คนกลุ่มใดเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของชาวโรมัน

หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (Western Roman Empire) จากการรุกรานของกลุ่มชนเยอรมัน (Germanic peoples) ดินแดนยุโรปค่อย ๆ หล่อหลอมวัฒนธรรมจากกลุ่มอารยธรรมกรีก-โรมัน ผสานกับวัฒนธรรมของอนารยชน นักประวัติศาสตร์เรียกสมัยนี้ว่ายุคกลาง (Middle Ages) และนิยามว่าเป็นยุคมืด (Dark Ages) เพราะการสิ้นสุดของอารยธรรมกรีก-โรมัน และการครอบงำของอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาคริสต์ (Christianity) จากคริสจักรที่กรุงโรม

ยุคกลางตอนต้นจึงเป็นระยะที่สังคมยุโรปเกิดความชะงักงันทางภูมิปัญญา การเมืองการปกครองเป็นไปอย่างไม่มีทิศทาง ก่อนอนารยชนจะหลอมรวมวัฒนธรรมของตนเข้ากับศาสนาคริสต์ กระทั่งอารยธรรมเก่ากลายเป็นอารยธรรมใหม่ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อยุโรปในเวลาต่อมา

ชนเผ่าเยอรมัน

กลุ่มชนเยอรมันหลากหลายเผ่าซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันตกสูญสิ้นอำนาจไปจากบริเวณยุโรปตะวันตก ก่อนที่ดินแดนแถบนี้จะกลายเป็นบริเวณที่กลุ่มชนเยอรมันทั้งหลายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน สร้างรัฐและกลุ่มอาณาจักรขนาดเล็กขึ้นมาแทนที่

กลุ่มชนเยอรมันมีถิ่นกำเนิดแถบสแกนดิเนเวีย พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะอากาศหนาวและการขาดแคลนอาหาร จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ทางตอนใต้ของยุโรป วิถีของชาวเยอรมันเป็นแบบกึ่งพเนจร มีอาชีพล่าสัตว์ ทำประมง เลี้ยงสัตว์ตามทุ่ง รวมถึงเกษตรกรรม ก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก กลุ่มชนเยอรมันเข้ามาในจักรวรรดิโรมันเพราะต้องการความอุดมสมบูรณ์ จึงตั้งถิ่นฐานและปล้นสะดมชุมชนดั้งเดิมในอาณาเขตของจักรวรรดิโรมัน กลุ่มชนเยอรมันเหล่านี้แบ่งเป็นหลายเผ่า ดังนี้

1. อนารยชนที่ตั้งถิ่นฐานระหว่างลุ่มแม่น้ำไรน์กับแม่น้ำเอลเบอ และระหว่างทะเลบอลติกกับลุ่มแม่น้ำดานูบตอนบน ได้แก่ แฟรงก์ (Franks), อาเลมันนี (Alemanni), แองเกิล (Angles), แซกซอน (Saxons) และจูต (Jutes)

2. อนารยชนซึ่งตั้งถิ่นฐานตามฝั่งแม่น้ำดานูบตอนล่างและแถบทะเลดำ ได้แก่ วิสิกอธ (Visigoths) หรือกอธตะวันตก, ออสโตรกอธ (Ostrogoths) หรือกอธตะวันออก และแวนดัล (Vandals)

คนกลุ่มใดเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของชาวโรมัน
ภาพประกอบเนื้อหา – บิชอป Wulfila เผยแผ่ศาสนาคริสต์แก่ชนเผ่ากอธ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อิทธิพลศาสนาคริสต์

หลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ทำให้ศาสนาคริสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช (Constantine the Great) เมื่อคริสต์ศตวรรษก่อนกลายเป็นสถาบันเดียวที่รักษาสถานภาพของตนได้ พระสันตะปาปาทรงเป็นประมุขของคริสจักรที่กรุงโรมและสามารถรักษาเอกภาพของชาวโรมันเอาไว้ได้ในพื้นที่รอบกรุงโรมหรือตอนกลางของคาบสมุทรอิตาลี ทั้งมีบทบาทในการสืบทอดอารยธรรมโรมันให้ดำรงอยู่ แม้อารยธรรมโรมันจะค่อย ๆ เสื่อมสลายไปในดินแดนอื่นที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน

เมื่อศาสนาคริสต์ถูกยอมรับโดยกลุ่มชนเยอรมัน ทำให้ให้เกิดการแผ่ขยายทางศาสนาอย่างกว้างขวางไปทั่วยุโรป อิทธิพลของศาสนจักรเพิ่มพูนขึ้นอย่างมากจนมีบทบาทต่อวิถีการดำรงชีวิต การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของยุโรปตลอดยุคกลาง ซึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้คริสจักรมีอิทธิพลทางโลกไม่ด้อยไปกว่าทางธรรมนั้นเกิดจากความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างคริสตจักรที่กรุงโรมกับกษัตริย์ชาวแฟรงก์ ผู้นำกลุ่มชนเยอรมันอีกเผ่าที่มีบทบาทอย่างมากในยุคกลางตอนต้น

การสถาปนาอาณาจักรของชาวแฟรงก์

เผ่าแฟรงก์เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แม่น้ำไรน์ บริเวณเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน ต่อมาพวกเขาเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่แคว้นกอล (Gaul) ตอนกลางของฝรั่งเศสในปัจจุบัน เผ่าแฟรงก์ภายใต้การนำของกษัตริย์โคลวิส ที่ 1 (Clovis I) แข็งแกร่งจนสามารถตั้งอาณาจักรและสถาปนาราชวงศ์เมโรแวงเจียน (Merovingian dynasty) ขึ้นใน ค.ศ. 481 อาณาจักรแฟรงก์กลายเป็นกำลังสำคัญในการปราบอนารยชนกลุ่มอื่น ๆ จวบจนถึงศตวรรษที่ 8

ช่วงแรกเริ่มสถาปนาอาณาจักรแฟรงก์เมโรแวงเจียน พวกเขาขยายอาณาเขตจรดลุ่มแม่น้ำลัวร์ รวบอำนาจผู้นำชาวแฟรงก์กลุ่มอื่น ๆ กษัตริย์โคลวิส ที่ 1 ทรงชักนำชาวแฟรงก์ให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ก่อนสถาปนาปารีสเป็นเมืองหลวงและขยายอาณาเขตของอาณาจักรอย่างกว้างขวาง ครอบครองดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอแลนด์ และบางส่วนของเยอรมนี

คนกลุ่มใดเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของชาวโรมัน
ภาพประกอบเนื้อหา – กษัตริย์โคลวิส ที่ 1 ผู้รวบรวมชาวแฟรงก์กลุ่มต่าง ๆ และชักชวนให้นับถือศาสนาคริสต์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ก่อนการสวรรคตของกษัตริย์โคลวิส ที่ 1 พระองค์ทรงแบ่งดินแดนแก่พระโอรสตามประเพณีโบราณ นำมาซึ่งการแตกแยกภายในอาณาจักรเมื่อ ค.ศ. 511 อาณาจักรตกอยู่ในสภาวะอ่อนแอ มีการแย่งชิงอำนาจของเหล่าพระราชวงศ์ ในที่สุดอำนาจการปกครองอาณาจักรก็กลายเป็นของอัครเสนาบดี กษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริงอีกต่อไป

ต้นศตวรรษที่ 8 ชาร์ล มาเทล (Charles Martel) แห่งตระกูลคาโรแลงเจียน (Carolingian House) ผู้เป็นอัครเสนาบดีแห่งอาณาจักรแฟรงก์สามารถรวมอาณาจักรที่แตกแยกให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้งเพื่อต่อต้านการรุกรานของนักรบมุสลิมจากคาบสมุทรไอบีเรีย (บริเวณสเปน-โปรตุเกส) ที่พยายามรุกรานเข้ามาในยุโรปตอนใน ความสำเร็จของเขาสร้างบารมีและความนิยมแก่ตระกูลเป็นอย่างสูง

ค.ศ. 751 เซลเดอริกที่ 3 (Childeric III) กษัตริย์แห่งราชวงศ์เมโรแวงเจียน ถูกปลดโดย เปแปงร่างเตี้ย (Papin the short) อัครเสนาบดีแห่งตระกูลคาโรแลงเจียนและผู้สืบทอดตำแหน่งจากชาร์ล มาเทล ผู้เป็นบิดา เขาตั้งตนเป็นกษัตริย์และสถาปนาให้ตระกูลของเขาเป็นราชวงศ์ใหม่แทนที่ราชวงศ์เดิม การยึดอำนาจครั้งนี้มีพระสันตะปาปาให้การสนับสนุน ด้วยเงื่อนไขว่าอาณาจักรแฟรงก์คาโรแลงเจียนจะคุ้มครองกรุงโรมจากการรุกรานของอนารยชนในคาบสมุทรอิตาลี ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระสันตะปาปากับกษัตริย์แห่งแฟรงก์จึงเกิดขึ้น

พระเจ้าเปแปงทรงส่งกองทัพเข้าไปปราบพวกลอมบาร์ด (Lombards) ชนเผ่าเยอรมันกลุ่มที่กำลังคุกคามกรุงโรมอยู่ จากนั้นทรงยกดินแดนที่พวกลอมบาร์ดเคยยึดครองมาถวายคืนแด่พระสันตะปาปา ทำให้พระสันตะปาปาทรงมีอำนาจในการปกครองอิตาลีในฐานะเจ้านครและก่อให้เกิดการถวายที่ดินให้แก่ศาสนจักรเป็นโบราณราชประเพณีนับแต่นั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์แฟรงก์กับคริสตจักรแห่งกรุงโรมเป็นผลให้พระสันตะปาปาลีโอที่ 3 (Pope Leo III) ทรงตอบแทนราชวงศ์คาโรแลงเจียนที่ร่วมพิทักษ์พระศาสนาโดยให้การรับรองอาณาจักรของชาวแฟรงก์ นำไปสู่การทำพิธีสถาปนาพระเจ้าชาร์เลอมาญมหาราช (Charlemagne the Great) พระราชโอรสของพระเจ้าเปแปงขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน (Roman Emperor) ใน ค.ศ. 768 เป็นที่มาของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ที่นำโดยเผ่าแฟรงก์นั่นเอง

ความแน่นแฟ้นระหว่างจักรวรรดิคาโรแลงเจียนกับคริสตจักรแห่งกรุงโรมยิ่งตอกย้ำอิทธิพลอันมั่นคงของศาสนาคริสต์ที่มีบทบาทชี้นำผู้คนตลอดยุคกลาง และกษัตริย์ในยุโรปต่างยึดเอาการรับรองจากพระสันตะปาปาเป็นต้นแบบเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองและการยอมรับจากคริสตชนในอาณาจักรของตน

คนกลุ่มใดเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของชาวโรมัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2533). อารยธรรมสมัยโบราณ-สมัยกลาง. กรุงเทพมหานคร:  สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.