เพราะ เหตุ ใด จึงต้องมีเพลงสรรเสริญพระบารมี

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง

เผยแพร่: 27 ม.ค. 2549 09:16   โดย: MGR Online

เพราะ เหตุ ใด จึงต้องมีเพลงสรรเสริญพระบารมี

แม้จะไม่มีการยืนยันถึงข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาบังคับ แต่เป็นอันเข้าใจกันว่า ทุกครั้งของการแสดงมหรสพนานาชนิดเสร็จสิ้น พวกเราชาวไทยทุกคนจะต้องพร้อมใจกันแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการยืนตรงต่อบทเพลงสรรเสริญพระบารมีเฉกเช่นเดียวกับในโรงภาพยนตร์ ก่อนที่หนังจะฉาย

แต่จะมีใครรู้บ้างมั้ยว่าระยะเวลาของการยืนสงบนิ่งเคารพต่อองค์ในหลวงของเราเพียงนาทีกว่าๆ นี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายต่อหลายเรื่องทีเดียว...

*ที่มากับความหลากหลายในปัจจุบัน

แม้จะไม่สามารถระบุได้ถึงวันที่แน่นอน แต่ประมาณการกันว่า ที่มาของการให้เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีภายในโรงภาพยนตร์นั้นเริ่มมีระเบียบออกมาตั้งแต่ปี 2478 โดยระยะแรกนั้นจะเป็นการเปิดหลังจากที่มีการจัดฉายภาพยนตร์ไปแล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเปิดก่อนที่หนังจะฉายเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว

ที่ผ่านมาเคยมีการพูดเสนอให้เลิกการเปิดเพลงสรรเสริญฯ ในโรงภาพยนตร์ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันในโรงภาพยนตร์มีประเภทหนังหลายประเภท ทั้งเรตอาร์ (rate R sex) และความรุนแรง (violence) ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่เรื่องดังกล่าวก็หายไปเพราะไม่มีใครเห็นด้วย ปัจจุบันเข้าใจกันว่า การเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีนี้ไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้ทางโรงภาพยนตร์จะต้องทำ แต่ก็ได้กลายเป็น 'จารีต' ที่ผู้ประกอบการล้วนแล้วแต่ทำด้วยความจงรักภักดีกันทั้งสิ้น...

โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ เพลงสรรเสริญฯ เวอร์ชั่นปัจจุบันใช้ชื่อชุด 'นิทรรศการ' เปิดมาเป็นคำถวายพระพร เป็นฉากเด็กยืนถวายพระพรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ตัดเป็นภาพพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ทรงเยี่ยมพสกนิกรตามภาคต่างๆ ภาพที่พระองค์ท่านให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในเรื่องการเกษตรเช่นเรื่องฝนเทียม ตอนท้ายภาพพสกนิกรมากมายยืนไหว้ถวายพระพร ภาพจะตัดสลับระหว่างภาพในหลวงกับประชาชน ภาพในหลวงจากพื้นดินแห้งแล้ง เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ภาพในหลวง พื้นดินแห้งแล้ว มาเป็นภาพฝนตก

(เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จัดทำร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้เรียบเรียงดนตรี คือ บรูซ แกสตัน แห่งวงฟองน้ำ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2538 จัดทำบทเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อใช้ในโรงภาพยนตร์ทั้งสิ้น 4 เวอร์ชัน)

เอสเอฟ เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2542 ได้เปลี่ยนเพลงสรรเสริญฯ ทั้งหมดทั้งสิ้น 2 เวอร์ชัน ชุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นชุด 'หยาดฝน' ที่เป็นเสียงดนตรีไทย ผู้เรียบเรียงดนตรีคือ บรูซ แกสตัน

เซ็นจูรี่ เครือใหม่ เปิดมาได้เพียง 2 เดือน เนื่องจากทางโรงภาพยนตร์ได้มองเห็นอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของในหลวงในการเป่าแซ็กฯ เพลงสรรเสริญฯ ชุดที่ใช้อยู่จึงเป็นชุดที่มีเสียงแจ๊ซเป็นดนตรีหลัก และไม่มีเสียงร้อง เรื่องการดำเนินภาพจะเป็นกรอบรูปที่เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบันขึ้นมาทีละภาพ ซึ่งหนึ่งในรูปภาพเหล่านั้นมีภาพที่ในหลวงทรงกำลังเป่าแซ็กโซโฟนอยู่ด้วย เสียงเป่าแซ็กฯ โดยเศกพล อุ่นสำราญ หรือโก้ แซ็กแมน เรียบเรียงโดย ปราชญ์ มิวสิค

ลิโด้, สยาม, สกาล่า เป็นโรงหนังในเครือเดียวกันเปิดทำการมาไล่เลี่ยกัน โดยเปิดมาได้ประมาณ 40 ปีแล้ว เปลี่ยนเพลงสรรเสริญฯ มาแค่เพียง 2 เวอร์ชันเท่านั้น ซึ่งเวอร์ชันล่าสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นชุด 'จิ๊กซอว์' ที่มีภาพออกมาพร้อมกับเพลงสรรเสริญฯ มีภาพในหลวงขึ้นมาเป็นภาพจิ๊กซอว์มาต่อกัน จะมีภาพพระองค์ท่านเสด็จไปสถานที่ต่างๆ แล้วภาพจะค่อยๆ เลื่อนมาเป็นจิ๊กซอว์รูปพระพักตร์ของในหลวง ผู้เรียบเรียงดนตรี บรูซ แกสตัน

โรงหนังเฮาส์ เพิ่งเปิดมาได้ปีครึ่ง เพลงสรรเสริญฯ ที่ใช้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกับของโรงหนังลิโด้,สยาม และสกาล่า

สำหรับเครืออีจีวี ฟิล์มเพลงสรรเสริญฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำเป็นกราฟิก ในหลวงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในรูปแบบต่างๆ ภาพการขึ้นครองราชย์ ท้ายสุดเป็นภาพเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ เสียงร้องเพลงสรรเสริญฯ นี้มาจากบุคคลมีชื่อเสียงมากมาย อาทิ เจริญ วรรธนะสิน, อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส, ดร.อ้อ-กฤติกา คงสมพงษ์ และดีเจพีเค ซึ่งจะร้องกันคนละท่อน แล้วมีเสียงประสานของ นักร้องอินดี้อย่าง แพม-ลลิตา ตะเวทิกุล เป็นแบ็กกราวนด์

*ทำขึ้นเองโดยเฉพาะ-ซื้อสำเร็จรูป

เหตุผลของการเปลี่ยนเป็นเวอร์ชันต่างๆนี้โดยมากเป็นเพราะว่าฟิล์มที่ใช้เก่าเกินไปทำให้ภาพที่ออกมาอาจจะไม่คมชัด จึงต้องมีการผลิตกันขึ้นมาใหม่ บางโรงภาพยนตร์ในสมัยปัจจุบันนี้ อาทิ เมเจอร์, อีจีวี และเซ็นจูรี่ จะมีเพลงสรรเสริญฯ ในเวอร์ชันที่เป็นของตัวเอง โดยมีทีมงานทำขึ้นให้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเวอร์ชันของทั้ง 3 โรงที่ว่านี้จะไม่เหมือนใคร จะมีฉายเฉพาะในโรงของตัวเองเท่านั้น

แต่ก็มีโรงภาพยนตร์ไม่น้อยที่ฉายเพลงสรรเสริญฯ ในเวอร์ชันที่เหมือนกัน เนื่องจากทางโรงได้ไปขอซื้อฟิล์มจากบริษัทโปรดักชัน เฮาส์ที่เขาทำเพลงสรรเสริญขึ้นมาเพื่อไว้ขาย เช่นโรงของ ลิโด้,สกาล่า,เอสเอฟ หรือแม้แต่โรงหนังอินดี้อย่าง เฮ้าส์ก็ซื้อแบบสำเร็จรูปมาเช่นกัน

"บริษัทเราจะทำฟิล์มเพลงสรรเสริญฯ ขึ้นมาขายเหมือนกับบริษัทที่ทำเทปเพลงหรือวีซีดี ,ดีวีดีนะค่ะ คือเราไม่ได้รับจ้างทำให้แก่โรงภาพยนตร์นั้นโรงภาพยนตร์นี้โดยเฉพาะ คือเราขายทั่วๆไปเจ้าของโรงภาพยนตร์ชอบแบบไหนเขาสนใจแบบไหนเขาก็ซื้อแบบนั้นไปใช้"

ยุพาวดี ศรีสงวนสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขาย และปฏิบัติการบริษัทโกลเด้นดั๊ก ฟิล์ม จำกัด บอกถึงจุดยืนของบริษัทตัวเอง

เธอเล่าต่อว่า อันที่จริงบริษัทของเธอทำธุรกิจเกี่ยวกับขายอุปกรณ์เครื่องเสียงเครื่องฉายให้แก่โรงภาพยนตร์มาได้ 30 ปีแล้ว โดยเริ่มขายอะไหล่ให้แก่หนังกลางแปลงมาก่อน แล้วเมื่อ10 ปีก่อน โรงหนังเริ่มจะเข้ามาอยู่ในห้าง บริษัทของเธอจึงเริ่มนำแผ่นเครื่องเสียงดิจิตอลเข้ามาใช้ จะว่าไปธุรกิจของสาววัย 36 ปีคนนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตหนังหรือผลิตสื่ออะไรโดยตรงเลย จึงมีคำถามตามมาว่าเหตุใดเธอถึงหันมาทำเพลงสรรเสริญฯ เพื่อขายเหมือนอย่างทุกวันนี้?

"เหตุผลที่เราทำเพลงสรรเสิรญฯ ขึ้นมา เพราะตอนแรกเราคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นหนังกลางแปลงหรือโรงภาพยนตร์ เมื่อจะต้องฉายภาพยนตร์ด้วยกฎหมายที่ระบุว่า ต้องมีเพลงสรรเสริญฯ ก็เท่ากับว่าฟิล์มเพลงสรรเสริญฯ เป็นของที่โรงภาพยนตร์ต้องใช้อยู่ตลอด ด้วยความที่ร้านเราขายของให้โรงหนังอยู่แล้วก็เลยต้องทำมันขึ้นมา ชุดแรกที่ทำก็เพื่อซัปพอร์ตกลางแปลง มันก็เหมือนกับเป็นของที่ขายหน้าร้านเราอย่างหนึ่งนะค่ะ"

แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ทุกโรงภาพยนตร์จำเป็นต้องใช้ แต่

ยุพาวดีก็ไม่คิดทำฟิล์มสรรเสริญฯ เป็นสินค้าหลักของบริษัทด้วยเหตุที่ว่า...

"เราบอกไม่ได้หรอกนะค่ะว่า เราจะผลิตฟิล์มสรรเสริญฯ ออกมากี่ปีครั้ง หรือมีนโยบายการผลิตตรงนี้ยังไง เพราะเรียนตรงๆ ว่า ทำตรงนี้เราไม่ได้กำไรแน่ๆ บอกได้เลยว่าไม่คุ้มในเรื่องของต้นทุนการผลิต แต่ละตัวฟิล์มที่ขายไปเนี่ยไม่คุ้ม

"อีกอย่างตอนนี้โรงหนังหลักๆ แต่ละกรุ๊ป เขาก็มีเพลงสรรเสริญฯ เป็นของเขาเองด้วย จะเห็นว่า เพลงสรรเสริญฯ ของเมเจอร์จะไม่ไปฉายอยู่ในโรงอื่นๆ แน่นอน โรงภาพยนตร์ต่างๆ เขาก็มีคุณภาพกันมากขึ้น หนังกลางแปลงก็น้อยลง ฉะนั้นเราจึงไม่ทำฟิล์มเพลงสรรเสริญฯ มาเป็นสินค้าหลักค่ะ"

ถึงจะเป็นสินค้าที่ไม่นำเงินมาให้แก่บริษัท แต่

ยุพาวดีก็ยังคงเล่าถึงผลงานของตัวเองต่อไป ด้วยน้ำเสียงที่ภูมิใจ และปลื้มปีติอย่างที่สุด

"เราทำมาได้ 3 เวอร์ชันแล้วค่ะ ก็คือจะมีเวอร์ชั่นแรก สมัยโน้นเทคโนโลยียังไม่มาก มีแค่เฟดอัปเฟดดาวน์เท่านั้น มีภาพขึ้นมาสองภาพ ตอนนั้นทำเป็นสีซีเปียก็คือเป็นภาพที่มีทั่วไปของในหลวงตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์จนมาถึงในเรื่องของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ต่างๆ

"ต่อมาก็เป็นชุดใบโพธิ์ ซึ่งเมื่อก่อนเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์นำไปใช้ ตอนที่เขาไม่ได้ทำเวอร์ชันของเขาเอง ชุดนี้มีคอนเซ็ปต์ว่า ในหลวงเปรียบเหมือนกับเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชนชาวไทยคือ มีถ่ายรูปต้นโพธิ์แล้วก็เจาะไปในใบโพธิ์แต่ละใบ ดูพระราชกรณียกิจของพรองค์ท่านว่า ทรงเหนื่อยเพื่อพสกนิกรขอย่างไร พระองค์ท่านเปรียบเหมือนเป็นต้นโพธิ์ต้นไทรให้แก่พสกนิกร"

เพลงสรรเสริญฯ ชุด 'ใบโพธิ์' นี้ถือว่าเป็นชุดบุกเบิกที่ทำให้ผู้ผลิตหลายๆ เจ้าต่างพยายามสร้างสรรค์คิดไอเดียในการนำเสนอเรื่องราวของในหลวงให้ออกมาให้คนทั่วไปได้ตระหนักและซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงอย่างแท้จริง โดย

หม่อมยุพเยาว์ คันธาภัสระ จากบริษัทแมสโค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ครีเอทฟิล์มชุดนี้บอกว่า จุดแรกเริ่มที่คิดทำ เนื่องมาจากเมื่อก่อนเธอรู้สึกว่าคนไม่ค่อยให้ความสนใจกับเพลงสรรเสริญฯ มากนัก ไม่เข้าใจว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นมีความหมายอย่างไร เธอจึงได้สร้างให้เป็นเรื่องราวให้คนเข้าใจได้ง่ายว่า ในหลวงท่านทรงทำอะไรเพื่อประชาชนของพระองค์ท่านบ้าง ขึ้นมา หลังจากนั้นเราจึงได้เห็นเพลงสรรเสริญฯ ในหลากหลายรูปแบบที่มีความหมายต่างๆ นานมากขึ้น

ชุดที่โรงภาพยนตร์ใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่บริษัทได้จัดจำหน่ายก็เห็นจะเป็นชุด 'หยาดฝน' ที่เป็นเสียงดนตรีไทยจากหลากหลายอุปกรณ์ดนตรีในภาคต่างๆ ของไทยมารวมเข้าด้วยกัน

"ชุดหยาดฝน แรกสุดเป็นภาพเริ่มจากพื้นดินแห้งๆ แล้วหลังจากนั้นก็คือในรูปเล็กๆในหยาดฝนแต่ละเม็ดที่ตกลงมาก็คือภาพพระราชกรณียกิจของในหลวงที่ท่านไปดูแลในเรื่องชลประทาน เรื่องของการทำยังไงให้ป่าอุดมสมบูรณ์ให้มีน้ำมีฝน คอนเซ็ปต์ตรงนี้เรามองว่าในหลวงท่านทำงานเน้นในเรื่องการเกษตรกรรม พระองค์ท่านช่วยดูแลและพัฒนาจากความแห้งแล้งจนทำให้ประเทศไทยเราอุดมสมบูรณ์มีฝนตกมีน้ำไหลในทั่วทุกที่นะค่ะ"

เธอขยายความ และอธิบายเบื้องหลัง ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำหนังเพลงสรรเสริญฯ ชุดนี้ว่า

"อย่างแรกสุด ก็ดูที่สตอรี่บอร์ด ดูคอนเซ็ปต์ของหนังว่าเป็นยังไง หลังจากนั้นดูว่า เป็นเพลงประเภทไหนทำนองยังไง เราอยากจะหาใครที่มาเป็นคนทำเนื้อร้องหรือทำนอง สมมติว่าเราอยากได้เพลงบรรเลง พอดีบริษัทเราได้มอบให้อาจารย์บรูซ แกสตั้นทำ อาจารย์เขาก็จะบรรเลงเพลงตรงนี้ให้อยู่ในคอนเซ็ปต์ซึ่งท่านอาจจะมีลูกเล่นอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าจะไปแปลงจนเกินไปมันก็คงไม่ใช่ เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเพลงสรรเสริญฯ เขาจะรู้กฎเกณฑ์อยู่แล้วว่าจะต้องไม่ให้เกิดอะไรที่เป็นการผิดหรือลบลู่ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะค่ะ ซึ่งอาจารย์บรูซก็จะทราบสโคปของท่านดีว่า ทำได้แค่ไหนให้ไม่ผิดเพี้ยน หรือถ้าสมมติว่าเราอยากได้เสียงร้อง ท่านก็จะจัดธีมของเพลงเลือกสรรมาให้เรา แล้วเราจะดูว่าเพลงที่ได้เข้ากับสตอรี่บอร์ดมั้ย ถ้าเข้ากันเราถึงจะดำเนินการ"

ทั้งนี้เรื่องของการทำฟิล์มเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ต้องมีการผ่านกองเซ็นเซอร์แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องทำจดหมายส่งไปที่สำนักพระราชวังเพื่อขอใช้พระบรมฉายาลักษณ์ต่างๆ หรืออาจจะขอคัดพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น

*** ล้อมกรอบ ***

โอกาสในการบรรเลงเพลง "เพลงสรรเสริญพระบารมี"

1. พิธีการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหรือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ เสด็จพระราชดำเนิน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จฯ

2. พิธีการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยประมุขต่างประเทศ ให้ดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติของประเทศนั้น จบแล้วบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จฯ ในกรณีที่ประมุขต่างประเทศเสด็จฯ หรือไปตามลำพัง ดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติของประเทศนั้น

3. พิธีการที่สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนิน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จฯ

4. พิธีการที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จฯ

5. พิธีการที่ผู้แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในงานเสด็จพระราชดำเนิน

6. ถ้าผู้แทนพระองค์คือสมเด็จพระบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระบรมราชวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า หรือพระวรราชาทินัดดามาตุ เมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จมาถึง ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย และเมื่อผู้แทนพระองค์ประทับเรียบร้อยแล้ว ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการเปิดงาน เมื่อปิดงาน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จกลับดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย

5. ถ้าผู้แทนพระองค์เป็นบุคคลอื่น เมื่อผู้แทนพระองค์มาถึง ดุริยางค์ไม่บรรเลงเพลงใด ๆ และเมื่อผู้แทนพระองค์นั่งเรียบร้อยแล้ว ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการเปิดงาน เมื่อปิดงาน ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเมื่อผู้แทนพระองค์กลับ ดุริยางค์ไม่ต้องบรรเลงเพลงใด ๆ

(อ้างอิงจาก http://www.geocities.com/CapitolHill/Lobby/5101/song16.htm)


*****************************

เรื่อง - ภัททิรา ชิงนวรรณ์