เป้าหมายสำคัญที่สุดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8(พ.ศ.2540 – 2544) คือเน้นการพัฒนาในด้านใด *

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549)
ความเป็นมา
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 ได้กำหนดให้ สภาที่ปรึกษาฯ มีอำนาจหน้าที่ในมาตรา 10 และมาตรา 14 ถึงมาตรา 17 ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนพิจารณาประกาศใช้
ในการนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดส่งร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) มาเพื่อให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็น คำปรึกษา และข้อเสนอแนะ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจำเป็นเร่งรัดพิจารณาแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดด้านเวลาที่จะต้องประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2544
สาระร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕—๒๕๔๙) เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นกรอบชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี สภาที่ปรึกษาฯ มีระยะเวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน โดยได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้การจัดตั้งคณะทำงานฯ พิจารณาโดยละเอียด และจัดทำข้อเสนอแนะ
1.วัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและมีภูมิคุ้มกันและการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ยั่งยืน สามารถพึ่งตนเองได้อย่างรู้เท่าทันโลก โดยให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทยทุกระดับ และแก้ปัญหาความยากจนและเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง
2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย ๓ กลุ่มยุทธศาสตร์ ๗ ยุทธศาสตร์ย่อย ดังนี้
กลุ่มที่หนึ่ง การสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม เน้นการปฏิรูปให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน ในกระบวนการพัฒนาประเทศที่มีประสิทธิภาพ มี 1 ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ การปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส กระจายภารกิจและความรับผิดชอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างโปร่งใส การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ พัฒนาและเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลทุกภาคส่วนในสังคม เสริมสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดีของภาคเอกชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน
กลุ่มที่สอง การเสริมสร้างฐานรากของสังคมให้เข้มแข็ง มุ่งเน้นการพัฒนาคน ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้เป็นแกนหลักของสังคมไทย ซึ่งมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ
(1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและการคุ้มครองทางสังคม โดยเน้นที่การพัฒนาคนให้มีคุณภาพและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมให้คนมีงานทำ ปรับปรุงระบบการคุ้มครองทางสังคมให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมบทบาทครอบครัว องค์กรทางศาสนา โรงเรียน ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน อาสาสมัคร และสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
(2) ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการพัฒนาชนบทและเมืองอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ แก้ปัญหาความยากจนในชนบทและเมืองภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม การสร้างความเชื่อมโยงของการพัฒนาชนบทและเมืองอย่างเกื้อกูล การจัดการพื้นที่เชิงบูรณาการที่ยึดพื้นที่ภารกิจและการมีส่วนร่วม
(3) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ การอนุรักษ์ฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมชุมชน ศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการบริหารจัดการปัญหามลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มที่สาม การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เข้าสู่สมดุลและยั่งยืน เน้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ที่มุ่งส่งเสริมให้ฐานเศรษฐกิจของประเทศแข็งแกร่งและขยายตัวได้อย่างมีคุณภาพ มี ๓ ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
(1) ยุทธศาสตร์การบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตเศรษฐกิจช่วยกระจายความเจริญและสร้างความเป็นธรรม การดำเนินนโยบายการคลังและสร้างความมั่นคงของฐานะการคลังและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมทั้งเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ
(2) ยุทธศาสตร์การเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งที่การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและการค้า เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันขบวนการเพิ่มผลผลิตของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และระบบสหกรณ์ ตลอดจนการปรับปรุงระบบเจรจาความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ และส่งเสริมการค้าบริการที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างงานและกระจายรายได้
(3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งครอบคลุมการประยุกต์ใช้และการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อีกทั้งบริหารการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งประสิทธิผล
ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้พิจารณาร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) โดยคำนึงถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามหมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นหลัก ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อ 27 สิงหาคม 2544 ดังต่อไปนี้คือ
1. การทำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นจริง
ร่างแผนฯ ฉบับที่ 9 การวางยุทธศาสตร์ขาดความชัดเจน ว่าจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยให้คนไทยและสังคมไทยพึ่งพิงตนเองได้อย่างไร ในด้านใด และในระดับใดในแผนปฏิบัติการควรจะต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบในเรื่องสัดส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศและการกำหนดขนาดการพึ่งตนเองของภาคนอกการเกษตรด้วย รวมทั้งต้องคำนึงถึงผลกระทบและค่าเสียโอกาสของการใช้พื้นที่ทั้งประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ได้เป้าหมายที่ชัดเจน เหมาะสมในเรื่องของขนาดของกิจกรรมและแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
2. เป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจต้องสมเหตุสมผล เชื่อถือได้และวัดผลได้
ในร่างแผนฯ ฉบับที่ 9 ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 4 ประการคือ (1) เป้าหมายดุลยภาพทางเศรษฐกิจ (2) เป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิต (3) เป้าหมายการบริหารจัดการที่ดี และ (4) เป้าหมายการลดความยากจน จากเป้าหมายทั้ง 4 ประการข้างต้น มีข้อที่น่าสังเกตคือ
2.1 มิได้มีการกำหนดตัวชี้วัด (Indicators) ความสำเร็จของแต่ละเป้าหมายเอาไว้ให้ชัดเจน และมีความไม่สอดรับกันระหว่างวัตถุประสงค์กับเป้าหมาย เช่น “การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและมีภูมิคุ้มกันหรือการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งยั่งยืน สามารถพึ่งตนเองได้อย่างรู้เท่าทันโลก” พบว่ายังมีปัญหาความไม่ครบถ้วนของเป้าหมายในหลายประเด็นด้วยกัน เช่นในด้านการศึกษาระบุเพียงเป้าหมายการเพิ่มจำนวนปีที่ได้รับโดยเฉลี่ยของคนไทย ยกระดับการศึกษาของแรงงาน แต่กลับมิได้มีเป้าหมายเรื่องบุคลากรที่มีคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอในทุกพื้นที่ นโยบายและหลักสูตรการพัฒนาฝีมือแรงงานและมาตรฐานของฝีมือแรงงาน เป็นต้น
2.2 การกำหนดเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5-6 ต่อปี และลดสัดส่วนให้คนจนอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 10 ภายในสิ้นแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 นั้น ขาดข้อสมมติฐานที่เป็นเงื่อนไขชัดเจน และขาดความเป็นไปได้ ตลอดจนการกำหนดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับร้อยละ 5-6 ต่อปี อาจสูงเกินไปเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราต่ำ
2.3 นอกจากการขาดการประสานสอดคล้องในเป้าหมาย 4 ประการ แล้วยังไม่ชัดเจนในความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น หากมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 5-6 ต่อปี ตามเป้าหมายของแผนฉบับนี้จะสามารถลดสัดส่วนคนยากจนให้เหลือร้อยละ 10 ได้ตามเป้าหมายจริงหรือไม่
3. แผนกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงการสร้างรากฐานของประเทศ
ร่างแผนฯ 9 ได้ถือเอาแนวทาง “การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่าแม้การเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตามควรยึดถือการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรากฐานทางด้านการผลิตที่มีคุณภาพและยั่งยืนของชาติด้วย มิใช่เป็นเพียงการใช้จ่ายเพื่อให้การสงเคราะห์เฉพาะหน้าเท่านั้น
4. แผนฯ 9 ขาดการวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่อประเทศไทย
ในร่างแผนฯ ฉบับที่ 9 ให้น้ำหนักกับการพิจารณาเฉพาะสภาพแวดล้อมภายในประเทศเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร และประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านใด อย่างไร และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้นั้น ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นถึงระยะกลาง ช่วง 5-7 ปี ร่างแผนฯ นี้จึงยังขาดการให้รายละเอียดที่เพียงพอเกี่ยวกับปัจจัยระยะยาวที่จะมีผลต่อประเทศไทยในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ร่างแผนฯ 9 จึงไม่สามารถคาดการณ์และไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาจากเหตุปัจจัยภายนอกประเทศได้
5. ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาด้านสังคม
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมากกว่านโยบายทางด้านสังคมมาโดยตลอด ทิศทางการพัฒนาแบบนี้เป็นตัวเร่งให้โครงสร้างทางด้านสังคมและวัฒนธรรมไทยอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของไทยถูกละเลยมาช้านาน และไม่เคยได้ถูกนำเข้ามาเป็นปัจจัยที่สำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาของชาติ เพื่อให้การสร้างสรรค์สังคมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์และเป็นตัวของตัวเอง แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว ชุมชนและภาคสังคมมากเป็นพิเศษ โดยรัฐบาลจะต้องสร้างระบบบริการด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการแก่บุคคลผู้อ่อนแอในสังคม การช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวให้มีความสามารถปกป้องดูแลสมาชิกของครอบครัวเป็นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาสังคม สร้างดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้มีการติดตามประเมินผลได้เช่น จำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิต จำนวนผู้ใช้หรือเสพสิ่งเสพติด การมีสถานที่พักผ่อนและการมีกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว เป็นต้น รวมทั้งมีแผนเร่งรัดให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น จัดสรรทรัพยากร เพื่อการพัฒนา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ของตน โดยประสานกับองค์กรบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภารกิจเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 53 และมาตรา 80
นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะยาเสพติดเป็นอาการของโรคทางสังคมที่ร้ายแรงที่สุดในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาของรัฐโดยใช้มาตรการลงโทษอย่างรุนแรง เช่น การใช้โทษประหารสำหรับผู้ค้า และการใช้โทษทางอาญาสำหรับผู้เสพ น่าจะไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การเยียวยารักษาโรคทางสังคมจะต้องใช้มิติทางด้านสังคม โดยใช้กระบวนการทางสังคมเป็นตัวนำมากกว่าการใช้กระบวนการทางกฎหมาย
6. การกระจายรายได้ต้องเป็นหัวใจของแผนฯ 9
ภาวะวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย มีเหตุมาจากการวางแผนในอดีตที่เน้นแต่การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจเพียงประการเดียว จึงควรปรับเปลี่ยนหลักคิดในการวางแผนทางเศรษฐกิจแบบเดิม และหันมาให้ความสำคัญสูงสุดกับนโยบายการกระจายรายได้ เพื่อให้สมดุลกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาความยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างจริงจังแทน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ลำดับความสำคัญและยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาการกระจายรายได้ ความยากจน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินผลความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง
7. การสร้างภาคการเกษตรและชนบทให้เข้มแข็งต้องถือเป็นภารกิจหลักของแผนฯ ฉบับที่ 9
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังอยู่ในภาคการเกษตรและชนบท ปัญหาหลักของภาคการเกษตรและชนบทในปัจจุบัน ได้แก่เรื่องที่ดินทำกิน หนี้สิน ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำ และราคาพืชผล ดังนั้นรัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้ภาคการเกษตรและชนบทของไทยมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพิงตนเองได้ เป็นแหล่งที่มาของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก
ดังนั้น การกำหนดทิศทาง วัตถุประสงค์ และแผนในการทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ วิถีชีวภาพและการเกษตรแบบยั่งยืนทั่วทั้งประเทศจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุด การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรจะต้องยึดถือตัวเกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหา และส่งเสริมให้เกษตรกรมีโอกาสเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตด้วยตนเอง รัฐจะต้องสนับสนุนให้ปรับปรุงกฎหมายระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกับนโยบายนี้ และต้องดำเนินการให้มีการจัดตั้งสภาเกษตรกรระดับชาติที่เป็นองค์กรรวมของเกษตรกร มีความเป็นอิสระ และมีสิทธิในการวินิจฉัยปัญหา และให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ด้วยตนเองได้
นอกจากนี้จะต้องเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้แล้วในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่เป็นผลดีต่อการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนของเกษตรกร เช่น การออกกฎหมายยกเลิกเครื่องมือประมงทะเลที่ทำลายระบบนิเวศน์ชายฝั่ง โดยเฉพาะอวนรุนอวนลาก จะต้องจัดตั้งกองทุนประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง รวมทั้งแก้ไขปัญหาลูกเรือประมงในด้านต่าง ๆ และเพื่อให้ประเทศไทยคงความเป็นประเทศผู้นำด้านการประมง 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก รวมถึงเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกตลอดไป ควรส่งเสริมพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เพียงพอในการรองรับการทำประมงนอกน่านน้ำ และประมงน้ำลึกในน่านน้ำสากล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ
เพื่อเสริมสร้างรากฐานของประเทศให้เข้มแข็ง ควรพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ โดยการปฏิรูประบบสหกรณ์ให้เป็นอิสระจากระบบราชการ และสามารถบริหารจัดการ พัฒนาระบบการผลิต การแปรรูป การตลาด และการออมทรัพย์ด้วยวิถีสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ในด้านการดูแลเกษตรกรรายย่อยจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายรายได้ขั้นพื้นฐานในระยะเริ่มต้นของเกษตรกรทุกอาชีพ และทุกภูมิภาค การแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ การสาธารณสุขที่รวมถึงการสร้างเสริมดูแลสุขภาพที่ดีและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรด้วยกลไกที่สมบูรณ์และเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการให้การส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้งกระบวนการผลิต การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ และการตลาด อย่างมีเป้าหมายเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานที่ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและทั่วโลกยอมรับ
8. ต้องทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลย์
ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 แผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องเป็นไปในทิศทางที่ให้ความเคารพสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ ปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมอย่างสมดุลได้
แนวนโยบายการอพยพชุมชนท้องถิ่นออกจากพื้นที่เขตอนุรักษ์ฯ และการห้ามชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืน เป็นแนวนโยบายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และมาตรา 79 อย่างเด่นชัด ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ทั้ง 5 ฉบับ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และเร่งออก พ.ร.บ.ป่าชุมชนตลอดจนเร่งสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม
ยิ่งกว่านั้นในแผนฯ 9 ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนจากอุบัติภัยและภัยพิบัติที่ปัจจุบันยังขาดข้อมูลและขาดความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง
9. ต้องยกระดับให้เรื่องการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของแผนฯ 9
สภาที่ปรึกษาฯ เห็นว่าวิสัยทัศน์ของร่างแผนฯ ฉบับที่ 9 ฝันที่จะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้คู่คุณธรรม แต่แผนฉบับนี้กลับให้บทบาทและคุณค่าของการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรมต่ำเกินไป ดังจะเห็นได้จากการนำเอาเรื่องของการศึกษาไปบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและการคุ้มครองทางสังคมและยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นจึงควรยกระดับเรื่องการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรมให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งของแผนฯ ฉบับที่ 9 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ต้องการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดจิตสำนึกการมีวินัย คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นการปลูกฝังและปูทางไปสู่การเกิดหลักธรรมาภิบาลในทุกวงการ
10. ต้องเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เข้มแข็ง
เพื่อให้เกิดระบบบริหารจัดการที่ดี หรือหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาที่สะสมจนถึงขั้นวิกฤตทั้งในภาคเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รัฐบาลจะต้องดำเนินการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน และปรับปรุงกฎหมาย คำสั่งคณะปฏิวัติ มติคณะรัฐมนตรี กฎกระทรวง ระเบียบของกรม กองต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และมีประเด็นที่ขัดแย้งกันเองเป็นจำนวนมาก รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคประชาชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกระดับอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องส่งเสริมค่านิยมและวิถีปฏิบัติที่ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้ อันเป็นองค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นทั้งในวงการภาครัฐและภาคเอกชนอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขจัดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบหรือคอร์รัปชัน ในการนี้จะต้องมีกฎระเบียบที่เป็นกติกากำหนดบังคับไว้ และจะต้องปลูกฝังลงไปในระบบการสร้างคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เยาว์วัย
11. การแข่งขันทางการค้า ต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง
ภายใต้เงื่อนไขการเปิดให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี รัฐบาลควรคำนึงถึงหลักการของการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรมระหว่างธุรกิจที่มีขนาดของทุนไม่เท่าเทียมกัน และหลักการที่จะต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยรัฐจะต้องออกกฎหมายและระเบียบที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าขนาดเล็กซึ่งเป็นฐานรากของประเทศด้วย
เพื่อสร้างรากฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจชุมชนและท้องถิ่น โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในการพัฒนารูปแบบการส่งออก และพัฒนาสินค้าพื้นเมืองให้มีคุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมธุรกิจรายย่อย (Micro) ขนาดย่อม (Small) และขนาดกลาง (Medium) ให้เชื่อมต่อกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการตลาด เพื่อเสริมสร้างตลาดภายในประเทศให้เข้มแข็ง และสร้างผู้ประกอบการ ผู้บริหารมืออาชีพให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งในด้านส่งเสริมการตลาด ควรมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายตลาด มีสถาบันส่งเสริมการตลาดที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (มิใช่มาจากฝ่ายรัฐ เช่น กรมส่งเสริมการส่งออกเพียงอย่างเดียว) และใช้เครือข่ายการตลาดระดับสากลในการสร้างเครื่องหมายการค้าให้กับสินค้าไทย
รัฐบาลควรมีกลยุทธในเชิงรุกโดยจัดตั้งองค์กร เพื่อเตรียมพร้อมในการวางมาตรการป้องกันผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป ในการเจรจาในเวทีการค้าระดับโลก และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในเวทีการค้าระดับโลกเช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และอื่น ๆ ให้มากขึ้น
ในการพัฒนาธุรกิจการผลิตเพื่อการพึ่งพิงตนเอง และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น ควรส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตการเกษตร อาทิเช่น แปรรูปเป็นเครื่องดื่มทุกประเภทต่างๆรวมถึงการยกเลิกกฎเกณฑ์ที่นำไปสู่การผูกขาดโดยภาครัฐ และหรือเอกชนและควรเน้นการส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ด้วย
12. ต้องปฏิรูปสื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและต่อเนื่องจากแผนฯ 8
สื่อมวลชนจะต้องได้รับการส่งเสริมให้ทำหน้าที่แสวงหาข้อมูลอย่างอิสระและมีเสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้าน และการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างเที่ยงธรรม เพื่อสนองสิทธิการรับรู้ของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างจริงจัง ทั้งนี้จะต้องมีการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งปรับปรุงให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนบทบาทการตรวจสอบและการแสวงข้อเท็จจริงอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนหลักการธรรมาภิบาลต่อไปขณะเดียวกันควรส่งเสริมองค์กรควบคุมกันเองของสื่อมวลชน และให้มีกลไกในลักษณะสถาบันทางวิชาการทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับด้านจริยธรรม และพัฒนาวิชาชีพเพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพและมีคุณธรรม
13. ปัญหาขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมต้องได้รับการจัดการโดยเร่งด่วน
รัฐบาลควรเร่งออกกฎหมาย นโยบาย และมาตรการพิเศษในการจัดการของเสียอันตราย ขยะ และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม โดยจำแนกมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละประเภทของของเสีย เช่น ขยะอันตราย ขยะจากอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอื่น ๆ ทั้งนี้ต้องมีกฎหมายในการควบคุมไม่ให้มีการนำเข้าของเสียและมีกฎหมายที่เคร่งครัดในการควบคุมมาตรฐานและการรับผิดชอบของผู้ประกอบการ
ในด้านมาตรการกำจัดของเสียและขยะมีพิษ ให้คำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
(1) ศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
(2) เทคโนโลยีจะต้องเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและความเหมาะสม
(3) ควรเน้นระบบการจัดการที่ลดจำนวนขยะ หรือจัดการขยะที่แหล่งกำเนิดของขยะ
มากกว่าระบบการจัดการขยะแบบรวมศูนย์ ซึ่งจะกลายเป็นภาระและเกิดความซ้ำซ้อนในการจัดการ
14. แผนฯ 9 จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับกลไก และการมีส่วนร่วมในแผนปฏิบัติการ
การแปลงแผนฯ 9 ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลอย่างจริงจัง จะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงการกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบภาษีส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น การแก้ไขพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และการถ่ายโอนงบประมาณสู่ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้น จะต้องมีกลไกการแปลงแผนสู่การปฏิบัติที่สนับสนุนให้ภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนในสังคมและทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เข้าใจกรอบทิศทางในการพัฒนาประเทศ ในการวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคีร่วมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาและจัดทำดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน สำหรับวัดผลความสำเร็จ และเพื่อเป็นเครื่องมือให้ทุกฝ่ายใช้ในการติดตามผล และปรับปรุงพัฒนาแผนปฏิบัติการให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสภาที่ปรึกษาฯ จะได้ใช้ดัชนีดังกล่าวในการติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ไปด้วยพร้อมกัน
กล่าวโดยสรุป ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 เป็นแผนที่มีปรัชญา แนวทาง วัตถุประสงค์ และยุทธศาสตร์ที่พึงปรารถนา แต่เป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้อาจจะสูงเกินจริง เพราะวิธีการดำเนินงานที่จะนำไปสู่เป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้นั้นยังไม่ชัดเจน และอาจมีปัญหาข้อจำกัดทางด้านการบริหาร ทรัพยากรของประเทศที่มีอย่างจำกัด และสภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก ฉะนั้น สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่าข้อเสนอแนะการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ดังกล่าวข้างต้นนั้น น่าจะทำให้แผนนี้มีโอกาสเป็นจริงได้มากขึ้น
ผลจากการพิจารณาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2544 และวันที่ 25 กันยายน 2544 เห็นว่าความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ให้มีความครบด้านและชัดเจนมากยิ่งขึ้น และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำความเห็นดังกล่าวของสภาที่ปรึกษาฯ ไปประกอบการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ให้สมบูรณ์เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ สรุปได้ดังนี้
(ยังมีต่อ)

สาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เน้นอะไร

การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) มุ่งเน้นให้ประเทศสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงในกระแสโลกาภิวัตน์ จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งของระบบและโครงสร้างต่างๆ ภายในประเทศให้สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญต่อการนำทุนของ ...

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) มีเป้าหมายอย่างไร *

ฉบับที่ 8 พ.. 2540-2544 การมุ่งเน้นการแข่งขันเพื่อสร้างความมั่งคั่งในด้านรายได้ทำให้คนไทยและสังคมไทยมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมของคนในสังคม คือ การย่อหย่อนในศีลธรรม จริยธรรม ขาดระเบียบวินัย การเอารัดเอาเปรียบ ...

แผน 8 เน้นอะไร

- แผน8 มีจุดเน้นในเรื่องการปรับกลไกการบริหารจัดการให้เป็นระบบ โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและมีขั้นตอนที่เหมาะสม มีการพัฒนาแบบองค์รวมในแนวราบโดยยึดพื้นที่ชุมชนเป็นเป้าหมาย ยุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งผลก็คือจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่อง (Interact) ในหลายมิติ ...

แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เน้นเรื่องอะไร

สาระสําคัญของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที 1. เน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจเป็นสําคัญ โดยมีการลงทุนใน โครงสร้างพืนฐานต่างๆ (Infrastructure) ในรูปแบบของการ คมนาคมขนส่ง เขือนเพือการชลประทานและผลิตไฟฟ้า และ สาธารณูปโภคต่างๆ