โครงการโรงเรียนคุณภาพประจําตําบล

“โครงการโรงเรียนคุณภาพ” เป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ตรีนุช เทียนทอง” ที่มุ่งหวังให้โรงเรียนได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพเเละปลอดภัย โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้ดำเนินการโดยพัฒนาต่อยอดจากโครงการเดิมคือ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนที่สามารถดำรง อยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (Stand Alone)

โดยได้มีการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนโครงการ ภายใต้กรอบการดำเนินงานและจุดเน้น 7 ด้าน ได้แก่

  1. ความปลอดภัยของผู้เรียน
  2. ระบบประกันคุณภาพ
  3. การพัฒนาครู
  4. การเรียนการสอน
  5. การวัดและประเมินผล
  6. การนิเทศกำกับและติดตาม
  7. Big Data 

ทิศทางการพัฒนา

  • โรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา คือ โรงเรียนประถมศึกษา หรือโรงเรียนขยายโอกาส โดยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความพร้อมและเหมาะสม มีโรงเรียนเครือข่ายโดยรอบ สามารถนำนักเรียนมาเรียนรวม เพื่อยกระดับคุณภาพให้เกิดความมั่นใจต่อชุมชนและผู้ปกครอง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแชร์ทรัพยากรร่วมกัน
  • โรงเรียนคุณภาพระดับมัธยมศึกษา คือโรงเรียนที่เปิดสอน ม.1-6 สภาพภูมิศาสตร์มีความพร้อมรองรับโรงเรียนประถมศึกษาที่จะมาเรียน และรับนักเรียนขยายโอกาสที่จะมาศึกษาต่อหรือมาเรียนรวม เป็นการแบ่งเบาภาระในการรับนักเรียนโรงเรียนแข่งขันสูงกลับสู่ชุมชน
  • โรงเรียนคุณภาพเเบบ Stand Alone คือโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร พื้นที่สูง บนเกาะ หรือการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้นักเรียนไม่สามารถไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นได้

เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ

  • เพิ่มจำนวนครูให้ครบชั้น ครบวิชาเอก
  • มีจำนวนนักเรียนที่เหมาะสม
  • มีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรและชุมชน
  • มีอาคารสถานที่ปลอดภัย มีครุภัณฑ์ อุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และทันสมัย
  • เน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ลดอัตราการแข่งขัน
  • กรณีเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ต้องให้โรงเรียนสามารถดำรงอยู่ได้ โดยมีงบประมาณและอัตรากำลังครูอย่างเหมาะสม 

กลุ่มเป้าหมายโรงเรียนคุณภาพ ประกอบด้วยระดับประถม 10,480 โรง ระดับมัธยม 1,155 โรง โรงเรียน Stand Alone 1,303 โรง รวมทั้งสิ้น 12,938 โรง แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ ๆ ละ 5 ปี

ทิศทางการพัฒนา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

  • จัดทำ MOU ระหว่างโรงเรียนหลักร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย และระหว่าง สพท. กับโรงเรียนคุณภาพ รวมทั้งกำหนดแนวทางการรองรับนักเรียนเพื่อส่งต่อต่างระดับ
  • มีการจัดสรรงบลงทุน ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวนเงิน 1,967,987,000 บาท
  • คัดเลือกโรงเรียนคุณภาพที่มีความพร้อมแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแบบอย่างของความสำเร็จ
  • จัดสร้างบ้านพักครูของโรงเรียนคุณภาพ อำเภอละ 1 แห่ง โดยสร้างชุมชนบ้านพักครูในโรงเรียนคุณภาพ (โรงเรียนหลัก) หรือโรงเรียนเครือข่าย ที่สะดวกต่อการเดินทาง และปลอดภัยต่อการพักอาศัย
  • ดำเนินการสำรวจความต้องการบ้านพักครูทั่วประเทศ เพื่อจัดทำแผนการสร้างชุมชนบ้านพักครู
  • ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพในจังหวัดสระแก้ว ให้เป็นต้นแบบจังหวัดนำร่อง ”สระแก้วโมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับจังหวัดอื่น ๆ ในการดำเนินการต่อไป 

โครงการโรงเรียนคุณภาพอาจไม่ใช่โครงการใหม่ถอดด้าม แต่เป็นการพัฒนาต่อยอดจากโรงเรียนคุณภาพเดิม ซึ่งได้มีการดำเนินการภายใต้ชื่อและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ความมุ่งหมายสำคัญของการดำเนินการในครั้งนี้ คือ การวางทิศทางการพัฒนาในระยะยาวถึง 4 เฟส ใช้เวลาต่อเนื่องเกือบ 20 ปี โดยเชื่อมั่นว่าทิศทางดังกล่าวสามารถดำเนินโครงการต้นแบบในเฟสที่ 1 เป็นตัวอย่างให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ด้วยหวังว่าผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลในยุคต่อไปจะขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อวันหนึ่งโรงเรียนทุกโรงของประเทศไทยจะพลิกโฉมจากเดิม ไปเป็นโรงเรียนรูปแบบใหม่ที่มีความสมบูรณ์แบบ พร้อมให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชน ทิศทางที่กำหนดไว้อาจต้องใช้เวลาอีกยาวไกล แต่การเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ตั้งแต่วันนี้ ก็น่าจะทำให้มีความหวังที่จะเห็นความสำเร็จในอนาคต*

             สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร ได้ดำเนินการประสานงานการคัดเลือกโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยคณะกรรมการคัดเลือกระดับตำบล คณะกรรมการระดับอำเภอ และคณะกรรมการระดับจังหวัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลการคัดเลือกทำให้ได้โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 53 โรงเรียน ครบทุกตำบล ใน 7 อำเภอ ของจังหวัดมุกดาหาร ที่เป็นพื้นที่ให้บริการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวรายงานว่า โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล หรือ “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบล ให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็งทางวิชาการ และมีความพร้อมในการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรม งานอาชีพ และสุขอนามัย สามารถให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนและชุมชน รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เชื่อมโยงสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน บ้าน วัด รัฐ และโรงเรียนอีกด้วย

สำหรับการดำเนินการในขั้นต้น  สพฐ.ได้คัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษา ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ โดยพิจารณาจากความพร้อมของแต่ละโรงเรียน ทั้งในเรื่องของที่ตั้งที่อยู่ในบริเวณศูนย์กลางของชุมชน ความสะดวกในการคมนาคม การสื่อสาร มีพื้นที่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนสามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยกระบวนการคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการได้ผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากประชาคมระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดในพื้นที่แล้ว จากนั้น ศธ.และหน่วยงานร่วมโครงการ จะเร่งพัฒนาโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้โดยเร็ว

โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล (1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ) มุ่งเน้นการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เกิดความเท่าเทียมและครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการจัดการศึกษาของประเทศ โดยมีโรงเรียนศูนย์กลางของชุมชนเป็นต้นแบบ สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ นำไปสู่การร่วมกันจัดกิจกรรมทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์ เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ 4 ส่วน ได้แก่

1) มีโรงเรียนประจำตำบล อย่างน้อยตำบลละ 1 โรงเรียน ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีคุณธรรมจริยธรรม งานอาชีพ และสุขภาพอนามัย ให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนและชุมชน อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

2) ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งสมรรถนะและศักยภาพในการบริหารจัดการ ตลอดจนมีความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอน

3) นักเรียนทุกคนในตำบล ได้รับโอกาสและเข้าถึงการบริการและสวัสดิการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นชนบท

4) นักเรียนได้รับการพัฒนา ทั้งด้านสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ ทัศนคติ และพัฒนาการด้านร่างกายที่เหมาะสมกับช่วงวัย ควบคู่กับการปฏิบัติตามค่านิยม 12 ประการ

ในส่วนของการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้ให้การสนับสนุน 3 ด้าน ดังนี้

1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งอาคารเรียน อาคารประกอบ โรงอาหาร โรงพลศึกษา สนามฟุตบอล ระบบคมนาคม ระบบไฟฟ้าและระบบพลังงานทางเลือก ระบบประปาน้ำดื่ม ระบบบำบัดน้ำเสีย เครือข่ายโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ระบบบำบัดขยะ ด้านโภชนาการและสุขภาพของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือผู้มีความต้องการเป็นพิเศษ

2) ด้านการส่งเสริมการศึกษา ให้การสนับสนุนการเรียนการสอนด้านวิชาการ ด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมทั้งสร้างสื่อและนวัตกรรมให้เป็นคลังความรู้ในโรงเรียน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนา การส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ องค์ความรู้ด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ตลอดจนการพัฒนาเพิ่มทักษะของผู้บริหารให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และทักษะของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ พร้อมสนับสนุนค่าวัสดุรายหัวของนักเรียนด้วย

3) ด้านการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม โดยเน้นให้หน่วยงานในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายการพัฒนา สนับสนุนความร่วมมือระหว่างศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และชุมชน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานในท้องถิ่นด้วย ในส่วนของผู้บริหารและครู จะส่งเสริมทักษะการสื่อสารและความร่วมมือเพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างเต็มที่ พร้อม ๆ กับการพัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อร่วมพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลต่อไป

โครงการโรงเรียนคุณภาพประจําตําบล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถถาพิเศษในงานเปิดตัวโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ตอนหนึ่งว่า การพัฒนาการศึกษาเป็นกลไกหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายไปสู่การสร้างคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม เป็นกำลังสำคัญของชาติ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ ขยายโอกาสการเรียนรู้ในชุมชนและในเมือง

ทั้งนี้ โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่สร้างความเท่าเทียม สิ่งที่สำคัญคือ การเรียนรู้นอกห้องเรียน เสริมสร้างความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันในการอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ครูต้องสอนให้รู้เท่าทันโลก รวมไปถึงเท่าทันเทคโนโลยี มีการคิดวิเคราะห์ กล้าแสดงออกในทางที่ถูก ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สำคัญ เด็กต้องเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นของตนเอง จากผู้รู้ ผู้ที่มีประสบการณ์สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่นำความรู้ความสามารถมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันพัฒนาการศึกษาของชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นรูปธรรมและรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันสร้างนำไปสู่การเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน