มาตรฐานการเขียนแบบเครื่องกล

เขียนแบบเครื่องกลพื้นฐาน (Mechanical Drawing Foundation)

แบบงาน คือภาษาทางวิศวกรรมภาษาหนึ่งที่ผู้ทำงานใช้สื่อสารข้อมูลในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบ และผู้ใช้แบบ แบบผลิตภัณฑ์ใช้เป็นการสื่อสารระหว่างองค์กรที่ทำการซื้อขาย ใช้เป็นข้อตกลงด้านคุณสมบัติและคุณภาพผลิตภัณฑ์ แบบสั่งงานยังคงใช้สื่อสารการทำงานภายในองค์กรเพื่อให้ทำงานได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าด้วย การศึกษาการ เขียนแบบเครื่องกลพื้นฐาน จึงมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน

  • มาตรฐานการเขียนแบบแบบเครื่องกล

  • ขนาดกระดาษ และแบบฟอร์ม

  • สเกลของแบบ

  • เส้นและตัวอักษร

  • เครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบ

  • สรุป

มาตรฐานการเขียนแบบแบบเครื่องกล

เป็นการกำหนดมาตรฐานที่ใช้เป็นข้อตกลงในการเขียนแบบ อ่านแบบ เพื่อให้การสื่อสารถูกต้องตรงกันระหว่างผู้ออกแบบ และผู้ใช้แบบ ประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมจึงมักออกมาตรฐานเป็นของตัวเอง เพื่อใช้สื่อสารในการขยายธุรกิจไปในประเทศอื่นๆ ที่ไปลงทุน

ตัวอย่างมาตรฐานในต่างประเทศ

  1. อเมริกา American National Standards Institute (ANSI)
  2. อังกฤษ British Standards Institution (BSI)
  3. เยอรมัน Deutsches Institute fuer Normung (DIN)
  4. สหภาพยุโรป European Standards (EN)
  5. ญี่ปุ่น Japanese Industrial Standards (JIS)
  6. มาตรฐานสากล International Organization for Standardization (ISO)

มาตรฐานในประเทศไทย คือ มอก. แต่มาตรฐานที่พบส่วนใหญ่คือ มาตรฐานญี่ปุ่น เยอรมัน และมาตรฐานสากล ISO ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ขนาดกระดาษ และแบบฟอร์ม

ขนาดกระดาษ

มาตรฐาน DIN476 ได้กำหนดขนาดกระดาษไว้ 7 ขนาด คือ A0, A1, A2, A3, A4, A5, และ A6 การเลือกใช้กระดาษควรพิจารณาการบอกรายละเอียดให้ครบในแบบสั่งงาน

มาตรฐานการเขียนแบบเครื่องกล

รูปขนาดกระดาษ A0 ; 841 x 1189 mm

  1. A0 = 841 x 1,189 มิลลิเมตร
  2. A1= 594 x 841 มิลลิเมตร
  3. A2= 420 x 594 มิลลิเมตร
  4. A3= 297 x 420 มิลลิเมตร
  5. A4= 210 x 297 มิลลิเมตร
  6. A5= 148 x 210 มิลลิเมตร
  7. A6= 105 x 148 มิลลิเมตร

แบบฟอร์ม

การเขียนแบบเครื่องกลบนกระดาษขนาดต่างๆ ต้องมีกรอบโครงร่าง(Frame) กรอบชื่อแบบ(Title Block) ใช้กำหนดรายละเอียดของแบบ

1 เส้นกรอบ(Frame)

ใช้กำหนดขอบพื้นที่กระดาษเขียนแบบเครื่องกล โดยเส้นกรอบควรมีความหนาไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างขอบของกระดาษ และกรอบควรกำหนดให้อยู่ในช่วง 10 – 20 มิลลิเมตร หรือมากกว่ากรณีใช้สำหรับเข้าเล่มในบางด้าน

2 บล็อกชื่อแบบ (Title Block)

ในกรอบบนกระดาษเขียนแบบเครื่องกลต้องสร้างบล็อกสำหรับระบุข้อมูลสำคัญไว้ขวามือด้านล่าง ดังนี้ ชื่อแบบ, หมายเลขแบบ, ชื่อบริษัทหรือองค์กร, ผู้เขียน, ผู้อนุมัติ, วันที่เขียนแบบ, สเกล, และเทคนิคการฉายภาพ เป็นต้น

สเกลของแบบ

สเกล (Scale) คือ สัดส่วนระหว่างขนาดรูปในแบบต่อขนาดจริงของชิ้นงาน การเขียนแบบจากชิ้นงานส่วนมากจะไม่สามารถเขียนเท่าขนาดจริงได้ จากสาเหตุชิ้นงานมีขนาดใหญ่ หรือเล็กเกินไป ต้องการแสดงรายละเอียดชิ้นงานจึงต้องขยายรูปเพื่ออธิบาย เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านแบบ ตัวเลขในแบบจึงใช้ตัวเลขขนาดจริงในการบอกขนาดเสมอ และกำหนดสเกลที่เป็นอัตราส่วนของรูปในแบบกับชิ้นงานในกรอปชื่อแบบแทน

หลักในการใส่สเกล

  1. ใส่สเกลหลักเพียงอย่างเดียวใน กรอบชื่อแบบ(Title Block)
  2. กรณีมีสเกลอื่นในแบบให้กำหนดสเกลเฉพาะรูปนั้นในแบบเครื่องกล เช่นบริเวณภาพตัดที่มีการขยายมากกว่าสเกลหลัก เป็นต้น

การแสดงสเกล

  1. ขนาดสเกลจริง 1:1 เป็นการแสดงขนาดรูปในแบบเท่ากับชิ้นงาน
  2. ขนาดสเกลขยาย 2:1 เป็นการแสดงขนาดรูปในแบบใหญ่กว่าชิ้นงานหนึ่งเท่า
  3. ขนาดสเกลย่อ 1:2 เป็นการแสดงขนาดรูปในแบบเล็กกว่าชิ้นงานหนึ่งเท่า

สเกลแนะนำ (JIS B 0001-2000)

  1. ขนาดสเกลจริง คือ 1:1 กำหนดได้แบบเดียว
  2. ขนาดสเกลขยาย 2:1, 5:1, 10:1, 20:1, 50:1
  3. ขนาดสเกลย่อ 1:2, 1:5, 1:10, 1:20, 1:50, 1:100, 1:200, 1:500, 1:1000, 1:2000, 1:5000, 1:10000

เส้นและตัวอักษร

ความแตกต่างของเส้นแต่ละชนิดมีความจำเป็นต่อการสื่อสารของแบบเครื่องกลเป็นอย่างมาก การใช้เส้นผิดในบางกรณีอาจทำให้ผู้ใช้แบบสับสน และปฏิบัติตามไม่ตรงกับผู้ออกแบบ

ความหนาของเส้น

ความหนาของเส้นอาจแบ่งได้ 3 ชนิด คือ เส้นบาง เส้นหนา และเส้นหนาพิเศษ โดยมีอัตราส่วนความหนาเป็น 1 : 2 : 4 เช่น ใช้ความหนา 0.13 : 0.25 : 0.50 มิลลิเมตร

มาตรฐานการเขียนแบบเครื่องกล

การใช้งานของเส้นในการเขียนแบบ

  1. เส้นเต็มบาง ใช้เป็นเส้นกำหนดขนาด, ชี้เพื่ออธิบายรายละเอียด, เส้นเส้นแสดงลายตัดของพื้นที่
  2. เส้นเต็มหนา ใช้เป็นเส้นขอบรูปชิ้นงานที่มองเห็น แนวเชื่อม
  3. เส้นประหนา ใช้เป็นเส้นขอบรูปชิ้นงานที่มองไม่เห็น เส้นขอบวัตถุโปร่งใส
  4. เส้นศูนย์กลางบาง ใช้เป็นเส้นบอกศูนย์กลางของชิ้นงาน คำสั่งเพิ่มเติม
  5. เส้นศูนย์กลางหนา ใช้เป็นเส้นแสดงแนวตัด เขตการทำงานพิเศษเช่น ชุบแข็ง ขัดมัน
  6. เส้นมือเปล่า ใช้เป็นเส้นรอยตัดย่น หรือรอยตัดแตก

ตัวอักษร

ข้อมูลที่สำคัญของแบบเครื่องกลส่วนใหญ่คือตัวอักษรที่กำหนดค่าต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ไว้ในแบบที่ทำการสื่อสารการกำหนดค่าหรือขนาดต่างๆ ดังนั้นตัวอักษรจึงต้องกำหนดให้มีมาตรฐานที่ทำให้อ่านได้ชัดเจน มาตรฐาน ISO กำหนดให้อักษรมีความสูงอักษรตัวใหญ่ 2.5, 3.5, 5, 7, 10, 14, 20 และอักษรตัวเล็ก (7/10)คูณกับความสูงตัวอักษร และช่องว่างระหว่างอักษร 0.1คูณกับความสูงตัวอักษร ช่องเว้นวรรค 0.6คูณกับความสูงตัวอักษร กรณีอักษรเอียงกำหนดไว้ 15 องศา

เครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบ

มาตรฐานการเขียนแบบเครื่องกล

การเขียนแบบในอดีตต้องใช้การเขียนแบบด้วยมือ จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างมากจึงจะได้แบบที่มีขนาดและสเกลที่ถูกต้อง แต่ในปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการเขียนแบบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่ามาก

อุปกรณ์เขียนแบบด้วยมือ

อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบด้วยมือ ได้แก่ โต๊ะเขียนแบบ ไม้บรรทัด วงเวียน สเกล บรรทัดองศา แผ่นเทมเพลตสำหรับเขียนรูปทรงมาตรฐาน แผ่นกันลบ แปรงปัดฝุ่น เป็นต้น

อุปกรณ์เขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์

การเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD ; Computer Aided Design) อุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเขียนแบบซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายบริษัทให้บริการ

สรุป

การศึกษาการ เขียนแบบเครื่องกลพื้นฐาน มีความสำคัญมากสำหรับการเขียนแบบเครื่องกล และผู้ใช้แบบที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อการสื่อสารที่ไม่มีข้อผิดพลาด เช่นมาตรฐานการเขียนแบบ เส้นและตัวอักษร สเกลของแบบ แบบฟอร์ม ขนาดกระดาษ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบ ที่ต้องเข้าใจและใช้ได้อย่างชำนาญเหมือนภาษาพูดที่ใช้สื่อสาร ก็จะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

https://en.wikipedia.org/wiki/Mechanical_systems_drawing#Assembly_drawing

เข้าสู่ระบบ