น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย

“ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย..."

เพื่อน ๆ น่าจะเคยได้ยินสำนวนข้างต้นในชีวิตประจำวัน หรือได้ยินมาจากบทเรียนวิชาภาษาไทย ม.3 เรื่องอิศรญาณภาษิต (อ่านว่า อิด-สะ-ระ-ยาน-พา-สิด) ซึ่งนอกจากวรรณคดีเรื่องนี้จะทำหน้าที่เป็นคติสอนใจแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังทำหน้าที่สะท้อนค่านิยมและสภาพสังคมของคนยุคสมัยนั้นว่า ‘สิ่งไหนดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ’ ซึ่งบางอย่างก็ยังเป็นเรื่องคลาสสิกมาจนถึงปัจจุบัน แต่บางสำนวนก็ชวนให้ฉุกคิดว่าในยุคสมัยนี้ เรายังสามารถนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้แบบเดิมหรือไม่ 

วันนี้เราเลยอยากชวนเพื่อน ๆ มามองอีกมุมหนึ่งว่า อิศรญาณภาษิต สะท้อนให้เราเห็นอะไรในสังคมไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันบ้าง

‘อิศรญาณภาษิต’...เหตุเกิดจากความน้อยใจ

ขอเกริ่นก่อนว่า ชื่ออิศรญาณภาษิต มีที่มาจากชื่อผู้แต่ง คือ หม่อมเจ้าอิศรญาณ มหากุล กวีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) วันหนึ่งหม่อมเจ้าอิศรญาณถูกตำหนิว่าสติไม่ดี จึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เลยพยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา (แต่ก็มีคนสันนิษฐานว่าหม่อมเจ้าอิศรญาณเขียนเฉพาะบทแรก ๆ แล้วมีคนมาแต่งเพิ่มเติมในบทหลัง ๆ) เพื่อเตือนใจและสั่งสอนแนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เจ้านาย หรือคนมียศศักดิ์สูงกว่า เรียกง่าย ๆ ว่าสอนวิธี ‘อยู่เป็น’ ในสังคมสมัยนั้นนั่นเอง 

มอง ‘อิศรญาณภาษิต’ ผ่านสายตานักจิตวิทยาสังคม 

เมื่อมนุษย์ไม่ได้คิด เชื่อ หรือมองโลกเหมือนกันทุกคน การปฏิบัติตัวหรือวัฒนธรรมของแต่ละสังคม จึงแตกต่างกันออกไป คุณ Geert Hofstede นักจิตวิทยาสังคมชาวดัชต์เลยคิดค้นทฤษฎีมิติทางวัฒนธรรม (Hofstede's cultural dimensions theory) ขึ้นมา เพื่ออธิบายว่ามนุษย์บนโลกนี้มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในมิติไหน อย่างไรบ้าง โดยมิติที่เกี่ยวข้องกับอิศรญาณภาษิตอย่างชัดเจน คือ เรื่องระยะห่างเชิงอำนาจหรือ Power Distance ที่อธิบายว่าสังคมนั้น ๆ ยอมรับความไม่เท่าเทียมและลำดับชนชั้น (Hierarchy) ได้มากน้อยแค่ไหน 

เมื่อนำกรอบความคิดแบบคุณ Hofstede มามองประเทศไทยเราจะพบว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีระยะห่างเชิงอำนาจสูง (High Power Distance) จึงยอมรับเรื่องลำดับชนชั้นในสังคมได้มากกว่า และคาดหวังว่า คนที่อำนาจน้อยกว่าจะต้องเชื่อฟังหรือทำตามคนที่มีอำนาจมากกว่า ขณะที่บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี แคนาดา ฯลฯ เป็นสังคมที่มีระยะห่างเชิงอำนาจต่ำ (Low Power Distance) จะยอมรับและให้ความสำคัญกับเรื่องลำดับชนชั้นน้อยกว่า (อำนาจก็เป็นแค่ชื่อจังหวัดเท่านั้นแหละ) อย่างเรื่องการใช้สรรพนาม ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ เราอาจจะเรียก You ได้เลย แต่พอเป็นคนไทย อาจจะต้องนึกถึงเรื่องอายุหรือสถานะทางสังคม เช่น ตอนเราไม่แน่ใจว่าจะเรียกพนักงานเสิร์ฟว่าพี่หรือน้อง หรือจะเรียกคุณแม่ของเพื่อนว่า แม่ น้า หรือป้าดี 

แต่ขอบอกก่อนว่า การแบ่งแบบนี้ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าสังคมไหนดีกว่า แต่แบ่งเพื่อให้รู้ว่าโลกของเราเต็มไปด้วยความหลากหลาย และมีความแตกต่างกันในรูปแบบไหนบ้าง ถ้าเพื่อน ๆ เห็นชาวต่างชาติเดินผ่านผู้ใหญ่แล้วไม่ได้ก้มหัว หรือคนไทยที่บอกว่าไม่เป็นไรแต่ข้างในร้องไห้อยู่ นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่ดีซะทีเดียว เพียงแต่เราโตมาในสังคมที่มีค่านิยมหรือวัฒนธรรมแตกต่างกัน ซึ่งเราก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ เข้าใจและปรับตัวเข้าหากันนั่นเอง

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย

คะแนน Power Distance (ซ้ายสุด) ของประเทศไทย เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา (ที่มา : Hofstede Insight )

ดังนั้น วรรณคดีเรื่องอิศรญาณภาษิต จึงไม่ได้บอกวิธีที่ถูกต้องหรือดีที่สุดที่มนุษย์ทุกคนควรปฏิบัติ แต่สะท้อนวิธีการปรับตัวให้ ‘อยู่เป็น’ ในสังคมที่มีระยะห่างเชิงอำนาจสูง (High Power Distance) ซึ่งระยะห่างเชิงอำนาจในอิศรญาณภาษิตที่เด่นชัดที่สุด ได้แก่เรื่องวัยวุฒิ เพศสภาพ และสถานะทางสังคมที่เราจะได้พูดถึงกันในหัวข้อถัดไป

ระบบอาวุโส : อำนาจที่ถูกกำหนดด้วยอายุ

เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด    ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา

ใครทำตึงแล้วหย่อนผ่อนลงเอา     นักเลงเก่าเขาไม่หาญราญนักเลง

บทกลอนในอิศรญาณภาษิตข้างต้น ได้สอดแทรกสำนวน “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ที่สะท้อนระบบอาวุโสในสังคมไทย นั่นคือ คนที่อายุมากกว่าจะมีอำนาจมากกว่าในแง่ความรู้และประสบการณ์ สังคมเลยคาดหวังให้เด็ก ๆ เชื่อฟังและทำตามคนที่อาวุโสกว่าไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย รวมทั้งคุณครูในห้องเรียน ซึ่งในแง่ของการเรียนการสอนในห้องเรียน มีงานวิจัยของคุณ Michiko Kasuya (2008) ที่พบว่าสังคมที่มีระยะห่างเชิงอำนาจสูง จะเน้นการสื่อสารทางเดียว คุณครูจะมีบทบาทเป็น ‘ผู้สอน’ ในคลาสใหญ่ ๆ แล้วนักเรียนจดตามหรือทำตามที่ครูบอกมากกว่าให้นักเรียนมีส่วนร่วมในห้องเรียน ทำให้เด็ก ๆ ไม่ค่อยชินกับการแสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้งในสิ่งที่คุณครูสอน อย่างที่เรามักจะเห็นในห้องเรียนของไทย

อย่างไรก็ตามในยุคสมัยที่เด็ก ๆ สามารถหาความรู้ได้จากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหลัก สื่อออนไลน์ หรือช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น สำนวน “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” เลยอาจใช้ได้ในบางกรณี เพราะความรู้หรือประสบการณ์บางอย่างไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องอายุมากเท่าในสมัยก่อนอีกต่อไป 

ระบบชายเป็นใหญ่ : อำนาจที่ถูกกำหนดด้วยเพศสภาพ

นอกจากอำนาจจะอยู่ที่วัยวุฒิแล้ว อิศรญาณภาษิตยังสะท้อนให้เห็น ‘ระบบชายเป็นใหญ่’ ในสังคมไทยที่อำนาจถูกกำหนดโดยเพศสภาพ กล่าวคือ ชายมีอำนาจมากกว่าหรืออยู่เหนือกว่าฝ่ายหญิง เห็นได้จากบทกลอนที่เราได้กล่าวถึงตั้งแต่ต้นบทความว่า

“ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย”

โดยวรรคนี้สื่อถึงค่านิยมเรื่องการรักนวลสงวนตัวของเพศหญิง ซึ่งเปรียบผู้หญิงคล้ายกับข้าวสารที่ผ่านการขัดสีพร้อมที่จะนำไปหุงอย่างเดียว ไม่สามารถนำมาปลูกใหม่ได้อีก ขณะที่ผู้ชายเปรียบเสมือนข้าวเปลือกที่สามารถนำไปเพาะปลูกและเจริญงอกงามใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ หรืออีกบทกลอนหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ

“เป็นผู้หญิงแม่หม้ายที่ไร้ผัว ชายมักยั่วทำเลียบเทียบข่มเหง”

บทกลอนวรรคข้างต้นถอดความได้ว่า การเป็นหญิงหม้ายไม่มีสามีคอยปกป้อง มีโอกาสถูกชายอื่นพูดจาแทะโลมข่มเหง สะท้อนให้เห็นมุมมองของคนในยุคสมัยนั้นว่า ผู้ชายมีบทบาทเป็นช้างเท้าหน้าหรือเป็นผู้นำครอบครัว ต้องคอยดูแลปกป้องฝ่ายหญิง เพราะกำหนดบทบาทของฝ่ายหญิงไว้ว่า ต้องเป็นแม่ศรีเรือน ทำงานบ้าน ทำอาหาร คอยเลี้ยงลูกและปรนนิบัติสามี ขณะที่ผู้ชายต้องเป็นคนที่เข้มแข็ง ทำงานหนักหาเลี้ยงครอบครัว อาจเพราะในสมัยก่อนโอกาสด้านการศึกษายังจำกัดอยู่ที่เพศชาย ขณะที่ปัจจุบันทั้งหญิงและชายได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ผู้หญิงจึงสามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ หรือผู้ชายเองก็สามารถทำอาหาร ทำงานบ้านได้เช่นเดียวกัน 

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย

ตัวอย่างบทบาททางเพศแบบแอนโดรจีนี (ขอบคุณภาพจาก GIPHY)

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเรื่องบทบาททางเพศ: ในทัศนะของนักจิตวิทยา โดยคุณดุลยา จิตตะยโศธร (2551) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า คนที่มีบทบาททางเพศแบบแอนโดรจีนี (Androgyny) กล่าวคือ คนที่ลักษณะทางเพศไม่ได้มีอิทธิพลต่อการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น  ผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน มีความเป็นผู้นำครอบครัว แต่ก็ยังคงมีหน้าที่ดูแลบ้านและลูก ๆ หรือผู้ชายก็มีส่วนร่วมในการทำงานบ้านดูแลสมาชิกในครอบครัว และทำงานหลักของตนเองเช่นกัน กลุ่มคนเหล่านี้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้าน และเหมาะกับสังคมยุคใหม่กว่าคนที่มีบทบาททางเพศที่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมเพียงอย่างเดียว เพราะคนที่มีบทบาททางเพศแบบแอนโดรจีนี (Androgyny) จะมีอิสระจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่นมากกว่า เหมาะกับสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน ฉะนั้นค่านิยมเรื่องชายเป็นใหญ่ หรือการกำหนดบทบาททางเพศว่าผู้หญิงหรือผู้ชายต้องเป็นแบบไหน อาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่เท่าไหร่นัก

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย

ระบบอุปถัมภ์ : อำนาจที่ถูกกำหนดด้วยสถานะทางสังคม

สังคมที่มีระยะห่างเชิงอำนาจสูง มักจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า การบริหารจัดการแบบพระเดชพระคุณ (paternalistic management) ที่ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือนพ่อที่ดูแลลูก โดยยึดประสบการณ์และตัวตนของผู้นำเป็นบรรทัดฐาน รวมทั้งคาดหวังให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเชื่อฟัง ยอมตาม และซื่อสัตย์ต่อผู้นำเช่น

ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า ใครเลยเล่าจะไม่งามตามเสด็จ

จำไว้ทุกสิ่งจริงหรือเท็จ พริกไทยเม็ดนิวเดียวเคี้ยวยังร้อน

บทนี้พูดถึงการเห็นดีเห็นงามตามเจ้านาย ต่อให้เราไม่เห็นด้วยก็ต้องเก็บไว้ข้างใน เพื่อให้ไม่เดือดร้อนตนเองเพราะหากเดือดร้อนขึ้นมาต่อให้เป็นเรื่องเล็กเหมือนพริกไทยเม็ดเดียวก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ 

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย

ตัวอย่างสถานการณ์ที่ไม่กล้าถกเถียงผู้มีอำนาจมากกว่า (ขอบคุณภาพจาก GIPHY)

จะเห็นได้ว่าคนไทยในยุคสมัยนั้น มีระยะห่างเชิงอำนาจระหว่างเจ้านายกับลูกน้องที่สูงมาก ซึ่งสังคมในลักษณะนี้จะเอื้อต่อระบบอุปถัมภ์ เพราะอำนาจรวมอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งคนที่เป็นพรรคพวกหรือชนชั้นเทียบเท่ากับคนกลุ่มนั้นจะได้รับอภิสิทธิ์บางอย่างมากกว่าคนอื่น ๆ โดยที่ลูกน้องหรือคนที่มีสถานะด้อยกว่าไม่สามารถโต้แย้ง เรียกร้องความเท่าเทียมกันได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะในสมัยนั้น ยังไม่มีการเลิกทาส มีระบบชนชั้นศักดินา และไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนัก เลยอาจจะยอมรับเรื่องความไม่เท่าเทียมนี้ได้มากกว่าในปัจจุบันและเกิดคำสอนอย่างกลอนในวรรคนี้ขึ้นมา

ในขณะที่ยุคปัจจุบันผู้คนมองโลกต่างออกไป เพราะมีทั้งการสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียม ประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นความถูกต้องหรือการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ จึงอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและเนื้อหาที่พูดคุยกันมากกว่าตัวบุคคล 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่าคำสอนในอิศรญาณภาษิตทั้งหมดจะไม่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพราะยังมีบางเรื่องที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ เช่น การคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ การไม่คิดร้ายกับผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น เพียงแต่ตัวอย่างที่ยกมาในบทความนี้ต้องการนำเสนอประเด็นที่สะท้อนภาพสังคมในอดีต ซึ่งแตกต่างจากยุคปัจจุบันอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า

เมื่อเราอ่านหนังสือหรือวรรณคดีต่าง ๆ นอกจากจะต้องอาศัยทักษะทางภาษาเพื่อการตีความแล้ว ยังต้องอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจเชื่อ หรือนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
(ขอบคุณภาพจาก GIPHY)

แต่ ๆ ๆ ถ้าส่วนไหนที่ไม่ได้ตรงกับสังคมที่เราอยู่หรือยุคสมัยในปัจจุบัน เพื่อน ๆ ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่าคำสอนนั้นผิด หรือคิดว่าคนที่พูดแบบนั้นแปลก เพียงแต่เราต้องทำความเข้าใจว่าทำไมคนแต่งจึงคิดหรือเชื่อแบบนั้น เพราะอาจจะมาจาสภาพสังคม ค่านิยมและเงื่อนไขในสถานการณ์ที่ผู้เขียนเผชิญอยู่ก็ได้นะเออ

นอกจากบทความนี้แล้ว ยังมีเรื่องราวนอกบทเรียนสนุก ๆ ให้เพื่อน ๆ ติดตามกันต่อได้ ทั้งบทความใน Blog StartDee ของเราเช่นเรื่อง ‘แฮมทาโร่’ จากป๊อปคัลเจอร์ สู่สัญลักษณ์ทางการเมือง หรือชูสามนิ้วคืออะไร เหตุการณ์ในประเทศไทยและความหมายของ 3 Fingers Salute รวมไปถึงบทเรียนในแอปพลิเคชัน StartDee แบบนี้ต้องลองโหลดมาเรียนกันบ้างแล้วล่ะ !

Reference

Kasuya, M. (2008). Classroom interaction affected by power distance. Language Teaching Methodology and Classroom Research and Research Methods.

Hofstede Insights. (n.d.). Country Comparison. Retrieved September 18, 2020, from https://www.hofstede-insights.com/country-comparison/south-korea,thailand,the-usa/

Kenton, W. (2020, August 28). What Is the Power Distance Index (PDI)? Retrieved September 18, 2020, from https://www.investopedia.com/terms/p/power-distance-index-pdi.asp

ดุลยา จิตตะยโศธร. (2008). Sex Roles: A Psychological Perspective. University of the Thai Chamber of Commerce Journal.