บทบาท ของอาเซียน ต่อ ประเทศสมาชิก ทาง ด้าน สังคมและวัฒนธรรม

1. บทบาทด้านการเมืองและความมั่นคง

            ไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมให้อาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างสันติภาพและลดความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคลง ทำให้อาเซียนสามารถขยายจำนวนสมาชิกจนครบ 10 ประเทศเช่นในปัจจุบัน ด้วยเล็งเห็นว่าความมั่นคงทางการเมืองในภูมิภาคมีส่วนช่วยส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชนและพัฒนาการของภูมิภาคโดยรวม

            นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนให้อาเซียนขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง ในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไทยรับหน้าที่ประธานในช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 และผลักดันให้เพิ่มบทบาทของประธานให้สามารถทำหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการส่งเสริมแนวคิด “การทูตเชิงป้องกัน” เพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคโดยรวม

2. บทบาทด้านเศรษฐกิจ

            ไทยได้เสนอและผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ตามแนวคิดของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้อาเซียนรวมตัวเป็นตลาดเดียว มีการลดหรือยกเลิกภาษีสินค้าส่งออกระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้ารวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนเพิ่มปริมาณและคุณภาพของสินค้าและการบริการผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

3. บทบาทด้านสังคมและวัฒนธรรม

            ไทยสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค ทั้งยังผลักดันให้อาเซียมีปฏิญญาเกี่ยวกับโรคเอดส์ และเป็นผู้นำการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงการแก้ปัญหาภัยพิบัติ และการเตรียมการสร้างระบบเตือนภัยต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อน

ข้อมูลอ้างอิง : แพรภัทร ยอดแก้ว.2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

นอกจากบทบาทด้านการเมืองและความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจแล้ว ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยก็มีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมความร่วมมือและประสานความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเน้นความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้รับการศึกษา การอบรม มีสุขภาพสมบูรณ์และมีฐานะที่มั่นคง เพื่อให้ประชาชนชาวอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดความร่วมมือด้านสังคมของอาเซียนตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้นมี 6 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียนและการลดช่องว่างทางการพัฒนา

บทบาทของประเทศไทย ในด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนทั้งในอดีตและปัจจุบันที่สำคัญ อาทิ

1.การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาสังคมของอาเซียน

ในการประชุมผู้นำรัฐบาลอาเซียน ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2538 ที่กรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นของมิติใหม่ในการพัฒนาสังคม เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนแสดงเจตน์จำนงให้มีการยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาสังคมให้ทัดเทียมกับความร่วมมือด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอาเซียนโดยได้ระบุไว้ใน “ปฏิญญากรุงเทพ ปี ค.ศ. 1995” และมีแนวทางการดำเนินการคือ ความไพบูลย์ร่วมกันในการพัฒนามนุษย์ ความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสืบเนื่องจากแนวคิดนี้ ต่อมาที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำรัฐบาลอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ กรุงจาร์กาตา เมื่อปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) ไทยก็ได้มีส่วนผลักดันมติสำคัญ คือ การจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียน (ASEAN Vision) ให้ครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมืองและสังคมของอาเซียน และได้เห็นชอบให้จัดตั้งมูลนิธิอาเซียนขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการศึกษาและการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมของอาเซียน ซึ่งจะเสริมสร้างจิตสำนึกในความเป็นอาเซียนและขยายการติดต่อ การไปมาหาสู่กัน แนวคิดการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียนดังกล่าว ส่วนหนึ่งพัฒนามาจากข้อเสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาสังคมของนายอำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นและได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

2.การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา

ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาต่อการพัฒนาสังคม จึงได้นำเสนอและส่งเสริมแนวคิดในการนำการศึกษามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันของประชาชนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง บทบาทสำคัญในด้านนี้ ได้แก่ การริเริ่มจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน(ASEAN University Network หรือ AUN) ในปี พ.ศ.2538 ตามมติของที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 4 ที่มุ่งให้มีการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนและพัฒนามนุษย์ผ่านการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการศึกษาและการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาระดับสูง โดยมีสำนักงานอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ

การจัดตั้ง AUN ทำให้มีกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ หลายด้าน เช่น การสร้างโปรแกรมอาเซียนศึกษา  การพัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษาร่วมกัน ความร่วมมือด้านการวิจัย ซึ่งริเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2543  การจัดประชุมด้านวัฒนธรรมเยาวชนอาเซียน เมื่อ พ.ศ.2546 การแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาและคณาจารย์ใน AUN และความร่วมมือด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของอาเซียน เป็นต้น

 3.การส่งเสริมการจัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของสตรีและเด็ก (ACWC)

การจัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของสตรีและเด็ก(ASEAN Commission for the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children หรือ ACWC)  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกลไกในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสตรีและเด็กในอาเซียน

ประเทศไทยมีส่วนสำคัญและมีบทบาทนำในการผลักดันให้เกิด TOR (Term of Reference) ของ ACWC จนเป็นผลสำเร็จภายในเวลา 6 เดือน ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งไทยรับหน้าที่เป็นประธานในการยกร่าง และถือได้ว่าเป็น TOR ที่ภาคประชาสังคมของไทยและของประเทศสมาชิกได้มีส่วนร่วมในการร่างด้วย และในการประชุม ACWC ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศไทยได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เป็นประธาน ACWC มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี และได้มีการร่าง Rules of Procedures (ROP) ของ ACWC ฉบับที่ 1 รวมทั้งร่างแผนการดำเนินงาน 5 ปี โดยไทยให้ความสำคัญต่อสิทธิในการศึกษา การพัฒนาของเด็กปฐมวัยและประเด็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว โดยไทยได้เสนอต่อที่ประชุมว่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่อง Violence against Women and Children ในปี พ.ศ. 2555 ด้วย

4.การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน

บทบาทอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยด้านสังคม คือ ได้ผลักดันให้กลไกใหม่ ๆ ของอาเซียนที่กำหนดไว้ในกฎบัตรฯ สามารถดำเนินงาน ได้อย่างครบถ้วน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยกันสร้างประชาคมอาเซียน ดังจะเห็นได้จากริเริ่มให้มีการพบปะอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนอาเซียน และภาคประชาสังคมอาเซียน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 และครั้งที่ 15 ที่ชะอำ-หัวหิน

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของไทยในการสร้างประชาคมอาเซียนให้เป็น ‘ประชาคมเพื่อประชาชน’ ก็คือ การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนเพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนในภูมิภาค ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า เป้าหมายดังกล่าวได้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ชะอำ-หัวหิน เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งมีการประกาศจัดตั้ง คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน-ไอชาร์  (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rightsหรือ AICHR) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ในการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียนซัมมิท) ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2552 ณ ชะอำ-หัวหิน ระหว่าง ซึ่งเป็นการจัดตั้งตามมาตรา 14 ของกฎบัตรอาเซียน AICHR ถือเป็นกลไกสิทธิมนุษยชนกลไกใหม่ในภูมิภาคโดยมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จประการหนึ่งที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน

ปัญหาสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และซับซ้อน และลุกลามถึงปัญหาระดับระหว่างประเทศ ประเทศใดประเทศหนึ่งจึงไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้โดยลำพังเมื่อย้อนกลับไปดูเรื่องราวของอาเซียน ที่จริงแล้วอาเซียนมีการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมานานแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 36 ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม พ.ศ.2536 ในแถลงการณ์ร่วม (ในขณะนั้นมีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน)

5.การจัดตั้งกลุ่มสามฝ่ายอาเซียน-พม่า-สหประชาชาติ (Tripartite  Core  Group หรือ TCG)

ประเทศไทยได้มีบทบาทนำในการจัดตั้ง Tripartite  Core  Group หรือ TCG ซึ่งประกอบด้วยพม่า  อาเซียน  และสหประชาชาติ  เพื่อเป็นกลไกประสานงานเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พม่าในช่วงไซโคลนนาร์กิส  โดยมีการจัดทำแผนฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมหลังภัยพิบัติไซโคลนนาร์กีส (Post-Nargis Recovery and Preparedness Plan - PONREPP) ซึ่งมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน และผู้แทนของกลุ่มสามฝ่ายอาเซียน-พม่า-สหประชาชาติ (Tripartite Core Group - TCG) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ   PONREPP เป็นแผน 3 ปี (พ.ศ. 2552-2554) เน้นการบูรณะฟื้นฟูใน 8 ด้านคือ การประกอบอาชีพ ที่หลบภัย การศึกษา สาธารณสุข น้ำและสุขอนามัย การลดความเสี่ยงภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ  ความสำเร็จของ PONREPP เป็นก้าวสำคัญของการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งไม่เพียงแค่สำหรับพม่า แต่จะมีผลต่อการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนในภูมิภาคด้วย โดยผลงานสำคัญ คือ ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือชาวพม่าที่ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กิสคิดเป็นมูลค่าประมาณ 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 595 ล้านบาท) และกำลังจะช่วยเหลือพม่าในการสร้างที่หลบภัย 2 แห่ง สถานีอนามัย 2 แห่ง และสนับสนุนการปรับปรุงธนาคารเลือดที่โรงพยาบาลกลางในกรุงย่างกุ้ง โดยดำเนินงานโครงการข้างต้นในพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นอกจากบทบาทดังกล่าวมา ประเทศไทยยังมีบทบาทนำและมีส่วนร่วมส่งเสริมแนวคิดและแนวปฏิบัติต่างๆ ด้านสังคมและวัฒนธรรมอีกมากมาย เช่น

-การเป็นศูนย์อบรมเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของอาเซียน

-การผลักดันให้อาเซียนมีมติรับรองการจัดให้มีปีแห่งการปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติดอาเซียน ระหว่างปี 2545-2546 และสนับสนุนให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 7 รับรองปฏิญญาว่าด้วยเชื่อ HIV

- การส่งเสริมกิจกรรมด้านสาธารณสุขอาเซียน เช่น การจัดกิจกรรมวันไข้เลือดออกอาเซียน

-การร่วมเสนอให้มีกลไกระดับรัฐมนตรีด้านการกีฬาอาเซียน (ASEAN Ministerial Body on Sports) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการกีฬา

-การผลักดันให้อาเซียนยกระดับแรงงานของตนโดยการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาทักษะแรงงานของอาเซียนให้สามารถรองรับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ ตลอดจนผลักดันให้อาเซียนเห็นพ้องร่วมกันว่าไม่ควรเชื่อมโยงเรื่องมาตรฐานแรงงานเข้ากับการค้าระหว่างประเทศตามความประสงค์ของประเทศพัฒนาแล้ว 

อ่านต่อได้ที่นี่ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/books/view/aseanstudies

เอกสารอ้างอิง :

แพรภัทร  ยอดแก้ว. 2555. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.