โคลงโลกนิติสอนให้เราปฏิบัติตนอย่างไร

ความหมายของโคลงโลกนิติ
โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมประเภทคำสอน ในลักษณะของโคลงสุภาษิต คำว่า โลกนิติ (อ่านว่า โลก-กะ-นิด) แปลว่า ระเบียบแบบแผนแห่งโลก
เนื้อหาในโคลงโลกนิติจึงมุ่งแสดงความจริงของโลกและสัจธรรมของชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทันต่อโลก และเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต พร้อมเป็นแม่แบบเพื่อให้ผู้อ่านได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงามสืบไป
โคลงโลกนิติมีความไพเราะเหมาะสมทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาปรัชญาสาระ ครบคุณค่าทางวรรณกรรม ทำให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป บางท่านกล่าวยกย่องโคลงโลกนิติว่าเป็น อมตะวรรณกรรมคำสอน หรือ ยอดสุภาษิตอมตะ, ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นบทอ่านในหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาอยู่ทุกยุคสมัย และได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน

สารบัญ Show

  • โคลงโลกนิติสอนให้เราปฏิบัติตนอย่างไร
  • โคลงโลกนิติบทนี้สอนเรื่องใด
  • โคลงโลกนิติบาทใดสอนให้รู้จักประมาณตน
  • โคลงโลกนิติมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

ประวัติของโคลงโลกนิติ
• สำนวนเก่า
โคลงโลกนิติเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยนักปราชญ์ในสมัยนั้นได้คัดเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท และ พระไตรปิฎก เป็นต้น มาถอดความแล้วเรียบเรียงแต่งเป็นโคลงโลกนิติ
• ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ฯ) ในปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ก็มีดำริให้จารึกวิชาการสาขาต่างๆ ไว้บนแผ่นศิลาที่ประดับไว้ตามเสาหรือกำแพงพระวิหาร ในการนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศร (ต่อมาได้ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร) ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่าให้ประณีตไพเราะยิ่งขึ้น เพื่อจารึกไว้ในคราวเดียวกัน
จำนวนโคลงโลกนิติที่ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยมีทั้งสิ้น ๔๐๘ บท แต่ที่จารึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ แผ่นละบท มี ๔๓๕ แผ่น (รวมโคลงนำ ๒ บท) คาดว่ามีโคลงที่แต่งเพิ่มเติมเพื่อให้พอดีกับพื้นที่จารึก
• สำนวนอื่น
o ปี พ.ศ. ๒๓๘๕ โลกนิติคำฉันท์ แต่งเป็นคำฉันท์โดย ขุนสุวรรณสารวัด
o ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ โลกนิติคำโคลง อีกสำนวน เข้าใจว่าแต่งโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
• ฉบับชำระ
ภายหลังมีการรวบรวม สอบทาน และจัดพิมพ์เผยแพร่โคลงโลกนิติ ดังนี้
o หนังสือสอนอ่านฯ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง
รวบรวม สอบทาน และจัดพิมพ์โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียน โดยนำโคลงที่สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระไว้ ๔๐๘ บท ที่ปรากฏในต้นฉบับสมุดไทย (รวมโคลงนำ ๒ บท โคลงส่งท้าย ๒ บท และโคลงที่ซ้ำกันอยู่ ๕ บท) มาพิมพ์ร่วมกับโคลงอีก ๓๐ บท ที่พบในแผ่นศิลาวัดพระเชตุพนฯ
o ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
หอสมุดแห่งชาติจัดพิมพ์โคลงโลกนิติที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ร่วมกับโคลงโลกนิติสำนวนเก่าที่มีการค้นพบเป็นจำนวนมากจากหอพระสมุดวชิรญาณ พร้อมระบุคาถาอันเป็นที่มาของโคลง และจัดรวบรวมกันเป็นชุดๆ ได้โคลงภาษิตรวม ๕๙๓ ชุด จำนวน ๙๑๑ บท (ไม่รวมโคลงนำ ๒ บท และโคลงส่งท้าย ๒ บท) พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐
o ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ
เป็นฉบับที่คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ นำต้นฉบับ หนังสือสอนอ่านฯ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง และ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาสอบทาน แก้ไขอักขระ ตัดโคลงที่ซ้ำซ้อน เพิ่มเติมคาถา จัดทำคำอธิบายศัพท์ และจัดหมวดหมู่ใหม่ในโคลงบางชุด ทำให้ได้โคลงภาษิตรวม ๕๙๔ ชุด จำนวน ๙๐๒ บท (รวมโคลงนำ ๒ บท และโคลงส่งท้าย ๔ บท) พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓
• ฉบับคัดลอก ที่น่าสนใจ เช่น
o กระทรวงศึกษาธิการ คัดโคลงบางบท บรรจุลงเป็นบทเรียนอ่านหนึ่งใน หนังสือแบบเรียน วิชาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษา
o โคลงโลกนิติ ฉบับถอดความ ถอดความโดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อ้างจาก ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ ทั้ง ๔๓๕ บท แต่ละบทประกอบด้วย บทโคลง, บทแปลคำศัพท์, บทถอดความ

ที่มาของโคลงโลกนิติ
โคลงโลกนิติเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มีทั้งที่เขียนเป็น
ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ที่เขียนเป็นภาษาบาลี คือ คัมภีร์โลกนิติ (โลกนิติปกรณ์) ธรรมนีติ ราชนีติ
ธรรมบท ชาดก และที่ไม่ทราบอีก ส่วนที่เขียนเป็นภาษาสันสกฤต คือ จาณักยศตกะ วยาการศตกะ
และ หิโตปเทศ ในจำนวนนี้คัมภีร์ที่เป็นที่มาที่สำคัญที่สุด คือ คัมภีร์โลกนิติซึ่งได้เป็นที่มาของโคลงโลกนิติ
ถึง ๗๓ บท (โคลงโลกนิติที่นำมาเรียนมี ๔๒บท) และที่สำคัญรองลงไปก็คือ คัมภีร์ธรรมนีติ อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า คาถาใดในคัมภีร์โลกนิติที่เป็นที่มาของโคลงโลกนิติ คาถานั้นมักจะปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธรรมนีติเช่นกัน การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคัมภีร์โลกนิตินั้นได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ธรรมนีติ
ถึงแม้ว่าในบทส่งท้ายของโคลงโลกนิติจะแจ้งว่า มีจำนวนโคลงทั้งสิ้น ๔๐๘ บท แต่เมื่อสอบดูแล้วพบว่า
มีเพียง ๔๐๒ บท เท่านั้น ในจำนวนนี้ที่ทราบมาอย่างชัดเจนมีด้วยกันทั้งหมด ๑๕๓ บท ที่สันนิษฐานว่ามาจาก
คัมภีร์ต่างๆ มี ๒๙ บท ที่มีอุปมาอุปไมยจากชาดกหรือนิทานไทยแท้แต่โบราณมี ๕ บท ที่มีเนื้อความตรงกับ
วรรณคดีอื่นๆ ๖ บท ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของกวีมี ๑๐๙ บท ที่ปรากฏคาถาแต่ยังไม่ทราบที่มามี ๒๔ บท และที่ยังไม่ทราบที่มามี ๗๓ บท นอกจากนี้ก็ยังมีโคลงโลกนิติอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏในต้นฉบับตัวเขียน แต่ปรากฏอยู่ในประชุมจารึกวักพระเชตุพนฯ และประชุมโคลงโลกนิติ ซึ่งกรมศิลปากรเป็นผู้รวบรวม และอ้างว่าเป็นพระนิพนธ์ของกรมพระยาเดชาดิศรเช่นกัน ในกลุ่มนี้มีโคลงจำนวน ๓๑ บท ซึ่งสามารถทราบ
ที่มาได้ ในบรรดาที่มาของโคลงโลกนิตินั้น สังเกตได้ว่า คัมภีร์ภาษาบาลีนั้นมีอิทธพลต่อโคลงโลกนิติ
มากกว่าคัมภีร์สันสกฤต ส่วนชื่อของโคลงโลกนิติ เพราะเหตุที่มาจากคัมภีร์โลกนิติในชั้นแรก
จึงใช้ชี่อว่าโลกนิติตามชื่อคัมภีร์ซึ่งเป็นที่มา ต่อมาเมื่อมีการแต่งโคลงโดยอาศัยคัมภีร์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก คัมภีร์โลกนิติก็มิใช่เป็นคัมภีร์เดียวที่เป็นที่มาของโคลงโลกนิติ อนึ่ง มีโคลงโลกนิติจำนวนมากที่เกิดจาก
การสร้างสรรค์ของกวี ดังนั้น ชื่อของโคลงโลกนิติจึงน่าจะมีความหมายในวงกว้างว่า ชี้ หรือ แนะ (ประโยชน์)
ให้แก่โลก

ลักษณะของโคลงโลกนิติ
โคลงโลกนิติเริ่มด้วยการยกโคลงแม่บทซึ่งเป็นโคลงที่แต่งถูกต้องตามข้อบังคับ เช่น เอก ๗ โท 4
ไม่มีเอกโทษ โทโทษ ไม่มีการใช้คำตายแทนเสียงเอก เป็นต้น
โคลงโลกนิติ แต่งได้ถูกต้องตามข้อบังคับของโคลง มีการใช้คำสัมผัสให้ไพเราะยิ่งขึ้นโดยใช้สัมผัสระหว่างคำสุดท้ายของวรรคแรกกับคำแรกของวรรคหลัง รวมทั้งสัมผัสภายในวรรคด้วย ขณะเดียวกันก็มีวิธีการรวบคำเพื่อให้ถูกต้องตามข้อบังคับด้วย
คุณค่าด้านต่างๆของโคลงโลกนิติ
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
กวีมีความฉลาดและแยบคายในการประพันธ์ให้ผู้อ่านเห็นภาพ และเกิดความซาบซึ้งในโวหารเปรียบเทียบ มีการเลือกสรรถ้อยคำที่ใช้อย่างประณีตบรรจง ใช้คำสั้นแต่มีความหมายลึกซึ้ง ไพเราะทั้งเสียง ทั้งจังหวะ และเมื่ออ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะก็ยิ่งจะได้รับรสของคำประพันธ์มากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างคำประพันธ์ต่อไปนี้

“ปลาร้าพันห่อด้วย ใบคา
ใบก็เหม็นคาวปลา คละคลุ้ง
คือคนหมู่ไปหา คบเพื่อน พาลนา
ได้แต่รายร้ายฟุ้ง เฟื่องให้เสียพงศ์”

จากคำประพันธ์ข้างต้นเป็นการใช้สัมผัสอักษรเล่นคำที่ทำให้เสียงไพเราะ มีจังหวะ ใช้คำง่ายๆ คมคาย ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพอย่างแจ่มชัดและจดจำคำกลอนได้ง่าย

การใช้โวหารภาพพจน์
โคลงโลกนิติมีการใช้โวหารภาพพจน์ลักษณะต่างๆ ที่ทำผู้อ่านได้เข้าถึงสาระของบทกวีดียิ่งขึ้น เช่น
ภาพพจน์อุปมา คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่งเพื่ออธิบายสิ่งนั้นให้ชัดเจนขึ้น เช่น
“นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งยโส แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี”
โคลงบทนี้มีการอุปมาหรือการเปรียบเหมือนว่า งูนั้นมีพิษมากมายมหาศาลเหมือนดวงอาทิตย์ที่มีแสงสว่างเป็นดวงพลังอันยิ่งใหญ่
ภาพพจน์อุปลักษณ์ เป็นการแสดงความเปรียบแสดงลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยการกล่าวถึงอีกสิ่งหนึ่งแทน เพื่อโยงไปถึงเรื่องที่ต้องการอธิบาย เช่น

“อย่าเอื้อมเด็ดดอกฟ้า มาถนอม
สูงสุดมือมักตรอม อกไข้
เด็ดแต่ดอกพะยอม ยามยาก ชมนา
สูงก็สอยด้วยไม้ อาจเอื้อมเอาถึง”

โคลงบทนี้ใช้อุปลักษณ์ในคำว่า ดอกฟ้า เปรียบเป็นสิ่งที่อยู่สูงยากที่จะเอื้อมถึง หากคิดจะเอื้อมก็อาจจะทำได้ลำบากหรือมีอุปสรรคมากมาย และเปรียบ ดอกพะยอม เป็นสิ่งที่อยู่ในระดับต่ำ
ลงมากว่าดอกฟ้า แม้มีอุปสรรคแต่ก็น่าจะฝ่าฟันไปได้ไม่อยาก ซึ่งอาจเป็นการกล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์ต้องการจะไขว่คว้ามาเป็นของตน เช่น ความรัก เป็นต้น
คุณค่าด้านเนื้อหา
โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีประเภทคำกลอน เป็นโคลงสุภาษิตเพื่อสอนให้เป็นคนดีปฏิบัติตนให้ถูกต้องในสังคม เป็นโคลงที่เข้าใจแก่นแท้และธรรมชาติของมนุษย์ทั้งทางโลก และทางธรรม เช่น
การใช้ทรัพย์ สอนให้รู้จักใช้ทรัพย์อย่างถูกวิธี ให้จัดสรรปันส่วนในการใช้จ่าย เช่น

“ทรัพย์มีสี่ส่วนไซร้ ปูนปัน
ภาคหนึ่งพึงเกียดกัน เก็บไว้
สองส่วนเบ็ดเสร็จสรรพ์ การกิจ ใช้นา
ยังอีกส่วนควรให้ จ่ายเลี้ยงตัวตน”

ลักษณะของคนดี สอนให้รู้ว่าคนดีควรมีลักษณะอย่างไร เช่น

“ให้ท่านท่านจักให้ ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปอง นอบไหว้
รักท่านท่านควรครอง ความรักเรานา
สามสิ่งนิ่งนี้เว้นไว้ แต่ผู้ทรชน”

ความรัก-ความชัง สอนให้รู้ถึงสัจธรรมของมนุษย์ว่า เมื่อรักกันอยู่ไกลเพียงไหนก็เหมือนใกล้ แต่เมื่อเกลียดชังถึงอยู่ใกล้ก็เหมือนห่างไกล ทั้งนี่เพราะ “ใจมนุษย์” เป็นผู้กำหนด เช่น

“รักกันอยู่ฟ้า เขาเขียว
เสมออยู่หอแห่งเดียว ร่วมห้อง
ชังกันบ่แลเหลียวตาต่อ กันนา
เหมือนขอบฟ้ามาป้อง ป่าไม้มาบัง”
คุณค่าด้านสังคม
โคลงโลกนิติเป็นโคลงที่มีคุณค่าต่อสังคมมาก เพราะเปรียบเสมือนเป็นกระจกส่องให้เห็นถึงพฤติกรรมของความเป็นมนุษย์ที่มีผลต่อสังคม โคลงโลกนิติจึงเปรียบเป็นคู่มือในการใช้ครองเรือนให้มีความสุข ดำรงตนเป็นคนดีอยู่ในสังคม
อย่างถูกทำนองคลองธรรม เนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องนี้จึงมีผลอย่างมากต่อผู้อ่านที่จะทำให้เข้าใจ
ถึงความรู้สึกนึกคิด หรือสารที่ผู้แต่งต้องการสื่อออกมา อันจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ของคนในสังคมให้ดีขึ้น
การนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน
โคลงโลกนิติเป็นวรรณคดีคำสอนซึ่งแสดงให้เห็นวิธีการใช้ชีวิตให้เป็นสุข และสามารถปฏิบัติตน
ให้อยู่ในกรอบที่ดีของสังคม สาระที่ปรากฏอยู่ในโคลงผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตได้ เช่น
การใฝ่ศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าในยุคสมัยใดการเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงควรขยันหมั่นเพียร เพราะความรู้ไม่มีใครสามารถขโมยไปได้และยังสามารถใช้เลี้ยงชีพของตนได้อีกด้วย ดังโคลงบทนี้
“ความรู้ดูยิ่งล้ำ สินทรัพย์
คิดค่าควรเมืองนับ ยิ่งไซร้
เพราะเหตุจักอยู่กับ กายอาต-มานา
โจรจักเบียนบ่ได้ เร่งรู้เรียนเอา”

การเลือกคบคน การดำรงอยู่ในสังคมย่อมพบเจอกับผู้คนมากมาย ยากที่จะรู้ว่าใครดีหรือร้าย
จากการตัดสินแค่ภายนอกเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาให้ถ่องแท้ก่อนจะตัดสินว่าเป็นคนเช่นไร ดังโคลงบทนี้

“ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้ มีพรรณ
ภายนอกแดงดูฉัน ชาดบ้าย
ภายในย่อมแมลงวัน หนอนบ่อน
ดุจดังคนใจร้าย นอกนั้นดูงาม”

ให้รู้จักปล่อยวาง บางสิ่งบางอย่างในโลกนี้เราก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้ เช่น การนินทา
ซึ่งอยู่คู่กับสังคมตลอดเวลา หากไม่รู้จักปล่อยวางเก็บคำนินทามาคิดก็อาจทำให้ชีวิตไม่เป็นสุข ดังนั้นเมื่อห้ามไม่ได้จึงควรปล่อยให้ผ่านเลยไปเพราะการนินทานั้นเป็นธรรมดาของโลก ดังโคลงบทนี้

“ห้ามเพลิงไว้อย่าให้ มีควัน
ห้ามสุริยแสงจันทร์ ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน คืนเล่า
ห้ามดั่งนี้ไว้ได้ จึ่งห้ามนินทา”

นอกจากนี้ยังมีคำสอนอื่นๆที่น่าสนใจอีก เช่น การให้รู้จักทำบุญกุศล ให้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา
อย่าเอาเปรียบเพื่อนพ้อง การเลือกคบเพื่อน และการรู้จักการให้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติตาม หากสามารถเรียนรู้ที่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตก็จะทำให้ได้ประโยชน์จากการอ่าน
วรรณคดีอย่างแท้จริง
คุณค่าโคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมคำสอนที่มีคุณค่ายิ่งในการครองตน ให้คติข้อคิดเตือนใจ รู้บาปบุญคุณโทษ
รู้ถูกผิด มีความเข้าใจได้ง่าย เสมือนกระจกเงาที่ส่องตัวตนของมนุษย์ เพื่อปลุกปลอบใจตนเองในยามตกทุกข์ได้ยาก ให้เกิดความมานะอดทนต่อสู้ขยันขันแข็งไม่ย่อท้อ ดังนั้นโคลงโลกนิติ เป็นเรื่องสุภาษิตที่ให้คุณค่าทั้งคติธรรม
และคติโลก ควรแก่การศึกษาและนำไปประพฤติเพื่อความสงบสุขของชีวิต
คุณค่าด้านวรรณศิลป์

โลกนิติ เป็นการประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ มีโคลงกระทู้บางบท มีการรักษาระเบียบแบบแผนถูกต้อง
ใช้คำที่เข้าใจง่าย มีการนำสำนวนโวหาร สุภาษิตมาเปรียบเทียบให้คิด

1. บทที่ไพเราะทั้งคำและความหมาย

.....เหมหงส์เลี้ยงชีพด้วย......สาคร
ช้างพึ่งพนาดร....................ป่าไม้
ภุมราบุษบากร.....................ครองร่าง ตนนา
นักปราชญ์เลี้ยงตัวได้..........เพื่อด้วยปัญญา

2. การใช้ภาษาที่ทำให้เกิดจินตภาพ
การใช้โวหารให้เกิดจินตภาพเป็นศิลปะการแต่งบทประพันธ์ที่นิยมกันมากมีอยูหลายบทในโคลงโลกนิติ เช่น

.....จระเข้ข้ามน่านน้ำ.............ไฉนหา ภักษ์เฮย
รถใหญ่กว่ารัถยา..................ยากแท้
เสือใหญ่กว่าวนา...................ไฉนอยู่ ได้แฮ
เรือเขื่องคับชะแลแล้..............แล่นโล้ไปไฉน

3. การใช้ภาษาที่เกินความเป็นจริง
กลวิธีนี้ทำให้เกิดความฉงนแล้ววกมาสั่งสอนให้สติเป็นศิลปะ

.....ห้ามเพลิงไว้อย่าให้............ มีควัน
ห้ามสุริยแสงจันทร์.................ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน........................คืนเล่า
ห้ามดั่งนี้ไว้ได้.........................จึ่งห้ามนินทา

4. การใช้ภาษาเปรียบเทียบกับสิ่งของใกล้ตัวให้เห็นจริง
เป็นการนำสิ่งของใกล้ตัวที่พบเห็นอยู่เสมอมาใช้เป็นคติเตือนใจ จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

.....แม้นมีความรู้ดั่ง.................สัพพัญญู
ผิบ่มีคนชู..............................ห่อนขึ้น
หัวแหวนค่าเมืองตรู.................ตาโลก
ทองบ่รองรับพื้น....................ห่อนแก้วมีศรี

5. การนำธรรมชาติมากล่าวเชิงเปรียบเทียบ
เป็นศิลปะที่กวีใช้ในการแต่งคำประพันธ์กันมากและเมื่อคิตตามจะทำให้เกิดความประทับใจ
และเห็นความเป็นจริงตามไปด้วย

.....ก้านบัวบอกลึกตื้น...............ชลธาร
มารยาทส่อสันดาร....................ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน...............ควรทราบ
หย่อมหญ้าเ***่ยวแห้งเรื้อ............บอกร้ายแสลงดิน

6. การใช้คำสำนวนไทยมาเป็นกระทู้
การนำคำสำนวนพังเพยมานำหน้าโคลง เป็นศิลปะการแต่งคำประพันธ์ที่เพราะกินใจมากเช่น สอนให้คน
ไม่ประมาท ให้มีสติ

.....ช้างสาร หกศอกไซร้.............เสียงา
งูเห่า กลายเป็นปลา..................อย่าต้อง
ข้าเก่า เกิดแต่ตา......................ตนปู่ ก็ดี
เมียรัก อยู่ร่วมห้อง..................อย่าไว้วางใจ
คุณค่าด้านค่านิยมทางสังคม

สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันเหมือนญาติ มีความเชื่อถือผู้ใหญ่กว่า มีความเกรงใจกัน เห็นใจกัน
และพึ่งพาอาศัยกันได้ ผู้ใหญ่จึงเมตตาว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดี เอื้ออาทร เอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่มักสอนเป็นนัย ให้คิดเพื่อแก้ไขตนเอง หรือหลีกเลี่ยงป้องกัน ในโคลงโลกนิติได้ตักเตือนเป็นเรื่องราวต่างๆ ดังนี้

1. เรื่องการศึกษาเล่าเรียน
ให้เห็นคุณค่าของความรู้ที่สูงส่งและไม่มีใครแย่งชิงไปได้

.....ความรู้ดูยิ่งล้ำ...................สินทรัพย์
คิดค่าควรเมืองนับ..................ยิ่งไซร้
เพราะเหตุจักอยู่กับ.................กายอาต มานา
โจรจักเบียนบ่ได้....................เร่งรู้เรียนเอา

2. เรื่องวาจาหรือคำพูด
ชี้ให้เห็นว่าคำพูดสามารถบอกถึงวงศ์ตระกูลของตนได้

.....วัดช้างเบื้องบาทรู้...............จักสาร
วัดอุทกชักกมุทมาลย์.................แม่นรู้
ดูครูสดับโวหาร.......................สอนศิษย์
ดูตระกูลเผ่าผู้.........................เพื่อด้วยเจรจา

3. เรื่องการให้และชมเชยผู้อื่นด้วยความปรารถนาดี
ในสังคมไทยเชื่อว่าถ้าให้ผู้อื่นแต่สิ่งดีๆแล้วย่อมได้รับสิ่งดีตอบสนอง ดังนี้

.....ให้ท่านท่านจักให้.................ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปอง...................นอบไหว้
รักท่านท่านควรครอง................ความรัก เรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้.........................แต่ผู้ทรชน

การยกย่องชมเชย ควรทำให้เหมาะกับเวลา โอกาสและบุคคล ดังนี้

.....ยอข้ายอเมื่อแล้ว.................การกิจ
ยอยกครูยอสนิท......................ซึ่งหน้า
ยอยาติประยูรมิตร...................เมื่อลับ หลังแฮ
คนหยิ่งแบกยศบ้า....................อย่ายั้งยอควร

4. เรื่องความเชื่อของคนในสมัยก่อน
คนไทยสมัยก่อนจะเห็นว่าการเป็นเจ้าคนนายคน มียศศักดิ์นั้นดีจึงต้องหาเจ้านายอุปถัมภ์ ซึ่งสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

.....เจ้านายใช้ชุบเลี้ยง..............คนขาม
สินทรัพย์มั่งเมียงาม................ง่ายได้
บ่าวไพร่พรั่งพรูตาม................ไหลหลั่ง มานา
สมบัติบุญส่งให้......................แปลกหน้าตาเดิม

5. การรักษาความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญมาก
คนไทยสมัยก่อนจะถือว่าเมื่อพูดแล้วจะต้องปฏิบัติตามให้ได้ดังที่พูด

.....เสียสินสงวนศักดิ์ไว้............วงศ์หงส์
เสียศักดิ์สู้ประสงค์..................สิ่งรู้
เสียรู้เร่งดำรง........................ความสัตย์ ไว้นา
เสียสัตย์อย่าเสียสู้...................ชีพม้วยมรณา
คุณค่าด้านการนำไปใช้ในชีวิต

โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมคำสอนที่ให้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม ทำในสิ่งที่ควรทำ
ละเว้นในส่วนที่ควรละเว้น จึงเป็นการควบคุมการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิด ประโยชน์ ทั้งด้านการศึกษา การประกอบอาชีพการงานอย่างพอเพียง และสอนด้านการทำจิตใจให้สงบสุข พอใจในสิงที่มีอยู่

1. ให้ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมกับวัย
สอนให้ปฏิบัติตนตั้งแต่เป็นเด็กจนวัยชราอย่างน่าสนใจ

.....ปางน้อยสำเหนียกรู้............เรียนคุณ
ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน.................ทรัพย์ไว้
เมื่อกลางแก่แสวงบุญ..............ธรรมชอบ
ยามหง่อมทำใดได้...................แต่ล้วนอนิจจัง

2. ให้เป็นคนมีความตั้งใจจริง
การทำสิ่งใดให้ทำอย่างสม่ำเสมอไม่ทอดทิ้ง ต้องใส่ใจฝึกฝนจึงจะเกิดความชำนาญและประสบความสำเร็จได้ดี

......เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม..............คนตรี
อักขระห้าวันหนี........................เนิ่นช้า
สามวันจากนารี.........................เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า...................อับเศร้าศรีหมอง

3. ให้เลือกคบคน
สอนไม่ให้คบคนชั่วจะทำให้เสียหายไปทั้งตระกูล และจะเป็นที่ตำหนิติเตียนไปไม่สิ้นสุด

.....คบกากาโหดให้...................เสียพงศ์
พาตระกูลแหมหงส์...................แหลกด้วย
คบคนชั่วจักปลง......................ความชอบ เสียนา
ตราบลูกหลานเหลนม้วย.............ไม่ม้วยนินทา

4. ไม่โอ้อวดหรืออวดความรู้ของตน
การโอ้อวดตนเองนั้นไม่เป็นผลดีทั้งตนเองและผู้อื่น เพราะไม่มีใครชอบและจะทำให้เกิดความอับอายภายหลังได้

.....นาคีมีพิษเพี้ยง..................สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช.......................แช่มช้า
พิษน้อยยิ่งยโส......................แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า......................อวดอ้างฤทธี

5. มีความกตัญญูรู้คุณจึงจะเจริญ
การรู้จักบุญคุณเป็นสิ่งที่ดียิ่ง

.....คุณแม่หนาหนักเพี้ยง...........พสุธา
คุณบิดรดุจอา.........................กาศกว้าง
คุณพี่พ่างศิขรา.......................เมรุมาศ
คุณพระอาจารย์อ้าง.................อาจสู้สาคร

6. ให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
ไม่โลภ อยากได้ อยากมีอย่างผู้อื่น รู้จักทำมาหากิน ใช้จ่ายอย่างประหยัดก็มีความสุขได้

.....เห็นท่านมีอย่าเคลิ้ม..............ใจตาม
เรายากหากใจงาม....................อย่าคร้าน
อุตส่าห์พยายาม.......................การกิจ
เอาเยี่ยงอย่างเพื่อนบ้าน............อย่าท้อทำกิน

7. ให้รู้จักเจียมตน ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ทำสิ่งที่เกินกำลังความสามารถของตน และทำเป็นไม่รู้เสียบ้างเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

.....เจียมใดจักเท่าด้วย..............เจียมตัว
รู้เท่าท่านทำกลัว.......................ว่อนไว้
อย่ามึนมืดเมามัว......................โมหะ
สูงนักมักเหมือนไม้...................หักด้วยลมแรง

8. สอนเรื่องความรัก
ให้ใช้สติไม่อาจเอื้อมเกินไปจะทำให้เกิดทุกข์แต่ก็ควรมีความพยายามอย่างพอควรบ้าง

.....อย่าเอื้อมเด็ดดอกฟ้า...........มาถนอม
สูงสุดมือมักตรอม...................อกไข้
เด็ดแต่ดอกพะยอม..................ยามยาก ชมนา
สูงก็สอยด้วยไม้......................อาจเอื้อมเอาถึง

9. ให้พึ่งตนเอง
อยู่อย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่น

.....ถึงจนทนสู้กัด....................กินเกลือ
อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ..................พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ.............สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง........................จับกินเนื้อเอง
คำศัพท์ที่ปรากฎในโคลงโลกนิติ
กาน้ำ = นกชนิดหนึ่งตัวสีดำเหมือนกา คอยาว ว่ายน้ำเหมือนเป็ดมักอยู่รวมกันเป็นฝูง คอยดำน้ำดักปลากินเป็นอาหาร
กาบก = อีกา
ขุก = พลัน ทันทีทันใด
ขุดขอด = ขุดคุ้ย ค่อนขอด
ต่างเทศ = ต่างบ้านต่างเมือง
ติดชายขอดไว้ = (น้ำเงิน) ติดตัวไปด้วย ขอดชายพกไปด้วย ขอดชายพก หมายถึง การนุ่งผ้าชิ้นหรือโสร่งแล้วขมวดชายบนตรงกลางตัวให้เหลือชายไว้สำหรับนำสตางค์ใส่ลงไปแล้วผูกไว้
โทษท่าน = ความผิดของผู้อื่น
ไทท้าวท่วยเทวา = เทวดาและผู้เป็นใหญ่ทั้งหลาย
แน่นเท้าวันตาย = แน่นแฟ้นมั่นคงตราบเท่าวันตาย
บนอื่น = บ่นเสียงดัง อื้น คือ เอื้อน พูด
ประมาทเหมือนดับไต = ชั่วร้ายฤาเห็นหากมีความประมาทก็เปรียบเสมือนดับไฟมืด สิ่งถูกสิ่งผิดจะมองเห็นหรือ
เป็นครู = เป็นบทเรียนสอนใจ เป็นการให้ความรู้
เป็นบรรทัด = มีความซื่อตรง
ไป่หมั้น = คือ ไป่มั่น หรือ ไม่แน่นหนา
ผ่อนเลี้ยงอาตมา = ได้ทยอยนำออกมาเลี้ยงตัว ได้ประทังชีวิต
พ่อ = คำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกชายที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนมหรือเอ็นดูรักใคร่

เพื่อ = เพราะ ด้วย
มฤษา = มุสา ไม่จริง เท็จ
มลน = ลนลาน
ร่วมไร้ = คู่กับความยากจน
ริรอบ = คิดอย่างรอบคอบ
วิชาเฉกยาติดขมขื่น = วิชาความรู้เปรียบดังยาซึ่งรักษาโรคได้แม้รสจะขมขื่น
สวะปะคอ = วัชพืชพันคอ
สายดิ่ง = เครื่องมือใช้สำหรับวัดระยะความลึก อาจทำด้วยเชือกผูกกับก้อนหิน ใช้หย่อนลงไปในน้ำหรือบ่อ
ส่ำ = หมู่ เหล่า
เสมอ = เท่าเทียมกับ เหมือนกับ ปานกับ
หมั่นปัญญา = ฝึกฝนใช้ปัญญา
หยิบบ่ศัพท์ = ฟังไม่ได้ศัพท์
หลับตาแต่ได้ = หลับหูหลับตาพูดไป
หึง = นาน
ให้พิจารณ์ = ความพิจารณาไตร่ตรอง
อย่าเปล่ากาย = อย่าไปตัวเปล่า
อย่าฟังดาย = อย่าฟังเปล่า ๆ หรือฟังอย่างไม่ตั้งใจ
สดับหมั้น = คือ สดับมั่น จำให้แม่นยำ มั่นคง

“โคลงโลกนิติ”.วิกิซอร์ซ.12สิงหาคม2553.มูลนิธิวิกิพีเดีย.21กันยาย2553.

“โคลงโลกนิติ”.วิดิพีเดีย.29เมษายน2553.มูลนิธิวิกิพีเดีย.21กันยายน2553.

นิยดา เหล่าสุนทร,ดร.“โคลงโลกนิติ”.S! Search ความรู้.
ไม่ปรากฎวันเดือนปีที่เผยแพร่.เว็บมาสเตอร์สนุก!.2กันยายน
2553.
ภาทิพย์ ศรีสุทธิ์.“โคลงโลกนิติ”.ห้องเรียนสีชมพู.25เมษายน2549.กลุ่มสาระ
เรียนรู้ภาษาไทยโรงเรียนสุราษฎร์ธานี.21กันยายน2553.

ศิลปากร,กรม.ประชุมโคลงโลกนิติ.พิมพ์ครั้งที่18.กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์บรรณาคาร,ปีที่พิมพ์2541.316หน้า
ศึกษาธิการ,กระทรวง.วิวิธภาษา.พิมพ์ครั้งที่5.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์
สกสค.ลาดพร้าว,2551.180หน้า

โคลงโลกนิติสอนให้เราปฏิบัติตนอย่างไร

โคลงโลกนิติ เป็นบทร้อยกรองที่ให้ทั้งความรู้และข้อคิด สอนให้รู้จักความดีความชั่ว การที่เราได้รับผลอย่างไรย่อมมีเหตุมาจากการกระทำของเราทั้งสิ้น ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดี ตอบแทน ผู้ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่วตอบแทน ผลที่เกิดจากการทำความชั่ว ย่อมกัดกร่อนใจ ซึ่งเปรียบได้กับสนิมกัดกร่อนเนื้อเหล็กให้ผุพัง ดังโคลงโลกนิติที่ว่า

โคลงโลกนิติบทนี้สอนเรื่องใด

โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักความดีความชั่ว การที่เราได้รับผลอย่างไรย่อมมีเหตุจากการกระทำของเราทั้งสิ้น ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน ส่วนผู้ทำชั่ว ผลที่เกิดจากการทำชั่วนั้น ย่อมกัดกร่อนใจซึ่งเปรียบได้กับสนิมกัดกร่อนเนื้อเหล็กให้ผุพังไป ดังที่ว่า สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน

โคลงโลกนิติบาทใดสอนให้รู้จักประมาณตน

โคลงบทที่ ๖๑ สอนให้รู้จักพิจารณาตนเองว่าเป็นใคร และแสดงให้เห็นภัยของการไม่รู้จักประมาณตน โดยยกตัวอย่างกวางที่กระโจนเข้าขวิดเสือมา กลางสมุทร มากล้ำลึกเหลือ ฯ สมเด็จกรมพระยาเดชาฯ เขาสูงอาจวัดวา จิตมนุษย์นี้ไซร้ าท โจมขวิด เลิศล้ำ โคลงบทที่ ๖๕ สอนให้ผู้มีชาติตระกูลดีรักษาเกียรติยศของตนยิ่งกว่าชีวิต

โคลงโลกนิติมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

เนื้อหาในโคลงโลกนิติจึงมุ่งแสดงความจริงของโลกและสัจธรรมของชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทันต่อโลก และเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต พร้อมเป็นแม่แบบเพื่อให้ผู้อ่านได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงามสืบไป