ตัวอย่าง การจัด บอร์ด โครงงานอาชีพ

การจัดทำโครงงานอาชีพ

บทนำ

โครงงานอาชีพ เป็นการจัดการเรียนรู้งานอาชีพที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงอย่างครบวงจร   ตั้งแต่ การวิเคราะห์ การวางแผน การปฏิบัติงาน การจัดการกับผลผลิต  การจำหน่าย การบริการ รวมทั้งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตหรือบริการ โดยเน้นการผลิต การบริการ การบริหารจัดการ การตลาด และการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน ลักษณะของงานอาชีพตามโครงงานที่ปฏิบัติต้องเป็นงานอาชีพสุจริตที่มีอยู่ในท้องถิ่น หรืองานอาชีพที่เป็นความต้องการของผู้เรียน  เป็นงานอาชีพที่มีลักษณะเป็นงานผลิตและหรืองานบริการ  การปฏิบัติงานอาชีพ ผู้เรียน ต้องเป็นผู้ปฏิบัติเองทั้งหมด  ตั้งเริ่มต้นจนสิ้นสุดการปฏิบัติงาน โดยมีครู อาจารย์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและการปฏิบัติโครงงานอาชีพให้ปฏิบัติรวมกันเป็นกลุ่ม 3 - 5 คน โดยใช้ บ้าน สถานประกอบการ สถานประกอบอาชีพ รวมทั้งสถานศึกษา เป็นสถานที่ปฏิบัติงานและในการจัดทำโครงงานอาชีพของผู้เรียน ควรมีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพที่มีอยู่ในท้องถิ่นร่วมวางแผนและให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงานอาชีพของผู้เรียนด้วย

ความเป็นมา

ในการสอนโครงการหรือโครงงานในสถานศึกษา  นักการศึกษาปฐมวัยส่วนมากกล่าวถึงการใช้โครงการกับเด็กบางคนแนะนําว่า การสอนแบบโครงการเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีที่สามารถส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัดสินใจ เห็นผลการกระทําที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และเด็กจะมีประสบการณ์จากการปฏิสัมพันธ์กับบุคคล วัตถุสิ่งของและสิ่งแวดล้อมการสอนแบบโครงการมีมานานแล้วมิใช่เป็นเรื่องใหม่ในการศึกษา               แต่กลับมาได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ ทั้งนี้เนื่องมาจากผลการวิจัยที่ทําให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่า เด็กเรียนรู้อย่างไร และความจําเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายของสังคม เทคโนโลยี

โครงการ หมายถึง การวางแผนดำเนินงานหรือกิจกรรมล่วงหน้า โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ ขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจน กำหนดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

อาชีพ หมายถึง งานที่ทำเป็นประจํา เพื่อให้มีรายได้ในการเลี้ยงชีพ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. อาชีพอิสระ หมายถึง อาชีพที่ผู้ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของกิจการ มีการวางแผน มีการจัดการ และดําเนินการด้วยตนเอง แบ่งเป็น 2 ลักษณะของการประกอบอาชีพ คือ

อาชีพผู้ผลิต  เป็นอาชีพที่ผู้ดําเนิน กิจการ/ผู้ประกอบอาชีพ ผลิตชิ้นงานเพื่อจําหน่าย

อาชีพบริการ  เป็นอาชีพที่ผู้ดําเนินการอํานวยความ สะดวก หรือให้บริการแก่ผู้บริโภค เช่น ช่างตัดผม ช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์ บริกร ฯลฯ

2. อาชีพรับจ้าง หมายถึง อาชีพที่ผู้ประกอบอาชีพ ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ แต่ทํางานภายใต้ระบบ หรือ ข้อกำหนดของหน่วยงาน หรือนายจ้างที่ตนสังกัด

หลักการประกอบอาชีพอิสระ

1. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิต ชุมชน และสังคม

2. ส่งเสริมการพึ่งตนเอง และความมีอิสระแก่ตนเอง

3. ส่งเสริมให้มีความสามารถในการจัดการ การนําความรู้ และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ใน ชีวิตประจําวัน

4. ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้จากสภาพปัญหา สิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติจริง

5. ส่งเสริมให้มีการตัดสินใจในการเลือกอาชีพที่สอดคล้องความสภาพท้องถิ่น ความสนใจ ความถนัด และความสามารถของตนเอง การส่งเสริมให้นักเรียนได้สัมผัสกบอาชีพด้วยการทำโครงงานอาชีพ จะพัฒนานักเรียนให้เจริญเติบโต เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ สามารถปรับตัวให้ดํารงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ในภาวะที่สังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ประโยชน์ต่อนักเรียน

1. ได้ประสบการณ์การทํางาน

2. รู้จักการทํางานเป็นกลุ่ม

3. มองเห็นช่องทางประกอบอาชีพ

4. ได้นําความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการประกอบอาชีพ

5. มีการวางแผนและปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ

6. ได้เรียนรู้คุณธรรม จริยธรรมจากการปฏิบัติจริง

7. ได้รับการพัฒนาให้เกิดกระบวนการคิดเป็น ทําเป็น แก้ปัญหาเป็น

โครงงานอาชีพ  จะส่งเสริมให้นักเรียนดําเนินการ นักเรียนแต่ละกลุ่มจะประกอบอาชีพหลากหลายต่างกัน ตามความถนัด และความสนใจ นักเรียนจะได้รับผลการเรียนเหมือนรายวิชา อื่น ๆ และใน 1 รายวิชา จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลายคน ตามกลุ่มอาชีพที่นักเรียนสนใจปฏิบัติ สําหรับเรื่อง ที่ควรจะให้นักเรียนได้เรียนรู้ เช่น

1. อาชีพต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบัน

2. คุณธรรม จริยธรรมของผู้ประกอบอาชีพ

3. การเลือกอาชีพที่สอดคล้องกบความต้องการของผู้บริโภค และความถนัดของตนเอง

4. กระบวนการดําเนินงานของอาชีพที่สนใจเลือก

5. การจัดการกิจการธุรกิจอาชีพให้ประสบความสําเร็จ

6. การทํางานกลุ่ม / การทํางานร่วมกัน / การบริหารบุคคล

7. เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพของการประกอบอาชีพ

8. การจัดการผลผลิต

9. เทคนิคการสื่อสาร (พูด ฯลฯ) กับผู้บริโภค (ลูกค้า)

10. การคิดต้นทุน การกำหนดราคาจําหน่าย / ค่าบริการ

11. ระบบบัญชีอย่างง่ายสําหรับกิจการขนาดเล็ก

12. เทคนิคการโฆษณา ประชาสัมพันธ์อาชีพของตนสู่ผู้บริโภค

13. การนําผลผลิตสู่ผู้บริโภค และการบริการหลังขาย

ความสำคัญของโครงงานอาชีพ

โครงงานมีวัตถุประสงค์หลากหลายประการ เช่น ต้องการให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามกระบวนการ ประหยัด ปลอดภัย และได้ประโยชน์ โดยรู้จักวิเคราะห์และวางแผนการทำงาน สามารถปรับปรุงและพัฒนางานมีวิสันทัศน์ที่กว้างไกล รักการทำงาน ซึ่งเป็นรากฐานของการดำรงชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้รวมทั้งมีคุณธรรมในการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นต้น นักเรียนจะต้องศึกษาและฝึกปฏิบัติจริงเพิ่มเติม โดยอาศัยความรู้พื้นฐานจากรายวิชาอื่น ๆ ในหมวดวิชาการงานและอาชีพ นักเรียนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเลือกอย่างฉลาด ที่จะดำเนินงานตามความถนัดและความสนใจของตน ในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนและครูอาจารย์นั้น จะได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริงตามจุด หมายของหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์อย่างแน่นเหนียว ระหว่างนักเรียนและครูอาจารย์ประจำวิชาต่าง ๆ รวมทั้งการใช้เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ในสิ่งที่เกี่ยวกับท้องถิ่นและชุมชนย่อมจะได้ประโยชน์อย่างมากมาย ในแง่ของการให้นักเรียนได้มีโอกาสร่วมพัฒนาอาชีพต่าง ๆ ในท้องถิ่นซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ ทำให้นักเรียนเกิดความรักความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองด้วย

            ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ดังนี้ คือ
                 1. ด้านผู้เรียน ก่อให้เกิดคุณค่าต่าง ๆ ได้แก่ ช่วยสร้างความหวังใหม่ในการริเริ่มงาน สร้างเสริมประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ได้มีโอกาสทดสอบความถนัดของตนเอง ก่อให้เกิดความรักความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีภายในกลุ่ม พร้อมทั้งเกิดความรู้ทางวิชาการที่กว้างขวางขึ้นและเกิดความภาคภูมิใจในความ สำเร็จของงาน
                 2. ด้านสถาบันและครูอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่ม ก่อให้เกิดคุณค่าทางการประสานงาน โดยเกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่าการเรียนการสอนในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการ ปฏิบัติจริงในโครงงานของผู้เรียนมากกว่าที่จะเรียนอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น
                 3. ด้านชุมชน / ท้องถิ่น ก่อให้เกิดคุณค่าทางการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ชุมชน อีกทั้งชุมชนได้มีส่วนร่วมในการขยายผลทางความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ให้แก่ผู้เรียนรุ่นต่อไป โดยสร้างนิสัยรักการทำงานเกิดงานอาชีพที่หลากหลายและมีการพัฒนาอาชีพในชุมชนด้วย

หลักการสำคัญของการเขียนโครงงานอาชีพ 

การปฏิบัติงานตามโครงงานอาชีพของนักเรียน เพื่อให้บรรลุตามจุดหมายของหลักสูตร และจุดมุ่งหมายการจัดทำโครงงาน จึงได้กำหนดหลักการที่สำคัญเกี่ยวกับโครงงาน ไว้ดังนี้

1. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มมีสิทธิและเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกทำโครงงานอาชีพใด ก็ได้ จำนวน 1 โครงงาน หรือมากกว่าก็ได้ ตามความถนัด ความสนใจ และความพร้อมของนักเรียนในกรณีที่โครงงานมีปริมาณงานมากก็สามารถเลือกได้โดย ตัดแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติงานออกเป็น 2 ส่วนให้ปฏิบัติ 2 ภาคเรียน หรือจะเลือกโครงงานอาชีพใหม่ โดยไม่ซ้ำกันในแต่ละภาคเรียนตลอดปีการศึกษาก็ได้
            2. นักเรียนในห้องเรียนเดียวกันควรเลือกโครงงานอาชีพแตกต่างกันได้ตามความถนัด ความพร้อมและความสนใจ ตลอดจนคำนึงถึงตามความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ชิ้นงานหรือรายได้จากการ ปฏิบัติงาน
           3. ให้คำนึงถึงทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นงานและทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่น ตลอดจนภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทคโนโลยีในท้องถิ่น
            4. นักเรียนสามารถนำทักษะการทำงานพื้นฐานหลายประเภทรวมไว้ในโครงงานเดียวได้ เช่นโครงงานปลูกกระเจี๊ยบ ใช้ทักษะการทำงานด้านเกษตรและคหกรรมเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการมาผสมผสานกัน ได้
            5. ในแต่ละโครงงานอาจกำหนดคาบเวลาแตกต่างกันได้ตามความยากง่ายของลักษณะงาน
            6. ครูอาจารย์ผู้สอนหรือที่ปรึกษา อาจจัดให้มีสื่อการสอนในลักษณะใบงานหรือใบความรู้หรือข้อมูลทางวิชาการ เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเองก็ได้
            7. ในการประเมินโครงงาน ให้ครูอาจารย์ผู้สอนหรือที่ปรึกษาเป็นผู้ประเมิน โดยคำนึงถึงความรู้ ความเข้าใจ กระบวนการทำงาน เจตคติในการปฏิบัติงาน และการนำชิ้นงานไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและต้องประเมินผลการเรียนเป็น รายภาคเรียน สำหรับผู้เรียนที่เลือกหลายโครงงานใน ๑ ภาคเรียน ให้ประเมินผลโดยให้คะแนนแต่ละโครงงานก่อน แล้วนำมารวมกันเพื่อตัดสินให้ระดับคะแนนโดยคำนึงถึงคาบเวลาของแต่ละโครงงาน โดยจัดสัดส่วนน้ำหนักโครงงานต่างกันตามคาบเวลา 

องค์ประกอบของโครงงานอาชีพ       

ถ้าพิจารณาโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ พบว่าประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญคือ ศีรษะ ไหล่ลำตัว แขน ขา มือและเท้า นอกจากนี้ร่างกายของมนุษย์ยังมีอวัยวะอื่น ๆ อีกมากมายที่ประกอบกันทำให้เป็นร่างกายของมนุษย์สมบูรณ์ เช่น หู ตา ปาก นิ้วมือ อวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม โครงงานก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ หมายถึงระบบโครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งหมดของกิจการ หรือชิ้นงานต่าง ๆ ที่เราจะต้องดำเนินการ หรือผลิตให้สำเร็จลุล่วงไปตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ องค์ประกอบที่สำคัญของโครงงาน มีดังนี้                                                          

1. เจ้าของโครงงานหรือผู้จัดทำโครงงาน อาจจะเป็นบุคคลคนเดียวหรือเป็นกลุ่มบุคคลก็ได้ สำหรับการปฏิบัติงานตามโครงงานอาชีพที่หลักสูตรกำหนดให้นักเรียนจะต้อง ปฏิบัติงานร่วมกันกลุ่มละ ๓-๕ คน                                                                                                                               2. ความสำคัญของโครงงาน หรือของงานนั้น ๆ ว่ามีเหตุผลอะไร มีความจำเป็น มีคุณค่าและประโยชน์มากน้อยเพียง                                            3. จุดประสงค์ของโครงงาน ระบุว่ามุ่งที่จะให้เกิดผลอะไร อย่างไร หรือแก่ใคร ให้มีปริมาณและคุณภาพมากน้อยเพียงใด                                    4. เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ สถานที่ปฏิบัติงาน งบประมาณค่าใช้จ่ายหรืองบลงทุนกำหนดว่ามีอะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด และจะจัดซื้อหามาได้อย่างไร                                                                                                                                                                                                                5. วิธีดำเนินการ ระบุว่ามีขั้นตอนสำคัญ ๆ ในเรื่องใดที่จะต้องนำมาพิจารณา และปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดไว้                                                6. แผนปฏิบัติการ ระบุกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติโดยละเอียดตามลำดับตามระยะเวลาที่กำหนดไว้                                                                7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ ระบุสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหน                                                                        8. การติดตามผลและประเมินผล จะต้องมีวิธีการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ก่อนปฏิบัติโครงงาน ขณะปฏิบัติงานและเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติโครงงาน เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนางานต่อไป

ประเภทของโครงงานอาชีพ

โครงงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โครงงานตามสาระการเรียนรู้ และ โครงงานตามความสนใจ

1. โครงงานตามสาระการเรียนรู้

เป็นการใช้บูรณาการร่วมกับการเรียนรู้ ทักษะ และเป็นพื้นฐานในการกำหนด โครงงาน การปฏิบัติ

2. โครงงานตามความสนใจ

เป็นโครงงานที่ผู้เรียนกำหนดขั้นตอน ความถนัด ความสนใจ ความต้องการ โดยใช้ทักษะความรู้ จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มาบูรณาการ เป็นโครงงาน

โครงงานอาชีพ เป็นกิจกรรมทางการศึกษา ที่นำเนื้อหาสาระทางวิชาการ งานและอาชีพ รวมทั้งวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติมาจัดเป็นระบบ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติงานในลักษณะของโครงการ

โครงงานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1. โครงงานประเภททดลอง (Experimental Research Project)

โครงงานประเภทนี้  เป็นโครงงานที่เกิดขึ้นจากการศึกษาหลักการต่าง ๆ ทางวิชาการแล้วนำมาทดลองค้นคว้าเพื่อยืนยันทฤษฎีหรือหลักการหรือต้องการทราบแนวทางเพิ่มคุณค่าและการใช้ประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้น เช่น

            - การศึกษาสูตรอาหารเลี้ยงปลาน้ำจืด

การทดลองปลูกพืชในน้ำยาหรือการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน

การควบคุมการเจริญเติบโตของไม้ประดับประเภทเถา

- การใช้ฮอร์โมนกับกิ่งมะลิ

- การศึกษาขนมอบชนิดต่าง ๆ

            โครงงานประเภททดลอง  (Experimental Research Project) เป็นโครงงานที่ต้องทำการทดลองเพื่อศึกษาตัวแปรใดตัวแปรหนึ่ง              (เรียกว่า ตัวแปรต้น” ) ว่าจะมีผลต่อตัวแปรอีกตัวแปรหนึ่ง (เรียกว่า ตัวแปรตาม” )  อย่างไร แต่ในความเป็นจริง จะมีตัวแปรหลาย ๆ ตัวที่มีผลต่อตัวแปรที่ศึกษา ในการทดลอง ผู้ทำการทดลองจะต้องเลือกตัวแปรที่สำคัญที่สุดเพียงตัวเดียวมาศึกษา  ดังนั้นจึงต้องทำการควบคุมตัวแปรอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนต่อตัวแปรตาม ป้องกันไม่ให้ผลการศึกษามีความคลาดเคลื่อน ตัวแปรที่เราต้องควบคุมเรียกว่า ตัวแปรควบคุม” 

กล่าวโดยสรุป โครงงานแบบทดลองจะต้องมีการระบุตัวแปร 3 ประเภท ดังนี้

              ตัวแปรต้น         คือ  สาเหตุหรือเหตุของการทดลอง

ตัวแปรตาม        คือ  ผลที่เกิดขึ้น หรือผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง

ตัวแปรควบคุม  คือ  สิ่งที่ต้องควบคุมให้เหมือนๆกัน

ตัวอย่าง  ในความเป็นจริง (ตามธรรมชาติ)  อธิบายการเจริญเติบโตของต้นไม้ว่า

ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ดีนั้น จะต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย และตั้งไว้ในที่มีแสงแดด

สามารถระบุตัวแปรต่าง ๆ ได้ ดังนี้

ตัวแปรตาม    คือ    การเจริญเติบโตของต้นไม้

ตัวแปรต้น      คือ   การรดน้ำ  พรวนดิน แสงแดด

คำอธิบาย การรดน้ำ พรวนดิน และ แสงแดด  ส่งผลต่อ  การเจริญเติบโตของต้นไม้

การระบุตัวแปรควบคุม

ถ้าเราต้องการศึกษาว่า ตัวแปรต้นตัวใด ระหว่าง การรดน้ำ พรวนดิน แสงแดด จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้มากกว่ากัน เราก็ต้องทำการศึกษาทีละตัวแปรต้น โดยทำการควบคุมตัวแปรต้นอื่น ๆ อีก 2 ตัวเช่น เราต้องการศึกษาเฉพาะตัวแปรการรดน้ำว่าจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้มากน้อยเพียงใด  เราก็ต้องออกแบบการทดลองโดยการควบคุมตัวแปรอีก 2 ตัว  คือ  พรวนดิน และ แสงแดด                 โดยให้ต้นไม้ที่ทำการทดลองทั้งหมดได้รับการพรวนดิน และ แสงแดด ในปริมาณที่เท่ากัน  หรือถ้าไม่ให้ก็ไม่ให้เหมือน ๆ กัน  การพรวนดิน และ แสงแดด เรียกว่า ตัวแปรควบคุม

ขั้นตอนในการทำโครงงานทดลอง

1. กำหนดปัญหา

2.   ตั้งจุดประสงค์ในการศึกษา

3.   ตั้งสมมุติฐาน 

4.   ออกแบบการทดลอง

              5.  ดำเนินการทดลอง

              6.  เก็บรวบรวมข้อมูล

              7.  บันทึกผลการทดลอง

              8.   แปลผล

              9.  สรุปผลการทดลอง

2. โครงงานประเภทสำรวจ

โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานการศึกษาสำรวจข้อมูลสำหรับดำเนินงานพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติมผลงานและส่งเสริมผลผลิตให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น  ข้อมูลดังกล่าว  อาจมีผู้จัดทำขึ้น  แต่มีการแปรเปลี่ยนไปแล้ว  ต้องทำการสำรวจจัดทำขึ้นใหม่ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เช่น

-  การสำรวจราคาผลผลิตเกษตรในท้องถิ่น

              -  การสำรวจราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในท้องถิ่น

               -  การสำรวจแหล่งวิชาการและสถานประกอบการในท้องถิ่น

               -  การสำรวจงานบริการในท้องถิ่น

               -  การสำรวจปริมาณการปลูกข้าวโพดในท้องถิ่น

               -  การสำรวจปริมาณการเลี้ยงไก่เนื้อในท้องถิ่น

               -  การสำรวจปริมาณการเลี้ยงห่านในท้องถิ่น

               -  การสำรวจคลองแม่รำพัน สุโขทัย

3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์

โครงงานประเภทนี้เป็นโครงงานสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ  ขึ้นมาหลังจากที่ได้ศึกษาทางทฤษฎีหรือพบเห็นผลงานของผู้อื่นแล้ว  เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาต่อไป  จึงประดิษฐ์คิดค้นให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น

การควบคุมระบบการให้น้ำในแปลงเพาะชำ

                -  การประดิษฐ์หัวฉีดพ่นน้ำในแปลงปลูกผัก

- การประดิษฐ์ของชำร่วย

- การประดิษฐ์เครื่องรับวิทยุ

- การประดิษฐ์เครื่องเสีย

- การออกแบบเสื้อผ้าชาย หญิง

4.  โครงงานประเภทพัฒนาผลงาน 

             โครงงานประเภทนี้เป็นโครงงานที่เกิดจากการศึกษาเนื้อหาทางวิชาการ  หรือหลักทฤษฎีเกี่ยวกับวิชาการงานและอาชีพหรือวิชาสามัญต่าง ๆ แล้วนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวทางทฤษฎีดังกล่าว  ส่งผลให้มีผลงานเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น  ตัวอย่างเช่น 

เมื่อนักเรียนได้ศึกษาทางทฤษฎีเกี่ยวกับ

             พลังงานแสงอาทิตย์  : โครงงานสร้างเครื่องอบกล้วยด้วยแสงแดด  ตู้อบเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เครื่องทำน้ำร้อน  ฯลฯ

             พืชสมุนไพร : โครงงานการใช้ยาปราบศัตรูพืชด้วยพืชสมุนไพร  กำจัดเพลี้ย หนอนแมลงปีกแข็ง  ฯลฯ

 การถนอมอาหาร : โครงงาน การแปรรูปผลผลิต  การทำผักกาดดองสามรส  การทำไส้กรอก  การดองพืชผัก  ผลไม้ต่าง ๆ ฯลฯ

               การเลี้ยงปลา : โครงงานการเลี้ยงปลาสวยงาม การเปลี่ยนสีปลาออสก้า

ลักษณะของโครงการ

 1.  มีจุดมั่งหมายเฉพาะหนึ่งจุดมุ่งหมาย มีการกำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน มีผลผลิต (output) 

บริการและผลลัพธ์ (outcome) ที่มีลักษณะเฉพาะ    

              2.  เป็นการปฏิบัติงานชั่วคราว (temporary) มีเวลาเริ่มต้น สิ้นสุด

              3.  ต้องการทรัพยากรหลายประเภท ได้แก่ บุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ โปรแกรมสำเร็จรูป

              4.  ควรมีผู้สนับสนุนงบประมาณ/ลูกค้า   

              5.  เกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอน เพราะมีลักษณะเฉพาะ ยากลำบากในการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน ทั้งเวลา / ค่าใช้จ่าย

ขั้นตอนการปฏิบัติของนักเรียน

1.       นักเรียนรวมกลุ่มกับเพื่อนทําโครงการอาชีพ

2.       ศึกษาข้อมูลรายละเอียดงานอาชีพที่สนใจ

3.       ปรึกษา อ.ที่ปรึกษาและผู้มีประสบการณ์

4.       เขียนโครงการอาชีพ >> ระดมทุน

5.       ประชุมปรึกษาหารือ << ดําเนินการตามโครงการ >> บันทึกการปฏิบัติงาน

6.       สรุปรายงานผลการปฏิบัติโครงการอาชีพ

การพิจารณาจัดทำโครงงานอาชีพ

การพิจารณาจัดทำโครงงาน เป็นการดำเนินงานที่ต้องตัดสินใจทำโครงงานให้บรรลุตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ มีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

1.       การเลือกหัวข้อเรื่องโครงงาน

2.       การศึกษาข้อมูลโครงงาน

3.       สังเกตสภาพแวดล้อม

ขั้นตอนการทำโครงงาน โครงงานอาชีพ

ขั้นตอนที่ 1 การคิดและเลือกหัวเรื่อง

เป็นการหาหัวข้อในการทดลอง ในการที่อยากทราบ

ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง

รวมไปถึงการขอคำปรึกษา ขอแนะนำ หรือข้อมูลต่าง ๆ จากผู้คุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนที่ 3 การเขียนเค้าโครงของโครงงาน

โดยทั่วไปเค้าโครงของโครงงานจะมีหัวข้อดังต่อไปนี้
 

หัวข้อ                                                                        รายละเอียดที่ต้องระบุ

1. ชื่อโครงงาน                                                           ทำอะไร กับใคร เพื่ออะไร

2. ชื่อผู้ทำโครงการ                                                     ผู้รับผิดชอบโครงการ

3. ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน                                             ผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ

4. ระยะเวลาดำเนินการ                                              ระยะเวลาดำเนินโครงานตั้งแต่ต้นจนจบ

5. หลักการและเหตุผล                                               เหตุผลและความคาดหวัง

6. จุดหมาย / วัตถุประสงค์                                         สิ่งที่ต้องการให้เกิดเมื่อสิ้นสุดการทำโครงงาน

7. สมมุติฐานของการศึกษาโครงงาน                         สิ่งที่คาดว่าจะเกิดเมื่อสิ้นสุดการทำโครงงาน

8. ขั้นตอนการดำเนินงาน                                           ขั้นตอนการทำงาน วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่

9. ปฏิบัติโครงงาน                                                      วัน เวลา กิจกรรมดำเนินงาน เริ่มจนสิ้นสุด

10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ                                              สภาพของผลที่ต้องการให้เกิดทั้งที่เป็น

  ผลผลิต กระบวนการ และผลกระทบ

11. บรรณานุกรม                                                        ชื่อเอกสาร ข้อมูล ที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ

ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติโครงงาน 

เป็นการดำเนินงานตามแผนที่ได้กำหนดไว้ในเค้าโครงของโครงงาน และต้องมีการจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียด จัดทำอย่างเป็นระบบ เป็นระเบียบ เพื่อที่จะได้ใช้เป็นข้อมูลต่อไป

            ขั้นตอนที่ 5 การเขียนรายงาน

                        ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ ชัดเจน และครอบคลุมประเด็นสำคัญของโครงงาน โดยสามารถเขียนให้อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสรุป รายงานผล  ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อต่าง ๆ เช่น บทคัดบ่อ บทนำ เอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

            ขั้นตอนที่ 6 การแสดงผล

                        เป็นการนำเสนอผลงาน สามารถจัดได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการ หรือ สิ่งตีพิมพ์ การสอนแบบเพื่อนสอนเพื่อน ตามความเหมาะสมของโครงงาน

ข้อจำกัดของการจัดทำโครงงาน

            การจัดทำโครงงานจะประสบความสำเร็จได้ มีข้อจำกัด ดังนี้

1. การจัดโครงงานต่าง ๆ ทั้งผู้สอนและผู้เรียน จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ทำค่อนข้างมาก ต้องมีการศึกษาค้นคว้าเอกสาร ความรู้ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุน ระหว่างทำการทดลอง

2. เรื่องที่ทำต้องเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ผลที่ได้ควรเกิดประโยชน์แก่ตัวผู้เรียน หรือบุคคลในท้องถิ่น

3. เรื่องที่ทำต้องเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ผู้เรียนสามารถทดลองได้

4. การออกแบบทดลอง จะต้องครอบคลุมจุดหมายที่กำหนดไว้

5. ระหว่างทำโครงงาน จะต้องมีการแก้ไขปัญหา ผู้เรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของกระบวนการแก้ปัญหา และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 

การสำรวจวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจเลือกโครงการ

            ก่อนการตัดสินเลือกทำโครงการใดๆ จำเป็นที่จะต้องใช้การคิดวิเคราะห์ วินิจฉัย อย่างรอบคอบด้วยการสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น ควรสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสังคมสิ่งแวดล้อม และสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ

1. สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน

ในการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับตนเองนั้นมีปัจจัยหลายประการ เช่น สติปัญญา ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ ทักษะและความพร้อมในวิชาสาขาอาชีพ รวมทั้งวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ วิชาโครงการที่เลือกจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาหรือจัดทำโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. การสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและสังคม

ข้อมูลต่าง ๆ นั้นมีส่วนผลักดันให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เช่น ความเห็นชอบของบุคคลรอบตัว คนในครอบครัว อาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อนร่วมงานเป็นต้น ทั้งนี้ยังรวมไปถึงความต้องการของคนในท้องถิ่น แหล่วงความรู้ต่างๆที่จะเป็นความรู้เพิ่มเติม แหล่งจัดหาวัสดุอุปกรณ์สาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่ง เป็นต้น

3. สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ โครงการมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนผลักดันให้เกิดเป็นแนวความคิดและประสบการณ์อย่างหลากหลาย ซึ่งสามารถศึกษาและสำรวจข้อมูลได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น แหล่งวิชาชีพ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ สวนผลไม้ วนอุทยาน ศูนย์ธุรกิจการค้า ศูนย์ศิลปาชีพ ฯลฯ นอกจากนี้ข้อมูลสามารถนำมาได้จากการบรรยาย ประชุมสัมมนา รายการวิทยุโทรทัศน์ การศึกษาผลงานของผู้อื่น หรือจากการสนทนา สัมภาษณ์ จากบุคคลที่มีความรู้เฉพาะด้านนั้น ๆ ทั้งนี้การสังเกตสิ่งต่างๆที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน หรือจากงานอดิเรกจะเป็นข้อมูลและประสบการณ์ ที่มีคุณภาพ

การเขียนโครงการฝึกอาชีพ

หลักการสำคัญในการเขียนโครงการ

การปฏิบัติงานตามโครงงานอาชีพของผู้เรียน เพื่อให้บรรลุตามจุดหมานของหลักสูตรและจุดมุ่งหมายการจัดทำโครงการ จึงได้กำหนดหลักการที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการไว้ ดังนี้

1. ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มมีเสรีภาพในการตัดสินใจ เลือกทำโครงงานอาชีพใดก็ได้ ตามความถนัด ความสนใจ และคามพร้อมของผู้เรียน

2. ผู้เรียนในห้องเรียนเดียวกัน ควรเลือกโครงการอาชีพแตกต่างกัน ได้ตามความถนัด ความพร้อม และความสนใจ ตลอดจนคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ชิ้นงาน หรือรายได้จากการปฏิบัติงาน

3. ให้คำนึงถึงทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตชิ้นงาน และทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่น ตลอดจนภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อการอนุรักษ์ และพัฒนาเทคโนโลยีในท้องถิ่น

4. ผู้เรียนสามารถนำทักษะการทำงาน พื้นฐานหลายประเภท รวมไว้ในโครงการเดียวได้

5. ในแต่ละโครงการ อาจกำหนดคาบเวลาแตกต่างกันได้ ตามความยากง่ายของลักษณะงาน

6. ครูอาจารย์ ผู้สอน หรือที่ปรึกษา อาจจัดสื่อการสอนในลักษณะของใบงาน หรือใบความรู้ หรือข้อมูลทางวิชาการ เพื่อช่วยให้นักเรียน สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง

            7. ในการประเมินโครงการ ให้ครู อาจารย์ผู้สอน หรือที่ปรึกษาเป็นผู้ประเมิน โดยคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจ กระบวนการทำงาน เจตติในการปฏิบัติงาน และการนำชิ้นงานไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และต้องประเมินผลการเรียนเป็นรายภาคเรียน สำหรับผู้เรียนที่เลือกหลายโครงการใน 1 ภาคเรียน ให้ประเมินผลโดยให้คะแนนในแต่ละโครงการก่อน แล้วนำมารวมกัน เพื่อตัดสินให้ระดับคะแนน โดยคำนึงถึงคาเวลาในแต่ละโครงการ โดยจัดสัดส่วนน้ำหนักโครงการแตกต่างกันตามคาบเวลา

ส่วนประกอบและวิธีการเขียนโครงการฝึกอาชีพ

            ส่วนประกอบและวิธีเขียนโครงการฝึกอาชีพ มีรายะเอียด ดังต่อไปนี้

1. ชื่อโครงงาน

ควรตั้งชื่อโครงการอาชีพให้สื่อความหมายได้ชัดเจน ครอบคลุมความหมายของกิจกรรมอาชีพที่ทำให้ชัดเจนว่าทำอะไร ต้องเป็นชื่อที่เหมาะสม ชัดเจน ดึงดูดความสนใจ และเฉพาะเจาะจงว่าจะทำอะไร ไม่ควรตั้งชื่อโครงการที่มีความหมายกว้างเกินไปตัวอย่างเช่น โครงการปลูกมันสัมปะหลัง โครงงานทำสิ่งประดิษฐ์               

2. ชื่อผู้ทำโครงงาน

เป็นชื่อผู้รับผิดชอบโครงงาน ในกรณีงานกลุ่มต้องระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนให้ชัดเจน พิจารณาความเหมาะสมในด้านความสามารถ โอกาสในการทำงาน กำลังทุนทรัพย์สินของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบว่า โครงงานอยู่ในความรับผิดชอบของใครและสามารถติดตามได้ที่ใด หรือโครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของใคร เมื่อมีปัญหาจะได้ติดต่อประสานงานได้อย่างง่าย

3. ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน

เป็นผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ

4. หลักการและเหตุผลหรือความสำคัญของโครงการ

ควรกล่าวถึงสภาพชุมชนและความต้องการของตลาดที่เกี่ยวข้องกับอาชีพตามที่ได้ ศึกษามา และอธิบายว่าโครงงานนี้จะสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างไร แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นหรือความสำคัญ ซึ่งผู้เสนอโครงงานจะต้องระบุถึงเหตุผลและข้อมูล  หรือทฤษฎีต่าง ๆ มาสนับสนุนโครงการให้ปรากฏชัดเจนอย่างสมเหตุสมผล  การเขียนหลักการและเหตุผลในส่วนนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ
                    1.
 ความเป็นมาของโครงการย่อ ๆ
                    2.
 เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีโครงการนั้น ๆ
                    3.
 วิธีการดำเนินโครงการย่อ ๆ

  5. วัตถุประสงค์ 

จะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่า โครงงานอาชีพนี้ ผู้เรียนจะทำอะไรโดยเขียนให้เห็นว่ากิจกรรมหรือพฤติกรรมที่จะดำเนินการมี อะไรบ้าง หากมีวัตถุประสงค์หลายประการก็ควรเขียนเป็นข้อ ๆ ตามลำดับความสำคัญ การเขียนวัตถุประสงค์มีความสำคัญต่อแนวทาง การศึกษา ตลอดจนข้อความรู้ที่ค้นพบหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นพบนั้นจะมีความสมบูรณ์ครบถ้วน ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทุก ๆ ข้อ  ไม่เปิดโอกาสให้ตีความได้หลายอย่างอันจะทำให้ความหมายบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง และสามารถประเมินผลและวัดได้

6. เป้าหมาย 

เป้าหมาย (Targets) หมายถึงการแสดงผลผลิตขั้นสุดท้ายในแง่ปริมาณ จำนวนหรือการวัดความสำเร็จในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ กำหนดเป้าหมายของผลผลิตในช่วงเวลาให้ชัดเจนคือ อะไร มีปริมาณเท่าใดและคุณภาพเป็นอย่างไร เป้าหมายจึงคล้ายกับวัตถุประสงค์แต่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากกว่า มีการระบุสิ่งที่ต้องการกระทำหรือการไปถึงชัดเจนกว่าและระบุเวลาที่ต้องการบรรลุ ว่าจะแล้วเสร็จในวันที่เท่าไร เดือนอะไร ปีใด โดยใคร และอย่างไร นอกจากนั้นอาจมีการกำหนดเป้าหมายเชิงคุณภาพควบคู่ไปด้วยก็ได้

7. ระยะเวลาดำเนินการ

การระบุระยะเวลาและสถานที่หรือพื้นที่เป้าหมายที่จะจัดกิจกรรม  ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั่งเสร็จสิ้นโครงงานและในกรณีที่เป็นโครงงานระยะยาวมีหลายขั้นตอน ก็จะต้องแสดงช่วงเวลาในแต่ละขั้นตอนนั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเพื่ออนุมัติโครงงาน  ตัวอย่างเช่น
ระยะเวลา
 : 1 เดือน วันที่ 1 – 30 เมษายน 2558
สถานที่ดำเนินงาน : โรงเรียนสารคามพิทยาคม

8. งบประมาณ 

จัดทำรายละเอียดรายจ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงงาน เป็นการระบุถึงจำนวนเงิน จำนวนบุคคล จำนวนวัสดุ-ครุภัณฑ์ และปัจจัยอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน การจัดทำงบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินงานโครงการ ผู้วางแผนโครงการควรต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ 4 ประการในการจัดทำโครงการ โดยจะต้องจัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอและจะต้องใช้อย่างประหยัด ดังนี้

             1.       ความประหยัด (Economy)

2.       ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

3.       ความมีประสิทธิผล  (Effectiveness)

4.       ความยุติธรรม (Equity)

9. ขั้นตอนวิธีดำเนินงาน 

เขียนเป็นรายละเอียดขั้นตอนของการทำงาน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงงานโดยเขียนเป็นแผนปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อ กิจกรรม ระยะเวลา สถานศึกษา ทรัพยากร/ปัจจัยเป็นต้น รายละเอียดดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ปรึกษาหรือผู้ดำเนินงานติดตามกำกับงานได้ อย่างมีระบบแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

10. การติดตามและการประเมินผล 

เป็นวิธีการหรือเทคนิคในการดูแลและควบคุมการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ต้องบอกให้ชัดเจนว่าก่อนเริ่มทำโครงงาน ระหว่างทำโครงงานและหลังการทำโครงงาน จะมีการติดตามและประเมินผลอย่างไร เป็นการระบุว่ามีการติดตาม  การควบคุม การกำกับ  และการประเมินผลโครงงานอย่างไร จะประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานโครงงานได้อย่างไรใครเป็นผู้รับผิดชอบ  โดยระบุวิธีหรือเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินด้วย  ทั้งนี้หัวข้อของการประเมินจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามโครงงานด้วย

ดังนั้น  เพื่อให้การติดตามและประเมินผลโครงการสอดคล้องระหว่างการวางแผนกับการปฏิบัติงาน  ควรพิจารณาดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ
1.
 ประเมินผลก่อนการทำโครงการ  หรือก่อนการปฏิบัติงาน
2.
 ประเมินผลระหว่างที่มีการทำโครงงาน
3.
 ประเมินผลภายหลังการทำโครงงาน

              11. ผลที่คาดว่าจะได้รับ 

ให้ระบุผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นโครงงาน เป็นผลที่ได้รับโดยตรงและผลพลอยได้หรือผลกระทบจากโครงงานเป็นผลในด้านดีที่ คาดว่าจะได้รับจะต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์และเป้าหมาย แสดงถึงผลประโยชน์ที่ผู้ดำเนินโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับหลังโครงการสิ้นสุดลง  ซึ่งหมายถึงผลกระทบในทางที่ดี  ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม  นอกจากนี้จะระบุไว้ชัดเจนว่าใครจะได้รับผลประโยชน์และผลกระทบในลักษณะอย่างไร  ทั้งด้านปริมาณ และด้านคุณภาพ

12. ปัญหาและอุปสรรค

การดำเนินงานตามโครงการนี้ จะมีปัญหาและอุปสรรคใดบ้าง ทั้งในด้านตัวบุคคลที่ร่วมงาน  ขั้นตอนการปฏิบัติ  ภัยธรรมชาติ ตลาดจำหน่ายและอื่น ๆ ที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้น พร้อมชี้แจงสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นด้วย  รวมทั้งแนวทางแก้ไข  ปัญหาและอุปสรรคที่ไม่เป็นไปตามแผนขั้นตอนการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน ระยะเวลา วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดด้วย

รวบรวมโดย นางสาวเบญญาพร ศรีจันทร์หล้า รหัสนิสิต 54105010108