การที่ภาษาต่างประเทศเข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาไทยมีผลดีต่อภาษาไทยอย่างไร *

2. ทำให้คนไทยมีเสียงควบกล้ำมากขึ้น เช่น จันทรา นิทรา ทรานซิสเตอร์ เอนทรานซ์ และเพิ่มเสียงควบกล้ำซึ่งไม่มีในภาษาไทย เช่น ดรัมเมเยอร์ ดร๊าฟ เบรก บรอนซ์ บล็อก ฟรี แฟลช ฟลอโชว์ ฟลูออรีน

3. ทำให้คำไทยมีตัวสะกดมากขึ้น ปกติคำไทยแท้ ตัวสะกดจะตรงตามมาตรา ซึ่งมีเพียง 8 แม่ แต่คำยืมจากภาษาต่างประเทศจะสะกดไม่ตรงตามมาตรา ดังตัวอย่าง

แม่กก เช่น สุข เมฆ เช็ค สมัคร

แม่กด เช่น กฎ รัฐ กอล์ฟ ฤทธิ์ พุทธ

แม่กน เช่น เพ็ญ เพียร สูญ บอล คุณ กุศล

แม่กบ เช่น รูป โลภ กราฟ กอล์ฟ

4. ทำให้คำในภาษาไทยมีคำศัพท์มากขึ้น สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เช่น

น้ำ - อุทก วารี คงคา สาคร ธาร ชล ชโลธร

ผู้หญิง - นงเยาว์ นงคราญ อิตถี สตรี กัลยา สุดา สมร วนิดา

พระอาทิตย์ - สุริยา รพี รวิ ภากร

ดอกไม้ - มาลี บุปผา บุหงา โกสุมคำแจกความหมายละเอียดขึ้น เช่น อาคาร คฤหาสน์ ปราสาท วิมาน กระท่อม กระต๊อบ มีคำแสดงฐานะหรือระดับของบุคคลมากขึ้น เช่น

ผัว - สวามี สามี ภราดา เมีย - ภรรยา ภริยา ชายา มเหสีนำภาษาต่างประเทศบางคำไปใช้เป็นคำราชศัพท์ เช่น เสด็จ เสวย โปรดเกล้า ฯ กระหม่อม

ลักษณะเด่นของภาษาไทย
1. เป็นคำภาษาโดดมีคำใช้โดยอิสระ ไม่ต้องเปลี่ยนรูปเพื่อบอกเพศ,พจน์,กาล
เช่นพ่อ,แม่,เขย,ลุง,พระ เป็นคำแสดงเพศในตัว ฝูง,กอง,เดียว,เหล่า,เด็กๆเป็นคำแสดงพจน์(จำนวน)ในตัว กำลัง,จะ,แล้ว,เพิ่ง,เมื่อวานเป็นคำแสดงกาล(เวลา)ในตัว
2. คำไทยแท้ส่วนมากมีพยางค์เดียวเป็นคำที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเข้าใจได้ทันที
เช่น แมว,กบ,แม่,นอน,สวย,พ่อ,นา
3. สะกดตามมาตราตัวสะกดทั้ง 8 มาตราและไม่มีคำใช้ทัณฑฆาตหรือตัวการันต์
เช่น มาตราแม่กก สะกดด้วย ก:ปาก,มาก,นัก,จัก,บอก
มาตราแม่กด สะกดด้วย ด: ปาด,ลด,สอด,ปิด,จุด
มาตราแม่กบสะกดด้วย บ: รบ,พบ,จับ,สิบ,งบ
มาตราแม่กงสะกดด้วย ง: ลง,ราง,พุ่ง,ว่าง,รอง,
มาตราแม่กนสะกดด้วย น: ฝัน,ปีน,กิน,ตน,นอน
มาตราแม่กมสะกดด้วย ม: นม,ตูม,นิ่ม,ขม,ซ้อม
มาตราแม่เกยสะกดด้วย ย: ย้าย,เฉย,รวย,หาย,สวย
มาตราแม่เกอวสะกดด้วย ว: ดาว,เลว,ชาว,ทิว,กิ่ว
4. มีเสียงวรรณยุกต์ทำให้ระดับเสียงต่างกัน,มีคำใช้กันมากขึ้น ,เกิดความไพเราะดังเสียง
ดนตรีและสามารถเลียนเสียงธรรมชาติได้อย่างไกล้เคียง
เช่นโฮ่งๆ,กุ๊กๆ,เจี๊ยบๆ,ฉ่าๆ,ตุ้มๆ, วรรณยุกต์สร้างคำเลียนเสียงธรรมชาติได้
อย่างใกล้เคียง
นอง,น่อง,น้อง ;ไร,ไร่,ไร้ วรรณยุกต์ทำให้มีเสียงต่างกัน
5. การสร้างคำภาษาไทยมีการยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้และมีการสร้างคำใหม่โดย
การประสมคำ,ซ้ำคำ,ซ้อนคำ,การสมาส-สนธิฯลฯ
เช่น พ่อมด,แม่น้ำ,วิ่งราวคือการนำคำไทยมาประสมกับคำไทย
รางชอล์ก,เพลงเชียร์,ของฟรี, คือการนำคำไทยมาประสมกับคำในภาษาอังกฤษ
มนุษย์+ศาสตร์ = มนุษยศาสตร์ ,ศิลป์+กรรม = ศิลปกรรม คือการนำคำจาก
ภาษาสันสกฤตสมาสกับคำภาษาสันสกฤต
ราช + โอวาท =ราโชวาท ,อิฏฐ + อารมณ์ = อิฏฐารมณ์คือการนำคำจากภาษา
บาลีสนธิกับคำภาษาบาลี
6. การเรียงคำในประโยคภาษาไทยเรียงเป็นประโยคแบบ ประธาน + กริยา + กรรม
(ฉันกินไก่)ส่วนคำขยายจะเรียงไว้หลังที่ถูกขยายเสมอเว้นแต่บอกปริมาณบางคำจะวาง
ไว้ข้างหน้าหรือข้างหลังที่ถูกขยายก็ได้
เช่นเธอวิ่งช้า,ฉันเขียนสวยคำขยายอยู่หลังคำถูกขยาย
มากคนมากความ,มีหลายเรื่องที่อยากบอกคำบอกปริมาณอยู่หลังคำที่ถูกขยาย
เดินคนเดียวล้มคนเดียว,เรือนสามน้ำสี่คำบอกจำนวนอยู่หลังคำที่ถูกขยาย
ส่วนคำขยายกริยา และมีกรรมมารับคำขยายจะอยู่หลังกรรม
เช่น ฉันอ่านหนังสือมากมาย
7. มีลักษณะนาม
ก. คำลักษณะนามจะอยู่ข้างหลังคำวิเศษณ์บอกจำนวนนับ
เช่นฉันรักแมวทั้ง 10 ตัว เข้าได้รับบ้าน 1 หลัง ที่ดิน 2 แปลงเป็นมรดก
*ถ้าใช้คำว่า "เดียว" เป็นจำนวนนับ คำลักษณนามจะอยู่หน้าคำว่าเดียว
เช่นขวดเดียวก็เกินพอ
ข. คำลักษณะนามตามหลังคำนามเพื่อลักษณะของนามนั้น
เช่นปลาตัวใหญ่นี้แพงมาก, ที่ดินแปลงนี้สวยจริง ๆ ,เทียนเล่มแดงหายไปไหน
8. ภาษาไทยมีการแบ่งวรรคตอนเป็นจังหวะการเขียนภาษาไททยจำเป็นต้องแบ่งวรรค
ตอนส่วนการพูดภาษาไทยก็จำเป็นต้องเว้นจังหวะให้ภฃถูกต้องเพื่อความชัดเจนของข้อความ
ที่จะพูดและเขียนนั้น
เช่น ยานี้กินแล้วแข็งแรงไม่มีโรคภัยเบียดเบียน หมายความว่า ยานี้กินแล้วดี
ยานี้กินแล้วแข็ง แรงไม่มีโรคโรคภัยเบียดเบียน หมายความว่า ยานี้กินแล้วไม่ดี
9. ภาษาไทยมีคำเลือกใช้ตามกาละเทศะการเลือกใช้คำให้ถูกต้องเหมาะสมกับบุคคล
แสดงถึงลักษณะของวัฒนธรรมทางภาษาสังคมไทยเป็นสังคมที่นับถืออาวุโส ทั้งคุณวุฒิ
วัยวุฒิ ชาาติวุฒิจึงมีคำใช้ตามฐานะของบุคคลเพื่อแสดงถึงความยกย่องกันและกัน ภาษา
จึงมี "คำราชาศัพท์"ใช้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทย

พยัญชนะไทย
พยัญชนะในภาษาไทยมี 21 เสียง 44 รูปพยัญชนะที่เลิกใช้ไปแล้วคือ ฃ และ ฅ
รูปพยัญชนะ : ก ข ฅ ค ฅ ฆ ง จ ฉ ช ซ ฌ ญ ฎ ฏฐ ฑ ฒ ณ ด ต ถ ท ธ น บ ป
ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อฮ

สระในภาษาไทย
สระในภาษาไทย มี 24 เสียง 21 รูป
เสียงสระ : อะ อา อิ อี อุ อู เอะ เอ แอะ แอ เออะ เออ โอะ โอ เอาะ ออ อัวะอัว เอียะ
เอีย เอือะ เอือ *นอกจากนี้ยังมีสระเกินคือ อำ ไอ ใอ เอา ฤ ฤๅ ฦฦๅ

วรรณยุกต์
วรรณยุกต์ในภาษาไทยมี 5 เสียง 4 รูปคือ 1. เสียงสามัญ 2. เสียงเอก( ' ) 3. เสียงโท( )
4. เสียงตรี ( ) 5. เสียงจัตวา ( ) ทั้งนี้กลุ่มอักษรสูง 11 ตัว อักษรต่ำ 24 ตัว ผันวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง
ส่วนอักษรกลาง 9 ตัวผันได้ครบทั้ง 5 เสียง

การยืมภาษา
การยืมเป็นลักษณะของทุกภาษา ไม่ว่าภาษาใดที่ไม่มีภาษาอื่นเข้ามาปะปน
เมื่อแต่ละชาติต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีตกาลจนเกิดการนำคำหรือลักษณะทางภาษา
ของอีกภาษาเข้าไปใช้ในภาษาของตน

ประเภทของการยืม
1. ยืมเนื่องจากวัฒนธรรมกลุ่มที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมด้อยกว่าจะรับเอาวัฒนธรรมจาก
กลุ่มที่มีความเจริญมากกว่า
2. ยืมเนื่องจากความใกล้ชิดการที่สองกลุ่มใช้ภาษาต่างกันร่วมสังคมเดียวกันหรือมีอาณาเขต
ใกล้ชิดกันมีความสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวันทำให้เกิดการยืมภาษาซึ่งกันและกัน
3. ยืมจากคนต่างกลุ่มการยืมภาษาเดียวกันแต่เป็นภาษาของผู้ใช้ที่อยู่ในสภาพที่ต่างกัน
อิทธิพลของการยืม
การยืมทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายมีอิทธพลต่อวงศัพท์ซึ่งการยืมทำให้
จำนวนศัพท์ในภาษามีการเพิ่มพูนเกิดวาระการใช้ศัพท์ต่างๆ กันเป็นคำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมาย
เดียวกันแต่เราเลือกใช้ตามโอกาสและตามความเหมาะสมทั้งยังมีประโยชน์ในการแต่งบทร้องกรอง
เพราะมีหลากคำ

ประวัติศาสตร์การยืมของประเทศไทย
ภาษาไทยมีการยืมจากภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนเป็นเวลานานแล้วแม้ในหลักศิลาจารึก
ของพ่อขุนรามคำแหงเมื่อปี พ.ศ. 1826 ก็ยังปรากฏคำยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤตและเขมรเข้ามาปะปนมากมาย
ประเทศไทยมีการติดต่อกับต่างชาติมาช้านานย่อมทำให้มีภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนอยู่ในภาษา
ไทยเป็นจำนวนมากเช่น เขมร จีน ชวา มลายู ญวน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย โปรตุเกส ฝรั่งเศส พม่า มอญอังกฤษ
สาเหตุการยืมของภาษาไทย
1. ความสัมพันธ์ทางถิ่นฐานการมีอาณาเขตติดต่อหรือใกล้เคียงกันกับมิตรประเทศ
2. ความสัมพันธ์ทางการค้าการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศ
3. ความสัมพันธ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม การเผยแพร่ ศิลปะ วรรณคดีของต่างประเทศ
สู่ประเทศไทย
4. การศึกษาและการกีฬา การที่นักเรียนไทยไปศึกษาที่ต่างประเทศทำให้รับวิชาความรู้
และวิทยาการมากมาย
5. ความสัมพันธ์ทางการฑูต การเจริญสัมพันธไมตรีซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับต่างประเทศ

คำยืมจากภาษาจีน

ไทยและจีนเป็นมิตรประเทศที่ติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีอีกทั้งยังมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมอันดีงามกันมาช้านานรวมทั้งศิลปะ
สถาปัตยกรรมต่างๆด้วย
ชาวจีนที่เข้ามาค้าขายตลอดจนตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากปัจจุบัน
คนไทยเชื้อสายจีนก็เพิ่มพูนขึ้นมากมายภาษาจีนจึงเข้ามาสู่ไทยโดยทางเชื้อสายนอกจากนี้ภาษาจีนและภาษาไทยยังมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันจึงทำให้คำภาษาจีนเข้ามาปะปนอยู่ใน
ภาษาไทยจนแทบแยกกันไม่ออก
ลักษณะภาษาจีน
ภาษาจีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาษาไทยมาก คือเป็นภาษาคำโดดและมีเสียงวรรณยุกต์ใช้
เช่นเดียวกันเมื่อนำคำภาษาจีนมาใช้ในภาษาไทยซึ่งมีวรรณยุกต์และสระประสมใช้จึงทำให้สามารถ

ออกเสียงวรรณยุกต์และสระตามภาษาจีนได้อย่างง่ายดายคำภาษาจีนยังมีคำที่บอกเพศในตัวเช่นเดียว
กับภาษาไทยอีกด้วย เช่น เฮีย(พี่ชาย), ซ้อ(พี่สะใภ้), เจ๊(พี่สาว),
นอกจากนี้การสะกดคำภาษาจีนในภาษาไทยยังใช้ตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกดทั้ง 8 มาตรา
และมีการใช้ทัณฑฆาตหรือตัวการันต์ด้วยประมวลคำยืมจากภาษาจีนที่ใช้บ่อย

คำภาษาจีนที่ไทยใช้

ความหมายในภาษาไทย

ก๊ก

พวก, หมู่, เหล่า

กงเต๊ก

การทำบุญให้ผู้ตายพิธีจีนโดยสวดและเผากระดาษรูปต่างๆ มี บ้าน, รถ, คนใช้

ก๋ง

ปู่

กวยจั๊บ

ชื่อของกินทำด้วยแป้งข้าวเจ้าหั่นเป็นชิ้นใหญ่

ก๋วยเตี๋ยว

ชื่อของกินทำด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้นๆ

กอเอี๊ยะ

ขี้ผึ้งปิดแผลชนิดหนึ่งแบบจีน

กะหล่ำ

ชื่อไม้ล้มลุกมีหลายพันธุ์

กังฟู

ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบจีนเน้นสมาธิและความแข็งแกร่งว่องไวของร่างกาย

กุ๊น

ขลิบเย็บหุ้มริมผ้าหรือของอื่นๆแต่ต้องใช้แถบผ้าย้วยหรือเฉลียง

กุยช่าย

ชื่อไม้ล้มลุกคล้ายต้นหอม ใบแบน กลิ่นฉุนกินได้

เก๊

ปลอมเลียนแบบให้คิดว่าเป็นของแท้ ; ของปลอม

เก๋

งานเข้าที

เก๊ก

วางท่า ; ขับไล่

เกาลัด

ไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกผลหนา ไม่มีหนามเมล็ดเกลี้ยง

เกาเหลา

แกงมีลักษณะอย่างแกงจืด ไม่ใช่แกงเผ็ดแกงส้ม

เก้าอี้

ที่นั่งมีขายกย้ายได้มีหลายชนิด ลักษณนามว่าตัว

เกี๊ยว

ของกินทำด้วยแป้งสาลีเป็นแผ่นห่อหมูสับเป็นต้น

เกี๊ยะ

เกือกไม้แบบจีน

โก๋

ชื่อขนมทำด้วยแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาลทรายอัดใส่พิมพ์รูปต่างๆ

ขาก๊วย

กางเกงจีนขาสั้น

ขิม

ชื่อเครื่องดนตรีจีนรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกใช้ตี

เข่ง

ภาชนะสานมีรูปต่างๆทำจากไม้ไผ่

ง่วน

เพลิน, ทำเพลิน, เล่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

งิ้ว

ละครจีนแบบโบราณ, อุปรากรจีน


จับกัง

กรรมกร, ผู้ใช้แรงงาน

จับฉ่าย

ชื่อแกงอย่างจีนใส่ผักหลายชนิด ; ของต่างๆที่ปะปนกันไม่เป็นชุด

เจ แจก็ว่า

อาหารที่ไม่มีของสดของคาวสำหรับผู้ถือศีล,

เจ๊ง

ล้มเลิกกิจการเพราะหมดทุน ; สิ้นสุดเลิกกันไป,

เจ๊า

หายกัน(ภาษาการพนัน)

เจี๊ยบ

จัด, มาก, ยิ่งนัก

โจ๊ก

ข้าวต้มที่ใช้ปลายข้าวต้มจนเละ

ฉำฉา

ต้นก้ามปู, ไม้เนื้ออ่อนพวกไม้สน

เฉาก๊วย

ชื่อขนมคล้ายวุ้นสีดำกินกับน้ำหวาน

แฉ

แบ, ตีแผ่, เปิดเผย

ชีช้ำ

เศร้าโศก, เสียใจ

ซวย

เคราะห์ร้าย, อับโชค

ซาลาเปา

ชื่อขนมของจีนทำด้วยแป้งสาลีเป็นลูกกลมมีไส้ข้างในทั้งหวานและเค็ม

เซียน

ผู้สำเร็จ, ผู้วิเศษ, ผู้ที่เก่ง ชำนาญทางเฉพาะ

เซียมซี

ใบทำนายโชคชะตาตามวัดมีเลขเทียบกับเลขบนติ้วที่เสี่ยงได้

ต๋ง

ชักเอาเงินไว้จากขาไพ่ที่เป็นผู้กินหรือลูกค้าที่แทงถูกในการพนัน

ตะหลิว

เครื่องมือใช้แซะหรือตักของที่ทอดหรือผัดในกระทะทำด้วยเหล็กมีด้ามจับ

ตังเก

ชื่อเรือต่อใช้จับปลาตามชายฝั่งทะเลมีเสากระโดง มีเก๋ง 2 ชั้น

ตังฉ่าย

ผักดองแห้งแบบจีนใช้ปรุงอาหาร

ตังโอ๋

ชื่อไม้ล้มลุกใบเล็กหนา กลิ่นหอมกินได้

ตั๋ว

บัตรบางอย่างแสดงสิทธิของผู้ใช้

ตุน

การเก็บหรือกันสิ่งใดๆ ไว้กันขาดแคลนหรือหวังค้ากำไร

ตุ๋น

การปรุงอาหารโดยเอาใส่ภาชนะวางในภาชนะที่มีน้ำเอาฝาครอบตั้งไฟ

ตุ๊ย

เอาหมัดกระแทก

เต้าเจี้ยว

ถั่วเหลืองหมักเกลือใช้ปรุงอาหาร

เต้าส่วน

ขนมหวานทำด้วยแป้งเปียกกวนกับถั่วเขียวที่เอาเปลือกออกราดกะทิ

เต้าหู้

ถั่วเหลืองโม่เป็นแป้งทำเป็นแผ่นๆ ก้อนๆ

เต้าฮวย

ขนมหวานทำด้วยน้ำถั่วเหลืองแข็งตัวปรุงด้วยน้ำขิงต้มน้ำตาล

ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา

กถาเปิด สรุปความสำคัญในตอนแรก
ยุคสมัยของเราเป็นยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเต็มไปด้วยแรงเหวี่ยงที่ทั้งแรงและเร็วจนกระทั่งเชื่อกันว่า ใครที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจจะตกยุคตกสมัยหรืออาจแม้แต่ตกเป็นเหยื่อเอาเลยก็ว่าได้ ในบรรดาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่แรงและเร็วมักจะมีภาษาจีนอยู่เป็นส่วนหนึ่งเสมอ ทุกวันนี้เรื่องของภาษาจีนมักจะเป็นหัวข้อที่ขาดไม่ได้ สำหรับวงอภิปรายหรือสนทนาของหลายวงการแต่ละวงก็มีตั้งแต่หน่วยสังคมที่เล็กที่ในระดับครอบครัวจนถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุดคือระดับชาติ

ทำไมภาษาจีนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย? คำถามนี้แทบจะไม่ต้องตอบกันก็ว่าได้เพราะลำพังปรากฏการณ์การดำรงอยู่ของชาวจีนโพ้นทะเลในสังคมไทย เพียงเรื่องเดียวก็สามารถตอบคำถามที่ว่าได้อย่างยาวเหยียด แต่ถ้าถามใหม่ว่าฐานะของภาษาจีนในสังคมไทยเป็นอย่างไร จากอดีตจนถึงยุคสมัยของเราแล้วคำตอบอาจแตกประเด็นไปได้มากมาย ที่แน่ๆ คือไม่มีใครที่มองไม่เห็นความสำคัญของภาษาจีนอีกต่อไป

ดังนั้น หากจะกล่าวถึงภาษาจีนในยุคสมัยของเราแล้วก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องชี้ให้เห็นถึงฐานะของภาษาจีนในสังคมไทยอย่างเป็นด้านหลักเพราะนั่นคือวิธีหนึ่ง (จากหลายๆ วิธี)ที่จะเข้าใจสภาพการดำรงอยู่ของภาษาจีนในสังคมไทยได้ดีขึ้น หรือเป็นระบบขึ้นความเข้าใจนี้บางทีอาจช่วยให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญและทิศทางที่พึงประสงค์ของภาษาจีนได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยของเรา

ภาษาจีนในยุคสมัยแรก
ไทยกับจีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาช้านานแล้วมีหลักฐานที่ค้นพบใหม่ๆ ในหลายที่ซึ่งสามารถย้อนกลับไปได้นับพันปี แต่กระนั้นหากกล่าวในแง่ของความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว มีหลักฐานชัดเจนว่ามีมาตั้งแต่สมัยที่รัฐสุโขทัยเรืองอำนาจเรื่อยมา จนถึงสมัยรัฐอยุธยา และรัฐกรุงเทพฯเรืองอำนาจเมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ย่อมมีการติดต่อกันไปมาระหว่างจีนและไทยโดยเฉพาะการเข้ามายังไทยของชาวจีนที่มีตั้งแต่ตัวแทนทางการทูตเจ้าหน้าที่ประจำเรือสำเภา ที่มีตำแหน่งแตกต่างกันไปนับสิบตำแหน่งรวมทั้งผู้ที่เป็นลูกเรือระดับล่าง ฯลฯ แม้เราจะไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงแต่ก็มีหลักฐานว่า ชาวจีนเหล่านี้มีจำนวนมากขนาดที่สามารถตั้งชุมชนอยู่กันในหมู่ตนเอง โดยเฉพาะที่อยุธยา

การเข้ามาของชาวจีนดังกล่าว ย่อมมีการนำภาษาจีนเข้ามาใช้ด้วยเป็นธรรมดาแต่ก็ไม่น่าไปไกลถึงขั้นมีการสอนภาษาจีนกันขึ้น (อย่างน้อยก็ไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นเช่นนั้น) อิทธิพลของภาษา จีนในขณะนั้นจึงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่ไทยเรา จำต้องทับศัพท์คำจีนบางคำ มาใช้ในชีวิตประจำวันไปด้วย อย่างเช่นคำว่า “อับเฉา” (ของที่มีน้ำหนักมากสำหรับไว้ในท้องเรือสำเภาเพื่อถ่วงไม่ให้เรือโคลงเวลาแล่น ส่วนใหญ่มักเป็นตุ๊กตาหินจีน)หรือชื่อตำแหน่งต่างๆ ของเจ้าหน้าที่เรือสำเภาอย่างเช่น ไต้ก๋ง เป็นต้นคำจีนทำนองนี้มีอยู่หลายคำ จนบางคำชาวไทยเราเองอาจไม่รู้ว่ามีที่มาจากคำจีนเพราะฟังดูแล้วเหมือนเป็นภาษาไทย อย่างเช่นคำว่า “จันอับ” อันเป็นขนมประเภทหนึ่งของจีน ที่นิยมใส่กล่องให้เป็นของกำนัล เป็นต้น

การปรากฏและดำรงอยู่ของภาษาจีนดังกล่าว คงไม่ได้เป็นไปอย่างเป็นทางการมากนักที่สำคัญก็คือว่า คำจีนเหล่านี้ไม่ได้ออกเสียงด้วยภาษาจีนกลางแต่ออกเสียงโดยขึ้นอยู่กับชาวจีนที่นำภาษาจีนเข้ามาใช้ในไทยว่าจะใช้ภาษาจีนสำเนียงไหน หรือท้องถิ่นไหนการที่ภาษาจีนไม่ได้ถูกใช้เป็นภาษาจีนกลางนี้ต่อมาจะส่งผลต่อการใช้ภาษาจีนในไทยอยู่พอสมควร (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

อย่างไรก็ตาม ภาษาจีนได้ถูกนำมาสอนในสังคมไทยก็ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือในสมัยกรุงเทพฯ โดยหลักฐานระบุแต่เพียงว่า มีการสอนกันที่ “เกาะเรียน” จังหวัดอยุธยา ซึ่งก็ไม่มีใครทราบว่าตั้งอยู่ที่ไหนในอยุธยาและสอนกันอย่างไร หรือสอนด้วยภาษาจีนกลางหรือภาษาจีนท้องถิ่น หรือใครคือผู้เรียนแต่การที่เกิดการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นมานี้ สามารถชี้ให้เห็นในระดับหนึ่งว่าชาวจีน (ไม่น่าจะมีชาวไทยรวมอยู่ด้วย) เริ่มคิดแล้วว่าภาษาจีนมีความจำเป็นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารในหมู่ชาวจีนด้วยกันเอง หรือไม่ก็ให้ลูกหลานจีนสามารถสืบทอดวัฒนธรรมจีนต่อไปได้ เพราะภาษาเป็นหัวใจในการสืบทอดที่สำคัญไม่ว่าจะในสังคมไหนก็ตาม

การที่เกิดการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นในสังคมไทยดังกล่าว น่าเชื่อว่าเป้าหมายหลักคงอยู่ที่คนที่เป็นลูกหลานจีนเสียมากกว่า ด้วยว่าในสมัยต่อๆ มา คือสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 นั้นชาวจีนเริ่มที่จะลงหลักปักฐานอยู่ในไทยแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อเป็นเช่นนี้ลูกหลานจีนจึงเกิดตามมาถึงตอนนี้หากชาวจีนต้องการที่จะให้ลูกหลานของตน สืบทอดวัฒนธรรมจีนต่อไปชาวจีนก็มีทางเลือกให้แก่ตนอยู่ 2-3 ทางต่อไปนี้

หนึ่ง ส่งลูกหลานของตนกลับไปเรียนภาษาจีนที่เมืองจีนในกรณีนี้ชาวจีนผู้นั้นคงต้องมีฐานะดีพอสมควร หรือไม่ก็ต้องเก็บหอมรอมริบนานไม่น้อยจึงจะทำได้ สอง ส่งเสียให้ลูกหลานของตนเรียนภาษาจีนในเมืองไทย ในกรณีนี้หมายความว่าจะต้องมีการเปิดสถานศึกษาขึ้นมาในเมืองไทยรูปแบบของสถานศึกษาจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และสามปล่อยลูกหลานของตนไปตามบุญตามกรรม หรือตามฐานะที่เป็นจริง ในกรณีนี้ปรากฏว่ามีลูกหลานจีนจำนวนไม่น้อยที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แน่นอนว่าประเด็นของเราอยู่ตรงทางเลือกที่สอง นั่นคือในที่สุดสถานศึกษาที่สอนภาษาจีนก็มีขึ้นมาในเมืองไทย

กล่าวกันว่า แรกเริ่มที่มีสถานศึกษาสอนภาษาจีนนั้นรูปแบบโดยมากมักเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ คือชาวจีนร่วมกันจ้างครูจีนมาสอนและที่ว่าร่วมกันนั้นคือร่วมกันโดยกระจายออกไปตามกลุ่มสำเนียงพูดของภาษาถิ่นเสียมากกว่าสำเนียงพูดที่ว่าคือ สำเนียงจีนแต้จิ๋ว (เฉาโจว) จีนกวางตุ้ง (กว่างตง) จีนฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) จีนฮากกาหรือจีนแคะ (เค่อเจีย) และจีนไหหลำ (ไห่หนาน)ทั้งนี้จีนแต้จิ๋วเป็นสำเนียงพูดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดส่วนที่จะมีการสอนด้วยสำเนียงจีนกลางนั้นหาน้อยมาก

สถานศึกษาในรูปแบบที่เป็นทางการนี้ ต่อมาได้ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นจนสามารถตั้งเป็นโรงเรียนที่รับนักเรียนได้เป็นจำนวนมากๆ ที่น่าสนใจก็คือว่าโรงเรียนเหล่านี้ต่างก็สอนวิชาต่างๆ ด้วยภาษาจีนทั้งสิ้นเมื่อเป็นเช่นนี้หากกล่าวเฉพาะคุณภาพของภาษาแล้วก็ย่อมจัดอยู่ในระดับที่น่าพอใจไม่น้อย ด้วยเหตุนี้หากเราเข้าใจว่าโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบัน คือโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาต่างชาติ (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ) แล้ว โรงเรียนจีนเหล่านี้ก็น่าจะถูกจัดเป็นโรงเรียนนานาชาติกลุ่มแรกในไทยก็ว่าได้

โรงเรียนจีนเหล่านี้คงเปิดสอนเป็นปกติเรื่อยมา ตราบจนสมัยรัชกาลที่ 6 สัญญาณการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น โดยในรัชสมัยนี้รัฐบาลไทยได้ให้โรงเรียนจีนไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายแก่การควบคุมแน่นอนว่า แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วสิ่งที่รัฐบาลไทยทำนั้น เป็นการจัดระเบียบซึ่งที่ไหนๆ ก็ทำกันโดยทั่วไป แต่ในกรณีโรงเรียนจีนนี้มีเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงเข้ามาพัวพันอยู่ด้วยเพราะเวลานั้นชาวจีนในไทยกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองด้วยการสนับสนุนการปฏิวัติสาธารณรัฐในจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเมืองในลักษณะที่ว่านี้มีอุดมการณ์ต่างกับอุดมการณ์ของรัฐไทย ที่ในขณะนั้นยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ดังนั้นจึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้นำรัฐบาล (ไม่ว่าชาติไหน)ย่อมหาทางควบคุมหรือไม่ก็ปราบปราม

ควรกล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ดี หรือการขยายตัวของชาวจีนก็ดีรัฐบาลในขณะนั้นพยายามหาหนทางในการจัดการหลายทางด้วยกันมีทางหนึ่งที่เสนอโดยกรมหลวง เทววงศ์วโรปการ (พระยศในขณะนั้น)ขุนนางชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งว่า หากจะจัดการกับชาวจีนให้ได้ผลแล้วหนทางที่ดีที่สุดก็คือ การทำให้ชาวจีนถูกตัดขาดจากภาษาจีน จะเห็นได้ว่าหนทางนี้เป็นหนทางที่มองว่า ภาษาคือพลังสำคัญที่จะทำให้วัฒนธรรมจีน (หรือวัฒนธรรมอื่นใดก็ตาม) สามารถสืบทอดต่อไปได้ แต่กระนั้นหนทางนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อยู่ดีและกว่าจะมีการนำมาใช้เวลาก็ล่วงเลยอีกนับสิบปีต่อมา

ด้วยเหตุนี้ แม้จะถูกจัดระเบียบแล้วก็ตามโรงเรียนจีนเหล่านี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบในด้านหลักสูตรที่ใช้สอนอยู่แต่อย่างใดที่เคยสอนกันมาอย่างไร ก็ยังคงเป็นไปตามนั้นตราบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นใน ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ฐานะของภาษาจีนจึงถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ภาษาจีนในยุคสมัยแห่งความยุ่งยาก
ยุคสมัยแห่งความยุ่งยากนี้เป็นผลจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกโดยแท้ กล่าวคือเป็นผลจากการที่ได้เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาอุดมการณ์เหล่านี้ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นเพราะต้องการจะตอบโจทย์การพัฒนาของแต่ละประเทศ อุดมการณ์ที่เด่นๆ เหล่านี้ก็เช่นอุดมการณ์เผด็จการหรือฟาสซิสต์ อุดมการณ์ประชาธิปไตยและอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อุดมการณ์เหล่านี้มีผลในการท้าทายอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตยโดยตรง

ไทยเราเองก็หนีไม่พ้นการท้าทายดังกล่าว และผลก็เป็นดังที่เรารู้กัน นั่นคือสังคมไทยถูกเลือกให้ใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ผ่านการปฏิวัติในปี ค.ศ.1932 แต่ก็เช่นเดียวกับการปฏิวัติในที่อื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจ ระหว่างผู้นำในระบอบเก่ากับระบอบใหม่หรือระหว่างผู้นำในระบอบใหม่ด้วยกันเอง เป็นสิ่งที่ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องแต่ที่ดูจะพิเศษไปกว่าในที่อื่นๆ ก็ตรงที่ว่ากรณีของไทยนั้นยังได้พ่วงเอาบทบาทของชาวจีนเข้ามาด้วย

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ในที่นี้จะขอแบ่งอธิบายความยุ่งยากในยุคสมัยนี้ผ่านสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ดังนี้

- หนึ่ง สังคมไทยต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในไทยซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามโดยเนื้อหาทางอุดมการณ์แล้วย่อมไปด้วยกันไม่ได้กับสังคมไทยโดยพื้นฐานการเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นนับแต่ที่จีน ได้มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นในค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) ดังนั้น รัฐบาลไทยทั้งก่อนและหลัง การปฏิวัติ ค.ศ.1932 จึงย่อมถือเป็นปฏิปักษ์ไปโดยอัตโนมัติ

- สอง โดยเฉพาะช่วงกลางทศวรรษ 1920 เรื่อยมาญี่ปุ่นได้กระทำการคุกคามจีนรุนแรงขึ้น ในกรณีนี้ได้ส่งผลให้ชาวจีนในไทยเกิดความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมาด้วย และผลก็คือชาวจีนในไทยได้รวมตัวกันจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมา การต่อต้านนี้แสดงออกหลายด้านด้วยกัน เช่น ให้พ่อค้าจีนในไทยยุติการทำการค้ากับญี่ปุ่นต่อต้านหรือทำร้ายชาวญี่ปุ่นในไทย ทำร้ายหรือเข่นฆ่าพ่อค้าที่เป็นชาวจีนด้วยกันเองที่ยังคงทำการค้ากับญี่ปุ่นโดยไม่ฟังคำเตือนของขบวนการ ฯลฯการต่อต้านญี่ปุ่นยังคงเป็นไปตามนี้ แม้หลังการปฏิวัติ ค.ศ.1932 ไปแล้วเพราะก่อนหน้านั้น 1 ปีคือ ค.ศ.1931 ญี่ปุ่นได้บุกยึดแมนจูเรียทำให้ชาวจีนทั้งในและนอกประเทศต่างไม่พอใจ และเมื่อสงครามจีนกับญี่ปุ่นปะทุขึ้นในค.ศ.1937 การต่อต้านญี่ปุ่นในไทยก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

จากความยุ่งยาก (ทางการเมือง) ดังกล่าวนับว่าได้ส่งผลกระทบต่อชาวจีนในไทยอย่างมากแต่กล่าวเฉพาะการปราบปรามเพื่อยุติการเคลื่อนไหวแล้ว โรงเรียนจีนในขณะนั้นนับเป็น “จำเลย” ที่เป็นรูปธรรมซึ่งชัดเจนที่สุด กล่าวคือ โรงเรียนจีนได้กลายเป็น 1 ในแหล่งซ่องสุมทางการเมือง ของขบวนการทางการเมืองของชาวจีนในไทยการซ่องสุมนี้มีทั้งของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในไทย (เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์)มีทั้งของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น หรือไม่ก็ของทั้งสองขบวนการรวมๆ กันไป

ผลก็คือ มีครูจีนจำนวนมากที่ถูกจับกุมและลงโทษ (ส่วนใหญ่คือเนรเทศ)ทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1932 ครูเหล่านี้โดยมากแล้วอยู่ในขบวนการคอมมิวนิสต์จีนแทบทั้งสิ้น

แต่ที่กระทบต่อการเรียนการสอนภาษาจีนมากที่สุดนั้นเห็นจะไม่มีเหตุการณ์ใดจะหนักเท่าที่เกิดหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นอีกแล้ว นั่นคือด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น โดยขบวนการชาตินิยมจีนในไทยซึ่งมีทั้งที่มาจากฝ่ายขบวนการคอมมิวนิสต์จีน และฝ่ายกว๋อหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง)รัฐบาลไทยได้ทำการกวาดล้างครั้งใหญ่ใน ค.ศ.1938 (หลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นเกิดแล้วประมาณ 1 ปี) ผลของการกวาดล้างไม่เพียงทำให้ครูจำนวนมาก ถูกจับกุมเท่านั้นหากที่สำคัญโรงเรียนจีนที่มีอยู่กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ต่างก็ถูกสั่งปิดไปด้วย

ครั้นพอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แกนนำชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนจีนก็ได้ร้องขอต่อรัฐบาล ให้อนุญาตให้เปิดโรงเรียนจีนอีกครั้งหนึ่งซึ่งรัฐบาลก็ตอบสนองอย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ แม้จะอนุญาตให้เปิดก็จริงแต่ก็บังคับไม่ให้มีการใช้ภาษาจีนในการเรียนการสอน เกินไปกว่าร้อยละ 20 และที่ไม่เกินตามสัดส่วนที่ว่านี้ ในเวลาต่อมายังหมายถึงการจำกัดให้เรียนได้ไม่เกินชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรือชั้นประถมศึกษาตอนต้นเท่านั้นอีกด้วย

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เงื่อนไขดังกล่าวได้ทำให้ข้อเสนอของกรมหลวงเทววงศ์วโรปการ เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 ถูกทำให้เป็นจริงขึ้นมาเป็นครั้งแรกและกลายเป็นปฐมบทของการทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในไทยเกิดข้อจำกัดทางด้านคุณภาพในเวลาต่อมาแต่หากกล่าวในมิติที่ลึกซึ้งลงไปแล้วเราก็จะพบว่า เงื่อนไขที่ว่านี้นับว่ามีส่วนอย่างมากในการแยกการเรียนการสอนภาษาจีน ให้ออกจากความเป็นจีน (Chineseness) ที่สำคัญคือ เป็นการแยกที่ติดข้างจะได้ผลอยู่ไม่น้อยเสียด้วย

กล่าวคือว่า ภายหลังจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นสิ้นสุดลงและตามติดมาด้วยการที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ในจีน ได้รับชัยชนะเหนือกว๋อหมินตั่งในปีค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) แล้ว ก็ตรงกับช่วงที่รัฐไทยได้เข้าสู่ยุคสมัยของการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างจริงจังและรุนแรงการใช้ภาษาจีนไม่ว่าในกาละเทศะไหน หรือดีหรือเลวมากน้อยเพียงใดได้กลายเป็นเรื่องที่ค่อยๆ ห่างไกลลูกหลานจีนออกไป จะมียกเว้นก็แต่ครอบครัวจีนที่มีฐานะดีหรือช่องทางดีเท่านั้น ที่อาจหาวิธีส่งเสียลูกหลานของตนให้ได้เรียนภาษาจีนในต่างประเทศ เช่นที่ฮ่องกง มาเลเซียหรือปีนัง ไต้หวันหรือสิงคโปร์ เป็นต้น แต่มีบ้างเหมือนกันที่เสี่ยงส่งลูกหลานเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ (โดยผ่านทางฮ่องกง) ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่ากำลังปกครองด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ 1 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่น้อย

ส่วนครอบครัวจีนที่ไม่อาจทำเช่นนั้นได้แต่ยังคงต้องการให้ลูกหลานของตนมีความรู้ภาษาจีนดีกว่าชั้นประถมสี่นั้นหนทางที่เหลือก็คือ การให้ลูกหลานไปเรียนพิเศษภาษาจีนหลังเลิกเรียนจากโรงเรียน (ไทย) ซึ่งโดยทั่วไปมักเรียนกันวันละ 1 ชั่วโมงซ้ำยังเป็นการเรียนที่ถือเป็นภาระของผู้เรียนโดยแท้เพราะถ้าหากใจรักที่จะเรียนก็ไม่สู้ลำบากมากนัก แต่ถ้าใจไม่รักแล้ว การเรียนนั้นก็เท่ากับเป็นการฝืนใจตนเอง ซึ่งไม่เกิดผลดีแต่อย่างไร

สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่นานหลายสิบปีดำรงอยู่แม้ภายหลังจากที่จีนกับไทยได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใน ค.ศ.1975 เรื่อยมา และกว่าที่ภาษาจีนจะถูกปลดปล่อยให้มีอิสระในการเรียนการสอนมากขึ้นเวลาก็ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ไปแล้ว จนถึงเวลานั้นสังคมไทยก็ตระหนักว่ายุคสมัยแห่งความยุ่งยากได้ทำให้ภาษาจีน ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ใหม่เสียแล้ว กล่าวคือตกอยู่ในสถานการณ์ที่พบว่า มีลูกหลานจีน หรือที่เรียกกันใหม่ว่า “ชาวไทยเชื้อสายจีน” ที่รู้ภาษาจีนนั้นมีน้อยมากและที่รู้ดีก็มักคุ้นชินกับภาษาจีนท้องถิ่น และอักษรจีนแบบเก่าในขณะที่การใช้ภาษาจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่มานานนับสิบปีก่อนหน้านั้นแล้ว

โดยสรุปก็คือว่า พอภาษาจีนในไทยหลุดออกจากยุคสมัยแห่งความยุ่งยากมาได้เท่านั้นก็ต้องมาตกอยู่ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง ที่ทั้งเร็วและแรงในแทบทุกด้าน ซึ่งก็คือภาษาจีนในยุคสมัยของเรานี้เอง

ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา
จะว่าไปแล้ว ภาษาจีนในยุคสมัยของเราเป็นภาษาจีนที่เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงภายในจีนโดยแท้โดยเฉพาะตั้งแต่ที่เริ่มใช้นโยบายปฏิรูป และเปิดประเทศใน ค.ศ.1979 เป็นต้นมานโยบายนี้ทำให้จีนต้องเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยไม่ถือเอาความแตกต่างทางอุดมการณ์มาเป็นอุปสรรคอีกต่อไป และต่อนโยบายพัฒนาภายใน จีนก็เปิดที่ทางให้กับกลไกแบบทุนนิยม (ที่จีนเคยต่อต้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู)ให้ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการอีกด้วย สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ประเทศต่างๆที่เคยเป็นปฏิปักษ์หรือระแวงสงสัยจีน คลายความกังวลไปได้ไม่น้อยโดยหลังจากนั้นไม่นาน ความกังวลที่หายไปก็ถูกแทนที่ด้วยการเปิดต้อนรับจีนในฐานะมิตรประเทศ และเลิกต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “จีนคอมมิวนิสต์” ไปในที่สุด

แต่ก็ด้วยนโยบายที่ว่า ซึ่งทำให้จีนเติบโตอย่างเต็มกำลังไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรมผลเช่นนี้เองที่ทำให้ภาษาจีนได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความสำคัญขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ จนกล่าวได้ว่าทุกวันนี้แทบไม่มีหน่วยงานใด ไม่ว่าจะในภาครัฐหรือเอกชนที่มองไม่เห็นความสำคัญของภาษาจีนอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้การเรียนการสอนภาษาจีนที่ถูกกักขังอยู่ในห้องเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น (ป.4) มานานหลายสิบปี ก็ถูกปลดปล่อยออกมาในทศวรรษ 1990 เมื่อภาครัฐอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนกว้างไกลกว่านั้น และในระดับที่สูงกว่านั้นคือเปิดได้ทั้งในโรงเรียนภาครัฐและเอกชน และเปิดได้ถึงระดับอุดมศึกษากันเลยทีเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนที่เคยทำการเรียนการสอน “พิเศษ” แบบลักปิดลักเปิดตามบ้านยามสนธยาราตรี มาบัดนี้ก็ไม่ต้องทำเช่นนั้นอีกต่อไปตรงกันข้าม รัฐกลับอนุญาตให้เปิดอย่างเป็นกิจลักษณะและอย่างเปิดเผยไม่ว่าจะมีกี่หลักสูตร กี่ชั้นเรียน หรือจำนวนผู้เรียนกี่มากน้อยขอเพียงทำให้ถูกต้องตามระเบียบหรือกฎหมาย และมีกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะเท่านั้น ก็สามารถทำได้ในฐานะโรงเรียนนอกระบบอันเป็นภาคที่เคยมีบทบาทสำคัญในการอบรมบ่มเพาะภาษาจีน แก่ผู้เรียนที่จบแค่ชั้น ป.4 ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น และโดยไม่มีการประสาทวุฒิบัตรให้แก่ใครได้แม้แต่ใบเดียวถึงแม้ผู้เรียนคนนั้นจะสามารถใช้ความรู้ภาษาจีนของตนจากการเรียน “พิเศษ” จนมีฐานะดีและมั่นคงไปตามๆ กันก็ตาม

การปลดปล่อยในทศวรรษที่ว่าน่าจะดูดีอยู่ไม่น้อย แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ทั้งนี้เพราะด้วยวิบากกรรม ความยุ่งยากในหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นได้ส่งผลให้ภาษาจีนภายหลังถูกปลดปล่อย ต้องตกอยู่ในอาการงงงวยและง่อนแง่นอยู่ไม่น้อย และด้วยอาการที่ว่านี้จึงทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนโดยภาพรวมเป็นไปใน 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะหนึ่งเป็นการเรียนการสอนที่ยังคงสืบทอดแนวทางที่เป็นมาแต่อดีต อีกลักษณะหนึ่งเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งแสวงหาแนวทางใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

ในลักษณะแรกนั้น เราอาจเห็นได้จากการที่สถานศึกษาบางแห่งยังคงสอนการออกเสียงภาษาจีนผ่านระบบจู้อินฝูเฮ่าสอนผ่านตำราเรียนที่ไม่ได้ผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ส่วนหลักสูตรที่ใช้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละแห่งสุดแท้แต่ว่าสถานศึกษาแห่งไหนจะเห็นว่าเหมาะสมแก่ผู้เรียน ฯลฯในลักษณะนี้สะท้อนให้ว่า ต่างคนต่างดำเนินการไปด้วยตนเองอย่างอิสระ

ส่วนในลักษณะหลังนั้น อาจเห็นได้จากการที่สถานศึกษาหลายแห่งเลือกที่จะสอนการออกเสียงผ่านระบบพินอิน (pin-in) มีน้อยแห่งที่สอนทั้งสองระบบหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาบางแห่งรวมเอาระบบจู้อินฝูเฮ่า เยล และเวดใจล์ส เข้าไปด้วยถึงแม้ในชั้นปลายจะเน้นที่ระบบพินอินก็ตามส่วนตำราที่ใช้ก็เป็นตำราที่ผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ เกี่ยวกับตำรานี้ยังพบอีกว่าสถานศึกษาหลายแห่งใช้ตำราที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสถานศึกษาแห่งนั้นๆเลือกที่จะใช้ตำราจาก “มณฑล” ไหนของจีน ฉะนั้น เมื่อมองในแง่ของหลักสูตรแล้วหลักสูตรจึงย่อมขึ้นอยู่กับตัวตำราไปด้วย ซึ่งโดยสรุปแล้วก็คือหลักสูตรก็แตกต่างกันไป ฯลฯ

นอกจากสองลักษณะดังกล่าวที่เป็นเรื่องของการเรียนการสอนโดยตรงแล้วการใช้ภาษาจีนในหมู่ผู้รู้ภาษาจีน (ไม่ว่าจะมากหรือน้อย)หรือผู้ที่จะต้องสัมผัสกับภาษาจีน (โดยที่ไม่รู้ภาษาจีน) ในชีวิตประจำวันก็ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าการใช้ภาษาจีนในไทยนั้นเป็นการใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่และใช้ภาษาจีนกลางเป็นส่วนน้อย ฉะนั้น ภายหลังจากที่ภาษาจีนถูกปลดปล่อยในทศวรรษ 1990 ไปแล้ว ภาษาจีนกลางที่เข้ามามีบทบาทในการใช้มากขึ้นจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงการใช้แบบเดิมไปได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ยังไม่นับการใช้อักษรจีนตัวเต็ม (ฝานถี่จื้อ)ที่ยังคงปรากฏว่ามีการใช้มากกว่าอักษรตัวย่อ (เจี๋ยนถี่จื้อ)ที่ทางจีนแผ่นดินใหญ่ได้ทำการ “ปฏิรูป” ไปแล้วมากกว่า 2,000 ตัวอักษรโดยเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาจีนนั้นจะเห็นได้ชัด นัยสำคัญของประเด็นนี้ก็คือว่าอักษรตัวย่อที่จีนปฏิรูปนั้นจีนเลือกเอาตัวอักษรที่มักใช้กันในชีวิตประจำวันเป็นลำดับแรก ด้วยเหตุนั้นการไม่รู้จักอักษรตัวย่อ จึงไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ผู้ใช้ภาษาจีนมากนัก (อย่างน้อยก็ในระยะยาว) ในทางตรงข้าม หากผู้ใช้คนใดที่รู้ทั้งตัวย่อและตัวเต็มก็ต้องนับว่าได้เปรียบผู้ใช้ที่รู้แต่เพียงแบบใดแบบหนึ่ง 3

ผลที่เกิดจากอาการงงงวยและง่อนแง่นจากที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่กล่าวมาอีกไม่น้อย แต่ก็ด้วยผลที่ว่านี้เองที่นำมาซึ่งเสียงบ่นของผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากภาษาจีนโดยตรงว่าคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในไทย ยังไม่อาจสนองตอบได้อย่างที่ต้องการเสียงบ่นเหล่านี้มีให้ได้ยินเป็นรูปธรรมอยู่เสมอ เช่นบ้างก็บ่นว่าความรู้ภาษาจีนของผู้เรียน ยังไม่สูงพอที่จะนำมาใช้งานบ้างก็บ่นว่าผู้เรียนสู้อุตส่าห์เรียนจบระดับปริญญาจนสามารถ “อ่าน” ภาษาจีนได้ดีนั้น แต่กลับไม่รู้เรื่องราวความเป็นไปในจีนบ้างก็บ่นว่าผู้เรียนแม้จะเรียนสูง แต่ความรู้นั้น กลับไม่สามารถสนองตอบต่องานของตนที่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะด้าน ฯลฯ

ในที่สุดผลที่ว่าก็นำมาซึ่งความวิตกกังวลของผู้ที่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากภาษาจีนว่ายังคงสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็อาจกระทบต่อการแข่งขันในการพัฒนาทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งก็คือผลกระทบที่มีต่อส่วนรวมของสังคมไทยเราเอง

เกี่ยวกับประเด็นคุณภาพภาษาจีนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีเรื่องที่พึงทำความเข้าใจด้วยว่า แม้จะเป็นความจริงที่ภาษาจีนในไทยมีคุณภาพสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ก็ตาม แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผลจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านโดยแท้พัฒนาการของไทยก็คือ ประเด็นปัญหาต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในขณะที่พัฒนาการของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติจนดูว่าไร้อิสรภาพนั้น เอาเข้าจริงแล้วชาติอาณานิคมก็หาได้ห้ามหรือจำกัดการเรียนการสอนภาษาจีน ของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ไปด้วยไม่ด้วยเหตุนี้ ผลทางคุณภาพจึงเป็นดังที่เราเห็น

จะอย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาให้รอบคอบแล้วก็จะพบว่าปัญหาภาษาจีนในไทยหลังจากที่ถูกปลดปล่อยในทศวรรษ 1990 นั้นแท้ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลย หากคือ การที่เราพึงยอมรับร่วมกันว่าภาษาจีนจำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง และจะเริ่มต้นใหม่ได้ดีเราก็ต้องสลัดอาการงงงวยและง่อนแง่นที่เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อนและการที่จะสลัดได้นั้น ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่าอาการงงงวยได้บอกอะไรแก่เรา?

จะว่าไปแล้วอาการงงงวยและง่อนแง่นดังกล่าวได้บอกให้เรารู้ว่าภาษาจีนในยุคสมัยของเรานั้น ได้ห่างออกจากความเป็นจีนจากที่เคยมีเคยเป็นมาแต่เดิมแล้วนั่นเอง

กล่าวคือ ภาษาจีนนับแต่ยุคสมัยแรกเริ่มจนถึงยุคสมัยแห่งความยุ่งยากนั้นเป็นภาษาจีนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่จะให้ลูกหลานจีน (ในสมัยนั้น)สามารถสืบทอดและดำรงความเป็นจีนเอาไว้ แต่ภายหลังจากที่ผ่านวิบากกรรมมามากมายจนได้รับการปลดปล่อยในทศวรรษ 1990 แล้ว เราก็พบว่า หลายสิบปีของวิบากกรรมนั้นลูกหลานจีนได้ถูกกลืนกลายจนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้วไม่น้อยคือหากไม่เปลี่ยนจากการเป็นลูกหลานจีนมาเป็น “ชาวไทยเชื้อสายจีน” ก็เป็น “ชาวไทย” ไปจนกู่ไม่กลับ

สิ่งที่ต่างกันระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีนกับชาวไทยก็คือว่ากลุ่มแรกอาจมีความเป็นจีนหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที โดยเฉพาะความรู้ภาษาจีน (ถึงจะใช้ภาษาจีนท้องถิ่นก็ตาม)ในขณะที่กลุ่มหลังนั้นอาจจะมีเชื้อจีนหรือไม่มีก็ได้แต่แทบไม่หลงเหลือความเป็นจีนอยู่เลย ส่วนที่คล้ายกันก็คือต่างก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกมาพอๆ กัน

ผลก็คือ เมื่อ “ชาวไทย” กลุ่มนี้ต้องมาเป็นผู้เรียนภาษาจีน (หรือผู้สอนในบางกรณี)การเรียนของคนกลุ่มนี้จึงไม่มีโจทย์เกี่ยวกับความเป็นจีนเป็นตัวตั้งหากแต่เรียนไปภายใต้โจทย์ใหม่ๆ มากมายหลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือเพื่อสนองตอบต่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจเป็นทั้งเพื่อตัวเองหรือเพื่อหน่วยงานที่ค่อนข้างแน่นอน

ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่เลือกศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้เรียนภาษาจีนในสถานศึกษานอกระบบที่พบว่าผู้เรียนต่างมาเรียนด้วยวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กระจายกันออกไปอย่างหลากหลายมากมายเช่นมาเรียนเพื่ออยากจะดูหนังหรือละครจีนด้วยภาษาจีน เพื่ออ่านวรรณกรรมจีนได้โดยตรงเพื่อร้องเพลงจีน เพื่อสนทนากับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนจีนเพื่อติดต่องานกับคนจีนทั้งในเมืองไทยและในเมืองจีนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางวิชาชีพให้แก่ตนเอง เพื่อสนองตอบต่อนโยบายใหม่ๆของหน่วยงาน ที่เริ่มมีธุรกิจหรืองานราชการที่ต้องติดต่อกับจีนเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของพ่อแม่หรือบุพการีตลอดจนเพื่อใช้สนทนากับคนรักที่เป็นชาวจีน หรือ “จีบ” ชาวจีนที่ตนหมายปอง ฯลฯส่วนที่เรียนเพื่อรักษาหรือสืบทอดความเป็นจีนนั้นมีเช่นกันแต่เป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก

ผลการศึกษานี้แม้จะเป็นเฉพาะกลุ่มโรงเรียนนอกระบบก็ตาม แต่ก็น่าเชื่อว่ากลุ่มที่อยู่ในระบบก็คงไม่ต่างกัน ในแง่วัตถุประสงค์มากนักซึ่งนับว่าต่างก็ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจีนที่ห่างไกลออกไปในหมู่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราเริ่มห่างจากความเป็นจีนออกไปนั้นมิได้หมายความว่า ความเป็นจีนที่เคยมีอยู่แต่เดิมจะสลายหายตามไปด้วยไม่ ตรงกันข้ามความเป็นจีนเท่าที่ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน กลับเป็นต้นทุนที่มีค่าไม่น้อยหากผู้เรียนและผู้สอนภาษาจีนรู้จักที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ดังการรู้อักษรจีนทั้งแบบตัวเต็มและแบบตัวย่อย่อมมีประโยชน์มากกว่าการรู้แบบเดียวดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

การห่างไกลจากความเป็นจีนจากที่กล่าวมานี้เองเมื่อภาษาจีนถูกปลดปล่อยอีกครั้งหนึ่งภาษาจีนในยุคสมัยของเราจึงส่งผลดังที่ได้กล่าวมาในที่สุด และทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนการสอนภาษาจีน จะต้องเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อสนองตอบต่อสถานการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมากมายและการเริ่มต้นที่ดีทางหนึ่งก็คือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยอย่างจริงจัง

ประเด็นสำคัญที่ขอย้ำในที่นี้ก็คือว่าผลจากอาการงงงวยและง่อนแง่นที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะหากเราเข้าใจถึงวิบากกรรมของภาษาจีนจากที่กล่าวมาเหตุฉะนั้น อาการที่เกิดขึ้นแก่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราจึงเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าไม่ดี อย่างน้อยอาการที่ว่าก็ทำให้เราต้องมาฉุกคิดได้ว่าเราจะแก้อาการนี้อย่างไร และเมื่อเราพบว่า การแก้ที่ดีประการหนึ่งก็คือการเริ่มจากการวิจัย การวิจัยนี้เองที่จะโน้มนำให้ปัญหาต่างๆของการเรียนการสอนภาษาจีน ถูกร้อยเรียงให้เห็นภาพอย่างเป็นระบบ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะพบได้เองว่า ปัญหาที่เป็นจริง (หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับความเป็นจริง)นั้นคืออะไร จากนั้นข้อแก้ไขก็จะทยอยออกมา

อย่างไรก็ตาม ข้อดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่เหลียวไปมองข้อดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งนั่นก็คือการที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราได้เริ่มต้นใหม่ด้วยความอิสระและโดยไม่จำเป็นต้องติดยึดกับความเป็นจีนดังเช่นอดีตอีกต่อไปเพราะข้อดีจากความอิสระนี้จะทำให้เราสามารถเลือกที่จะเริ่มต้นอย่างไรก็ได้บนความอิสระดังกล่าว ในที่นี้มีประเด็นที่ขอเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้

1. ความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ
ปัจจุบันนี้การเรียนการสอนภาษาจีนในไทยได้มีความร่วมมือกับหลายๆฝ่าย บางแห่งก็ร่วมมือกับหน่วยงานของทางการจีนบางแห่งก็ร่วมมือกับไต้หวันหรือประเทศเพื่อนบ้านในขณะที่บางแห่งก็ร่วมมือมากกว่าหนึ่งฝ่าย หรือไม่ก็ร่วมมือกับประเทศตะวันตกแต่โดยมากแล้ว จีนมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับไทยมากกว่าทุกๆ ฝ่ายความร่วมมือเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นอย่างยิ่งเพราะแต่ละประเทศย่อมมีประสบการณ์ในการเรียนการสอนไม่เหมือนกันประโยชน์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนกันย่อมมีอยู่ในตัว

ประเด็นก็คือ แม้ความร่วมมือจะเป็นสิ่งที่ดีก็จริงแต่เราก็จะควรตระหนักอยู่เสมอว่าแต่ละประเทศแม้จะมีประสบการณ์หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีเลิศอย่างไรข้อดีนั้นอาจชัดเจนในเรื่องทางเทคนิคและเป็นข้อดีที่เกิดบนประสบการณ์ที่มีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกันไปที่จะให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าใจพื้นฐานความเป็นไปของสังคมไทยโดยสมบูรณ์นั้นคงเป็นไปได้ยาก และคงไม่ดีไปกว่าคนไทย

เหตุดังนั้น ภายใต้ประโยชน์ที่เกิดจากความร่วมมือดังกล่าวถึงที่สุดแล้วเราต่างหากที่พึงพิจารณาได้เองว่าการเรียนการสอนในแนวทางใดที่เหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุดการที่จะเป็นเช่นนี้ได้ก็มีแต่หนทางเดียวคือไทยเราควรที่จะเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเมื่อถึงเวลาหนึ่งของความร่วมมือ เราก็ควรที่จะมีหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดจนตำราที่เป็นของเราเอง หากทำเช่นนี้ได้ไม่เพียงประโยชน์จะตกแก่ผู้เรียน ผู้สอนและผู้ใช้ภาษาจีนโดยตรงเท่านั้นแต่ที่สำคัญยังหมายถึงความอิสระในการกำหนดการใช้ภาษาจีนโดยปราศจากการครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

2.การใช้ประโยชน์จากความเป็นจีน
แม้ชาวไทยส่วนใหญ่ในทุกวันนี้จะห่างเหินจากความเป็นจีนไกลออกไปทุกทีความห่างเหินนั้น ก็เป็นไปแต่โดยการสืบทอดในเชิงสายเลือดและวัฒนธรรมเท่านั้นทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นจีนยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ไม่น้อยในชีวิตประจำวัน ความเป็นจีนในหลายๆส่วน นับว่าเป็นต้นทุนที่มีประโยชน์อยู่ไม่น้อยขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ต้นทุนนั้นให้เกิดประโยชน์หรือไม่ อย่างไร

ต้นทุนจากความเป็นจีนที่ว่าก็เช่นการที่ไทยเราได้มีงานแปลวรรณกรรมหรือพงศาวดารจีน ไม่ว่าจะเป็นสามก๊ก เลียดก๊กไซฮั่น ตงฮั่น ซ้องกั๋ง ไซอิ๋ว ฯลฯหรือการที่ชาวไทยเรายังมีโอกาสได้สัมผัสกับประเพณีจีน ผ่านเทศกาลต่างๆ ได้โดยตรง (ซึ่งในบางประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของภาษาจีนไม่ต่างกับไทยจะไม่มีปรากฏการณ์นี้ดำรงอยู่ หรือไม่ก็มีแต่น้อย)ต่างก็มีประโยชน์ในแง่ที่เป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวเรื่องจีน ได้เป็นอย่างดีและเมื่อไปอ่านฉบับภาษาจีน หรือไปสัมผัสกับประเพณีจีนในปัจจุบันก็จะเข้าใจมากขึ้นหรือไม่ก็พบความแตกต่างมากขึ้น

ประโยชน์โดยตรงในแง่นี้มีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่งการทำความเข้าใจความคิดความเชื่อของสังคมจีนได้ง่ายขึ้น และสองการเพิ่มทักษะในการใช้ภาษาจีนให้แก่ผู้เรียนและผู้สอนถึงแม้ความเป็นจีนที่ยกตัวอย่างมา จะมีปัญหาตรงที่เป็นภาษาจีนท้องถิ่นก็ตามในประเด็นนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดยตรงอาจพิจารณาได้เองในแง่ของความเหมาะสม

3.ภาษาจีนกับภาษาไทย
แม้ทุกวันนี้การเรียนการสอนภาษาจีนจะสอนการออกเสียงผ่านระบบพินอินหรือระบบอื่นก็ตามแต่ถึงที่สุดแล้ว ในเวลาที่ใช้จริงก็คงหลีกเลี่ยงการออกเสียงผ่านอักขระไทยไปไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ภาษาไทยมีข้อดีอยู่เรื่องหนึ่งคือภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์พอที่จะใช้กับภาษาจีนได้ โดยไม่ขัดกัน (ไทยมี 5 เสียง จีนมี 4 เสียง) ตรงนี้นับเป็นประโยชน์ของภาษาไทยโดยแท้

ปัญหาที่ปรากฏอยู่ก็คือการออกเสียงผ่านสระบางเสียงที่สัมพันธ์กับการออกเสียงควบกล้ำ เช่นการออกเสียงผ่านสระในตัวโรมันว่า uan ที่ยังมีความลักลั่นระหว่างการเป็นเสียงในตัวไทยว่า อวน กับ เอวียน (อว ควบกล้ำ)ดังจะเห็นได้จากคำว่า หยวน หากใช้เรียกชื่อสกุลเงินจีนแผ่นดินใหญ่แล้วก็มักจะใช้เช่นนั้น แต่ในหลายกรณีก็พบว่า หากเป็นชื่อบุคคลหรืออื่นๆที่ชาวไทยไม่คุ้นเคยแล้ว ผู้ใช้จะเขียนให้ออกเป็นว่า เยวี๋ยนซึ่งเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงจีนกลางมากกว่าเสียงแรก แต่ปัญหาคือวิธีการเขียนอาจผิดหลักภาษาไทย

อย่างไรก็ตาม ในชั้นหลังมานี้ได้มีการนำเครื่องหมาย “ยมการ” กลับมาใช้ใหม่โดยเครื่องหมายนี้ จะถูกกำกับไว้หลังคำที่ออกเสียงกึ่งหนึ่ง ดังนั้นเวลาเขียนจึงไม่ผิดหลักภาษาไทย อย่างเช่น ชื่อของอดีตจักรพรรดิจีนพระองค์หนึ่งคือกวางซี่ว์ นั้น ตัว ซี่ว์ หากมีเครื่องหมาย “ยมการ” กำกับก็จะเขียนได้โดยไม่ผิดหลักภาษา ปัญหาก็คือ ขณะนี้ซึ่งเป็นปี 2007 เครื่องหมายนี้ยังมีในโปรแกรมคอมพิวเตอร์น้อยมาก (ในที่นี้จึงขอแทนด้วยเครื่องหมายการันต์) เชื่อว่าในอนาคตหากเครื่องหมายนี้ถูกใช้แพร่หลายแล้วความลักลั่นในการออกเสียงดังกล่าวน่าจะแก้ได้

แต่กระนั้น ปัญหาการทับศัพท์ไม่ได้มีเพียงที่ยกมาในความเป็นจริงแล้วยังมีรายละเอียดมากกว่านั้นอีกมากและด้วยเหตุที่ปัญหานี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและการใช้ภาษาจีนอยู่ไม่น้อย การอภิปรายถกเถียงหรือศึกษาวิจัยจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมายังเห็นได้ว่าต่างฝ่ายต่างทำไปอย่างอิสระ ฉะนั้น ถ้าทำได้อย่างเป็นเอกภาพโดยละมายาคติลงได้แล้วอิสระที่ว่าก็จะเพิ่มพลังให้แก่คุณภาพภาษาจีนในไทยได้ไม่น้อย

4. ภาษาจีนกับความรู้เรื่องจีน
ปัญหาข้อหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาจีนในทุกวันนี้คือการที่ความรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดี ไม่ได้หมายรวมว่าจะต้องมีความรู้เรื่องจีนไปด้วยซึ่งผิดไปจากความคาดหวังของผู้ที่ต้องการใช้ผู้รู้ภาษาจีน มาช่วยในกิจการงานของตนปัญหานี้มาจากการเรียนการสอนภาษาจีน ที่ยังขาดเอกภาพระหว่างความรู้ในทางภาษาศาสตร์กับความรู้ในทางจีนศึกษา (Chinese Studies) หรือจีนวิทยา (Sinology)

ความรู้ในเชิงภาษาศาสตร์ยังไม่ใช่ปัญหาหลักเพราะแทบทุกสถานศึกษามักจะต้องให้ความรู้ด้านนี้เป็นปกติอยู่แล้ว เหตุฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยู่ตรงคำถามที่ว่า ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากอะไร เช่นเป็นเพราะตัวผู้เรียน ไม่ใส่ใจต่อความรู้ทางด้านจีนศึกษา หรือจีนวิทยาหรือเป็นเพราะตัวหลักสูตรไม่เอื้อ หรือไม่เปิดพื้นที่ให้กับความรู้ทางด้านที่ว่าการพบสาเหตุของปัญหา น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไม่น้อย

อนึ่งความคาดหวังเกี่ยวกับความรู้ในทางจีนศึกษาหรือจีนวิทยาที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหานั้นมิใช่ความคาดหวังที่เล็งผลเลิศแต่อย่างใด แต่เป็นความคาดหวังในระดับพื้นๆที่ต่างก็เชื่อว่า ผู้ที่มีความรู้ภาษาจีนดีน่าที่จะมีความรู้พื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องจีนพอสมควร เช่นรู้ว่าผู้นำจีนคนปัจจุบันชื่ออะไร หรือคนชื่อ ซุนยัตเซ็น เหมาเจ๋อตง หรือเติ้งเสี่ยวผิง คือใคร มีความสำคัญต่อจีนอย่างไรหรือนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นอย่างไร และส่งผลเช่นใด เป็นต้นแต่ความจริงก็คือว่า ความคาดหวังในระดับพื้นๆ เช่นนั้นกลับไม่ปรากฏ

อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของประเด็นนี้กลับไม่ได้อยู่ตรงความคาดหวังว่าพึงมีสูงหรือต่ำมากหรือน้อยแค่ไหน หากอยู่ตรงที่ทำอย่างไร จึงจะให้ผู้รู้ภาษาจีนมีความรู้เรื่องจีนในลักษณะที่เป็นองค์รวม (holistic) อย่างแท้จริงคือไม่จำเป็นต้องรู้ไปหมดทุกเรื่องแต่ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบหรือเข้าใจโจทย์เรื่องจีนอย่างเชื่อมโยงกันไม่ใช่รู้เรื่องจีนแต่เฉพาะที่จะทำให้ตนมั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้น

แท้ที่จริงแล้ว ความรู้ในเรื่องจีนหรือเรื่องของเพื่อนบ้านประเทศอื่นใดก็ตามเรารู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจที่ดีต่อกันด้วยผลประโยชน์ที่พึงได้ร่วมกัน และด้วยสันติสุขร่วมกัน

กถาปิด สรุปความสำคัญในตอนท้าย
ภาษาจีนในยุคสมัยของเราเป็นภาษาจีนที่มีพัฒนาการที่แตกต่างไปจากในที่อื่นๆภายใต้เงื่อนปัจจัยภายในที่ไม่เหมือนกันในแต่ละที่แต่ละแห่งแต่พัฒนาการเฉพาะของไทยนั้นมีส่วนไม่มากก็น้อยในการทำให้ภาษาจีนในยุคสมัยของเราเป็นอย่างที่เห็นซึ่งหากกล่าวสำหรับการเรียนการสอนแล้วก็คือยังไม่อาจเล็งผลเลิศได้อย่างที่หวังที่ต้องการ

ประเด็นที่นำเสนอในที่นี้ก็คือว่าการที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจุดเริ่มแรกของภาษาจีนเมื่ออดีตนั้นมีเหตุผลมาจากความต้องการสืบทอดความเป็นจีนเอาไว้และเมื่อความเป็นจีนกลายเป็นอุปสรรคในสายตาของผู้นำไทยในยุคหนึ่งภาษาจีนจึงถูกจำกัดขอบเขตลง ตราบจนเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปีเมื่อภาษาจีนถูกปลดปล่อยอีกครั้งหนึ่งภาษาจีนก็ตกอยู่ในสภาพที่จำต้องเริ่มต้นกันใหม่

หากเราเชื่อว่า ไม่มีการเริ่มต้นในเรื่องใดที่ไม่มีปัญหาแล้วเราก็ควรเชื่อด้วยว่า การเริ่มต้นอย่างมีอิสระที่แท้จริงนั้นย่อมนำไปสู่การค้นพบสิ่งที่ดีๆ ได้ด้วยเช่นกัน

กล่าวสำหรับยุคสมัยของเราแล้ว ภาษาจีนได้พ้นห้วงแห่งวิบากกรรมมาอย่างแสนสาหัส (อย่างน้อยก็ทำให ้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ภาษาจีนในการดำเนินชีวิตเกิดปัญหาในระดับหนึ่ง) ไปแล้วก็จริง แต่เราก็มาพบว่าจุดเริ่มแรกในอดีตเกี่ยวกับความเป็นจีน ไม่ใช่โจทย์สำคัญอีกต่อไปและโจทย์สำคัญในปัจจุบันก็คือ ทำอย่างไรภาษาจีนที่ต้องเริ่มต้นใหม่นี้สามารถดำเนินไปได้โดยอิสระอย่างแท้จริง

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ภาษาจีนในยุคสมัยของเราก็คือภาษาจีนที่ก้าวจากความเป็นจีนสู่ความเป็นไทนั่นเองมีแต่การใช้ประโยชน์จากความเป็นไทที่ว่านี้อย่างเหมาะสม และเป็นธรรมเท่านั้นภาษาจีนในยุคสมัยของเรา จึงจะมีคุณภาพและสง่างามอย่างแท้จริง

เชิงอรรถ

1 ทั้งนี้จากการบอกเล่าของนักธุรกิจเชื้อสายจีนท่านหนึ่งที่ให้ข้อมูลว่า ตัวท่านได้เข้าเรียนในจีนแผ่นดินใหญ่ในสมัยที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) ด้วยซ้ำไปอันเป็นช่วงที่จีนกำลังดำเนินนโยบายสังคมนิยมอย่างสุดโต่งซึ่งถือว่าเสี่ยงไม่น้อยสำหรับคนที่มาจากสังคมที่ติดข้างจะเสรีอย่างท่าน (หมายถึงไปจากประเทศไทย) ท่านยังเล่าอีกว่า นอกจากท่านแล้วก่อนหน้าท่านก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งอีกด้วย.

2 จนถึง ค.ศ.1986 จีนได้ปฏิรูปอักษรตัวเขียนจากตัวเต็มมาเป็นตัวย่อไปแล้วรวม 2,235 ตัว แต่หลังจากนั้นก็ยังมีการปฏิรูปเรื่อยมาโดยมีการเพิ่มจำนวนออกมาเป็นระยะๆ จนทุกวันนี้จึงน่ามีมากกว่าจำนวนที่ระบุเอาไว้.

3 เป็นที่รู้กันว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นใหม่ที่เรียนภาษาจีน (ซึ่งเป็นภาษาแม่ของตน) แบบตัวย่อนั้น ไม่ค่อยรู้จักตัวเต็มกันแล้วหรือถ้ารู้ก็รู้เพียงไม่มากเท่าที่ทางการได้ปฏิรูปไปปัญหานี้นับว่าน่าคิดและน่าศึกษามาก.

หมายเหตุบทความชิ้นนี้แก้ไขเพิ่มเติมบทปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 เรื่อง “การเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนนอกระบบ” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ณห้องมาลัย หุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การสัมมนาฯนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย” อันอยู่ภายใต้การดำเนินการของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ .

พร้อมกันนั้นนักศึกษาของ มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

ได้หาข้อมูลในส่วนนี้ที่เป็นสาระเนื้อหาเพื่อทำความเข้าใจกับการเรียนการสอนภาษาไทยให้ชัดเจน และดียิ่งขึ้น

บรรณานุกรม

เขียนโดย วรศักดิ์มหัทธโนบล
อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor

ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 7 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวันกรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 0-2218-7464, 0-2218-7466 โทรสาร 0-2255-1124

Thai World Affairs Center, Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University
7th Floor, Prajadhipok-Rambhai Barni Building, Phyathai Road, Bangkok 10330 Thailand
Tel: +66 (0) 2218-7464, 2218-7466 Fax: +66 (0) 2255-1124

เอกสารที่ใช้ประกอบการเขียน

นักศึกษาของ มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.

เซี่ยกวง. กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย (ค.ศ.1906-1939). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.

ถาวร สิกขโกศล. ภาษาจีน: เส้นทางสร้างชาติและวัฒนธรรม. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2549): 81-107.
เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์.การควบคุมโรงเรียนจีนของรัฐไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.2475 ถึง 2487). วารสารประวัติศาสตร์ 2550. หน้า 100-118.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. อยุธยายศยิ่งฟ้า. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม, 2544.

เออิจิ มูราซิมา. การเมืองจีนสยาม. แปลโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล และ เออิจิมูราซิมา. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.