ทรัพยากรธรรมชาติ ข้อใด ที่มนุษย์พึงใช้อย่างระมัดระวังและให้เกิดประสิทธิภาพ มากที่สุด

1. ความหมายของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

    การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึงการใช้สิ่งที่ธรรมชาติสะสมเอาไว้อย่างถูกต้องและเหมาะสม (wise use) ให้คุ้มค่าที่สุด หมดเปลืองและสูญเสียน้อยที่สุด  แต่เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ทุกคน ในช่วงเวลาที่สืบเนื่องกันนานที่สุด

2. เหตุที่ต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

     ทุกวันนี้มนุษย์ได้บุกรุกและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จนเกือบถึงขั้นวิกฤต จากข้อมูลป่าไม้ในประเทศไทย ปี พ.ศ.2542 พบว่าพื้นที่ป่าไม้คงเหลือเพียงร้อยละ 25.14 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่เมื่อปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ถึงร้อยละ  53.33 ของพื้นที่ทั้งประเทศ  สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ถูกทำลายลงอย่างมาก คือการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร จากจำนวนประชากรประมาณ 26 ล้านคน ในปี พ.ศ.2503 เพิ่มจำนวนเป็นประมาณ 62 ล้านคน ในปี พ.ศ.2542 เป็นผลทำให้ความต้องการปัจจัยสี่ของมนุษย์มีมากขึ้น  ประกอบกับมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงมากขึ้น  มีการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง  ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างง่ายดายและรวดเร็วมาก ในระยะแรกที่มนุษย์เข้าครอบครองพื้นที่บนโลกนั้น ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายน้อยมาก  ครั้นเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหาร  ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค  ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ มีมากยิ่งขึ้น  จากอาชีพดั้งเดิม  อันได้แก่ การเก็บของป่า ล่าสัตว์ และการจับปลา  ซึ่งเป็นลักษณะการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างง่ายๆ เปลี่ยนมาเป็นอาชีพเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ มนุษย์ก็เริ่มมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น มีการตัดไม้ทำลายป่าลงเพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก  และเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสูงขึ้นจนถึงจุดของการผลิตแบบอุตสาหกรรม  การทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติก็ยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น  และในปัจจุบันได้ก้าวมาถึงในระดับที่ทำให้ธรรมชาติเริ่มขาดความสมดุลแล้ว  และในบางส่วนธรรมชาติก็เริ่มเตือนให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงภัยอันตรายอันจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ถ้าหากมนุษย์ยังคงฝืนทำในสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการขูดรีดธรรมชาติ  จนเกินความสามารถที่ธรรมชาติจะรองรับได้ ดังกรณีที่เกิดอุทกภัยในภาคใต้  เมื่อปลายปี พ.ศ.2531
           จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่ามนุษย์มีความจำเป็นต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ คือ
   1. ทรัพยากรธรรมชาติเป็นบ่อเกิดแห่งปัจจัยสี่และเครื่องอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของมนุษย์
   2. ประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมีมากขึ้น ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้อย่างมากมายและรวดเร็ว ถ้าไม่ช่วยกันดูแลบำรุงรักษาไว้  ในที่สุดทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำนวนจำกัดบางชนิดก็อาจสูญสิ้นไปจากโลก  ทรัพยากรบางชนิดอาจถูกใช้จนมีสภาพเสื่อมโทรมลง  จนไม่สามารถใช้การได้ดีเหมือนอย่างเดิม และบางครั้งมนุษย์อาจทำให้ทรัพยากรบางชนิดเกิดความเป็นพิษ จนเป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืช
   3. ทรัพยากรธรรมชาติเป็นเครื่องส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ถ้าประเทศใดมีทรัพยากร ธรรมชาติมาก  และรู้จักบำรุงรักษาให้ทรัพยากรยังคงมีอยู่หรือมีอายุการใช้งานได้นาน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เพียงพอกับความต้องการของประชากรภายในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากต่างประเทศมากนัก  ประเทศนั้นๆ ก็จะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ประชาชนจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสุขสบาย
   4. ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยในการรักษาดุลแห่งธรรมชาติ (balance of nature) ให้คงอยู่อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพราะสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวงมีความสำคัญ และสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การเกิดขึ้นมา การดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลง การถูกทำลายให้สูญสิ้นย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือกระบวนการของธรรมชาติ  กระบวนการของธรรมชาติทั้งหลายมีการสร้างและทำลายไปพร้อมๆ กัน  เพื่อให้สิ่งแวดล้อมดำรงอยู่ได้อย่างเหมาะสม หากทรัพยากรธรรมชาติชนิดใดเกิดมีความผิดปกติ เช่น เกิดการเสื่อมโทรมลงหรือมีการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว  จะทำให้ดุลแห่งธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมเสียไปด้วย ทรัพยากรอื่นๆ จะได้รับความกระทบกระเทือนและเกิดความเสียหายขึ้นได้   และจะส่งผลไปยังการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ดังเช่นภัยพิบัติต่างๆ อันเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่มนุษย์เราได้รับอยู่ทุกวันนี้

  3. หลักพื้นฐานในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

       การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  มนุษย์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมเหตุสมผล หรือต้องใช้อย่างฉลาด มนุษย์ทุกคนจะต้องร่วมมือกันในอันที่จะใช้ทรัพยากรประเภทที่ใช้แล้วหมดไปให้ได้นานที่สุด มีประโยชน์มากที่สุด  พร้อมๆ กันนั้นก็หาสิ่งทดแทนเพื่อยืดอายุการใช้งานต่อไป  อีกทั้งระมัดระวังการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วสามารถทดแทนใหม่ได้  ให้อยู่ในอัตราการเกิดใหม่ของทรัพยากรเหล่านั้น และนำเอาทรัพยากรที่ใช้แล้วมาใช้ต่อไปอีก ไม่ทิ้งขว้าง โดยเปล่าประโยชน์  นั่นก็หมายถึงเราจะต้องรู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติให้ได้ผลนั้น  ควรมีหลักพื้นฐานในการอนุรักษ์ดังต่อไปนี้
      1. การสำรวจ (exploration) ประการแรก เราจะต้องสำรวจหาสิ่งที่ต้องการนำมาใช้ประโยชน์  เช่น การสำรวจแหล่งแร่ แหล่งน้ำ แหล่งพลังงาน ฯลฯ ว่ามีอยู่ที่ใด  มีปริมาณมากน้อยเพียงไร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่
      2. การป้องกัน (protection) เมื่อเราสำรวจหาสิ่งที่เราต้องการจะนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว เราต้องรู้จักป้องกันรักษา มิให้ทรัพยากรเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพเป็นพิษภัย  เกิดความเสื่อมโทรม เสียหายหรือถูกทำลาย  เช่น  ทรัพยากรน้ำ  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นกับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาก เราควรที่จะช่วยกันดูแลมิให้เกิดความเน่าเสีย เกิดความตื้นเขิน เพื่อให้แหล่งน้ำนั้นมีน้ำที่มีคุณภาพดีและมีปริมาณเพียงพอที่เราจะใช้สอยได้ตลอดไป
      3. การลดอัตราความเสื่อมสูญ   (elimination of waste)  หมายถึงการใช้ให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มีส่วนเสียหรือส่วนที่ไม่ใช้ประโยชน์น้อยที่สุด เช่น น้ำที่ไหลอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง ถ้าเราใช้ไม่ทันหรือไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ น้ำเหล่านี้จะไหลลงทะเลไป   ซึ่งเราไม่สามารถนำน้ำทะเลมาใช้ในการอุปโภคหรือบริโภคได้ การชลประทานในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อน  การสร้างอ่างเก็บน้ำ  การสร้างฝายทดน้ำและอื่นๆ สามารถช่วยลดปัญหาการสูญเสียน้ำในลักษณะนี้ได้
      4. การใช้ทรัพยากรที่มีคุณภาพรองลงมา (use lower-grade material) โดยทั่วไปมนุษย์เรานั้น มักเลือกใช้แต่ทรัพยากรที่มีคุณภาพดี  และจะละเลยทรัพยากรที่มีคุณภาพต่ำ สมัยก่อนในธรรมชาติยังมีทรัพยากรมากมายที่จะให้มนุษย์เราเลือกใช้ตามที่ต้องการ เช่น ในอดีตภาคเหนือเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะไม้สักซึ่งเป็นไม้ที่มีค่ามาก ผู้คนในสมัยนั้นนิยมใช้ไม้สักในการสร้างบ้านเรือน  ใช้ในงานแกะสลัก และอื่นๆ อีกมากมาย  แต่ในปัจจุบันไม้สักเป็นไม้ที่หายากและมีราคาแพง  การใช้ไม้ที่มีคุณภาพรองลงมาจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยการเลือกใช้เนื้อไม้ให้เหมาะสมกับการใช้งาน จะเป็นการช่วยลดความสิ้นเปลืองของทรัพยากรที่มีค่าไปโดยใช่เหตุ เช่น การใช้ไม้ยางพารา ไม้ไผ่  ซึ่งมีคุณภาพรองลงมาและหาได้ง่ายมาใช้ทำเครื่องเรือนแทนไม้สัก
     5. การปรับปรุงคุณภาพทรัพยากร (improve the quality) ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีคุณภาพต่ำ เช่น การปรับปรุงดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อใช้ในการเพาะปลูก  การใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เหล่านี้ล้วนทำให้เรามีทรัพยากรใช้มากขึ้น และสามารถใช้ได้นาน
     6. การนำทรัพยากรมาใช้ทดแทนกัน (substitution) หมายถึง   การนำทรัพยากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก หรือที่เกิดใหม่ได้โดยใช้ระยะเวลาสั้นๆ  มาใช้ประโยชน์แทนทรัพยากรที่หาได้ยาก มีจำนวนน้อยหรือเหลืออยู่น้อย  หรือใช้ระยะเวลาในการเกิดยาวนานมาก เช่น  มีการใช้โฟม   พลาสติก   ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์มาประดิษฐ์เครื่องใช้แทนวัสดุธรรมชาติ การใช้เส้นใยสังเคราะห์แทนเส้นใยจากธรรมชาติ  การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอย่างมากมายแทนพลังงานจากน้ำมันซึ่งมีปริมาณจำกัด
      7. การนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก (re-cycling) การกระทำเช่นนี้  จะก่อให้เกิดผลดีสองประการ คือประหยัดทรัพยากรและอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป    ในกระบวนการผลิตสิ่งต่างๆ  ย่อมมีของเหลือทิ้งหรือของเสียออกมาด้วยเสมอ สิ่งเหล่านี้เราสามารถนำมาผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เช่น การนำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ พวกเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ของมนุษย์ที่ทำจากโลหะ จากกระดาษ จากพลาสติก  เมื่อหมดสภาพที่จะใช้งานแล้ว  เราก็สามารถที่จะนำมาผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกเช่นเดียวกัน
   หลักทั้งเจ็ดประการดังที่กล่าวมานี้ เป็นหลักการเบื้องต้นที่เราจะต้องระลึกไว้เสมอในการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรธรรมชาติแต่ละอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เราจะมองข้ามไม่ได้  ถ้าเราจะใช้ทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทรัพยากรอีกอย่างหนึ่งนั้นย่อมไม่ได้ จึงขอเน้นในที่นี้ว่า การใช้ทรัพยากรจะต้องมีการประสานงานและวางแผนร่วมกันทุกฝ่ายด้วยความระมัดระวัง  การพัฒนาสิ่งใดก็ตามจะต้องนึกถึงหลักการอนุรักษ์ควบคู่กันไป โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาผลผลิตให้มีอยู่สม่ำเสมอยั่งยืนนาน เราจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ได้ด้วยดี   ก็โดยปฏิบัติตามหลักการอย่างสม่ำเสมอ  กล่าวคือจะต้องสำรวจหาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อพบแล้วก็ต้องรู้จักป้องกันรักษาเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน  รู้จักการลดอัตราการเสื่อมสูญของทรัพยากร  มีการใช้ทรัพยากรที่มีคุณภาพรองลงมา ปรับปรุงคุณภาพทรัพยากรให้สูงขึ้น นำทรัพยากรมาใช้ทดแทนกัน และควรมีการนำของเสีย ของเหลือทิ้ง  ของใช้แล้ว กลับมาใช้ประโยชน์อีก  ตลอดจนให้ความสำคัญแก่การพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ  จึงจะทำให้งานพัฒนาประเทศชาติของเราดำเนินไปด้วยดีบนหนทางแห่งความถูกต้อง

4. การดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

      การดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดผลสำเร็จโดยแท้จริงได้  ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายทุกคนอย่างจริงจังและจริงใจ  หากกระทำเพียงชั่วครู่ชั่วยามหรือกระทำโดยมีผลประโยชน์อันมีแอบแฝงอยู่  จะไม่เกิดผลดีแก่ทรัพยากรธรรมชาติเลย  ในทางปฏิบัติเราสามารถดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้หลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่
   1. การออกกฎหมาย กฎหมายนับได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ประเทศไทยมีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติอยู่หลายฉบับ  เช่น พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507  พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535   พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510   พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535   พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520  พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน  พ.ศ.2526 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เป็นต้น
     ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นเวลานานแล้ว   โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ และแร่  แต่การที่ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศถูกทำลายล้างลงอย่างมากมายในระยะเวลาอันรวดเร็ว  น่าจะเป็นผลมาจากความบกพร่องของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย  และการขาดจิตสำนึกของประชาชนโดยทั่วไปในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ยิ่งกว่าปัญหาการไม่มีกฎหมายใช้บังคับกรณีอย่างเพียงพอ และถ้าตราบใดเรายังไม่สามารถขจัดข้อบกพร่อง ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าวไปได้  ไม่ว่ากฎหมายที่บัญญัติออกมาจะมีความรัดกุมหรือเข้มงวดเพียงใดก็ตาม  ก็ย่อมจะเกิดช่องโหว่ให้มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายกันได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสภาพปัญหาที่มีมาแต่ดั้งเดิม และนับวันจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอๆ
   2. การให้การศึกษา การศึกษานับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลดียิ่ง การจัดการศึกษาในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  เราสามารถจัดได้ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน  ในระบบโรงเรียนควรสอดแทรกเข้าไปทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับอนุบาล  ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา  เพื่อเป็นการปลูกฝังเยาวชนของชาติให้มีจิตสำนึกร่วมกันในการบำรุงดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ในอัตราที่เหมาะสม  สำหรับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนก็อาจรับโดยผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น  เอกสารพิมพ์เผยแพร่  การให้ความรู้ทางวิทยุ โทรทัศน์  ทางอินเทอร์เน็ตหรืออาจจะจัดเจ้าหน้าที่ออกไปให้การศึกษาตามพื้นที่ต่างๆ
   3. การจัดตั้งชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากร      ธรรมชาติ  ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่างๆ กลุ่มผู้สนใจ องค์กรเอกชนหลายแห่งได้มีการจัดตั้งชมรม  สมาคม มูลนิธิ สถาบัน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้น  เช่น สมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย สมาคมสร้างสรรค์ไทย  มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิโลกสีเขียว สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติ (ประเทศไทย) ฯลฯ ซึ่งชมรม สมาคม  มูลนิธิ  สถาบันต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้สนใจ องค์กรเอกชน  ผู้เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ในปัจจุบันนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก  ชมรม  สมาคม มูลนิธิและสถาบันเหล่านี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ แนวความคิด การเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยกระตุ้นเตือนหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ ช่วยกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ
    4. การจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นเพื่อรับผิดชอบโดยตรง   เพื่อคุ้มครองดูแลทรัพยากรธรรมชาติและประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่รับผิดชอบในปัจจุบันได้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2545
    5. การเผยแพร่ความรู้โดยผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เช่น  โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ  การเผยแพร่ความรู้ในลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้หลายลักษณะ ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดในเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว เราสามารถใช้วิธีการสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น ละคร การแสดงดนตรี การเสนอบทเพลง การแสดงของเด็ก การเล่านิทาน ฯลฯ การเผยแพร่ความรู้ในลักษณะต่างๆ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้มากในสังคมปัจจุบัน  ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เป็นการช่วยกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ  ทุกวัย  ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ