เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับพระราชโอรสที่ทรงศึกษาวิชาการอยู่ในยุโรป เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พ.ศ. 2440

Show
    เผยแพร่วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีราชดำริที่จะพัฒนากรุงสยามให้มีความเจริญทางกายภาพให้เท่าเทียมกับนานาอารยประเทศตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จประพาสอินเดียแล้ว ดังที่พันตรีเลเดนได้บันทึกไว้เมื่อเสด็จไปยังทัชมาอาลว่า

    “พระเจ้าแผ่นดินขณะที่ทรงชื่นชมกับความสมดุลของส่วนสัดและการตกแต่งที่วิจิตร มีผู้ได้ยินพระองค์ทรงรับสั่งว่างบประมาณในการก่อสร้างนั้นน่าจะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับการสร้างถนน สะพาน และขุดคลองมากกว่า” (สหาย ๒๕๔๖, ๕๐๓) พระราชดำรินี้ได้เกิดขึ้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ดังที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงนิพนธ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทย เมื่อวันที่  ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ (ค.ศ. ๑๙๑๐) หลังจากเสด็จสวรรคตว่า

    สร้างถนนสถลสถานโอฬารตา

    มีรถม้ารถรางรถยางยนตร์

    มีรถไฟเรือไฟโคมโคมไฟฟ้า

    อุดหนุนพาณิชย์เปรื่องประเทืองผล

    โรงเลื่อยโรงสีไฟใช้จักร์กล

    ห้างร้านกล่นสินค้าหาประชัน

    โทรเลขโทรศัพท์ไปรษณีย์

    สดวกดีพูดจาเพลาสั้น

    (คำกลอนสรรเสริญพระบารมี ๒๔๖๘, ๑)

    ความสำเร็จทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะได้ความร่วมมือฝรั่งจากประเทศต่างๆ ในยุโรปดังที่นายและนาง Jottrand ได้จำแนกไว้ว่า

    แต่ละกรมกองของการปกครองของสยามอยู่ภายในมือของชาวต่างประเทศกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะคิดว่าตนเองเป็นรัฐย่อยๆ ภายในรัฐใหญ่ กองสารวัตรทหารเป็นชาวเดนนิชตำรวจและการคลังชาวอังกฤษ ยุติธรรมชาวเบลเยี่ยม ทหารเรือชาวเดนนิช รถไฟชาวเยอรมัน (Jottrand  1996, 415)

    นายและนาง Jottrand ลืมกล่าวถึงงานโยธา ซึ่งชาวอิตาเลียนเป็นผู้ดูแล

    อย่างไรก็ตามกรุงสยามยังขาดคนไทยที่จะมาควบคุมฝรั่งเหล่านี้ พระองค์จึงทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศเพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาสร้างความเจริญให้แก่ประเทศ พระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรสจึงมีคุณค่าอย่างยิ่งในการแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้ทรงนึกถึงอย่างอื่นเลยนอกจากพระราชประสงค์ที่จะให้กรุงสยามเจริญรุ่งเรือง และยังแสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์และหาหนทางที่จะแก้ปัญหาได้อย่างสุขุมและแยบคาย เช่น พระราชดำรัสที่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชศรีมา ว่า

    “ความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายนี้ ได้เกิดขึ้นเพราะความสังเกตแล้วคิดการประกอบแลเล่าเรียนต่อๆ กันมา อาไศรยความอุส่าห์แลความเพียรเปนที่ตั้งเท่านั้น เขาหาได้เปนอย่างอื่นนอกจากเปนมนุษย์เหมือนเราไม่เราควรจะมีมานะว่าเราก็เปนมนุษย์เช่นเขา ไม่ได้เลวกว่าเขาในการที่เกิดมานั้นเลย แต่เพราะว่าเรามีความรู้น้อยกว่าเขาเท่านั้น จึงได้เห็นเปนผิดกันบ้าง แต่เปนการดีหนักหนาที่เขาไม่ได้ซ่อนเร้นความรู้เขาเลย เราอยากรู้อันใดเราเรียนรู้ได้เหมือนเขาทั้งสิ้น ต้องการอย่างเดียวแต่การอุส่าห์ความเพียรเท่านั้นที่จะให้วิเศษเสมอเขา” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๔๕๘, ๑๐๖-๑๐๗)

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับฝรั่งที่ว่า “การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา” โดยมีพระราชดำรัสว่า “เราทั้งหลายต้องพยายามที่จะเอาเยี่ยงอย่างความดีมาแต่ที่อื่นๆ” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๔๕๔, ๑๓๒) ความดีของฝรั่งนั้นพระราชทานไว้ว่า “เปนฝักฝ่ายข้างความเจริญของยุโรป คือความรู้แลความคิดทั้งความเพียรซึ่งประกอบโลกธาตุให้เป็นผลดีขึ้น… ความรู้ในประเทศยุโรปไม่ใช่แต่เวลากำลังที่เดินขึ้นสู่ความจำเริญ มันกำลังเดินโดดโลดโผนซึ่งจะเดินตามยาก นี่เปนส่วนข้างฝ่ายดีของประเทศยุโรป” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๒๖, ๔ : ๖๔๓-๖๔๔)

    ในขณะเดียวกันเราจะต้องไม่ลืมว่าเราเป็นคนไทยด้วยดังที่มีพระราชดำรัสว่า “เราทั้งหลายไม่พึงควรเฉภาะแต่ที่จะรักษา ยังควรทำให้เจริญขึ้นในสิ่งอันดี แลสิ่งที่เคารพนับถือว่าเป็นอาการกิริยาแลธรรมเนียมแห่งประเทศเราด้วย” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๔๕๘, ๑๓๒)

    ทรงตักเตือนนักเรียนไทยในต่างประเทศว่า “ให้พึงนึกในใจไว้ว่าเราไม่ได้มาเรียนจะเปนฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเปนคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๔๕๘, ๑๓๘)

    การ “เปนคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง” จึงเป็นสิ่งที่ชาวไทยทุกคนควรใส่ใจเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยทั้งปวง

     


    หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ปกิณกะในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม” โดย รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2547

    ถ้ากล่าวโดยทั่วไป จดหมายฉบับนั้นเป็นจดหมายธรรมดาๆ ฉบับหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์แก่บรรดาพระราชโอรสที่จะออกไปเรียนหนังสือในยุโรป เมื่อ พ.ศ.2428

    โดยมีใจความเกี่ยวกับพระบรมราโชวาทถึงการวางตัว การใช้ชีวิต การใช้จ่าย ความขยันหมั่นเพียร และไม่ลืมรากเหง้าความเป็นไทย

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับพระราชโอรสที่ทรงศึกษาวิชาการอยู่ในยุโรป เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พ.ศ. 2440

    เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ส่งพระราชโอรสไปศึกษา เพื่อนำความรู้และวิทยาการกลับมา พัฒนาสยามประเทศให้ก้าวหน้าทันสมัย และเพื่อป้องกันแผ่นดินจากจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มักอ้างความชอบธรรมในการยึดครองเมืองอื่นว่า การทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้านั้นเป็น ‘ภาระของคนขาว’

    ในกาลปัจจุบัน เรารู้แล้วว่ารัชกาลที่ 5 ทรงรักษาเอกราชแผ่นดินสยามไว้ได้ แต่มีน้อยคนนักที่มีโอกาสได้อ่านเนื้อความในจดหมายฉบับดังกล่าว

    จดหมายที่แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ แต่มีความหมายและคุณค่านานา แม้ว่าเวลาจะล่วงผ่านมานานกว่า 134 ปี

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน
    รัชกาลที่ ๕

    จดหมายดังกล่าวขึ้นต้นอย่างเรียบง่ายว่า…

    “ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูกบรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จงประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้…”

    จากนั้นก็มีเนื้อความว่าด้วยโอวาททั้งหมด 7 ข้อ แต่ละข้อพูดถึงโอวาทในเรื่องต่างๆ ด้วยสำนวนภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา

    ทั้งนี้ เนื่องจากเนื้อหาทั้งหมดที่มีค่อนข้างยาว ทาง common จึงขอคัดใจความบางส่วนและแบ่งบางบทใหม่นำเสนอ เพื่อความสะดวกในการอ่าน

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน
    หนังสือ พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5 (Photo: finearts.go.th)

    *หมายเหตุ: คนที่สนใจอ่านจดหมายฉบับเต็ม ซึ่งทรงคุณค่าและเต็มไปด้วยรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจ สามารถอ่านได้ในหนังสือ พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่หน้า 56 – 70

    ๑.

    “การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้น ซึ่งยังเป็นผู้เรียนวิชาอยู่นี้เลย เพราะฉะนั้นที่จะไปครั้งนี้อย่าให้ไว้ยศว่าเป็นเจ้า ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยาม

    “…ความประสงค์ข้อนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะไม่มีความเมตตากรุณา หรือจะปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้รู้ว่าเป็นลูกอย่างนั้นเลย พ่อคงรับว่าเป็นลูก และมีความเมตตากรุณาตามธรรมดาที่บิดาจะกรุณาต่อบุตร แต่เห็นว่าซึ่งจะเป็นยศเจ้าไปนั้น ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ตัวนัก

    “…และถ้าเป็นเจ้านายแล้วต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวง ที่จะทำทุกอย่างเป็นเครื่องล่อตาล่อหูคนทั้งปวงที่จะให้พอใจดู พอใจฟัง จะทำอันใดก็ต้องระวังตัวไปทุกอย่าง ที่สุดจนจะซื้อจ่ายอันใดก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง เพราะเหตุว่า ถึงจะเป็นเจ้าก็ดี เป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศไม่ใช่บ้านเมืองของตัวก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดผิดไปกับคนสามัญได้ เพราะฉะนั้น จึงขอห้ามเสียว่าอย่าได้ไปอวดอ้างเอง หรืออย่าให้คนใช้สอยอวดอ้างว่าเป็นเจ้านายอันใด จงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้”

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน

    ๒.

    “…การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้เป็นหลักทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ ลูกคนใดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี หรือไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็ต้องส่งไปเรียนวิชาทุกคน ตลอดโอกาสที่จะเป็นไปได้ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆ กันทุกคน…”

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือกล้องถ่ายรูปประทับนั่งร่วมกับพระราชโอรส และพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระราชวังบางปะอิน

    ๓.

    “…เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการ มีชื่อเสียงดีก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อได้มีโอกาสที่จะทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตนและโลกที่ตัวได้มาเกิด

    “ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบาย ดังนั้นจะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก สัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมากินๆ นอนๆ แล้วก็ตาย แต่สัตว์บางอย่างยังมีหนัง มีเขา มีกระดูก เป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างเช่นสัตว์ดิรัจฉานแล้ว จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก

    “เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะที่จะเรียนวิชาเข้ามาเป็นกำลังที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อ ซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา”

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน

    ๔.

    “อย่าได้ถือตัวว่าเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรง คุมเหงผู้ใดเขาก็จะมีความเกรงใจพ่อไม่ต่อสู้หรือไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเป็นการผิดแท้ทีเดียว เพราะความปรารถนาของพ่อไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย

    “…อีกประการหนึ่งชีวิตสังขารมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว โดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู่ได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใด เวลาไม่มีพ่อ ความชั่วนั้นคงจะปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด

    “เพราะฉะนั้นจงเป็นคนอ่อนน้อม ว่าง่าย สอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันมาทางที่ชอบที่ถูกอยู่เสมอเป็นนิจเถิด จะละเว้นทางที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัว หรือมีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด”

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน

    ๕.

    “…จงจำไว้ ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่าตัวเป็นคนจน มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่รักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆ อื่น และไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลกันมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ ตัวเองเป็นผู้ได้เงินจากราษฎรเลี้ยง พอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตและรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด…”

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นไร่บางแขม เมื่อ พ.ศ. 2449

    ๖.

    “วิชาที่จะออกไปเรียนนั้นก็คงต้องไปเรียนภาษาและหนังสือในสามภาษา คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน ให้ได้แม่นยำ ชัดเจน คล่องแคล่ว จนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย เป็นวิชาหนังสืออย่างหนึ่ง กับวิชาเลขให้เรียนรู้คิดใช้ได้ในการต่างๆ อีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น วิชาสองอย่างที่จำเป็นจะต้องเรียนให้รู้ให้ได้จริงๆ เป็นชั้นต้น แต่วิชาอื่นๆ ที่จะเรียนต่อไปให้เป็นวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเป็นแน่นอนว่าให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ก็ยังไม่ควรจะต้องเป็นคำสั่งต่อภายหลัง…”

    เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงไม่ใช้เงินแผ่นดิน
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสวนสาธารณะบัวร์ เดอ บูลอญ (Bois de Bouloque) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2440

    ๗.

    “…อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กลับเห็นเป็นการเก๋การกี๋อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น

    “…เพราะเหตุฉะนั้นในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ขอบังคับว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน อย่างน้อยเดือนละฉบับ เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ ก็เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษหรือภาษาหนึ่งภาษาใดได้ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่ง ติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็กไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วย หรือค้นดูตามหนังสือภาษาไทยซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย คงจะพอหาถ้อยคำที่จะใช้แปลออกเป็นภาษาไทยได้ แต่หนังสือไทยที่จะเป็นกำลังช่วยอย่างนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิดจะติเตียนออกไป แล้วจงจำไว้ใช้ให้ถูกต่อไปภายหน้า

    “อย่าให้มีความกลัวความกระดากว่าผิด ให้ทำตามที่เต็มอุตสาหะความแน่ใจว่าเป็นถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด”

    ๘.

    “…เมื่ออยู่ในโรงเรียนแห่งใดจงประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งเขาตั้งลงไว้ อย่าเกะกะวุ่นวายเชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุตส่าห์พากเพียรเรียนวิชา ให้รู้มาได้ช่วยกำลังพ่อเป็นที่ชื่นชมยินดีสมกับที่มีความรักนั้นเถิดฯ”