การแพทย์แผนไทยมีประโยชน์อย่างไร

ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย


โดย  อาจารย์กิตติ ลี้สยาม



1.  ความหมายภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

ภูมิปัญญา ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายว่า พื้นความรู้ความสามารถ

        ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทางการแพทย์แผนไทยได้ให้ความหมายว่า พื้นความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย

        การแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายว่า กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และให้หมายความรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย และการประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งนี้โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา

        การแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายว่า การประกอบโรคศิลปะตามความรู้หรือตำราแบบไทยที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา หรือตามการศึกษาจากสถานศึกษาที่คณะกรรมการรับรอง

        การประกอบโรคศิลปะ ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542  ได้ให้ความหมายว่า การประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ

        กล่าวโดยรวมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย หมายความถึง พื้นความรู้ความสามารถหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ไทย หรือจะให้ความหมายตามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติ “ครูภูมิปัญญาไทย” ภูมิปัญญาไทย หมายความถึง องค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรรปรุงแต่ง พัฒนาและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย ภูมิปัญญาไทย มีลักษณะเป็นองค์รวม และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นในวิถีชีวิตไทย ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่งอกงามขึ้นใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการ และการปรับตัวในการดำเนินชีวิตของคนไทย ลักษณะองค์รวมของภูมิปัญญามีความเด่นชัดในหลายด้าน ได้แก่  ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ

        ด้านการแพทย์แผนไทย อันได้แก่ ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้ เช่น ยาจากสมุนไพรอันมีอยู่หลากหลาย การนวดไทย การดูแลและรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน เป็นต้น

        ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ถือว่าเป็นระบบการแพทย์แบบองค์รวมระหว่าง กาย จิต สังคมและธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นว่าการแพทย์แผนไทยไม่ได้มุ่งเน้นเป็นแต่เพียงการบำบัดโรคทางกาย หรือการรักษาเฉพาะส่วนอย่างการแพทย์ตะวันตก แต่เป็นการดูแลสุขภาพของคนทั้งร่างกาย และจิตในระดับปัจเจกบุคคล และยังสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนหรือสังคม และยังเอื้อประสานความสมดุลของระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

        ดังนั้น ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจึงต้องเป็นองค์ความรู้ ระบบความคิด ความเชื่อของชุมชนได้จากประสบการณ์ที่สั่งสม ปรับตัว และดำรงชีพตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม-วัฒนธรรมในแง่การจัดการป้องกัน การดูแล และการรักษาสุขภาพของคนไทยที่มีการพัฒนาสืบทอดกันมา รากฐานหรือองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยนั้นเป็นผลจากการใช้สติปัญญาปรับตัวตามสภาวะการณ์ต่างๆ เป็นภูมิปัญญาอันเกิดจากประสบการณ์ของคนไทยเอง หรืออาจเป็นภูมิปัญญาจากภายนอกที่ได้มีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอด ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต และเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชนชาติอื่น และรับเอามาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม-วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทย

2.  ความเป็นมาของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

        การแพทย์แผนไทยนับว่าเป็นภูมิปัญญาของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่โบราณ ควบคู่มากับสังคมไทย เป็นองค์ความรู้ที่ผ่านการสังเกต ทดลองใช้ คัดเลือก พัฒนาและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพให้สมดุลกับบุคคล สังคม และสภาพแวดล้อม และมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย ภูมิปัญญาสามารถสะท้อนความสัมพันธ์ได้ 3 ลักษณะ คือ

1) ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ
2) ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมหรือชุมชน
3) ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ

        ับว่าการแพทย์ดั้งเดิมของไทยก็ผูกพันกับความเชื่อดังกล่าว อันได้แก่ ความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ หรือการเคารพธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากมีการบวงสรวงเทพ เทวดา เจ้าป่า เจ้าเขา แม่ธรณี เป็นต้น  ต่อมามีการลองผิดลองถูก จดจำสมุนไพร เกิดเป็นการแพทย์พื้นบ้าน อันเป็นการแพทย์ที่เกิดจากการเรียนรู้ทดสอบเรื่องสรรพคุณสมุนไพร ทั้งจากพิธีกรรมความเชื่อดั้งเดิมผสมผสานกับการแพทย์ประสบการณ์ จึงเกิดระบบการแพทย์พื้นบ้าน จากนั้น การแพทย์แผนไทยก็ได้รับอิทธิพลจากภายนอก ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของขอม อินเดีย และจีน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสังคมและวัฒนธรรมไทย ซึ่งอิทธิพลขอมสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปรากฏหลักฐาน คือ อโรคยศาลที่พบในประเทศไทยหรือตำราสมุดข่อยโบราณที่เป็นตำราภาษาขอม การเผยแพร่ศาสนาพุทธและฮินดูจากอินเดีย ทำให้การแพทย์อายุรเวทเข้ามามีอิทธิพลและเป็นรากฐานของการแพทย์แผนไทย ดังจะเห็นได้ว่า ตำราหรือคัมภีร์แพทย์จะเริ่มต้นคำปฌาม หรือนมัสการพระพุทธเจ้า มีการอ้างถึงปรมาจารย์ทางการแพทย์คือ หมอชีวกโกมารภัจจ์  จากอิทธิพลของพระพุทธศาสนา เช่น กล่าวถึงธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็มีปรากฏในพระไตรปิฎก และอิทธิพลของการแพทย์จีนก็มีหลักฐาน เช่น ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ก็ประกอบด้วยหมอจีนและตำรับแพทย์จีน หรือมีการใช้โกฎ ซึ่งเป็นตัวยาจีนในยาอายุวัฒนะ เป็นต้น ซึ่งการแพทย์จีนเข้ามามีอิทธิพลเฉพาะตัวยา แต่ทฤษฎีการแพทย์จีนและหลักการวินิจฉัยอย่างการแมะจับชีพจรคนไข้ก็เป็นเพียงเครื่องมือประกอบในการวินิจฉัยโรคเท่านั้น

        นอกจากนี้ ทฤษฎีการแพทย์ดั้งเดิม ได้แก่ ทฤษฎีธาตุสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน และกาลสมุฏฐาน ก็ล้วนเป็นรากฐานการแพทย์แผนไทย ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า รากฐานการแพทย์แผนไทยประกอบด้วย

  1. ระบบการแพทย์พื้นบ้าน หรือระบบการแพทย์ท้องถิ่น
  2. พระพุทธศาสนา
  3. อายุรเวทจากอินเดีย
  4. การแพทย์จีนหรือการแพทย์ขอม
  5. ทฤษฎีการแพทย์ดั้งเดิม

        ความเป็นมาของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในยุคก่อนสมัยสุโขทัยที่ปรากฏเด่นชัดทางโบราณคดี ได้แก่ อโรคยศาลที่สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมัยที่ 7  ซึ่งมีปรากฏหลักฐานในประเทศไทยถึง 22 แห่ง โดยมีอโรคยศาลที่เปรียบเหมือนโรงพยาบาล ซึ่งมีความสำคัญ คือ มีพระพุทธรูปไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าทางด้านการแพทย์ และยังพบจารึกที่กล่าวถึงแพทย์อายุรเวทและตัวยารักษาโรค ดังนั้น ในอโรคยศาลน่าจะมีการักษาด้วยสมุนไพรประกอบกับพิธีกรรมความเชื่อ หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคต ความเจริญรุ่งเรืองและการแผ่อำนาจทางการเมืองของขอมก็เริ่มเสื่อมลง พร้อมกับการเจริญรุ่งเรืองของรัฐสุโขทัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการบำบัดและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้รับอิทธิพลจากศาสนาและวัฒนธรรมจากขอม อินเดีย และจีน และจากระบบการแพทย์พื้นบ้านอันเป็นการแพทย์ประสบการณ์ เกิดการผสมผสานหล่อหลอมเป็นรากฐานของการแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่รัฐสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์


3. องค์ประกอบของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

        องค์ประกอบของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วย ตำราหรือคัมภีร์แพทย์แผนไทย บุคลากรแพทย์แผนไทย ป่าและสมุนไพร ส่วนประเภทของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สามารถแบ่งได้เป็นการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 และการแพทย์พื้นบ้าน

3.1   ตำราและคัมภีร์การแพทย์แผนไทย

                1) ตำราการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายว่า หลักวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ทั้งที่บันทึกไว้ในสมุดไทย ใบลาน ศิลาจารึก หรือวัสดุอื่น หรือมิได้มีการบันทึกกันไว้ แต่เป็นการเรียนรู้หรือถ่ายทอดสืบต่อกันมาไม่ว่าด้วยวิธีใด เช่น ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง เป็นต้น

                2) ตำรับยาแผนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายว่า สูตรซึ่งระบุกรรมวิธีการผลิตและส่วนประกอบสิ่งปรุงที่มียาแผนไทยรวมอยู่ด้วยไม่ว่า สิ่งปรุงนั้นจะมีรูปลักษณะใด เช่น ตำรับยาในตำราจารึกวัดราชโอรส และตำราพระโอสถพระนารายณ์ เป็นต้น

3) คัมภีร์แพทย์ คือ องค์ความรู้ หรือทฤษฎีการแพทย์แผนไทย หรือทฤษฎีโรคของการแพทย์แผนไทย อันเป็นความรู้ที่มีการบันทึก ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยมากจะเป็นคัมภีร์โรคแผนโบราณหลายๆ คัมภีร์ มักถูกรวบรวมอยู่ในตำราการแพทย์แผนไทย เช่น คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์โรคนิทาน และคัมภีร์ธาตุวิภังค์ เป็นต้น

        3.2   บุคลากรการแพทย์แผนไทย แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

1) แพทย์แผนไทยที่ขึ้นทะเบียนของทางราชการ แพทย์ที่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ตำราเปิดเผยมีแบบฉบับแน่นอน ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนของกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข แบ่งออกเป็น 2 สาขาตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542  ได้แก่

ก. สาขาแพทย์แผนไทย หมายถึง การประกอบโรคศิลปะตามความรู้หรือตำราแผนไทยที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา หรือตามการศึกษาจากสถานที่คณะกรรมการรับรอง ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทยและการนวดไทย

ข. สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมายถึง การประกอบโรคศิลปะตามการศึกษาจากสถานศึกษาที่คณะกรรมรับรองและใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดโรคที่กำหนดในกฎกระทรวง

2) แพทย์แผนไทยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนของทางราชการ ได้แก่ บุคคลที่เรียนรู้ด้วยตนเอง หรือได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ หรือจากการฝากตัวเป็นศิษย์กับครูหมอพื้นบ้าน การเรียนอาศัยทฤษฎีจากตำราเก่าที่สืบทอดกันมา เช่น สมุดข่อยใบลาน หรือจากประสบการณ์ตรง ให้การรักษาด้วยสมุนไพรหรือวิถีธรรมชาติ โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น แก่สมาชิกในชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกัน และได้รับการยอมรับจากชุมชน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางราชการ เช่น หมอยาพื้นบ้าน หมอพระ หมอนวด หมอตำแย หมอกระดูก หมอน้ำมนต์ หมองู เป็นต้น

3.3  ป่าไม้และสมุนไพร ป่าเป็นคลังยา ประกอบด้วย สมุนไพรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ หมอพื้นบ้านเรียนรู้จากป่า เรื่องยาสมุนไพร พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ป่าจึงเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของหมอยาพื้นบ้าน ซึ่งหมอพื้นบ้านมักจะเก็บยาจากป่า ซึ่งอาจเป็นป่าอนุรักษ์ที่เป็นอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือป่าชุมชนใกล้ที่อยู่อาศัย การเก็บสมุนไพรจะเก็บในเชิงอนุรักษ์ กล่าวคือ สำหรับพืชป่าจะเก็บเฉพาะส่วนที่จะนำมาทำยา ส่วนที่เหลือยังคงไว้หรือสามารถขยายพันธ์เจริญเติบโตต่อไปได้ และจะไม่นำพืชป่าออกมาปลูกที่บ้านอย่างเด็ดขาด แสดงถึงการให้ความสำคัญของถิ่นกำเนิดสมุนไพร หมอพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญมักจะได้องค์ความรู้มาจากป่าทั้งด้านพฤกษศาสตร์และสรรพคุณทางยา และหมอพื้นบ้านบางคนรู้จักพรรณไม้เกือบทั้งหมดของป่า กล่าวได้ว่า ป่าและสมุนไพรเป็นแหล่งภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าได้ลดลงอย่างมาก จึงควรให้ความสำคัญช่วยรักษาและปลูกป่าทดแทน อนุรักษ์และป้องกันการทำลายพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชสมุนไพรทดแทนสมุนไพรธรรมชาติ การวางแผนการจัดการ และการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

4. ประเภทของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

        ประเภทของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สามารถแบ่งได้เป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน  โดยที่การแพทย์แผนไทยจะมีการเรียนการสอน ครูผู้สอน และตำราที่ใช้เป็นระบบชัดเจนกว่าการแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งมีรายละเอียดในแต่ละประเภท ดังนี้

4.1 ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย แบ่งตามประเภทตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย  การผดุงครรภ์ไทยและการนวดไทย มีนิยามดังนี้

1) เวชกรรมไทย หมายความว่า การตรวจ การวินิจฉัย การบำบัดหรือการป้องกันโรคด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย คือ เวชกรไทย หรือหมอไทยที่มีองค์ความรู้ในการบำบัด รักษา และป้องกันโรคด้วยการแพทย์แผนไทย

2)  เภสัชกรรมไทย หมายความว่า การกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงยาและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย และการจัดจำหน่ายตามกฎหมายว่าด้วยยา ทั้งนี้ ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย คือ เภสัชกรไทย ที่มีองค์ความรู้ในเรื่องยาไทย

3) การผดุงครรภ์ไทย หมายความว่า การตรวจ การบำบัด การแนะนำ และการส่งเสริมสุขภาพหญิงมีครรภ์ การป้องกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์และระยะคลอด การทำคลอด การดูแลและส่งเสริมสุขภาพมารดาและทารกในระยะหลังคลอด ทั้งนี้ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย คือ หมอไทยที่มีองค์ความรู้เรื่องหญิงมีครรภ์และทารก

4)  การนวดไทย หมายความว่า การตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกันโรค  การส่งเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การจับ การดัด การดึง การประคบ การอบ หรือวิธีการอื่นตามศิลปะการนวดไทย หรือใช้ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ทั้งนี้ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย คือ หมอไทยที่มีองค์ความรู้เน้นการนวดไทยเพื่อการบำบัดรักษาโรค

4.2 ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาที่มีควบคู่กับสังคมไทย ผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ทั้งความเชื่อ พิธีกรรม วัฒนธรรม ประเพณี และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและสืบทอดเป็นการแพทย์ประสบการณ์ท้องถิ่นที่อิงกับบริบทของสังคมวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่าง ทำให้เป็นการแพทย์ที่มีเอกลักษณ์และมีความหลากหลายเฉพาะถิ่น ดังนั้น การแพทย์พื้นบ้านจึงเป็นการดูแลสุขภาพตามคติความเชื่อและการดำเนินชีวิต อาจแบ่งเป็นการแพทย์ประสบการณ์ การแพทย์โหราศาสตร์ การแพทย์ไสยศาสตร์ หรือการแพทย์แบบอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นต้น แต่ทั้งนี้การแพทย์พื้นบ้านจะแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น จึงทำให้สามารถแบ่งการแพทย์พื้นบ้านออกเป็น 4 ภาค รายละเอียดดังต่อไปนี้

1) การแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต จิตวิญญาณ ธรรมชาติและสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพ มีความเชื่อว่า คนประกอบขึ้นจากรูปกับนาม คือ กาย (ธาตุ) และจิต (ขวัญ) อย่างสมดุล และสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องของกรรมที่อาจไปสัมพันธ์กัน เช่น คนกับชุมชน คนกับผีหรือจิตวิญญาณ หรือคนกับธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ตัวอย่างการแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ เช่น ฮ้องขวัญ กินอ้อพญา ย่ำขาง ตอกเส้น ฟ้อนเชิง เช็ดแหก ผีย่าหม้อนึ่ง และขวากซุย เป็นต้น

2) การแพทย์พื้นบ้านภาคอีสาน ชาวอีสานมีความเชื่อเรื่องผีแถน เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ทำให้เกิด  ดิน น้ำ ลม ไฟ โลกและมนุษย์ การติดต่อกับผีแถนโดยผ่านทางพิธีกรรมบุญบั้งไฟและลำผีฟ้า มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ เรื่องขวัญ ซึ่งเป็นสิ่งรวมศูนย์ชีวิต ภูมิปัญญาด้านสุขภาพของคนอีสานถึงสาเหตุการเจ็บป่วย จึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ตัวอย่างการแพทย์พื้นบ้านภาคอีสาน เช่น หมอลำผีฟ้า การอยู่ไฟหรืออยู่กรรม การสู่ขวัญ การบูชาผีปู่ตา  และโจลมะม็วด เป็นต้น

3) การแพทย์พื้นบ้านภาคกลาง ภาคกลางมักเรียกตัวเองว่า ชาวพุทธ เนื่องจากส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ วัดจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชนเป็นศูนย์กลางการรักษาสืบทอดตำรายาพื้นบ้าน ตลอดการรักษาด้วยคาถาเวทมนต์ ความเชื่อในท้องถิ่นยังมีการนับถือผีบรรพบุรุษ ศาลพระภูมิเจ้าที่ นอกจากนี้ ภาคกลางยังเป็นศูนย์รวมผสมกลมกลืนของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมมอญ อิสลาม และจีน เป็นต้น ดังนั้น ความคิด ความเชื่อในการดูแลรักษาสุขภาพจึงมีความหลากหลาย ทั้งการดูแลรักษาสุขภาพแบบดั้งเดิมผสมผสานกับอิทธิพลของวัฒนธรรมอื่น มีการปรับใช้ให้สอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชาวภาคกลาง ตัวอย่างการแพทย์พื้นบ้านภาคกลาง เช่น การเหยียบเหล็กแดงของหมออิสลาม การทำนายพยากรณ์ปัญหาสุขภาพ การดูแลสุขภาพด้วยวิถีธรรม การรักษาผู้ป่วยด้วยวัฒนธรรมชอง การนวดพื้นบ้านภาคกลาง เป็นต้น

4) การแพทย์พื้นบ้านภาคใต้ นับเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งพราหมณ์ อิสลาม จีนและมลายู ชาวใต้มีความเชื่อเรื่องผีไม่ต่างจากชาวล้านนาและชาวอีสาน เชื่อว่า มีผีสถิตอยู่ในธรรมชาติ เช่น ผีเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่นา และยังนับถือผีบรรพบุรุษ  หรือที่เรียกว่า “ครูโนรา” ในเรื่องความเจ็บป่วยชาวใต้เชื่อว่า เกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติ อำนาจธรรมชาติ และอำนาจความผิดปกติทางสังคม การแพทย์พื้นบ้านภาคใต้ ตัวอย่างเช่น โต๊ะบีแด (หมอตำแยชาวไทยมุสลิม) โนราลงครู หมองู หมอยาสมุนไพร และหมอบีบหมอนวดภาคใต้ เป็นต้น

การแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทำงานอะไร

จบมาทำงานอะไรได้บ้าง ? แพทย์แผนไทยประยุกต์ปฏิบัติงานในสถานบริการภาครัฐและภาคเอกชน หรือโรงงานผลิตยาสมุนไพร ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทยประยุกต์

ด้านการแพทย์แผนไทย มีอะไรบ้าง

การแพทย์แผนไทยเป็นระบบการแพทย์ที่อาศัยความรู้ หรือตำราแบบโบราณของไทย ที่ถ่ายทอด และพัฒนาสืบต่อกันมา ศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๔ สาขาวิชา ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย และการนวดไทย โดยเวชกรรมไทยเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการตรวจ การวินิ

การแพทย์แผนโบราณมีความสําคัญอย่างไร

ดังนั้นความสำคัญของวิชาชีพแพทย์แผนไทย ย่อมมีความสำคัญในเรื่องของการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ และยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เราสามารถแบ่งระดับความสำคัญของวิชาชีพแพทย์แผนไทย ได้เป็น 4 ระดับคือ ความสำคัญใน ...

หากต้องการศึกษาความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยควรไปที่ใด

คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์