การตั้งประเด็นปัญหามีกี่ระดับ

IS1 - 1.2 การตั้งประเด็นปัญหาหรือคำถาม from Ploykarn Lamdual

การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เกิดจากความสนใจในเรื่องที่เป็นข้อสงสัยต้องการเรียนรู้ ข้อสงสัยจะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยวิธีการต่างๆ จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้ได้คำตอบของข้อสงสัย

ก่อนที่จะศึกษาค้นคว้าผู้เรียนจะต้องตั้งประเด็นปัญหาจากเรื่องที่ตนเองสนใจ เพื่อนำประเด็นปัญหาที่ตั้งขึ้นไปเป็นแนวทางในการกำหนดจุดมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ของการศึกษาต่อไป

การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง

การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง มีข้อดี ดังนี้

1.นักเรียนสามารถกำหนดหัวข้อหรือเนื้อเรื่องที่ต้องการศึกษาค้นคว้าได้เอง

2. นักเรียนสามารถกำหนดจังหวะของการศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

3. นักเรียนมีอิสระในการคิดหัวข้อของการศึกษาค้นคว้าตามความสนใจ ความถนัด และความต้องการของตนเอง

4. นักเรียนสามารถวางแผนการบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อเป้าหมายความสำเร็จด้วยตนเอง

5. นักเรียนมีโอกาสไดศึกษาค้นคว้าในเชิงลึกตามความต้องการและความสนใจของตนเอง

6. นักเรียนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหา ทักษะการทำงานเป็นทีม การช่วยเหลือแบ่งปัน ทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิดสร้างสรรค์และผลิตนวัตกรรม ทักษะการใช้ข้อมูลสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ตลอดจนทักษะชีวิตและการรู้จักพึงพาตนเอง

ข้อแนะนำในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง

การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ นักเรียนจะต้องรับผิดชอบในการงานทั้งหมดด้วยตนเอง บนพื้นฐานของความสนใจ ความถนัด และความต้องการของตนเอง ดังนั้นนักเรียนจึงจำเป็นต้องวางแผนและแบ่งเวลาในการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ และมีความชัดเจน ในเรื่องของ

1.เลือกหัวข้อในการศึกษาที่ตรงกับความสนใจ ความถนัดและความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง

2. ควรเตรียมการในการคัดเลือกหัวข้อหรือประเด็นปัญหาที่ตนเองสนใจตั้งแต่ต้นปีการศึกษา และดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด

3. ควรตัดสินใจเลือกหัวข้อหรือประเด็นปัญหาที่ส่งเสริมเป้าหมายการเรียนรู้ในปัจจุบันหรืออนาคต และเป็นประโยชน์ในการจัดทำแฟ้มสะสมผลงานเพื่อการนำเสนอความรู้ความสามารถของตนเองในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือการประกอบอาชีพ

4. เมื่อกำหนดหัวข้อหรือประเด็นปัญหาที่ตนเองสนใจศึกษาค้นคว้าได้แล้ว ควรนำเสนอความคิดต่อครูผู้สอนที่สนใจประเด็นที่นักเรียนกำหนด เพื่อเรียนเชิญเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและนักเรียนควรจัดแบ่งเวลาในการศึกษาค้นคว้ารายละเอียดของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหรือประเด็นปัญหาให้มากและครอบคลุมที่สุด

5. ควรจดโน้ตย่อสรุปเรื่องราว ข้อมูลสารสนเทศ พร้อมทั้งบรรณานุกรมของเอกสาร ตำราบทความวิชาการต่างๆ ที่ศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สำหรับการอ้างอิงในรายงานการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง

6. ในการเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองที่ดี นักเรียนควรจะมีสมุดบันทึก เพื่อจดบันทึกทั้งเอกสารอ้างอิงและข้อมูลการอ้างอิง

7. ควรพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจจะศึกษาค้นคว้ากับเพื่อนๆและปรึกษาครูที่ปรึกษา จะช่วยให้ได้หัวข้อหรือประเด็นปัญหาที่มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

8. จัดทำเค้าโครงหัวข้อหรือประเด็นปัญหา รวมทั้งรายละเอียดของการวางแผนการทำงานการศึกษาค้นคว้า เพื่อขอคำแนะนำจากครูที่ปรึกษาก่อนการพัฒนาชิ้นงาน/โครงงานต่อไป

จะเห็นว่าคนที่จะสามารถเรียนรู้และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเรียนรู้ในรายวิชาการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองได้ดีที่สุดคือ คนที่คิดตลอดเวลาว่า ตนเองต้องมีความขยันหมั่นเพียร อดทน มุ่งมั่นในการทำงาน และต้องเตรียมการทั้งก่อนการเรียนรู้ ระหว่างการเรียนรู้ และทบทวน ตรวจสอบข้อค้นพบหลังการเรียนรู้กับผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ

 


แบบทดสอบประเมินตนเอง เรื่อง การตั้งประเด็นปัญหาเพื่อการศึกษาค้นคว้า

คำชี้แจง : ให้นักเรียนทำแบบทดสอบประเมินตนเอง เพื่อตรวจสอบความรู้ของนักเรียน โดยนักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เพียงคำตอบเดียวในแต่ละข้อ

1. ข้อใดสำคัญที่สุดในการศึกษาค้นคว้า

ก. การกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า

ข. การกล่าวถึงความเป็นมาของปัญหาที่จะศึกษาค้นคว้า

ค. การอธิบายปัญหาที่จะทำการศึกษาค้นคว้า

(ง. การเลือกเรื่องเพื่อตั้งประเด็นปัญหา

2. การปฏิบัติในข้อใดที่จะช่วยลดอุปสรรคในการศึกษาค้นคว้าได้มากที่สุด

ก. การประหยัด

ข. ความอดทน

(ค. ความละเอียด รอบคอบ

ง. ความพากเพียร

3. เรื่องที่ผู้ศึกษาค้นคว้าสนใจ ควรสอดคล้องกับเรื่องใดมากที่สุด

ก. ผู้ศึกษาค้นคว้ามีความสนใจอย่างแท้จริง

(ข. มีประโยชน์ต่อคนในสังคมโลก

ค. มีความพากเพียร อดทน

ง. ตั้งใจศึกษาค้นคว้าให้สำเร็จ

4. ผู้ศึกษาค้นคว้า ควรทำอย่างไรเกี่ยวกับทุนที่ใช้เป็นค่าใช้จ่าย

ก. กำหนดราคาค่าวัสดุ อุปกรณ์ให้ชัดเจน

(ข. ทำประมาณการค่าใช้จ่าย

ค. ระบุค่าเดินทางเก็บรวบรวมข้อมูล

ง. จัดเตรียมงบประมาณค่าพิมพ์รายงาน

5. ข้อใด แสดงว่าผู้ศึกษาค้นคว้ามีความรู้ ความสามารถในเรื่องที่ศึกษาค้นคว้า

(ก. ศักยภาพในการเรียนรู้

ข. ประสบการณ์ในการศึกษาค้นคว้า

ค. พื้นฐานการศึกษา

ง. การทำความเข้าใจเรื่องที่ศึกษาค้นคว้า

6. แหล่งการเรียนรู้ที่ใช้สำหรับการศึกษาค้นคว้า ควรมีลักษณะเป็นอย่างไร

ก. พอเพียง

ข. ทันสมัย

(ค. เพียงพอ

ง. สืบค้นได้ง่าย

7. ข้อใดคือ ผู้เกี่ยวข้องในการศึกษาค้นคว้า เป็นลำดับแรก

ก. ประชากร

ข. กลุ่มตัวอย่าง

ค. ผู้ช่วยการวิเคราะห์ข้อมูล

(ง. ที่ปรึกษา

8. ข้อใดเป็นลักษณะของการนิยามปัญหา

(ก. การอธิบายปัญหาที่จะศึกษาค้นคว้าให้ชัดเจน

ข. การกล่าวถึงที่มาของปัญหาที่จะศึกษาค้นคว้า

ค. การอ้างทฤษฎี กฎเกณฑ์ หรือข้อเขียนที่เชื่อถือได้

ง. การกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า

9. การกล่าวถึงที่มาของปัญหาที่จะศึกษาค้นคว้า สาเหตุที่ต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้น เป็นลักษณะของข้อใด

ก. การกำหนดจุดมุ่งหมาย

(ข. บทนำ หรือความเป็นมา

ค. การเขียนสมมติฐาน

ง. การนิยามปัญหา

10. ข้อใดเป็นจริง เกี่ยวกับการกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า

ก. เขียนแยกเป็นรายข้อ

ข. ไม่ต้องเขียนแยกเป็นรายข้อ

(ค. เขียนแยกเป็นรายข้อ หรือไม่แยกข้อก็ได้

ง. ใช้ภาษาทางวิชาการ


กิจกรรม

ให้นักเรียนเลือกเรื่องและตั้งประเด็นปัญหาเพื่อการศึกษาค้นคว้า คนละ 1 ประเด็นอธิบายความเป็นมาของปัญหา และจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า