วัฒนธรรม สมัยรัตนโกสินทร์ตอนปลาย

พัฒนาการทางด้านศิลปวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์

1.              ลักษณะศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325 – 2394)

ศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยอยุธยาให้กลับมาเจริญรุ่งเรื่องขึ้นใหม่ รวมทั้งปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ เข้าไปด้วย ที่สำคัญมีดังนี้

1)        ด้านพระพุทธศาสนา  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นใหม่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ใน พ.ศ. 2331 รวมทั้งทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นจำนวนมาก เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ เป็นต้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชกุศลอย่างใหญ่โตในวันวิสาขบูชา รวมทั้งทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดสืบต่อจากรัชกาลที่ 1  เช่น วัดสุทัศนเทพวราราม วัดโมลีโลกยาราม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเอาพระทัยใส่ในการสร้างและบูรณะวัดด้วยเช่นกัน ที่สำคัญ เช่น วัดราชโอรสาราม วัดราชนัดดาราม วัดยานนาวา เป็นต้น

2)       ด้านศิลปกรรม มีทั้งทำนุบำรุงของเดิมและสร้างขึ้นใหม่ดังต่อไปนี้

2.1)  ด้านสถาปัตยกรรม งานสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่สำคัญ เช่น พระมหามณเฑียร เป็นพระที่นั่งหมู่ ประกอบด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณและพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน พระมหาประสาท ประกอบด้วย พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทกับพระที่นั่งพิมานรัตยา

ในสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 3  งานสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามาปะปนอยู่มาก เช่น หลังคาโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ นิยมทำรูปทรงอย่างหลังคาจีน หรือหน้าบันประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ แทนการแกะสลักด้วยไม้ งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญ เช่น เรือสำเภาก่อด้วยอิฐที่วัดยานนาวา โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม เป็นต้น

2.2)  ด้านประติมากรรม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ค่อยได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ มีแต่โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทะรูปที่ถูกทอดทิ้งจากเมืองสุโขทัย ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จำนวนกว่า 1,500 องค์มาบูรณะแล้วพระราชทานให้แก่วัดวาอารามต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงได้เริ่มสร้างพระพุทธรูปขึ้น เช่น พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 3 งานประติมากรรมได้มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นที่สำคัญ เช่น พระพุทธศรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) พระประธานในพระวิหารวัดกัลยาณมิตร เป็นต้น

2.3)  ด้านจิตรกรรม  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงมีจุดมุ่งหมายตามประเพณีที่ได้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา กล่าวคือ เป็นการสร้างงานเพื่อศาสนา โดยการเขียนเรื่องราวทางศาสนาลงบนผนังอาคารของพระอุโบสถ พระวิหาร ตัวอย่างงานจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่สำคัญ เช่น ภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ส่วนสมัยรัชกาลที่ 2 มีผลงานน้อยเนื่องจากงานที่สร้างขึ้นในสมัยของพระองค์มักจะสำเร็จในสมัยต่อมา ครั้นถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงสร้างงานจิตรกรรมไว้หลายแห่ง เช่น ภาพเขียนภายในพระอุโบสถและพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม และในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม เป็นต้น

2.4)  ด้านวรรณกรรม งานวรรณกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่สำคัญ เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้นำวรรณกรรมของประเทศใกล้เคียงมาแปลและเรียบเรียงขึ้นหลายเรื่อง เช่น ราชาธิราชแปลมาจากภาษามอญ สามก๊กแปลมาจากภาษาจีน เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 2 เนื่องจากพระองค์ทรงสนพระทัยในงานวรรณกรรมมาก ดังนั้นยุคนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี ที่สำคัญ เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 วรรณกรรมสำคัญ เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นต้น

2.5)  ด้านนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงรับแบบอย่างจากสมัยอยุธยา โดยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการฝึกหัดโขนขึ้นทั้งในวังหลวงและวังหน้า และให้ประชุมครูละครเพื่อจัดทำตำราท่ารำขึ้นใหม่แทนตำราที่สูญหายไปเมื่อครั้งเสียงกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 งานฟื้นฟูนาฏศิลป์มีความรุ่งเรืองมาก พระอง๕โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงแก้ไขบทละครและวิธีรำใหม่ให้ไพเราะและงดงาม นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งในการดนตรี โดยเฉพาะซอสามสาย ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกงานนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ในพระบรมมหาราชวัง เป็นผลให้ศิลปินต้องย้ายไปสังกัดกับขุนนางผู้มีฐานะที่รับอุปถัมภ์งานศิลปะแขนงดังกล่าว

2.              ลักษณะศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย (พ.ศ. 2394 – 2475)

ในช่วงระยะเวลาหลังจากไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นช่วงที่ไทยเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตกมาปรับปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่ก่อนแล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1)                 การปรับปรุงศิลปวัฒนธรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นใหม่ เช่น วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฏกษัตริยาราม และบูรณปฏิสังขรณ์วัดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุวรรณดาราราม และวัดพนัญเชิงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นต้น โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นครอบพระเจดีย์โบราณที่จังหวัดนครปฐม (แต่มาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ) รวมทั้งทรงสั่งให้ต่อเรือกลไฟตามแบบตะวันตกและเรือพายพระที่นั่ง ทรงพระราชทานนามว่า “อนันตนาคราช”

ในด้านวัฒนธรรมประเพณี รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่สำคัญ เช่น ทรงประกาศให้เจ้านายและข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้าฯ ทรงยกเลิกประเพณีห้ามราษฎรเข้าเฝ้าฯ ชมพระบารมีเวลาเสด็จผ่าน และยกเลิกกองทหารนำขบวนเสด็จ ทรงกำหนดให้ใช้ธงสีแดงมีช้างเผือก (ขาว) ยืนอยู่ตรงกลาง หันหัวไปทางด้านที่ติดกับเสาธง เป็นต้น

2)                 การปรับปรุงศิลปวัฒนธรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด-      เกล้าฯ ให้สร้างวัดขั้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก เช่น วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดเทพศิริน ทราวาส วัดนิเวศธรรมประวัติที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระที่นั่งใหม่ๆ เป็นตึกตามแบบตะวันตก ที่สำคัญ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม (สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6) พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะตะวันตก รวมทั้งศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

สำหรับด้านวัฒนธรรมประเพณี รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงหลายอย่าง เช่น ให้ชายไทยในราชสำนักเลิกไว้ผมทรงมหาดไทย เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทั้งศีรษะอย่างฝรั่ง ส่วนผู้หญิงให้เลิกไว้ผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทรงดอกกระทุ่ม โปรดเกล้าฯ ให้ช่างออกแบบเสื้อชายโดยดัดแปลงจากเสื้อนอกของฝรั่ง เป็นเสื้อคอปิดกระดุม 5 เม็ด เรียกว่า “เสื้อราชปะแตน” และสวมหมวกอย่างยุโรป ทรงให้ข้าราชการฝ่ายทหารทุกกรมกองแต่งเครื่องแบบนุ่งกางเกงอย่างทหารยุโรปแทนการนุ่งโจงกระเบนแบบเก่า ส่วนผู้หญิงให้สวมเสื้อคอตั้งแขนยาว ต้นแขนพองคล้ายขาหมูแฮม แต่ยังคงมีผ้าห่มเป็นแพรคล้ายสไบเฉียง ส่วนการนุ่งยกห่มตาดที่มีมาแต่โบราณยังคงใช้สำหรับเวลาแต่งกายเต็มยศใหญ่ รวมทั้งให้ผู้ชายและผู้หญิงพากันสวมใส่ถุงเท้า รองเท้า เป็นต้น นอกจากนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกประเพณีโกนผมไว้ทุกข์ และทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีการสืบสันตติวงศ์ด้วยการยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชและสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎาชกุมารขึ้นแทน

3)                 การปรับปรุงศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 6  เนื่องจากการสร้างวัดได้มีมาตั้งแต่รัชกาลต้นๆ ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงไม่มีการสร้างวัดใหม่ โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ที่ชำรุดหรือสร้างค้างไว้ตั้งแต่รัชกาลก่อน เช่น วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งสร้างค้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ให้แล้วเสร็จ รวมทั้งสร้างพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้เริ่มงานมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ให้เสร็จบริบูรณ์ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างงานสถาปัตยกรรม ซึ่งมีทั้งศิลปะแบบไทยและแบบตะวันตก เช่น หอประชุมโรงเรียนวชิราวะวิทยาลัย พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นต้น

สำหรับการปรับปรุงด้านวัฒนธรรมประเพณีในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่สำคัญ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล การประดิษฐ์ “ธงไตรรงค์” ทรงกำหนดคำนำหน้านามสตรีและเด็ก โดยผู้ที่ยังโสดอยู่ให้ใช้คำนำหน้าว่า “นางสาว” ผู้ที่มีสามีให้ใช้คำว่า “นาง” ส่วนเด็กให้ใช้คำนำหน้าว่า “เด็กชาย” และ “เด็กหญิง” ทรงเปลี่ยนแปลงการนับเวลาทางราชการใหม่ ทรงใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศก เป็นต้น เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงทำให้การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรมต้องหยุดชะงักไป

3.              ลักษณะศิลปวัฒนธรรมไทยภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

1)       การเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมประเพณีสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สำคัญ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศสยาม คนสยาม และสัญชาติสยามเป็นประเทศไทย คนไทย และสัญชาติไทย มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์และยศข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเพื่อความเสมอภาค มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนเป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เพื่อให้เป็นแบบสากล มีการกำหนดระเบียบต่างๆ ในการดำรงชีวิตของคนไทย เช่น การใช้ช้อนส้อมในการรับประทานอาหารแทนการใช้มือ ห้ามประชาชนกินหมาก ชักชวนให้คนไทยเลิกนุ่งกางเกงแพร เปลี่ยนมาใช้ชุดสากลแทน หรือให้สตรีไทยเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมาสวมผ้านุ่ง หมวก รองเท้า เป็นต้น

2)      การฟื้นฟูขนบธรรมเนียมและพระราชประเพณีในสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์มีนโยบายแน่วแน่ในการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงจัดให้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีต่างๆ เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พิธีเสด็จพระราชดำเนินสวนสนาม การจัดแต่งโคมไฟและประดับธงชาติตามสถานที่ราชการและอาคารบ้านเรือนเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาแทนตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ทั้งยังฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นต้น

3)      การฟื้นฟูวัฒนธรรมเมื่อครั้งเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี โดยรัฐบาลได้จัดให้มีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2525 ซึ่งทั้งภาครัฐบาลและเอกชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น วางโครงการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังให้มีสภาพดีดังเดิม มีการฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นต้น

4)      การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้ทรงจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น เพื่อฝึกสอนให้คนไทยรู้จักฝึกฝนทางด้านหัตถกรรมดั้งเดิมของไทย เช่น การปั้น การทอผ้า การแกะสลัก เป็นต้น ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในมูลนิธิเป็นจำนวนมาก

5)      โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นโครงการของรัฐที่ส่งเสริมให้ชุมชนระดับรากหญ้าผลิตสินค้าออกสู่ตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งสินค้าประเภทหนึ่ง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางด้านหัตถกรรมก็ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปกรรมต่างๆ ให้ดำรงอยู่คู่ชุมชน และจัดว่ามีความสวยงามจนเป็นที่นิยมแก่ผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก

ศิลปวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ มีอะไรบ้าง

ศิลปะรัตนโกสินทร์.
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.
พระปรางค์วัดอรุณ.
วัดเทพธิดาราม สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เรียกว่า แบบพระราชนิยม.
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท.
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์.
จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยทิศ.
จิตรกรรมฝาผนังแห่งวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร.

วัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอะไรบ้าง

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการฟื้นฟูนาฏศิลป์ เช่น โขน ละคร ระบํา หุ่นและหนัง ให้เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้มี การฝึกโขนทั้งในวังหลวง วังหน้าตลอดจนเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่โปรดให้ประชุมครูละคร เพื่อจัดทําตําราท่ารํา

รัตนโกสินทร์ตอนปลายคือช่วงไหน

กรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475.

สมัยรัตนโกสินทร์ คือช่วงไหน

เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์โดย ทั่วไปจะหมายถึงช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2325-2475 และเรียกช่วงเวลาหลังจากการปลี่ยนแปลง การปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันว่า ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หรือประวัติ ศาสตร์ไทยยุค ประชาธิปไตย เริ่มเมื่อ สมเด็จเจ้าพระยา ...