ปัญหาการจัดเก็บ ราย ได้ของ อป ท

เป็นที่ทราบกันดีว่า เงินภาษีที่เราเสียให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่จะนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาท้องถิ่น อาทิ การปรับปรุงซ่อมแซมถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค สาธารณูปการ บำรุงการศึกษา ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ งานสาธารณสุข เป็นต้น ดังนั้น ถ้าท้องถิ่นใดจัดเก็บภาษีได้อย่างทั่วถึง มีรายได้มาก ก็จะสามารถนำเงินที่ได้ไปพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญได้มากขึ้น

แต่ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก กำลังเผชิญกับปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ลดน้อยลงหลายเท่าตัว โดยเฉพาะคำสั่งรัฐบาลลดการจัดเก็บภาษีผู้ประกอบกิจการ ร้านค้า ธุรกิจต่างๆจาก 100% เหลือเพียง 10% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงภาวะวิกฤตไวรัสโควิด-19 ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นจาก “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” เป็น “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 หรือเรียกย่อๆ ว่า “ภาษีที่ดิน” เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่หมด จนทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่ไม่ได้ตามเป้า ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ หลายท้องถิ่นต้องดึงเงินออมที่เก็บไว้ออกมาใช้ ซึ่งเงินออมนี้ทางราชการเรียกว่าเงินสะสมนั่นเอง และบางท้องถิ่นเริ่มกังวลว่าหากสำนักงบประมาณไม่เร่งนำเงินมาชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไป ในอนาคตอันใกล้นี้อาจวิกฤตถึงขั้นไม่มีเงินเดือนจ่ายพนักงาน
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีของเทศบาลนครแหลมฉบัง ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องดูแลพื้นที่กว้างขวางและประชากรจำนวนมาก สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ทน.แหลมฉบังกำลังเผชิญวิกฤตการจัดเก็บภาษีถึง 3 ด้านคือ

ปัญหาการจัดเก็บ ราย ได้ของ อป ท

ด้านที่ 1 การเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน มาเป็น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือเรียกย่อๆว่า ภาษีที่ดิน
“เราเข้าใจดีว่าเจตนารมณ์ของรัฐบาลต้องการลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินภาษี และมุ่งที่จะให้เจ้าของทรัพย์สินใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มี ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างหรือการนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาทำให้เกิดประโยชน์ และประเมินว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินมาเป็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเกิดประโยชน์และทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้คือเราต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานใหม่หมดเลย เพราะว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น ต้องอาศัยข้อมูลจากกรมที่ดินซึ่งปัญหาตอนนี้คือข้อมูลยังไม่อัปเดต เมื่อเราประเมินภาษีออกไปประชาชนจึงเพิ่งมาแจ้งว่าที่ดินแปลงนั้นแปลงนี้ได้ขายไปแล้ว เป็นต้น แม้จะมีขั้นตอนให้เราส่งแบบไปให้ประชาชนตรวจสอบก่อน แต่ก็มีจำนวนมากกว่า 50% เมื่อเราส่งเอกสารไปแล้วเขาก็ไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่งในเอกสารที่เราส่งไประบุว่าถ้าท่านไม่แจ้งแก้ไขภายใน 7-15 วันถือว่าข้อมูลถูกต้องแล้ว เมื่อถึงเดือนที่เราจะต้องประเมินภาษีออกไป เขาก็มาแย้งทันทีว่าไม่ใช่ตามนี้ ก็เลยทำให้ขั้นตอนแทนที่จะเก็บได้ยืดยาวออกไปอีก ขณะที่โปรแกรมการคำนวณอัตราภาษีที่ดินซับซ้อนมาก เนื่องจากเราจะต้องพิจารณาว่าอันนี้เป็นที่ดินจัดเก็บได้ไหม อาคารนี้ใช้ประโยชน์ปลูกสร้างอย่างไร ได้รับการยกเว้นหรือไม่ หรือได้รับการยกเว้นเท่าไหร่ มีเอกสารเยอะมาก ขณะที่อัตรากำลังคนก็ไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อก่อนถ้าใช้ภาษีโรงเรือนฯจะง่ายมาก คือใช้จำนวนเงินที่ให้เช่าในสัญญาเช่ามาคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตรา 12.5% ต่อปี ซึ่งปกติการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเมื่อปี 2562 เราเคยเก็บภาษีได้ 518 ล้านบาท เมื่อเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินฯในปี 2563 เราจะจัดเก็บได้เพียง 300 ล้านบาท นี่คือถ้าเราสามารถจัดเก็บได้เต็ม 100% เท่ากับว่ารายได้หายไปประมาณ 200 กว่าล้าน สาระสำคัญอีกอย่างหนึ่งใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือในช่วง 3 ปีแรก พื้นที่เกษตรกรรมได้รับการยกเว้นหมดเลยไม่ต้องจ่ายภาษี ทำให้ภาษีของเราหายไปอีกส่วนหนึ่ง” เจ้าหน้าที่ฯสะท้อนปัญหา
ปัญหาการจัดเก็บ ราย ได้ของ อป ท
ด้านที่ 2 ปัญหาที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือการลดอัตราจัดเก็บภาษีจาก 100% เหลือเพียง 10% ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19
“ปกติการเก็บภาษีเราต้องเก็บได้ 100% แต่รัฐบาลสั่งการให้เก็บเพียง 10% เพื่อให้ประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์สิน 90% ก็เข้าใจดีว่าเกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งประสบปัญหา แต่ในความเป็นจริง พื้นที่ที่เราต้องดูแลก็เท่าเดิม ประชากรก็เท่าเดิมหรืออาจจะมีมากขึ้นในกรณีที่เขาย้ายถิ่นฐานเข้ามา เพราะฉะนั้นการทำนุบำรุง การพัฒนาท้องถิ่นยังต้องทำอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกไปจัดเก็บขยะที่ประชาชนนำมาทิ้ง หรือการซ่อมถนนหนทางที่ชำรุด โดยเฉพาะพื้นที่นครแหลมฉบังเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มีแต่รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถเทรลเลอร์วิ่งทั้งบนถนนหลักและถนนรอง ทำให้ถนนชำรุดได้ง่าย ประกอบกับเทศบาลนครแหลมฉบังรับผิดชอบพื้นที่กว้างขวางถึง 109.65 ตารางกิโลเมตร ประชากรเยอะ รถผ่านไปมามาก”
สำหรับพื้นที่ 109.65 ตารางกิโลเมตรเทศบาลนครแหลมฉบัง แบ่งเป็น 1.พื้นที่บางส่วนของสุขาภิบาลอ่าวอุดม (เดิม) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่จำนวน 72.56 ตารางกิโลเมตร หรือ 45,350 ไร่ 2.พื้นที่บางส่วนของสุขาภิบาลบางละมุง (เดิม) อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่จำนวน 16.03 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,018.75 ไร่ 3.พื้นน้ำ (ทะเล) มีพื้นที่จำนวน 21.06 ตารางกิโลเมตร ทางด้านตะวันตกของเขต
“อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า การเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ทำให้การจัดเก็บภาษีที่เราเคยเก็บได้เมื่อปี 2562 จำนวน 518 ล้านบาท เหลือเพียง 300 ล้านบาท แต่เมื่อรัฐบาลให้เก็บแค่ 10% ทำให้ปี 2563 เราเก็บภาษีได้จริงเพียง 17 ล้านบาท หายไป 500 กว่าล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมจาก 17 ล้านบาทเป็น 37 ล้านบาท ที่ได้มากขึ้นกว่าเดิมเพราะว่าทีมงานจัดเก็บภาษีจัดการหมุนเวียนสับเปลี่ยนคน นำกำลังคนจากฝ่ายแผนที่มาเป็นกำลังเสริมในเรื่องของข้อมูล ช่วยประเมินได้ครอบคลุมมากขึ้น เลยเก็บได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขที่เคยเก็บได้ 500 กว่าล้านก็ลดไปหลายเท่าตัว ทำให้เกิดผลกระทบในด้านการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมาก ท่านนายกเทศมนตรี (จินดา ถนอมรอด) ต้องรับผิดชอบพื้นที่กว้างมาก ประชาชนก็เยอะ เพราะฉะนั้นงบประมาณที่จะนำลงไปในเรื่องการซ่อมแซม หรือก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ การพัฒนาคุณภาพชีวิตลดหมดเลย เฉพาะในเรื่องขยะเดือนหนึ่งเราเสียค่าเก็บขยะ 10 กว่าล้าน ปีหนึ่ง 120 ล้าน ซึ่งอยู่ในภาษี 500 กว่าล้านที่หายไป เพราะฉะนั้นโครงการก่อสร้าง งบลงทุนต่างๆ ที่ปี 2561 ลงทุนประมาณ 100 กว่าล้าน แต่ปีถัดมาลดเหลือ 40 ล้าน 30 ล้าน คาดว่าปีงบประมาณ 2565 อาจตั้งได้แค่เพียง 10 กว่าล้าน เนื่องจากว่าไม่มีภาษีที่เราจัดเก็บไปเจือจานตรงนี้  ส่งผลกระทบด้านการพัฒนามากเลย ยิ่งตอนนี้เราเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) งบประมาณยิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาเสริมการพัฒนาให้คนเข้ามาลงทุน ถ้าถนนในแหลมฉบังชำรุด มีขยะตกค้างส่งกลิ่นเน่าเหม็น เกิดปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ขาดไฟส่องทาง ไฟฟ้าติดๆ ดับๆ เกิดปัญหามิจฉาชีพ อาชญากรรม ใครจะกล้ามาลงทุน”

ปัญหาการจัดเก็บ ราย ได้ของ อป ท

ด้านที่ 3 นอกจากจะเจอกับวิกฤตการจัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว ในส่วนของภาษีจัดสรรจากรัฐบาลก็ลดลง ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนฯที่ปีนี้หายไป 8 ล้านกว่าบาท และภาษีสรรพสามิตก็ลดลงรวม 10 ล้านกว่าบาท รวมถึงการจัดสรรค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งมีการโอนซื้อขายกัน หายไปอีกกว่า 50 ล้านบาท เนื่องจากไม่เกิดการซื้อขายจากภาวะโควิด-19
“การแก้ปัญหาของเราในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทางผู้บริหารทั้งท่านนายกเทศมนตรีและอดีตนายกเทศมนตรี (บุญเลิศ น้อมศิลป์ ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาเทศบาลนครแหลมฉบัง) ก็พิจารณาใช้จ่ายเงินสะสมเท่าที่จำเป็น ซึ่งโชคดีว่าเรายังมีเงินสะสมอยู่จำนวนหนึ่ง นำมาจ่ายทดแทนเงินที่หายไป 300-400 ล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ เงินเดือนพนักงาน ค่าบริหารจัดการขยะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลยังสั่งการให้เก็บภาษีเพียง 10% เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ 90% อีก 2 ปีข้างหน้าเงินสะสมที่เหลืออยู่ของ ทน.แหลมฉบัง ซึ่งก็เหลือไม่มากแล้ว อาจใช้ได้เฉพาะเงินเดือนแค่ 2 ปีเท่านั้น โดยที่การพัฒนาส่วนอื่นๆหยุดนิ่งหมด ขยะอาจจะตกค้างเน่าเหม็นเพราะว่าไม่มีเงินไปจ้างบริษัทเอกชนมาจัดเก็บ จะไม่มีงบซ่อมถนนหนทาง ไม่มีงบซ่อมเปลี่ยนหลอดไฟ รวมถึงไม่มีงบดำเนินการในส่วนที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนใดๆ ซึ่งจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย”

ปัญหาการจัดเก็บ ราย ได้ของ อป ท

เจ้าหน้าที่ฯทน.แหลมฉบัง มองว่าประเด็นลดการจัดเก็บภาษีจาก 100% เหลือ 10% เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่พอสมควร
“เราเข้าใจว่าในภาวะเช่นนี้รัฐบาลก็อยากช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ก็อยากให้มีความสมดุลทั้งเขาและเรา ยกตัวอย่าง บ้านเช่า อพาร์ทเม้นต์ต่างๆ ที่เปิดให้เช่า แทนที่ท้องถิ่นจะสามารถจัดเก็บในอัตราของการเช่า แต่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังให้จัดเก็บในอัตราที่อยู่อาศัย ทำให้รายได้จากการจัดเก็บในส่วนนี้หายไปจำนวนมาก สมมุติคอนโดฯห้องหนึ่งมูลค่าประเมินได้ 1 ล้านบาท ถ้าเก็บภาษีตามอัตราเช่า เราจะจัดเก็บภาษีได้ 3,000 บาท อันนี้เป็นกรณีที่ยังไม่ลด 90% แต่เมื่อรัฐบาลให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยให้จัดเก็บในอัตราที่อยู่อาศัย ท้องถิ่นจะจัดเก็บภาษีได้เพียง 200 บาทเท่านั้น จะเห็นว่ารายได้กรณีนี้ขาดหายไป 2,800 บาท ซึ่งในความเป็นจริง หากคอนโดฯห้องนี้เปิดให้เช่าในอัตรา 6,000 บาทต่อเดือน เดิมถ้าจะจัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยใช้อัตรา 12.5% ต่อปี ผู้ให้เช่าจะต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินให้ท้องถิ่น 9,000 บาทต่อปี แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้ให้เช่าชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ท้องถิ่นเพียง 200 บาทต่อปีเท่านั้น ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าท้องถิ่นขาดรายได้ไป 8,800 บาท เมื่อเปรียบเทียบว่าหากจัดเก็บโดยใช้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงเจ้าของคอนโดฯที่ให้เช่าห้องนี้ก็ยังได้รับค่าเช่า 6,000 บาทเหมือนเดิม หากรัฐบาลจะให้ท้องถิ่นเก็บภาษีน้อยลงเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เช่าอยู่อาศัยในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งท้องถิ่นก็เห็นใจประชาชนเช่นเดียวกัน เจ้าของคอนโดฯก็ควรที่จะต้องลดค่าเช่าให้ผู้เช่าด้วย จึงจะเกิดความสมดุลกัน ในส่วนของห้างสรรพสินค้าก็เช่นเดียวกัน เสียภาษีน้อยลงมากเนื่องจากการประกาศใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯนี้ แต่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งก็ยังคงเก็บค่าเช่าเท่าเดิมและยังผลักภาระภาษีให้ผู้เช่าชำระแทนผู้ให้เช่าอีกด้วย นี่คือข้อเท็จจริงที่อยากให้รัฐบาลช่วยพิจารณาแก้ไข และสั่งการใหม่ให้ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บในอัตราเช่าแทนการให้จัดเก็บในอัตราอยู่อาศัยต่อไป”

ปัญหาการจัดเก็บ ราย ได้ของ อป ท

อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ย่อมมีคำถามจากฝั่งผู้ประกอบการว่าถ้าพวกเขาไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีจะอยู่รอดได้อย่างไร
“ในความเป็นจริง ผู้บริหารท้องถิ่นก็เข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างดี ท่านเข้าใจนักธุรกิจ ผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งลงทุนไปจำนวนมาก แต่ผลประกอบการลดลง ประสบภาวะขาดทุน ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหากันมากมาย แรงงานจำนวนมากถูกยกเลิกการจ้างงานและกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการสั่งการให้จัดเก็บภาษีที่ดิน 100% เหมือนเดิม เพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เพียงพอต่อการนำมาพัฒนาพื้นที่ แต่ถ้ายังทำไม่ได้ตอนนี้ ตัวเลขที่เหมาะสมน่าจะอยู่ 50% ได้ไหม ในปีงบประมาณปี 2565 ขอให้รัฐบาลสั่งเก็บสัก 50% ก็ยังพอได้อยู่ เพราะเราก็จะพยายามปรับลดในส่วนของโครงการก่อสร้างให้น้อยลง พิจารณาจ่ายขาดเงินสะสมในโครงการจำเป็นเร่งด่วนในพื้นที่ที่ประชาชนเดือดร้อนจริงๆ ทำถนนหนทาง พนังป้องกันน้ำท่วม ท่านนายกเทศมนตรีก็เป็นห่วงความเป็นอยู่ของประชาชนในส่วนนี้ ฝ่ายจัดหารายได้ให้กับเทศบาลก็รู้สึกกดดัน ทุกคนทำงานล่วงเวลาทุกวัน ทั้งเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเร่งประเมินภาษีออกมาให้มากที่สุด ตามอัตรากำลังที่เรามีอยู่ ชุมชนก็น่าเห็นใจ เขาขอทำโครงการอะไรแล้วไม่ได้เนื่องจากรายรับของเราไม่เพียงพอ เราก็จำเป็นต้องปฏิเสธผู้นำชุมชนหลายโครงการ อย่างไรก็ตาม ชุมชนเขาก็ต้องมีความเคลื่อนไหวในด้านกิจกรรม สร้างสัมพันธ์ในชุมชนหรือพัฒนาชุมชน เมื่อเกิดภาวะแบบนี้ทำให้เราไม่สามารถอุดหนุนเงินให้เขาได้”
กระนั้นก็ตาม ทางออกด้านหนึ่งของปัญหานี้คือ รายได้การจัดเก็บภาษีที่หายไป สำนักงบประมาณสามารถนำเงินจากส่วนกลางมาชดเชยให้ท้องถิ่นได้

ปัญหาการจัดเก็บ ราย ได้ของ อป ท

“ตามมาตรา 250 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ‘รัฐต้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ของตนเอง โดยจัดระบบภาษีหรือการจัดสรรภาษีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้อย่างเพียงพอ ในระหว่างที่ยังไม่อาจดำเนินการได้ ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพลางก่อน’ ซึ่งทางเราได้ติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ทราบว่ายังไม่ได้มีการเสนอเรื่องการชดเชยรายได้จากภาษีที่ลดลงให้กับเทศบาลนคร เมืองพัทยา และเทศบาลเมืองแต่อย่างใด หากเทศบาลฯได้รับการจัดสรรชดเชยเงินรายได้ที่ขาดหายไป 500 กว่าล้านบาท เทศบาลฯจะนำไปทำประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ได้มากมาย จึงอยากให้สำนักงบประมาณหรือรัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้เป็นกรณีเร่งด่วน เพราะท้องถิ่นใช้จ่ายแทนมากแล้ว ต้องดึงเงินออมซึ่งเป็นเงินสะสมออกมาใช้ บางคนบอกว่าท้องถิ่นมีเงินมาก ผลกระทบแค่นี้ไม่มีปัญหาเท่าไหร่หรอก อยากจะบอกว่าไม่ใช่ทุกท้องถิ่นที่มีเงินมาก บางท้องถิ่นเงินสะสมเป็น 0 แล้ว หลายท้องถิ่นก็ร่อยหรอจนเกือบหมดแล้ว นั่นคือผลกระทบจากรายได้ที่หายไป เราเคยใช้งบประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปี แต่ตอนนี้ต้องปรับลดหมด อะไรต่างๆ ต้องใช้โดยประหยัด เราก็ไม่ได้ใช้ฟุ่มเฟือย แต่เนื่องจากเรามีบุคลากรมาก มีพื้นที่ต้องรับผิดชอบมาก จำเป็นต้องซื้อวัสดุและอุปกรณ์สำรองไว้เพื่อซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ตามที่ประชาชนแจ้งมาในทุกๆ วัน ท่านนายกเทศมนตรีก็พยายามผลักดันตรงนี้ เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการได้ดีเหมือนเดิม” 
หวังว่าบทความนี้จะเป็นกระบอกเสียงถึงรัฐบาล ได้หันกลับมาพิจารณาความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในท้องถิ่น และเร่งเข้ามาเยียวยาแก้ไขให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายมากไปกว่านี้ เพราะถ้าท้องถิ่นพัฒนาไม่ได้ การลงทุนก็ไม่เกิด เศรษฐกิจขับเคลื่อนลำบาก และส่งผลกระทบต่อทุกคนในที่สุด

Post Views: 608