ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

ความผิดต่อร่างกาย

Offence against Body

โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), น.บ.ท., น.ม.(กฎหมายอาญา)

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

    1. บทนำ

ความผิดต่อร่างกาย (Offence Against Body) ความผิดในประมวลกฎหมายอาญา ม.295 ถึง ม.300 ความผิดในหมวดนี้กฎหมายมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยร่างกายของมนุษย์ไม่ให้ถูกใครมาทำร้าย ไม่ว่าการทำร้ายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือเกิดขึ้นจากกรกระทำโดยประมาทก็ตาม

          ความผิดต่อร่างกายมีความสัมพันธ์กับความผิดต่อชีวิต และใกล้เคียงกัน เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกายกับพยายามฆ่า หากผู้กระทำมีเจตนาเพียงทำร้ายก็จะมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่หากผู้กระทำมีเจตนาฆ่าก็จะมีความผิดฐานพยายามฆ่า ซึ่งนักศึกษาจะต้องแยกระหว่างเจตนาทำร้ายกับเจตนาฆ่าให้ได้ ว่าแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งความผิดในหมวดนี้มีหลายมาตราด้วยกันดังนี้

ม. 295 ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

ม. 296 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเหตุฉกรรจ์

ม. 297 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส

ม. 298 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัสโดยมีเหตุฉกรรจ์

ม. 299 ความผิดฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเห็นให้มีผู้รับอันตรายสาหัส

ม. 300 ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

     2.  ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ( Bodily Harm)

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบความผิดภายนอก

    -  ทำร้าย

    -  ผู้อื่น

    -  จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น

องค์ประกอบภายใน

    -  เจตนาทำร้าย

การทำร้าย (injury) หมายถึง การกระทำต่อร่างกายหรือจิตใจอันมีผลให้บาดเจ็บ เสียหาย การทำร้ายนั้นไม่จำกัดวิธี จะทำร้ายด้วยวิธีใดก็ได้ แต่ต้องเป็นทำร้ายนั้นต้องเหตุให้เกิดอันตรายแก่หรือจิตใจของผู้อื่น เช่น มีบาดแผล เจ็บป่วย หัวแตก เลือดออก บวมช้ำ และถึงแม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่ได้ถูกตัวผู้ถูกกระทำเลย เช่น แกล้งให้ตกใจจนเป็นเหตุให้เสียสติ หรือเอายาสลบให้กินหรือทาจนสิ้นสติ 

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ คือ ผลของการทำร้ายซึ่งต้องมีความสัมพันธ์กันกับการกระทำ หมายความว่าผลที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายนั้นต้องเป็นผลธรรมดา ตาม ม.63  ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นได้ เช่น โดนชกจนฟันหัก ฟันหักต้องเป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้จากการถูกชก เป็นต้น

อันตรายแก่กาย หมายถึง เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดจากการถูกเนื้อต้องตัวหรือไม่ แต่มีปัญหาในการวินิจฉัยว่าแค่ไหนที่ถือว่าได้รับอันตรายแก่กายแล้ว ซึ่งมีหลักการพิจารณาว่าบาดแผลใดเป็นอันตรายแก่กายหรือไม่ดังนี้

ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งการทำร้ายว่าร้ายแรงขนาดใดและบาดแผลมากน้อยเพียงใด

     - จากพฤติการณ์แห่งการทำร้าย

     - จากบาดแผล

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2530

จำเลยเพียงแต่ใช้มือตบตี และใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกขว้างผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าไม้ไผ่ดังกล่าวมีขนาดใหญ่เล็กเพียงใด บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับก็เป็นเพียงรอยถลอกไม่มีโลหิตไหล อีกแห่งหนึ่งเพียงแต่บวมเมื่อกดตรงที่บวมจึงเจ็บและจะรักษาหายได้ในเวลาประมาณ 5 วัน ซึ่งเป็นเพียงการคาดคะเนของแพทย์ความจริงอาจจะหายเป็นปกติภายในเวลาไม่ถึงกำหนดที่กะประมาณไว้ก็ได้ จำเลยคงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น

(จากคำพิพากษานี้ศาลเห็นว่าจากพติการณ์แห่งการทำร้ายคือการใช้มือตบตีและใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกขว้างผู้เสียหาย รวมถึงจากบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับนั้นยังไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ม. 295 จึงมความผิดตาม ม. 391)

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 658/2536

จำเลยจะใช้อาวุธปืนจะยิงผู้เสียหาย ผู้เสียหายกระโดดจากบ้านล้มลงมีบาดแผล ถือเป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ

ข้อสังเกตุ คำพิพากษานี้จำเลยยังไม่ได้เล็งปืน จึงยังไม่ถึงขั้นลงมือในความผิดฐานพยายามฆ่า แต่จากพฤติการณ์ที่จำเลยจะใช้ปืนยิงผู้เสียหาย และบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับ ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ม.391 ไม่ผิด ม. 295

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2506

            การทำร้ายแค่ไหนจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม มาตรา 295 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน

            จำเลยเพียงแต่ใช้เท้าเตะและใช้มือตบผู้เสียหาย มิได้ใช้อาวุธทำร้ายผู้เสียหายได้รับบาดแผลเพียงฟกช้ำเท่านั้นและรักษาเพียง 5 วันก็หายยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 คงเป็นผิดตามมาตรา 391 เท่านั้น

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2480

ตำรวจจับกุมคนที่ต้องหาว่ามีฝิ่นเถื่อนโดยล้วงปากเพื่อจะเอาฝิ่นทำให้ฟันเขาหัก 2 ซี่ วินิจฉัยว่าทำเกินสมควรกว่าเหตุ มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายทำให้บาดเจ็บโดยเจตนา ไม่ใช่ประมาท

(จะเห็นได้ว่าการกระทำตามคำพิพากษาฎีกานี้ พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ล้วงปากเพื่อจะเอาฝิ่น และบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับคือฟันหัก 2 ซี่ ถือว่าเป็นการทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ม.295 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2531

จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 จับคอเสื้อและใช้แขนรัดคอผู้เสียหาย แล้วถามว่าเอ็งงัดบ้านข้าใช่ไหมผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยที่ 1 ขู่ผู้เสียหายให้รับสารภาพอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมรับสารภาพ จำเลยที่ 1 ชักดาบปลายปืนยาวประมาณ 8 นิ้วฟุต ออกมาจี้หลังผู้เสียหาย และขู่ให้รับสารภาพ ผู้เสียหายไม่ยอมรับสารภาพ จำเลยที่ 1 จึงสอดดาบปลายปืนเข้าไปในเสื้อของผู้เสียหาย แล้วกรีดที่หลังและหน้าท้องของผู้เสียหายประมาณ 10 แห่ง กรีดเป็นรอยลึกและมีโลหิตไหล จำเลยที่ 2 ชักปืนออกมาจ่อที่ศีรษะของผู้เสียหายแล้วพูดว่า ถ้าไม่รับจะยิงให้ตาย หลังจากเกิดเหตุแล้ว 5 วัน แพทย์ตรวจพบรอยตกสะเก็ดที่เกิดจากของมีคมบาดที่ด้านหลังและที่หน้าเล็กน้อย บาดแผลหายภายใน 1 สัปดาห์ ดังนี้ถือได้ว่า กระทำให้เกิดอันตรายแก่กายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่  1340/2506 

โจทก์ถูกจำเลยชกล้มลงได้รับความกระทบกระเทือนที่ศีรษะรักษาอยู่ 10  วันเศษ  กับได้รับแผลภายนอกเป็นรอยบวม เช่นนี้ ถือว่าเป็นอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่  895/2509

จำเลยเอาก้อนอิฐขว้างปาผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลบ ก้อนอิฐไม่ถูกตัวผู้เสียหาย แต่ตัวผู้เสียหายเซไปมือจึงฟาดถูกข้างเรือ ทำให้ปลายมือบวมยาว 4 เซนติเมตร กว้าง  2  เซนติเมตร และเจ็บที่บริเวณศีรษะ ถือได้ว่าอันตรายแก่กายนี้เนื่องจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 295

อันตรายแก่จิตใจ ไม่ใช่ความรู้สึกหรืออารมณ์ เสียใจ เศร้าใจ เจ็บใจ แค้นใจ เช่น อกหักสาวบอกเลิก เศร้าเสียใจร้องไห้ทั้งวัน หรือมีคนร้ายลักเอาสุนัขตัวโปรดไป เช่นนี้เป็นอารมณ์ไม่ใช่อันตรายแก่จิตใจ

จิต หมายถึง การทำงานของสมอง อันตรายแก่จิตใจ เช่น การทำร้ายจนผู้เสียหายไม่ได้สติ สลบ 

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2493

การที่จำเลยเอาใบไม้เบื่อเมาปนในไข่ทอดให้เจ้าทุกข์กินจนมีอาการวิงเวียนคลื่นไส้เจ้าทุกข์คนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กไม่ได้สติคล้ายเป็นบ้า อยู่ 15 ชั่วโมงจึงหาย ดังนี้นับว่าถึงวิกลจริต ต้องตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 254  

ข้อสังเกต คำพิพากษานี้ตัดสินไว้ปี 2493 ดังนั้นตัวบทที่อ้างในคำพาพากษาจึงไม่ตรงกับปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันคือความผิด ตาม ม. 295

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2509

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยใช้ยาทำให้ผู้เสียหายมึนเมา เป็นเหตุให้ตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจะขัดขืนได้ดังนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเมื่อจำเลยได้กระทำการดังนั้นเพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การลักทรัพย์และการพาทรัพย์นั้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวและเป็นการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339

ข้อสังเกต คำพิพากษาฎีกานี้พอจะเทียบเคียงการกระทำที่ใช้ยาทำให้ผู้เสียหายมึนเมา ถือเป็นการทำร้ายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่จิตใจ ตาม ม.295 แล้ว

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

องค์ประกอบภายใน

ผู้กระทำต้องมีเจตนาทำร้าย เจตนาทำร้ายกับเจตนาฆ่านั้นมีความใกล้เคียงกัน อย่างที่กล่าวไว้แล้วตอนต้น นึกศึกษาจะต้องพิจารณาความแตกต่างของเจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้ายว่าแตกต่างกันอย่างไร โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ

เจตนาทำร้ายโดยประสงค์ต่อผล เช่น นายแดงมีเรื่องทะเลาะกับนายดำ พอนายดำเผลอ นายแดงเอาขวดตีหัวนายดำจนเป็นเหตุให้นายดำหัวแตก

เจตนาทำร้ายเล็งเห็นผล เช่น เห็นคนยืนประท้วงกันอยู่ เอาก้อนหินขว้างเข้าไปในกลุ่มคน ไม่ได้ประสงค์จะให้โดนใครคนใดคนหนึ่ง แต่การกระทำดังกล่าวย่อมเล็งเห็นได้ว่า ก้อนหินย่อมไปถูกใครก็ได้บาดเจ็บ

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2512

จำเลยขับรถแซงรถผู้เสียหายขึ้นไปด้วยความเร็ว แล้วหักพวงมาลัยให้ท้ายรถจำเลยปัดหน้ารถผู้เสียหายจนรถยนต์ผู้เสียหายแฉลบไปจนเกือบตกถนนนั้น หากถนนตรงนั้นเป็นที่สูงหรืออยู่หน้าผาสูงชันย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ถ้ารถคว่ำลงไปแล้วทั้งรถและคนย่อมถึงซึ่งความพินาศ เห็นผลได้ชัดว่าผู้เสียหายย่อมได้รับอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น แม้รถยนต์ผู้เสียหายจะไม่ตกถนนลงไป จำเลยก็มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และไม่จำต้องคำนึงถึงว่าคนนั่งภายในรถจะมีตัวรถป้องกันหรือไม่ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าถนนตรงที่เกิดเหตุสูงจากพื้นนาประมาณ 1 แขน หรือ 1 เมตร ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถอยู่ในอัตราความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อถูกจำเลยเอาท้ายรถปาดหน้ารถผู้เสียหายๆก็แตะเบรครถหยุดทันที และเครื่องดับเอง ล้อรถด้านซ้ายยังห่างขอบถนนอีกราว 1 ศอก ผู้เสียหายไม่ได้รับบาดเจ็บอันใด จึงถือว่าจำเลยมีเจตนาพยายามฆ่าผู้เสียหายให้ถึงตายยังไม่ได้ เพราะถึงหากรถยนต์ผู้เสียหายจะตกลงไปโดยผู้เสียหายนั่งอยู่ภายในตัวรถก็ไม่แน่ว่าจะถึงตาย แต่ก็พอคาดหมายได้ว่าอย่างน้อยผู้เสียหายย่อมได้รับการกระทบกระแทกเป็นอันตรายถึงบาดเจ็บซึ่งจำเลยก็น่าจะเล็งเห็นผลอันจะเกิดแก่ผู้เสียหายได้ดังนี้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามทำร้ายผู้เสียหายเป็นอันตรายถึงบาดเจ็บตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2790/2531

จำเลยขับรถยนต์ถอยหลังชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายและรถยนต์ของผู้อื่นอีก 3 คัน มีเสียงร้องให้ช่วยจับจำเลย ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงนั่งซ้อนท้ายรถของผู้ตายติดตามรถจำเลยไปและตามไปทันผู้ตายขับรถแซงรถจำเลยทางด้านขวาแล้วผู้เสียหายเอามือเคาะประตูรถจำเลยบอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยจอดรถ จำเลยไม่ยอมฟังกลับเร่งความเร็วของรถแล้วขับรถปาดเฉียงไปทางขวาล้ำเส้นกึ่งกลางถนนในระยะกระชั้นชิด ผู้ตายไม่สามารถหลบหลีกได้ เพราะรถทั้งสองคันแล่นตีคู่ด้วยความเร็วสูงในซอยกว้างประมาณ 5เมตร ไม่มีทางเท้า สองข้างซอยมีกำแพงรั้วโดยตลอดด้านขวาของซอยมีเสาไฟฟ้าปักอยู่เป็นระยะ ๆ จึงเป็นเหตุให้รถผู้ตายเฉี่ยวชนรถจำเลยทางด้านขวาค่อนไปทางหน้ารถ แล้วเสียหลักพุ่งไปชนกำแพงรั้วด้านขวาของซอยอย่างแรงจนมีโลหิตเปรอะกำแพงรั้วและนองพื้น แล้วเลยไปชนเสาไฟฟ้าส่วนรถจำเลยแล่นด้วยความเร็วสูง จึงไม่สามารถบังคับรถให้เลี้ยวคืนสู่เส้นทางได้เป็นเหตุให้แล่นชนรถผู้ตายและเสาไฟฟ้าดังกล่าว ผู้ตายถึงแก่ความตายทันที และผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส เช่นนี้ เห็นได้ว่าจำเลยจงใจให้รถผู้ตายแล่นเข้าชนกำแพงรั้วและเสาไฟฟ้าอย่างแรง โดยผู้ตายไม่มีทางขับรถหลบหลีกไปได้เลย จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลยได้ว่าจะทำให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งนั่งบนรถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตายได้ ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายและผู้เสียหาย.

3.      ม. 296 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเหตุฉกรรจ์

มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเหตุฉกรรจ์ เป็นการทำร้ายร่างกายที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าการทำร้ายร่างกายธรรมดาตาม ม.295 และเหตุฉกรรจ์ก็เป็นเหตุเดียวกับ ม.289 เช่น ทำร้ายร่างกายบุพการี ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกำลังปฎิบัติหน้าที่ หรือการทำร้ายคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จะมีความผิดตามมาตรานี้

ข้อสังเกต นักศึกษาควรทำความเข้าใจให้ดีระหว่าง เหตุฉกรรจ์กับผลฉกรรจ์ ว่าแตกต่างกันอย่างไร จะได้ไม่สับสน

4.      ม. 297 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส

มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี

อันตรายสาหัสนั้น คือ

(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท

(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด

(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

(5) แท้งลูก

(6) จิตพิการอย่างติดตัว

(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

(8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ยี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัสการกระทำเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายสำเร็จแล้ว แต่ผู้กระทำต้องรับโทษหนักตามผลที่เกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งถือเป็น เงื่อนไขลงโทษทางภาวะวิสัย เพราะการลงโทษเป็นไปตามผลที่เกิดขึ้น โดยผู้กระทำไม่ต้องมีเจตนาจะให้ผลเกิดขึ้นเช่นนั้น ถ้าผลอันตรายสาหัสได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้กระทำต้องรับผิดเสมอ

เป็นความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดที่ต้องการผล หากผลอันตรายสาหัสไม่เกิดขึ้น ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายสาหัส เช่น นายแดงมีเจตนาจะเอามีดฟันให้แขนนายดำให้ขาด แต่เมื่อฟันไปแล้วแขนของนายดำไม่ขาด นายแดงก็มีความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายตาม ม. 295 เท่านั้น นายแดงไม่มีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายสาหัส ม. 297

อันตรายสาหัส ได้แก่ดังต่อไปนี้

(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท

ตาบอด หมายถึง ดวงตาไม่อาจรับภาพได้เลย และแม้จะบอดเพียงข้างเดียวก็ถือว่าตาบอด

หูหนวก หมายถึงหูไม่ได้ยิน ดังนั้นการทำร้ายจนหูขาดแต่ยังสามารถได้ยินอยู่ จึงไม่ใช่หูหนวก แต่อาจเป็นการทำร้ายจนเป็นเหตุให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัวได้

ลิ้นขาด แม้จะขาดเพียงบางส่วน

เสียฆานประสาท หมายถึง เสียความสามารถในการดมกลิ่น ดังนั้นการถูกทำร้ายจนจมูกแหว่ง แต่ยังสามารถดมกลิ่นได้อยู่ก็ไม่ผิดตามอนุมาตรานี้ แต่อาจเป็นการทำร้ายจนเป็นเหตุให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัวได้

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หมายถึง อวัยวะที่ใช้ในการสืบพันธุ์ในการร่วมประเวณี ไม่ว่าของชายหรือหญิง รวมถึงการถูกทำร้ายไม่ถึงกับเสียไปทั้งหมด แต่ที่มีอยู่ใช้การไม่ได้ก็ถือว่าเสียอวัยวะสืบพันธุ์

ความสามารถสืบพันธุ์ หมายถึง ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ แม้อวัยวะสืบพันธุ์ยังอยู่ก็ตาม เช่น ถูกทำร้ายร่างกายจนต้องตัดรังไข่ทิ้ง หรือถูกทำร้ายร่างกายจนอัณฑะไม่สามารถผลิตอสุจิได้

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด

เสีย หมายถึง ใช้การไม่ได้เหมือนเดิม อาจจะไม่ถึงกับขาดไปเลยแต่ใช้การไม่ได้ก็ถือว่าเสีย ถ้าโดนฟันจนนิ้วขาดแต่หมอต่อให้ใช้ได้ดังเดิมเช่นนี้ไม่ถือว่าเสียนิ้ว

เสีย อวัยวะอื่นใด หมายถึง อวัยวะอื่นที่สำคัญเทียบเท่า แขน ขา มือ เท้า นิ้ว  แต่ไม่รวมอวัยวะที่แยกออกจากร่างกายได้โดยเป็นอันตราย เช่น ผม ฟัน หนัง เล็บ เลือด

          (4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

หมายถึง เสียความงามบนใบหน้าจนน่าเกลียด ไม่ต้องถึงกับต้องเปลี่ยนรูปหรือผิดรูปไป แต่น่าเกลียดอย่างติดตัว

แต่การพิจารณาว่าเสียโฉมอย่างติดตัวหรือไม่ ค่อนข้างเป็นอัตวิสัยของศาลว่าจะตีความคำว่า เสียโฉมอย่างติดตัว อย่างไร แค่ไหน เช่นตัวอย่างของคำพิพากษาดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2532

ใบหูเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าที่ประกอบรูปหน้าให้งาม การที่ใบหูหลุดขาดแหว่ง ไปถึงหนึ่งในสาม ย่อมทำให้รูปหน้าเสียความงามอันเป็นการเสียโฉมอย่างติดตัว เป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 559/2488

แผลกลางแก้มซ้ายยาว 6 ซ.ม.กว้างครึ่ง ซ.ม.เป็นแผลใหญ่ยาวอยู่ห่าง 3 วามองเห็นแผลถนัดเช่นนี้ย่อมทำให้เสียความงามแห่งใบหน้าจนน่าเกลียด นับว่าเป็นบาดแผลทำให้รูปหน้าเสียโฉม นับถือว่าถึงสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2508

ลักษณะและสภาพของบาดแผลจะทำให้ผู้เสียหายถึงต้องหน้าเสียโฉมติดตัวเพราะกระโหลกศีรษะตอนหน้าผากจะเป็นรอยบุบยุบเข้าไป เช่นนี้นับได้ว่า ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

(5) แท้งลูก

แท้งลูก หมายถึง ทำให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ตายก่อนที่จะคลอดออกมาหากคลอดออกมาอย่างมีชีวิต แม้มีชีวิตอยู่เพียงไม่นานก็ไม่ถือว่าแท้งลูก

หากทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องคลอดก่อนกำหนดมาก ๆ เช่น อายุครรภ์เพียง 5 เดือน ทางการแพทย์ถือว่าไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ถือว่าเป็นการแท้งลูก

พิจารณาตัวอย่าง นายแดงทำร้ายนางขาว โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่านางขาวตั้งครรภ์อยู่ เป็นเหตุให้นางขาวเกิดแท้งลูก นายแดงย่อมมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตาม ม.297 (5) ข้อเท็จจริงว่านางขาวตั้งครรภ์อยู่หรือไม่นายแดงไม่จำเป็นต้องรู้ เมื่อผลของการทำร้ายเป็นเหตุให้นางขาวแท้งลูกนายแดงย่อมมีความผิดตามมาตรานี้

หากนายแดงทราบดีว่าว่านางขาวตั้งครรภ์อยู่ แต่ต้องการให้นางขาวแท้งลูก จึงทำร้ายนางขาว เป็นเหตุให้นางขาวเกิดแท้งลูก นายแดงมีความผิดฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงไม่ยินยอม ตาม ม.303 เพราะนายแดงทราบข้อเท็จจริงว่าขาวตั้งครรภ์และมีเจตนาให้ขาวแท้งลูก ไม่ใช่ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ม.297 (5)

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

(6) จิตพิการอย่างติดตัว

จิต หมายถึง การสื่อสารของสมอง จิตพิการหมายถึงการสั่งการของสมองผิดปกติหรือพิการไม่สมประกอบ การทำร้ายเป็นเหตุให้จิตพิการอย่างติดตัวนั้นไม่จำต้องถึงกับวิกลจริตไปเลย และไม่จำต้องจิตพิการจนประกอบการงานไม่ได้ เพียงแต่การสั่งการสมองผิดปกติไป เช่น กลายเป็นคนสมองช้า เซื่องซึมอยู่ตลอด เป็นต้น

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

(7) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

ทุพพลภาพ หมายถึง ร่างกายหรือจิตใจไม่สมประกอบ เช่น โดนทำร้ายจนมือพิการ ขาเป๋

ป่วยเจ็บเรื้อรัง หมายถึง การเจ็บป่วยที่หายได้ยาก ต้องใช้เวลารักษายาวนาน

ซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต ต้องอาศัยความรู้ทางการแพทย์เป็นผู้วินิจัยว่าการทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยเรื้อรังนั้นจะเป็นไปตลอดชีวิตหรือไม่

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

(8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บ ด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันทุกขเวทนา หมายถึง ได้รับความเจ็บปวดทรมาน เช่น ต้องเข้าเฝือกอยู่นิ่ง ๆ ปัสวะไม่ได้ติดต่อกันเกินยี่สิบวัน

จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันนั้นต้องพิจารณาว่าปกติทำอะไร เช่น ปกติต้องทำงานแต่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บต้องเข้าเฝือก ทำงานไม่ได้เลยเกินกว่ายี่สิบวัน เช่นนี้เป็นการณีตาม (8)

ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท

ความแตกต่างระหว่าง (7) กับ (8)

ตาม (7) นั้นการทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บเรื้อรัง ต้องอาจถึงตลอดชีวิต แต่ตาม (8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

ถ้าทุพพลภาพหรือป่วยเด้วยความทุกขเวทนาเกิน 20 วัน แม้ต่อมาจะหายดีก็จะเข้า (8) แต่ถ้าทุพพลภาพหรือป่วยเรื้อรังอาจถึงตลอดชีวิต แม้ไม่ถึง 20 วันก็เป็น (7)

ม. 298 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัสโดยมีเหตุฉกรรจ์

มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตาม มาตรา 297 ถ้าความผิด นั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี

            เช่นเดียวกับมาตรา 296 เพียงแต่ตาม ม.298 นี้จะต้องผลของการทำร้ายร่างกายซึ่งมีเหตุฉกรรจ์ เช่น ทำร้ายร่างกายบุพการีจนเป็นเหตุให้บุพการีจนได้รับอันตรายสาหัส แขนขาด ขาขาด เป็นต้น

ม. 299 ความผิดฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเห็นให้มีผู้รับอันตรายสาหัส

            มาตรา 299 ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการ ชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

ความหมายเช่นเดียวกับ มาตรา 294 แต่มาตรานี้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ รับอันตรายสาหัส

ม. 300 ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีความหมายเช่นเดียวกับ มาตรา 291 แต่ผลของการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส



ความผิดต่อร่างกายมีกี่ประเภท