ตัวอย่าง คํา ฟ้อง ละเมิด รถชน เสียชีวิต

การเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถชนและขั้นตอนการฟ้องเรียกค่าสินไหม


ทนายกาญจน์
(Admin)
เมื่อ » 2017-12-11 15:07:25 (IP : , ,27.145.233.154 ,, Admin) Admin Edit : 2018-01-03 18:16:57

การเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถชนหรือขับรถประมาท

                ปัจจุบันปริมาณรถยนต์บนท้องถนนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี การเกิดอุบัติเหตุรถชนบนท้องถนนจึงเพิ่มขึ้นตามมาและเป็นภัยใกล้ตัวกับทุกๆคนในปัจจุบันไปแล้ว อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ขับขี่และส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินตามมา หลายท่านอาจประสบอุบัติเหตุรถชนทั้งที่มิได้เป็นฝ่ายประมาทแต่เกิดความเสียหายอันมีมูลค่าสูงมาก และมีความกังวลใจว่าในทางกฎหมายจะเรียกให้คู่กรณีอีกฝ่ายชดใช้ค่าเสียหายประเภทใดให้ได้บ้าง บทความนี้จะนำเสนอให้ได้ทราบในเบื้องต้น
               กรณีสมมุติว่านายเอขับรถเก๋ง จอดรอติดไฟแดงตรงสี่แยกแต่มีรถบรรทุก ขับขี่โดยนายเร่ง แต่ด้วยความประมาทได้ขับชนท้ายรถเก๋งเสียหายหนัก แล้วมีนาง ก และนาย ข สามีภรรยา นั่งเบาะหลังผู้โดยสารในรถเก๋งซึ่งนาง ก เป็นเจ้าของรถเก๋งดังกล่าว นาง ก ได้รับบาดเจ็บสาหัส  และนาย ข เสียชีวิต ทั้งสอง มีบุตร กำลังศึกษา 2 คน คนแรกชั้น ป 6 อายุ 12 ปี คนที่ 2 ชั้นม 3 อายุ 15 ปี นาง ก ไม่ได้ประกอบอาชีพ นาย ข มีอาชีพเป็นพนักงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายฯบริษัท ss มีเงินเดือน ๓๐,๐๐๐ บาท คดีลักษณะอย่างนี้ตามกฎหมายจะมีขั้นตอนทางคดีและพอจะเรียกค่าเสียหายประเภทใดได้บ้าง
ในคดีนี้ มีการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือมีผู้เสียชีวิต ผู้กระทำก็จะมีความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษถึงจำคุก และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในทางแพ่งด้วยกล่าวคือ เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ลักษณะสังเขปของการดำเนินคดี เริ่มด้วยเจ้าพนักงานตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและจัดให้คู่กรณีตกลงเรื่องค่าเสียหายกัน ซึ่งหากตกลงกันได้หรือไม่ได้อย่างไร เจ้าพนักงานตำรวจก็ต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการฟ้องนายเร่งต่อศาลในข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสมีโทษจำคุกถึง 3 ปี และกรณีถึงแก่ความตายตาม ปอ.มาตรา 291 จำคุกถึง 10 ปี  เมื่อคดีถึงชั้นฟ้องศาลนายเร่งจะตกเป็นจำเลย หากผู้เสียหายยังไม่ได้รับค่าชดใช้ความเสียหายใดๆจากคู่กรณีหรือจำเลยดังกล่าว คดีประเภทนี้ก่อนสืบพยาน ศาลจะจัดให้ผู้เสียหายตกลงเรื่องการใช้ค่าเสียหายกัน หากตกลงกันได้ตามที่พอใจทั้งสองฝ่าย ถือว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายใดๆอีกต่อไป พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นการบรรเทาผลร้ายแก่ผู้เสียหาย มีเหตุบรรเทาโทษ ตามปอ. ม.78 ซึ่งศาลจะพิจารณาลดโทษให้จำเลยได้ถึงกึ่งหนึ่งของความผิดนั้น และหากลดโทษแล้วศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี...หากปรากฏว่าจำเลยไม่เคยกระทำความผิดซึ่งมีคดีโทษจำคุกมาก่อน และพฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลก็อาจจะพิจารณารอการลงโทษหรือรอลงอาญาให้จำเลยได้ตาม ปอ.ม.56 คดีก็จะจบแบบแฮบปี้ๆ
                แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนี้เสมอไป หลายๆครั้งมักมีปัญหาตกลงค่าเสียหายกันไม่ได้อาจจะเป็นเพราะจำเลยเห็นว่าผู้เสียหายเรียกร้องมากเกินไป ทีนี้เราจะต้องดำเนินคดีต่อไปอย่างไร
กระบวนการต่อไปผู้เสียหายอาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการหรือจะยื่นคำร้องขอเรียกค่าเสียหายตาม ปวิอ.มาตรา 44/1 ในฐานะผู้เสียหายเพียงอย่างเดียวก็ได้ ซึ่งมีคำถามว่าผู้เสียหายคือใครบ้างที่มีสิทธิ์ จากเรื่องสมมุติข้างต้น ผู้ที่ได้รับความเสียหาย คือ นาง ก และบุตร ทั้งสอง ของ นาย ข ซึ่งแยกเป็นส่วนๆดังต่อไปนี้                                  
              ค่าปลงศพ นาง ก หากนาง ก เป็นผู้จัดการงานศพของ นาย ข นาง ก มีสิทธิ์เรียกค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นอันเกี่ยวกับการจัดการงานศพ ตามที่จ่ายจริง ตาม ปพพ.ม.443 วรรค 1 ได้ กรณีเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ แต่หากมิได้เสียชีวิตทันที ต้องเข้ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 100,000 บาท นาง ก ก็มีสิทธิ์เรียกค่ารักษาพยาบาลได้ 100,000 บาท
                ค่าขาดไร้อุปการะ หากก่อนเกิดเหตุนาง ก ไม่ได้ทำงานประกอบอาชีพแต่นาย ข ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูในฐานะภริยา นาง ก เดือนละ 15,000 บาท และอาจได้รับ จาก นาย ข เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี นาง ก เรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ถึง 3,600,000 (สามล้านหก)
                ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินจากการทำละเมิด ได้แก่ ค่าซ่อมรถเก๋งนาง ก หากซ่อมรถไปจำนวน 100,000 บาท หรือประเมินราคาค่าซ่อมตามจริงเป็นเงิน100,000บาท ก็เรียกได้เต็มจำนวนที่ใช้จ่ายไปจริงหรือเท่าราคาค่าซ่อมที่ประเมิน ได้ดังกล่าว ตาม ปพพ ม.438 ว.2
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ (ไม่ได้ใช้รถหลายวันเพราะซ่อมยังไม่เสร็จ)ส่วนนี้ศาลจะใช้ดุลพินิจให้ตามความเหมาะสมเป็นเฉพาะกรณีไปเช่น อาจคิดให้วันละ 200-500 บาท เป็นต้น  ตาม ปพพ. ม438 ว.1 และ ว.2
                 ค่ารักษาพยาบาลตัวนาง ก เอง เนื่องจากได้รับบาดเจ็บสาหัส
                ค่าเสียหายของบุตรนาย ข ผู้ตาย
                ค่าขาดไร้อุปการะของบุตรคนแรก ซึ่งก่อนเกิดเหตุ ได้ศึกษาอยู่ ชั้น ป.6 นายขอส่งเสียอุปการะและค่าศึกษา เดือนละ ไม่น้อยกว่า 4,000 บาท ส่วนนี้คิดเพียงเมื่อบุตรอายุ 20 ปีจึงเป็นเงินประมาณ สามแสนบาทเศษ
                ค่าขาดไร้อุปการะ บุตรคนที่สอง ปัจจุบันอยู่ชั้น ม.3 อายุ 15 ปีนาย ข บิดาได้อุปการะเลี้ยงดูส่งเสียเดือนละ 5,000 บาท เมื่อครบ อายุ 20 ปี คิดเป็นค่าเสียหาย 300,000 บาท
                นี่เป็นเพียงหลักการเรียกค่าเสียหายในเบื้องต้นซึ่งในทางปฏิบัติมีรายละเอียดและขั้นตอนการพิสูจน์และเทคนิคยุ่งยากอยู่พอสมควร ผู้เสียหายจึงควรมีทนายความเข้าดำเนินการจัดการให้มิเช่นนั้นอาจเสียรู้ให้กับคู่ความฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจจะไม่ได้อะไรเลยก็ได้
          กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น
                 ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๙๑  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา ๓๐๐  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๖ ผู้ใดกระทําความผิดซึ่งมีโทษจําคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาล จะลงโทษจําคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น (๑) ไม่เคยรับโทษจําคุกมาก่อน หรือ (๒) เคยรับโทษจําคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือ (๓) เคยรับโทษจําคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจําคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปีแล้วมากระทํา ความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และเมื่อศาลได้คํานึงถึงอายุ ประวัติความประพฤติสติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึก ความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้น มีความผิดแต่รอการกําหนดโทษหรือกําหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ไม่ว่าจะเป็นโทษจําคุกหรือปรับ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กําหนดแต่ต้อง ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกําหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ ก็ได้ ...
มาตรา ๗๘ เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่ เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทําความผิดนั้นก็ได้ เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทําความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์ อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษ ต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามี ลักษณะทํานองเดียวกัน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๔/๑[๑๕]  ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น  ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้
คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา ๔๓ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้
                 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                   มาตรา ๔๓๘  ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
มาตรา ๔๔๓  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้น ทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา ๔๔๔  ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดี เป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียงใด ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีก็ได้
มาตรา ๔๔๕  ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมาย จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย
มาตรา ๔๔๖  ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้