เปลี่ยน นามสกุล ตามสามี ส วิ ส

ก่อนอื่นดิฉันขอแก้ข้อมูลคอลัมน์ฉบับที่แล้วที่ดิฉันเขียนว่าดิฉันบิน “ไทย แอร์เวย์” จากกรุงเทพไปเกาะสมุย  และปรักปรำว่าคนงานของสายการบินหรือคนที่โหลดสัมภาระหรือ?? โขมยกล้องถ่ายรูปดิฉันที่อยู่ในกระเป๋าเดินทาง ดิฉันไม่ได้บินไทยค่ะ ดิฉันบินสายการบิน “บางกอก แอร์เวย์” ต้องขอโทษมา ณ.ที่นี้ด้วย

ตอนนี้ดิฉันกลับมาทำงานตามปกติ คราวนี้งานเข้าที่เร็วมากและไม่ค่อยเครียด คิดว่าคงเป็นเพราะโยคะรีทรีท หรือได้พักผ่อนเต็มที่ สัปดาห์ที่แล้วมีคำถามเข้ามาจากหญิงไทยที่แต่งงานกับสามีฝรั่งในอเมริกา ต้องการให้ดิฉันแปลทะเบียนสมรสจากอังกฤษเป็นไทย เพื่อจะไปเปลี่ยนนามสุกลที่สถานกงสุลไทยและเธอพยายามอธิบายให้ดิฉันฟังว่ากงสุลต้องการอะไรบ้าง ยิ่งฟังยิ่งงง ดิฉันเลยไปค้นวิธีเปลี่ยนนามสกุลของคนไทยในอเมริกาจากหนังสือคู่มือกงสุลสำหรับคนไทยในสหรัฐ และกูเกิ้ลหา พ.ร.บ. ชื่อบุคคลฉบับล่าสุดปี 2548 ในขณะที่ search อยู่ไปเจอ blog WeddingSquare มีกระทู้คนไทยถามเรื่องวิธีเปลี่ยนนามสกุลตามสามีฝรั่ง การใส่นามสกุลตนเองเป็นชื่อกลาง และปัญหาเมื่อเธอไปยื่นเรื่องเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอและที่กงสุล และใน blog นี้มีผู้คัดข้อมูลคอลัมน์ของดิฉันจากเสรีชัยตอบไป wow! ดิฉันเลยตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้กระจ่างตามกฎหมายและให้ความเห็นของดิฉัน

ประวัติชื่อสกุลไทย(จากวิกิพีเดีย)

เมื่อสมัยก่อนคนไทยไม่มีนามสกุลจนกระทั่งรัชการที่ 6 โปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนประเทศอื่น จึงมีพระราชบัญญํติ (พ.ร.บ.) ขนานนามสกุลฉบับแรกเกิดขึ้นมีผลบังคับใช้ปี 2456 (ค.ศ. 1913) โดย ร.6 พระราชทานนามสกุลให้ทั้งหมด 6,432 นามสกุล ซึ่งถือเป็นนามสกุลพระราชทาน ส่วนคนธรรมดาก็ตั้งนามสกุลตัวเองโดยส่วนมากนำชื่อของผู้นำของครอบครัวมาผสมกันหรือตามถิ่นที่อยู่อาศัย ตัวอย่าง นามสกุลของคุณทวดๆๆๆของดิฉันชื่อ นางทับทิมและนายสิงห์โต เมื่อมาผสมกันจึงเป็น “ทับทิมโต” นามสกุลแรกของประเทศไทยคือ “สุขุม”

พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505

หลังจากนั้นก็มี พ.ร.บ. แก้เกี่ยวกับการตั้งชื่อสกุลผ่านมาอีก 2-3 ฉบับจนถึงฉบับสำคัญคือ พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 สมัยจอมพล ส. ธนะรัชต์ ซึ่งจะเลือกกล่าวเพียงข้อสำคัญดังนี้

  • มาตรา 5 ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัว (First name) และชื่อสกุล (Last name)  และจะมีชื่อรอง (middle name) ก็ได้
  • มาตรา 8 (5) การเปลี่ยนหรือแก้ชื่อสกุลต้องมีพยัญชนะไม่เกินกว่า 10 (สิบ) พยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล
  • มาตรา 12 หญิงมีสามีให้ใช้ชื่อสกุลของสามี
  • มาตรา 13 หญิงม่ายโดยการหย่า ให้กลับใช้ชื่อสกุลเดิมของตน
  • มาตรา 14 หญิงหม้ายโดยความตายของสามี จะใช้ชื่อสกุลของสามีหรือใช้ ชื่อสกุลเดิมของตนก็ได้ (มาตรา 14 แก้ไขโดย พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2530)

พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2548

พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้แก้ไขสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจาก พ.ร.บ. ชื่อบุคคลฉบับปี 2530 มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งขัดกับมาตรา 29, 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้มีข้อสำคัญที่เลือกมากล่าวสองข้อคือ ให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกใช้นามสกุลของตัวเองหรือของสามีได้ และ

หลักเกณท์การใช้ชื่อรองหรือ middle name ยังไม่รัดกุม มีรายละเอียดดังนี้

  • คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้นามสกุลเดิมของตน การตกลงจะกระทำเมื่อมีการสมรส หรือระหว่างสมรสก็ได้ และหญิงมีสามีซึ่งใช้ชื่อสกุลของสามีก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บัคับ ให้มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของสามีต่อไป แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน สรุป ฝ่ายหญิงมีสิทธิใช้นามสกุลสามี หรือฝ่ายชายมีสิทธิใช้นามสกุลภรรยา ตามที่ตกลงกัน และจะเปลี่ยนทันทีตอนแต่งงานหรือเปลี่ยนทีหลังได้ขณะอยู่ในระหว่างสมรสได้  และกฎหมายนี้มีผลใช้ย้อนหลัง
  • ชื่อรอง ต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่กรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือกรณีบุตรใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองของตน คู่สมรสอาจใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมของฝ่ายนั้นแล้ว สรุป หลังคุณแต่งงานคุณสามารถใช้นามสกุลของคุณเป็นชื่อรองและใช้นามสกุลของคู่สมรสเป็นนามสกุลใหม่ หรือสลับกันได้โดยใช้นามสกุลคู่สมรสเป็นชื่อรอง และยังคงนามสกุลคุณไว้

วิธีขอเปลี่ยนนามสกุลที่สถานกงสุลไทย

ตามกฎ สถานกงสุลไม่มีอำนาจเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลหรือแก้ไขบุคคลในทะเบียนราษฎรได้  ผู้ร้องต้องไปดำเนินเรื่องที่สำนักงานเขต ในเขตที่คุณมีทะเบียนบ้านอยู่เองในเมืองไทย หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำให้ แต่ทางสถานกงสุลสามารถเตรียมเอกสารต่างให้คุณได้ ดังขั้นตอนต่อไปนี้

กรณีหญิงไทยในเมริกาจดทะเบียนสมรสกับสามีฝรั่งตามกฎหมายรัฐ และต้องการเปลี่ยนนามสกุลไปใช้นามสกุลสามี ต้องทำดังนี้

  1. นำทะเบียนสมรสภาษาอังกฤษตัวจริงไปที่เขต (เคาน์ตี้) ที่คุณจดทะเบียนแผนก Documents Authentication เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับรองลายเซ็น (authenticate) ของ Secretary of State
  2. นำทะเบียนสมรสภาษาอังกฤษ ไปแปลเป็นภาษาไทย ผ่านการรับรองคำแปลจากกงสุล
  3. สามีและภรรยาไปสถานกงสุลด้วยกันแผนกนิติกร เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่กงสุลรับรองคำแปลทะเบียนสมรส และทำหนังสือบันทึกในการใช้ชื่อสกุล ข้อแนะนำตอนทำบันทึก ขอให้เขียน และสะกดชื่อให้ ละเอียดว่าคุณต้องการใช้ ชื่อ นามสกุล อย่างไร ตัวอย่าง คุณต้องการใช้ชื่อตัว และนามสกุลสามี หรือใส่นามสกุลเดิมเป็นชื่อกลาง และนามสกุลสามี เป็นต้น
  4. ถ้าคุณไม่สามารถเดินทางกลับเมืองไทย คุณสามารถทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานกงสุลให้บุคคลในเมืองไทยดำเนินเรื่องที่สำนักงานเขตให้คุณ เอกสารที่ต้องนำไปสถานกงสุลคือ บัตรประชาชน พาสปอร์ต และถ่ายสำเนาไป 1 ชุด โปรดเช็คกับสถานกงสุลถึงเอกสาร ค่าธรรมเนียมก่อนไป
  5. ถ้าคุณตั้งใจจะไปเมืองไทยด้วยตนเอง คุณก็ไม่ต้องทำใบมอบอำนาจ ให้คุณนำเอกสารข้อ 1, 2, 3 พร้อมทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนและไปยื่นเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลตามสามี หลังจากเปลี่ยนนามสกุลแล้ว คุณต้องเปลี่ยนชื่อนามสกุลในทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และพาสปอร์ต

วิธีที่ 2

คุณสามารถจดทะเบียนสมรสที่สถานกงสุลเป็นภาษาไทยอีกครั้ง เท่ากับคุณมีทะเบียนสมรส 2 ใบของรัฐและของไทย วิธีนี้คุณจะประหยัดเวลา ไม่ต้องทำขั้นตอน 1 และ 2 ข้างต้น

วิธีที่ 3

ถ้าคุณและสามีคิดจะไปเมืองไทยด้วยกัน ก็ไปจดทะเบียนสมรสที่เมืองไทยที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่คุณมีทะเบียนบ้านอยู่ และไปทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลทีเดียวเสร็จ แต่ก่อนจดทะเบียนสามีฝรั่งต้องไปที่สถานทูตอเมริกันก่อนไปขอใบรับรองความเป็นโสด ซึ่งถ้าเขาเคยหย่ามาก่อนให้เขานำใบหย่าตัวจริงไปเมืองไทยด้วย เวลาไปขอเอกสารนี้ ทางสถานทูตจะออกเอกสารเป็นภาษาอังกฤษและคุณต้องนำใบนี้ไปแปลเป็นภาษาไทย และไปให้กระทรวงการต่างประเทศรับรอง แถวถนนวิทยุมีสถานที่แปลรับทำและเดินเรื่องให้ และเมื่อได้เอกสารกลับคืนมาจึงนำเอกสารนี้ไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขต และเปลี่ยนชื่อ สกุล ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และไปกระทรวงการต่างประเทศไปแก้ชื่อในพาสปอร์ต

วิธีที่ 4

วิธีนี้เป็นวิธีที่ดิฉันแนะนำคือ ไม่ต้องทำอะไรเลยเกี่ยวกับเอกสารที่เมืองไทย เพียงจดทะเบียนสมรสในอเมริกาและเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามี หรือจะใช้นามสกุลคุณบวกสามี คืออะไรก็ได้ กฎหมายในอเมริกาเรื่องชื่อนามสกุลไม่ใช่เรื่องใหญ่ และตอนทำใบเขียวกรอกฟอร์มโดยใส่ชื่อนามสกุลใหม่ที่ต้องการ หลังจากนั้นทำใบขับขี่รัฐและเอกสารสำคัญต่างๆโดยใส่ชื่อนามสกุลตามสามี วิธีนี้เท่ากับคุณถือเป็นโสดในเมืองไทย เพราะคุณจะไม่มีประวัติในเมืองไทยว่าคุณสมรสกับฝรั่ง (อ๊ะ อ๊ะ แต่ไม่ได้หมายความคุณไปจดทะเบียนสมรสกับคนอื่นในเมืองไทยได้อีกนะคะ เพราะตามกฎหมายสากลไม่ว่าคุณจะจดทะเบียนสมรสที่ไหนทั่วโลกตราบใดที่ถูกต้องตามกฎหมายประเทศนั้นๆให้ถือว่าคุณจดทะเบียนแล้ว) และบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านยังเป็นนางสาว ชื่อเดิมอยู่  ข้อดีคือ ถ้าคุณไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติหรือแสดงว่าเป็นหญิงมีสามี

  • คุณสามารถทำนิติกรรมใดๆได้ด้วยตนเอง เพราะหญิงไทยมีสามีจะทำนิติกรรมใดๆ สามีต้องเซ็นยินยอม
  • หญิงไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติ  จะมีปัญหาเรื่องซื้อและเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน เนื่องจากกฎหมายไทยมีเงื่อนไขมากมายในการซื้ออสังหาสำหรับชาวต่างชาติ และเนื่องจากทรัพย์สินหลังแต่งงานถือเป็นสินสมรส ฉะนั้นกรณีคุณแต่งงานกับชาวต่างชาติเท่ากับสามีฝรั่งถือมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินด้วย โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับ การเปลี่ยนนามสกุลตามสามีและการเดินทางด้วยพาสปอร์ตชื่อเดิม” และ “การซื้อและถือกรรมสิทธิที่ดินในเมืองไทย” ในหนังสือสิทธิของฉันในอเมริกาเล่มหนึ่งใหม่” หน้า 5-10 และหน้า 10-9 และ หัวข้อ “นามสกุลหลังหย่าตามกฎหมายสหรัฐและไทย” ในหนังสือสิทธิของฉันในอเมริกาเล่มสอง” หน้า 2-18 คุณสามารถสั่งซื้อหนังสือโดยตรงกับดิฉัน ส่วนแฟนคลับที่เมืองไทยซื้อหนังสือได้ที่คุณนิ้งหน่อง เบอร์ 081-480-4308

พาสปอร์ตไทยและใบเขียวชื่อไม่ตรงกัน

อันนี้เรื่องเล็กค่ะ ไม่เป็นปัญหาตอนเดินทางเข้าออกประเทศอเมริกาและไทย ก่อนอื่นสิ่งสำคัญที่ต้องจำคือ การเดินทางออกนอกประเทศคุณต้องซื่อตั๋วเครื่องบินใช้ ชื่อและนามสกุลตามพาสปอร์ตไทยเท่านั้น ไม่ใช้ชื่อตามใบเขียว

ขาเข้าประเทศไทย

เวลาเดินทางเข้าประเทศไทย คุณต้องกรอกบัตรขาเข้าประเทศไทยโดยใช้ ชื่อ นามสกุลเดิมตามพาสปอร์ไทย ผ่านเข้าอิมมิเกรชั่นไทยไม่เป็นปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่ ต.ม. ไม่เช็คใบเขียวตอนเข้าประเทศ

ขาออกจากไทย

เวลาเช็คอินตั๋วที่เคาน์เต้อร์แอร์ไลน์ เจ้าหน้าที่แอร์ไลน์ต้องการเช็คใบเขียวคุณเพื่อให้แน่ใจว่าคุณสามารถเดินทางเข้าอเมริกาได้ คุณแสดงพาสปอร์ต ตั๋วเครื่องบิน และใบเขียว คุณนำทะเบียนสมรสติดตัวเผื่อไว้ไปด้วย เผื่อ  เจ้าหน้าที่สายการบินบางคนอาจขอดู

ขาเข้าอเมริกา

คุณแสดงพาสปอร์ตไทยและใบเขียวให้เจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่น การที่ชื่อในพาสปอร์ตและใบเขียวไม่ตรงกันไม่เป็นปัญหา เพราะเขามีข้อมูลของคุณทั้งหมดอยู่ในคอม

เดินทางในประเทศ

ปัจจุบันการบินในประเทศต้องแสดงไอดี เจ้าหน้าที่สายการบินจะเช็คไอดี และแม็ทช์กับชื่อบนตั๋ว ฉะนั้นคุณต้องซื้อตั๋วตามชื่อให้ตรงกับไอดีที่คุณมีอยู่ ถ้าคุณบินในประเทศอเมริกา คุณซื้อตั๋วโดยใช้ชื่อตามชื่อใบขับขี่รัฐ และใบเขียว ก็ควรจะเป็นชื่อ นามสกุลใหม่ตามสามี ถ้าคุณบินในประเทศไทย ถ้าคุณใช้ชื่อนามสกุลเดิมก่อนแต่งงาน ให้คุณนำพาสปอร์ตไทย หรือบัตรประชาชนไทยเป็นไอดี ถ้าคุณซื้อตั๋วใช้ชื่อ นามสกุลให่ตามสามี คุณสามารถแสดงใบขับขี่ของอเมริกาที่เป็นชื่อ นามสกุลสามี ฉะนั้นเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

หวังว่าข้อมูลนี้คงกระจ่างๆนะคะ

Post navigation