28 

คำสุดท้ายของวรรคที่ 1 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 2

คำสุดท้ายของวรรคที่ 3 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 5

คำสุดท้ายของวรรคที่ 4 สัมผัสกับคำที่ 2 ของวรรคที่ 5

คำสุดท้ายของวรรคที่ 5 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 6

สัมผัสระหว่างบทคือ คำสุดท้ายของวรรคที่ 7 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 3 ในบทต่อไป

ความแตกต่างระหว่างกาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และ กาพย์สุรางคนางค์ 28

การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

1. จำนวนคำและวรรค

กาพย์ยานี 11 บทหนึ่งมี 2 บาท ในแต่ละบาทมี 2 วรรค โดยที่วรรคแรกจะมี 5 คำ และวรรคหลังมี 6 คำ รวมเป็น 11 คำ

กาพย์ฉบัง 16 บทหนึ่งมี 3 วรรค ในวรรคแรกจะมี 6 คำ วรรคสองมี 4 คำ และวรรคสุดท้ายมี 6 รวมเป็น 16 คำ

กาพย์สุรางคนางค์ 28 บทหนึ่งมี 7 วรรค แต่ละวรรคมี 4 คำ หนึ่งบทมี 28 คำ

2. สัมผัส เมื่อมีจำนวนคำต่างกัน จำนวนวรรคไม่เท่ากัน สัมผัสระหว่างวรรคและระหว่างบทก็จะแตกต่างกันไปด้วย

3.การอ่าน กาพย์ยานี 11 จะแบ่งวรรคอ่านต่างจากเพื่อนเนื่องจากว่าวรรคหน้าและวรรคหลังแบ่งจังหวะการอ่านไม่เท่ากัน ส่วนกาพย์ฉบัง 16 กาพย์สุรางคนางค์ 28 จะเหมือนกันตรงเว้นจังหวะการอ่านทุก 2 คำ

กาพย์ยานี 11 มีจังหวะการอ่านวรรคละ 2 จังหวะ คือ วรรคหน้า 5 คำ อ่าน 2 / 3 วรรคหลัง 6 คำ อ่าน 3 / 3

กาพย์ฉบัง 16 เว้นจังหวะการอ่านทุก ๆ 2 คำ วรรคแรกและวรรคท้าย 2/2/2 ส่วนวรรคกลางอ่านเป็น 2/2

กาพย์สุรางคนางค์ 28 เว้นจังหวะการอ่านทุก ๆ 2 คำ ในทุกวรรค เนื่องจากทุกวรรคมีจำนวนคำเท่ากัน

4. ลักษณะการใช้ แม้จะเป็นกาพย์เหมือนกันแต่มีลักษณะการใช้ที่ต่างกันออกไป ดังนี้

กาพย์ยานี 11 ใช้เวลาเล่าเรื่องที่มีจังหวะเนิบนาบ นิยมแต่งในการพรรณนาถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างเชื่องช้า ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรืออารมณ์เศร้า คร่ำครวญ

กาพย์ฉบัง 16 เป็นการพรรณนาถึงสิ่งต่าง ๆ แต่จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว พรรณนาด้วยอารมณ์คึกคัก รวบรัด

กาพย์สุรางคนางค์ 28 ใช้เป็นการเล่าเรื่องเพื่อรวบรัดเนื้อหาให้เร็ว แสดงปาฏิหาริย์ แสดงความโกรธ ความคึกคัก มักใช้ร่วมกับฉันท์

สรุปเนื้อเรื่อง

การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

พระไชยสุริยาเป็นกษัตริย์ครองเมืองสาวัตถีมีมเหสีชื่อนางสุมาลี แต่แล้วบ้านเมืองที่เคยสงบสุขก็เต็มไปด้วยการฉ้อฉลของข้าราชบริพาร หลงมัวเมาในอบายมุข จนในที่สุดฟ้าดินก็ลงโทษโดยการบันดาลให้น้ำท่วมเมือง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเมืองสาวัตถีกลายเป็นเมืองร้าง พระไชยสุริยากับนางสุมาลีพร้อมประชาชนอีกจำนวนหนึ่งก็พากันหนีลงเรือเพื่อออกจากเมือง แต่กลับถูกพายุพัดจนเรืออับปาง พระไชยสุริยากับนางสุมาลีที่ยังรอดชีวิตจึงว่ายน้ำเข้าฝั่ง รอนแรมอยู่ในป่าจนไปพบกับฤๅษีรูปหนึ่ง ฤๅษีเกิดความสงสารพระไชยสุริยาเพราะเห็นว่าเป็นกษัตริย์ที่ดีจึงเทศนาจนสองสามีภรรยาเกิดความเลื่อมใส ตัดสินใจบำเพ็ญศีลภาวนาจนได้ไปเกิดอยู่บนสวรรค์

การอ่านกาพย์สุรางคนางค์ 28

จากบทเรียนในตอนนี้คงจะทำให้น้อง ๆ หลายคนเข้าใจกาพย์พระไชยสุริยากันแล้วนะคะว่ามีประวัติความเป็นมา มีลักษณะคำประพันธ์และเนื้อเรื่องอย่างไร จะเห็นได้ว่ากาพย์พระไชยสุริยาเป็นวรรณคดีที่นอกจากจะถูกใช้เป็นแบบเรียนเรื่องมาตราตัวสะกดแล้ว ยังสอนเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมาย อย่างเรื่องคำประพันธ์ หรือเรื่องคติธรรมจริยธรรมอีกด้วย สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากจะฟังคำอธิบายเพิ่มเติม ก็สามารถไปดูคลิปย้อนหลังของครูอุ้มได้นะคะ ไปดูกันเลย