เฉลย ใบงาน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ม. 3

รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และ ความเหมาะสมลักษณะของวัฒนธรรม
        1. วัฒนธรรมเกิดจากการเรียนรู้ วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด
        2. วัฒนธรรมเป็นมรดกของสังคม วัฒนธรรมเป็นผลของการถ่ายทอดและการเรียนรู้ จากสมาชิกรุ่นหนึ่งไปสู่สมาชิกอีกรุ่นต่อไป การถ่ายทอดนั้น ต้องใช้เวลา และมีภาษาเป็นสื่อกลาง
        3. วัฒนธรรมเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต บุคคลที่เกิดในสังคมใดก็ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของสังคมนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสังคม
        4. วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ จากการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ หรือปรับปรุงของเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้วัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
        5. วัฒนธรรมมีลักษณะเป็นการแสดงถึงรูปแบบของความคิด ในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นผลมาจาการช่วยกันกำหนดรูปแบบของความคิดในการแสดงพฤติกรรมของสมาชิก โดยที่สมาชิกรับรู้ร่วมกัน และประพฤติตามแนวคิดนั้น
        6. วัฒนธรรมมิใช่เป็นของผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ วัฒนธรรมเป็นของส่วนรวม ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์อยู่ร่วมกัน และสร้างรูปแบบในการดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกัน 

ประเพณี 

        หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้นๆฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคม ลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติ มีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแปลกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น แต่โดยมากย่อมมีจุดประสงค์ และวิธีการปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเฉพาะส่วนปลีกย่อยที่เสริมเติมแต่งหรือตัดทอนไปในแต่ละท้องถิ่น สำหรับประเพณีไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาและพราหมณ์มาแต่โบราณ


ภูมิปัญญา 

        หรือ Wisdom หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ ที่นำมาไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษย์ หรือ ภูมิปัญญา คือ พื้นความรู้ของปวงชนในสังคมนั้น ๆ และปวงชนในสังคมยอมรับรู้ เชื่อถือ เข้าใจ ร่วมกัน เรียกว่า ภูมิปัญญา
        ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนา และถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญญาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย ภูมิปัญญาไทยนี้มีลักษณะเป็นองค์รวม มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในวิถีชีวิตไทย ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่งอกงามขึ้นใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการและการปรับตัวในการดำเนินวิถีชีวิตของคนไทย ลักษณะองค์รวมของภูมิปัญญามีความเด่นชัดในหลายด้านเช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม และหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณะและภูมิปัญญา


ภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละภาค

วิดีโอ YouTube


ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือ

เฉลย ใบงาน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ม. 3


ภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคเหนือที่สำคัญ มีดังนี้
        1.1 งานหัตถกรรม ได้แก่ งานแกะสลักไม้และภาชนะเครื่องเงินของจังหวัดเชียงใหม่ผ้าไหมยกดอก จังหวัดลำพูน และผ้าตีนจกบ้านนามน จังหวัดแพร่ เป็นต้น
        1.2 ภาษิตสอนใจ ที่เรียกว่า “ล้านนาภาษิต” สอนให้ผู้คนเคารพกฎระเบียบของสังคม เช่น ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักการแบ่งปัน ระมัดระวังคำพูดไม่ใช้คำพูดล่วงเกินผู้อื่น และเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนในสังคม เป็นต้น
        1.3 พืชผักพื้นบ้าน คนท้องถิ่นภาคเหนือรู้จักคุณค่าของพืชผักพื้นบ้านชนิดต่างๆที่เก็บหาได้ตามชายป่า มีคุณประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ใช้เป็นอาหาร ยาสมุนไพร และทำสีย้อมผ้าฝ้ายพืชบางชนิดช่วยยึดตลิ่งริมน้ำไม่ให้ถูกกระแสน้ำกัดเซาะพังทลาย และลวดลายของใบพืชผักบางชนิดมีความสวยงามถึงกับนำมาทำลวดลายบนผ้าตีนจก หรือลายปูนปั้นหน้าโบสถ์ เป็นต้น
        1.4 การแพทย์พื้นบ้าน การรักษาคนไข้ของหมอพื้นบ้านล้านนา จะรักษาคนไข้ทั้งร่างกายและจิตใจ และรวมไปถึงญาติพี่น้องในครอบครัวด้วย เมื่อคนไข้เกิดความพึงพอใจต่อวิธีรักษาพยาบาลจะส่งผลดีทางด้านจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างรวดเร็ว

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้


        ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการพัฒนา การปรับตัว ปรับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ที่ประกอบด้วยคนไทยและอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในคาบสมุทรมีคนมาเลย์ คนจีน และคนที่มาจากอินเดียฝ่ายใต้ แต่กลุ่มชนที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ไทยสยาม โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแหลมทอง มีทะเลกว้างใหญ่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในทะเล และบนแผ่นดิน อันล้วนเป็นเขตมรสุมใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผู้คนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรมเดินทางมาทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อมาตั้งหลักแหล่ง แสวงหาโภคทรัพย์และทำมาค้าขายเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานกว่าพันปี มีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันหลายลักษณะ ทั้งบริเวณชายทะเล ที่ราบระหว่างชายทะเลกับเทือกเขา หลังเขา และตามสายน้ำน้อยใหญ่จำนวนมากที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน ภูมิปัญญาของภาคใต้จึงมีความหลากหลาย ทั้งที่ได้พัฒนาการจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หรือคนต่างถิ่นที่พกพามาจากแหล่งอารยธรรมต่างๆ จนหลอมรวมกัน เกิดเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น 

ภูมิปัญญาในด้านการดำรงชีพ
        การแสวงหาปัจจัยพื้นฐานของการยังชีพถือเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของชนทุกชาติทุกภาษา ซึ่งวิธีการจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม สำหรับชนชาวใต้ที่มีทำเลตั้งถิ่นฐานค่อนข้างหลากหลายคือ มีทั้งที่ราบตามแนวชายฝั่ง ปากอ่าว ท่าเรือ ที่ราบเชิงเขา หลังเขา ตามแนวสายน้ำน้อยใหญ่ บนเกาะ ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน ทำให้ชาวใต้ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ ความสามารถ อย่างมากมายในการจัดการและปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ซึ่งมีอยู่หลายประการ คือ
        1. การขุดสระน้ำ เพื่อให้ได้น้ำจืดใสสะอาดไว้กินไว้ใช้ตลอดทั้งปี เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล ยามที่น้ำขึ้น น้ำเค็มจะไหลเอ่อเข้ามาในแผ่นดิน จะอาศัยอาบกินก็ไม่สะดวก ดังนั้นจึงเกิดภูมิปัญญาในการหาทำเลขุดบ่อน้ำ ซึ่งบริเวณที่เหมาะสมควรจะเป็นพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
            -บริเวณที่มีหญ้าขึ้นในฤดูแล้ง
            -บริเวณที่มีต้นกะพ้อ มะเดื่อ หรือมีจอมปลวก เป็นบริเวณที่มีความชื้นอยู่มาก น้ำใต้ดินอยู่ในระดับตื้น
            -ทดสอบโดยใช้กะลามะพร้าวผาซีก ไปคว่ำไว้ตามจุดที่สงสัยว่าจะมีตาน้ำ เมื่อหงายดู ถ้าพบว่ามีหยดน้ำจับอยู่มากก็เชื่อได้เลยว่าตาน้ำอยู่ไม่ลึก
        2. การปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน ชาวใต้มีความเชื่อทำนองเดียวกันกับภาคอื่นว่าการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านต้องเลือกปลูกเฉพาะไม้ที่เป็นมงคลและปลูกให้ถูกทิศทาง โดยมีประโยชน์แฝงไว้เพื่อให้เกิดความร่มเย็นทั้งกายใจ ส่วนที่ห้ามปลูกในบริเวณบ้าน เป็นพวกไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขามาก หรือชื่อไม่เป็นมงคล เช่น เต่าร้าง ลั่นทม ความเชื่อนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการโคจรของดวงอาทิตย์ ทิศทางของลมมรสุม ความหนักเบาของฝน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน รวมถึงความเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ในแต่ละพันธุ์ด้วย
        3. การปลูกสร้างบ้านเรือน จะมีลักษณะแตกต่างจากภาคอื่นๆ คือ
            -ชาวใต้นิยมแผ้วถางพื้นที่บริเวณบ้านให้เตียนเรียบจนเห็นเป็นพื้นทรายขาวสะอาด มีเหตุผลด้านสภาพแวดล้อมคือ การเดินเข้าออกสะดวก ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่มีอยู่อย่างชุกชุม
            -บ้านเรือนมีหลังคาเตี้ยลาดชัน ยกพื้นสูง และไม่ฝังเสาลงดิน แต่จะวางอยู่บนตีนเสาที่เป็นก้อนหิน ไม้เนื้อแข็ง หรือ แท่งซีเมนต์หล่อ เนื่องจากฝนตกชุก ทำให้ดินอ่อนตัว โอกาสที่เสาจะทรุดตัวมีได้มาก นอกจากนี้แล้วยังเป็นการป้องกันปลวกและเชื้อรากัดกิน
            -ไม่ปลูกบ้านขวางตะวัน นิยมปลูกหันหน้าไปในแนวเหนือใต้ เพื่อหลบแสงแดดที่จะส่องเข้าบ้าน
        4. อุบายในการครองชีพ สังคมของชาวใต้มีเคล็ดหรืออุบายในการดำรงชีพและการทำมาหากินตามสภาพแวดล้อมหลายประการคือ
            -เครื่องหมายแสดงเจตจำนง แต่เดิมชาวใต้ไม่รู้หนังสือหรือแม้จะรู้บ้าง แต่การสื่อความหมายโดยใช้เครื่องหมายบอกเจตจำนงก็ยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ยอมรับเป็นกติกาแห่งสังคมที่อยู่กินกันแบบพึ่งพาอาศัย ที่นิยมใช้กัน คือ เครื่องหมาย “ห้าม” “ขอ” “ขัดใจ”ห้าม หรือภาษาถิ่นที่เรียกว่า ปักกำ กาหยัง หรือ กาแย เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปปักไว้ในที่หวงห้าม เช่น ห้ามจับปลาในหนองน้ำ ห้ามนำวัวควายเข้ามากินหญ้าขอ เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปปักไว้ในที่ที่ต้องการจะขอจากเจ้าของ แต่ไม่มีโอกาสร้องขอด้วยวาจา เช่น ขอเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืชผลขัดใจ เป็นเครื่องหมายที่ใช้คู่กับเครื่องหมาย ห้าม เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ถ้ามีการละเมิดก็จะต้องมีการขัดใจกัน
        -ชาวไทยพุทธในภาคใต้ไม่นิยมกินเนื้อกระบือ เนื่องจากเป็นสัตว์มีคุณที่ได้อาศัยทำมาหากิน จึงไม่ควรฆ่ากิน
        -ชาวใต้จะเกี่ยวข้าวโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แกะ เพื่อเก็บเอาเฉพาะรวงเท่านั้น เพราะข้าวที่เก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ต้นสูง สำหรับหนีน้ำ บางครั้งต้องพายเรือเกี่ยวข้าว
        -ชาวใต้นิยมกินผักสด หรือที่เรียกว่า ผักเหนาะ เนื่องจากภาคใต้อุดมไปด้วยพืชผักพื้นบ้านนานาชนิด ที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ มีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูง อีกทั้งยังเป็นสมุนไพร ช่วยบำรุงร่างกาย รวมทั้งช่วยตัดทอนความเผ็ดร้อนของอาหาร เมื่อประกอบกับอาหารประเภทอื่นที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งหอย ปู กุ้ง ปลา ทำให้คนใต้มีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


        ตัวอย่างภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้
        ผ้าพื้นเมือง โดยเฉพาะผ้าไหม มีชื่อเสียงในด้านลวดลายสวยงามและมีคุณภาพเช่น ผ้าไหมมัดหมี่ จังหวัดขอนแก่น ผ้าไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์ และหมอนขวานผ้าขิด จังหวัดยโสธร เป็นต้น
        ลำกลอน ผู้ที่ร้องลำกลอน เรียกว่า “ หมอลำ” เป็นผู้นำทางความคิดของผู้คนในท้องถิ่นโดยจะร้องลำกลอนที่มีเนื้อหาสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคม เช่น การกดขี่ของเจ้าหน้าที่ ความยากจนของราษฎร ฯลฯ หรือสังคมที่ดีงามในอุดมคติ เช่น ความเจริญของท้องถิ่นและความอยู่ดีกินดีของราษฎร เป็นต้น
        บทเพลงเจรียงเบริญ เป็นการละเล่นที่ดัดแปลงมาจากการขับร้องแบบดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายเขมรในแถบอีสานใต้ มีลักษณะเป็นเพลงร้องโต้ตอบ เน้นความไพเราะของภาษาทำนอง และน้ำเสียงที่ใช้ขับร้อง นิยมนำมาแสดงในงานประเพณีและงานศพ ของชาวไทยเชื้อสายเขมรโดยเฉพาะที่จังหวัดสุรินทร์บทเพลงเจรียงเบริญ แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวอีสานใต้เชื้อสายเขมรหลายประการ เช่น เน้นความสามัคคีในชุมชน การสืบทอดประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษและหน้าที่ของบุตรที่พึงปฏิบัติต่อบิดามารดา ตลอดจนการผสมผสานความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธ พราหมณ์ และภูติวิญญาณ เป็นต้น

ภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคกลาง


ภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคกลาง มีดังนี้
        การละเล่นพื้นบ้าน เป็นการละเล่นของเด็กๆ จำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
            -การละเล่นที่เน้นในคุณธรรม ความอดทน ความสามัคคีในหมู่คณะความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์ เช่น ตี่จับ ขี่ม้าส่งเมือง ชักเย่อ ซ่อนหา หมากเก็บ ฯลฯ
            -การละเล่นที่ฝึกการสังเกตและมีไหวพริบ เช่น กาฟักไข่ แข่งเรือคนเทวดานั่งเมือง ฯลฯ
            -การละเล่นที่ฝึกความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น การเล่นเตย แม่งูโพงพาง ฯลฯ
        ประเพณีการรำพาข้าวสาร อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เป็นการละเล่นบทร้องที่ใช้คำและภาษาง่ายๆ มีความไพเราะในเสียงสัมผัสของสระและอักษร สะท้อนถึงภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นในด้านต่างๆ ได้แก่ ความเชื่อในเรื่องกุศลผลบุญตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา การทำบุญ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างวัดกับบ้านความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจระหว่างผู้คนในท้องถิ่น สภาพชีวิตของผู้คนในสังคมชนบทและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นต้น
        ขนมไทย ภูมิปัญญาของคนไทยภาคกลางในการทำขนมมีมากมายหลายชนิด เช่นขนมที่ใช้ในงานมงคล หรือประเพณีทางศาสนา เช่น ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ทองหยิบ ทองหยอด และเม็ดขนุน ฯลฯ

ลักษณะและความสำคัญของวัฒนธรรมไทย

        1. สร้างความรักและความผูกพันในครอบครัว เช่น กลับบ้านเพื่อรดน้ำและขอพรจากบิดามารดา และญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
        2. ความเคารพกตัญญูต่อผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ วิถีชีวิตไทยถือเอาความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ เช่น การบรรพชาอุปสมบทของชายไทยเพื่อตอบแทนพระคุณบิดามารดาที่ได้เลี้ยงดูอุ้มชูมาแต่เล็กจนโต
        3. ความศรัทธาในการทำบุญให้ทาน เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น คนไทยแต่ละครอบครัวจะเตรียมของสำหรับทำบุญตักบาตรด้วยจิตใจศรัทธา นอกจากนี้การทำบุญยังเป็นสิ่งที่คนไทยถือปฏิบัติก่อนการเริ่มงานประเพณีต่างๆ เช่นวันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันเข้าพรรษา ฯลฯ
        4. เอกลักษณ์ทางศิลปกรรม เช่น การสร้างวัด บ้านเรือน การวาดภาพฝาผนัง วรรณกรรม เรื่อง ไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น
        5. การสร้างความสามัคคีในชุมชน เช่น ในวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะไปช่วยกันก่อเจดีย์ทราย หรือในวันสงกรานต์ สมาชิกในครอบครัวจะร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้เพื่อต้อนรับวันปีใหม่
        6. เอกลักษณ์ทางภาษา ชาติไทยมีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
        7. ความยับยั้งใจและความมีระเบียบวินัย เช่น การผิดผี หมายถึง การต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมา การละเมิดกฎเกณฑ์นั้นถือว่าผิดผี ซึ่งต้องมีการขอขมาและมีการลงโทษโดยผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ

ลักษณะและความสำคัญของวัฒนธรรมต่างชาติ         วัฒนธรรมต่างชาติ หมายถึง วัฒนธรรมที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างกว้างขวางหรือเป็นอารยธรรมที่ได้รับปฏิบัติตามกันทั่วโลกเช่น การแต่งกายชุดสากล การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร การปกครองในระบอบประชาธิปไตย การค้าเสรี การใช้เครื่องจักรกล ระบบการสื่อสารที่ทันสมัย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และมารยาทในการสมาคม เป็นต้นในที่นี้จะยกตัวอย่างวัฒนธรรมที่เราสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่
        1. การนั่งไขว่ห้าง ชาวอาหรับถือว่าเป็นกิริยาที่น่ารังเกียจมาก ที่นั่งยื่นเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้าต่อหน้าคู่สนทนา เท้าควรวางราบไปกับพื้นทั้งสองข้างจึงจะเป็นการสุภาพ

        2. การให้นามบัตร เมื่อจะมอบนามบัตรให้ผู้ใด ไม่ควรใช้มือซ้าย ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อจะมอบนามบัตรให้ใคร เป็นธรรมเนียมที่จะต้องถือด้วยมือทั้งสองข้างเมื่อจะมอบให้

        3. การสนทนาด้วยเรื่องทั่ว ๆ ไป เป็นหัวข้อที่ควรกระทำก่อนสนทนาเรื่องของธุรกิจอย่างจริงจังชาวญี่ปุ่นถือเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติให้ความรู้สึกที่ดีโดยนิยมดื่มน้ำชากันก่อนวกเข้าหาเรื่องของธุรกิจต่อไป

        4. ระยะห่างของคู่สนทนาชาวอเมริกันจะยืนสนทนาห่างกันประมาณ 1 ฟุต ถึง 3 ฟุต ชาวสเปนหรือละตินอเมริกัน และชาวตะวันออกกลางจะยืน
สนทนากันอย่างใกล้ชิด แต่ชาวเอเชียและอาฟริกันจะเว้นระยะห่างจากกันมาก เช่นเดียวกันกับการยืนสนทนากับสุภาพสตรี

        5. การสัมผัส การสนทนาโดยทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแตะต้อง ชาวมุสลิมถือว่ามือข้างซ้ายเป็นมือที่สกปรก ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสหรือแตะต้องด้วยมือข้างซ้าย

        6. การสบสายตา ชาวตะวันออกกลาง ชาวสเปน และชาวยุโรป นิยมมองสบตาเมื่อสนทนากัน ชาวเอเชียโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น การมองสบตาถือเป็นการไม่สุภาพและอาจทำให้คู่สนทนาไม่พอใจได้

        7. การใช้มือ ชาวตะวันออกกลางและชาวตะวันออกไกลถือว่าการชี้นิ้วเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ การผายมือควรเป็นสิ่งที่ควรกระทำมากกว่า ขณะเดียวกันการยกหัวแม่มือขึ้นถือเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพสำหรับชาวออสเตรเลีย การใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ทำสัญลักษณ์เป็นวงกลมประเทศในแถบละตินอเมริกันถือเสมือนว่าเป็นการให้นิ้วกลางของชนอเมริกัน ในประเทศญี่ปุ่นหมายความว่า เงินทอง ในประเทศฝรั่งเศสหมายถึง ไร้สาระ

        8. การสัมผัสมือ ชาวอาหรับ ชาวสเปนหรืออเมริกาใต้ และชาวกรีซ นิยมสัมผัสมือหลายๆ ครั้งระหว่างพบปะสนทนากัน ชาวฝรั่งเศสจะสัมผัสมือเพียงเบาๆ และรวดเร็ว และไม่นิยมสัมผัสมือกับผู้อาวุโสกว่า ชาวเยอรมันนิยมสัมผัสมือกับทุกคนทั้งเมื่อแรกพบและลาจากกัน และในการสนทนาทั่วไปที่ไม่เป็นทางการนั้น สุภาพบุรุษจะสัมผัสมือกับสุภาพสตรีได้ต่อเมื่อได้สัมผัสมือผู้อาวุโสในงานนั้นแล้ว

        9. การสวมกอด การสวมกอดกันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของชนประเทศแถบละตินอเมริกาและชาวสลาฟโดยทั่วไป เช่นชายกอดชาย หญิงกอดหญิง เป็นรูปแบบแสดงความยินดีต่อกันเปรียบได้กับการสัมผัสมือของชาวตะวันตก อย่างไรก็ตามธรรมเนียมดังกล่าวนี้หากเป็นชาวต่างชาติอื่น ๆ การจะกระทำกิริยาดังกล่าวต้องใคร่ครวญอย่างรอบคอบและดูความเหมาะสมด้วย

ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมต่างชาติ

        วัฒนธรรมในแต่ละสังคมย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะนำเสนอความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากลที่ถาโถมเข้ามายังวัฒนธรรมไทยอย่างมากในปัจจุบัน
        1. วัฒนธรรมด้านอาหาร
        « อาหารของโลกตะวันตกเน้นความสะดวกสบาย ทั้งขั้นตอนการทำและการเข้าถึงในการบริโภค เน้นแป้งและเนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายมีไขมัน สร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย
        « อาหารประจำชาติไทย ประเทศไทยมีทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน สำหรับอาหารคาวของไทยนั้น จะมีทุกรส ทั้งเค็ม หวาน เปรี้ยว และเผ็ด โดยปรุงขึ้นมาในหลายลักษณะดังนี้ แกง ผัด ยำ ทอด เผา หรือย่าง เครื่องจิ้ม และเครื่องเคียง ส่วนอาหารหวานของไทยจะมีทั้งชนิดน้ำและแห้ง
        « อาหารประจำชาติเกาหลี จะเน้นเกี่ยวกับผักดองที่มีรสจัด และอาหารมีมีซอสต่างๆเป็นส่วนผสม
        « อาหารประจำชาติญี่ปุ่น อาหารญี่ปุ่นทั่วไปประกอบด้วย ข้าว ผัก ซุปปรุงรสเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น มิโซะ ผักดอง และปลาหรือเนื้อ เป็นข้าวมักรับประทานกับสาหร่ายทะเลตากแห้ง


        2. วัฒนธรรมด้านที่อยู่อาศัย
        มีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทั้งในเรื่องของการใช้วัสดุและรูปทรง เช่น คนไทยนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ มีใต้ถุนสูง เพื่อให้บ้านโปร่ง สบาย น้ำไม่ท่วม เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงนิยมปลูกบ้านริมแม่น้ำ ออกแบบให้เป็นหลังคาทรงสูง เพื่อให้อากาศถ่ายเทและให้ความร่มเย็นแก่ผู้อยู่อาศัย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภูมิประเทศเขตร้อน มีฝนตกชุก ในขณะที่คนจีนนิยมสร้างบ้านด้วยดินเหนียวผสมหญ้าหรือหญ้าฟาง รูปทรงคล้ายตึก เพราะอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาว จึงต้องสร้างบ้านให้กันลมหนาวได้ ส่วนชาวยุโรปมักสร้างบ้านเรือนเป็นตึกก่ออิฐหรือเทคอนกรีต

        3. วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย
            แต่ละประเทศล้วนมีการแต่งกายประจำชาติ ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาและความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งประจำชาติ เครื่องแต่งกายแต่ละแบบนั้นมีความละเอียดอ่อนในการทำตั้งแต่วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น การออกแบบ กระบวนการทำเครื่องแต่งกาย ความเหมาะสม การปรับตัวต่อสภาพพื้นที่การสะท้อนความเป็นตัวตนของประเทศตน เป็นต้น

        4. วัฒนธรรมด้านศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
            ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว คือ ศาสตร์แขนงหนึ่งที่เน้นการเรียนและฝึกฝนด้านการต่อสู้และป้องกันตัว ซึ่งมีหลายลักษณะด้วยกันแตกต่างกันไปในแต่ละชาติ
        « มวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติไทยที่คนไทยสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วมวยไทยเป็นศิลปะชั้นสูงของการใช้อวัยวะ 6 ประเภท ได้แก่ หมัด ศอก แขน เท้า แข้ง และเข่า มาใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัว
        « ยูโด เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ใช้เมื่ออยู่ในจังหวะประชิดตัว โดยใช้หลักการยืมพลังของคู่ต่อสู้มาเป็นพลังของตน และคาราเต้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างเป็นจังหวะ เช่น การชก การเตะ การกระแทก การผสมผสานระหว่างการปัดป้องและการจู่โจมในเวลาเดียวกัน
        « เทควันโด เป็นศิลปะการเคลื่อนไหวที่เน้นการใช้เท้าเตะสูงและรวดเร็ว ในกระบวนท่าร่ายรำของเทควันโดประกอบไปด้วยกาปัด ปิด ป้องกัน การชก ใช้กำปั้นสันมือ และนิ้วมือ การหัก การเตะ การขยับหมุน เคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น การหมุนตัว เหวี่ยงเท้า การเตะ การกระโดด เป็นต้น

5. วัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดง
        ละคร เป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่เล่นเป็นเรื่องราวต่างๆ มีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละชาติ
        ละครของไทย แบ่งออกเป็น
        « ละครรำแบบดั้งเดิม ได้แก่
            - ละครชาตรี (นิยมแสดงเรื่องมโนราห์และรถเสน)
            - ละครนอก (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น หลวิชัยคาวี พิกุลทอง มโนราห์ มณีพิชัย สังข์ทอง
            - ละครใน (เรื่องที่แสดงคือ รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา)
        « ละครที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ได้แก่
            - ละครพันทาง (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น พระอภัยมณี พระลอ ราชาธิราช)
            - ละครเสภา (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น นิทราชาคริต ขุนช้างขุนแผน)
            - ละครสังคีต (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น หนามยอกเอาหนามบ่ง วิวาห์พระสมุทร)
            - ละครร้อง (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น สาวิตรี สาวเครือฟ้า กากี เป็นต้น)
            - ละครพูด (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น มัทนะพาธา ชิงนาง เวนิสวาณิช)
            - ละครเพลง (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น จันทร์เจ้าขา ฝนสั่งฟ้า)
        ละครของญี่ปุ่น มีการแสดงละคร 3 รูปแบบคือ
            « ละครโน เป็นละครที่เก่าแก่ที่สุด ตัวละครจะสวมหน้ากากและแต่งกายแบบโบราณ การพูดและการเคลื่อนไหวของตัวละครจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า
            « ละครบุนระกุ เป็นละครหุ่น ตัวหุ่นจะมีการสร้างขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของมนุษย์ และคล้ายกับมนุษย์มากการแสดงจะใช้คนจริงเล่นร่วมกับหุ่น
            « ละครคาบูกิ จะเน้นไปที่ความตื่นเต้นเร้าใจ เช่น การต่อสู้ การร่ายรำอาวุธ รวมไปถึงการใช้เทคนิคพิเศษเข้ามาช่วยในการแสดง เครื่องแต่งกายของตัวละครจะวิจิตรงดงามและสีสันสดใส


อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติที่มีต่อสังคมไทย         วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคงที่หรือใช้เฉพาะในสังคมหนึ่งเท่านั้น ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการขนส่งคมนาคม ทำให้การเผยแพร่วัฒนธรรมกระทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกระบวนการนี้เรียกว่า การเผยแพร่วัฒนธรรมกระทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกระบวนการนี้เรียกว่า การเผยแพร่หรือการกระจายทางวัฒนธรรม(Cultural Diffusion) หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้ชนชาติเหล่านั้นแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมในทวีปเอเชียด้วยแล้ว สังคมไทยก็ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มชาวยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิทธิพลของวัฒนธรรม ตะวันตกก็ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยสาเหตุต่อไปนี้
        1. ความเจริญทางด้านการคมนาคมขนส่ง ทำให้การเดินทางสะดวก การเผยแพร่วัฒนธรรมจะเร็วขึ้น
        2. อิทธิพลจากสื่อมวลชนต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ หนังสือ และสิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ
        3. การเผยแพร่วัฒนธรรมโดยตรง คือ ประเทศต่าง ๆ ส่งคนเข้ามาเผยแพร่ หรือจากการออกไปศึกษา เล่าเรียน เมื่อกลับมาแล้วก็นำวัฒนธรรมนั้นมาเผยแพร่

แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้ให้ความสัมพันธ์ในประเด็นของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไว้เช่นเดียวกันคือ
            1. บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

        2. บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรมพิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

        3. รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปะวิทยาการต่างๆเร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ

        4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรม และการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นและเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐซึ่งการจัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูปัญญาท้องถิ่นด้วย

        5. เผยแพร่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยของทุกท้องถิ่นไปให้ประชาชนไทยทั้งประเทศได้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ เห็นคุณค่าและยอมรับวัฒนธรรมของท้องถิ่นซึ่งกันและกันอันจะนำไปสู่ความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของกลุ่มชนทุกหมู่เหล่าภายในชาติ

        6. สนับสนุนส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยกับต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ

        7. วางมาตรการให้หน่วยงานของรัฐและของเอกชน ที่ดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยการระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมให้มั่นคงเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของประชาชนตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม เพื่อให้วัฒนธรรมมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง