การเจริญเติบโตและการพัฒนาการมีความสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร

ความหมายของพัฒนาการ
พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านโครงร่าง (Structure) และแบบแผน (Pattern) ของร่างกายทุกส่วนอย่างมีขั้นตอนและเป็นระเบียบแบบแผน นับแต่เริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิง คุณภาพ (Quality) เพื่อให้บุคคลนั้นพร้อมจะแสดงความสามารถในการกระทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับวัย
ในการที่พัฒนาการของคนจะสมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของบุคคล 3 ประการ ได้แก่
1. การเจริญเติบโต (Growth)
การเจริญเติบโต หมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางร่างกายที่มีความเกี่ยวข้องกับ ขนาด น้ำหนัก ส่วนสูง กระดูก กล้ามเนื้อ รูปร่าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงของปริมาณ เช่น ส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น การปรากฏสัดส่วนวัยสาวของเด็กหญิง เป็นต้น
2. วุฒิภาวะ (Maturation)
วุฒิภาวะ หมายถึง การเจริญเติบโตของโครงสร้างทางร่างกายอย่างเป็นลำดับขั้นตามธรรมชาติจนถึงจุดสูงสุด มีผลให้เกิดความพร้อมที่จะประกอบกิจกรรมได้เหมาะสมกับวัย เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่การเรียนรู้หรือประสบการณ์
3. การเรียนรู้ (Learning)
การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างค่อนข้างถาวร อันเนื่องมาจากการฝึกฝน ฝึกหัด หรือประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ พฤติกรรมนั้น ๆ จะมีความเชี่ยวชาญชำนาญมากขึ้นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนหรือประสบการณ์ที่ผ่านมา นั่นคือ การเรียนรู้มีความสัมพันธ์ไปพร้อมกับการเจริญเติบโตและวุฒิภาวะของบุคคล

หลักของพัฒนาการ Principle of Development  

อาร์โนลด์ จีเซลล์ ได้สรุปหลักของพัฒนาการของมนุษย์ ได้ดังนี้
1. พัฒนาการของมนุษย์มีทิศทาง (Principle of Directions)
ธรรมชาติได้กำหนดทิศทางของพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทิศทาง ได้แก่
1) ทิศทางจากส่วนบนลงสู่ส่วนกลาง (Cephalocaudal Law) เป็นการพัฒนาในแนวดิ่ง โดยยึดศีรษะเป็นอวัยวะหลัก คือ อวัยวะใดที่อยู่ใกล้ศีรษะมากที่สุด บุคคลก็จะสามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะส่วนนั้นได้ก่อนอวัยวะอื่น ๆ ดังนั้นเด็กจึงขยับศีรษะได้ก่อนส่วนอื่นๆ
2) ทิศทางจากส่วนใกล้ไปสู่ส่วนไกล (Proximodistal Law) เป็นการพัฒนาในแนวขวาง โดยยึดลำตัวเป็นอวัยวะหลัก คืออวัยวะใดก็ตามที่อยู่ใกล้ร่างกายมากที่สุดจะสามารถควบคุมได้ก่อนส่วนอื่น ๆ ดังนั้นเด็กจึงขยับร่างกายได้ก่อนส่วนอื่น ๆ
2. พัฒนาการของมนุษย์มีลักษณะต่อเนื่อง (Principle of Continuity)
พัฒนาการใดด้านใดก็ตามต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เกิดได้โดยฉับพลันทันทีทันใด โดยเริ่มพัฒนาการตั้งแต่วัยเด็ก และพัฒนาการถึงขีดสุดในวัยผู้ใหญ่ และเสื่อมลงเมื่อถึงวัยชราตามลำดับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตามลำดับ และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ร่างกาย
3. พัฒนาการของมนุษย์เป็นไปตามลำดับขั้น (Principle of Developmental Sequence)
พัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายต่างก็มีแบบแผนเฉพาะของตน เมื่อพัฒนาการมีลักษณะต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะข้ามขั้นได้ และเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น เด็กจะเริ่มพัฒนาการจากหงาย คล่ำ คืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน และวิ่ง เป็นต้น
4. พัฒนาการของมนุษย์ต้องอาศัยวุฒิภาวะและการเรียนรู้ (Principle of Maturation and Learning)
ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) ได้กล่าวว่า เราไม่มีทางแยกวุฒิภาวะกับการเรียนรู้ออกจากันได้โดยเด็ดขาด วุฒิภาวะนั้นเป็นความพยายามขั้นต้นของสิ่งมีชีวิตในการจัดระบบเพื่อเตรียมให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ต่าง ๆ อันยังประโยชน์ให้กับตนเอง ส่วนการเรียนรู้เป็นการเพิ่มความชำนาญให้กับประสบการณ์นั้น ๆ
5. พัฒนาการของมนุษย์แต่ละบุคคลมีอัตราแตกต่างกัน (Principle of Individual Growth Rate)
ด้วยวุฒิภาวะเป็นปัจจัยต่อการเกิดพัฒนาการของมนุษย์ดังนั้นช่วงชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นจะมีความถึงพร้อมซึ่งวุฒิภาวะแตกต่างกัน เช่น ในเด็กหญิงจะถึงวุฒิภาวะของความเป็นสาวเร็วกว่าการถึงวุฒิภาวะความเป็นหนุ่มของเด็กชาย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พัฒนาการของบุคคลนั้นมีอัตราที่ไม่เท่าเทียมกัน จากหลักของพัฒนาการดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปลักษณะเด่นของพัฒนาการได้ ดังนี้
1. พัฒนาการเป็นไปตามแบบฉบับของตัวเอง
2. พัฒนาการไม่ว่าด้านใดก็ตามจะเริ่มจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อย ๆ
3. พัฒนาการทั้งหลายเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันไป
4. อัตราพัฒนาการของบุคคลจะแตกต่างกันไป
5. คุณลักษณะต่าง ๆ ของพัฒนาการจะมีความสัมพันธ์กัน
6. พัฒนาการเป็นสิ่งที่สามารถทำนายได้
7. พฤติกรรมที่มองแล้วว่าเป็นปัญหา แท้จริงอาจเป็นเพียงพฤติกรรมปกติตามลักษณะของพัฒนาการ

ทฤษฎีพัฒนาการTheories of Development
การศึกษาทำความเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนนั้น ผู้ศึกษาควรมีความรู้ในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีพัฒนาการขั้นพื้นฐานเสียก่อน ซึ่งทฤษฎีที่สำคัญ ได้แก่
1. พัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Freud’s Psychosexual and Personality Development)
2. ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของอีริกสัน (Erikson’s Psychosocial Theory)
3. ทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเพียเจต์ (Piaget’s Cognitive Develpoment Theory)
4. ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคห์ลเบิร์ก (Kohlberg’s Moral Development)
พัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Freud’s Psychosexual and Personality Development)
ซิกมันด์ฟรอยด์(SimundFreud)ผู้นำกลุ่มจิตวิเคราะห์ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีทางพัฒนาการไว้ว่าพัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของบุคคล ต้องอาศัยการพัฒนาที่ต่อเนื่องอย่างเป็นลำดับขั้นจนกลายเป็นบุคลิกภาพที่ถาวรในที่สุด ซึ่ง ฟรอยด์ได้ให้ความสำคัญกับ ช่วงระยะวิกฤติ (Crisis Period) นั่นคือช่วงระยะแรกเกิดถึงห้าปี ด้วยเหตุที่ว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมความต้องการในการแสวงหาความสุขและความพึงพอใจ (Pleasure Principle) ให้กับตนเอง ฟรอยด์ได้เสนอแนวคิดว่าคนเราจะมีบริเวณที่ต้องการให้สนองตอบที่เรียกว่า อีโรจีเนียส (Erogenous zone) ซึ่งบริเวณที่ว่านี้จะเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของอายุ ถ้าบริเวณอีโรจีเนียสไปหยุดอยู่ตรงที่ใดแล้ว ไม่ได้รับการสนองตอบที่พึงพอใจ จะเกิดการติดตรึงหรือชะงักงัน (Fixation) ซึ่งทำให้มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลผู้นั้นไปตามบริเวณที่เกิดการติดตรึง

ซึ่งฟรอยด์ได้กำหนดบริเวณที่อีโรจีเนียสเคลื่อนที่ไปตามอายุไว้ 5 ระยะ ดังนี้
1) ระยะปาก (Oral Stage)
มีช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี เป็นระยะที่ปากไวต่อการตอบสนองความสุขนั่นคือบริเวณอีโรจีเนียสอยู่ที่ปากเด็กจึงใช้ปากเพื่อสร้างความพึงพอใจ เช่น กัด ดูด อม ทำเสียงต่าง ๆ หากเด็กถูกขัดขวางในการตอบสนองด้วยปาก เช่น การถูกบังคับให้หย่านมเร็วเกินไป หรือต้องร้องเป็นระยะเวลานานจึงจะได้ดูดนม เป็นต้น จะทำให้เกิดการติดตรึงกับระยะปาก ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมชดเชยให้กับตนเองเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เช่น ติดบุหรี่ การพูดมาก ชอบนินทา รับประทานของจุบจิบ กัดเล็บ เป็นต้น
2) ระยะทวาร (Anal Stage)
มีช่วงอายุตั้งแต่ 2-3 ปี เป็นระยะที่บริเวณอีโรจีเนียสย้ายไปอยู่บริเวณช่องทวารเด็กจึงมีความพึงพอใจในการขับถ่าย การฝึกฝนการขับถ่ายควรเป็นไปด้วยความอ่อนโยน ค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้วิธีการข่มขู่ บังคับ หรือลงโทษเพื่อให้ขับถ่ายตรงเวลา มิฉะนั้นจะเกิดการติดตรึงจนส่งผลถึงบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น เช่น ชอบสะสมของ ตระหนี่ หวงของ ชอบนั่งติดอยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน ๆ เจ้าระเบียบ ย้ำคิดย้ำทำเรื่องความสะอาด ต่อต้านระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่ยอมใคร เป็นต้น
3) ระยะอวัยวะเพศ (Phallic Stage)
อยู่ในช่วงอายุ 3-5 ปี เป็นระยะที่ฟรอยด์ให้ความสำคัญมากที่สุดในระยะนี้ช่วงบริเวณอีโรจีเนียสย้ายบริเวณมาอยู่ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นเด็กจึงพึงพอใจที่จะสัมผัสอวัยวะเพศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการซักถามและให้ความสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจและดุด่าว่ากล่าวเด็ก รวมทั้งขมขู่จนทำให้เด็กเกิดความกลัวจนถึงขั้นติดตรึงในระยะนี้ จะทำให้เด็กเกิดความแปรปรวนทางเพศในวัยผู้ใหญ่ได้
4) ระยะสงบ หรือระยะแฝง (Latency Stage)
อยู่ช่วงอายุระหว่าง 6-12 ปี ระยะนี้เด็กจะได้รับอิทธิพลทางสังคมและพัฒนาการทางสติปัญญาเป็นระยะของการหาบทบาทที่เหมาะสมให้กับตนเอง เด็กจะสนใจสิ่งแวดล้อมทางสังคมและบทบาททางเพศของตนเองแต่สามารถสะกดกลั้นความต้องการทางเพศที่เกิดขึ้นไว้ภายในจิตใต้สำนึก โดยเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น การเล่นกีฬา การอยู่กลุ่มเดียวกับเพื่อนเพศเดียวกัน เป็นต้น
5) ระยะสนใจเพศตรงข้าม หรือระยะวันรุ่น (Genital Stage)
อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยในระยะนี้ความต้องการทางเพศที่ถูกเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึกจะปรากฏขึ้นอีกครั้ง หากเด็กสามารถผ่านระยะอวัยวะเพศได้อย่างราบรื่น เด็กจะแสดงบทบาทความเป็นเพศที่ตรงกับเพศของตนเอง (Heterosexual) ได้อย่างเหมาะสม ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อไป

ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของอีริกสัน (Erikson’s Psychosocial Theory)
อิริก เอช. อีริกสัน (Erik H. Erikson) เป็นลูกศิษย์ที่เคยร่วมงานกับฟรอยด์ ดังนั้นจึงมีส่วนไม่น้อยที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของฟรอยด์ แต่ต่างกันที่อีริกสันเน้นความสำคัญไปยังปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางจิตใจมากกว่า นอกจากนั้น พัฒนาการของบุคคลมีการเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดไปจนถึงเสียชีวิต ไม่ใช่แค่เพียง 5 ระยะแรกแบบฟรอยด์ ลำดับขั้นแห่ง
พัฒนาการของอีริกสันจึงแบ่งได้ 8 ขั้นตอน ดังนี้
1) ขั้นความไว้วางใจและไม่ไว้วางใจ (Trust VS Mistrust)
อยู่ในช่วงแรกเกิดถึง1ปีอีริกสันให้ความสำคัญมากเพราะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางสังคมต่อไปเด็กในวัยนี้ต้องได้รับความเอาใจใส่จากคนใกล้ชิด เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อเติบโตขึ้นเด็กจะเกิดความไว้วางใจสังคม เห็นความสำคัญในการพึ่งพากันและกัน แต่หากตรงกันข้าม เด็กจะรู้สึกไม่วางใจสังคม ทางสังคม ในแง่ร้าย หลีกหนีสังคม 
2) ขั้นของความเป็นตัวของตัวเองกับความไม่มั่นใจในตัวเอง (Autonomy VS Doubt)
อยู่ในช่วงอายุ 2-3 ปี เป็นระยะที่กล้ามเนื้อของเด็กแข็งแรงมากขึ้น และอวัยวะต่าง ๆ มีการประสานงานกันดีขึ้น จึงเป็นช่วงระยะที่เด็กแสดงออกทางกิจกรรมหลาย ๆ อย่างให้เห็น พ่อแม่ควรให้อิสระกับเด็กในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง
3) ขั้นความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด (Initiative VS Guilt)
อยู่ในช่วงอายุ 3-5 ปี เด็กในวัยนี้สามารถสร้างจินตนาการของตนขึ้นมาได้และมีความคิดริเริ่มเป็นของตนเอง การเล่นของเด็กในวัยนี้จึงมีความสำคัญ เนื่องจากเด็กใช้ของเล่นทั้งหลายแทนจินตนาการ เด็กในวัยนี้ต้องการความมีอิสระโดยไม่ต้องพึงพาผู้ใหญ่ มีการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดตน ซึ่งคล้ายคลึงกับช่วงระยะปม ออดิปุสและปมอิเล็กตราของฟรอยด์ หากพ่อแม่ส่งเสริมการทำกิจกรรมของเด็กและยอมรับผลงานของเด็กแล้ว เด็กจะเกิดความกล้าแสดงออกและความคิดริเริ่มใหม่ ๆ
4) ขั้นความขยันหมั่นเพียรกับมีปมด้อย (Industry VS Inferiority)
อยู่ในช่วงอายุ 6-11 ปี การที่อีริกสันใช้คำว่า Industry เพราะในวัยนี้เป็นวัยที่ไม่อยู่นิ่ง มีการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ตลอดเวลา ทำสิ่งที่ตนอยากทำ และภูมิใจในความสำเร็จของผลงานที่เกิดจากตนเอง ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรให้กำลังใจและชี้แนะให้เด็กสามารถบรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหวังของเขา เด็กจะเชื่อความเชื่อมั่นในความสามารถของตนและมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ในทางกลับกัน ถ้าขาดผู้ใหญ่คอยแนะนำ หรือมีการตั้งความคาดหวังในตัวเด็กสูงเกินไป
5) ขั้นรู้จักตนเองกับไม่รู้จักตนเอง (Identity VS Role Confusion)
อยู่ในช่วง 12-18 ปี ซึ่งเป็นระยะวัยรุ่น ขั้นนี้ถือว่าเป็นขั้นวิกฤติมากที่สุด เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าไม่สามารถลุล่วงไปด้วยดีจะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพสับสนในตนเอง และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่บุคลิกภาพไม่มั่นคงในอนาคต เด็กจะละบทบาทของเด็กและเริ่มเข้าสู่บทบาทผู้ใหญ่ เด็กจะแสวงหาตัวเองเพื่อให้รู้จักตนเองในแง่มุมต่าง ๆ หากเด็กผ่านขั้นนี้ได้ เด็กจะเกิดความจงรักภักดีต่ออุดมคติกลุ่มบุคคลศาสนาวัฒนธรรมซึ่งช่วยในการคลายความสับสนในตนเองจนสามารถผ่านพ้นวิกฤติของวัยนี้ไปด้วยดี
6) ขั้นความคุ้นเคยผูกพันกับการแยกตนเองหรืออ้างว้าง (Intimacy VS Isolation)
ระยะนี้อยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นวัยที่บุคคลเริ่มรู้จักตนเอง ค้นพบตนเอง รู้จักวางแผนชีวิต และพร้อมที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามในฐานะของเพื่อนสนิท ถือว่าเป็นวัยแห่งการแต่งงาน พัฒนาการในด้านนี้เป็นไปได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในตนเอง และความสำเร็จของการผ่านพัฒนาการในระยะแรก ๆ ถ้าบุคคลสามารถผ่านระยะนี้ได้จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เห็นคุณค่าในตนเอง และให้ความนับถือซึ่งกันและกัน เป็นพื้นฐานในการสร้างพัฒนาการทางความรัก แต่หากเป็นในทางตรงกันข้าม บุคคลนั้นจะเกิดอุปสรรคในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น กลายเป็นคนอ้างว้าง ว้าเหว่ จนกลายเป็นคนรักตนเองและไม่สามารถแสดงความรักต่อผู้อื่นได้ (Nacissism)
7) ขั้นห่วงชนรุ่นหลังกับคิดถึงแต่ตนเอง (Generativity VS Stagnation) หรือขั้นความเป็นพ่อแม่กับขั้นความหยุดนิ่ง (Parenta lVS Stagnation)
ขั้นนี้อยู่ในช่วงผู้ใหญ่ตอนกลางหรือวัยกลางคน เป็นวัยแห่งความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง จะต้องแสดงความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ มีความมุมานะที่จะสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว อบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิต หากบุคคลประสบความล้มเหลวขากพัฒนาการขั้นต้น ๆ บุคคลจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ เกิดปมด้อย ไม่คิดถึงคนอื่นนอกจากตัวเอง
8) ขั้นความรู้สึกมั่นคงทางใจกับท้อแท้สิ้นหวัง (Integrity VS Despair) หรือขั้นบุคลิกภาพที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ เป็นระยะขั้นปลายของชีวิต ในขั้นนี้จึงเป็นขั้นรวมของพัฒนาที่ผ่านมาทั้ง 7 ขั้น ถ้าบุคคลที่อยู่ในปัจจุบันยอมรับกับตนเองได้ว่าชีวิตที่ผ่านมาตนประสบความสำเร็จและความสุข และสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์แล้ว จะทำให้เกิดการยอมรับสภาพของตนเองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลมีปัญหาในพัฒนาการที่ผ่านมา และสะสมปัญหาไปจนถึงข้นที่ 8 จะทำให้รู้สึกไม่พอใจต่อสภาพชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า บุคคลนั้นจะเต็มไปด้วยความผิดหวังและท้อแท้กับปัจจุบัน และไม่ยอมรับกับความตายที่กำลังจะมาถึง

ทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเพียเจต์ (Piaget’s Cognitive Develpoment Theory)

ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา โดยเขาพบว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา และก่อให้เกิดพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาขึ้น ซึ่งมีกระบวนการสำคัญ 2 อย่างคือ การดูดซึม (Assimilation) และ การปรับความแตกต่าง (Accommodation) ซึ่งกระบวนการดูดซึมจะเกิดขึ้นก่อน คือ เมื่อเด็กปะทะสัมพันธ์กับสิ่งใดก็จะดูดซึมภาพ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามประสบการณ์ที่เคยประสบ และแสดงพฤติกรรมต่อสภาวะแวดล้อมใหม่ สำหรับพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเพียเจต์นั้นสามารถแบ่งขั้นตอนทั้งสิ้น 4 ลำดับขั้น ได้แก่
ระยะที่ 1 ขั้นของการใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (Sensory – Motor Operation or Reflexive)อยู่ในช่วงอายุแรกเกิดถึง 2 ปี เด็กจะพัฒนาการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องใช้ภาษาเป็นสื่อ เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการใช้ประสาทสัมผัสมากเท่าไรก็จะช่วยพัฒนาเชาวน์ปัญญาได้มากขึ้นด้วย โดยทั่วไปเด็กจะรับรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมได้เท่านั้น
ระยะที่ 2 ขั้นเตรียมความคิดที่มีเหตุผล หรือการคิดก่อนปฏิบัติการ (Preoperation or Preconceptural Stage or Concret Thinking Operations)
อยู่ในช่วงอายุ 2-7 ปี พัฒนาการเชาว์ปัญญาของเด็กวัยนี้เน้นไปที่การเรียนรู้ และเริ่มมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้นด้วย โดยสามารถพูดได้เป็นประโยค มีการสร้างคำได้มากขึ้น แต่เด็กยังไม่สามารถใช้สติปัญญาคิดได้อย่างเต็มที่ 
ระยะที่ 3 ขั้นคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นรูปธรรม (Concrete Operation Stage or Period of Concrete Operation) หรือขั้นปฏิบัติการด้วยรูปธรรม
อยู่ในช่วงอายุ 7-11 ปี เด็กในวัยนี้จะสามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจปัญหา ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น โดยลักษณะเด่นของเด็กวัยนี้คือ
1. สามารถสร้างจินตนาการในความคิดของตนขึ้นมาได้ (Mental Representations)
2.เริ่มเข้าใจเกี่ยวกับการคงสภาพปริมาณของสสาร (Conservation)่
3.มีความสามารถในการคิดเปรียบเทียบ (Relational Terms)
4.สามารถสร้างกฎเกณฑ์เพื่อจัดสิ่งแวดล้อมเป็นหมวดหมู่ได้ (Class inclusion) เช่น การแบ่งแยกประเภทของสัตว์ เป็นต้น
5.มีความสามารถในการเรียงลำดับ (Serialization and Hierarchical Arrangements)
6.สามารถคิดย้อนกลับไปมาได้ (Reversibility)
ระยะที่ 4 ขั้นของการคิดอย่างมีเหตุผลและอย่างเป็นนามธรรม (Formal Operation Stage or Period of Formal Operation) หรือขั้นการปฏิบัติการด้วยนามธรรม
อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เด็กจะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ได้ เข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นตัวของตัวเอง ต้องการอิสระ ไม่ยึดตนเป็นศูนย์กลาง รู้จักการใช้เหตุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคห์ลเบิร์ก (Kohlberg’s Moral Development)
เป็นทฤษฎีของลอเรนซ์ โคห์ลเบิร์ก (Lawrence Kohiberg) เป็นทฤษฎีที่มีแนวคิดพื้นฐานมาจากทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเพียเจต์ โดยได้ขยายขอบเขตงานวิจัยให้ครอบคลุมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โคห์ลเบิร์กได้สรุปทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของบุคคลออกเป็น 3 ระดับ ในแต่ละระดับนั้นยังสามารถแบ่งได้อีก 2 ขั้นตอน รวมทั้งสิ้น 6 ขั้นตอน ดังนี้
ระดับที่ 1 ระดับก่อนเกณฑ์ทางสังคม (Pre-conventional Level) ในระดับนี้เด็กจะรับรู้ถึงกฎเกณฑ์ที่ดีและไม่ดีจากคนที่มีอิทธิพลเหนือตน เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือเด็กที่โตกว่า และจะนึกถึงรางวัลและการลงโทษเป็นส่วนประกอบในการแสดงพฤติกรรม ในระดับนี้ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ขั้น ได้แก่
1. ขั้นของการลงโทษและเชื่อฟัง (Punishment and obedience orientation)
เป็นขั้นของการหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกลงโทษ เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ปี เป็นหลักของการใช้เหตุผลของการแสดงพฤติกรรมเป็น
เครื่องช่วยตัดสินว่าถูกหรือผิด เช่น ถ้าเด็กหยิบของโดยไม่ได้รับอนุญาตเด็กจะถูกตำหนิ เด็กจะรู้ทันทีว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควร และจะไม่แสดงพฤติกรรมเช่นนั้นอีก เพราะกลัวถูกตำหนิ เป็นต้น
2. ขั้นการแสวงหารางวัล (Naively egoistic orientation)
อยู่ระหว่างอายุ 7-10 ปี ในข้นนี้เด็กจะเลือกสนใจที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ทำไปแล้วจะได้รับรางวัลเท่านั้น เด็กยังไม่คำนึงถึงความเห็นอกเห็นใจ หรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พฤติกรรมของเด็กจะเป็นไปด้วยความพึงพอใจในรางวัลที่ได้รับมากกว่าการกลัวถูกลงโทษ
ระดับที่ 2 ระดับแสดงจริยธรรมตามกฎเกณฑ์ของสังคม (Conventional Level) พัฒนาการระดับนี้จะมีการแสดงออกของพฤติกรรมที่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมที่เป็นสมาชิกอยู่ โดยในขั้นนี้เด็กจะไม่คำนึงถึงรางวัลหรือการลงโทษแล้ว แต่จะยึดถือมาตรฐานที่สังคมกำหนด ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ขั้น ได้แก่
1. ขั้นทำตามเพื่อเพื่อนและสิ่งที่สังคมยอมรับ (Interpersonal concordance of “Goodboy-Nicegirl” orientation)
เป็นขั้นของการทำตามความคิดเห็นของผู้อื่น อยู่ในอายุระหว่าง 10-13 ปีเป็นระยะที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น จึงให้ความสำคัญกับเพื่อนและกลุ่มเพื่อนมาก ดังนั้นการปฏิบัติตนของเด็กจะยึดถือที่ที่กลุ่มคาดหวัง และเลือกเลียนแบบบุคคลที่ตนเห็นว่าดี (Goodboy – Nicegirl)
2. ขั้นกฎเกณฑ์และระเบียบ (Law and order orientation)
เป็นการทำตามหลักของหน้าที่ อยู่ระหว่างอายุ 13-16ปี เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าสังคมมีกฎระเบียบที่ถือปฏิบัติ และแต่ละคนมีหน้าที่บทบาทในสังคม ดังนั้นเด็กจะคิดว่าการเป็นคนดีคือการปฏิบัติตาม
ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมเหนือกฎเกณฑ์ทางสังคม (Post-conventional Level) ในขั้นนี้การแสดงพฤติกรรมเกิดจากการใชวิจารณญาณของตนเป็นมาตรฐานในการตัดสินการปฏิบัติ โดยปราศจากอิทธิพลของบุคคลและสิ่งแวดล้อมในสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขั้นนี้แบ่งแยกย่อยได้อีก 2 ขั้น ได้แก่
1. ขั้นทำตามสัญญา (Social contract orientation)
เป็นขั้นหลักการมีเหตุผลและเคารพตนเอง อยู่ในช่วงอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นขั้นที่บุคคลจะเน้นในเรื่องของมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับและปฏิบัติ โดยคำนึงถึงสิทธิของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงจะใช้วิจารญาณในการไต่ตรองการกระทำถึงสิ่งที่ตนเองจะกระทำลงไป เหมือนกับพยายามปฏิบัติตนเหมือนกับเป็นคำมั่นสัญญาที่ตนให้ไว้แก่สังคม เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตนเอง
2. ขั้นอุดมคติสากล (Universal ethical principle orientation)กฎระเบียบของสังคม และทำหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัดจะอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่วัยผู้ใหญ่เป็นต้นไป เป็นขั้นที่บุคคลจะสร้างอุดมคติและคุณธรรมประจำใจขึ้นมา เช่น ยึดหลักโลกบาลธรรม 2 คือ หิริ และโอตัปปะ ยึดหลักเมตตา หรือยึดหลักความยุติธรรม เป็นต้น เป็นขั้นที่มีความต้องการที่จะเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง
โคห์ลเบิร์กเชื่อว่าบุคคลนั้นจะดำเนินพัฒนาการไปทางจริยธรรมตามลำดับขั้น โดยไม่ข้ามขั้นตอน แต่ทั้งนี้บุคคลอาจติดชะงักในขั้นหนึ่งขั้นใดหรือไม่ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น ๆ

พัฒนาการในวัยทารก
วัยทารก (Infancy) อยู่ระหว่างแรกเกิด – 2 ปี ในวัยนี้พัฒนาการด้านต่าง ๆ ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการการของวัยต่อ ๆ ไป
1. การเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกาย (Growth and Physical Development)
วันทารกเป็นวัยที่มีพัฒนาการทางร่างกายมากกว่าทุกวัย โดยในปีแรกจะมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเจริญเติบโตปกติถึง 2 เท่า หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ในขวบปีที่สอง
พัฒนาการของทารกในช่วง 1 เดือนแรกที่เรียกว่า นีโอเนท (Neonate) นั้นถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ เช่น ต้องหายใจ ต้องทานอาหารเอง ขับถ่ายเอง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กในวัยนี้จะใช้ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (Reflex) ของร่างกายในการสนองตอบสิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดของตน เช่น การใช้ปฏิกิริยาสะท้อนในการดูดเมื่อมีวัตถุมาถูกบริเวณแก้มหรือริมฝีปาก เป็นต้น ปฏิกิริยาสะท้อนเหล่านี้จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ในวัยนี้ช่วงแรกเกิดถึง 2 ขวบครึ่งจะถือเป็นช่วงวิกฤติ ถ้าทารกไม่ได้รับการดูแลอย่างดีแล้วจะเป็นผลเสียกับพัฒนาการทางกายและทางใจของเด็กตลอดไปและแก้ไขได้ยากยิ่ง
2. พัฒนาการทางอารมณ์ (Emotion Development)
แคทเธอรีน บริดเจส (Katherine Bridges) ได้ศึกษาพัฒนาการทางอารมณ์ของมนุษย์ พบว่าอารมณ์ของมนุษย์จะเกิดตามลำดับขั้นทางธรรมชาติ ซึ่งอารมณ์แรกสุดของทารกก็คือ อารมณ์ตื่นเต้น (Excitement) ซึ่งแสดงออกโดยการร้องไห้ และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอารมณ์อื่น ๆ ก็จะปรากฏตามมา รวมทั้งสิ้น 11 อารมณ์ จนถึงอารมณ์สุดท้ายคือ อารมณ์ร่างเริงและสนุกสนาน
พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1) อารมณ์ที่เกิดขึ้นในเด็กจะเกิดมนช่วงสั้น ๆ และไม่คงทน
2) อารมณ์ที่เกิดในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยกว่า
|3) เด็กสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ชนิดหนึ่งไปสู่อีกชนิดหนึ่งได้
4) หาสาเหตุในการเกิดอารมณ์ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
3. พัฒนาการทางสังคม (Social Development)
อีริค เอช. อีริกสัน (Erik H. Erikson) ถือว่าวัยทารกเป็นวัยเริ่มต้นของ พัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ของพ่อแม่และบุคคลที่ใกล้ชิดต่อทารกด้วย
จากการทดลองของฮาร์โลว์ (Harlow) กับลูกลิงที่เกิดใหม่ โดยสร้างแม่ลิงเทียมให้สองตัว ตัวหนึ่งทำจากขดลวด อีกตัวหนึ่งทำจากผ้าขนหนู พบว่าลูกลิงจะให้ความสำคัญกับแม่ลิงผ้าขนหนูมากกว่าแม่ลิงขดลวด เมื่อเขาลองนำขวดบรรจุนมไปไว้ที่แม่ลิงขดลวด ปรากฏว่าลูกลิงเมื่อหิวนมจะเข้าไปหาแม่ลิงขดลวด เมื่ออิ่มแล้วก็จะรีบกลับมากอดแม่ลิงผ้าขนหนูอย่างรวดเร็ว จากทดลองต่อไปอีกพบว่า ลิงที่เติบโตลำพังโดยไม่มีแม่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว และไม่สามารถแสดงความรักต่อลูกได้เลยเมื่อมันได้เป็นแม่
จากการทดลองนี้ทำให้สามารถสรุปได้ว่า การขาดแม่และพ่อในวัยทารกจะส่งผลต่อพฤติกรรมในตอนโตได้
พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1) อารมณ์ที่เกิดขึ้นในเด็กจะเกิดมนช่วงสั้น ๆ และไม่คงทน
2) อารมณ์ที่เกิดในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยกว่า
3) เด็กสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ชนิดหนึ่งไปสู่อีกชนิดหนึ่งได้
4) หาสาเหตุในการเกิดอารมณ์ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
4. พัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual Development)
เพียเจต์ได้อธิบายว่าวันทารกเป็นวัยแห่งการเริ่มต้นแห่งพัฒนาการทางสติปัญญา เริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวแบบซ้ำ ๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมาย จนกลายมาเป็นการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาให้กับตนเอง ซึ่งการแสดงออกทางพฤติกรรมจะเป็นแบบลองผิดลองถูก (Trial and Error) ต่อมาจึงได้เริ่มมีพัฒนาการทางด้านภาษา จึงกล่าวได้ว่า พัฒนาการรากฐานของทารกนั้นจะดีเพียงใดขึ้นอยู่กับผู้เป็นพ่อแม่ และบุคคลใกล้ชิดที่จะส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสแสดงพฤติกรรมเพื่อสนองตอบสิ่งเร้าได้มากน้อยเพียงใดด้วย

พัฒนาการในวัยเด็ก
วัยเด็ก (Childhood) อยู่ในช่วงอายุประมาณ 3-12 ปี ความเจริญเติบโตส่วนใหญ่จะเป็นด้านกระดูก กล้ามเนื้อ และการประสานการทำงานของระบบร่างกายต่าง ๆ แต่มีอัตราที่ช้ากว่าทารก แต่จะมีอัตราที่รวดเร็วในช่วงปลายของวัย นักจิตวิทยาได้แบ่งวันเด็กออกอีก 3 ระยะย่อย ได้แก่
ระยะที่ 1 วัยเด็กตอนต้น หรือวัยเด็กเล็ก หรือวัยอนุบาล (ช่วงอายุ 3 - 5 ปี)
เป็นวัยที่มีความก้าวหน้าทางพัฒนาการในทุกด้าน ได้แก่
1. พัฒนาการทางร่างกาย
เป็นวัยที่เด็กสามารถควบคุมร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของตน จึงสามารถทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างได้ด้วยตนเอง จึงชอบที่จะกระโดดโลดเต้น ปีนป่าย เพื่อฝึกการควบคุมร่างกายให้เกิดความชำนาญมากขึ้น ซึ่งผู้ใหญ่เรียกวัยนี้ว่าเป็น วัยซน ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงต้องส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกายโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กด้วย
2. พัฒนาการทางอารมณ์
เด็กในวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้การแสดงพฤติกรรมตอบสนองอารมณ์จากคนใกล้ชิดรอบข้าง มักจะมีธรรมชาติของอารมณ์เหมือนวัยเด็กตอนต้น คือแสดงออกอย่างเปิดเผย ไม่ซับซ้อน แปรปรวนได้ง่าย
3. พัฒนาการทางสังคม
เป็นวัยที่ต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้วิธีการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ และบุคคลแวดล้อมในสถานศึกษา เด็กจะเรียนรู้ในการแสดงพฤติกรรมที่ทำให้คนอื่น ยอมรับและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสังคมใหม่ แต่อย่างไรเด็กวัยนี้ยังยึดตนเป็นศูนย์กลางอยู่ เช่น อยากคุยในสิ่งที่ตนต้องการ โดยไม่คำนึงว่าคนอื่น ๆ จะพูดเรื่องใดอยู่
4. พัฒนาการทางสติปัญญา
เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการทางภาษาอย่างต่อเนื่อง คือสามารถใช้ภาษาในรูปแบบของประโยคได้ จะชอบเลียนแบบภาษาพูดและลักษณะท่าทางจากผู้ใหญ่ ลักษณะเด่นของเด็กวัยนี้คือ อยากรู้อยากเห็น ช่างสงสัย ชอบจินตนาการ จึงมักแสดงออกด้วยการซักถาม เช่น ทำไม อะไร อย่างไร เป็นต้น สำหรับด้านความจำ เด็กยังมีอยู่ในวงจำกัด เช่น จำเลขได้แค่ 1-2 หลัก จำสีได้เพียงแม่สี เป็นต้น

ระยะที่ 2 วัยเด็กตอนกลาง (ช่วงอายุ 6 – 9 ปี)
พัฒนาการของเด็กในวัยนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่มากนัก มีพัฒนาการอย่างช้า ๆ ได้แก่
1. พัฒนาการทางร่างกาย
เด็กจะมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวมากขึ้นกว่าเดิม เป็นผลของพัฒนาการที่ผ่านมาจากวัยเด็กตอนต้น
2. พัฒนาการทางอารมณ์
เด็กจะเริ่มมีการควบคุมทางอารมณ์ได้บ้างแล้ว ลักษณะอารมณ์ของเด็กวัยนี้จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีความสุขกับการได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อน จนบางครั้งขาดความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ผู้ใหญ่จึงมักเรียกเด็กในวัยนี้ว่า วัยสนุกสนาน
3. พัฒนาการทางสังคม
เด็กจะยังไม่มีการแบ่งกลุ่มทางเพศในการทำกิจกรรมอย่างชัดเจน แต่จะเริ่มลดการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งความคิดและการกระทำลง และเริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อน รักพวกพ้อง แต่ทั้งนี้เพื่อนในวัยเดียวจะเริ่มมีบทบาทต่อทัศนคติและความคิดของเด็กมากขึ้นมากเดิม
4. พัฒนาการทางสติปัญญา
เด็กจะเริ่มเรียนรู้และมีประสบการณ์เพิ่มขึ้น รู้จักใช้เหตุผลในการตัดสินใจ เลือกทำในสิ่วที่ตนสนใจ มีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้วได้อย่างแม่นยำ สามารถเรียงลำดับตัวเลขไม่มากนักได้ รู้จักแยกแยะสีได้มากกว่าวัยเด็กตอนต้น

ระยะที่ 3 วัยเด็กตอนปลาย (ช่วงอายุ 10 –12 ปี)
ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของวัยเด็ก เนื่องจากว่าเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในทุกด้านหลายประการ ดังนี้
1. พัฒนาการทางร่างกาย
ร่างกายของเด็กวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าผู้ชายเมื่ออายุประมาณ 10 ปีครึ่ง ในขณะที่เด็กชายจะเริ่มการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุ 12 ปีครึ่ง บางครั้งเรียกวัยนี้อีกอย่างว่า วัยเตรียมเข้าสู่วัยรุ่น
2. พัฒนาการทางอารมณ์
เด็กวัยนี้จะสามารถควบคุมและเรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์ที่สังคมยอมรับ เริ่มมีความวิลกกังวลและความเครียด เนื่องจากปัญญาในกลุ่มเพื่อนและการได้รับการยอมรับในกลุ่ม หรือแม้กระทั่งการแข่งขันในด้านการเรียนกับเพื่อนร่วมชั้น จนดูเหมือนกับว่าเด็กในวัยนี้หงุดหงิดได้ง่าย
3. พัฒนาการทางสังคม
เด็กจะเริ่มมีการแบ่งกลุ่มระหว่างเพศหญิงและเพศชายอย่างเด่นชัด และจะเลือกทำกิจกรรมที่เหมาะสมของเพศของตน เพื่อนวัยเดียวกันจะมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำมากขึ้น ผู้ใกล้ชิดจึงควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับการคบหาเพื่อนของเด็ก
4. พัฒนาการทางสติปัญญา
เด็กในวัยนี้มีระดับทางสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง โดยเริ่มมีจินตนาการกว้างไกลขึ้น สามารถเปรียบเทียบได้ เข้าใจความสัมพันธ์และความแตกต่างของสิ่งรอบตัว เข้าใจในความสัมพันธ์ของตัวเลขมากขึ้น และมีความจำที่แม่นยำขึ้นกว่าเดิมมาก

พัฒนาการในวัยรุ่น
วัยรุ่น (Adolescence) อยู่ในช่วงระหว่าง 12-20 ปี เป็นวัยที่กล่าวได้ว่าเป็น วัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เพราะเห็นวัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการในทุกด้าน เพื่อเปลี่ยนสถานภาพไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เด็กต้องเกิดการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งอาจเกิดปัญหาการปรับตัวในระยะแรก ๆ ในด้านจิตวิทยานั้นได้แบ่งช่วงวัยขั้นวัยรุ่นออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ วันรุ่นตอนต้น (Puberty) คือช่วงอายุ 12-15 ปี และวัยรุ่นตอนปลาย (Adolescence) คือช่วงอายุ 16-20 ปี ซึ่งมีพัฒนาการดังนี้
1. พัฒนาการทางร่างกาย
มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่รวดเร็วและชัดเจนในด้านน้ำหนักและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น เริ่มแสดงสัดส่วนของความเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงและแสดงถึงสัญลักษณ์ทางเพศ (Sex Characteristics) อย่างชัดเจน
ในเพศหญิงจะเริ่มมีรอบเดือน และมีการเปลี่ยนแปลงที่แสดงออกทางเพศหญิงมากขึ้น เช่น สะโพกผาย มีหน้าอก เป็นต้น
ในเพศชายอัณฑะจะเจริญเติบโตและเริ่มผลิตอสุจิได้ มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่แสดงออกถึงเพศชาย เช่น เสียงห้าว อกเริ่มแตกพาน มีกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
2. พัฒนาการทางอารมณ์
ในวัยนี้มักจะมีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเปิดเผย และมีความรู้สึกที่ค่อนข้างรุนแรงและแปรปรวนง่าย และมักจะมีปัญหาขัดแย้งในจิตใจตัวเองเสมอ ๆ จึงอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ได้ด้วย จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น วัยพายุ- บุแคม ผู้ใกล้ชิดจึงควรพยายามทำความเข้าใจกับจิตใจและอารมณ์ความต้องการของเด็กในวัยนี้ให้มาก
3. พัฒนาการทางสังคม
ลักษณะเด่นของวัยนี้ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ เป็นวัยที่ต้องเผชิญกับความคาดหวังจากผู้ใหญ่มากกว่าวัยที่ผ่านมา เด็กจะเริ่มรู้จักรับผิดชอบต่อตัวเอง ทำให้ต้องเกิดการปรับตัวอย่างมากโดยเฉพาะสังคม พยายามค้นหาตัวตนที่แท้จริงในตัวเอง เด็กในวัยนี้จะเริ่มห่างจากพ่อแม่ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนรุ่นเดียวกันมาแทนที่ อีริกสัน (Erikson) เชื่อว่าวัยนี้เป็น วัยระยะวิกฤติ (Crisis Period) ของการรู้จักตนเองที่แท้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี เด็กในวัยนี้จะสามารถผ่านพัฒนาการในขั้นนี้ได้ด้วยดี ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางสังคมในวัยที่ผ่านมา และได้รับอิสระในการที่จะพบตนเองมากน้อยเพียงใด
4. พัฒนาการทางสติปัญญา
วัยนี้มีการพัฒนาทางสติปัญญาที่รวดเร็วและมีความก้าวหน้าใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ แตกต่างกันที่ความสุขุมรอบคอบและประสบการณ์ที่น้อยกว่าเท่านั้น วันรุ่นจะสามารถคิดแก้ปัญหาได้อย่างมีระบบ สามารถแสวงหาเทคนิคในการเรียนรู้ด้วย
ตนเอง รวมทั้งการใช้เหตุผลและวิจารณญาณในการตัดสินเรื่องต่าง ๆ

พัฒนาการในวัยผู้ใหญ่
วัยผู้ใหญ่ (Adulthood) ถือว่าเป็นวัยแห่งความสมบูรณ์สูงสุดของพัฒนาการในด้านต่าง ๆ และยังเป็นวัยเริ่มต้นแห่งความเสื่อมของพัฒนาการทุกด้านอีกด้วย นักจิตวิทยาได้แบ่งระยะของวัยผู้ใหญ่ออกเป็น 2 ระยะ นั่นคือ

ระยะที่ 1 วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (ช่วงอายุ 20-40 ปี)
โดยพัฒนาการที่สำคัญของวัยนี้ มีดังนี้
1 พัฒนาการทางร่างกาย
เป็นวัยที่มีความเจริญเติบโตสมบูรณ์สูงสุด ซึ่งอยู่ระหว่างอายุ 20-25 ปี จากนั้นจะคงที่และเริ่มค่อยๆ เสื่อมลงเมื่ออายุประมาณ 30 ปี
2 พัฒนาการทางอารมณ์
เป็นวัยที่มีความมั่นคงในอารมณ์ ไม่แปรปรวนง่าย ควบคุมอารมณ์ได้ดี และสามารถแสดงพฤตกรรมตอบสนองอารมณ์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ 
3 พัฒนาการทางสังคม
เป็นระยะสำคัญที่บุคคลเริ่มวางแผนชีวิตให้กับตนเอง เริ่มคิดถึงการเลือกอาชีพ การสร้างฐานะ การเลือกคู่ครอง และสามารถประสบความสำเร็จที่ตนวางแผนไว้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการค้นพบตัวเองในระยะวัยรุ่นด้วย จากการศึกษาพบว่า วัยผู้ใหญ่ตอนต้นระหว่างช่วงอายุ 20-30 ปี เป็นวัยที่บุคคลจะสามารถสะสมประสบการณ์ในการทำงานได้เป็นอย่างดี ในช่วงแรกของวัยอาจให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพระหว่างกลุ่มเพื่อน ซึ่งมีสังคมของเพื่อนที่กว้างขวางหลายระดับ แต่เมื่อแต่งงานแล้วก็จะให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่า4 พัฒนาการทางสติปัญญา
พัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์จะเจริญสูงสุดเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี จากนั้นจะเริ่มลดลง แต่ประสบการณ์ต่างๆ ที่สะสมไว้ในช่วงอายุ 30-40 ปีที่ผ่านมาจะเข้ามาทดแทน จึงเป็นช่วงที่บุคคลมีความสามารถคิดสร้างสรรค์งานได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นวัยที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองได้ ระยะที่ 2 วัยผู้ใหญ่ตอนกลางหรือวัยกลางคน (ช่วงอายุ 40-60 ปี)

ระยะที่ 2 วัยผู้ใหญ่ตอนกลางหรือวัยกลางคน (ช่วงอายุ 40-60 ปี)
พัฒนาการที่สำคัญของวัยนี้ มีดังนี้
1. พัฒนาการทางร่างกาย
เป็นวัยที่ร่างกายเริ่มแสดงความเสื่อมที่พอจะสังเกตเห็น เช่น ผมหงอก สายตาเริ่มยาว ผิวหนังเริ่มไม่เต่งตึง เป็นต้น ความเสื่อมทางร่างกายนี้วงการแพทย์พบว่ามีสาเหตุเนื่องมาจากต่อมเพศ (Gonad Gland) เริ่มลดการผลิตฮอร์โมนลงเมื่ออายุประมาณ 45 ปีเป็นต้นไป ทำให้การเคลื่อนไหวไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเช่นที่ผ่านมา
2. พัฒนาการทางอารมณ์
เนื่องจากต่อมเพศทำการผลิตฮอร์โมนลดลง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อีกครั้งหนึ่ง จะทำให้เป็นคนหงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น ซึมเศร้า หดหู่ ควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง เป็นต้น อาหารเหล่านี้ฝ่ายชายเรียกว่า Climacteric Period ถ้าเกิดในฝ่ายหญิงเรียกว่า Menopausal Period หรือเรียกว่า วัยหมดประจำเดือน หรือ วัยทองซึ่งฝ่ายหญิงจะสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนกว่าฝ่ายชาย
3. พัฒนาการทางสังคม
สังคมของวัยนี้จะเริ่มแคบลง ส่วนใหญ่ที่คบกันมักเป็นเพื่อนสนิทและคบกันมานาน สมรรถภาพการทำงานจะลดน้อยลงไปด้วย อาจเกิดอาการเบื่อหน่ายในงานที่ซ้ำซากจำเจ ในส่วนของชีวิตสมรสนั้น ความรักในช่วงที่เกิดขึ้นตอนต้นจะหายไป จะเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน ความผูกพัน และห่วงใยกันขึ้นมาแทน
4. พัฒนาการทางสติปัญญา
เป็นวัยที่เกิดปัญหาทางด้านความจำ รวมทั้งการเรียนรู้ต่างๆ จะยากขึ้น การตัดสินใจไม่แน่นอน เริ่มขาดความมั่นใจในตัวเอง เป็นผลมาจากเซลล์สมองที่เริ่มเสื่อมสภาพลง จนอาจเกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ขึ้นได้ ดังนั้นอาหารที่ช่วยบำรุงสมองจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งกับคนวัยนี้
พัฒนาการในวัยผู้ใหญ่ตอนปลายหรือวัยชรา
วัยผู้ใหญ่ตอนปลายหรือวัยชรา (Old Age) จะอยู่ในช่วง 60 ปีขึ้นไป ถือเป็นระยะสุดท้ายของชีวิต การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของวัยนี้จะเป็นไปในทางเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนี้
1. พัฒนาการทางร่างกาย
สภาพร่างกายภายนอกผิวหนังจะเหี่ยวย่น ผิวหนังแตกแห้ง เส้นเลือดฝอยแตกง่าย ผลและขนเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวและหลุดร่วงง่าย กล้ามเนื้อลีบลง ร่างกายฟื้นตัวยาก กระดูกเปราะ บางรายกระดูกหลังเสื่อมจนเกิดอาการหลังโกงได้
สภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายจะลดประสิทธิภาพลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะมีสาเหตุมาจากโลหิตที่หมุนเวียนไปเลี้ยงอวัยวะทั้งหลายเริ่มลดน้อยลง การทำงานของสมองสั่งงานช้า ประสิทธิภาพของความจำลดน้อยลง ต่อมต่าง ๆ เสื่อมสภาพลง
2. พัฒนาการทางอารมณ์
เนื่องจากร่างกายที่เสื่อมสภาพลงจนต้องพึงพาคนอื่น บางรายพบกับเหตุการณ์สูญเสียคนที่รักและใกล้ชิด หรือบางรายอาจไม่ได้รับการเอาใจใส่จากคนในครอบครัว จึงอาจทำให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ อารมณ์ที่พบบ่อย เช่น เศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ เหงา น้อยใจง่าย สิ้นหวัง หงุดหงิดง่าย เครียด ขี้บ่น เป็นต้น ถ้ารุนแรงมากอาจมีอาการทางจิต เช่น ประสาทหลอน
หูแว่ว หวาดระแวง เป็นต้น
3. พัฒนาการทางสังคม
วัยนี้บทบาททางสังคมจะถูกจำกัดลง เนื่องจากสุขภาพไม่เอื้ออำนวย ต้องเป็นภาระให้กับคนใกล้ชิด จึงทำให้ผู้สูงอายุถูกทิ้งในบ้านตามลำพัง ซึ่งเป็นผลให้ผู้ชรารู้สึกว่าตัวเองหมดคุณค่าและไร้ความหมาย
4. พัฒนาการทางสติปัญญา
ในวัยนี้เซลล์สมองจะเสื่อมลง ถ้าสมองขาดการบำรุงและส่งเสริมการใช้งานที่เหมาะสมแล้ว บางรายอาจประสบปัญหา โรคสมองฝ่อ (Atrophy) ได้ มีผลทำให้ความจำเสื่อม สับสนในทุก ๆ เรื่อง มีพฤติกรรมแบบถอยหลังกลับเป็นเด็ก