ใบ งาน 3.1 เรื่อง โครงสร้าง เศรษฐกิจ ไทย

โครงสร้างเศรษฐกิจไทย

1.  โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก่อนใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ก่อนที่ประเทศไทยจะประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ  ฉบับที่  1  (พ.ศ. 2504-2509)โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยมีสภาพดังนี้

               1.1  เศรษฐกิจแบบยังชีพเศรษฐกิจไทยสมัยสุโขทัย  สมัยอยุธยา  และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบยังชีพ  โดยผลิตอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ พอกินพอใช้ภายในครอบครัวและหมู่บ้าน  เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงนำไปค้าขายแลกเปลี่ยนยังหัวเมืองและประเทศใกล้เคียง

               1.2  เศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเศรษฐกิจแบบการค้าและใช้เงินตรา  เกิดขึ้นภายหลังประเทศไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษเมื่อ  พ.ศ. 2398  สมัยรัชกาลที่  4 และกับชาติตะวันตกอื่น ๆ ในเวลาไล่เลียกัน  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย ดังนี้

                         (1)มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวางมีเรือสินค้าต่างชาติเดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ เพิ่มจำนวนมากขึ้นหลายเท่าตัว

                         (2)ยกเลิกระบบการค้าผูกขาดและเปลี่ยนมาเป็นระบบการค้าเสรีการผูกขาดการค้าของหน่วยราชการที่เรียกว่า  “พระคลังสินค้า”  ต้องยุติลง  พ่อค้าชาวอังกฤษและชาติตะวันตกอื่น ๆ สามารถซื้อขายสินค้ากับพ่อค้าไทยได้โดยตรง  เป็นผลให้ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับชาติตะวันตกขยายตัวกว้างขวาง

                         (3)ระบบการผลิตแบบยังชีพ  เปลี่ยนมาเป็นระบบการผลิตเพื่อการค้าข้าวกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทย ชาวนาขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตลาดโลก

                         (4)  ความต้องการใช้แรงงานทำงานในไร่นามีมากขึ้น  ทำให้ราชการต้องลดหย่อนการเกณฑ์แรงงานไพร่โดยให้จ่ายเป็นเงินค่าราชการแทน เพื่อให้ราษฎรมีเวลาทำงานในไร่นามากขึ้น ส่วนงานก่อสร้างของทางราชการ เช่น ขุดคลอง สร้างถนนฯลฯใช้วิธีจ้างแรงงานชาวจีนแทน

                         (5)  เกิดระบบเศรษฐกิจแบบใช้เงินตรามีการจัดตั้งโรงงานกษาปณ์ในปี พ.ศ. 2403เพื่อใช้เครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์  แบบประเทศตะวันตก  และยกโลกเงินพดด้วงแบบเดิมซึ่งปลอมแปลงได้ง่าย  ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าทำได้สะดวกคล่องตัวยิ่งขึ้น

                1.3  เศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยรัฐเกิดขึ้นระหว่าง  พ.ศ. 2475-2504 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. 2475  ในสมัยรัชกาลที่  7  ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกยังคงดำรงอยู่ตลอดรัชกาลซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทย  เพราะทำให้การส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลกลดต่ำลง  อันเนื่องมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย  ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด  เช่น  ขายไม้สัก  และดีบุก  ชาวนาและผู้คนส่วนใหญ่ในชนบทจึงยากจน ช่วงสงครามโลกครั้งที่  2  (พ.ศ. 2482-2488)  เกิดภาวะเงินเฟ้อ  ขาดแคลนสินค้าและข้าวของมีราคาแพง  รัฐส่งเสริมการขยายตัวการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น   โดยรัฐเข้าดำเนินการผลิตโดยตรง  เช่น  โรงงานทอผ้า  ยาสูบ  ทำกระดาษ  และโรงงานสุรา  เป็นต้น  จึงเรียกว่าเป็นยุคเศรษฐกิจแบบชาตินิยม  หรือเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยรัฐ

2.  โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในยุคที่ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          2.1  ความเป็นมาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่  2  สิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาเป็นชาติผู้นำของโลกทุนนิยมได้สนับสนุนให้ไทยพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางทุนนิยมโดยผ่านธนาคารโลก  ซึ่งชี้นำให้ประเทศไทยจัดตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ  โดยเน้นให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนามากขึ้น

         2.2  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่  1  (พ.ศ. 2504-2509)จนกระทั้งในปัจจุบันใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 11  (พ.ศ. 2555-2559)  ผลจากการใช้แผนพัฒนาดังกล่าวมาเป็นเวลา  50  ปี  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย  ดังนี้

(1)  ผลผลิตภาคการเกษตรลดปริมาณลงแต่มีการกระจายหรือเพิ่มชนิดขึ้น  แต่เดิมมีเพียงข้าว  ไม้สัก  และยางพารา  ต่อมามีสินค้าออกเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด  เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย  และผลไม้ต่าง ๆ  เป็นต้น

(2)  ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการบริการ  (ธนาคารพาณิชย์  การท่องเที่ยว โรงแรม)  เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร  ขณะเดียวกันมีการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น

(3)  การค้าระหว่างประเทศขยายตัวมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งสินค้าออกและสินค้าเข้า   สินค้าออกมีหลายชนิดมากขึ้นแต่เดิมเป็นผลผลิตทางการเกษตร  แต่ในปัจจุบันเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น  ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์  อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้า

3.  ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic  Development)หมายถึง กระบวนการสร้างความเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน  มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ  โดยมีเป้าหมายเพื่อลดหรือขจัดปัญหาความยากจน  การว่างงาน  การกระจายรายได้  พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการของสังคมไปในทางที่ดีขึ้น  โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นและต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เพื่อสงวนทรัพยากรไว้ตอบสนองความจำเป็นของคนรุ่นต่อไปในอนาคตของการพัฒนาที่ยั่งยืน

4.เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชน  ดังนี้

4.1  พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี  หรือมีสวัสดิการทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

4.2  มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดี  มีสวัสดิการทางสังคม  หรือมีความปลอดภัยในสังคม

4.3  มีความพอใจและความสุขในการดำเนินชีวิต 4.4  สร้างความเป็นธรรมในสังคม

5.ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน  เพราะสาเหตุดังนี้

                  5.1  การเพิ่มของจำนวนประชากรซึ่งไม่สมดุลกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงจำเป็นต้องพัฒนาคนและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือมีสวัสดิการทางเศรษฐกิจสูงขึ้น  มีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบาย  ได้ใช้สินค้าดีราคาไม่แพง  และมีบริการสนองความต้องการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ  เช่น  การคมนาคมขนส่ง  การสื่อสาร  ที่อยู่อาศัย  ฯลฯ                           5.2 โครงสร้างทางเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมือง มีลักษณะผูกขาดโดยคนส่วนน้อย เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม  และมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  รัฐสามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากขึ้นอย่างมีคุณภาพ  เช่น  คนยากจน  คนพิการ  เด็กกำพร้า  คนชรา  คนว่างงาน  และผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ  เป็นต้น

                  5.3  ระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทยเป็นระบบเปิ คือ  ต้องพึ่งทุนและการค้ากับต่างประเทศ  รวมทั้งเปิดกว้างรับเทคโนโลยี  การสื่อสาร  วัฒนธรรม  การศึกษา  และการปริโภคจากโลกตะวันตกอย่างเต็มที่  ทำให้สังคมไทยต้องเร่งพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกได้  เพื่อมิให้ถูกเอาเปรียบ ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วส่งผลให้มีความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร  มีกองทัพที่เข้มแข็ง  ทำให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจหรืออิทธิพลของชาติมหาอำนาจ

                5.4  การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  เช่น  ภัยแล้ง  อุทกภัย  วาตภัย  และภัยจากธรณีพิบัติ  (แผ่นดินไหวและสึนามิ)  เป็นต้น  รวมทั้งการเกิดโรคระบาด  เช่น  ไข้หวัดนก  ไข้เลือดออก  ฯลฯ  ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วส่งผลให้มีความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร  มีกองทัพที่เข้มแข็ง  ทำให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจหรืออิทธิพลของชาติมหาอำนาจ ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าจะเกิดผลดีต่อประชาชน  คือ

                      (1)  มีมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพสามารถควบคุมวิกฤตจากภัยธรรมชาติให้บรรเทาลงได้

                      (2)  ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีและช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย  เช่น  มีงบประมาณสร้างเขื่อนประตูระบายน้ำ  ศูนย์เตือนภัย  และสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้ผู้ประสบภัยพิบัติ  เป็นต้น

             5.5  ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนามีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์พื้นฐาน  อันเนื่องมาจากปัญหาความยากจน  ทำให้ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  รวมทั้งปัจจัย  4  ในการดำรงชีพ  และไม่อาจเลือกอาชีพการงานได้ ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือ  ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าส่งผลให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ดี  มีกำลังซื้อสูง  ทำให้มีอิสระในการดำเนินชีวิตมากขึ้น  เช่นมีอิสระในการเลือกอาชีพตามความถนัดและความสนใจ  ทำให้ชีวิตมีสุข

6.ปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเกิดจากความได้เปรียบในปัจจัยสำคัญ  2  ประการ  คือ

           6.1  ปัจจัยทางเศรษฐกิจ  มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง  สรุปได้ดังนี้

                  (1)  ที่ดิน  มีพื้นที่ประเทศกว้างใหญ่  มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์  มีแม่น้ำสายยาว  หลายสายไหลผ่านพื้นที่เพาะปลูก  มีทรัพยากรป่าไม้  แร่ธาตุ  และมีทรัพยากรนันทนากร  (แหล่งท่องเที่ยว) อย่างอุดมสมบูรณ์

                   (2)  แรงงาน   มีประชากรมีคุณภาพ  มีการศึกษาดี  มีระเบียบวินัย  และเคารพกฎหมายของบ้านเมือง  เป็นแรงงานมีฝีมือซึ่งผ่านการพัฒนาฝึกฝนทักษะเป็นอย่างดี

                   (3)  ทุน   มีเครื่องมือ  เครื่องจักร  และนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย  มีสาธารณูปโภคและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ  เช่น  ถนน  ไฟฟ้า  ประปา  การสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง  เป็นต้น  รวมทั้งมีสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ

                   (4)  เทคโนโลยี  มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  โดยนำวิทยาการหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตร  อุตสาหกรรม  และบริการ

                   (5)  ตลาด  มีตลาดขนาดใหญ่รองรับผลผลิตอย่างกว้างขวาง  ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ  ช่วยกระตุ้นให้การผลิตขยายตัว  เกิดการจ้างงาน  และเกิดธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น  การขนส่งสินค้า  ประกันภัยสินค้า  ทำป้ายโฆษณา  สิ่งพิมพ์  กล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์

       6.2  ปัจจัยทางสังคม  และการเมืองการปกครอง   เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  ดังนี้

                    (1)  สถาบันครอบครัว   มีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง   มีความสามารถในการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวและให้การศึกษาอบรมอย่างมีคุณภาพ

                   (2)  โครงสร้างทางสังคมชนชั้นในสังคมไม่ยึดมั่นตายตัว  ชนชั้นล่างหรือกลุ่มคนระดับรากหญ้าสามารถเปลี่ยนหรือเลื่อนฐานะทางสังคมได้ง่ายจากการศึกษาและอาชีพ  ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น  เช่น  วิศวกร  ช่างฝีมือ  โปรแกรมเมอร์  ฯลฯ ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

                   (3)  การเมืองการปกครอง และกฎหมายเป็นประเทศที่มีลักษณะดังนี้ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง  บ้านเมืองสงบเรียบร้อย  ไม่มีปัญหาความขัดแยงทางการเมืองภายในอย่างรุนแรง  และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ มีกฎหมายส่งเสริมการลงทุน  คุ้มครองแรงงาน  คุ้มครองผู้บริโภค  และสนับสนุนเกษตรกรในด้านราคาผลผลิต  เป็นต้น

7.เครื่องชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมและมีเสถียรภาพ  ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มสูงขึ้น  และท้ายที่สุดทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น  โดยสามารถวัดการพัฒนาเศรษฐกิจจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความอยู่ดีกินดีของประชาชน  ดังนี้            

            7.1ดัชนีวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแสดงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  เช่น  ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  รายได้ประชาชาติ  เป็นต้น

           7.2  ดัชนีวัดความอยู่ดีกินดีของประชาชนแสดงถึงระดับความเป็นอยู่ของประชาชน  เช่น  อัตราการอ่านออกเขียนได้  อายุเฉลี่ยของประชากร  อัตราการตายของทารก  อัตราส่วนของแพทย์ต่อจำนวนประชากร  เป็นต้น ทั้งนี้ดัชนีชีวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  เป็นดัชนีพื้นฐานเบื้องต้นที่จะสะท้อนภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ  ดังนี้

                         (1)  ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  (Gross  Domestic  Product  : GDP) เป็นตัวชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่นิยมใช้มากที่สุด  เพราะแสดงถึงความสามารถในการผลิตและการบริโภคของประเทศ  โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเป็นมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย  ซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้ทรัพยากรภายในประเทศในรอบระยะเวลา  1  ปี        

GDP : มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นโดยคนไทยและชาวต่างชาติโดย                                                      ใช้ทรัพยากรของประเทศไทย

                        (2)  ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  (Gross  National  Product  : GNP)

แสดงถึง ความสามารถในการผลิต  การบริโภคของคนไทยทั้งประเทศ  โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเป็นมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย  ซึ่งผลิตขึ้นโดยคนไทยในประเทศและคนไทยในต่างประเทศ

GNP :GDP + รายได้สุทธิจากปัจจัยการผลิตต่างประเทศ

                         (3)  รายได้ประชาชาติ  (National  Income  : NI)คือ  มูลค่าของรายได้ที่ประชาชน คนไทยในประเทศและคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศได้รับในช่วงระยะเวลา  1  ปีทั้งนี้รายได้ประชาชาติคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  หักด้วยภาษีทางอ้อมและค่าเสื่อมราคา

NI : GNP – (ภาษีทางอ้อม + ค่าเสื่อมราคา)

                        (4)  รายได้เฉลี่ยต่อบุคคล  (Per  Capita Income)คำนวณได้จากรายได้ประชาชาติ

หารด้วยจำนวนประชากร  ซึ่งใช้เป็นดัชนีสำหรับเปรียบเทียบระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชนของประเทศต่าง ๆ

การวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของการวัดการพัฒนาเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  อย่างไรก็ตาม  ในปัจจุบันมีแนวคิดการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross  National  Happiness  :  GNH)  ขึ้น  เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  จนละเลยความสุขซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  ทั้งนี้ยังไม่มีดัชนีวัดความสุขมวลรวมประชาชาติที่แน่นอนหรือชัดเจนในขณะนี้  แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนมากกว่าการมุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประเทศที่เป็นผู้นำเสนอแนวคิดการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross  National  Happiness  :  GNH)  ขึ้นคือ  ประเทศภูฏาน  โดยมีหลักการสำคัญ  4  ประการ  คือ

1)  การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

2)  การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรม

3)  การรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

4)  การมีธรรมาภิบาล

8.  ความหมายและความเป็นมาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

               8.1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคือ  การกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ

              8.2  ความเป็นมาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศไทยได้มีการริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติมาตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2502  ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์   โดยในปี พ.ศ. 2504  ได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกขึ้น  ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มีระยะเวลาของแผน  6  ปี  โดยที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มา มีระยะเวลาของแผน  5  ปี หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผน  คือ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  โดยปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11  (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับมีดังต่อไปนี้

9.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา

           9.1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่1   (พ.ศ. 2504-2509)สาระสำคัญ  มีดังนี้

(1)  เน้นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ  ได้แก่  ทางหลวงแผนดิน  ทางรถไฟ  ประปา  ไฟฟ้า  และ เขื่อนชลประทาน เช่น เขื่อนภูมิพล  เขื่อนอุบลรัตน์

(2)  ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนในภาคอุตสาหกรรม  เพื่อทดแทนการนำเข้า

(3) จัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค  คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯเศรษฐกิจขยายตัวสูง  มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น  แต่เกิดปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม  เพราะผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเป็นคนส่วนน้อยที่อยู่ในเมืองและเป็นผู้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ

            9.2 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2  (พ.ศ. 2510-2514)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ  คล้ายแผนฯฉบับที่  1

(2)  สนับสนุนการลงทุนของชาวต่างชาติ  และพัฒนาการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรม

และอุตสาหกรรม

(3)  มุ่งพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ  โดยกระจายการศึกษาและการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง  และเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯการกระจายรายได้ยังกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อย

       9.3แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3  (พ.ศ. 2515-2519)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นการพัฒนาสังคมมากขึ้น  ทั้งการศึกษา  การอนามัยและสาธารณสุข

(2)  กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเพิ่มของประชากรเป็นครั้งแรก ให้เหลือร้อยละ 2.5  ต่อปี  เมื่อสิ้นแผนฯ

(3)  กระจายความเจริญสู่ชนบทให้มากขึ้น  และเน้นการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯเกิดปัญหาอุปสรรคในเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ  (ฝนทิ้งช่วง)

การขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่  และความผันผวนทางการเมือง  โดยเกิดเหตุการณ์ 14  ตุลาคม  พ.ศ. 2516

และเหตุการณ์  6  ตุลาคม  พ.ศ. 2519  ทำให้เศรษฐกิจของประเทศซบเซาและมีการว่างงานสูง

  9.4แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4  (พ.ศ. 2520-2524) สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ  เพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่  3  โดยพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร  อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  ส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน

(2)  ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

(3)  เน้นสร้างความเป็นธรรมในสังคม  โดยเน้นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯการพัฒนาทั้งภาคอุตสาหกรรม  การค้า  และการบริการ  ขยายตัวตามเป้า  การขึ้นราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปค(OPEC)  ทำให้สินค้ามีราคาแพงและเกิดเงินเฟ้อ  รายจ่ายภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น  ทำให้เกิดปัญหาขาดดุลการค้า

   9.5   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5  (พ.ศ. 2525-2529)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นการพัฒนาชนบท  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน  โดยขยายบริการพื้นฐานของรัฐไปสู่ชนบทให้มากขึ้น  เช่น  การสาธารณสุข  การสาธารณูปโภค ฯลฯ  แก้ไขปัญหาการว่างงาน และเร่งการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

(2)  ฟื้นฟูฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ลดการขาดดุลการค้า เร่งระดมเงินออม  เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  และกระจายอุตสาหกรรมไปยังส่วนภูมิภาค

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้

(1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด  เนื่องมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก  การแข่งขันและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

(2)เกิดปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเงิน  เพราะการใช้จ่ายเกินตัวทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน  และขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง

(3)ความเสื่อมโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    9.6   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6  (พ.ศ. 2530-2534)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ลดหนี้สินต่างประเทศ  ปรับปรุงระบบการผลิตและการตลาด  เพื่อให้การส่งออกสินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมควบคู่กันไป

(2)  เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม  การจ้างงาน และกระจายรายได้  แก้ไขปัญหาความยากจน

(3)  เน้นพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารในภาครัฐ  เพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ   และส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้

(1)  ฐานะทางการเงินและการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ  คนไทยมีรายได้และการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น  ภาระหนี้สินของประเทศลดลง  ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

(2)  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าเป้าหมาย  ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออก การลงทุน  และรายได้จากการท่องเที่ยว  ทำให้เศรษฐกิจไทยเปิดกว้างสู่ระบบเศรษฐกิจสากลมากขึ้น

(3)  ผลกระทบ คือ ความเสื่อมโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ระหว่างคนเมืองและคนในชนบทมีมากขึ้น

  9.7   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7  (พ.ศ. 2535-2539)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน  และสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจควบคู่กับสังคม

(2)  เน้นรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ  โดยพัฒนาการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม  เกษตรกรรม และการส่งออก

(3)  เน้นการกระจายรายได้และพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท

(4)  เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  คุณภาพชีวิต  และสิ่งแวดล้อม

(5)  เน้นพัฒนากฎหมาย  รัฐวิสาหกิจ  และระบบราชการ  ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯสรุปได้ดังนี้

(1)  การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย  รายได้ประชาชาติและรายได้เฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น

(2)  การแก้ปัญหาความยากจนและกระจายรายได้ยังไม่ได้ผล  ช่องว่าในรายได้ระหว่างคนเมืองกับคนในชนบทยิ่งห่างกันมากขึ้น

(3)  ความเสื่อโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น   การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ และปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมขยายตัวอย่างรวดเร็ว

   9.8   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8  (พ.ศ. 2540-2544)สาระสำคัญ มีดังนี้

(1)  เน้นพัฒนาคน  หรือเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพความสามารถในด้านต่าง ๆ

(2)  เน้นการพัฒนาที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  สังคม  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะเกิดต่อการพัฒนาคน

ผลที่ได้รับเมื่อสิ้นแผนฯในช่วงปลายปี  พ.ศ. 2540  ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เกิดการว่างงาน  ธุรกิจล้มละลาย  และปัญหาหนี้สินจากต่างประเทศ  จนนำไปสู่การขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากวิกฤติการณ์ครั้งนี้จึงได้ปรับวัตถุประสงค์และแนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

   9.9   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9  (พ.ศ. 2545-2549) สาระสำคัญ มีดังนี้

(1.)ได้อัญเชิญ  “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ  โดยยึดทางสายกลาง  ความพอประมาณ  และความมีเหตุผล  เพื่อให้ประเทศรอดพ้นวิกฤติและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

(2.)  ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพ  ทั้งภาคการเงินและการคลัง  ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้

(3.)  วางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง  ยั่งยืน  สามารถพึ่งตนเองได้  และรู้เท่ากันโลก  โดยพัฒนาคุณภาพคน  ปฏิรูปการศึกษา  ปฏิรูปสุขภาพ  สร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน  มีการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(4.) แก้ไขปัญหาความยากจน  โดยเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง  ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา  การประกอบอาชีพ  การมีรายได้  และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

    9.10 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)มีสาระสำคัญ คือ

แผนพัฒนาฯ  ฉบับที่  10  ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ  ควบคู่กับแนวคิดที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา  เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล  ยั่งยืน และ เป็นธรรม  โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้มุ่งสู่  “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

      9.11 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)มีสาระสำคัญ คือ

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11เน้นการพัฒนาให้เกิด “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความเสมอภาคเป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” ดังนี้
(1.) เร่งสร้างความสงบสุขให้สังคมโดยร่วมมือกันสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบ
สุขส่งเสริมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นหลักปฏิบัติร่วมกันทั้งสังคมพร้อมทั้งเสริมสร้างภาคราชการการเมืองและประชาสังคมให้เข้มแข็งภายใต้หลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน
(2.) มุ่งพัฒนาคนให้มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มั่นคงและ
สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆในโลกได้อย่างต่อเนื่องพัฒนาความสามารถสติปัญญาและจิตใจให้พร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศสู่สังคมฐานความรู้
(3.) เพิ่มชนชั้นกลางให้กระจายทุกพื้นที่ของประเทศเพราะชนชั้นกลางเป็นกำลัง
สำคัญในการประสานประโยชน์และพัฒนาประเทศที่มีความสมดุลพร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกชนชั้นรู้จักหน้าที่ของตนเองและร่วมกันพัฒนาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าและน่าอยู่
(4.) พัฒนาภาคเกษตรให้คงอยู่กับสังคมไทยและผลิตอาหารให้เพียงพอสำหรับทุกคน
เร่งพัฒนาความสามารถของเกษตรกรในการผลิตพืชอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณมากพอที่จะเลี้ยงดูคนในประเทศและส่งเป็นสินค้าออกสนองความต้องการของประเทศต่างๆสามารถเป็นผู้นำการผลิตและการค้าในเวทีโลกรวมทั้งรักษาความโดดเด่นของอาหารไทยที่ต่างประเทศชื่นชอบ
(5.) ปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

10.  ความหมายและความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง

      เศรษฐกิจพอเพียง  (Sufficiency  Economy)

หมายถึง  การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดี  พอประมาณ  ซื่อตรง  ไม่โลภมาก  และไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

เศรษฐกิจพอเพียง  (Sufficiency  Economy)

เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย  โดยมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม  ซึ่งมักจะประสบปัญหาความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ  ฝนตกไม่สม่ำเสมอ   เกิดภาวะแห้งแล้งทั่วไป  ทำให้การทำเกษตรกรรมไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร  พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว  และยกระดับพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรในภาคเกษตรกรรมให้เกิดความพออยู่พอกินและสามารถพึ่งพาตนเองได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัย  ค้นคว้า  สำรวจ  รวบรวมข้อมูล  แล้วทำการทดสอบเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ  ที่ดิน  พันธุ์พืช  เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ของตนเอง   โดยตั้งเป็น  “ทฤษฎีใหม่”  ใช้หลักการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด  อันเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง  โดยการผสมผสานกิจกรรมพืช  สัตว์  และประมง ให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน  โดยทำการเกษตรในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อให้เกิดความ  “พออยู่พอกิน”  พระองค์จึงนำทฤษฎีดังกล่าวไปทดลองที่วัดมงคลชัยพัฒนา  ตำบลห้วยบง  และตำบลเขาดินพัฒนา  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดสระบุรี  ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2540  ประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ  เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง  ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม  ผู้ประกอบการหลายแห่งได้ปิดกิจการลง  ทำให้ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก  ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระราชทานพระราชดำริ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา  โดยนำหลักการและวิธีการที่ใช้ในภาคเกษตรกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยให้รู้จักการดำเนินชีวิตอยู่อย่างพอประมาณ เดินทางสายกลาง  มีความพอดี และพอเพียงกับตนเอง  ดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกินและสามารถพึ่งตนเองได้

หลักการเศรษฐกิจพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐาน

ของทางสายกลางและความไม่ประมาท  โดยคำนึงถึงความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรม  ประกอบการวางแผน  การตัดสินใจ  โดยมีหลักพิจารณาอยู่ 5  ส่วน  ดังนี้

             1. กรอบแนวคิดเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น  โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา  และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  มุ่งเน้นการรอดพ้นจากและวิกฤต  เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

            2.คุณลักษณะ  เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ  โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง  และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

           3.คำนิยามความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย3  คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน  ดังนี้

                       3.1  ความพอประมาณ  หมายถึง  ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  เช่น  การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

                     3.2  ความมีเหตุผล  หมายถึง  การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล  โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

                    3.3  การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  หมายถึง  การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น  โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

           4.  เงื่อนไขการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน  กล่าวคือ

                            4.1  เงื่อนไขความรู้   ประกอบด้วย  ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน  ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน  เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

                              4.2  เงื่อนไขคุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม  มีความซื้อสัตย์สุจริต  และมีความอดทน  มีความเพียร  ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต  ไม่โลภและไม่ตระหนี่

              5.  แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมา

ประยุกต์ใช้  คือ  การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน  พร้อมรับต้องการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน  ทั้งด้าน เศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ความรู้และเทคโนโลยี

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ  เพราะจะทำให้เกิดผลดีต่อประชาชน  ชุมชน  และสังคมประเทศชาติ  ดังนี้

              1.  ความสำคัญของครอบครัวสมาชิกในครอบครัวดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  เพราะปฏิบัติตามหลักพออยู่พอกิน  พอใช้  ส่งผลให้ไม่ยากจน  ไม่มีหนี้สิน  มีเงินออม  และพึ่งตนเองได้

             2.  ความสำคัญต่อชุมชนมีการรวมกลุ่มสร้างงานและอาชีพและนำทรัพยากรของชุมชนมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ  เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ  สมาชิกในชุมชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

              3.  ความสำคัญต่อสังคมประเทศชาติทำให้สังคมเข้มแข็ง  ผู้คนมีอาชีพที่และรายได้ที่มั่นคง  สมาชิกในสังคมร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาและพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

กับการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับ  ทุกสาขา  ทุกภาคของเศรษฐกิจ  ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคเกษตร หรือภาคชนบท  แม้แต่ภาคการเงิน  ภาคอสังหาริมทรัพย์และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ  โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ  เน้นการปฏิบัติอย่างพอเพียง  มีเหตุมีผล  และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม

1.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเกษตรกรรม

เมื่อปี  พ.ศ. 2538  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติเพื่อยกฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  เรียกว่า  การเกษตรทฤษฎีใหม่  หรือ  ทฤษฎีใหม่  ซึ่งมีหลักปฏิบัติ  3  ขั้น  ดังนี้

        ขั้นที่  1  ผลิตอาหารเพื่อบริโภค

แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่  เน้นให้เกษตรกรสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ครอบครัวตนเองก่อน  โดยทำนาข้าวเพื่อเก็บไว้กินตลอดปี  เหลือจากการบริโภคจึงขาย

โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองทฤษฎีใหม่ในที่ดินส่วนพระองค์  ณ  วัดมงคลชัยพัฒนา  อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี  จำนวน 15  ไร่  โดยแบ่งพื้นที่เป็น  4  ส่วนตามอัตราส่วน  30 : 30 : 30 : 10

เน้นการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ  ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการเกษตรทฤษฎีใหม่  ดังนี้

ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ขุดสระน้ำไว้ใช้สอยและเลี้ยงปลา

ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ทำนาข้าว

ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ปลูกไม้ยืนต้น  พืชไร่  พืชสวนครัว

ร้อยละ  10  ของพื้นที่        ปลูกบ้าน  โรงนาเก็บอุปกรณ์ โรงเลี้ยงสัตว์

            ขั้นที่  2 รวมตัวจัดตั้งกลุ่ม  ชมรมหรือสหกรณ์

เกษตรกรจะพัฒนาไปสู่ระดับพออยู่พอกินพอใช้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  มีรายได้จากผลผลิตเพิ่มมากขึ้น  โดยร่วมมือจัดตั้งเป็นกลุ่ม  ชมรม  หรือ สหกรณ์  ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน  ดังนี้

              (1)  ด้านการผลิต  มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้าน  ชมรม  หรือสหกรณ์  ผลิตสินค้าหรือบริการของชุมชนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวอีกทางหนึ่ง  เช่น  งานหัตถกรรม

               (2)  ด้านการตลาด  ร่วมกันสร้างอำนาจต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตให้ได้ราคาดี

ไม่พึ่งพ่อค้าคนกลาง

(3)  ด้านสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่   มีการจัดตั้งกองทุนให้สมาชิกกู้เงินยามฉุกเฉิน  เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามเจ็บไข้ได้ป่วย  เกิดอุบัติเหตุ  หรือประสบภัยธรรมชาติต่าง ๆ

          ขั้นที่  3  ร่วมมือกับองค์กรหรือภาคเอกชนภายนอกชุมชน

เป็นขั้นพัฒนากลุ่ม  ชมรม  หรือสหกรณ์ให้ก้าวหน้า  โดยกู้เงินจากแหล่งเงินทุนภายนอกชุมชนมาลงทุนขยายกิจการ  เช่น  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธกส.)  บริษัทน้ำมัน  ฯลฯ  หรือขอความช่วยเหลือด้านวิชาการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

เป้าหมายของขั้นที่  3  คือ  พัฒนากิจการสหกรณ์  จัดตั้งและบริหารโรงสีข้าวของชุมชน  ปั๊มน้ำมันของชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น  พัฒนาคุณภาพของเกษตรกรให้อยู่ดีกินดี  จำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูง  ไม่ถูกกดราคา  ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ในราคาถูก  เป็นต้น

ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้นำไปปฏิบัติ  ดังนี้

            (1) การพึ่งตนเองทฤษฎีใหม่เน้นให้เกษตรกรผลิตพืชผลข้าวปลาอาหารให้มีเพียงพอสำหรับใช้บริโภค ภายในครอบครัวก่อน  ส่วนที่เหลือจึงนำไปขายในตลาดเป็นรายได้ของครอบครัว  เกษตรกรรู้จักพึ่งตนเองและเลี้ยงครอบครัวได้  มีอาหารกินตลอดปี  และไม่มีภาระหนี้สิน

            (2)  ชุมชนเข้มแข็งทฤษฎีใหม่เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกร  เพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อเพิ่มพูนรายได้  เช่น  แปรรูปผลผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูป  การทำสินค้าหัตถศิลป์ ฯลฯ  ช่วยให้ครอบครัวเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น  เป็นผลให้เศรษฐกิจของชุมชนเข้มแข็งตามมา

           (3)  ความสามัคคีทฤษฎีใหม่เน้นความสามัคคีในหมู่คณะ  สนับสนุนให้เกษตรกรในท้องถิ่นช่วยเหลือและร่วมมือซึ่งกันและกัน  ทั้งในด้านอาชีพ  ถ่ายทอดความรู้  และพัฒนาความเจริญให้ท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น  อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   สืบสานภูมิปัญญา และวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น  เป็นต้น

2.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคอุตสาหกรรมการค้า  และ                

     การบริการ

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจเอกชน  ทั้ง     ภาคอุตสาหกรรม  การค้า  และการบริการ  ดังนี้

1)  ความพอประมาณผู้ประกอบการควรยึดแนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

(1)  พอประมาณในการผลิต   ไม่ผลิตสินค้ามากเกินความต้องการของผู้บริโภคจนเหลือล้นตลาด  ถือเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน  และทรัพยากรในการผลิต

(2)  พอประมาณในผลกำไร  ไม่ค้ากำไรเกินควรจนผู้บริโภคเดือดร้อน  ไม่กดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร  มีการแบ่งปันผลกำไรส่วนหนึ่งไปพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานและองค์กรของตน  รวมทั้งคืนกำไรสู่สังคม  โดยตอบแทนช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ

2)  ความมีเหตุผลแนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

(1)  มีเหตุผลในการพัฒนาองค์กร  โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กร ทั้งพนักงาน  ลูกจ้าง  และผู้ใช้แรงงาน  ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งพัฒนาคุณภาพสินค้า และเพิ่มปริมาณผลผลิต  เป็นต้น

(2)  มีเหตุผลในการจัดสวัสดิการให้พนักงาน  ลูกจ้าง  และผู้ใช้แรงงานอย่า

3)  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญและนำไปปฏิบัติ  ดังนี้

(1)  ติดตามข่าวสาร  และสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของตน  เช่น  ความผันผวนทางเศรษฐกิจ  การเมือง  และความเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติ  เป็นต้น  เพื่อให้สามารถตัดสินใจบริหารองค์กรธุรกิจของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด

(2)  การกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อดำเนินธุรกิจหรือขยายกิจการ ต้องดูตามกำลัง  ฐานะของตน  ไม่ทำ อะไรเกินตัว มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายได้

(3)  มีเงินออมหรือเงินเก็บเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน  โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กซึ่งต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด  ควรจัดสรรผลกำไรส่วนหนึ่งเป็นเงินออมเพื่อให้มีใช้จ่ายเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

4)  เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรมมีแนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

(1)  ดำเนินธุรกิจภายใต้คุณธรรม  เช่น  ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค  รักการให้บริการแก่ลูกค้า  และเอาใจใส่พนักงาน  โดยจัดอบรมด้านคุณธรรมเป็นระยะ ๆ

(2)  มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม  ไม่ทำให้เกิดปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ  ดิน  อากาศ  ฯลฯ  และมีส่วนร่วมกับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม  เช่น   สนับสนุนกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนกับโรงเรียนในชุมชน

3.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับนักเรียนและประชาชนทั่วไป

          นักเรียนและประชาชนทั่วไปควรยึดหลักปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว  ดังนี้

(1)  พึ่งตนเองมีจิตสำนึกที่ดีในการใช้จ่ายเงิน  รู้จักประหยัด  ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ฟุ้งเฟ้อหรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ไม่หลงใหลกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมทางวัตถุ  และมีวินัยในการ   ออมเงิน  เป็นต้น

(2)  ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพสุจริตเพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้ตนเองและครอบครัว  หรือรู้จักหารายได้ระหว่างเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

(3)  ใฝ่ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อพัฒนาทักษะ  ความสามารถ และประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ  เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเพียงพอต่อการดำรงชีพ

ใบ งาน 3.1 เรื่อง โครงสร้าง เศรษฐกิจ ไทย
    
ใบ งาน 3.1 เรื่อง โครงสร้าง เศรษฐกิจ ไทย
    
ใบ งาน 3.1 เรื่อง โครงสร้าง เศรษฐกิจ ไทย
    
ใบ งาน 3.1 เรื่อง โครงสร้าง เศรษฐกิจ ไทย