มหา เวสสันดร ชาดก กัณฑ์ มั ท รี มีความ ดี เด่น ในด้านใด

๑.       การใช้ธรรมชาติเปรียบกับความทุกข์โศกของพระนางมัทรี

เนื้อหากัณฑ์มัทรีนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับพระนางมัทรีอย่างชัดเจน สภาพธรรมชาติที่แตกต่างไปจากปกติ แสดงให้เห็นว่าเป็นลางบอกเหตุแก่พระนางมัทรีว่าจะเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้น ดังว่า

                “…เหตุไฉนไม้ที่มีผลเป็นพุ่มพวง ก็กลับกลายเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร แถวโน้มก็แก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง ถัดนั่นก็สายหยุดประยงค์และยมโดย พระพายก็พัดร่วงโรยรายดอกลงมูนมอง แม่ยังได้เก็บเอาดอกมาร้อยกรองไปฝากลูกเมื่อวันวาน ก็เพี้ยนผิดพิสดารเป็นพวงผลผิดวิกลแต่ก่อนมา (สพฺพามุยฺหนฺติ เม ทิสา) ทั้งแปดทิศก็มืดมนทุกหนแห่ง ทั้งขอบฟ้าก็ดาษแดงเป็นสายเลือดไม่วนนวายหายเหือดเป็นลางร้ายไปรอบข้าง…” และ

“…โอ พระอาศรมเจ้าเอ๋ยน่าอัศจรรย์ใจ  แต่ก่อนดูนี่สุกใสด้วยสีทอง  เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขัน  ทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ  ระเรื่อยโรย  โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร โอ…เหตุไฉนเหงาเงียบเมื่อยามนี้  ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสหมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก  เออ  ชะรอยว่าพระเจ้าลูกจะวิโยคพลัดพรากไปจากอกพระมารดาเสียจริงแล้วกระมังในครั้งนี้…”

                ลักษณะธรรมชาติมีอารมณ์ร่วมทุกข์ในตัวละครมักปรากฏในวรรณคดีไทยถือเป็นกลวิธีการแต่งประการหนึ่งที่เน้นย้ำความทุกข์และความเศร้าโศรกของตัวละครหรืออการที่ตัวละครใช้ธรรมชาติเป็นที่ระบายความทุกข์  เช่น

 “…จึ่งตรัสว่าน้ำเอ๋ยเคยมาเปี่ยมขอบเป็นไรจึ่งขอดข้นลงขุ่นหมองพระพายเจ้าเอ๋ยเคยมาพัดต้องกลีบอุบล  พากกลิ่นสุคนธ์ขจรรสมารวยรื่นเป็นไรจึ่งเสื่อมหอมหายชื่นไม่เฉื่อยฉ่ำฝูงปลาเอ๋ยเคยมาผุดคล่ำดำแฝงฟองบ้างก็ขึ้นล่องว่ายเลื่อนชมแสงเดือนอยู่พราย ๆ  เป็นไรจึ่งไม่ว่ายเวียน  นกเจ้าเอ๋ยเคยบินลงไล่จิกเหยื่อทุกเวลา  วันนี้แปลกเปล่าตาแม่แลไม่เห็น…”

.   การเล่นเสียง

๒.๑ การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะเสียงเดียวกันต่อๆ กันหลายคำ เช่น

“ ก็กลายเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร”

“ สะดุ้งพระทัยไหวหวาดวะหวีดวิ่งวนแวะเข้าข้างทาง    พระทรวงนางสั่นระรัวริกเต้นดั่งตีปลา”

“ พระองค์เห็นพิรุธร่องรอยร้าวรานที่ตรงไหน  ทอดพระเนตรสังเกตไว้แต่ปางก่อนจึงเคือง ค่อนด้วยคำหยาบยอกใจเจ็บจิตเหลือกำลัง”

“ พระพายรำเพยพัดมาฉิวเฉื่อย  เรไรระรี่เรื่อยร้องอยู่หริ่งๆ”

“ ครั้นจะลีลาหลีกตัดเดาไปทางใดก็เหลือเดิน  ทั้งสองข้างเป็นโขดเขินขอบคันขึ้นกั้นไว้”

๒.๒ การเล่นเสียงสัมผัสสระ  ที่เป็นเสียงเสนาะอันเกิดจากการเล่นเสียงสระ เช่น

“ นางก็ถึงวิสัญญีสลบลงตรงหน้าฉาน  ปานประหนึ่งว่าพุ่มฉัตรทองอันต้องสายอัสนีฟาดระเนนเอนก็ล้มลงตรงหน้าพระที่นั่งเจ้า  นั้นแล”

๒.๓  การเล่นทั้งเสียงสัมผัสพยัญชนะและสระ เช่น

“ แม่ยังกลับหลังมาโลมลูบจูบกระหม่อมจอมเกล้าทั้งสองเรา”

“ เจ้าเคยเคียงเรียงเคียงหมอนนอนแนบข้างทุกราตรี”

“ โอ้แม่อุ้มท้องประคองเคียงเลี้ยงเจ้ามาก็หมายมั่น”

๓. การเล่นคำ

มีการเล่นคำที่เรียกว่า “สะบัดสะบิ้ง” ซึ่งจะคำแบ่งคำออกเป็นสองกลุ่มเท่าๆ กัน แล้วซ้ำคำเดียวกันที่มีเสียงสระสั้นในพยางค์หน้า ส่วนพยางค์หลังเล่นเสียงพยัญชนะเดียวกันแต่ต่างเสียงสระกัน ก่อให้เกิดจังหวะคำที่ไพเราะ เช่น คำว่า “สะอึกสะอื้น” ในข้อความว่า “พระนางยิ่งหมองศรีโศกกำสรดสะอึกสะอื้น” และคำว่า “ตระตรากตระตรำ” ในข้อความว่า “อุตสาหะตระตรากตระตรำเตร็ดเตร่หาผลาผลไม้” และการเล่นคำซ้ำดังนี้

                “…ควรจะสงสารเอ่ยด้วยต้นหว้าใหญ่ใกล้อาราม งามด้วยกิ่งก้านประกวดกัน ใบชอุ่มเป็นชุ่มช่อเป็นฉัตรชั้นดั่งฉัตรทอง แสงพระจันทร์ดิ้นส่องต้องน้ำค้างที่ขังให้ไหลลงหยดย้อย เหมือนหนึ่งน้ำพลอยพร้อยๆ อยู่พรายๆ … พระพายรำเพยพัดมาฉิวเรื่อย เรไรระรี่เรื่อยร้องอยู่หริ่งๆ”

 ๔.  การใช้ภาพพจน์

                ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรีเป็นกัณฑ์ที่มีความไพเราะเป็นอย่างยิ่งอีกทั้งการใช้ถ้อยคำสละสลวยทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพด้วยการเลือกสรรความเรียงลักษณะต่างๆ โดยสื่อผ่านภาพพจน์ในหลายลักษณะ คือ

๔.๑ การใช้ภาพพจน์แบบอุปมาเป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง เช่น

เปรียบเทียบพระทัยเต้นระทึกของพระนางมัทรีกับกายอันสั่นรัวของปลาที่ถูกตี ดังปรากฏในเนื้อความว่า “พระทรวงนางสั่นระริกดั่งตีปลา” เปรียบความเจ็บปวดพระทัยของนางมัทรีที่พระเวสสันดรไม่ยอมตรัสตอบว่าราวกับถูกแทงด้วยเหล็กเผาไห หรือมิเช่นนั้นก็ราวกับแพทย์เอายาพิษให้คนไข้ที่มีอาการหนักอยู่แล้วกิน ทำให้อาการทรุดเพียบหนักลงไปอีก ซึ่งคงจะรอดชีวิตได้ยาก ดังปรากฏในเนื้อความว่า “นางก็เศร้าสร้อยสลดพระทัยดั่งเอาเหล็กแดงมาแทงใจให้เจ็บจิตนี่เหลือทน อุปมาเหมือนคนไข้หนักมิหนำยังแพทย์เอายาพิษมาวางซ้ำให้เวทนา เห็นชีวานี้คงจะไปไม่รอดสักกี่วัน”

                        “…พ่อชาลีเจ้าเลือกเอาผลไม้ แม่กัณหาฉะอ้อนวอนไหว้จะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลางฉอเลาะแม่นี้ต่างๆ ตามประสาทารกเจริญใจ (วจฺฉา พาลาว มาตรํ) มีอุปไมยเสมือนหนึ่งลูกทรายทรามคะนอง”

                        “…โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร โอ เหตุไฉนเหงาเงียบเมื่อยามนี้ ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก”

                        “…ทั้งลูกรักดั่งแก้วตาก็หายไป อกเอ๋ยจะอยู่ไปไยให้ทนเวทนา อุปมาเสมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ย่อมจะอาสัญลงเพราะลูกเป็นเที่ยงแท้…”

                ๔.๒ การใช้ภาพพจน์แบบอุปลักษณ์เป็นการเปรียบว่าอีกสิ่งหนึ่ง   “เป็น” หรือ “คือ” อีกสิ่งหนึ่ง เช่น

         “หวังว่าจะเป็นเกือกทองฉลองบาทยุคลทั้งคู่แห่งพระคุณผัว”

                         “ก็น้ำใจของมัทรีนี้กตเวทีเป็นไม้เท้าก้าวเข้าสู่ทางทดแทน”

                ๔.๓ การใช้ภาพพจน์แบบสัทพจน์เป็นการเลียนเสียง

นอกจากนี้ยังมีการใช้สัทพจน์หรือคำเลียนเสียง ทำให้ข้อความมีชีวิตชีวานิ่งขึ้น เช่น

                         “แต่ย่างเหยียบเกรียบกรอบก็เหลียวหลัง”

                         “สมเด็จอรไทเธอเที่ยวตะโกนกู่กู๋ก้อง”

                         “เสียงนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขันทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย”

๔.๔ การใช้ภาพพจน์แบบบุคลวัต เป็นการใช้ภาพพจน์ที่มีชีวิตที่มิใช่มนุษย์และสิ่งไม่มีชีวิต ทำกิริยาอาการเลียนแบบมนุษย์ เช่น

“ได้ยินแต่เสียงดุเหว่าละเมอร้องก้องพนาเวศ”

                         “ทั้งพื้นป่าพระหิมพานต์ก็ผิดผันหวั่นไหวอยู่วิงเวียน”

                         “เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขัน”