ยารักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง

ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจะเป็นมากในฤดูฝนและฤดูหนาวสาเหตุที่เกิดยังไม่ชัดเจน แต่คนที่สูบบุหรี่จัดจะเป็นมาก

เมื่อเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จะทำให้ผิวหลอดลมและหลอดลมฝอย มีการบวมหนามีการหลั่งเมือกหรือเสมหะออกมามากกว่าปกติ มีผลให้หลอดลม มีลักษณะตีบแคบลงทำให้ลมหายใจเข้า-ออกได้ยากลำบาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการไอและมีเสลดติดต่อกันนานกว่า ๖ เดือนขึ้นไป หรือเป็นอย่างน้อย ปีละ ๓ เดือนติดต่อกัน ๒ ปีขึ้นไป ถ้าเป็นมากๆ จะไอถี่ เสลดจะเป็นสีขาว เหลือง เขียว บางครั้งมีไข้ หรือเลือดปน ถ้าเป็นนานๆ ก็จะเป็นหอบ เหนื่อย ร่วมด้วย หรือร่วมกับถุงลมพอง โรคหัวใจ

การแพทย์แผนปัจจุบัน การรักษามักจะใช้ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม ให้กินระยะ ยาวๆ ถ้าเป็นมากๆ ใช้ยาปฏิชีวนะยาภูมิแพ้ บางครั้งอาจใช้พวกกลุ่ม ยาสตีรอยด์ (steroid) ซึ่งการใช้ยาประเภทนี้นานๆ ก็มักจะมีผลข้างเคียง ที่เราไม่ต้องการเกิดขึ้นมากกว่าผล ที่ได้รับ

เนื่องจากผู้ป่วยประเภทนี้เป็น โรคเรื้อรังเป็นแล้วเป็นอีกซ้ำๆ ซากๆ เวลาไปพบแพทย์ได้ยามากินก็หายหยุดก็เป็นอีก บางคนเป็นมาก ได้รับ ยาแล้วก็ทนผลข้างเคียงของยาไม่ไหว พอนานๆ เข้าก็เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย จึงหันมารักษาแพทย์ทางเลือก
การแพทย์แผนตะวันออก (ใน ที่นี้จะหมายถึงการแพทย์จีน) ก็เป็น อีกทางเลือกหนึ่ง ไม่ว่าการใช้สมุนไพร ฝังเข็ม ก็เน้นหลักการปรับสมดุลของ ร่างกาย ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการรักษาด้วยสมุนไพร การแก้ปัญหาแบบเป็นองค์รวม แก้ปัญหาเป็นระบบ เพราะการทำงานของอวัยวะต่างๆ มี ความสัมพันธ์กันหมด

หลอดลมอักเสบมีความสัมพันธ์ กับการไอ มีเสมหะ หายใจสั้นๆ ไอเป็นอาการของโรคปอด แต่การเกิดของเสมหะไม่จำเป็นต้องเกิดจากปอด และเสมหะข้นๆ หรือขุ่นๆ สีเหลืองเขียว มักจะมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (exogenous pathogenic factor) โดยเฉพาะความร้อน (heat) กระทบที่ปอด (ถ้าเทียบกับแผนปัจจุบันก็หมายถึงเชื้อโรค) ถ้าเสมหะ ใสๆ มัก จะเกิดจากความผิดปกติใน การทำหน้าที่ของม้าม ปอดเพียงแต่ มีหน้าที่เก็บเสมหะและทำให้ไอออก

ถ้ามีการสะสมเสมหะในปอดแล้วถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกก็ จะมีผลทำให้อาการกำเริบ ถ้าหายใจ สั้นๆ หายใจยาก ซึ่งจะเกิดกับรายที่ เป็นนานๆ แสดงว่าหน้าที่ของไตมีการเปลี่ยนแปลง พลังไตไม่พอก็จะมี ผลกระทบต่อพลังปอด ถ้าพูดอย่างง่ายๆ ก็คือ หลอดลมอักเสบเป็นโรค ของปอด แต่มีความสัมพันธ์กับหน้าที่ ของม้ามและไตด้วย ถ้าพลังม้าม ไต พร่องก็จะมีผลทำให้พลังปอดพร่องด้วย ยกเว้นพวกที่มีอาการติดเชื้อร่วมก็เป็นสาเหตุสำคัญ (ปอด ไต ม้าม ในที่นี้ต้องมีหน้าที่และความหมายตาม ทฤษฎีแพทย์จีน ซึ่งอาจจะมีบางส่วน เหมือนและแตกต่างจากแผนปัจจุบัน)

การรักษาโรคหลอดลมอักเสบ จะต้องแยกออกมาว่าเป็นแบบร้อนหรือเย็น หรือมีสภาพพร่องร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ภายในจะชื้นมากอยู่แล้ว
แบบร้อน (heat tupe) มักจะมีไข้ เสมหะชื้น ปากคอแดง ไอมาก 
* มีเสมหะสีเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม ท้องผูก ลิ้นมีฝ้า เหลือง ชีพจรสั่นและเร็ว การรักษาต้องเสริมยาที่ขับความร้อนและความชื้นด้วย เช่น ซวนไป่ผี ตี้กู่ผี หวังฉิน จือหมู่ ชวนเป้ย ซิ่งเหยิน ไป่ปู้ กัวหลัวเหยิน จี๋เกิน สือเกา เป็นต้น
แบบเย็น (cold tupe) มักจะหนาว หายใจลึก ปวดศีรษะ เป็นไข้ ถ้ามีอาการเย็นต้องขับเย็น มีอาการชื้นก็ต้องขับชื้นด้วยตัวอย่างยาที่ใช้คือ หมาหวาง กุ้ยจือ อู่เว่ยจื่อ ไป๋สาว ซี่ซิง ปั้นเสี้ย กานเจียง ข่วนตงฮัว  กานเฉ่า ถ้ามีเสมหะมากให้เพิ่มฝู่หลิง ซูจื่อ โห้วพ่อ เป็นต้น
*  ลิ้นมีฝ้าขาว ไอมีเสมหะสีขาว แน่นหน้าอก แน่นท้อง อึดอัด เบื่ออาหาร บางครั้งเสมหะมาก ชีพจรลอยหรือแน่น การรักษาต้องขับความชื้น ขับเสมหะ นอกจากการใช้ยาแก้อาการแล้วยังต้องอุ่น ร่างกายด้วย ถ้าผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่พร่อง เราก็ต้องเสริมส่วน ที่พร่องด้วย
แบบพลังพร่อง อาจจะแบ่งคร่าวๆ ตามอาการได้ดังนี้
* ขาดพลังปอด (พลังปอดพร่อง) จะไอบ่อยๆ มีเสมหะ เหงื่อออกเอง รู้สึกหนาว ลิ้นมักจะซีดมีฝ้าขาว ชีพจรอ่อน
* ขาดพลังม้าม จะมีเสมหะมากๆนอกเหนือจากระบบหายใจ ผู้ป่วย มักจะบ่นว่าไม่หิวข้าว ปวดท้อง ถ่ายเหลว ลิ้นมีฝ้าขาวมัน ชีพจรสั่น
* ขาดพลังไต หายใจเข้าสั้น หายใจออกยาว มักไอและมีเสมหะร่วม ด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการแขน-ขาเย็น ขาไม่มีแรง ปวดขา ปัสสาวะ บ่อยหรือขัด
ตัวอย่าง ยาบำรุงที่ต้องเสริมในแบบพร่อง เช่น หวงฉี ตั่งเซิน อู่เว่ยจื่อ จื๋อหว่าน ข่วนตงฮัว ไป๋สู่  ฝู่หลิง จื้อกานเฉ่า เป็นต้น

สรุป การรักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรังจะต้องรักษาอาการร่วมกับการปรับสภาพของร่างกายให้สมดุลเพื่อเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย ดังนั้น จึง ต้องรักษาทั้งปอดและอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง มักจะมีอาการจากหลายระบบร่วมด้วย ถ้ารักษาแต่อาการก็จะเป็นแล้วเป็น อีก ถ้าปรับร่างกายด้วยผู้ป่วยจะดีขึ้นมาก บางรายอาจไม่เป็นอีก

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารให้เหมาะสมกับร่างกาย ลดมลภาวะ ของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษทั้งหลาย เพื่อเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ร่วมกับการ รักษา ก็จะยิ่งได้ผลดีมากขึ้น

"ผู้ป่วยไม่ควรกินยาตามกัน เนื่องจากพื้นฐานร่างกายของแต่ละคนไม่ เหมือนกัน โรคที่เป็นถึงแม้อาการเหมือนกันก็อาจจะมีสาเหตุที่ไม่เหมือนกันได้ การรักษาที่ตรงกับโรคของตัวเองเท่านั้นจึงจะหาย"

ความหมาย หลอดลมอักเสบ

Share:

หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลมหรืออากาศเข้าสู่ปอด มีผลทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม และมีเสมหะที่หลอดลม นำมาสู่อาการทางระบบหายใจต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะมีการพัฒนามาจากโรคไข้หวัด หรือการติดเชื้อที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหลอดลมอักเสบเกิดขึ้นได้ 2 ชนิด โดยที่พบทั่วไปจะเป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน และโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ซึ่งเป็นกรณีที่รุนแรงกว่า

ยารักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

อาการของหลอดลมอักเสบ

อาการอาจเริ่มต้นด้วยการเป็นหวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว มีน้ำมูก แสบคอ หากเริ่มรู้สึกแน่นหน้าอกพร้อมกับมีเสมหะในคอ และมีอาการไอ นั่นอาจเป็นอาการที่แสดงของโรคหลอดลมอักเสบในเบื้องต้น

หลอดลมอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง มีอาการที่สำคัญดังนี้

  • ไอ ถือเป็นอาการที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ บางครั้งอาจเจ็บหน้าอกขณะที่ไอ
  • มีเสมหะ มีทั้งแบบไม่มีสี อาจมีสีเหลือง หรือเขียว บางรายอาจมีเลือดปนอยู่ด้วย แต่จะพบได้น้อย
  • แสบคอ หรืออาการเจ็บคอร่วมอยู่ด้วย  
  • หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรือมีอาการแน่นหน้าอก
  • ไข้ มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวก่อน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ก็ได้

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมีอาการไอต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ถึงแม้ว่าการติดเชื้อจะหายแล้ว สำหรับผู้ป่วยหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง จะมีอาการไออย่างรุนแรงอย่างน้อยปีละ 3 เดือน ติดต่อกัน 2 ปี ขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังจะมีระยะที่มีอาการแย่ลง โดยอาจเริ่มมาจากหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันก่อน

สาเหตุของหลอดลมอักเสบ

โรคหลอดลมอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากแบคทีเรียและไวรัส แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) อะดิโนไวรัส (Adenovirus) ไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นต้น บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) หรือคลาไมเดีย (Chlamydia)

อีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดลมอักเสบ คือ การสูบบุหรี่ หรือผู้ต้องอยู่กับคนที่สูบบุหรี่บ่อย ๆ รวมไปถึงมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ก๊าซพิษต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่ต้องพบในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นโรคได้

การวินัจฉัยหลอดลมอักเสบ

การวินิจฉัยในผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการในช่วงวันแรก ๆ นั้นจะแยกแยะลักษณะอาการได้ยากเนื่องจากโรคหลอดลมอักเสบในระยะแรกจะมีอาการคล้ายหรือเหมือนกับอาการของไข้หวัด ในระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์จะใช้อุปกรณ์หูฟัง (Stethoscope) ฟังปอดจากการหายใจของผู้ป่วย และเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้

  • เอกซเรย์หน้าอก จะช่วยให้สามารถระบุโรคได้ง่ายขึ้นหากผู้ป่วยเป็นปอดอักเสบ หรือทำให้ทราบถึงอาการเจ็บป่วยอื่น
  • ตรวจการทำงานของปอด แพทย์จะให้เป่าเครื่องสำหรับวัดอัตราการหายใจที่ปอดสามารถรับได้ และความเร็วในขณะที่อากาศออกจากปอด การตรวจชนิดนี้จะทำให้สามารถตรวจหาอาการของโรคหอบหืด และอาการผิดปกติเรื้อรังของปอด
  • ตรวจเสมหะ หรือเพาะเชื้อจากเสมหะ สำหรับผูู้ป่วยที่มีอาการไอและมีเสมหะ แพทย์สามาถวินัจฉัยหาสาเหตุและสามารถให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคได้

การรักษาหลอดลมอักเสบ 

โดยส่วนใหญ่ หลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์โดยไม่ต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น ผู้ป่วยจะต้องดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ได้รับการรักษาเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่

  • ยาแก้ไอ
    อาการไอเป็นอาการหลักของโรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยยากลุ่มกดอาการไอ (Antitussives) และยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) บางรายที่มีเสมหะร่วมด้วยอาจใช้ยาขับเสมหะ (Expectorants) หรือยาละลายเสมหะ (Mucolytics) อย่างยาคาร์โบซิสเทอีน 2.25 กรัมต่อวัน (Carbocysteine) ยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine) ครั้งละ 8-16 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และยาเอ็นอะซิทิลซิสเทอีน (N-Acetyl-Cysteine) หรือ NAC 600 มิลลิกรัมต่อวัน ยากลุ่มนี้จะช่วยให้ร่างกายขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น โดยเสมหะที่ลดลงอาจช่วยให้หลอดลมโล่งและบรรเทาอาการไอได้ ปริมาณยาอาจเปลี่ยนแปลงตามอายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วยในปัจจุบัน ยาแก้ไอมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาน้ำ ยาเม็ด ย่าพ่น รวมถึงยาชนิดเม็ดฟู่ละลายน้ำ ซึ่งตัวยาเม็ดฟู่ที่ละลายน้ำอาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้ได้เร็วขึ้น จึงอาจเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนยาและผู้ที่มีปัญหาในการดูดซึมหากรู้สึกระคายคอหรือรำคาญอาการไอในระหว่างวันอาจเลือกใช้สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนผสมจากสารสกัดสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการระคายเคืองและให้ความชุ่มชื้นภายในลำคอ เช่น คาโมไมล์ เปปเปอร์มินต์ น้ำมันสน มะกรูด และยูคาลิปตัส เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มเจ็บคอหรือมีอาการไอที่ไม่รุนแรง
  • ยาปฏิชีวนะ
    หลอดลมอักเสบมักมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาปฏิชีวนะจะรักษาไม่ได้ผลดีนัก อย่างไรก็ตามแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในรายที่เป็นหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การรักษาด้วยยาอื่น ๆ
    หากผู้ป่วยเป็นภูมิแพ้ โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาพ่นเข้าปอด หรือการรักษาโดยใช้ยาอื่น ๆ ที่ช่วยลดการติดเชื้อ

ในบางรายอาจมีอาการของหลอดลมอักเสบอยู่นาน หากมีอาการนานอย่างน้อยปีละ  3 เดือน ติดต่อกัน 2 ปี จะทำให้กลายเป็น หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง  

ภาวะแทรกซ้อนของหลอดลมอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนมักจะเกิดมากจากการรักษาที่ไม่ถูกต้อง จากการติดเชื้อของหลอดลมจนลามไปที่ปอด ซึ่งมีผลทำให้เกิดปอดอักเสบ (Pneumonia) ได้ หากปล่อยเอาไว้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและผู้ป่วยปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้อาการแย่ลงจากเป็นหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังได้ หรือในกรณีที่เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองได้

นอกจากนั้นการเกิดซ้ำของโรคหลอดลมอักเสบในช่วงระยะเวลาเพียงสั้น ๆ อาจนำไปไปสู่การพัฒนาให้เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้อีกด้วย โดยโรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย อาจค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมากจะทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยแม้กระทั่งอยู่เฉย ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้สภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงด้วย

วิธีป้องกันหลอดลมอักเสบ

โดยทั่วไปหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันสามารถหายเองได้ในเวลาอันสั้น โดยที่ผู้ป่วยต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง ได้แก่ ความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือต้องสัมผัสอากาศที่เย็นมาก ๆ ระมัดระวังคนรอบข้างที่เป็นโรคซึ่งอาจแพร่เชื้อให้ได้

ที่สำคัญในผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควัน ฝุ่น สารเคมี และสารระคายเคืองต่างๆ รวมไปถึงการป้องกันอื่น ๆ เช่น หมั่นล้างมือให้สะอาดอยูู่เสมอ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาร่างกายให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยห่างไกลโรคต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง เช่น หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเน้นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและหายใจเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น วิ่ง เดินเร็ว หรือว่ายน้ำ เป็นต้น