ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วนได้แก่

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อุษาคเนย์ หรือ เอเชียอาคเนย์ เป็นอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย ประกอบด้วยประเทศซึ่งทิศเหนือติดจีน ทิศตะวันตกติดอินเดีย ทิศตะวันออกติดปาปัวนิวกินี และทิศใต้ติดออสเตรเลีย ภูมิภาคดังกล่าวตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นทวีปหลายแผ่นที่ยังมีการไหวสะเทือนรุนแรงและการปะทุของภูเขาไฟอยู่ต่อเนื่อง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งได้ภาคภูมิศาสตร์ได้สองภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ หรืออินโดจีน ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และมาเลเซียตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมุทร ประกอบด้วย บรูไน มาเลเซียตะวันออก ติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วนได้แก่

ภูเขาไฟมายอน ในประเทศฟิลิปปินส์
ที่มาของภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภูมิศาสตร์
          ในทางภูมิศาสตร์ หมู่เกาะมลายูเป็นหนึ่งในบริเวณที่มีภูเขาไฟมีพลังมากที่สุดในโลก ผืนดินที่ยกตัวขึ้นในบริเวณนี้ทำให้เกิดภูเขาที่สวยงามอย่างยอดเขาปุนจักจายาที่จังหวัดปาปัวในอินโดนีเซีย ความสูงถึง 5,030 เมตร (16,024 ฟุต) บนเกาะนิวกินี อีกทั้งยังเป็นสถานที่เดียวที่สามารถพบธารน้ำแข็งได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่บริเวณที่สูงเป็นอันดับสองอย่างยอดเขากีนาบาลูในรัฐซาบาห์ของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีความสูง 4,095 เมตร (13,435 ฟุต) ภูเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือยอดเขาคากาโบราซี โดยมีความสูงถึง 5,967 เมตร ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ขณะเดียวกันอินโดนีเซียนั้นถูกจัดว่าเป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (จัดโดย CIA World Factbook)
          ภูเขาไฟมีพลังอย่างภูเขาไฟมายอนเป็นเจ้าของสถิติกรวยไฟที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกที่เกิดจากการปะทุตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ทำเลที่ตั้งและอาณาเขต
          ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ทางซีกโลกตะวันออกและทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย โดยทิศเหนือติดกับประเทศจีน ทิศตะวันออกติดมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศใต้ติดมหาสมุทรอินเดีย และทิศตะวันตกติดประเทศอินเดียและบังคลาเทศ โดยตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 10 องศาใต้ถึงละติจูดที่ 28 องศาเหนือ และระหว่างลองจิจูดที่ 92 องศาตะวันออกถึง 141 องศาตะวันตก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยแบ่งตามภูมิศาสตร์คือ ส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีป และส่วนที่เป็นหมู่เกาะ
          ส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีปเป็นพื้นแผ่นดินใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา บางส่วนของประเทศมาเลเซีย ส่วนที่เป็นหมู่เกาะ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ บางส่วนของประเทศมาเลเซีย และติมอร์-เลสเต
          ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แบ่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกออกจากกัน มีช่องแคบ 4 แห่ง ได้แก่ ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา ช่องแคบลอมบอก และช่องแคบมาคัสซาร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างทวีปเอเชีย และทวีปออสเตรเลีย
ภูมิประเทศ
         ลักษณะภูมิประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งได้ดังนี้
   - บริเวณทิวเขาและที่ราบลาดเนินตะกอนเชิงเขา ทิวเขาภายในแผ่นดินใหญ่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ แผ่กระจายออกมาจากชุมเขายูนนาน โดยมี 3 แนว ได้แก่ แนวทิศตะวันตก คือ ทิวเขาอะระกันในพม่าต่อเนื่องไปในทะเลอันดามัน เป็นภูเขาหินใหม่จึงมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แนวกลางเป็นทิวเขาด้านทิศตะวันออกของพม่าต่อเนื่องลงไปถึงภาคเหนือของไทยจนถึงภาคใต้ แนวทิศตะวันออก คือ ทิวเขาในลาวและเวียดนาม ทิวเขาตามแนวกลางและตะวันออกเป็นภูเขายุคหินกลางจึงไม่มีปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเหมือนแนวทิศตะวันตก
   - บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ พบอยู่สองฝั่งของแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่ราบสำคัญได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีในพม่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในไทย ที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงของเวียดนาม ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ส่วนที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่สำคัญ เช่น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำอิรวดี เป็นต้น
   - ที่ราบชายฝั่งทะเล ได้แก่ บริเวณที่เป็นหาดทรายที่เกิดจากการทับถมของทรายจากการกระทำของคลื่นในทะเล บริเวณที่เป็นดินเลนซึ่งมักจะพบป่าไม้ เช่น ป่าโกงกาง ป่าจาก เป็นต้น พบได้ทั่วไปในทุกประเทศของภูมิภาค ยกเว้นประเทศลาวซึ่งเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่มีที่ราบชายฝั่งทะเล เพราะไม่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล)
   - หมู่เกาะ ส่วนใหญ่เป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟ ทั้งที่ยังมีพลังและที่ดับสนิทแล้ว ต่อเนื่องมาจากทิศตะวันตกในแผ่นดินประเทศพม่า ลงไปเป็นหมู่เกาะอันดามัน นิโคบาร์ สุมาตรา ชวา ในอินโดนีเซีย และหมู่เกาะในฟิลิปปินส์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยเกาะขนาดใหญ่และขนาดเล็กมากมาย ประเทศที่มีเกาะจำนวนมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งมีเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ ประเทศฟิลิปปินส์มีเกาะประมาณ 7,000 เกาะ เนื่องจากดินในเขตภูเขาไฟจะมีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้แถบนี้มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แม้จะต้องเสี่ยงต่อการปะทุของภูเขาไฟและแผ่นดินไหว
ภูมิอากาศ
          ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นหรือเขตร้อน ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ คือ มีสภาพภูมิอากาศชุ่มชื้นในฤดูฝนและแห้งแล้งในฤดูแล้งอย่างชัดเจน และอีกลักษณะหนึ่ง คือ มีฝนตกชุ่มชื้นเกือบตลอดทั้งปี เนื่องจากภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ดังนั้นจึงมีอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันหรือรายเดือนสูงสม่ำเสมอตลอดทั้งปี
          ลักษณะภูมิอากาศที่สลับระหว่างความชุ่มชื้นในฤดูฝน และความแห้งแล้งในฤดูแล้งอย่างชัดเจน จะพบได้ในบริเวณประเทศส่วนต่อกับแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย ได้แก่ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ที่อยู่เหนือละติจูด 10 องศาเหนือขึ้นไป ในฤดูฝนจะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมทั้งพายุที่พัดมาจากทิศตะวันออก ทำให้มีฝนตกชุกในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ส่วนในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนจะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนพัดพาเอาความแห้งแล้งเข้ามาสู่พื้นที่ ทำให้เห็นความแตกต่างของทั้งสองฤดู ในบางปีอาจมีพายุหมุนพัดเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ทำให้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง บริเวณที่ได้รับผลกระทบจากพายุก่อน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และลาว จะได้รับผลกระทบมาก ทำให้เกิดภัยน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม
          สำหรับประเทศที่เป็นหมู่เกาะจำนวนมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์นั้น จะได้รับอิทธิพลจากลมทะเลและพายุแบบต่าง ๆ เกือบตลอดทั้งปี จึงทำให้มีฝนตกชุก ยกเว้นบางบริเวณที่อาจจะมีอากาศแห้งแล้งได้บ้างเป็นระยะเวลาสั้น เช่น ทางตะวันออกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับประเทศฟิลิปปินส์พายุไต้ฝุ่นซึ่งมีทั้งความเร็วลมสูงและปริมาณน้ำฝนมาก พัดผ่านประเทศเป็นจำนวนมากกว่า 10 ลูกต่อปี ทำให้ประเทศได้รับผลกระทบที่รุนแรงเป็นประจำ
ประชากร
          เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ประมาณ 4,000,000 ตารางกิโลเมตร (1.6 ล้านตารางไมล์) มีประชากรมากกว่า 593 ล้านคนในปี 2007 โดยกว่าหนึ่งในห้า (125 ล้านคน) อยู่บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่นที่สุดในโลก ด้วยความที่ประเทศอินโดนีเซียมีประชากรถึง 230 ล้านคน ทำให้เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาที่จะแตกต่างไปในแต่ละประเทศ มีชาวจีนโพ้นทะเล 30 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยที่เด่นชัดที่สุดคือที่เกาะคริสต์มาส, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และไทย รวมถึงชาวฮั้วในเวียดนาม


แผนภูมิแสดงสัดส่วนของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มาของภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กลุ่มชาติพันธุ์
          ในช่วงหลังชาวชวาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยจำนวนที่มากกว่า 86 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บนเกาะชวา ส่วนที่พม่าจะมีชาวพม่าอาศัยอยู่มากกว่าสองในสามของประชากรทั้งหมด ขณะที่ชาวไทยและเวียดนามก็จะมีจำนวนราวสี่ในห้าของประเทศเหล่านั้น อินโดนีเซียนั้นถูกปกครองโดยชาวชวาและชาวซุนดา ขณะที่มาเลเซียจะมีชาวมลายูและชาวจีนในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญในฟิลิปปินส์ได้แก่ ชาวตากาล็อก, ชาวซีบัวโน, ชาวอีโลกาโน, และชาวฮิลิกายนอน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วนได้แก่

เด็กหญิงชาวอาติ
ที่มาของภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศาสนา
         ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยจำนวนประมาณที่มากถึง 240 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด โดยส่วนมากจะอยู่ที่บรูไน, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศาสนา โดยศาสนาพุทธมีผู้นับถือเป็นจำนวนมากในไทย, กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม และสิงคโปร์ ลัทธิบูชาบรรพบุรุษและลัทธิขงจื๊อก็มีผู้นับถือมากในเวียดนามและสิงคโปร์ ส่วนศาสนาคริสต์ก็เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์, ภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย, มาเลเซียตะวันออก และติมอร์-เลสเต โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกมากที่สุดในเอเชีย ส่วนติมอร์-เลสเตก็นับถือนิกายโรมันคาทอลิกเช่นกัน เนื่องจากเคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อน
         ศาสนาเป็นสิ่งที่หลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่มีประเทศใดเลยที่มีผู้นับถือศาสนาเดียวกันทั้งหมด โดยประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกอย่างอินโดนีเซียก็สามารถพบชาวฮินดูได้มากมายที่บาหลี โดยชาวฮินดูนั้นกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคทั้งในสิงคโปร์, มาเลเซีย และประเทศอื่น ครุฑที่ว่ากันว่าเป็นพญาแห่งนก และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ก็เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของทั้งไทยและอินโดนีเซีย; ในฟิลิปปินส์สามารถพบรูปหล่อครุฑได้ที่ปาลาวัน; รูปหล่อเทพเจ้าฮินดูองค์อื่นก็สามารถพบได้ที่มินดาเนา สำหรับชาวฮินดูในบาหลีนั้นค่อนข้างแตกต่างจากชาวฮินดูแห่งอื่น โดยมีวัฒนธรรมในแบบของตนเองและมีความเชื่อเรื่องวิญญาณด้วย ส่วนชาวคริสต์นั้นสามารถพบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนมากจะอยู่ที่ติมอร์-เลสเตและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นชาติที่มีชาวคริสต์มากที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าโบราณที่รัฐซาราวักในมาเลเซียตะวันออก และปาปัวที่ภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ในพม่ามีการบูชาพระอินทร์ในแบบที่เรียกว่า นัต ส่วนที่เวียดนามนั้นส่วนใหญ่จะเป็นศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งเชื่อเรื่องวิญญาณ ยกเว้นเรื่องการบูชาความตาย

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วนได้แก่

http://th.wikipedia.org/wiki/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้