หนังสือยินยอมให้ ผู้เยาว์ ทํา หนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทางไทย (Thai passport) เป็นเอกสารที่สำคัญในการเดินทางไปต่างประเทศ โดยหนังสือเดินทางประเทศไทยสำหรับประชาชนทั่วไปรุ่นปัจจุบันจะมีสีแดงเลือดหมูโดยมีตราครุฑอยู่ตรงกลางที่ปกด้านหน้า และคำว่า "หนังสือเดินทาง ประเทศไทย"  อยู่ด้านบนสุด ส่วนคำว่า "THAILAND PASSPORT"อยู่ใต้ตราครุฑ ด้านล่างสุดจะเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือเดินทางที่มีข้อมูลทางชีวภาพ (biometric passport)

เอกสารที่ต้องเตรียมในการทำหนังสือเดินทาง

สำหรับผู้บรรลุนิติภาวะ (อายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป)

1.บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงที่ยังไม่หมดอายุและไม่ถูกยกเลิก
2.หนังสือเดินทางเล่มเดิม (ถ้ามี) เฉพาะกรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมที่ยังมีอายุการใช้งานหรือใบแจ้งความกรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมที่ยังมีอายุการใช้งานสูญหาย
3.หากมีรายการแก้ไขชื่อสกุล หรือวันเดือนปีเกิด ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับบัตรประชาชน ให้นำหลักฐานการแก้ไขที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย

สำหรับผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)

1. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง สภาพไม่ชำรุด ยังมีอายุการใช้งานและยังไม่ถูกยกเลิก หรือสูติบัตรฉบับจริง (กรณีอายุยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชน)

2. บิดาและมารดาทั้งสองต้องมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในวันรับคำร้องพร้อมบัตรประชาชนฉบับจริงมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ (หากบิดาหรือมารดาเป็นชาวต่างชาติให้ใช้หนังสือเดินทางฉบับจริงของบิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณี)

3.หนังสือเดินทางเล่มเดิม (ถ้ามี) เฉพาะกรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมที่ยังมีอายุการใช้งาน หรือใบแจ้งความกรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมที่ยังมีอายุการใช้งานสูญหาย


กรณีพิเศษสำหรับผู้เยาว์(อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)

1. กรณีบิดาหรือมารดา หรือทั้งสอง ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมได้

  • หากอยู่ในประเทศไทยให้บุคคลที่ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมฯ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศจากอำเภอ สำนักงานเขตหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแนบบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริง ของบิดาและ/หรือมารดา
  • หากอยู่ต่างประเทศ ให้บุคคลที่ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมฯ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ เดินทางไปต่างประเทศจากสถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ไทย แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและหน้าหนังสือเดินทางที่รับรองสำเนาถูกต้องของบิดาและ/หรือมารดา
  • เฉพาะกรณีผู้เยาว์อายุตํ่ากว่า 15 ปีบริบูรณ์ที่บิดาและมารดาไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ให้ทำหนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศจากอำเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทย
    กรณีที่บิดาหรือมารดาอยู่ในต่างประเทศให้ผู้อื่น (ที่บรรลุนิติภาวะอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)เป็นผู้พาผู้เยาว์มายื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางพร้อมบัตรประชาชนฉบับจริงของผู้รับมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนของบิดาและมารดาถ้าบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาลงนามยินยอมได้ให้อีกฝ่ายทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไป ต่างประเทศจากอำเภอสำนักงานเขตหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นพร้อมบัตรประชาชนฉบับจริงของบิดาและมารดา

2. กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกันและผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะของมารดา

  • มารดาสามารถลงนามให้ความยินยอมฯ ได้ฝ่ายเดียวพร้อมกับบันทึกคำให้การรับรองการปกครองบุตร(ป.ค.14)
    ที่ออกโดยอำเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นและบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของมารดา

3. กรณีบิดาและมารดาจดทะเบียนหย่า

  • บิดาหรือมารดาที่ระบุให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียวในบันทึกการหย่า สามารถเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมได้ฝ่ายเดียวพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของบิดาหรือมารดาฉบับจริงแล้วแต่กรณี

4.กรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

  • ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้รับบุตรบุญธรรม

5. กรณีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต

  • ให้บิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตมาลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับใบมรณบัตรของอีกฝ่ายหนึ่งและบัตรประชาชนของบิดาหรือมารดาฉบับจริงแล้วแต่กรณี

6.กรณีอื่นๆ ที่จะต้องมีคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง เช่น

- กรณีบิดาและมารดาเสียชีวิต

- กรณีบิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรสและไม่สามารถตามหาอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้

- กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาโดยตลอดและไม่สามารถติดต่อมารดาได้

  • ให้ผู้ปกครองที่มีชื่อระบุตามคำสั่งศาลเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับคำสั่งศาลฯและบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มีอำนาจปกครองตามคำสั่งศาล

ขั้นตอนการทำหนังสือเดินทาง

1. จองคิวทำพาสปอร์ตทางออนไลน์ได้ที่ http://www.passport.in.th
หากจองคิวทำพาสปอร์ตออนไลน์ไว้ แต่เกิดไม่สะดวกในวันดังกล่าว สามารถเข้าไปเลื่อน หรือเปลี่ยนวันที่ในระบบได้ โดยสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลการจองได้ไม่เกินเวลา 23:00 น. ของวันก่อนวันขอรับบริการหนังสือเดินทางที่ได้เคยเลือกไว้ และเปลี่ยนแปลงได้ 5 ครั้ง

2. รับบัตรคิว
ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก หรือสูติบัตรฉบับจริง (หากไม่มีเลข 13 หลัก ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดง) พร้อมเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อตรวจสอบข้อมูล หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วนจะแจกบัตรคิว

3. วัดส่วนสูง กรอกข้อมูลในเอกสาร พร้อมรายละเอียดที่อยู่ในการจัดส่งทางไปรษณีย์และผู้ติดต่อฉุกเฉิน

4. รอเรียกคิวเข้ารับบริการ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลบุคคล เก็บข้อมูลทางชีวภาพ เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ซ้าย และนิ้วชี้ขวาด้วยเครื่องสแกนเนอร์ และถ่ายรูปใบหน้า ากนั้นก็จะตรวจสอบข้อมูลและลงชื่อในคำร้อง

5. ชำระค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง หากต้องการให้จัดส่งทางไปรษณีย์ จะต้องชำระค่าส่งไปรษณีย์เพิ่มเติม 40-60 บาท จากนั้นรับใบเสร็จรับเงินและรับใบนัดรับเล่ม

ค่าธรรมเนียม

หนังสือเดินทางปกติ 1,000 บาท
หนังสือเดินทางเล่มด่วนได้รับเล่มในวันถัดไป 2,000 บาท
หนังสือเดินทางเล่มด่วนได้รับเล่มในวันเดียวกัน 3,000 บาท
กรณีจัดส่งไปรษณีย์ เสียค่าบริการ 40-60 บาท

รูปแบบการรับหนังสือเดินทาง

การรับหนังสือเดินทางแบบปกติ

จะได้รับภายใน 2-7 วันทำการ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการรับหนังสือเดินทางโดยขณะนี้มี 3 รูปแบบด้วยกัน
1. แบบรับเล่มด้วยตนเอง จะสามารถมารับได้ภายใน 2 วันทำการ ในกรณีไม่สามารถมารับเล่มด้วยตนเองสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับแทนโดยลงลายมือชื่อมอบอำนาจในใบรับเล่มพร้อม
เอกสารที่ระบุไว้ในใบรับเล่มมาแสดง
2. แบบรับเล่มหนังสือเดินทางด่วนพิเศษทางไปรษณีย์ (PSP) จะได้รับเล่มตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้ภายใน 3 วันทำการ (พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล) โดยเปิดให้บริการเฉพาะสาขาพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กรมการกงสุล, ศรีนครินทร์ (ธัญญาพาร์ค) (ศรีนครินทร์) , ปิ่นเกล้า, มีนบุรีเท่านั้น ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมการจัดส่ง 60 บาท
3. แบบรับเล่มหนังสือเดินทางไปรษณีย์ EMS จะได้รับภายใน 5-7 วันทำการ โดยมีค่าธรรมเนียมในอัตรา 40 บาท รองรับทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

การรับหนังสือเดินทางแบบด่วน

หากใครต้องการหนังสือเดินทางด่วนสามารถแจ้งรับขอรับเล่มภายในวันเดียวได้เช่นกัน โดยต้องติดต่อยื่นคำร้องและชำระเงินให้เสร็จภายในเวลา 12.00 น. โดยขอรับเล่มได้เฉพาะที่ฝ่ายจ่ายเล่ม กรมการกงสุล ตั้งแต่ 14.30-16.30 น. ของวันเดียวกัน