ลา ออก จาก งาน ใช้ สิทธิ ประกัน สังคม

          สิทธิประกันสังคมควรรู้ มนุษย์เงินเดือน ลาออกจากงาน ได้เงินชดเชยเท่าไร ต้องจัดการเรื่องประกันสังคมยังไง ใครยังไม่รู้...มาเช็กข้อมูลกัน

          การลาออก เป็นเรื่องปกติของการทำงาน แต่เชื่อว่าคงมีหนึ่งเรื่องสำคัญที่หลายคนสงสัยว่า หากเราเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม (มาตรา 33) เมื่อตัดสินใจลาออกจากงานแล้ว เราจะต้องดำเนินการอะไรกับประกันสังคมหรือไม่ แล้วมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยอะไรไหม หรือสิทธิ์อื่น ๆ ที่เคยได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล จะยังคงได้รับเหมือนเดิมหรือเปล่า

          วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงได้สรุปคู่มือง่าย ๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่กำลังจะลาออก ว่าต้องจัดการยังไงบ้างกับสิทธิประกันสังคมของตัวเอง

ลา ออก จาก งาน ใช้ สิทธิ ประกัน สังคม


แจ้งประกันสังคม เพื่อรับเงินชดเชยว่างงาน

          เมื่อลาออกจากงานแล้ว ในช่วงที่ยังไม่มีงานใหม่ทำ เราสามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชย ได้ตามขั้นตอน ดังนี้

          1. ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน 

          สามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านอินเทอร์เน็ต ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานจัดหางาน empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ลาออก ถ้าเกินกำหนดจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ย้อนหลังได้ 

ลา ออก จาก งาน ใช้ สิทธิ ประกัน สังคม

ภาพจาก : กรมการจัดหางาน

          2. ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)

          จากนั้นให้ยื่นเพื่อขอรับสิทธิ์เงินทดแทนกรณีว่างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) โดยแนบหลักฐาน ดังนี้ 

          • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)

          • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 

          • หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6-09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้

          • หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)

          • สำเนาสมุดบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อผู้ประกันตน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

          3. รายงานตัวทุกเดือนกับสำนักงานจัดหางาน

          เราต้องรายงานตัวอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อรับเงินว่างงาน ผ่านเว็บไซต์สำนักจัดหางาน empui.doe.go.th ตามกำหนดเวลาในแต่ละเดือน แจ้งล่วงหน้าได้ 7 วัน ก่อนถึงกำหนด โดยเงินที่ได้รับแต่ละเดือนจะโอนเข้าบัญชีที่เรายื่นเรื่องไว้ ภายใน 5-7 วันทำการ นับจากวันที่อนุมัติและรายงานตัว (ไม่รวมวันหยุดราชการ)

ลาออกจากงาน ประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยเท่าไร ?

          กรณีลาออกจากงานเองโดยสมัครใจ ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนว่างงาน ไม่เกินปีละ 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย (คิดจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำ 1,650 บาท/เดือน และฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท/เดือน) เช่น 

          - เงินเดือน 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน
          - เงินเดือน 20,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เดือนละ 4,500 บาท (คิดจากฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน

          แต่ถ้าเป็นกรณีถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน ไม่เกินปีละ 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น 

          - เงินเดือน 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน

          - เงินเดือน 20,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เดือนละ 7,500 บาท (คิดจากฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ลา ออก จาก งาน ใช้ สิทธิ ประกัน สังคม

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

          ทั้งนี้ คนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน และว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป ที่สำคัญคือ ต้องไม่ถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้ 

          - ทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
          - จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
          - ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
          - ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
          - ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
          - ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
          - ต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

         อย่างไรก็ตาม หากเป็นการลาออกเองในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มเป็นร้อยละ 45 ของค่าจ้างเฉลี่ย แต่ไม่เกิน 90 วัน

ลาออกจากงานแล้ว สิทธิประกันสังคมจะเป็นอย่างไร

          แม้จะลาออกจากงานประจำและไม่ได้ส่งเงินสมทบแล้ว ผู้ประกันตนจะยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่าง ๆ ทั้งกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ได้เหมือนเดิมต่ออีก 6 เดือน หลังจากลาออก 

          ทว่าหากพ้น 6 เดือน เรายังไม่ได้เริ่มทำงานกับบริษัทใหม่ หรือได้เปลี่ยนไปทำอาชีพอิสระแล้ว ก็จะทำให้สิทธิการเป็นผู้ประกัน มาตรา 33 หมดลง ทำให้เราต้องตัดสินใจใน 2 ทางเลือก ดังนี้ 

          1. สมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 

          หากยังอยากอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไป สามารถย้ายมาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 แทนได้ แต่ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และยื่นคำขอผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน

          โดยผู้ประกันตน มาตรา 39 จะต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาท/เดือน โดยรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาท/เดือน ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

ลา ออก จาก งาน ใช้ สิทธิ ประกัน สังคม

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

          2. ออกจากประกันสังคมไปเลย

          หากเราไม่ทำอะไรต่อจากนี้ สิทธิประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยและว่างงานก็จะขาดโดยอัตโนมัติ หากเจ็บป่วยอะไรขึ้นมา ก็จะต้องใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง แทน

          ส่วนเงินชราภาพที่มีอยู่ จะได้รับก็ต่อเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องทำเรื่องภายใน 1 ปี หลังเกษียณ ห้ามเกินแม้แต่วันเดียว สำหรับเงินที่ได้จะแบ่งเป็น 2 แบบ ตามระยะเวลาที่ส่งสมทบ คือ

          - จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จ 
          - จ่ายเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน

          อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ประกันตนจะสามารถใช้สิทธิ "ขอเลือก" ว่าจะรับเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญชราภาพ และใช้สิทธิ "ขอคืน" หรือ "ขอกู้" ได้ หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งต้องรอประกาศให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

ลา ออก จาก งาน ใช้ สิทธิ ประกัน สังคม

          อย่างไรก็ตาม หากเรากลับมาทำงานประจำใหม่ สิทธิประกันสังคม มาตรา 33 จะกลับมาได้อีกครั้ง โดยนายจ้างจะเป็นผู้ยื่นเรื่องดำเนินการกับประกันสังคมเอง ซึ่งเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพของเดิมจะยังคงอยู่และสะสมเพิ่มต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้เริ่มนับหนึ่งใหม่  

          ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิทธิประกันสังคมที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรรู้ และทำความเข้าใจให้พร้อมก่อนลาออก โดยหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม โทร. 1506

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 13 มิถุนายน 2565