ศักราชที่ตั้งขึ้นในสมัยของกษัตริย์พม่าทรงมีพระนามว่าบุปผะอรหันต์คืออะไร

We’ve updated our privacy policy so that we are compliant with changing global privacy regulations and to provide you with insight into the limited ways in which we use your data.

You can read the details below. By accepting, you agree to the updated privacy policy.

Thank you!

View updated privacy policy

We've encountered a problem, please try again.

ศักราช หมายถึง ระยะเวลาซึ่งกำหนดตั้งขึ้นเป็นทางการ เริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สำคัญ เรียงลำดับกันเป็นปีๆ ไป ก่อนที่ประเทศไทยจะใช้ศักราชในปัจจุบันได้ปรากฏศักราชหรือการนับเวลาที่หลากหลายมาแต่โบราณ ซึ่งยังมีปรากฏในหนังสือไทยที่อาจทำให้เกิดการสับสนจากความเข้าใจข้อเท็จจริงในอดีตได้ ดังนั้น สมควรศึกษาหาความชัดเจนของศักราชต่างๆ โดยขอเสนอเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ศักราชที่ปรากฏในหนังสือไทย

1.กลียุคกาล คือ ยุคที่สี่ของจตุรยุคตามคติพราหมณ์ ซึ่งธรรมะของมนุษย์ลดเหลือเพียงหนึ่งในสี่ส่วน เป็นยุคเริ่มต้นของมนุษย์ที่ยังป่าเถื่อนหรือด้อยพัฒนา หากนับระยะเวลากำเนิดมนุษย์หรือศักราชของมนุษย์จะมีมาก่อนพุทธศักราช 2558 ปี

2.อัญชนะศักราช คือ ยุคหรือระยะเวลาที่มนุษย์มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เริ่มนับก่อนพุทธศักราช 147 ปี

3.พุทธศักราช คือ ศักราชที่เริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ใช้อักษรย่อ “พ.ศ.” ซึ่งทางราชการกำหนดให้ใช้ พ.ศ. ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ตามประกาศลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร ศก 131 โดยให้ใช้คำว่า “พระพุทธศักราช” กับหนังสือไทยทุกประเภท

4.วิกรมสังวัด หรือวิกรมาทิตย์ศักราช คือ ศักราชที่ปรากฏในหนังสือไทยโบราณที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เริ่มนับศักราชหลังพุทธศักราช 486 ปี

5.คริสต์ศักราช คือ เริ่มนับศักราชเมื่อพระเยซูคริสต์ประสูติ มีขึ้นหลังพุทธศักราช 543 ปี ใช้อักษรย่อ “ค.ศ.” นิยมใช้กับภาษาต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งภาษาของตะวันตก แต่หนังสือไทยโบราณไม่ปรากฏการใช้ศักราชนี้เลย

6.มหาศักราช คือ ศักราชของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ สันนิษฐานว่าเริ่มนับศักราชเมื่อพระเจ้าศาลิวาหนะ แห่งราชวงศ์ศกะของประเทศอินเดีย ทรงมีชัยต่ออริราชศัตรู มีขึ้นหลังพุทธศักราช 621 ปี ใช้อักษรย่อ “ม.ศ.” เป็นศักราชที่แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยก่อนศักราชอื่น และนิยมใช้ในการจารึกหนังสือไทยโบราณ

7.ฮิจเราะห์ศักราช คือ ศักราชในศาสนาอิสลาม นับตั้งแต่ปีที่พระมะหะหมัดออกจากเมืองเมกกะไปเมืองเมดินา ตรงกับ พ.ศ.1123 (มีขึ้นภายหลังพุทธศักราช 1122 ปี) ปัจจุบันยังนิยมใช้กันในกลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม และประเทศแถบตะวันออกกลาง

8.จุลศักราช คือ ศักราชที่ตั้งขึ้นและใช้ในประเทศพม่า มีความเป็นมาจากพระเถระของพม่า ชื่อ “สังฆราชบุตุโสระหัน” สึกจากสมณเพศมาชิงราชสมบัติได้สำเร็จเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 19 ในราชวงศ์สมุทฤทธิ์ ของประเทศพุกาม เมื่อไทยเสียกรุงครั้งแรกนั้นกรุงศรีอยุธยาต้องติดต่อกับเมืองหงสาวดีในฐานะเมืองประเทศราชอยู่ถึง 15 ปี จุลศักราชจึงแพร่หลายเข้ามาใช้ในราชการไทยในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2112-2133) ใช้อักษรย่อ “จ.ศ.” มีขึ้นหลังพุทธศักราช 1181 ปี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้รัตนโกสินทรศกแทนจุลศักราชเมื่อ จ.ศ.1250 (ร.ศ.107)

9.ศักราชจุฬามณี คือ ศักราชที่พบในหนังสือไทยโบราณ มีขึ้นหลังจุลศักราช 258 ปี (หลังพุทธศักราช 1439 ปี)

10.รัตนโกสินทรศก หรือรัตนโกสินทร์ศักราช คือ ศักราชที่กำหนดให้มีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยถือเอาปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมราชาแห่งราชวงศ์จักรี สถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานีตรงกับ พ.ศ.2325 จึงถือปีนี้เป็นรัตนโกสินทรศก 1 ใช้อักษรย่อ “ร.ศ.” และยกเลิกการใช้ศักราชอื่นในหนังสือไทย

สำหรับการใช้ ร.ศ.อย่างเป็นทางการอยู่ในระหว่าง ร.ศ.108 ถึง ร.ศ.131 (ประมาณ 24 ปี เท่านั้น)

การขึ้นปีใหม่ของไทย
ประเพณีปีใหม่ของไทยที่รวบรวมไว้เป็นหลักฐานในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่าพระราชพิธีใหม่ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่าในกฎ
มนเทียรบาลมีการสมโภชและเลี้ยงลูกขุนซึ่งตรงกับการเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง จึงทรงกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นเวลาเช้า มีการพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำเชิญพระสยามเทวาธิราชและเชิญเจว็ดรูปพระภูมิเจ้าที่จากหอแก้วออกมาตั้งที่บุษบกมุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งเครื่องสังเวยที่พื้นชาลาหน้ามุขเด็จ ตั้งพระราชอาสน์ที่ประทับ ณ ศาลาคด มีละครหลวงแสดงและตั้งโต๊ะพระราชทานเลี้ยง

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นทางสุริยคติ ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และโปรดให้ใช้รัตนโกสินทรศกในการนับปี ตั้งแต่ ร.ศ.108 เป็นต้นมา สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรง กลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททอดพระเนตรละครหลวง แล้วเสด็จฯกลับ

ส่วนวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีปีใหม่ในรัชกาลที่ 4 นั้นกำหนดเป็นพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชตลอดมาจนทุกวันนี้
ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ พ.ศ.2455 และต่อมาใน พ.ศ.2456 โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทร์ เถลิงศกสงกรานต์พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษสงกรานต์

เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน

พัฒนาการมาสู่ปีใหม่ในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เกิดขึ้นในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 77/2482 เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ.2482 เป็นเรื่องจร (วาระจร) เรื่องวันขึ้นปีใหม่โดยมีบันทึกจากรายงานการประชุมดังนี้

หลวงพิบูลสงคราม : เรื่องปีใหม่ไม่รู้ว่าปีใหม่ของเรามาอย่างไร และทำไมมาขึ้นปีใหม่เอาเดือนห้า และได้ทราบจากเจ้าพระยารามราฆพว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงพระดำริจะเปลี่ยนให้เหมือนสากล ผมจึงเห็นว่าเราควรจะเปลี่ยนเสียให้เหมือนกับของเขา

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : ก็ดีเหมือนกัน แต่เกรงประชาชนจะว่าเอาตามฝรั่ง

หลวงวิจิตรวาทการ : ที่จริงมันก็ผิดอยู่แล้ว ปีพุทธศักราชนั้นตั้งตนกลางเดือน 6 และที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคิดจะเปลี่ยนนั้นมีเหตุผล 2 ประการ คือ อย่างหนึ่งให้เข้าแบบสากล และอีกอย่างหนึ่งเป็นวันประสูติของพระองค์ท่าน ถ้าคณะรัฐมนตรีจะเปลี่ยน ผมรับไปทำบันทึกมาเสนอ

ที่ประชุมตกลง ให้หลวงวิจิตรวาทการตรวจค้นและทำบันทึกเกี่ยวกับประเทศไทย ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ว่ามีเหตุผลหรือประวัติมาอย่างไรเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

จากนั้นหลวงวิจิตรวาทการได้ศึกษาตรวจค้นและทำบันทึกเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ตามศักราชต่างๆ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2482 โดยสรุปความเป็นมาดังนี้

มีหลักฐานชัดเจนว่าไทยเราแต่โบราณ ถือวันขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้ายเป็นต้นปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงอธิบายว่า ฤดูหนาวที่เรียกว่า เหมันตะ เป็นเวลาพ้นจากมืดฝน สว่างขึ้นเหมือนฤดูเช้า โบราณคิดว่าเป็นต้นปี เพราะเหตุนั้น จึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่งมาแต่เดือนอ้าย และถือแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นต้นปี ซึ่งเป็นคติความเชื่อของไทยแท้

ส่วนเรื่องขึ้นปีใหม่ในเดือน 5 มาบัญญัติขึ้นภายหลัง เมื่อเรานับถือพราหมณ์กันมาก จึงถือตามปีใหม่ของพราหมณ์อินเดียในทางจันทรคติขึ้นต้นด้วยจิตรมาส ทางสุริยคติขึ้นต้นด้วยราศีเมษ ซึ่งอยู่ในราวเดือน 5 เมื่อรวมคติสองอย่างทั่วไทยและพราหมณ์ คือ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นการเปลี่ยนปีนักษัตร แต่ยังไม่เปลี่ยนศก เพราะพระอาทิตย์ยังมิได้ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ต่อมาถึงวันสงกรานต์จึงเปลี่ยนศก ตามปกติมักจะห่างกันราว 15 วัน เป็นอันว่าการถือแบบพราหมณ์นั้น ไทยเราต้องขึ้นปีใหม่สองครั้ง ครั้งแรกคือ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ครั้งที่ 2 คือ วันสงกรานต์ ซึ่งเลื่อนไปเลื่อนมาไม่แน่นอน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงเห็นความลำบากในการขึ้นปีใหม่ 2 ครั้งนี้ และเมื่อต้องการมีการติดต่อกับต่างประเทศก็ยิ่งรู้สึกลำบากในการขึ้นปีใหม่ 2 ครั้งนี้ และเมื่อต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศก็ยิ่งรู้สึกลำบากในการที่ไทยเรามีวันขึ้นปีใหม่ไม่แน่นอน แต่ก็ยังหาวิธีแก้ปัญหาไม่ได้ บังเอิญมาถึงปีรัตนโกสินทรศก 108 (พ.ศ.2432) วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 มาตรงกับวันที่ 1 เมษายนพอดี จึงได้ประกาศพระบรมราชโองการ ให้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่นับแต่นั้นมา

แต่การขึ้นปีใหม่นี้ หมายความแต่เพียงว่าขึ้นรัตนโกสินทรศกใหม่ ส่วนพุทธศักราชนั้นยังไม่เปลี่ยน พระที่เทศน์บอกศักราชจะเปลี่ยนศักราชเมื่อแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ในขณะที่ทางราชการยังใช้รัตนโกสินทรศกเป็นศักราชอยู่ก็ไม่มีปัญหา

แต่เมื่อมาถึง พ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โปรดเกล้าฯให้เลิกใช้รัตนโกสินทรศก ให้ใช้พุทธศักราชแทน ก็เลยโปรดเกล้าฯให้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนพุทธศักราชด้วย

เมื่อประมวลข้อมูลต่างๆ มีเหตุผลสมควรเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน มาเป็น 1 มกราคม ด้วยเหตุผลสนับสนุน คือ

1.เข้าระดับสากล เพราะจีนและญี่ปุ่นก็ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
2.ใกล้เคียงกับคติโบราณของไทยเรามาก
3.ถูกต้องตามลักษณะของดินฟ้าอากาศ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นเดือนที่อากาศในประเทศไทยดีที่สุด เหมือนเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิตคล้ายกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้
4.เป็นการยกเลิกวิธีการที่เอาศาสนาพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา

ส่วนเหตุผลในทางค้านก็มี ได้แก่ การคลาดเคลื่อนของพระพุทธศักราช ต้องแก้ศักราชในประวัติศาสตร์ใหม่เกิดความลำบากเรื่องการนับอายุและปัญหาเรื่องปีนักษัตร

แต่เมื่อรวมความแล้ว การใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ย่อมเป็นการเหมาะสม และความไม่สะดวกบางประการที่มีอยู่ในชั้นต้นนั้นอาจมีทางแก้ไขได้ง่าย ดังนั้น จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปีประดิทินพุทธศักราช 2483 ซึ่งในมาตรา 4 บัญญัติว่า

“ปีประดิทินนั้นให้มีกำหนดระยะเวลาสิบสองเดือน เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม

ปีซึ่งเรียกว่า ปีพุทธศักราช 2483 ให้สิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคมที่จะถึงนี้ และปีซึ่งเรียกว่าปีพุทธศักราช 2484 ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมต่อไป”

เป็นอันว่าประเทศไทยกำหนดวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

ผลทางกฎหมายเกี่ยวกับปีใหม่และปีปฏิทิน
เมื่อประกาศเปลี่ยนแปลงการขึ้นปีใหม่ใน พ.ศ.2483 ทำให้ปีนี้มีเพียง 9 เดือน คือเริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน แต่ไปสิ้นปีใหม่วันที่ 31 ธันวาคม ได้มีบทบัญญัติมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติ ปีประดิทิน พ.ศ.2483 “การกำหนดปีประดิทินตามความในมาตรา 4 ไม่กระทบกระเทือนถึงอายุบุคคลหรือระยะเวลาซึ่งได้กำหนดไว้ หรือต้องคำนวณตามกฎหมาย หรือนิติกรรม ซึ่งได้ประกาศใช้หรือต้องคำนวณตามกฎหมายหรือนิติกรรมซึ่งได้ประกาศใช้หรือได้กระทำขึ้นก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้” ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาเมื่อเริ่มแรกประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ได้

ส่วนผลกระทบต่อกฎหมายปัจจุบันคือในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 “การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใด แต่ไม่รู้วันเกิดให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด”

ผลของการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่และบทบัญญัติของกฎหมายนี้ กรณีบุคคลที่ไม่ทราบวันและเดือนเกิด แต่ทราบปีเกิด ก็สามารถหาข้อยุติได้ กล่าวคือ ถ้าเกิด พ.ศ.2483 หรือก่อนนั้นขึ้นไปให้ใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเกิด แต่หากเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2483 หรือก่อนนั้นขึ้นไปให้ใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเกิด แต่หากเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมาให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเกิดตามกฎหมาย

ส่วนสรุป
ศักราชกับวันขึ้นปีใหม่ของไทยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทย ความเชื่อของคนไทย และการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายด้วย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีกับกฎหมาย ซึ่งเกื้อหนุนกันมาตลอด

ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายใดๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับค่านิยม วัฒนธรรม และประเพณี จึงจะทำให้กฎหมายนั้นอำนวยประโยชน์ให้กับสังคมไทยอย่างแท้จริง

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง