ต่อหน้า สรรเสริญ ลับหลัง นินทา เป็นลักษณะมิตรประเภทใด

คนเทียมมิตร

คน ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ คนนำสิ่งของของเพื่อนไปถ่ายเดียว (คนปอกลอก) ๑ คนดีแต่พูด ๑ คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนในทางฉิบหาย ๑ พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร  

๑. คนปอกลอก           คนปอกลอก พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ
๑.๑ เป็นคนคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๑.๒ เสียให้น้อย คิดเอาให้ได้มาก
๑.๓ ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย
๑.๔ คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว คนปอกลอก พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล  


๒. คนดีแต่พูด
          คนดีแต่พูด พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ 
๒.๑ เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย 
๒.๒ อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย 
๒.๓ สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ 
๒.๔ เมื่อกิจเกิดขึ้น แสดงความขัดข้อง ออกปากพึ่งมิได้ คนดีแต่พูด พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล  

๓. คนหัวประจบ          คนหัวประจบ พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ
๓.๑ ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว (จะทำชั่วก็คล้อยตาม)
๓.๒ ตามใจเพื่อนให้ทำความดี (จะทำดีก็คล้อยตาม)
๓.๓ ต่อหน้าสรรเสริญ
๓.๔ ลับหลังนินทา คนหัวประจบ พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล    

๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย           คนชักชวนในทางฉิบหาย พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ
๔.๑ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๔.๒ ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่าง ๆ ในเวลากลางคืน
๔.๓ ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ
๔.๔ ชักชวนให้เล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คนชักชวนในทางฉิบหาย พึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

          ข้อคิดเตือนใจบัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรปอกลอก ๑ มิตรดีแต่พูด ๑ มิตรหัวประจบ ๑ มิตรชักชวนในทางฉิบหาย ๑ ว่าไม่ใช่มิตรแท้ ดังนี้แล้ว พึง เว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนคนเดินทางเว้นทางที่มีภัย ฉะนั้น  

มิตรมีใจดี  มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ พึงทราบว่าเป็นมิตรมีใจดี (เป็นมิตรแท้)  

๑. มิตรมีอุปการะ มิตรมีอุปการะ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ
๑.๑ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๑.๒ รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๑.๓ เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๑.๔ เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้น เพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า (เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ ออกปาก) มิตรมีอุปการะ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล  

๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ
๒.๑ บอกความลับของตนแก่เพื่อน
๒.๒ ปิดความลับของเพื่อน
๒.๓ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย
๒.๔ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล      

๓. มิตรแนะประโยชน์ มิตรแนะประโยชน์ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ
๓.๑ ห้ามจากความชั่ว
๓.๒ ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓.๓ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๓.๔ บอกทางสวรรค์ให้ มิตรแนะประโยชน์ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล  

๔. มิตรมีความรักใคร่ มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ
๔.๑ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน
๔.๒ ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน
๔.๓ ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน
๔.๔ สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล  

          ข้อคิดเตือนใจ บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ว่าเป็นมิตรแท้ ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเหมือนมารดากับบุตร ฉะนั้น 

***

อ้างอิง : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค 

คุณมี “มิตร” ประเภทใด (๒๗ มีนาคม ๒๕๕๑)

   คุณมี “มิตร” ประเภทใด

          คนทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ล้วนแล้วแต่ต้องมีมิตรด้วยกันทั้งนั้น แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามิตรที่เราคบหาอยู่นั้นเป็น “มิตร” ประเภทใด

          ในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกมิตรออกเป็น ๒ ประเภท คือ มิตรแท้ และ มิตรเทียม

          มิตรแท้ แบ่งออกเป็น ๔ พวก ได้แก่ ๑. มิตรมีอุปการะ มีลักษณะคือ ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะคือ ขยายความลับของตนแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้ ๓. มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะคือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง บอกทางสวรรค์ให้ ๔. มิตรมีความรักใคร่ มีลักษณะคือ ทุกข์ทุกข์ด้วย สุขสุขด้วย โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

          มิตรเทียมหรือคนเทียมมิตร แบ่งออกเป็น ๔ พวกเช่นกัน ได้แก่ ๑. คนปอกลอก มีลักษณะคือ คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก เมื่อมีภัยแก่ตัวจึงรับทำกิจของเพื่อน คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๒. คนดีแต่พูด มีลักษณะคือ เก็บเอาของที่ล่วงแล้วมาปราศรัย อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ออกปากพึ่งไม่ได้ ๓. คนหัวประจบ มีลักษณะคือ จะทำชั่วก็คล้อยตาม จะทำดีก็คล้อยตาม ต่อหน้าว่าสรรเสริญ ลับหลังตั้งนินทา ๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย มีลักษณะคือ ชักชวนดื่มน้ำเมา ชักชวนเที่ยวกลางคืน ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น ชักชวนเล่นการพนัน

          เมื่อได้อ่านจบแล้ว ตอบคำถามได้หรือยังคะว่า มิตรที่คุณคบอยู่ จัดเป็น “มิตร” ประเภทใด.

          พรทิพย์  เดชทิพย์ประภาพ