ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2540

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

30 มิถุนายน 2017

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2540

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานที่สั่นคลอนได้นำประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2540 ฉากสุดท้ายของ "ฟองสบู่" ของเศรษฐกิจ "แตก" หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท 2 ก.ค. 2540 ผ่านมา 20 ปี ตัวละครเอกบางคนกลายเป็นสัญลักษณ์ของ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ขณะที่บางคนถูกกล่าวหาว่า "ขายชาติ" บางคนต้องคดีก่อนมีฉากจบแบบไร้มลทิน แต่บางคนจบชีวิตคาคดีที่มีโทษจำคุกรวมกันกว่า 100 ปี

ทนง พิทยะ

11 วันหลังเข้ามาทำภารกิจ "ช่วยชาติ" ตามการต่อสายส่งเทียบเชิญข้ามประเทศจาก พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี

นายทนง พิทยะ รมว.คลัง ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หรือเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจากระบบคงที่ เป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ เขาระบุว่าที่กล้าตัดสินใจเพราะ "ไม่ใช่นักการเมือง"

นั่นคือจุดเริ่มต้นของ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ที่ลามไปทั่วเอเชีย

ก่อนเข้ารับหน้าที่ นายทนงในฐานะนายธนาคาร เห็นสัญญาณไม่ปกติจากการแห่ถอนเงินออกจากธนาคารทุกสัปดาห์ ทว่าคำยืนยันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ "สถานการณ์ยังจัดการได้"

  • ย้อนรอย 20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจ
  • ล้มแล้วลุก

หลัง ธปท.ต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินครั้งใหญ่-ครั้งสุดท้ายในเดือน พ.ค. 2540 นายธนาคารทุกคนได้รับเชิญให้ไปรับประทานอาหารร่วมกับนายอำนวย วีรวรรณ รมว.คลัง (ขณะนั้น) และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการ ธปท. ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง ฟังคำประกาศจากนายอำนวยที่ว่า "ตอนนี้เราป้องกันค่าเงินบาทได้สำเร็จแล้ว สามารถเอาชนะการโจมตีค่าเงินบาทจากต่างชาติได้แล้ว"

แต่ในมุมของนายทนง นั่นคือการผลักต่างชาติกับไทยเข้าสู่ภาวะ "เงื่อนตาย" (dead lock) และตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยถึง "ทางตัน" เมื่อเขามีโอกาสเห็น "ตัวเลขจริง" หลังเข้ารับหน้าที่ขุนคลัง เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2540

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายทนง พิทยะ รมว.คลัง ผู้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท 2 ก.ค. 2540

ในวงประชุม "ลับสุดยอด" วันพฤหัสบดีที่ 26 มิ.ย. 2540 ร่วมกับนายเริงชัย, นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้ว่าการฯ และนายศิริ การเจริญดี ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ทราบว่ามีการออกคำสั่งนำเงินทุนสำรองไปปกป้องค่าเงินบาท (สวอป) และค้างอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเงินสำรอง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นเงินสำรองพิมพ์ธนบัตร 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นหมายความว่าเหลือเงินที่ใช้ได้จริงแค่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รมว.คลังจึงโยนโจทย์กลับไปที่ ธปท. ว่าจะใช้มาตรการใดจัดการ ระหว่างลอยตัวค่าเงิน กับลอยตัวแบบมีเพดาน ครั้งละ 5-10 เปอร์เซ็นต์ โดยให้เวลาคิด 2-3 วัน

"วันนั้นผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือลอยตัว เพราะไม่เชื่อว่า ธปท.จะมีเงินสำรอง หรือจะไปขอเครดิตจากที่ไหนได้ แต่ก็ต้องให้เกียรติแบงก์ชาติเขา" นายทนงกล่าว

วันเสาร์ที่ 28 มิ.ย. 2540 นายเริงชัยโทรแจ้งคำตอบ "จะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นลอยตัว" ก่อนนัดหมายรุดไปรายงาน พล.อ.ชวลิตที่บ้านพักในวันอาทิตย์ที่ 29 มิ.ย. โดยนายกฯ "ไม่แปลกใจ" กับการตัดสินใจนี้

"ผมยังไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะลอยตัวอย่างไรเมื่อไร พูดเพียงแต่ว่าคงจะหนีไม่พ้นและก็กำลังเตรียมตัวกับ ธปท." นายทนงบอก

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

จากนั้นขุนคลัง-ผู้ว่าแบงก์ชาติได้จับเข่าคุยกันถึง วัน ว. เวลา น. ในการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทได้เร็วที่สุด ข้อเสนอของนายทนงคือวันจันทร์ที่ 30 มิ.ย. แต่นายเริงชัยโต้แย้ง

"ท่าน (นายเริงชัย) ก็บอกว่ามันจะมีปัญหากับธนาคารพาณิชย์ เพราะอัตราการแลกเปลี่ยนจะขยับไปทันที เสร็จแล้วธนาคารจะปิดบัญชีแบบขาดทุน ก็ต้องเกิดปัญหาตามมาอีกเยอะ จะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นท่านอยากให้มีการปิดบัญชีให้เรียบร้อยก่อน ก็คือปิดบัญชีวันที่ 30 มิ.ย. แล้ววันที่ 1 ก.ค. เป็นวันหยุดธนาคารซึ่งเราทำอะไรไม่ได้ เราเลยวางแผนเลือกวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันอังคาร แล้วทุกคนก็ไปอยู่ฮ่องกง (มีพิธีส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีน วันที่ 1 ก.ค.)" นายทนงเผย

บ่ายวันอังคารที่ 1 ก.ค. หลังการประชุม ครม. นายทนงเชิญ พล.อ.ชวลิตมาที่ห้องเล็กๆ ข้างห้องประชุมครม. เพื่อ "จับมือเซ็น" คำสั่งลอยตัวค่าเงินบาท โดยมีนายศิริ ตัวแทนแบงก์ชาติที่ถือแฟ้มเอกสารประวัติศาสตร์มาที่ทำเนียบฯ ร่วมเป็นสักขีพยานในนาทีสำคัญ

นายทนง: ท่านครับ กรุณาเซ็น

พล.อ.ชวลิต: จะเอาจริงหรือน้อง

นายทนง: มันอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้วครับ

ว่าแล้ว พล.อ.ชวลิตก็จับปากกาเซ็นเอกสาร ส่วนความรู้สึกของนายทนงก่อนวันที่ 2 ก.ค. 2540 คือ "ผมไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตและครอบครัวเรา" เขาบอกภรรยา เพราะรู้ว่างานนี้ทำให้มีคนได้-คนเสีย

ต่อมามีการพูดกันมากว่านักการเมือง-นักการเงินบางคนรวยเพราะ "อินไซด์" ข้อมูลก่อนถึงวันลอยตัวค่าเงินบาท แต่นายทนงตั้งคำถามกลับว่า "ใครจะยอมโง่ที่จะไปเสียค่าโง่ ทุกคนรู้ว่าเงินบาทจะอยู่ไม่ได้ ใครจะไปสู้" พร้อมย้ำว่าระหว่างวันอาทิตย์-พุธ "ตลาดมันวายไปหมดแล้ว"

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBCTHAI

คำบรรยายภาพ,

นายทนง พิทยะ เอ่ยคำขอโทษที่ทำให้บางคนเจ็บปวดจากการลอยตัวค่าเงินบาท ในระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้าเมื่อ 5 ปีก่อน

หลังจากลอยตัวค่าเงิน 2 สัปดาห์ นายทนงอ้างว่าได้ตรวจสอบกลับย้อนหลังไปยังทุกธนาคาร ว่ามีการถอนเงินเป็นกรณีพิเศษเพื่อไปเล่นค่าเงินหรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่มี

"ถึงแม้นักการเงินจะรู้ ก็ไม่มีตลาดให้คุณเล่นแล้ว ใครจะมายอมขาดทุน คิดว่าต่างชาติเขาโง่กว่าเราหรือ คิดว่าคนไทยมีปัญญาเอาเงินเป็นพันๆ ล้านภายใน 3-4 วัน แล้วก็มีคนมารับแทงเพื่อยอมขาดทุนหรือ ผมนึกไม่ออก ใครที่ขาดทุนคนนั้นควรจะมายิงผมทิ้งใช่ไหม ไม่มีหรอกครับในแง่ปฏิบัตินะครับ"

แม้ผ่านมา 20 ปี แต่ "หน้าทนง" ยังคงเป็นสัญลักษณ์ลอยตัวค่าเงินบาท เขาเคยเอ่ยคำขอโทษคนไทยผ่านบทสัมภาษณ์เมื่อ 5 ปีก่อน

"ผมก็ต้องขออภัยที่บางคนต้องเจ็บปวด แต่ผมคิดว่าเป็นความเจ็บปวดซึ่งในที่สุดทำให้เราได้เรียนรู้ แล้วทำให้เราประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา" นายทนงกล่าว

ธารินทร์ นิมมานเหมินท์

เศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงอย่างหนักหลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ฉุดสถานะการเมืองของรัฐบาล จน พล.อ.ชวลิตต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในอีก 4 เดือนต่อมา

สัญญากู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และภาระหนี้ก้อนโต กลายเป็น "มรดกบาป" ที่ตกทอดมาถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ผู้เข้ามารับช่วงต่อทางการเมืองในเดือน พ.ย. 2540

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เจมส์ วูฟเฟนสัน ประธานธนาคารโลก พูดคุยกับนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลัง ก่อนการประชุมคณะกรรมการด้านการพัฒนา ที่สำนักงานไอเอ็มเอฟ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ เมื่อปี 2543

ภารกิจสำคัญของนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลังคนใหม่ จึงอยู่ที่การปลดล็อคเงื่อนไขมหาโหดของไอเอ็มเอฟ ถึงขั้นต้องบินไป "ล็อบบี้" ผ่านสภาคองเกรสและบิ๊กการเมืองของสหรัฐฯ ว่า "ถ้าเข้มงวดไปหมด แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้"

กลายเป็นที่มาที่ไปของหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent --LOI) ฉบับที่ 3 ตามคำขอให้ไอเอ็มเอฟผ่อนผ่อนคลายทันทีในด้านการใช้จ่ายภาคการคลัง ให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจกู้ได้ลงทุนได้

"ตอนนั้นผมไป 2-3 รอบ ไปคุยกับ คลินตัน (บิล คลินตัน) อัล กอร์ และนักการเมือง คุยหมด ก็คุยกันรู้เรื่องจึงสามารถหาวิธีการทางออกได้.. แต่ที่สำคัญที่สุดคือความคิดเห็นของกระทรวงการคลังอเมริกา กับธนาคารกลางอเมริกา มีน้ำหนักมากๆ เป็นคนชี้นกชี้ไม้ในบอร์ดไอเอ็มเอฟ" นายธารินทร์เปิดปาก-เปิดใจเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าเมื่อปี 2555

ส่วนสิ่งที่ต้องกลับมาสะสาง-สั่งสอนผู้คุมนโยบายการเงินของไทย คือการนำเงินทุนสำรองไปปกป้องค่าเงินแบบ "สุรุ่ยสุร่าย-แบบไม่ฉลาด" โดยนายธารินทร์ได้ปิดห้องคุยกับ 2 ผู้บริหารแบงก์ชาติ เพื่อถามว่า "ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมโกหก ทำไมเพิ่งมารู้ว่าใช้ทุนสำรองจนเหลือเกือบศูนย์แล้ว จนถึงขั้นที่ทุนสำรองซึ่งพึงจะมีในการสำรองในการพิมพ์เงินบาท ไม่มี.."

"ไอเอ็มเอฟเขาพูดเวลาดื่มหนักๆ ว่า "I have never seen any country like Thailand" (ไม่เคยมีประเทศไหนเป็นอย่างประเทศไทย) ประเทศในโลกเขาขาดทุนสำรองประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เขาลดค่าเงินแล้ว ไม่มีใครปล่อยไปจนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าแย่ที่สุด" นายธารินทร์กล่าว

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

รถยนต์จำนวน 7,000 คัน เป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ 56 ไฟแนนซ์ที่ถูกสั่งปิดกิจการ ที่ถูกนำออกมาเปิดประมูล

แต่สำหรับนโยบายอื้อฉาวที่นำมาสู่ข้อครหา "ขายชาติ" อย่างการตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้สินของสถาบันการเงิน และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในกระบวนการของ ปรส. กล่าวคือ "หากเห็นราคาต่ำเกินไปก็ต้องเป็นคนยัน ฮั้วกันมากเกินไปก็ต้องดีดราคาขึ้น"

นายธารินทร์บอกว่า "ได้ทบทวนเรื่องพวกนี้ทั้งหมด และไม่คิดว่ามันผิด เพราะจริงๆ แล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไรอีกแล้ว" พร้อมย้ำว่านี่คือการตัดตอนลดหนี้อย่างแยบยลที่สุด เพื่อช่วยคนที่เป็นหนี้ให้ฟื้น โดยท้ายที่สุด บบส.คือผู้ประมูลหนี้ของ ปรส.ได้มากที่สุด ไม่ใช่ต่างชาติ

1 ปีหลังลอยตัวค่าเงินบาท รมว.คลังรายนี้ยังเผชิญ "ปัญหาใหญ่" ไม่หยุด โดยเฉพาะยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่พุ่งขึ้นไป 47 เปอร์เซ็นต์

รวมถึง "ปัญหาเงียบๆ" ที่เกิดกับแบงก์พาณิชย์ที่ออก LC (Letter of credit) แล้ว ไม่มีแบงก์ไหนในโลกรับ เพราะ "ไม่มีความน่าเชื่อถือ" ซึ่งตัวนี้จะตัดขาดการนำเข้า และย้อนกลับเข้าไปที่ปัญหาทุนสำรอง ทำให้นายธารินทร์ต้อง "เฮี้ยบเรื่องมาตรฐาน" จนรู้สึกได้ว่า "พวกนายแบงก์ที่เป็นครอบครัวใหญ่ทั้งหลายไม่ค่อยชอบผม"

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทย จะพบประชาชนเดินเข้า-ออกสำนักงานใหญ่ซิตี้แบงก์ ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทุนสำรองเกลี้ยง-แบงก์เจ๊ง เป็น "ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกพูดถึง" ณ เวลานั้น ด้วยเหตุผล "เดี๋ยวหมดกำลังใจพังกันหมด" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นประเด็นในพรรคประชาธิปัตย์ว่านายธารินทร์ปล่อยให้นายทักษิณ ชินวัตร มาชุบมือเปิบเอาผลงานไปหมด

"ถ้าคิดว่าความโปร่งใสคือ Ultimate virtue (สัจธรรมสูงสุด) ไม่จริงนะ เพราะว่าคนบางประเภท อย่างคนไข้ใกล้ตาย หมอบอกพรุ่งนี้คุณตาย คนไข้อย่างนี้รับได้ไหม แล้วมาบอกหมอว่าไม่โปร่งใส มันไม่ใช่นะครับ" นายธารินทร์กล่าว

"ที่ผมรับไม่ได้คือหาว่าผมทำงานด้วยการขายชาติ" ถือเป็นบาดแผลในใจอดีตขุนคลังที่ชื่อธารินทร์มาโดยตลอด

ขณะที่ตัวละครอื่นๆ ทั้ง "ผู้ก่อวิกฤต-ผู้แก้วิกฤตต้มยำกุ้ง" หลายคนมีชะตากรรมใกล้เคียงกัน จากการต้องวิ่งขึ้น-ลงศาลในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

อมเรศ ศิลาอ่อน

- นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) วัย 83 ปี และนายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขาธิการ ปรส. วัย 69 ปี ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2559 สั่งจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี ในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เอื้อบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงก์ ในการประมูลสินทรัพย์ 56 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิดกิจการ เมื่อปี 2541 ทำให้บริษัทดังกล่าวได้ประโยชน์ทางภาษี หรือที่รู้จักในชื่อคดี "ขายหนี้เน่า ปรส.ไม่โปร่งใส"

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

บริษัท เลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส อิงค์ จากสหรัฐฯ ชนะการประมูลสินทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิดกิจการ จาก ปรส. ด้วยราคารวมถึง 1.15 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่าราคาตามยอดหนี้คงค้าง 2.46 หมื่นล้านบาท

ภายหลังรับฟังคำพิพากษา นายอมเรศบอกว่า "ยืนยันว่าที่ผ่านมาทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมาตลอด จึงอยากเตือนคนรุ่นหลังหากจะทำอะไรเพื่อส่วนรวมก็ขอให้คิดให้ดี เพราะผลที่ออกมาสุดท้ายก็เป็นเรื่องส่วนตัวอยู่ดี"

เริงชัย มะระกานนท์

- นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. วัย 75 ปี ต่อสู้คดีมากว่า 10 ปี ก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2559 ให้ "ยกฟ้อง" ในข้อหาละเมิด จากกรณีอนุมัติให้นำเงินทุนสำรองเข้าแทรกแซงในตลาดการเงิน (สวอป) เพื่อรักษาเสถียรภาพเงินบาทในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเรียกค่าเสียหายจากนายเริงชัยเป็นเงินกว่า 1.86 แสนล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่า ธปท. ที่ถูกต้นสังกัดเก่าฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 1.86 แสนล้านบาท จากการออกคำสั่งสวอปเงิน

"เมื่อคดีสิ้นสุดถือว่าเป็นการล้างมลทิน โดยนายเริงชัยไม่เคยถูกกล่าวหาคดีอาญาว่าทุจริต" นายนพดล หลาวทอง ทนายความของนายเริงชัยกล่าวหลังรับฟังคำพิพากษา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นตัดสินให้เขาใช้เงิน 1.85 แสนล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ ธปท. แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องนายเริงชัย และศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์

เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์

- นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี จำเลยคดีฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ธนาคารบีบีซีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดและลิ้นหัวใจรั่ว ด้วยวัย 63 ปี (ปี 2555)

การล่มสลายของบีบีซีที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อให้กับนักธุรกิจและนักการเมืองกลุ่ม 16 เพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรจากการซื้อมา-ขายไป จนเกิดหนี้เน่ามหาศาลกับธนาคาร ถูกมองว่าเป็นต้นตอสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นผลให้นายเกริกเกียรติถูกตราหน้าว่าเป็น "โจรใส่สูท" ร่วมกับที่ปรึกษาใหญ่อย่างนายราเกซ สักเสนา เจ้าของฉายา "พ่อมดการเงิน" ที่หนีไปกบดานที่แคนาดาตั้งแต่ปี 2539 ก่อนถูกส่งตัวกลับไทยในวันที่ 31 ต.ค. 2552

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารบีบีซี ถูกทางการแคนาดาส่งตัวกลับไทยปี 2552 ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน หลังไทยตามล่าตัวมานานถึง 13 ปี

เขาถูกแบงก์ชาติฟ้องถึง 22 คดี ถูกพิพากษาให้จำคุกรวมกันแต่ละคดีมาแล้วกว่า 100 ปี ถูกคำสั่งให้ชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้นมูลค่ารวมกันแล้ว 1.36 หมื่นล้านบาท แต่เขา "ไม่หนี" และย้ำว่า "16 ปีของการต่อสู้ ผมยังคงยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเอง"

ในวาระสุดท้ายของชีวิต เขาเขียนหนังสือปกดำเพื่อเป็นข้อมูลอีกด้านแก่สังคม

"วันที่ทุกๆ ท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมคงจากไปอย่างสงบ และหวังว่าหนังสือ 'ความจริง…บีบีซี' จะเปิดเผยความจริงที่ทุกๆคนอยากรู้" นายเกริกเกียรติระบุในหนังสือปกดำ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

หมายเหตุ : เนื้อหาในส่วนของนายทนง พิทยะ และนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เรียบเรียงจากหนังสือ "15 ปี วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน" (2556) จัดทำโดยสำนักข่าวไทยพับลิก้า