ประโยชน์ของการบริหารจิตและเจริญปัญญา 10 ขอ

การมีทักษะที่ไม่ถูกต้องในการจัดการความเครียด ก่อให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพมากมายตามมา ซึ่งโรคหัวใจก็เป็นหนึ่งของปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ความเครียดหรือความวิตกกังวลเมื่อขึ้นแล้ว ร่างกายจะสร้างสารที่เรียกว่า “อะดรีนาลิน”  ซึ่งมีฤทธิ์ทำ ให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้นขึ้น จนทำให้หลอดเลือดบีบตัว เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง เสี่ยงทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวได้ง่าย และ เกิดภาวะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ นำไปสู่โรคหัวใจในที่สุด  ดังนั้น การจัดการความเครียดที่ถูกต้อง จึงเป็นสำคัญที่จะ ให้เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถและทักษะของตนเองในการบริหารจัดการอารมณ์ให้ดี ไร้ซึ่งความวิตกกังวลอยู่เสมอ

10 วิธีบริหารจิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยอดเยี่ยม (จาก นพ.สุรเกียรติ อาซานานุภาพ ในหนังสือหมอชาวบ้าน) กล่าวไว้ว่า

1. .ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ว่ายจะเป็นว่ายน้ำ รำมวยจีน โยคะ เนื่องจากการออกกำลังกายสามารถบริหารจิตไปในตัวโดยการใช้สติระลึกรู้อยู่กับจังหวะการเคลื่อนไหว

2. นอนหลับให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง การนอนหลับดีมีผลต่อการพัฒนาสมอง หลีกเลี่ยงการอดนอนและการมีอารมณ์เครียดติดต่อกันนานๆ เพราะมีผลลบต่อร่างกาย สมองและจิตใจเป้นอย่างยิ่ง

3. บริโภคอาหารสุขภาพตามหลักธงโภชนาการ บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

การลดหวาน มัน เค็ม หันมากินปลา กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา บุหรี่ และสารเสพติด

4. หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยการอ่าน การฟัง การค้นคว้า การหาประสบการณ์ใหม่ๆ การคิดใคร่ครวญ การถาม การ

บันทึกตามหลัก “สุ. จิ. ปุ. ลิ.” ควบคู่กับการฝึกใช้ความคิดเป็นประจำ

5. ฝึกสมาธิ เช่น ฝึกอานาปานสติ สวดมนต์ ไหว้พระ เดินจงกรม อธิษฐานจิตวันละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง นานครั้งละ5-10 นาที ช่วยให้จิตใจมั่นคงสงบนิ่ง ไม่วอกแวกได้

6. เจริญสติ-รู้ตัวกับอิริยาบถและกิจกรรมต่างๆ มีความตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน เช่น ระลึกรู้ตัวอยู่

กับการนั่ง นอน ยืน เดิน การเคลื่อนไหวจังหวะ ทำกิจวัตรประจำวัน

7. ฝึกใช้ลมหายใจเป็นระฆังแห่งสติ เราสามารถตามรู้ลมหายใจเข้า-ออก รู้เนื้อ รู้ตัว รู้สติตลอดเวลา

8. ฝึกพักใจและสมองเป็นระยะๆ ในแต่ละวัน เช่น หยุดคิด โดยหันมาชื่นชมธรรมชาติ หรือศิลปะ นานครั้งละ ½ ถึง 1 นาที

ในสวน นั่งปล่อยวางอารมณ์อย่างเงียบๆ

9. เจริญปัญญาจากการสังเกตธรรมชาติของสรรพสิ่ง คิดเสมอว่า “ทุกสิ่งล้วนมีการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” เป็นธรรมดา ไม่ควรยืดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ควรใช้ปัญญามองทุกสิ่งตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย

10. ฝึกคิดดี-พูดดี-ทำดี ให้เป็นนิสัย นอกจากนี้ควรหมั่นมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

เอกสารอ้างอิง

กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หนังสือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดการความเครียด สำหรับวัยทำงาน

   การบริหารจิต

                    การบริหารจิตมาจากคำว่า จิตสิกขา หรือจิตภาวนา ทั้งสองคำนี้เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหนือกัน

คือ เป็นเรื่องของการบริหารจิตหรือฝึกหัดพัฒนาจิต เหตุที่ต้องมีการบริหารจิตก็เพราะตามปกติจิตของคนเรามีสภาพที่ผ่องใส แต่เมืี่อใดก็ตามที่เราไม่มีการบริหารจิต จิตที่ผ่องใสก็จะกลายเป็นจิตที่ขุ่นมัวด้วยกิเลส จิตที่ขุ่นมัวย่อมเป็นจิตด้อยคุณภาพ ไม่อาจนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ตรงกันข้ามจิตที่ได้รับการฝึกหัดพัฒนาแล้ว ย่อมจะเป็นจิตที่มีทั้งคุณภาพ สุขภาพ และสมรรถภาพ พร้อมที่จะใช้สำหรับเป็นสนามปฏิบัติการทางปัญหาได้อย่างดีเยี่ยม  (พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี:แม็ค.2551)   การบริหารจิตจึงมีความจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคน เช่น ตื่นเช้ามาถ้าเราขาดการบริหารจิต จิตคิดไปในทางอกุศลเราจะเกิดความทุกข์ทางใจจิตจะเศร้าหมองหดหู่ ดังนั้นการบริหารจิตจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

                    การบริหารจิต คือ การรักษาคุ้มครองจิต การฝึกฝนอบรมจิตหรือการทำจิตให้สงบ สะอาด ปราศจากความวุ่นวายเดือดร้อน ให้มีความเข้มแข็ง มีสุขภาพจิตดี และให้นำมาใช้ปฏิบัติงานได้ดี การบริหารจิตจึงเป็นการฝึกจิตให้แน่วแน่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะ ดังนั้น จิตที่ฝึกดีแล้วคือจิตที่มีความแน่วแน่ไม่หวั่นไหวต่อความชั่วร้ายทั้งปวง ถ้ามีสิ่งใดมากระทบจะใช้ปัญญาในการพิจารณาเรื่องราวด้วยเหตุผลควรไม่ควรได้ดีขึ้น และแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล การบริหารจิตก็คือการพัฒนาจิตนั่นเอง หรือเรียกว่า จิตตภาวนา (คำศัทพ์ทางพระพุทธศาสนา) ซึ่งหมายถึงการอบรมใจ

                    สมาธิ แปลตามศัพท์ว่า ความตั้งมั่น เป็นวิธีการบริหารจิต หรือ การทำจิตให้สงบ เป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่จะนำไปสู่การเกิดปัญญาและยังเป็นข้อพึงปฏิบัติโดยทั่ว ๆ ไปด้วย เพราะการกระทำทุกอย่างในชีวิตประจำวันรวมทั้งการปฏิบัติธรรมจำเป็นต้องมีสมาธิ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงจุดมุ่งหมายของสมาธิไว้หลายประการด้วยกัน ได้แก่ เพื่อทำให้จิตใจมีความสงบจากอารมณ์และกิเลสหรือนิวรณ์ทั้งหลาย เพื่อให้ได้ญาณทัศนะหรือการเห็นด้วยปัญญา เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะ จะทำให้ไม่ประมาทหรือทำอะไรผิดพลาด เพื่อสิ้นอาสวะหรือสิ้นกิเลส สมาธิจึงเป็นรากฐานของวิปัสสนาหรือการพิจารณากฎธรรมดาแห่งสังขารตามความเป็นจริงด้วยปัญญา การสิ้นกิเลสถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการบำเพ็ญสมาธิ

                    สมาธิมี 3 ระดับด้วยกัน คือ

                    1.  ขณิกสมาธิ  เป็นสมาธิขั้นต้น และขั้นแรกของการฝึกวิปัสสนา

                    2.  อุปจารสมาธิ หรือสมาธิจวนแน่วแน่ เป็นระดับที่ระงับอุปสรรคของการฝึกสมาธิ

                    3.  อัปปนาสมาธิ  หรือ สมาธิแน่วแน่ เป็นสมาธิระดับสูง บรรลุฌาณ จิตสงบ

                    นิวรณ์ คือ สิ่งที่ขัดชวางจิตมิให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ประกอบด้วย

                    1.  กามฉันทะ หรือความพอใจรักใคร่ในกามคุณ 5 ได้แก่ รู้ เสียง กลิ่น รส สัมผัส

                    2.  พยาบาท หรือ ความโกรธ ความเคียดแค้นความผูกใจเจ็บ คิดทำร้ายผู้อื่น

                    3.  ถีนมิทธะ หรือ ความท้อแท้ เซี่องซึม คร้านที่จะทำ หดหู่

                    4.  อุทธัจจกุกกุจจะ หรือความคิดฟุ้งซ่าน ความเดือดร้อนใจ ความรำคาญใจ ความระแวง จิตวอกแวก

                    5.  วิจิกิจฉา หรือ ความลังเลไม่แน่ใจ สงสัย เคลือบแคลง

                    นิวรณ์ทั้ง 5 เป็นอุปสรรคของการทำสมาธิ ผู้ทำสมาธิจะต้องดึงจิตกลับมาให้แน่วแน่กับสิ่งที่กำหนดให้สำเร็จ การฝึกสมาธิให้ได้ผลดีจึงต้องตัดนิวรณ์ออกไปให้ได้เสียก่อนโดยใช้หลักพุทธธรรม คือ อิทธิบาท 4 ซึ่งประกอบด้วย

                        1.  ฉันทะ  ความพอใจที่จะฝึก

                        2.  วิริยะ  ความเพียรพยายามที่จะฝึก

                        3.  จิตตะ ความเอาใจใส่ในการฝึก

                        4.  วิมังสา การพิจารณาใตร่ตรองหาเหตุผลในสิ่งที่ทำอยู่ หรือ สรุปรวมได้ว่า มีใจรักพากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน

ประโยชน์ของการบริหารจิตและเจริญปัญญา 10 ขอ

ที่มา : Google.co.th

                   

                    อานาปาณสติ  คือ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปาณ คือ การหายใจเข้าออก+สติ = การระลึกถึง การกำหนดจิต) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมถกรรมฐาน 40 วิธีที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน และเป็นที่นิยมฝึกปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายเพราะ

                    1.  ทำได้สะดวก ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์มากเหมือนกรรมฐานอย่างอื่น เพราะใช้ลมหายใจเป็นสำคัญซึ่งทุกคนมีอยู่ในตัวเองแล้ว

                    2.  เป็นวิธีการปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อนสับสน สามารถทำได้ง่าย อลงมือปฏิบัติก็ได้รับผลทันทีตั้งแต่ต้นเรื่อยไป ไม่ต้องรอจนเกิดสมาธิเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือกายใจผ่อนคลายได้พัก จิตก็สงบสบายลึกซึ้งลงไปเรื่อย ๆ

                    3.  เป็นหนึ่งในจำนวนกรรมฐาน 12 อย่าง ที่สามารถปฏิบัติต่อเนื่องตั้งแต่ต้นไปจนสำเร็จผลสูงสุด โดยไม่ต้องพะวงที่จะหากรรมฐานอื่นมาสับเปลี่ยนหรือต่อเดิมอีก

                    4.  ไม่กระทบกระเทือนต่อสุขภาพ กายก็ไม่เหนื่อย ไม่เหมือนกรรมฐานอื่น ๆ ที่ต้องจ้องเพ่งหรือเดินกลับไปกลับมา ตรงข้ามกับวิธีอานาปาณสติกลับเกื้อกูลแก่สุขภาพอย่างดี คือ ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อน

                    5.  เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัว จะปฏิบัติเพื่อมุ่งผลฝ่ายสมาธิอย่างเดียวก็ได้ จะปฏิบัติใช้เป็นฐานตามแนวสติปัฏฐาน จนครบทั้ง 4 อย่างก็ได้ ( 1.กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน  2. เวทนานุปัสสนา สติปัฎฐาน   3. จิตตานุปัสสนา สติปัฎฐาน และ 4. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน) และการบริหารจิตแบบอานาปาณสติจัดอยู่ในกายานุปัสสนา สติปัฏฐาน

                    6.  เป็นกรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นส่วนมากในขณะทรงพระชนม์ชีพอยู่ และทรงแนะนำให้เหล่าสาวกปฏิบัติมากกว่าอย่างอื่น                    สติ  คือ การระลึกรู้ในทุกสิ่งที่กระทำทั้งกาย วาจา และใจ

ประโยชน์ของการบริหารจิตและเจริญปัญญา 10 ขอ

ที่มา : Google.co.th

                    การกำหนดลมหายใจมีด้วยกันหลายวิธี ให้นักเรียนเลือกฝึกปฏิบัติตามความเหมาะสมของตนเอง


                    1.  การกำหนดลมหายใจแบบตามลมเข้าออก

                            วิธีการให้ทำตามลำดับ ดังนี้

                            1.  ให้นักเรียนนั่งสมาธิบนพื้นหรือ เก้าอี้ ( หากเป็นไปได้ไม่ควรนั่งเก้าอี้ )  เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หลับตาตั้งกายให้ตรง อย่างุ้มไปข้างหน้าหรือเอนไปข้างหลัง) หากนักเรียนนั่งบนเก้าอี้ไม่ควรพิงพนักเก้าอี้เพราะจะทำให้ระบบลมหายใจเดินไม่สะดวก เกิดอาการง่วงนอนได้ง่าย สำหรับกรณีที่นักเรียน

ทำที่บ้านให้นักเรียนหาสถานที่ที่มีบรรยากาศเหมาะสม สงบ ปลอดโปร่ง ปราศจากเสียง กลิ่น รบกวน

                                *จากนั้นให้นักเรียนสูดลมเข้าจนเต็มปอด กั้นลมหายใจค้างไว้ 3 วินาที แล้วค่อยปล่อยลมออก ทำประมาณ 3 ครั้ง เพื่อปลุกความพร้อม

                            2.  ให้นักเรียนหายใจเข้าออกตามธรรมชาติ ตั้งสติตามลมหายใจเข้าออก ดึงไปดึงมาเหมือนคนเลื่อยไม้ ขณะหายใจเข้าให้รู้ว่าหายใจเข้ายาว/สั้น ขณะหายใจออกให้รู้ว่ายาว/สั้น โดยการส่งใจตามไปกำหนดตามจุดเริ่มต้น ช่วงกลาง และที่สุดของลมหายใจ (ปลายจมูก  ทรวงอก และท้อง (เวลาหายใจออก ท้องเป็นต้นลม ทรวงอกเป็นกลางลม ปลายจมูกเป็นปลายลม)

 

ประโยชน์ของการบริหารจิตและเจริญปัญญา 10 ขอ

ที่มา : Google.co.th

                    2.  การกำหนดลมหายใจด้วยการนับ

                        2.1  การนับอย่างช้า  คือ เมื่อนักเรียนนั่งสมาธิเรียบร้อยแล้วให้เริ่มนับในใจโดยนับเป็นคู่ ๆ  คือ หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1 เรื่อยไป ดังนี้
(1)  1-1
(2)  1-1  2-2
(3)  1-1  2-2  3-3
(4)  1-1  2-2  3-3  4-4
(5)  1-1  2-2  3-3  4-4  5-5
(6)  1-1  2-2  3-3  4-4  5-5  6-6
(7)  1-1  2-2  3-3  4-4  5-5  6-6  7-7
(8)  1-1  2-2  3-3  4-4  5-5  6-6  7-7  8-8
(9)  1-1  2-2  3-3  4-4  5-5  6-6  7-7  8-8  9-9
(10)  1-1  2-2  3-3  4-4  5-5  6-6  7-7  8-8  9-9  10-10

                                เมื่อจบชุด แล้ว ให้นักเรียน นับย้อนขึ้นไปดังนี้
(1)  10-10   9-9  8-8  7-7  6-6  5-5  4-4 3-3  2-2 1-1
(2)  9-9  8-8  7-7  6-6  5-5  4-4 3-3  2-2 1-1
(3)  8-8  7-7  6-6  5-5  4-4 3-3  2-2 1-1
(4)  7-7  6-6  5-5  4-4 3-3  2-2 1-1
(5) 6-6  5-5  4-4 3-3  2-2 1-1
(6)  5-5  4-4 3-3  2-2 1-1
(7)  4-4 3-3  2-2 1-1
(8)  3-3  2-2 1-1
(9)  2-2 1-1
(10) 1-1

ประโยชน์ของการบริหารจิตและเจริญปัญญา 10 ขอ

ที่มา : Google.co.th

                        2.2  การนับอย่างเร็วให้นับเป็นคู่ ๆ เช่นเดียวกับข้างต้น

                        2.3  หากนักเรียนนับข้ามหรือลืมว่าถึงเลขอะไรแล้วให้นักเรียนเป็นเริ่มต้นนับใหม่ จนกว่าจะนับไม่หลงลืม คล่องแคล่ว ไม่สับสน และจิตเป็นสมาธิดี

3.  

การกำหนดลมหายใจด้วยการใช้คำภาวนา “พุท” ในขณะหายใจเข้า และ “โธ” ในขณะหายใจออก โดยให้ส่งใจตามไปกำหนดตามจุดเริ่มต้น ช่วงกลาง และที่สุดของลมหายใจ (ปลายจมูก ทรวงอก และท้อง) (เวลาหายใจเข้า ปลายจมูกเป็นต้นลม ทรวงอกเป็นกลางลม ท้องเป็นปลายลม   เวลาหายใจออก ท้องเป็นต้นลม ทรวงอกเป็นกลางลม ปลายจมูกเป็นปลายลม)

                4.  หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกบริหารจิตแต่ละครั้งให้นักเรียนแผ่เมตตาให้ตนเองและสรรพสัตว์โดยวาจาด้วยการออกเสียงหรือการนึกในใจก็ได้

                5.  หากนักเรียนไม่เข้าใจ หรือ มีปัญหาในการปฏิบัติให้นักเรียนแจ้งให้ครูผู้สอนทราบเพื่อแก้ปัญหาต่อไปทาง web:[email protected] หรือ เบอร์โทร.081-5327538 หรือ พบครูผู้สอนในวันทำการเรียนการสอนปกติ

            อานิสงส์ของการฝึกอานาปาณสติซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานาปาณสตินี้แลที่บุคคลเจริญแล้ว (อบรมแล้ว) ทำให้มากแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

            1.  สนฺโต หรือ การสงบระงับสนิท

            2.  ปณีโต หรือความประณีตละเอียด

            3.  อเสจนโก หรือ ไม่ต้องรดน้ำก็เย็น

            4.  สุโข วิหาโร มีความสุขสำราญเป็นเครื่องอยู่

            5.  อุปฺปนฺนุปฺปนฺเน ปาปเก อกุสเล ธมฺเม ฐานโสอนฺตรธาเปติ วูปสเมติ นั่นคือย่อมทำให้อกุศลบาปธรรมที่เกิดขึ้น อันตรธานสงบราบคาบไปได้

            สรุป  ผู้ที่หวังความสงบสุขแก่ตนในปัจจุบันและในภายภาคหน้า พึงพัฒนาจิต บริหารจิตของตนด้วยการบำเพ็ญอานาปาณสติสมาธิ เพื่อความสุขสำราญเป็นเครื่องอยู่

            ประโยชน์ของการบริหารจิต

            1.  ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน  ทำให้จิตใจสบายหายเครียด มีความว่องไว กระฉับกระเฉง มีประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งเสริมความจำและสมรรถนะทางสมอง

            2.  ประโยชน์ในการพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้บุคลิกเข้มแข็ง หนักแน่น มีความสงบเยือกเย็น มีความมั่นคงทางอารมณ์ สดชื่นผ่องใส มีเสน่ห์ดึงดูดใจ น่าคบหา

            3.  ประโยชน์อันเป็นจุดมุ่งหมายของศาสนา พร้อมจะนำไปสู่ปัญญาเห็นแจ้งความจริงสูงสุด (นิพพาน)

การบริหารจิตและการเจริญปัญญา

พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการฝึกจิตเป็นสำคัญ เพราะมนุษย์มีจิตเป็นตัวนำการ กระทำทุกอย่าง จะต้องมีการพิจารณา คิดนึกตรึกตรองเสียก่อน การฝึกจิตหรือการบริหารจิต จึงเป็นการกระทำเพื่อให้จิตมีสภาพตั้งมั่น มีสติระลึกได้ มีสัมปชัญญะรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา
การบริหารจิต คือ การฝึกฝนอบรมจิตใจให้ดีงาม นุ่มนวล อ่อนโยน มีความหนักแน่นมั่นคง แข็งแกร่งและมีความผ่อนคลายสงบสุข การบริหารจิตในทางพุทธศาสนามี 2 อย่าง
1.สมถกรรมฐานหรือสมาธิภาวนา คือการฝึกจิตให้เกิดความสงบ เรียกว่า สมาธิ
2.วิปัสสนากรรมฐาน คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดปัญญา เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพที่เป็นจริง

ผลของการบริหารจิต
ทำให้เป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี มีความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตได้ถูกต้อง คนเช่นนี้ไม่ว่าจะทำอะไรย่อมประสบความสำเร็จ อยู่ที่ใดก็ได้รับความสุขสงบแห่งจิตใจ เมื่อเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก็สามารถเอาตัวรอดได้ ไม่คิดสั้น
การบริหารจิตตามหลักพระพุทธศาสนามีวิธีปฏิบัติมากถึง 40 วิธี แต่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้ฝึกปฏิบัติการบริหารจิตตามหลักสติปัฏฐาน 4

สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ
หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง
1.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลเราเขา มีวิธีปฏิบัติหลายวิธี คือ
– อานาปานสติ การกำหนดลมหายใจเข้าใจ
– อิริยาบถ การกำหนดรู้ทันอาการยืน เดิน นั่ง นอน
– สัมปชัญญะ การสร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่างของกาย
– ปฏิกูลมนนิการ การพิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนนี้
– ธาตุมนสิการ การพิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ
– นวสีวถิกา การพิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน 9 ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมของร่างกายของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น
2.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้น
3.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีดมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามทีเป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
4.ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลายได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้น

วิธีการบริหารจิต
กล่าวเฉพาะการตั้งสติกำหนดพิจารณากายในอิริยาบถนั่ง โดยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ที่เรียกว่า อานาปานสติ
ขั้นเตรียม
1.เลือกสถานที่ที่เหมาะสม เช่น สถานที่ปลอดโปร่งไม่มีเสียงรบกวน
2.เลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น ตอนเช้า ก่อนนอน เวลาที่ใช้ไม่ควรนานเกินไป
3.สมาทานศีล เป็นการแสดงเจตนาเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด
4.นมัสการพระรัตนตรัยและสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
5.ตัดความกังวลต่างๆ ออกไป
ขั้นตอนปฏิบัติ
1.นั่งท่าสมาธิ คือ นั่งขัดตะหมาด เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งตัวตรง ดำรงสติมั่น
2.หลับตาหรือลืมตาก็ได้ อย่างไหนได้ผลดีก็ปฏิบัติอย่างนั้น
3.กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจกระทบตรงไหนก็รู้ชัดเจนให้กำหนดตรงจุดนั้น
4.เมื่อลมหายใจ-ออก จะกำหนดภาวนาด้วยหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่บุคคลที่ปฏิบัติ
5.ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนได้เวลาพอควรแก่ร่างกาย จึงออกจากการปฏิบัติ
6.แผ่เมตตาให้ตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย
การปฏิบัติระยะแรกๆ จิตอาจฟุ้งซ่าน สงบได้ยาก หรือไม่นาน ต้องใช้ความเพียรพยายาม หมั่นฝึกปฏิบัติบ่อยๆ จิตจึงจะค่อยสงบตามลำดับ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ จิตใจสงบ เยือกเย็น แจ่มใส เบิกบาน มั่งคง เข้มแข็ง มีพลัง มีความจำดีขึ้น และที่สำคัญ คือ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วย

การเจริญปัญญา
ความหมายของปัญญา
ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ คนเราทุกคนต้องอาศัยปัญญาเป็นเสมือนแสงสว่างส่องทางในการดำเนินชีวิต หมายความว่า ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้จะมีพื้นฐานทางปัญญามาแต่กำเนิด เรียกว่า สชาติกปัญญา คือปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับชาติ จะเรียกว่า ไอคิว ก็ได้ แต่เป็นปัญญาที่มีอยู่ในระดับปานกลางไม่แก่กล้า บางคนที่มีสชาติกปัญญาน้อยหรือมีไอคิวต่ำ ก็เรียกว่า คนปัญญาอ่อน ตามธรรมดาคนที่เกิดมาโดยปกติทั่ว ๆ ไปนั้นย่อมมีปัญญาติดตัวมาทุกคน แต่ถ้าจะพัฒนาให้มีปัญญาอยู่ในระดับสูงขึ้นไป เช่น มีปัญญาความรอบรู้ในสิ่งต่าง ๆ รอบรู้ถึงอุบายวิธีที่จะละเว้นความชั่วหันมาประพฤติความดี จนมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ จะต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมปัญญาเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
เหตุเกิดของปัญญา
ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่าสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดมาเหตุ ปัญญาเองก็เช่นเดียวกันจะต้องเกิดมาจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังพุทธภาษิตที่ว่า โยคา เว ชายะติ ภูริ แปลว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระทำให้เกิดขึ้น ซึ่งเหตุที่จะให้เกิดปัญญานั้นมี 3 ประการด้วยกันคือ สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดค้น และภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการอบรมฝึกฝนในบทเรียนนี้จะนำมาศึกษาเฉพาะเรื่อง จินตามยปัญญา หรือปัญญาเกิดจากการคิดค้น กล่าวคือ บุคคลบางคนไม่ได้ร่ำเรียนวิชาอะไรจากผู้อื่น ไม่ได้อ่านตำราหรืออ่านหนังสือใด ๆ ทั้งไม่ได้ฟังการพูดการบรรยายวิชาการจากที่ไหนมาก่อนเลย แต่บุคคลนั้นได้ทำปัญญาความรอบรู้ของตนให้เกิดขึ้น โดยวิธีคิดหรือค้นคว้าในใจ คิดหาเหตุผลใดเรื่องเรื่องหนึ่งจนเกิดปัญญารอบรู้อย่างชัดเจนในเรื่องนั้น ๆ เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองค้นพบกฎและสสารต่าง ๆ ซึ่งยังไม่มีใครพบมาก่อน หรือเกษตรกรได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ออกมาใช้ในการเกษตร หรือแพทย์ได้คิดค้นพบเชื้อโรคชนิดใหม่พร้อมทั้งรู้วิธีการรักษาใหม่ ๆ เป็นต้น
ปัญญาชนิดนี้ พระพุทธศาสนาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ได้แก่ การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี การมองเห็น สิ่งต่าง ๆ แล้วนำมาพินิจพิจารณาค้นคว้าสืบหาเหตุผลในสิ่งนั้นให้ตลอดสาย หรือบางทีก็นำไปแยกแยะทำการวิเคราะห์ด้วยความคิดย่างมีระเบียบ จนสามารถเข้าใจและเห็นแจ้งประจักษ์ในสิ่งนั้น ๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งโยนิโสมนสิการนั้น มี 10 วิธี ดังนี้
1.คิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ หรือการกระจายเนื้อหา เป็นการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเอง ในทางธรรม ใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสารหรือความไม่เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงของสิ่งหลาย
2.คิดแบบคุณโทษและทางออก หรือพิจารณาให้เห็นครบทั้ง อัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะ เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเน้นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้นเป็นอยู่ทุกแง่ทุกด้าน ทั้งด้านดีและด้านเสีย และเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมาก เช่น บอกว่าก่อนจะแก้ปัญหาจะต้องเข้าใจปัญหาให้ชัดเจน และรู้ที่ไปให้ดีก่อน หรือก่อนจะละจากสิ่งหนึ่งไปหาอีกสิ่งหนึ่ง ต้องรู้จักทั้งสองฝ่ายดีพอที่จะให้เห็นได้ว่าการละและไปหานั้น หรือการทิ้งอย่างหนึ่งไปเอาอีกอย่างหนึ่งเป็นการกระทำที่รอบคอบสมควรและดีจริง อัสสาทะ แปลว่า ส่วนดี ส่วนอร่อย คุณ คุณค่า ข้อที่น่าพึงพอใจ อาทีนวะ แปลว่า ส่วนเสีย ข้อเสีย ช่องเสีย โทษ ข้อบกพร่อง นิสสรณะ แปลว่า ทางออก ทางรอด ภาวะหลุดรอดปลอดพ้น ภาวะที่ปราศจากปัญหา การคิดแบบนี้มีลักษณะ 2 ประการ
– การที่จะชื่อว่ามองเห็นตามเป็นจริงนั้น จะต้องมองเห็นทั้งด้านดี ด้านเสีย หรือทั้งคุณและโทษของสิ่งนั้นๆ ไม่มองแต่ด้านดีหรือคุณอย่างเดียวและไม่ใช่เห็นแต่โทษหรือด้านเสียอย่างเดียว
– เมื่อจะแก้ปัญหา ปฏิบัติ หรือดำเนินวิธีออกไปจากภาวะที่ไม่พึงประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงรู้คุณโทษ ข้อดีข้อเสียของสิ่งที่เป็นปัญหาหรือภาวะที่ไม่ต้องการเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ จะต้องมองเห็นทางออก มองเห็นจุดหมายและรู้ว่าจุดหมายหรือที่จะไปนั้น คืออะไร คืออย่างไร ดีกว่าและพ้นจากข้อบกพร่อง จุดอ่อน โทษอย่างไร
3.คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ การพิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผล ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไข ด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท
4.คิดแบบอรรถสัมพันธ์ (คิดหลักการกับความมุ่งหมาย) คือ พิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ธรรมกับ อรรถ หรือ หลักการกับความมุ่งหมาย เป็นความคิดที่มีความสำคัญมาก ในเมื่อจะลงมือปฏิบัติธรรมหรือทำการตามหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตรงตามความมุ่งหมายไม่กลายเป็นการกระทำที่เคลื่อนคลาด เลื่อนลอย หรืองมงาย หลักการ คือ หลักความจริง หลักความดีงาม หลักการปฏิบัติ หรือหลักที่จะเอาไปใช้ปฏิบัติ รวมทั้งหลักคำสอนที่จะให้ประพฤติปฏิบัติและกระทำการได้ถูกต้อง คำว่า อรรถ (ความมุ่งหมาย จุดหมาย ประโยชน์ที่ต้องการ หรือสาระที่พึงประสงค์ หมายถึง การกระทำการตามหลักการใด ก็ตาม จะต้องเข้าใจความหมายหรือความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ ว่าปฏิบัติหรือทำไปเพื่ออะไร จะนำไปสู่ผลหรือที่หมายใดบ้าง ทั้งจุดหมายสุดท้ายปลายทาง
5.คิดแบบแก้ปัญหา(วิธีคิดแบบอริยสัจจ์) เรียกตามโวหารทางธรรมได้ว่า วิธีคิดแห่งความดับทุกข์ จัดเป็นวิธีคิดแบบหลักอย่างหนึ่ง เพราะสามารถขยายให้ครอบคลุมวิธีคิดแบบอื่นๆได้ทั้งหมด มีลักษณะทั่วไป 2 ประการคือ
– วิธีคิดตามเหตุและผล หรือเป็นไปตามเหตุและผล คือ สืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้วแก้ไขและทำการที่ต้นเหตุ จัดเป็น 2 คู่คือ
คู่ที่ 1 ทุกข์เป็นผล เป็นตัวปัญหา เป็นสถานการณ์ที่ประสบซึ่งไม่ต้องการสมุทัยเป็นเหตุ เป็นที่มาของปัญหา เป็นจุดที่จะต้องกำจัดหรือแก้ไข จึงจะพ้นจากปัญหาได้
คู่ที่ 2 นิโรธ เป็นผล เป็นภาวะสิ้นปัญหา เป็นจุดหมายซึ่งต้องการจะเข้าถึงมรรคเป็นเหตุ เป็นวิธีการ เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องกระทำในการแก้ไขสาเหตุ เพื่อบรรลุจุดหมายคือ ภาวะสิ้นปัญหาอันได้แก่ความทุกข์
– วิธีคิดที่ตรงจุดตรงเรื่อ ตรงไปตรงมา มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำต้องปฏิบัติต้องเกี่ยวข้องของชีวิต ใช้แก้ปัญหา ไม่ฟุ้งซ่านออกไปในเรื่องฟุ้งเฟ้อที่สักว่าคิดเพื่อสนองตัณหามานะทิฏฐิ
6.คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา (คิดแบบสามัญลักษณ์) คือมองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย
– รู้เท่าทันและยอมรับความจริง
– รู้เท่าทันและแก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย
7.คิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม การคิดพิจารณาเกี่ยวกับการใช้สอยบริโภค เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาความต้องการ ไม่ใช้เข้าครอบงำจิตแล้วชักจูงพฤติกรรมต่อๆไป วิธีคิดแบบใช้กันมากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ มีหลักการโดยย่อว่า คนเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพราะเรามีความต้องการและเห็นว่าสิ่งนั้นๆ จะสนองความต้องการเขาเราได้ สิ่งใดสามารถสนองความต้องการของเราได้ สิ่งนั้นก็มีคุณค่าแก่เรา หรือที่เรานิยมเรียกว่ามันมีประโยชน์ จำแนกได้เป็น 2 ประการ
– คุณค่าแท้ หมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลาย ที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรง หรือที่คนเรานำมาใช้แก้ปัญหาของตนเพื่อความดีงาม ความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น คุณค่านี้อาศัยปัญหาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา เช่น อาหารมีคุณค่าอยู่ที่ประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก มีกำลังเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญกิจหน้าที่
– คุณค่าพอกเสริม หรือคุณค่าเทียม หมายถึง หมายความ คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น เพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนา าหรือเพื่อเสริมราคาเสริมขยายความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ เช่น อาหารมีคุณค่าอยู่ที่ความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน เป็นเครื่องแสดงฐานะความโก้หรูหรา
8. คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม หรือ คิดแบบสร้างสรรค์ มีความสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ในขณะนั้นๆ และในแง่ที่ช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆ ของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิม พร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ๆ ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกัน
9. คิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน หรือคิดแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ คือ การคิดที่สติระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กำลังเป็นไปอยู่ กำลังรับรู้ หรือกำลังกระทำในปัจจุบันทันทุกๆ ขณะ10.คิดแบบแยกประเด็น การคิดแบบแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่ละด้านครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ใช้จับเอาแง่หนึ่งแง่เดียว แล้วมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด หรือประเมินคุณค่าความดีความชั่วเป็นต้น