สถิติการสูบบุหรี่ในประเทศไทย 2563

"วันงดสูบบุหรี่โลก" ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ชวนเช็คสถิติต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การสูบ "บุหรี่" ในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ พบว่าแรงงานไทยบริโภคยาสูบลดลง 49.12%

เนื่องใน "วันงดสูบบุหรี่โลก" ที่ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ชวนคนไทยมารู้จักสถิติต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ "บุหรี่" ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักสูบ ปริมาณการบริโภคยาสูบในประเทศไทย และล่าสุด.. จะพาไปดูผลสำรวจการสูบบุหรี่กลุ่มแรงงานในช่วงโควิด-19 ระบาด กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลมาให้ทราบกัน ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

1. คนไทยสูบบุหรี่ลดลง ช่วง "โควิด-19" ระบาด ปี 2564

มีข้อมูลอัพเดทจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เปิดเผยว่า ศจย. ร่วมกับ "สวนดุสิตโพล" ได้ทำการสำรวจเรื่อง "พฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19" ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2564 

โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ใช้แรงงานนอกระบบ/ในระบบ จำนวน 1,120 ตัวอย่าง (เช่น มอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ งานบ้าน เกษตร ประมง โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างร้าน) 

ผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ พบว่า

  • ผู้ใช้แรงงานที่บริโภคยาสูบในปริมาณลดลง เนื่องจากรายได้ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 49.12
  • รองลงมาคือ ลดบุหรี่เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.57
  • อันดับสามคือลดบุหรี่เพื่อต้องการดูแลสุขภาพ ร้อยละ 16.29 ตามลำดับ 

โดยความถี่ในการบริโภคยาสูบ พบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานบริโภคยาสูบมากที่สุด 6-10 มวนต่อวัน, รองลงมาอันดับสอง คือ 11-15 มวนต่อวัน ส่วนอันดับสาม คือ 1-5 มวนต่อวัน

ด้าน "วิธีการเลิกบริโภคยาสูบ" ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้วางแผนไว้ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ใช้วิธีลดจำนวนมวนบุหรี่ลง มากที่สุด ร้อยละ 57.63 รองลงมาคือหยุดสูบทันที (หักดิบ) ร้อยละ 34.41 และรับคำแนะนำเพื่อเลิกบุหรี่ ร้อยละ 3.39 

2. สถิติการบริโภคยาสูบของคนไทย ปี 2563

สภาพัฒน์ฯ รายงานสถานการณ์ดื่มสุราและสูบบุหรี่ เมื่อช่วงไตรมาส 3 ในปี 2563 ระบุว่า คนไทยบริโภคสุราและยาสูบลดลง 5.5% โดยสุราลดลง 7.5% ยาสูบลดลง 2.5%

ด้านคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ และเลขาการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ยาสูบและสุราเป็นสาเหตุของ "ภาระโรค" สร้างความสูญเสียทางสุขภาพจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทยถึง 15.13% หรือเกือบ 1 ใน 6 ของภาระโรคทั้งหมดในปี 2557

นอกจากนี้ยังส่งผลลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน และประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (อ่านเพิ่ม : สภาพัฒน์ฯ เผยไตรมาส 3/63 คนไทยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ลดลง)

3. สถิติจำนวนนักสูบ พบว่าลดลงแต่ไม่มาก

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีรายงานพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2560 (ข้อมูลล่าสุดมีถึงปี 2560 เท่านั้น) โดยระบุว่าประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปี มีทั้งหมด 55.9 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่หน้าใหม่ 10.7 ล้านคน (ร้อยละ 19.1) แยกเป็น 

  • ผู้ที่สูบเป็นประจำ 9.4 ล้านคน (ร้อยละ 16.8)
  • ผู้ที่สูบนานๆ ครั้ง 1.3 ล้านคน (ร้อยละ 2.3)

- ประชากรกลุ่มเยาวชนอายุ 16-19 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำสุด ร้อยละ 9.7

- ประชากรอายุ 20-24 ปี อัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 20.7

- ประชากรอายุ 25-44 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด ร้อยละ 21.9

- ประชากรอายุ 45-59 ปี อัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 19.1

- ประชากรกลุ่มผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) อัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 14.4

สถิติการสูบบุหรี่ในประเทศไทย 2563

แนวโน้มการสูบบุหรี่ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงไม่มาก แต่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 20.7 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 19.9 ในปี 2558 และร้อยละ 19.1 ในปี 2560

ผู้ชายที่สูบบุหรี่ลดลงมากกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายลดลง ร้อยละ 40.5 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 39.3 ในปี 2558 และร้อยละ 37.7 ในปี 2560 สำหรับผู้หญิงลดลงจากร้อยละ 2.2 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 1.8 ในปี 2558 และร้อยละ 1.7 ในปี 2560 

อีกทั้ง มีข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำรายงานสำรวจสาเหตุการเสียชีวิตจากบุหรี่ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 72,656 ราย ทำให้เกิดค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น ค่ารักษาพยาบาลปีละ 77,626 ล้านบาท ค่าขาดรายได้จากการเจ็บป่วย 11,762 ล้านบาท ค่าความสูญเสียจากการตายก่อนวัยฯ 131,073 ล้าน รวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 20,565 บาท ต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คนต่อปี

4. "วันงดสูบบุหรี่โลก" 2564 รณรงค์ เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้

กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. 2564 "เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้" เพื่อส่งเสริมให้เลิกสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ลดแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" และปีนี้ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “COMMIT TO QUIT” เพื่อให้ 180 ประเทศสมาชิกผลักดันเชิงนโยบาย และจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ทุกประเภท ส่งเสริมให้ผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกเลิกบุหรี่ให้ได้ 100 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย ได้กำหนดประเด็นเน้นย้ำสื่อสารไปยังประชาชน ภายใต้คำขวัญ “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” เนื่องจากในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 พบว่า พฤติกรรมการ "สูบบุหรี่" ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยง เพิ่มโอกาสรับเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อโควิดได้ มีรายงานพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มีประวัติการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่มักมีสุขภาพปอดไม่แข็งแรง ทำให้มีอาการรุนแรง และเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้

กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวนผู้สูบบุหรี่หันมาเลิกบุหรี่ ซึ่งทาง สธ. ได้จัดโครงการระบบบริการเลิกบุหรี่แบบครบวงจร ช่วยผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่เข้าถึงบริการและรับคำปรึกษา โทรฟรีสายด่วนเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ โทร.1600